ณ ปัจจุบัน พ.ศ. 2565 บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS มีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 53 แห่ง

โดยเมื่อ พ.ศ. 2562 มีการทุ่มงบ 3,800 ล้านบาท เปิดโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล (Bangkok International Hospital หรือ BIH)  ภายใต้แนวคิด ‘ทุกการรักษาคือศิลปะ’  ผสานศิลปะเข้ากับวิทยาศาสตร์ ทางการแพทย์ขั้นสูง เพื่อประสบการณ์และความพึงพอใจอีกระดับของการดูแลสุขภาพ

BIH เป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านสมอง กระดูก และกระดูกสันหลังแห่งแรกในประเทศไทย จดทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2562 มีการผสมผสานการบริการขั้นสูงกับความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ให้บริการทั้งผู้ป่วยไทยและต่างชาติ ด้วยการดูแลแบบองค์รวมด้วยทีมแพทย์อายุรกรรม (Integrated Care)

โรงพยาบาลขนาด 172 เตียงแห่งนี้ยังใช้แนวคิด Smart Hospital เช่น ระบบ In-Room Automation ควบคุมแสงสว่าง อุณหภูมิ สิ่งอำนวยความสะดวกในห้องพักผ่านระบบ iPad รวมทั้งการใช้ระบบ Smart ICU ที่ทำให้อายุรแพทย์ผู้ป่วยวิกฤตสามารถเข้าถึงข้อมูลและดูแลผู้ป่วยอย่างรวดเร็วแบบ Realtime

นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง เช่น หุ่นยนต์เอกซเรย์แขนกล ARTIS pheno ห้องผ่าตัดอัจฉริยะไฮบริด (Hybrid OR) ที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำ ถูกต้อง และความปลอดภัยให้การผ่าตัดกระดูกและข้อ พร้อมด้วยห้องผ่าตัด Intervention Suite สำหรับการผ่าตัดและการทำหัตถการโรคสมองและระบบประสาท

นอกจากจะเน้นเรื่องของเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยแล้ว BIH ยังเป็น Green Hospital ตามมาตรฐาน The LEED 2009 For Healthcare สหรัฐอเมริกา โดยมีพื้นที่สีเขียวและสวนที่มองเห็นได้จากห้องพักผู้ป่วยเพื่อบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สบาย ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ที่โรงแรม 5 ดาว ที่สำคัญ ในห้องผู้ป่วย ICU จะมองเห็นวิวและเปิดม่านรับแสงธรรมชาติได้ทุกห้อง เพื่อลดความสับสนของคนไข้ขณะที่รักษาตัวในโรงพยาบาล

การบริหารโรงพยาบาลเอกชนในยุคที่กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญเป็นเรื่องที่น่าสนใจ จากที่เคยแข่งขันกันโดยเน้นความเป็น Medical Hub ดึงลูกค้าจากต่างชาติ และมุ่งเน้นการขยายสาขา มาสู่การเน้นความเป็นเลิศเฉพาะด้าน และขยายบทบาทจากการรักษาสู่การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมเชิงป้องกัน แพทย์หญิง เมธินี ไหมแพง รองประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม 1 และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพจะมาเล่าให้เราฟัง

พญ.เมธินี ไหมแพง กับ BIH โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสมองและกระดูกที่ทุกการรักษาคือศิลปะ

เป็นผู้บริหารโรงพยาบาลต้องรักษาคนไข้ด้วยไหม

ไม่ต้องค่ะ ที่นี่อยากให้ผู้บริหารดูแลแพทย์ ดูแลพนักงานให้เต็มที่ รวมถึงบริการผู้ป่วย เพราะถ้าต้องตรวจรักษา ด้วยความเป็นหมอที่ต้องใส่ใจ อาจจะทำให้ทำงานด้านอื่นไม่เต็มที่

คุณเคยเป็นหมอเด็กมาก่อน คุณว่าหมอเด็กที่ดีวัดกันตรงไหน

โรคเด็ก 80 – 90 เปอร์เซ็นต์เป็นโรคง่าย การเป็นหมอเด็กที่ดี เรื่องเก่งยังเป็นรองความใจเย็นกับการให้คำแนะนำคุณพ่อคุณแม่ได้ดี การเลี้ยงเด็กไม่ใช่เรื่องสัญชาตญาณ แต่เป็นเรื่องความรู้ หมอเด็กที่ดีต้องใส่ใจ อธิบายอย่างใจเย็น เวลารักษาก็ต้องเข้าใจเด็ก เพราะบางครั้งเด็กพูดไม่ได้ เวลาเด็กร้องต้องใช้ความเข้าใจมากกว่าความรู้

ในการดูแลการรักษาคนไข้กับการบริหารโรงพยาบาลเหมือนหรือต่างกันยังไงบ้าง

ส่วนที่เหมือนคือ ไม่ว่าเราทำงานอะไรก็ต้องอยากทำให้ดีขึ้น ส่วนที่ต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ แพทย์จะคุยหรือรักษาคนไข้ทีละคน ดูแลชีวิตทีละคนให้หายจากโรค แต่การทำงานของผู้บริหารมีผลกับคนจำนวนมาก ถ้าเราทำระบบให้ดี คนไปกับระบบได้ ผลจะเกิดในวงกว้าง

คุณถือเป็นผู้บริหารสไตล์ไหน

เรารับนโยบายมา แล้วส่งต่อพร้อมกรอบและโครงที่ไม่กว้างมาก ไม่แคบมาก ถ้าไม่มีกรอบเลย ลูกน้องจะไม่รู้ว่าเราอยากไปวิธีไหน เรื่องไหนความรู้เราไม่มี ก็อาจจะมีแต่กรอบ แล้วก็ชวนลูกน้องคุยว่าโครงควรจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่ฟังวิธีคิดเขาเลย เราก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไร ส่วนตัวคิดว่าทำงานด้านไหนก็ตาม ลูกน้องต้องเก่งกว่าเราในด้านนั้น ถ้าเขาไม่เก่งกว่าเรา เราจะลำบากแล้ว เพราะเรื่องของเขา เขาต้องเก่งกว่าค่ะ

พอหมอมาเป็นผู้บริหารมักจะไม่ชอบความเสี่ยง คุณว่าจริงไหม

น่าจะจริง แต่พอมาเป็นผู้บริหารเราต้องเปลี่ยนไปนิดหนึ่ง ถ้าไม่เสี่ยงเลยจะทำงานลำบาก ท่านประธาน แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ให้นโยบายว่า เสี่ยงได้ล้มได้ แต่ช่วยลุกเร็ว ๆ ลงทุนก็ยอมเสียหายได้ แต่ช่วยเสียหายน้อย ๆ หน่อย เพราะฉะนั้น ลองได้ทุกอย่าง แต่ต้องล้มเร็วลุกเร็ว

พญ.เมธินี ไหมแพง กับ BIH โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสมองและกระดูกที่ทุกการรักษาคือศิลปะ
พญ.เมธินี ไหมแพง กับ BIH โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสมองและกระดูกที่ทุกการรักษาคือศิลปะ

การแข่งขันกันของโรงพยาบาลเอกชนเมื่อ 15 ปีก่อนกับตอนนี้ต่างกันแค่ไหน

ดุเดือดขึ้นมาก เวลาคนทำธุรกิจ มักไม่เน้นแค่ธุรกิจเดียว จะขยายไปนู่นนี่ อาจจะขยายในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันก่อน แล้วค่อยแตกไลน์ข้ามธุรกิจออกไปมากมายก่ายกอง สิบกว่าปีก่อนการแข่งขันคือทำในสิ่งที่เรียกว่า ‘Medical Hub’ เพราะการแพทย์ไทยทันกับการแพทย์ของโลก ประกอบกับความสามารถในการบริการของคนไทยทำให้ Medical Hub ของไทยก้าวหน้ามากมาย ประเทศรอบ ๆ สู้ไม่ได้ แต่ตอนนี้เทรนด์ไม่ใช่แค่รักษาอย่างเดียวแล้ว แต่เป็นเรื่องสุขภาพที่ครอบคลุมมากกว่าการรักษา การแพทย์มีทั้งส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรค การฟื้นฟู แล้วก็จบด้วยการรักษาที่เรียกว่า Palliative ที่ไม่หวังให้รักษาหายแต่ทำให้คนไข้ไม่ทรมาน และอาจเป็นระยะสุดท้าย

BDMS ทำครบวงจร เราไปแก้แค่ปลายเหตุคือรักษาไม่ได้ น่าจะดีกว่าถ้าทุกคนมีสุขภาพดี คนที่เจ็บป่วยก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ช่วงหลังเราถึงบอกว่า โรงพยาบาลกรุงเทพอยากให้ทุกคนมีสุขภาพดี

ปี 2020 มูลค่าของตลาดสุขภาพที่ไม่ใช่การรักษา ทั่วโลกมีประมาณ 4 จุดกว่า ๆ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คนจึงเริ่มสนใจกันมากขึ้น BDMS ครบรอบ 50 ปีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในช่วงเริ่มต้นเราถือเป็นเจ้าตลาดในการรักษา แน่นอนว่าหมอก็จะแนะนำเรื่องสุขภาพด้วย แต่อาจจะไม่ได้ชัดเจนนัก แต่มีจุดเปลี่ยนเมื่อ 3 – 4 ปีก่อน เราเริ่มทำ BDMS Wellness Resort ที่ปาร์คนายเลิศ แล้วช่วงนี้เราก็กำลังทำธุรกิจแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้ Landscape การเติบโตของ BDMS เปลี่ยนไป

เดิมเราเป็นผู้ให้การรักษาพยาบาล ขยายธุรกิจแบบ Hospital Network เรามีทั้งหมด 53 โรงพยาบาล แต่ตอนนี้เราปรับทิศทางการทำงาน และการเติบโตไปเป็นธุรกิจสุขภาพครบทุกด้าน Hospital Network เป็นเพียงจุดหนึ่งในภาพใหญ่ เราใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นและเน้นเรื่องผู้สูงอายุ ซึ่งต่อไปจะเป็นพลเมืองกลุ่มใหญ่ของประเทศมากขึ้น

พอเปลี่ยนมาเน้นเรื่องธุรกิจสุขภาพ คู่แข่งยังเป็นกลุ่มเดิมไหม

คนที่ก้าวมาทำเรื่องสุขภาพไม่ใช่โรงพยาบาล อันนี้ทำให้วงการนี้สนุกสนานมากขึ้น ไม่อยากให้มองว่าน่ากลัวนะคะ การทำธุรกิจต้องทำให้เข้ากับยุคสมัย หรือถ้าทำนายได้ นำสมัยนิด ๆ ก็จะสนุก คงเคยได้ยินว่า ผิงอัน บริษัทประกันภัยของจีน มีบูทตรวจสุขภาพของตัวเอง แล้วก็มีอีกหลายวงการที่มาทำเรื่องสุขภาพหรืออาหารสุขภาพ อาหารเสริม คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการโรงพยาบาลมาก่อนจะไม่มีข้อจำกัด ก้าวเข้ามาก็จะมีอะไรแปลกใหม่น่าสนใจ

ตลาดสุขภาพในเมืองไทยใหญ่กว่าตลาดการรักษาแค่ไหน

อย่างน้อยก็ 1.5 – 2 เท่า แล้วก็เสี่ยงน้อยกว่าด้วย

ไม่ถูกฟ้อง ?

ใช่ ถ้าเป็นการรักษา เราเอาชนะธรรมชาติไม่ได้ จะเก่งยังไง ทำเต็มที่ ไม่พลาดเลย ก็ยังอาจจะป่วยหนักจนเสียชีวิตได้อยู่ดี แต่ว่าธุรกิจสุขภาพไม่ใช่แบบนั้น สวยขึ้น ผิวสวยไม่มีรอยย่น สุขภาพดี หัวใจเต้นแข็งแรง เลยเป็นธุรกิจที่ทำได้ในหลายวงการ จึงโตเร็วมาก

พญ.เมธินี ไหมแพง กับ BIH โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสมองและกระดูกที่ทุกการรักษาคือศิลปะ
พญ.เมธินี ไหมแพง : รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล รพ.เฉพาะทางด้านสมองและกระดูก

BDMS อยู่ตรงไหนในวงการโรงพยาบาลเอกชน

ในส่วนของการรักษาเราเต็มที่ เน้นการใช้เทคโนโลยีมาดูแลรักษา เป้าหมายของเราคือต้องการเป็นผู้นำในระดับ Asia Pacific คนทั้งภูมิภาคนี้มาหาเราได้ เรารับและส่งคนไข้ได้ทั้งโลก เรามีเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ มีทีมแพทย์ที่รับคนจากอเมริกามารักษาที่นี่ ยุโรปก็ด้วย

เราทำสิ่งที่เรียกว่า Bangkok Hospital Anywhere Anytime ถ้าคิดถึงเรื่องสุขภาพและโรค ก็คิดถึงโรงพยาบาลกรุงเทพ เรามีแอปพลิเคชันที่ติดต่อเราได้ตลอดเวลา สงสัยอะไรก็ถามเราได้ ขั้นตอนที่ลึกซึ้งกว่านั้นก็แล้วแต่ว่าอยากได้อะไร ก็ต้องนัดคุยกับแพทย์ พยาบาล

ส่วนเรื่องการเป็น Hospital Network เราทำรายได้วิ่งขึ้นลงระหว่างอันดับที่ 2 – 4 ของโลก เราต้องภูมิใจนะคะ นี่คือสิ่งที่ท่านผู้ก่อตั้ง อาจารย์นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ตั้งเป้าไว้ว่า โรงพยาบาลไทยต้องไม่แพ้ใครในโลก แล้วเราก็ไปถึงระดับนั้น เรายังเกาะตรงนี้อยู่ ร่วมกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เมื่อสักครู่บอก

ทำไม BIH ต้องเน้นการเป็นโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านสมอง กระดูก และกระดูกสันหลัง

เราเริ่มต้นจากการมีโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคหัวใจและด้านมะเร็งซึ่งแยกตัวออกไปแล้ว เพราะเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของประเทศ ขึ้นลงสลับกัน ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ติดอันดับเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน เมื่อก่อนเราเป็นอันดับหนึ่งของโลก ตอนนี้เป็นอันดับสอง อุบัติเหตุบนท้องถนน ภาษาหมอเรียกว่า Trauma แพทย์ส่วนใหญ่ที่เข้ามาดูคือแพทย์กระดูกกับแพทย์สมอง

อาการป่วยอันดับต้น ๆ ที่เกี่ยวกับสมองอีกอย่างคือ Stroke หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต เพราะฉะนั้น การแยกตัวออกเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางของเราก็คือ แยกตามสาเหตุที่ทำให้คนเจ็บป่วยรุนแรงแล้วเสียชีวิต

ทำไมถึงเน้นให้ที่นี่เป็น International

เราเป็น International ในทุกโรงพยาบาล แค่ไม่มีคำว่า International ติดในชื่อของโรงพยาบาลอื่น จริง ๆ ความหมายของ International คือเราให้บริการคนไข้ทุกชาติ ทุกภาษา ด้วยมาตรฐาน International Care ระดับสากล ในส่วนของ BIH เราตั้งใจให้เป็น Healing Environment ไม่ให้รู้สึกถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย มีการตกแต่งด้วยภาพวาดทุกมุม เป็นภาพที่ดูแล้วรู้สึกสบายใจ

เราเน้นการดูแลคนไข้แบบองค์รวม ตรงนี้พิเศษมากเพราะมีหมอประจำตัวให้อีกคน สมมติว่าคนไข้เข้ามาด้วยโรคปวดหลัง จะมีคุณหมอกระดูกที่ชำนาญเรื่องกระดูกสันหลังมาดูแล แล้วก็มีแพทย์ประจำตัวคอยดูแลทั้งตัวแบบองค์รวมอยู่ประจำห้อง ช่วยตรวจตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า

ห้องพักมีอะไรพิเศษไหม

เราให้ความสำคัญกับเรื่องความสะดวกสบายและความเป็นส่วนตัวของคนไข้เป็นอันดับต้น ๆ ทุกห้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มี Butler และ Lounge ให้บริการได้ทุกเรื่อง ส่วนคนไข้บางรายอาจมีคนติดตามหรือมีงานต่อเนื่อง เราก็มีห้องใหญ่ที่พร้อมให้ความสะดวกสบาย เช่น มุมลงทะเบียนเยี่ยม ห้องประชุม ห้องทำงาน ห้องโถง ห้องครัว และห้องน้ำแยกเป็นสัดส่วน เพื่อให้คนไข้ผ่อนคลายที่สุดขณะรักษาตัวในโรงพยาบาล

พญ.เมธินี ไหมแพง กับ BIH โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสมองและกระดูกที่ทุกการรักษาคือศิลปะ
พญ.เมธินี ไหมแพง กับ BIH โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสมองและกระดูกที่ทุกการรักษาคือศิลปะ

โรงพยาบาลเอกชนตั้งเป้าหมายในทางธุรกิจไว้แบบไหน

แล้วแต่ยุคสมัยด้วย ยุคหนึ่งเราตั้งเป้าว่าจะเป็น International Hospital รับคนไข้ต่างชาติและคนไทยด้วย International ไม่ได้หมายความว่าไม่มีคนไทยนะคะ เราหมายถึง International Standard ในการรักษาพยาบาล กับ International ในแง่การดูแลคนไข้ เราต้องรู้วัฒนธรรมเขา ญี่ปุ่นแบบหนึ่ง เมียนมาแบบหนึ่ง อาหรับต้องอีกแบบหนึ่ง เช่น การชี้ บางชาติทำไม่ได้ ถือว่าไม่สุภาพ หรือห้องของแขกอาหรับต้องไม่มีรูปสัตว์ เราต้องมีความ International ทั้ง 2 แบบที่บอกไป นำมารวมกับ Thai Hospitality ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของคนไทยที่ชาติอื่นไม่มี

เราผ่านยุคที่อยากเป็น International กับ Medical Hub มาแล้ว ตอนนี้คือยุคของ Excellence Centre ศูนย์แห่งความเป็นเลิศเฉพาะทาง ที่ต้องรู้จริงรู้ลึกในเรื่องนั้น ซึ่งในทางการแพทย์มีการรับรองด้วยองค์กรที่ชื่อ Joint Commission International (JCI) จากอเมริกา แล้วแต่ละโรงพยาบาลก็ทำสิ่งที่เรียกว่า Clinical Care Programme Certification หรือการรับรองว่าเราดูแลคนไข้โรคนี้ได้อย่างเป็นเลิศ ซึ่งที่ BIH ได้รับการรับรองครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสมอง กระดูก หรือกระดูกสันหลัง 

ต้องทำตลาดยังไงคนต่างชาติถึงยอมบินมารักษา

ชาวญี่ปุ่นเป็นคนที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย เราก็เข้าไปในชุมชนของคนญี่ปุ่นหรือบริษัทญี่ปุ่น ส่วนอาหรับ เราก็ต้องมีคนที่พูดภาษาอาหรับได้ ซึ่งในไทยก็มีนักเรียนที่ได้ไปเรียนในประเทศอาหรับ เราก็ชวนมาเป็นแพทย์และพนักงานของเรา การเป็นคนไทยเหมือน Melting Pot เรามีความสัมพันธ์ที่ดีด้วยทุกเชื้อชาติศาสนา การทำงานด้านนี้จึงไม่ยากจนเกินไป

พญ.เมธินี ไหมแพง กัปตันทีม รพ.เฉพาะทางด้านสมองและกระดูกแห่งแรกของไทยที่รักษาแบบองค์รวม อินเตอร์ ไฮเทค และเป็นศิลปะ
พญ.เมธินี ไหมแพง กัปตันทีม รพ.เฉพาะทางด้านสมองและกระดูกแห่งแรกของไทยที่รักษาแบบองค์รวม อินเตอร์ ไฮเทค และเป็นศิลปะ

ชาวอาหรับน่าจะบินไปรักษาที่ไหนก็ได้ในโลก ทำไมถึงเลือกมาเมืองไทย

การแพทย์ไทยไม่น้อยหน้าใครในโลกนะ แล้วคนไทยเราก็มีเสน่ห์ เป็นมิตร ค่าใช้จ่ายเราก็ย่อมเยากว่าไปสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป รสชาติอาหารก็อร่อยกว่า

การมีคนไข้ต่างชาติบินมารักษาตัว ประเทศไทยได้อะไรจากสิ่งนี้บ้าง

คร่าว ๆ รายได้จากการเป็น Medical Hub ของไทยเมื่อ 3 ปีก่อน น่าจะใกล้เคียงแสนล้านบาท พอคนไข้ต่างชาติมาเขาก็ไม่ได้จ่ายเงินให้โรงพยาบาลอย่างเดียว ที่นี่เคยมีรถของศูนย์การค้าใหญ่ ๆ มารอรับญาติของคนไข้อาหรับไปช้อปปิ้ง รายได้ไม่ได้เข้าแต่โรงพยาบาล คนอื่น ๆ ก็ได้ด้วย กระทรวงสาธารณสุขก็มีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งดูแลด้านนี้ ก็ต้องการอำนวยความสะดวกให้รายได้เข้าประเทศด้วย 

เคยมีกรณีที่คนไข้จะบินมารักษาที่ไทย แล้วขอเลือกโรงพยาบาลที่ภูเก็ตหรือพัทยาไหม

มีค่ะ เรามีโรงพยาบาลที่พัทยา ภูเก็ต สมุย สถานที่ท่องเที่ยวใหญ่ ๆ เรามีโรงพยาบาลอยู่หมด ช่วงเปิดประเทศจากโควิดปลายปีที่แล้ว องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของภูเก็ตก็มาทำโครงการรับคนไข้อาหรับกับชาติอื่น ๆ มาพักที่ภูเก็ตกับโรงพยาบาลเรา ดูแลเรื่องการตรวจคัดกรองและกรณีที่มีความเจ็บป่วย

แล้วพอโควิด-19 เริ่มซาลง มีแผนดึงคนไข้ต่างชาติกลับมายังไง

เราก็ต้องไปเยี่ยมเยียนต่อความสัมพันธ์เดิม แต่บางโรคที่เขาหยุดรักษาไป พอเปิดประเทศเขาก็ต้องรีบกลับมา เรื่องการทำการตลาดของโรงพยาบาลไม่หนักหน่วงเท่าเรื่องอื่น ๆ เพราะโรงพยาบาลเราเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว

การเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชนในช่วงโควิด-19 ท้าทายยังไงบ้าง

โรงพยาบาลกรุงเทพ ไม่ได้ให้พนักงานออกเลยในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา เราผ่านวิกฤตไปโดยไม่ได้เสียใครไปเลยช่วงโควิด-19

น่าจะเป็นช่วงที่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนคึกคักนะ

ไม่จริงเลยค่ะ เดือนเมษายนปี 2020 โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งคนไข้ตกหมด น้อยจนเราต้องรวบบริการหลายอย่างไว้ด้วยกัน โรงพยาบาลเล็ก ๆ สายป่านสั้นไม่น่าจะอยู่รอดอย่างเรา เพราะคนไม่ออกจากบ้านเลย ทุกอย่างหยุดการรักษาหมด แม้กระทั่งโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ใหญ่ ๆ ก็ปิดการรักษาที่ไม่จำเป็นเหลือแต่ฉุกเฉินเท่านั้น คนไข้ก็กลัวติด หมอพยาบาลเราก็กลัวติด ต่างฝ่ายต่างกลัว 2 – 3 เดือนถัดมาเริ่มชินถึงดีขึ้น

แล้วก็เป็นช่วงของความหวาดหวั่น วัคซีนก็ไม่มี เครียดทั้งโรงพยาบาล ในฐานะที่เราเป็นผู้บริหารจะเอาอะไรมาดูแลน้องของเรา ไม่ใช่ในแง่เงินนะคะ เราสายป่านยาว สุดท้ายคนของเรา 3,000 – 4,000 คนอยู่รอดโดยไม่เป็นอันตราย ไม่เป็นโควิด-19 ถึงเป็นก็ต้องไม่หนัก แล้วเราก็ไม่ได้ดูแลแค่คนที่ทำงานกับเรา ถ้าให้วัคซีนพนักงาน แต่ญาติพี่น้องเขาเป็น เขาก็เป็นอยู่ดี แล้วใครจะมีกำลังใจทำงาน ถ้าตัวเองอยู่รอดแต่พ่อ แม่ ลูก สามี เป็นหมด โรงพยาบาลก็ต้องดูแลส่วนนั้นด้วย

ช่วงนั้นน่าจะมีคนไข้มารักษาโควิด-19 เยอะนะ

คนไข้เข้ามาจริง แต่รัฐบาลซึ่งดีมาก เพราะดูแลคนไทยทุกคนว่าให้เข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาล ดูแลค่าใช้จ่ายให้น้อยกว่าต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 3 – 5 เท่า เพราะเรารักษาด้วยมาตรฐานของเรา มีคนเข้าไปดูแลตั้งแต่หน้าโรงพยาบาลเข้ามาจนถึงในห้อง เราไม่รับคนไข้อยู่ร่วมกัน 2 คนในห้องเดียวกัน ยกเว้นอยู่บ้านเดียวกัน ห้องคนไข้ก็ต้องดัดแปลงระบบระบายอากาศใหม่ ต้องลงทุนกับชุดป้องกันโรค แอลกอฮอล์ เยอะแยะมากมายกว่า ค่าใช้จ่ายที่รัฐให้มา แปลว่ายิ่งรับยิ่งขาดทุน แต่เราอยู่ในประเทศไทยก็ต้องช่วยกันดูแลคนไทย ซึ่งสุดท้ายเราก็ผ่านมาได้ ถือเป็นความภูมิใจร่วมกันของพวกเราทุกคน

โรงพยาบาลวันนี้ต่างจากเมื่อสิบปีก่อนเยอะไหม

ต่างกันพอสมควรค่ะ หลังโควิด-19 Digital Technology โตขึ้นมาก ๆ เกิดนวัตกรรมกันเป็นแถบเลย เกิดหุ่นยนต์ที่ช่วยดูแลคนไข้ มีเครื่องส่องคอส่องหูคนไข้ได้ โรงพยาบาลสนามเราก็ดูแลคนไข้จากจอได้ สอนให้คนออกกำลังกายผ่านจอได้ เรามีโรงพยาบาลในต่างประเทศด้วย เทคโนโลยีช่วยให้หมอเราดูแลคนไข้ที่นู่นได้ หรือระบบ Teleoperation ที่หมอเราร่วมให้คำปรึกษาระหว่างการผ่าตัดที่นู่นได้ นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด แล้วคนไข้ก็ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล เรามีบริการไปเจาะเลือด ไปทำแผลที่บ้าน

พญ.เมธินี ไหมแพง กัปตันทีม รพ.เฉพาะทางด้านสมองและกระดูกแห่งแรกของไทยที่รักษาแบบองค์รวม อินเตอร์ ไฮเทค และเป็นศิลปะ
พญ.เมธินี ไหมแพง กัปตันทีม รพ.เฉพาะทางด้านสมองและกระดูกแห่งแรกของไทยที่รักษาแบบองค์รวม อินเตอร์ ไฮเทค และเป็นศิลปะ
พญ.เมธินี ไหมแพง : รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล รพ.เฉพาะทางด้านสมองและกระดูก

แล้วอีกสิบปีข้างหน้า โรงพยาบาลจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน

คิดว่าคนจะมาโรงพยาบาลน้อยลง มาเฉพาะที่ต้องมาจริง ๆ การผ่าตัดใหญ่จะลดลง กลายเป็น Minimally Invasive Surgery คือการผ่าตัดแผลเล็ก โดยใส่สายเข้าไปแล้วมีกล้องติดเข้าไปด้วย หลาย ๆ อย่างก็จะใช้เทคโนโลยีแบบเสมือนจริงมากขึ้น การรักษาจะทำให้คนเจ็บน้อยลง สะดวกสบายขึ้น และอยู่โรงพยาบาลสั้นลง

คุณมีหลักในการคัดเลือกแพทย์มาทำงานยังไง และทำยังไงให้ทุกโรงพยาบาลรักษาด้วยมาตรฐานเดียวกัน

ถ้ามีการรับแพทย์ประจำต้องขอคุยด้วยทุกคน เพราะสิ่งที่จะทำให้โรงพยาบาลอยู่ได้อย่างยั่งยืนคือ แพทย์ต้องมีจริยธรรม และต้องศึกษาหาความรู้ในการดูแลผู้ป่วย แพทย์เป็นคนมีเหตุผล ถ้าเราสั่งโดยไม่บอกเหตุผลน่าจะลำบาก เราต้องคุยกันบ่อย ๆ

เรามี Medical Executive Committee เป็นคณะกรรมการขององค์กรคณะแพทย์ฯ ซึ่งมาดูแลมาตรฐานของการรักษา แพทย์จะมารวมตัวกันพิจารณาว่า ถ้าจะนำการรักษาแบบใหม่เข้ามาใช้ แพทย์คิดว่าอย่างไร

อย่างที่บอกตอนต้น ถามว่าเราเก่งเท่าแพทย์ไหม ไม่เก่ง เราเน้นเรื่องบริหาร แต่แพทย์เขาก็จะมีความรู้ของเขา เขาก็จะมารวมตัวกันแล้วพิจารณา ยกตัวอย่างเช่น มีการรักษาแปลกใหม่อะไรสักอย่าง อยากจะเข้ามาในนี้ ผู้บริหารไม่ได้พิจารณาแต่อย่างเดียว ผู้บริหารจะฟังแพทย์ว่าอันนี้โอเคไหม ถ้าเขาบอกว่าได้ ด้วยสิ่งที่เราเรียกว่า Evidence Based ดูแล้วการรักษานี้ปลอดภัยสำหรับคนไข้ เขาก็จะ Approve มา เราก็จะโอเค อันนี้แพทย์จะช่วยดูแลเรื่องมาตรฐาน เป็นกลุ่มแพทย์ที่ได้รับคัดเลือกเลือกตั้งมาดูแลเรามีประธานองค์กรแพทย์ เรามี CMO (Chief Medical Officer) หรือผู้บริหารของโรงพยาบาล เป็นแพทย์ซึ่งดูแลและสนับสนุนให้แพทย์มีความสุข ถ้าทำผิดก็มีบทลงโทษ ที่นี่เรายึดถือเรื่องจริยธรรม ถ้าแพทย์ทำผิดจริยธรรมก็ให้ออก

พญ.เมธินี ไหมแพง กับ BIH โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสมองและกระดูกที่ทุกการรักษาคือศิลปะ
พญ.เมธินี ไหมแพง กับ BIH โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสมองและกระดูกที่ทุกการรักษาคือศิลปะ

10 เรื่องที่จะทำให้คุณรู้จัก แพทย์หญิงเมธินี ไหมแพง มากขึ้น

1. เรื่องที่คุณโพสต์บ่อยที่สุดในเฟซบุ๊ก

ไม่โพสต์เลย เพราะมีจุดเปราะบางหลายจุด ยังไงคนก็รู้ว่าเราทำงานที่ไหน ไม่อยากให้องค์กรมีปัญหากับบางเรื่อง ซึ่งบางทีเราก็ไม่ทันคิด ส่วนใหญ่จะโพสต์เรื่องชื่นชมเพื่อน เช่น สวยจัง ยิ้มสวย น่ารักนะ

2. ลูกน้องแบบไหนที่รักที่สุด

รู้หน้าที่ตัวเอง รู้ว่าต้องทำอะไร

3. ถ้าได้พรวิเศษ 1 ข้อที่รักษาโรคอะไรก็หาย อยากเอาไปรักษาโรคอะไร

มะเร็ง แม้ว่าจะไม่ได้ร้ายแรงกว่าโรคอื่นนัก ส่วนใหญ่รักษาหายได้ แต่คนทั่วไปพอรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง พลังชีวิตจากที่เคยมีร้อยจะเหลือศูนย์ ความรู้สึกที่มีต่อโรคอื่นยังไม่ขนาดนี้ อาจจะเพราะเคยเป็นหมอที่ดูแลโรคมะเร็งด้วย

4. ถ้าได้รับเชิญให้ไปสอนนักศึกษาแพทย์อีกครั้งในยุคนี้ อยากไปสอนอะไร

อยากให้น้อง ๆ เป็นคน Smart แปลว่าต้องมีสติและต้องปรับตัวให้ทันยุค รู้หน้าที่ รู้ตัว อยากให้เขามีสิ่งนี้มากกว่าความรู้วิชาการอีก เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีนอกเหนือจากจริยธรรม จรรยาบรรณ

5. แผนกที่เดินไปเยี่ยมบ่อยที่สุด

ICU ส่วนใหญ่มาดูน้องพยาบาลว่าเขาสุขทุกข์ยังไง เพราะห้อง ICU งานหนัก

6. รับประทานอาหารเที่ยงที่ไหน กับใคร

ห้องพักแพทย์ ตอนนี้ต้องทานคนเดียว เพราะต้องนั่งแยกโต๊ะ

7. สิ่งที่ทำได้ดีรองจากรักษาคนไข้

มีทักษะในการเข้าใจคน และมองคนออก (ในแง่การทำงาน)

8. ถ้าไม่คุยเรื่องงาน คุยเรื่องอะไรกับคุณแล้วจะสนุกที่สุด

เรื่องเที่ยว

9. คุณให้คะแนนลายมือตัวเองเท่าไหร่

6/10

10. คนไข้เคสไหนที่ใจฟูทุกครั้งที่คิดถึง

เวลารักษาคนไข้หายเราก็ดีใจ ภูมิใจ แต่เวลาดูแลคนไข้มะเร็งเด็ก มีหลายครั้งที่เด็กเสียชีวิตแล้ว พ่อแม่ยังมาขอบคุณว่าเราดูแลให้ลูกเขาเสียชีวิตอย่างไม่ทุกข์ทรมาน อย่างเข้าใจ มีครั้งหนึ่งมีเด็กที่เป็นมะเร็งพับนกกระเรียนใส่เต็มขวดมาให้ เป็นของขวัญที่ภูมิใจมาก

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ