หากคุณมีโอกาสได้ยืนอยู่บนชายหาดบางมะขามแห่งเกาะสมุย หาดแม่รำพึงแห่งบางสะพาน หาดม่วงงามแห่งสงขลา หรือหาดผืนสุดท้ายของอำเภอปราณบุรี… โปรดจงรู้ไว้ว่าความสวยงามที่หลงเหลือให้เห็นในวันนี้ คือผลงานของการต่อสู้อันยาวนานของเครือข่ายเยาวชนที่ชื่อ ‘Beach for Life’ ร่วมกับชาวชุมชน

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ที่กำแพงกันคลื่นถูกถอดออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ชายหาดทั่วประเทศก็ถูกรุกรานด้วยโครงการกำแพงกันคลื่นที่ระบาดเร็วพอ ๆ กับโควิด-19 ถลุงงบประมาณประเทศไปถึง 8,487,071,100 บาท ภายใน 10 ปี จนทุกวันนี้ไม่มีจังหวัดติดทะเลจังหวัดไหนที่ไม่มีโครงการกำแพงกันคลื่น 

สิ่งที่หายไปจากโครงการเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงความสวยงามของหาดทราย แต่คือ ‘ชีวิตของชายหาด’ ไม่ว่าจะเป็นชาวชุมชนที่เคยมาหาหอยหาปู พื้นที่จอดเรือของชาวประมง ชายหาดที่เต่าทะเลเคยขึ้นมาวางไข่ ชายหาดที่เด็ก ๆ เคยมาวิ่งเล่น ชายหาดที่เคยเป็นถิ่นอาศัยของนกทะเลหายาก แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องขีดเส้นใต้ย้ำ ๆ คือโครงการเหล่านั้นไม่ได้แก้ปัญหาการกัดเซาะ แต่กลับเพิ่มปัญหาการกัดเซาะให้หนักยิ่งไปกว่าเดิม

ในทางวิชาการยอมรับโดยทั่วกันว่า กำแพงกันคลื่นคือความตายของชายหาด – The Death of Beach

นี่คือประโยคที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ กำแพงกันคลื่น กลืนชายหาด ให้มันจบที่รุ่นเรา ของกลุ่ม Beach for Life ที่มี น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี เป็นหนึ่งในผู้เขียน ร่วมกับ ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

น้ำนิ่งคือหนึ่งในแกนนำรุ่นก่อตั้งของกลุ่ม Beach for Life ที่เริ่มต้นจากเป็นชมรมเล็ก ๆ ในโรงเรียนที่จังหวัดสงขลาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว จนขยายมาเป็นเครือข่ายเยาวชนทั่วภาคใต้ ทำงานต่อเนื่องนับสิบปีทั้งในเชิงเก็บข้อมูลชายหาด ให้ความรู้ชุมชน จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ สื่อสารข้อมูลชายหาดสู่สาธารณะ ไปจนถึงช่วยชาวบ้านต่อสู้ทางกฎหมาย ยื่นฟ้องศาลปกครอง จนเกิดเป็นแรงกระเพื่อมของภาคประชาชนทั่วประเทศ

จากนักเรียนมัธยมปลายในวันนั้น สู่วัยทำงานในวันนี้ แต่ภารกิจของพวกเขายังไม่จบ การต่อสู้เพื่อชายหาดยังดำเนินต่อไป บางครั้งพวกเขาก็รักษาชายหาดไว้ได้ แต่หลายครั้งก็ต้องพ่ายแพ้กับกำแพงกันคลื่น 

“เราไม่อยากเห็นชายหาดถูกทำลายอีกแล้ว ผมฝันอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งการจะเห็นแบบนั้นได้ เราต้องทำงานต่อเนื่อง ผมว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงไม่ใช่การหยุดโครงการใดโครงการหนึ่ง แต่คือการเปลี่ยนความคิดของสังคม ซึ่งวันนี้เราก็เริ่มเห็นแล้วนะ ตอนที่เราพูดเรื่องนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้วกับตอนนี้ต่างกันเยอะมาก คนเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ”

และต่อจากนี้คือเส้นทางการต่อสู้ตลอด 10 กว่าปีของพวกเขา

เมื่อปัญหามาถึงหน้าบ้าน

น้ำนิ่งคือเด็กสงขลา และหาดชลาทัศน์คือชายหาดหลังโรงเรียนที่เขามาเดินเล่นแทบทุกเย็น หาดทรายที่นุ่มสบายเท้าและเสียงทะเลที่สาดเข้าหาฝั่งคือสิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจยามเหนื่อยล้าจากการเรียน

ไม่เพียงแต่น้ำนิ่งเท่านั้น แต่หาดชลาทัศน์ยังเป็นสถานที่แห่งชีวิตของผู้คนมากมาย หาดชลาทัศน์ในวันนั้นกว้างขวางพอให้เด็ก ๆ มาวิ่งเล่นเตะฟุตบอลกัน แต่แล้วในวันหนึ่ง หาดทรายที่เงียบสงบก็ถูกรุกรานด้วยรถแบ็กโฮ กระสอบทรายถูกนำมาวางเป็นแนวยาว

ด้วยความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น น้ำนิ่งจึงเริ่มหาข้อมูลและได้ไปรู้จักกับเครือข่ายภาคประชาสังคมอย่าง ‘สงขลาฟอรั่ม’ ซึ่งมีการพูดถึงประเด็นนี้และมีนักวิชาการมาให้ข้อมูล เขาจึงได้รับรู้ว่าปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แค่จุดเดียว นั่นคือสถานีสูบน้ำเสียที่สร้างรุกล้ำชายหาดบริเวณชุมชนเก้าเส้ง 

“ตามธรรมชาติของชายหาด เมื่อมีโครงสร้างแข็งรุกล้ำเข้าไป คลื่นจะเกิดการเลี้ยวเบนและกัดเซาะบริเวณท้ายน้ำหลังโครงสร้าง หรือที่เรียกว่า End Effect” 

แต่แทนที่ภาครัฐจะแก้ปัญหาด้วยการรื้อสถานีสูบน้ำเสียที่เป็นต้นเหตุออก กลับสร้าง ‘รอดักทราย’ (โครงสร้างแข็งรูปตัว T ที่ยื่นล้ำเข้าไปในทะเล) จำนวน 3 ตัวบริเวณท้ายน้ำ ซึ่งกลายเป็นการสร้างปัญหากัดเซาะท้ายน้ำที่จุดใหม่และหนักยิ่งกว่าเดิม ตามมาด้วยโครงการกำแพงกันคลื่นยาวต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ตั้งแต่กำแพงหินทิ้ง ไปจนถึงกระสอบทรายที่ไม่นานก็ผุพังจนกลายเป็นหาดกระสอบเน่า ๆ 

เมื่อได้รับรู้ปัญหานี้ น้ำนิ่งจึงไม่อาจนิ่งเฉย เขาจึงเริ่มรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนที่มองเห็นปัญหานี้และก่อตั้งกลุ่ม Beach for Life เพื่อเป็นกระบอกเสียงสื่อสารปัญหาที่เกิดขึ้น

“ช่วงนั้นเฟซบุ๊กเริ่มเข้ามาพอดี เราก็ตั้งเพจ Beach for Life เพื่อให้ข้อมูลต่อสาธารณะ และมีจัดนิทรรศการในโรงเรียน ตามถนนคนเดิน ทำหนังสือนิทานเด็ก ลงชุมชนเก้าเส้งอธิบายผลกระทบ” น้ำนิ่งเล่าถึงการทำงานยุคแรก

จากนั้นในปีถัดมา พวกเขาก็เริ่มคุยกันว่ากลุ่มพวกเขากลุ่มเดียวอาจยังมีพลังไม่มากพอ จึงตัดสินใจจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเยาวชนทั่วเทศบาลสงขลา เกิดเป็น ‘ธรรมนูญเยาวชน’ ที่เป็นการประกาศเจตนารมณ์เยาวชนและข้อตกลงในการทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ในท้องถิ่น 

“เรารู้สึกว่าที่ผ่านมาการตัดสินใจต่าง ๆ เกี่ยวกับชายหาดเกิดจากผู้ใหญ่ โดยที่เยาวชนไม่มีส่วนร่วมเลย ทั้งที่พวกเราก็ใช้ประโยชน์จากชายหาด เราเลยมองว่าน่าจะมีกติกาบางอย่างร่วมกัน”

พวกเขาจึงรวบรวมเครือข่ายเยาวชนอาสาสมัครจากสถาบันต่าง ๆ ช่วยกันจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเยาวชนทั่วเทศบาลสงขลาและมหาวิทยาลัยในละแวกใกล้เคียงแจกแบบสอบถาม โดยมีคำถามเช่น ถ้าต้องมีกติการะหว่างเยาวชนกับผู้ใหญ่ เด็กสงขลาอยากให้เป็นแบบไหน หรือเด็กสงขลาอยากเห็นการพัฒนาชายหาดเป็นอย่างไร โดยพวกเขาใช้เวลาหลังเลิกเรียนในการสรุปความคิดเห็น 20,000 กว่าเสียง จนออกมาเป็นธรรมนูญเยาวชน โดยแบ่งเนื้อหาเป็นหมวด เช่น หมวด 1 ว่าด้วยปรัชญาแนวคิดที่ว่าเยาวชนสงขลาต้องการพิทักษ์รักษาหาดนี้ไว้ให้เป็นหาดธรรมชาติคู่บ้านคู่เมือง หมวด 2 ว่าด้วยสิทธิ หมวดที่ 3 ว่าด้วยกลไกในการทำงานที่ท้องถิ่นควรสนับสนุนการทำงานของเยาวชน เป็นต้น

“วันที่เราประกาศธรรมนูญก็มีกิจกรรมเดินขบวนทั้งเมือง ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะปกป้องชายหาด จากนั้นก็นำธรรมนูญไปหารือกับผู้ใหญ่ จนนำไปสู่การทำ MOU ร่วมกันระหว่างเยาวชนกับเทศบาลว่าต้องยุติการทำโครงสร้างแข็ง หยุดการวางกระสอบทราย และฟื้นฟูชายหาดด้วยการเติมทราย”

นั่นคือชัยชนะเล็ก ๆ ที่เป็นผลงานของเยาวชนคนเล็ก ๆ โดยผู้ริเริ่มเป็นเพียงนักเรียนชั้นมัธยมปลาย

“ผมประทับใจเพื่อน ๆ ทุกคนที่ร่วมกันทำในวันนั้นมาก บางคนต้องเรียนพิเศษ แต่ก็ยังมาช่วยกันทำ มันเป็นภารกิจที่เราทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือเราอยากรักษาชายหาดและต้องการบอกผู้ใหญ่ว่านี่คือเรื่องสำคัญ” 

แต่ความดีใจนั้นก็คงอยู่ได้ไม่นาน เพียงแค่ 1 ปีผ่านไป เทศบาลก็ฉีก MOU ตามมาด้วยการวางแท่งคอนกรีตริมชายหาดนับพันแท่ง

“หลังจากนั้นเราก็ฟ้องศาลปกครอง ซึ่งในที่สุดก็หยุดการวางแท่งคอนกรีตได้ และศาลสั่งให้ฟื้นฟูด้วยการเติมทราย แต่ก็มีปัญหาคือเติมไปได้แค่ 1 กิโลเมตรผู้รับเหมาก็ทิ้งงาน แต่ถึงการเติมทรายจะไม่เสร็จสมบูรณ์ เราก็ได้เห็นเลยว่าชายหาดกลับมาและช่วยได้มาก”

เมื่อให้ถอดบทเรียนของการต่อสู้ครั้งนี้ น้ำนิ่งมองว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากแค่พลังเยาวชนที่รวมกลุ่มกันเท่านั้น แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์’  

ต่อสู้ด้วยข้อมูล

ชายหาดมีฤดูกาล : กัดเซาะชั่วคราว – ฟื้นฟูตัวเองได้ 

นี่คือข้อความในหน้าแรก ๆ ของหนังสือ กำแพงกันคลื่น กลืนชายหาด ให้มันจบที่รุ่นเรา ซึ่งเล่าถึงพลวัตของชายหาดตามธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในฤดูมรสุม หาดทรายบนฝั่งอาจถูกกัดเซาะไปเป็นสันดอนทรายใต้น้ำ แต่พอฤดูมรสุมนั้นผ่านพ้น คลื่นก็จะนำพาทรายจากสันดอนใต้น้ำกลับมาเติมชายหาดดังเดิม

ความไม่เข้าใจในเรื่องนี้คือหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้โครงการกำแพงกันคลื่นระบาดไปทั่ว โดยใช้คำอ้างที่ว่า ‘ชายหาดถูกกัดเซาะ’ ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลที่แค่อดทนรอสักหน่อยหาดทรายก็จะกลับมาเอง

การจะทำให้คนเข้าใจเรื่องนี้ได้ น้ำนิ่งมองว่าจำเป็นต้องมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่มาช่วยพิสูจน์ให้เห็นชัด ๆ ซึ่งพวกเขาก็ได้ ผศ.ดร.สมปรารถนา มาช่วยออกแบบเครื่องมือเก็บข้อมูลชายหาดแบบง่าย ๆ ให้ เกิดเป็นโครงการนักวิทยาศาสตร์พลเมืองที่ชาวบ้านเก็บข้อมูลชายหาดหน้าบ้านตัวเองได้ เพื่อดูว่าในแต่ละฤดูกาลชายหาดมีการกัดเซาะหรือการทับถมของทรายเพิ่มแค่ไหนอย่างไร

“เราเริ่มจากทดลองเก็บข้อมูลที่หาดชลาทัศน์ 20 จุด ซึ่งบังเอิญว่าช่วงนั้นมีเรืออรพินมาเกยตื้นที่แหลมสนอ่อนพอดี น้อง ๆ ในทีมก็ไปเก็บข้อมูล ได้เห็นว่าเกิดการกัดเซาะท้ายน้ำตามทฤษฎีเป๊ะ พอมีการนำเรือออก ชายหาดก็กลับมาเหมือนเดิม” 

และเป็นข้อมูลเหล่านี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาสู่ชัยชนะในชั้นศาล พวกเขาจึงมองว่าเครื่องมือเหล่านี้น่าจะเป็นคานงัดสำคัญที่จะช่วยปกป้องชายหาดอื่น ๆ ได้ด้วย กลุ่ม Beach for Life จึงเริ่มขยายการทำงานออกไปนอกพื้นที่เทศบาลสงขลา โดยเริ่มจากชุมชนจะนะที่กำลังต่อสู้เรื่องท่าเรือน้ำลึก และชาวเทพาที่ต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเป็นการลงไปให้ข้อมูลและสอนเก็บข้อมูลชายหาด เพื่อให้พวกเขามีข้อมูลด้านผลกระทบต่อชายหาดเพื่อใช้ในการต่อสู้ด้วย จากนั้นก็ขยายเครือข่ายการเก็บข้อมูลไปอีกหลายจังหวัด นับตั้งแต่ปัตตานี สตูล นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ฯลฯ 

และข้อมูลที่ชาวชุมชนช่วยกันจดบันทึกเหล่านี้เองที่กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญเพื่อยืนยันในชั้นศาลว่า หาดของพวกเขาไม่ได้ถูกกัดเซาะจริงอย่างที่กรมโยธาฯ กล่าวอ้าง จนทำให้กลุ่มชาวบ้านหลายพื้นที่เก็บรักษาชายหาดไว้ได้

“ข้อมูลที่เราใช้ยันต่อศาลไม่ได้มีแค่ข้อมูลว่าหาดไม่กัดเซาะจริงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตัวอย่างผลกระทบจากกำแพงกันคลื่นในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย เรามีภาพถ่ายเป็นซีรีส์เลย ตั้งแต่ก่อนสร้างไปจนถึงหลังสร้างเสร็จ อย่างในเคสของหาดม่วงงามกับหาดมหาราช คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดบอกเลยว่า พิจารณาแล้วว่าข้อมูลชาวบ้านน่าเชื่อถือกว่ากรมโยธาฯ และกรมโยธาแสดงข้อเท็จจริงไม่ได้ว่ากำแพงกันคลื่นไม่มีผลกระทบ

“ผมว่านี่คือพลังของข้อมูล ยิ่งชาวบ้านมีข้อมูลมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้สังคมได้เรียนรู้ ศาลเองก็ได้เรียนรู้ มีคนบอกว่าหน้าที่ของ Beach for Life คือประจานความล้มเหลวของโครงการ เราไม่ได้บอกว่ากรมไหนผิด แต่เราต้องการบอกให้สังคมรับรู้ว่าสิ่งนี้มันไม่ควรเกิดขึ้นแล้ว เราควรมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ได้แล้ว นี่คือเจตนาของเราตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ถ้าคุณอยากรักษาชายหาด คุณต้องหยุดทำแบบเดิม”

 เสียงประชาชน

โปรดฟังเสียงเล็ก ๆ ของชาวบ้าน #saveหาดม่วงงาม

นี่คือข้อความบนป้ายกระดาษที่ถูกเขียนด้วยลายมือหวัด ๆ ของชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งโพสต์ในโลกโซเชียล ภายใต้แคมเปญ Mob from Home ซึ่งกลุ่ม Beach for Life ร่วมกับชุมชนในการคัดค้านกำแพงกันคลื่นในช่วงโควิด 

“เราบอกชาวบ้านว่าต้องกล้าเปิดหน้าสู้ ขณะเดียวกันก็พาไปยื่นหนังสือฟ้องศาลปกครองด้วย พอโควิดซา ก็จัดกิจกรรมชูป้ายที่ชายหาด แต่ก็โดนตำรวจกดดัน ใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินมาอ้าง ทำให้จากเดิมที่สังคมตั้งคำถามเรื่องกำแพงกันคลื่น ขยายมาสู่คำถามที่ว่า ทำไมชาวบ้านแสดงออกเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ทำไมถึงต้องปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของชาวบ้าน เรื่องนี้จึงถูกแชร์ต่อมากขึ้นจนเป็นกระแส”

น้ำนิ่งเล่าว่าปัญหาสำคัญอีกอย่างของประเทศไทย คือกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนมีปัญหา โดยแทบทุกเวทีที่เขาเห็นมาเป็นการให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว ซ้ำร้าย หลายพื้นที่ยังมีการกีดกันการออกความเห็นของคนบางกลุ่ม หรือการจัดตั้งมวลชนมาเพิ่มความขัดแย้ง ซึ่งสังเกตได้จากป้ายไวนิลที่แทบจะลอกข้อความกันมา เช่น คนนอกมายุ่งอะไร

“แต่ในบางพื้นที่ ชาวบ้านที่สนับสนุนเขื่อนกันคลื่นจริง ๆ ก็มี เพราะเขายังไม่รับรู้ถึงผลกระทบ อย่างเช่นหาดดอนทะเล จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตอนแรกชาวบ้านยกมือเอาเขื่อนกันคลื่นเป็นร้อยคนเลยนะ เพราะกลัวถนนพัง แต่พอเขื่อนข้าง ๆ สร้างเสร็จ เขาเห็นเลยว่าหาดทรายหายไป ดอนหอยดอนปูหายหมด ตลาดที่เขาเคยจัดงานก็หายไป พวกเขาเลยกลับมาบอกว่าไม่เอาเขื่อนแล้ว แล้วก็คัดค้านจนสำเร็จ”

คลื่นยักษ์สูง 4 – 5 เมตรที่ปะทะกำแพงกันคลื่นและกระโจนข้ามถนนตลอดแนวที่อ่าวประจวบฯ กำแพงกันคลื่นหาดท่าบอนที่พังยับหลังสร้างเสร็จเพียง 5 เดือน และสุสานชุมชนที่ถูกคลื่นยักษ์ข้ามกำแพงซัดหายไปในทะเล นักท่องเที่ยวที่ลื่นล้มหัวกระแทกบนบันไดตะไคร่น้ำที่ชะอำ จนทำให้กระดูกคอหักและกลายเป็นผู้พิการ การกัดเซาะท้ายกำแพงของหาดหน้าสตนที่ทำให้บ้านพัง สวนมะพร้าวระเนระนาดชนิดที่ไม่เคยเกิดมาก่อนแม้กระทั่งช่วงที่พายุปาบึกเข้า ฯลฯ

ตัวอย่างมากมายเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ประชาชนเริ่มตาสว่างและมองเห็นถึงปัญหา

“ผมมองว่าเราต้องสร้างความเข้าใจให้สังคมใน 2 ประเด็นหลัก หนึ่ง คือโครงสร้างแข็งมีผลกระทบ และสอง คือธรรมชาติชายหาดมีพลวัตและฟื้นฟูตัวเองได้ หากสังคมเข้าใจ 2 อย่างนี้จะไม่มีใครถามหากำแพงกันคลื่นอีก เราเชื่อว่าการให้ความรู้คนเท่านั้นที่จะทำให้ชายหาดอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

เลิกให้ยาคีโมกับผู้ป่วยไข้หวัด

น้ำนิ่งเปรียบว่าการแก้ปัญหาชายฝั่งก็เหมือนกับการรักษาโรคที่หมอควรใช้ยาอ่อนก่อนให้ยาแรง เพราะยาแรงมักมีผลข้างเคียงสูง ขณะที่โรคบางโรค แค่นอนพักเฉย ๆ สัก 2 – 3 วันก็หายเองได้

“หาดบางแห่งไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลยก็ได้ เช่น หาดดอนทะเล มีปีหนึ่งกัดเซาะเข้ามา 6 เมตร แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีกัดเซาะอีกเลยตลอด 5 – 6 ปี ทางเลือกป้องกันชายหาดควรมีหลากหลาย บางที่อาจใช้วิธีป้องกันชั่วคราว เช่น ปลูกต้นไม้แซม สร้างสันทรายเทียม หรือวางกระสอบทรายก็ยังได้ แต่เมื่อหมดฤดูกัดเซาะต้องเอาออก”

น้ำนิ่งเล่าว่าชายหาดแต่ละแห่งมีบริบทต่างกัน วิธีแก้ไขที่เหมาะสมย่อมต่างกัน เราใช้วิธีคิดแบบตัดเสื้อสูตโหลเพื่อใช้กับทุกหาดได้ การแก้ปัญหา End Effect ที่เหมาะกับหาดบางแห่งอาจเป็นการเติมทราย ส่วนบางแห่งก็อาจใช้วิธีเวนคืนที่ดินแล้วปล่อยให้กัดเซาะจนถึงจุดสมดุล ซึ่งคำนวณได้ 

“ประเทศไทยแทบไม่มีการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมเลย อย่างเช่นเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) ที่คล้ายตะเกียบยื่นไปในทะเล โครงสร้างนี้จะทำให้ทรายทับถมอยู่ฝั่งหนึ่งและกัดเซาะอีกฝั่ง วิธีแก้ง่ายสุดคือถ่ายเททราย (Sand Bypass) จากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่ง ซึ่งใช้งบประมาณไม่เยอะ แต่ประเทศไทยเพิ่งจะมาเริ่มทำเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง ก่อนหน้านั้นใช้วิธีแก้ปัญหาโดยสร้างกำแพงกันคลื่น เขื่อนกันคลื่น หรือรอดักทรายต่อท้ายไปเรื่อย ๆ”

นอกจากนั้น เขื่อนบนแผ่นดิน ฝายคอนกรีต การดาดปูนริมตลิ่งแม่น้ำ ล้วนมีผลทำให้ตะกอนที่จะมาเติมชายฝั่งลดลง 

“ปัญหาการกัดเซาะในประเทศเรามาจากสมดุลตะกอนที่เปลี่ยนไป เราต้องหยุดโทษฟ้าฝน หยุดโทษ Climate Change ได้แล้ว หาดทรายที่หายไปในยุคนี้เป็นเพราะโครงสร้างเหล่านี้ทั้งนั้น” น้ำนิ่งสรุป

ปลาย พ.ศ. 2565 กลุ่ม Beach for Life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด ได้รวมตัวเคลื่อนไหวและยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อ นั่นคือ หนึ่ง กำแพงกันคลื่นทุกขนาดต้องจัดทำ EIA สอง ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2534 ที่ให้กรมโยธาฯ มีอำนาจดำเนินการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง และสาม ให้ฟื้นฟูชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากกำแพงกันคลื่น 

แม้ว่าในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ข้อเรียกร้องข้อแรกของพวกเขาจะได้รับการอนุมัติ ทำให้ทุกวันนี้กำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA แล้ว แต่ก็ยังเหลืออีก 2 ข้อที่ถูกดองไว้เรื่อยมา

“มติที่ให้กรมโยธาฯ แก้ปัญหา เป็นวิธีคิดสมัยเก่าที่ป้องกันการสูญเสียดินแดน แต่ยุคนี้ไม่ควรเป็นอย่างนั้นแล้ว ถ้าพูดถึงความมั่นคงของชายหาดและแผ่นดิน การมีชายหาดคือความมั่นคง ชายหาดคือสิ่งปกป้องแผ่นดิน ชายหาดคือตัวดูดซับแรงปะทะของคลื่น แต่ที่ผ่านมาเราให้กรมที่ไม่มีความรู้เรื่องชายฝั่งมาจัดการชายฝั่ง มันจึงพังอยู่แล้ว เราควรให้หน่วยงานที่มีความรู้ด้านชายฝั่งเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ หรืออย่างน้อยก็ควรมีผู้เชี่ยวชาญมากำกับ โดยไม่มองผ่านแว่นความมั่นคง แต่มองผ่านแว่นที่ต้องเก็บรักษาชายหาดไว้”

ส่งไม้ต่อ

“ได้รู้ว่าจะมีคนมาทำลายชายหาดที่สวย ๆ”
นี่คือคำตอบซื่อ ๆ ของเด็ก ป.4 ต่อคำถามที่ว่าได้เรียนรู้อะไรในค่าย ‘เด็กรักหาด’ ที่กลุ่ม Beach for Life จัดขึ้น
“เราอยากให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจธรรมชาติชายหาด ได้เห็นว่าทุกครั้งที่คลื่นกระทบหาด ชายหาดเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อยากให้เด็กได้เห็นว่าชายหาดคือพื้นที่แห่งความสุข คือพื้นที่ที่ทำให้เขาเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ แต่ขณะเดียวกัน การอยู่ริมชายหาดก็มีความเสี่ยงที่เราต้องรู้จักรับมือ ปรับตัวไปตามธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลา”
ห้องเรียนชายหาดครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น น้ำนิ่งตั้งใจว่าหลังจากนี้พวกเขาจะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้ไปสอนเด็ก ๆ ต่อด้วยตัวเอง

“การทำงานเรื่องนี้ต้องไม่ใช่การแบกไว้คนเดียว แต่คือการทำงานถ่ายทอดความรู้ที่เรามีออกไปให้มากที่สุด ถ้าวันไหนเราไม่อยู่แล้วก็จะมีคนรุ่นต่อ ๆ ไปที่ช่วยกันปกป้องชายหาด ช่วยกันบอกว่าเราควรพอกับกำแพงกันคลื่นได้แล้ว”
แม้ว่าวันนี้ความเข้าใจของสังคมต่อเรื่องนี้จะพัฒนาขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก แต่ก็ยังมีคนกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่เข้าใจ และพวกเขาก็ต้องเดินหน้าสื่อสารต่อไป
“ตอนนี้ผมกำลังเขียนหนังสือเล่มใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การทำลายชายหาดไทยที่กว้างกว่าแค่กำแพงกันคลื่น แต่รวมถึงโครงการพัฒนาต่าง ๆ เช่น การขยายตัวของเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายสิ่งหลายอย่าง” 

น้ำนิ่งเล่าถึงความตั้งใจที่ไม่เคยหยุดนิ่งของเขา ซึ่งมาจากความรักในชายหาดเป็นแรงขับเคลื่อน 

เราก็ได้แต่หวังว่าคนที่รักชายหาดทุกคนจะไม่ปล่อยให้กลุ่ม Beach for Life ต้องต่อสู้บนเส้นทางนี้เพียงลำพัง

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’