ไม่ต้องสืบสาแหรกตระกูลยาวไกล เราก็มั่นใจว่าชาวตระกูล ‘สุชนก’ แห่งจังหวัดแพร่เป็นศิลปินในสายเลือด
มะปราง-ชิดชนก สุชนก เรียนจบการออกแบบ และเชี่ยวชาญการมัดย้อมฮ่อม
ปลาย-ชฎานุช สุชนก เรียนจบการปั้นเซรามิก และเชี่ยวชาญการออกแบบเสื้อผ้ากับปักผ้า
คุณพ่อของทั้งคู่เป็นครูสอนศิลปะในโรงเรียน ส่วนคุณแม่เป็นครูสอนนาฏศิลป์และช่างตัดเสื้อ
สองสาวพี่น้องเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตัดสินใจเลือกทำงานที่รักในบ้านของตัวเอง โดยเปิดคาเฟ่เล็กๆ หน้าบ้านชื่อ ‘บ้านมัดใจ homemade & cafe’ พร้อมจัดพื้นที่จัดเวิร์กช็อปงานศิลปะในบริเวณบ้านตัวเองให้บุคคลที่สนใจ มะปรางสอนมัดย้อมและขายเสื้อผ้าแบรนด์ ‘มัดใจย้อม’ ปลายสอนปั้นเซรามิกและปักผ้า และเสื้อผ้าลินินแบรนด์ ‘ด้ายมัดใจ’ คู่กัน
“ที่นี่ชื่อบ้านมัดใจ เพราะทุกอย่างที่ทำคือโฮมเมด ทำเองทุกอย่างด้วยใจ เผื่อจะมัดใจลูกค้าที่มาไม่มากก็น้อย”
มะปรางกล่าวยิ้มๆ ก่อนจะพาเราสำรวจทุกซอกมุมของร้านแสนน่ารักที่มัดใจเราอยู่หมัด และมั่นใจว่าทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาจากหลายจังหวัดก็คงติดอกติดใจที่นี่เช่นกัน
ชื่นใจ
เริ่มต้นจากเรือนไม้เล็กๆ ชั้นเดียวหน้าบ้านที่เป็นคาเฟ่แสนเก๋ ระหว่างดื่มกาแฟเย็นชื่นใจ มะปรางอธิบายว่า จุดประสงค์แรกไม่ได้อยากทำร้านกาแฟ แต่เหตุเกิดเพราะเธออยากจัดงานแต่งงานที่บ้านตัวเอง แฟนน้องสาวของเธอที่เป็นสถาปนิกเลยออกแบบเรือนรับรองและจัดงานขึ้นมา ส่วนพ่อเอาไม้ยางพาราที่ปลูกไว้มาให้สร้าง หลังงานแต่งงานเสร็จสิ้น ช่วงปลายปี 2018 เรือนไม้ที่สร้างเองแทบทุกขั้นตอนนี้จึงกลายเป็นคาเฟ่บรรยากาศดีของสองพี่น้องในเวลาต่อมา
“เราทำทุกอย่างกันเอง ไม่ได้จ้างใครเลย ทั้งดูแลหน้าร้าน ชงกาแฟ ขนมน้องเป็นคนทำ เพราะพ่อเลี้ยงเป็ดที่สวนแล้วเอาไข่เป็ดมาให้ทุกวัน”
บรรยากาศร่มรื่นสบายทำให้ที่นี่มีแขกประจำเป็นคนท้องถิ่นแทบทุกวัน เพราะบ้านสุชนกอยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่ไม่ไกล ขับรถมา 15 นาทีก็ได้นั่งชิลล์แล้ว
แต่สำหรับแขกขาจร ส่วนใหญ่ไม่ได้มานั่งจิบกาแฟเฉยๆ เพราะสองพี่น้องไม่ได้ตั้งใจเปิดแค่ร้านกาแฟ แต่อยากให้คนที่มาได้ทำกิจกรรมเรียนรู้หลากหลายที่บ้านนี้ด้วย
ปักใจ
ข้างคาเฟ่คือร้านขายเสื้อผ้าสำหรับสาวๆ ทั้งเสื้อผ้ามัดย้อมฮ่อมของมะปราง และเสื้อผ้าลินินปักลายน่าเอ็นดูของปลาย แถมที่นี่ยังเป็นสตูดิโอทำงานปักผ้าด้วย เห็นแล้วตาลุกวาวอยากอุดหนุนมากเพราะน่ารักไปหมดทุกอย่าง เสื้อผ้าในร้านมีจำนวนไม่มาก เพราะทั้งขายดีทางออนไลน์ และแรงงานหลักมีแค่มะปราง ปลาย กับแม่ที่ช่วยตัดผ้าให้เท่านั้น
“น้องชอบงานปัก เสื้อผ้าของด้ายมัดใจนี่นางปักเองทุกตัวนะ เพราะกลัวคนอื่นทำแล้วงานไม่สวย”
มะปรางแอบกระซิบบอก นอกจากเสื้อผ้าแล้ว ที่นี่ยังมีของจุกจิกจากเซรามิกที่ปลายปั้นเองขายเองในราคาน่ารัก กลุ่มสาวๆ ที่ชอบช้อปปิ้งจะรักห้องนี้มาก และถ้าสนใจเรียนรู้เรื่องงานปัก ปั้นเซรามิก หรือเพนต์เซรามิกเพิ่มเติม สามารถนัดล่วงหน้าเพื่อจัดคอร์สเรียนเล็กๆ ได้ตามชอบ
ย้อมใจ
โซนสุดท้ายคือลานมัดย้อมกลางสวนของมะปราง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดแบรนด์มัดใจย้อมตั้งแต่ปี 2015
“ตอนเรียนจบใหม่ๆ เราไปทำงานกับแบรนด์แฟชั่นที่กรุงเทพฯ เราได้เรียนรู้หลายอย่างจาก Fast Fashion เลยแรงบันดาลใจกลับมาทำงานของตัวเอง ช่วงกลับบ้านเราเห็นแม่ชอบใส่เสื้อผ้ามัดย้อม แล้วเราสงสัยว่าทำไมใส่ได้เฉพาะวัย 40 – 50 ทำไมวัยรุ่นอย่างเราไม่ค่อยใส่ ทำไมเราไม่ปรับแบบให้คนจับต้องได้ง่ายขึ้น”
หญิงสาวยกตัวอย่างเสื้อม่อฮ่อมที่น้องสาวใส่อยู่
“อย่างที่น้องใส่ก็เป็นเสื้อโบราณ เมื่อก่อนคนแพร่เรียกว่าเสื้อก๋าควาย (เสื้อตราควาย) เอาไว้ใส่ไปทำไร่ทำนา กับใส่ตอนสงกรานต์ ใส่วันปีใหม่เมือง เราเลยศึกษาเรื่องฮ่อม ปรับแบบให้ทันสมัยขึ้นแล้วทำเสื้อผ้าเอง
“ช่วงแรกๆ ที่พ่อเห็นว่าเราทำงานมัดย้อม เลยพากลุ่มนักเรียนโรงเรียนพ่อมาเรียนที่บ้าน โรงเรียนอื่นๆ เลยตามมาเรียนกัน รับเป็นกลุ่ม 50 – 60 คนก็มี เด็กๆ มาเรียนรู้ว่าม่อฮ่อมเป็นยังไง ใบฮ่อมเป็นยังไง ทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เลย แต่ช่วงนี้ส่วนใหญ่จะมีแขกเป็นนักท่องเที่ยว เขาจะพุ่งมาตรงที่เวิร์กช็อปมัดย้อมก่อน เพราะรู้สึกว่ามันเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่ใช้เวลาสั้นๆ ทำได้ ทุกคนจะตื่นเต้นกับการมัดย้อมมากว่าสร้างลายยังไง”
ว่าแล้วมะปรางก็ส่งผ้าขาวให้เราลองมัด หนีบ และสร้างลวดลาย จากอุปกรณ์ที่เธอเตรียมไว้ให้ ก่อนจะจุ่มผ้าผืนใหญ่ลงในม่อฮ่อมสีน้ำเงินเข้ม
การเรียนย้อมผ้าที่นี่สามารถเลือกระดับความเข้มข้นจริงจังได้ ตั้งแต่เรียนรู้การมัดย้อมเบื้องต้น ไปจนถึงศึกษาเรื่องต้นฮ่อมที่ต้องปลูกบนดอย และลำดับการก่อหม้ออย่างละเอียด ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน
ด้วยเวลาสั้นๆ ที่มี นักย้อมผ้าอธิบายว่า ฮ่อมเป็นพืชที่ชอบอากาศชื้น มักขึ้นบนภูเขา จึงเป็นสีธรรมชาติที่ชาวเหนือนิยมนำมาใช้ย้อมผ้า ปัจจุบันนี้ความนิยมที่มากขึ้นทำให้ผ้าย้อมฮ่อมมีแบบใหม่ๆ หลากหลายกว่าสมัยก่อนมาก และมัดใจย้อมก็มีกลุ่มลูกค้าหลากหลายวัยอย่างน่าชื่นใจทีเดียว
บ้านพักใจ
“เร็วๆ นี้บ้านเราอาจจะเปิดเป็นโฮมสเตย์นะคะ อาจจะทำสัก 3 ห้อง รีโนเวตห้องนอนแขกให้กลายเป็นที่พัก คนที่มาพักจะได้เรียนได้เต็มที่เลย”
มะปรางแย้มแผนการในอนาคตของบ้านมัดใจให้ฟัง สมาชิกในบ้านแต่ละคนเป็นช่างศิลป์กันทั้งนั้น แค่คิดว่าจะได้มาเรียนวิชาอะไรบ้างกับบ้านนี้ก็สนุกตื่นเต้น อยากสมัครมาพักแล้วตั้งใจเรียนกันตอนนี้เลย