หากนึกถึงย่านสร้างสรรค์ของจังหวัดเชียงใหม่ หลายคนนึกถึงย่านชื่อดังอย่างนิมมานเหมินท์ ถนนที่เป็นแหล่งรวมกิจการสร้างสรรค์ตั้งแต่คาเฟ่ แกลเลอรี ร้านเสื้อผ้า ร้านอาหารที่น่าสนใจจำนวนมาก แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ย่านช้างม่อย-ท่าแพ ของจังหวัดเชียงใหม่กำลังกลายเป็นอีกย่านที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก จากการเข้ามาของธุรกิจสร้างสรรค์โดยผู้ประกอบการรุ่นใหม่
ย่านช้างม่อยในอดีตถือเป็นย่านธุรกิจสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะบริเวณถนนช้างม่อยใหม่ที่ทำหน้าที่เป็นทางเชื่อมผู้คนไปสู่กาดหลวง ตลาดขนาดใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ทำให้บริเวณแห่งนี้ในอดีตเคยพลุกพล่านไปด้วยธุรกิจและผู้คนหลากสีสัน กาลเวลาผ่านไป กายภาพของเมืองก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกับความสนใจของผู้คน อาคารรูปทรงเก่าแก่และเรื่องราวต่าง ๆ ในช้างม่อยก็ค่อย ๆ เลือนหาย บางอาคารถูกขายทิ้ง บางพื้นที่เก็บของ ร้ายยิ่งกว่าคือถูกทิ้งให้ร้างอย่างน่าเสียดาย
กระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่เห็นถึงเสน่ห์ของช้างม่อยเริ่มตัดสินใจเข้ามาเปิดธุรกิจของตัวเองภายในย่านแห่งนี้อีกครั้ง โดยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างความใหม่ที่ยังคงเสน่ห์ของอาคารเก่าและเรื่องราวของชุมชนเอาไว้ ช้างม่อยจึงกลับมามีสีสันน่าสนใจอีกครั้ง และกำลังจะกลายเป็นย่านสร้างสรรค์ที่สำคัญอีกแห่งของจังหวัดเชียงใหม่
Take Me Out ตอนนี้เราจึงขอพาทุกคนเดินทางไปในย่านช้างม่อย-ท่าแพ และย่านสันป่าข่อย (แถมให้นะ ย่านใกล้เคียงที่กำลัง Hot!) ลัดเลาะผ่านซอกซอยและบ้านช่องของชุมชน ชมเรื่องราวย่านสร้างสรรค์แห่งใหม่ของเชียงใหม่ ผ่าน 15 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่ยังคงรักษาเสน่ห์ดั้งเดิมของย่านเก่า
กระทรวงการคั่ว (Ministry of Roasters)
หากมีโอกาสผ่านไปทางถนนเส้นช้างม่อยใหม่ หลายคนจะต้องสะดุดตากับคาเฟ่แห่งนี้ตั้งแต่รูปลักษณ์สีขาวภายนอกที่โดดเด่น รวมถึงชื่อ ‘กระทรวงการคั่ว’ ที่สะดุดหูและชวนให้ลองเข้าไปทำความรู้จัก
กระทรวงการคั่วที่ช้างม่อยนี้ถือเป็นสาขาที่ 2 ที่ขยายเพิ่มเติมจากร้านที่เปิดมาก่อนหน้าที่กรุงเทพฯ โดยเกิดขึ้นมาจากความหลงใหลในกาแฟของเจ้าของ และทำให้กระทรวงการคั่วเป็นหนึ่งในร้านกาแฟที่ไปสุดทางแทบทุกด้าน ตั้งแต่การคัดสรรเมล็ดกาแฟ กระบวนการคั่ว เครื่องชงคุณภาพเยี่ยม และกรรมวิธีต่าง ๆ ที่การันตีด้วยรางวัลจำนวนมากทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย
ตัวร้านถูกออกแบบภายใต้แนวคิด MoR (Ministry of Roasters) Makes Sense มุ่งเน้นให้ลูกค้าที่มาได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับกาแฟผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ทำให้ Facade ลายคลื่นที่เราเห็นตรงหน้าร้านและที่ติดตั้งบนเพดานร้านมีความหมาย ซึ่งหมายถึงค่าการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ เวลา พลังงานที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงของการคั่วกาแฟ
ชื่อเมนูต่าง ๆ ก็มีการออกแบบให้ดูน่าสนุกผ่านชื่อที่คงคอนเซปต์ความเป็นกระทรงการคั่ว เช่น เมนู ‘คอร์รัปชัน’ นำกาแฟ Dirty มาตีความใหม่ หรือ ‘สินบน’ นำกาแฟ Dirty มาต่อยอดโดยการโรยน้ำตาลทรายแดงไว้ด้านบนเหมือนกับสินบนที่ผิว ๆ เหมือนจะหอมหวานแต่ก็ยังสกปรก เมนูอย่าง ‘ข้าราชการบำนาญ’ ที่เป็นการนำกาแฟ Cold Brew ผสมกับกะทิ ให้รสชาติที่นุ่มละมุนทิ้งตัวอยู่ในสัมผัสเนิ่นนาน และด้วยกระบวนการทำที่ต้องใช้เวลาจึงกลายเป็น ข้าราชการบำนาญ ที่ค่อย ๆ ได้รับไปเรื่อย ๆ หรือจะไปทาง ‘ข้าราชการบำเหน็จ’ นำ Cold Brew ผสมกับน้ำมะพร้าว สดชื่นทันทีเมื่อได้จิบ เหมือนกับ เงินบำเหน็จ ที่ได้ครั้งเดียวเป็นก้อนเต็มคำ นี่คือตัวอย่างความสร้างสรรค์ของทางร้านที่เราแนะนำให้ลองทุกเมนู
ระหว่างที่รอเมนูที่สั่ง ทางร้านยังโชว์กลิ่นเอกลักษณ์ของกาแฟเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ไว้บนผนังด้านหนึ่งของร้านให้เราเดินไปทดลองดมอย่างเพลิดเพลินและเรียนรู้เอกลักษณ์ของกาแฟชนิดต่าง ๆ ได้
สำหรับผู้ที่สนใจศาสตร์ของกาแฟมากไปกว่านั้น กระทรวงการคั่วยังเปิดพื้นที่ชั้น 2 ให้เป็นพื้นที่เวิร์กช็อป อบรม ด้านกาแฟที่จะเชิญชวนผู้เชี่ยวชาญในประเทศและระดับโลกหมุนเวียนกันมาสอน
ร้านแห่งนี้จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่มาแล้วครบจบทุกด้านของผู้ที่รักกาแฟ!
กระทรวงการคั่ว (Ministry of Roasters)
Neighborhood
Neighborhood คือ Community Mall แห่งใหม่ของย่านช้างม่อยที่อยากเป็นเพื่อนบ้านใหม่ให้กับย่านแห่งนี้ ซึ่งนำอาคารเก่าแก่ 3 ชั้น 3 คูหา ของย่านมาชุบชีวิตให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และเชื่อมร้อยผู้คนให้มาใช้เวลาร่วมกันในพื้นที่ของโครงการย่านช้างม่อย ผ่านกิจกรรม เวิร์กช็อป และร้านค้าต่าง ๆ ทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ นอกจากนั้นยังเปิดเป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้มาพักผ่อนหย่อนใจหรือจัดกิจกรรมในพื้นที่ได้
Neighborhood จึงเป็นการรวมกันของความเป็นพื้นที่สาธารณะ (Public Space) และพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) เพื่อเป็นพื้นที่ของผู้คนย่านช้างม่อย (Community Space)
Neighborhood
9292.studio
Selected Shop แห่งใหม่หน้าโครงการเวิ้งเหล็กแดง โดยคู่สามีภรรยาเบื้องหลัง Bakanok ร้านขายหนังสือและสินค้าสำหรับเด็ก สำหรับ 9292.studio เริ่มต้นจาก อาร์เธอ แวร์ญ (Arthur Vergne) สถาปนิกหนุ่มชาวฝรั่งเศสผู้เป็นสามี เริ่มหันมาสนใจงานด้าน Illustrator ด้วยสายตาของสถาปนิกที่หันมาวาดภาพบันทึกบรรยากาศและเสน่ห์ของเมืองในมุมต่าง ๆ ทำให้ภาพเขียนของเขามีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่น่าสนใจ และหลายอย่างเราก็เคยเห็นกันจนชินตา เช่น โต๊ะม้าหินอ่อน ลายกระเบื้องบนพื้น ฯลฯ แต่ในสายตาของเขามันกลับเป็นเสน่ห์ ซึ่งพออยู่ในภาพวาดก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่าเพราะอะไร
นอกจากผลงานของอาร์เธอ ภายในร้านยังมีการคัดเลือกงานน่าสนใจอีกจำนวนมากมาจำหน่ายด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นงานคราฟต์ของเพื่อนฝูงพวกเขาที่พวกเขาเห็นถึงความตั้งใจและจริงจังในการสร้างสรรค์ผลงานนั้น ๆ ซึ่งรวบรวมมาวางจำหน่ายให้เราได้เลือกอุดหนุนจำนวนมาก
ตัวร้านยังเชื่อมต่อระหว่าง Bakanok กับ Pantang Studio สตูดิโอสถาปนิกของอาร์เธอและเพื่อนเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เราเยี่ยมเยียนสถานที่แห่งนี้แต่ได้แบบ 3 In 1 เลยล่ะ
9292.studio
8 Space
แกลเลอรีและ Creative Space แห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ที่ตั้งอยู่ภายในอาคารเก่าแก่ของย่านช้างม่อย บนชั้น 3 ของโครงการ The Goodcery ดูแลโดยศิลปิน แพร-พัชราภา อินทร์ช่าง
ที่มาของชื่อ 8 Space นั้น มีที่มาจากแต่เดิมอาคารแห่งนี้เคยเป็นร้านขายเครื่องเสียงและวิทยุสื่อสาร เอ็จวิทยุ มาก่อน เพื่อเป็นเกียรติและรักษาความทรงจำเดิมของพื้นที่ไว้ เธอจึงนำชื่อเดิมมาปรับใช้เป็น 8 Space ในปัจจุบัน และใช้เอกลักษณ์ของความเป็นพื้นที่อาคารเก่าเป็นตัวตั้งในการคัดสรรหางานที่เหมาะสมกับพื้นที่มาจัดแสดง และยังเป็นพื้นที่ที่พยายามช่วยสนับสนุนให้เกิดคอลเลกเตอร์หน้าใหม่ขึ้นในประเทศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้วงการศิลปะโดยเฉพาะศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ได้เติบโต
สำหรับแพร เธอเชื่อว่างานศิลปะไม่ได้มีบทบาทแค่รับใช้แต่ความงามเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องรับใช้สังคมที่มันอยู่และเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้กำเนิดเป็นผลงานขึ้นมาด้วย ผู้มาชมงานที่จัดแสดงใน 8 Space จึงจะได้รับแง่มุมเกี่ยวกับด้านต่าง ๆ ของสังคมที่งานนั้นนำเสนอ และทำให้ขบคิดไปด้วย
8 Space กำลังแสดงงานนิทรรศการ ‘เปลี่ยนป่าก์ and the art of cooking space’ ว่าด้วยความรื่นรมย์ในอาหาร กลิ่น และภาพที่ปรากฏ โดยนำตำราอาหารชื่อดังของไทยอย่าง แม่ครัวหัวป่าก์ ของ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ มาถอดประกอบวิเคราะห์ความเป็นอาหารไทย และเชื้อเชิญให้ผู้ที่มาชมได้ทบทวนความเป็นอาหารไทยผ่านกิจกรรมและงานแสดง ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2567
นอกจากนิทรรศการแล้ว 8 Space ยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ ให้เข้าร่วมตลอดทั้งปี
8 Space
Cotton Farm
Cotton Farm คือ ร้านขายผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือและย้อมสีธรรมชาติจากชุมชนต่าง ๆ ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ของร้านชาระมิงค์ (Raming Tea House)
Cotton Farm ก่อตั้งขึ้นโดย กุ้ง-เปรมฤดี กุลสุ ที่คลุกคลีกับงานผ้ามาเนิ่นนาน เธอเริ่มต้นจากการเห็นงานผ้าของไทยวางขายในห้างสรรพสินค้าประเทศญี่ปุ่น ทำให้เห็นว่างานผ้าไทยมีมูลค่าและคุณค่า เธอจึงอยากกลับไทยมาสื่อสารให้คนไทยรวมถึงคนที่ทำงานผ้าได้เห็นถึงคุณค่าของงานผ้าบ้านเรา
เธอเชื่อว่างานผ้าที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชน แต่ละภูมิภาคของไทย มีเอกลักษณ์และจิตวิญญาณของตนเอง เป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ และยังเป็นองค์ความรู้ของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจากอุตสาหกรรมแฟชั่นและการผลิตเสื้อผ้าในปัจจุบันที่กำลังให้โทษต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
Cotton Farm จึงเกิดขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนมาได้สัมผัส เรียนรู้ และอุดหนุน งานผ้าที่ทุกกระบวนการเกิดจากฝีมือของคนในชุมชนต่าง ๆ ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
Cotton Farm
Rare Finds Bookstore and Cafe
ร้านหนังสือและคาเฟ่เล็ก ๆ ในย่านช้างม่อยที่เกิดขึ้นจากความฝันของคู่รักที่อยากให้เกิดพื้นที่สำหรับนักอ่านในพื้นที่เล็ก ๆ ของพวกเขา นอกจากผู้ที่เข้ามาเลือกซื้อหนังสือ พวกเขายังเปิดพื้นที่ให้คนได้มาใช้เวลาอ่านหนังสือเล่มโปรดภายในร้านหรือแลกเปลี่ยนเรื่องราวในหนังสือเล่มต่าง ๆ ได้ท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่น น่ารัก ๆ ที่ทั้งคู่ตั้งใจตกแต่งอย่างดี พร้อมกับน้องแมวแผนกต้อนรับแขกของร้าน
หนังสือแต่ละเล่มล้วนได้รับการคัดเลือกอย่างดีจากเจ้าของทั้งสองที่เป็นนักอ่านตัวยงและเรียนจบมาทางด้านวรรณกรรมโดยตรง สำหรับใครที่ไม่รู้จะเลือกเล่มใด ก็ให้พวกเขาช่วยแนะนำได้
ในอนาคตอันใกล้พวกเขายังมีความคิดที่จะจัดกิจกรรมให้นักอ่านได้มาใช้เวลาร่วมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับหนังสือที่แต่ละคนรักอีกด้วย ในร้านยังมีสินค้าหลายประเภทให้อุดหนุนด้วยนะ
Rare Finds Bookstore and Cafe
ใต้ถุนบ้าน
ร้านอาหารเช้าใต้ถุนบ้านที่ซ่อนตัวในซอยช้างม่อยเก่า เกิดจากไอเดียของ ดา-มัณฑนา วิยะแก้ว กับเพื่อน ๆ หลังได้เห็นบ้านหลังสีขาวสะอาดตาตัดด้วยสีฟ้าของบานประตูและหน้าต่าง ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากคุณพ่อของเพื่อนเธอ
ดาและเพื่อน ๆ มองว่าย่านช้างม่อยยังขาดร้านอาหารเช้า และทำเลบริเวณบ้านหลังนี้อยู่ท่ามกลางชุมชน เธอกับเพื่อนจึงตั้งใจทำให้ร้านแห่งนี้เป็นร้านอาหารเช้าที่คนในชุมชนมาใช้บริการและพบปะกัน โดยมีเมนูอาหารเช้าง่าย ๆ เช่น ไข่กระทะ โจ๊ก ขนมปังปิ้ง และกาแฟหลากรสที่เสิร์ฟพร้อมบรรยากาศอบอุ่น ราวกับได้นั่งเล่นที่ใต้ถุนบ้านเพื่อน
เธอและเพื่อน ๆ หลงเสน่ห์ของย่านช้างม่อยที่ยังมีบรรยากาศสงบของชุมชนซุกซ่อนอยู่ภายในตรอกซอกซอย และการเปิด ‘ใต้ถุนบ้าน’ จึงเป็นเสมือนตัวช่วยในการเชื่อมคนภายนอกให้ได้ลองเดินเข้ามาสัมผัสกับชุมชน
แถมอีกนิด บ้านหลังกะทัดรัดหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Chiang Mai Design Week 2020 ที่ดาและเพื่อนรังสรรค์เมนูพิเศษฉบับใต้ถุนบ้าน ที่หากิ๋นได้เฉพาะเทศกาลงานออกแบบประจำปีของเชียงใหม่ปีนี้เท่านั้นเน้อ
ใต้ถุนบ้าน
SELF
ร้านกาแฟภายในบริเวณโรงแรมเก่าแก่ของจังหวัดเชียงใหม่ที่เสิร์ฟเมนูกาแฟซิกเนเจอร์ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกเดือน จากไอเดียของ ปรินซ์-นโรดม อ่อนศรี บาริสต้าเจ้าของรางวัลชนะเลิศ Thailand Creative Barista Championship 2019 กับ ฟรอยด์-ณัฏฐพงษ์ ชาติพงศ์ ดารานักแสดงหนุ่มชื่อดังที่หลงใหลในกาแฟ
ร้าน Self ตั้งอยู่ริมถนนเจริญประเทศในบริเวณของโรงแรมเพชรงาม เดิมสถานที่ตั้งของร้านเคยเป็นคลับของโรงแรมเพชรงามที่คนเชียงใหม่ในอดีตมาท่องเที่ยวยามราตรี ปรินซ์หลงใหลรูปทรงของอาคารแห่งนี้ตั้งแต่ตาเห็น และตั้งใจทำให้ร้าน Self เข้ามาสร้างความเคลื่อนไหวใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นกับย่านนี้ และยินดีทุกครั้งที่ผู้คนเก่าแก่ที่เคยมาใช้บริการคลับในอดีตได้กลับมาใช้บริการพื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง
ส่วนการออกแบบ Self ตั้งใจให้บรรยากาศร้านมีไฟที่สลัวราวกับมาเที่ยวคลับในอดีต มีดีเจมาเวียนเปิดเพลง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเพลง Casio ของ Jungle มีการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้สอดคล้องไปกับตัวอาคารโรงแรม และให้ผู้คนได้เข้ามาดื่มด่ำกับเมนูกาแฟซิกเนเจอร์ที่เวียนเปลี่ยนไปทุกเดือน โดยใช้วัตถุดิบหลักเป็นผลไม้ตามฤดูกาล และวัตถุดิบอื่น ๆ ที่พวกเขาล้วนทำด้วยตัวเองทุกขั้นตอน อาทิ ไซรัป (Syrup) สูตรต่าง ๆ ที่พวกเขาทำขึ้นเอง และวัตถุดิบทุกอย่างพวกเขาตั้งใจใช้ได้คุ้มค่าที่สุดทุกส่วนเพื่อลดจำนวนขยะสิ้นเปลือง
เครื่องดื่มที่เราทดลองในวันนี้คือ Self S3 เป็นกาแฟ Cold Brew ผสมผสานกับเมลอน ไซรัปเงาะ น้ำผึ้ง และโปะหน้าด้วยโฟมเมลอน กับ Citrus Boy เมนูยืนพื้นของร้านที่เป็นกาแฟนมผสมผสานกับวานิลลาไซรัปและตัดเลี่ยนด้วยส้มที่นำไปแช่หมักกับกาแฟ
SELF
Brewginning
ร้านกาแฟภายในอาคารพาณิชย์โบราณของย่านช้างม่อยที่มาแรงสุด ๆ ในเชียงใหม่ตอนนี้ คือร้านกาแฟของ โชค-พีรณัฐ กาบเปง และ อาร์ต-ณัฐดนัย สนธิเณร สองเพื่อนซี้ที่ตัดสินใจเข้ามารีโนเวตอาคารเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บริเวณมุมสี่แยกแรกของถนนช้างม่อยใหม่ ทั้งคู่ตกหลุมรักเสน่ห์ของอาคารแห่งนี้ตั้งแต่แรกเห็น และตัดสินใจออกแบบร้านโดยคงเอกลักษณ์เดิมของอาคารไว้ทั้งหมด ตั้งแต่ช่องลม สี โครงสร้าง รวมถึงไม้เก่า
เขาทั้ง 2 คนมีความคิดอยากให้คนเชียงใหม่ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านช่วงกลางวัน จึงออกแบบพื้นที่บริเวณห้องชั้น 1 และชั้น 2 ของร้านให้เป็นพื้นที่เล่นดนตรีและจัดแสดงงานศิลปะ ซึ่งจะเวียนมาจัดตลอดทุกเดือน
เมื่อสัปดาห์แห่งเทศกาลงานออกแบบประจำปีเวียนมาบรรจบ พวกเขาก็ไม่พลาดที่จะเป็นส่วนหนึ่งกับ Chiang Mai Design Week 2020 จัดแสดงนิทรรศการ ‘โลกของเราวันนี้’ ว่าด้วยอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั่วทุกมุมโลกของ AAS – Art for the advancement of society (ศิลปะขับเคลื่อนสังคม)
ความตั้งใจของเขาทำอย่างมีจุดประสงค์ หนึ่ง เพื่อสนับสนุนศิลปินท้องถิ่นและฉายแววให้คนภายนอกรู้จัก สอง เพื่อต่อลมหายใจให้กับอาคารเก่าแก่แห่งนี้ผ่านคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ตลอดขวบปีที่ Brewginning ก่อตัวขึ้นมา
Brewginning
Stand Behind The Yellow Line
ร้านขายสารพัดของมือสองแสนน่าสนใจจากอดีต ซ่อนตัวอยู่ในช่องระหว่างตึกเก่าแก่ของถนนเส้นช้างม่อยแห่งนี้เกิดขึ้นจาก เอ็กซ์-ศิรัส อัศวชัยพงษ์ และแฟนสาว ออย-อรวรรณ เล็กวงษ์เดิม ด้วยของที่ทั้งคู่สะสมไว้จำนวนมาก พวกเขาจึงนิยามร้านของตนเองว่าเป็นร้านโชห่วย แต่เราขอต่อท้ายเพิ่มเป็น ร้านโชห่วยความทรงจำ เข้าไปด้วย
ของจำนวนมากที่อยู่ภายในร้านเล็ก ๆ แห่งนี้ล้วนเป็นของเท่ ๆ น่ารักที่เราเคยผ่านตามาตั้งแต่ยังเด็ก มีตั้งแต่เสื้อผ้า แว่นตา กรอบรูป ของเล่น นาฬิกา แก้ว จาน ชาม ช้อน ส้อม ป้าย รูปภาพ แผ่นเสียง และอีกเยอะมาก มาก มาก ที่คุณคงต้องใช้เวลาทั้งวันค่อย ๆ เดินหา เดินดูได้ไม่รู้เบื่อ ราวกับนั่งไทม์แมชชีนย้อนไปในอดีต
เอ็กซ์กับออยตกหลุมรักที่แห่งนี้ตั้งแต่เจอครั้งแรก เดิมบริเวณนี้เป็นซอกตึกที่เคยเป็นที่ตั้งของร้านเย็บผ้าในอดีต โดยไม่สนคำเตือนของผู้คนรอบข้างว่าจะเอาที่ดินซอกตึกไปทำไม เอ็กซ์เนรมิตที่แห่งนี้ให้กลายเป็นสถานที่น่าสนใจด้วยสิ่งของจำนวนมากที่เขาสะสมไว้ แค่เพียงก้าวผ่านประตูเข้ามาก็เหมือนหลุดเข้าไปในสถานที่ลับที่เต็มไปด้วยความทรงจำจากอดีตที่อยู่คู่กับเรื่องราวของตึกเก่าของพวกเขา
Stand Behind The Yellow Line
Tha Homemade
ร้านเสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติแห่งนี้เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของ ฐานิต เจริญพจน์สถาพร เธอใช้เวลาว่างเว้นจากการเรียนมหาลัยนำสิ่งที่เธอชื่นชอบและผูกพัน อย่างการย้อมผ้าด้วยเทคนิคปาติกที่เธอคลุกคลีมาตั้งแต่เด็กเนื่องจากเป็นธุรกิจครอบครัว โดยเธอต่อยอดด้วยการใส่ความเป็นตัวของเธอเข้าไป จนออกมาเป็นแบรนด์ Tha Homemade
งานผ้าย้อมธรรมชาติของเธอมีความโดดเด่นด้วยลวดลายจากเทคนิคปาติกที่เธอเป็นคนออกแบบ รวมถึงแพตเทิร์นเสื้อผ้าที่ตอบความต้องการของวัยรุ่น งานทุกชิ้นยังถูกผลิตขึ้นที่บ้านของเธอ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เธอเลือกใช้คำว่า Homemade มาต่อท้ายชื่อของแบรนด์
เธอเลือกทำเลที่จะมาตั้งร้านเป็นบ้านตึก อาคารเก่าแก่ที่อดีตเคยเป็นบ้านของ หลวงอนุสารสุนทร คหบดีเชียงใหม่ที่เป็นผู้บุกเบิกด้านการค้าขาย และยังเป็นช่างภาพคนแรก ๆ ของเชียงใหม่ที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ไว้จำนวนมาก เหตุผลที่เรียกว่า บ้านตึก ก็เกิดจากรูปทรงของตัวบ้านที่มีความเป็นตึกหลังแรก ๆ ของเชียงใหม่ ปัจจุบันบ้านตึกบางส่วนถูกยกให้คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูแลเป็นศูนย์ศิลปะ และบางส่วนเปิดเป็นร้านอาหารสูตรโบราณและเปิดให้ผู้ที่สนใจมาเช่า ซึ่งเธอตัดสินใจเลือกที่แห่งนี้ด้วยชอบเสน่ห์ของตัวตึกที่มีเรื่องราวจากอดีต อีกทั้งสีส้มของอาคารยังเหมาะกับเสื้อผ้าย้อมครามของเธออีกด้วย
Tha Homemade
Gateway Coffee Roaster
ร้านกาแฟสุดเท่บนตึกเก่าแก่อายุมากกว่า 60 ปีบนถนนท่าแพ โดย ตี่-ฆฤพร สาตราภัย เจ้าของ Graph ร้านกาแฟชื่อดังหลายสาขาของจังหวัดเชียงใหม่ที่นอกจากตัวกาแฟแล้วแต่ละสาขาของ Graph ยังมีการออกแบบที่เท่และเฉพาะตัวอย่างยิ่ง
สำหรับ Gateway ตี่มีโอกาสได้เข้ามาใช้พื้นที่ของอาคารเก่าแก่ริมถนนเส้นท่าแพ ซึ่งเขายังคงเก็บความดิบของอาคารไว้ครบถ้วน ตั้งแต่พื้นไม้ ฝ้าเพดานที่เป็นของเดิม ผสมเข้ากับเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เขาตั้งใจคัดมาอย่างดี
เดิมพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นร้านขายเครื่องดนตรีมาก่อน และอาคารข้าง ๆ ที่มีผนังติดกับตัวร้านเคยเป็นโรงละคร มีเวทีสำหรับแสดงดนตรีไทย ด้วยเรื่องราวและเสน่ห์ของตัวอาคาร ตี่จึงตัดสินใจไม่ยากที่จะดัดแปลงให้ที่แห่งนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยเขาตั้งใจให้ที่แห่งนี้เป็นที่บริการด้านกาแฟอย่างครบถ้วน ตั้งแต่เป็นร้านกาแฟจนถึงโรงคั่วกาแฟ
ถ้าคุณมาถูกวันจะได้กลิ่นกาแฟหอมฟุ้งไปทั่วทั้งร้าน และ Slowbar ที่คุณจะได้ลองชิมกาแฟชนิดต่าง ๆ ของทางร้านที่คั่วกันสด ๆ ตามที่คุณต้องการและพร้อมเสิร์ฟทันที ซึ่งไฮไลต์เด็ดก็คือการได้นำเครื่องดื่มไปนั่งจิบบริเวณระเบียงของร้าน พร้อมนั่งชมวิถีชีวิตบนถนนท่าแพจากมุมสูง
Gateway Coffee Roaster
Asa
ร้านอาหารมังสวิรัติ ศูนย์อาสาสมัคร และที่สอนโยคะ ร้าน 3 In 1 ในอาคารอายุมากกว่าร้อยปี นี่คือไอเดียที่เกิดขึ้นมาจากสองเพื่อนรัก โรซี่-รสริน คอนเนลล์ และ ศรีพลอย-ฉายศรี แมคอินทอช
พวกเธอตั้งใจทำร้านอาหารมังสวิรัติที่ทั้งอร่อยและช่วยเหลือโลก ผ่านจานอาหารที่ช่วยลดเรื่องมลพิษทางอากาศจากคาร์บอน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภค เช่นเดียวกับเป็นศูนย์อาสาสมัครที่คอยเป็นตัวกลางรับอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือในโครงการต่าง ๆ
โรซี่รับสืบทอดตึกนี้เป็นมรดกมาจากยายที่อดีตเคยทำร้านขายผ้า และเธอยังเก็บประวัติศาสตร์ของที่นี่ไว้ โดยการนำถุงกระดาษที่เคยใส่ผ้าในอดีตใส่กรอบโชว์เอาไว้ ก่อนที่ยายของเธอจะมาซื้อตึกแห่งนี้ เดิมที่นี่เคยเป็นที่ผลิตซอสอร่ามภิญโญ ซอสปรุงรสเก่าแก่คล้าย Worcestershire Sauce ของพระยาอร่ามมณเฑียร ซึ่งเธอได้คิดค้นเมนู ท่าแพสลัด ขึ้นมาโดยใช้ซอสอร่ามภิญโญเป็นตัวปรุง เพื่อให้ผู้คนได้ลิ้มรสประวัติศาสตร์ของที่แห่งนี้ผ่านจานอาหาร แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันซอสอร่ามภิญโญได้เลิกผลิตไปแล้ว เธอจึงต้องคิดค้นซอสอย่างอื่นมาทดแทน
สำหรับคนที่ต้องการกินอาหารที่นอกจากรักษาสุขภาพตนเองยังรักษาโลกได้ เราขอแนะนำที่แห่งนี้
Asa
Ban Narai River Guesthouse
เกสต์เฮาส์ริมแม่น้ำปิงที่ซ่อนตัวอยู่ภายในซอยเจริญประเทศ 2 ของ โอ-พงศ์เทพ สิทธิน้อย เกสต์เฮาส์แห่งเดียวในจังหวัดเชียงใหม่ที่ให้คุณได้ใกล้ชิดกับแม่น้ำปิงด้วยการพาย SUP Board ล่องไปตามแม่น้ำ
เกสต์เฮาส์แห่งนี้เกิดจากการดัดแปลงห้องแถวเก่าของครอบครัวให้กลายเป็นเกสต์เฮาส์ที่หันหน้าเข้าสู่แม่น้ำปิง และมีบริการสอนพาย SUP Board ให้ผู้ที่มาพักได้สัมผัสกับวิถีชีวิตริมแม่น้ำปิงอย่างใกล้ชิด หรือสำหรับผู้ที่สนใจก็เข้ามาใช้บริการได้เช่นเดียวกัน หลังจากพายจนเหนื่อย ตกกลางคืนที่นี่ยังมีผับเปิดให้คุณได้จิบเครื่องดื่มแกล้มด้วยวิวแม่น้ำปิงยามค่ำคืนอีกด้วย
Ban Narai River Guesthouse
Tiny Space
อีกร้านน่าสนใจที่เราอยากแนะนำแถมให้นอกเหนือจากภายในย่านช้างม่อยและท่าแพ ก็คือร้าน Tiny Space ในย่านสันป่าข่อย อีกหนึ่งย่านเก่าแก่ที่กำลังมีร้านใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก Tiny Space คือร้าน Selected Shop ที่เจ้าของคัดสรรของน่ารักกระจุ๊กกระจิ๊กจำนวนมากที่สปาร์กจอยต่อเธอ และเชื่อว่าจะสร้างความสุขให้ใครอีกหลายคน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแฟนคลับตาม CF ของที่เธอคัดมาขายตั้งแต่ในเพจเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของทางร้าน
ปัจจุบัน Tiny Space ได้กลับมาเปิดหน้าร้านของตัวเองอีกครั้งหลังจากหยุดไปหลายปี อยู่ในพื้นที่ 1 คูหาของอาคารเก่าแก่ในย่านสันป่าข่อยที่คุณเข้าไปเลือกชมและสัมผัสของน่ารักต่าง ๆ ได้ด้วยตาและมือของตนเอง ก่อนตัดสินใจซื้อกลับไป