ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมืองหลวงสำคัญแห่งหนึ่งของโลก เราได้พบกับ ศศิมา ปาร์ค นักธุรกิจชาวไทย ผู้ก่อตั้ง ‘Ban Thaï Spa’ สปาไทยระดับพรีเมียมที่มีสาขาทั่วปารีส และในอีก 2 เมืองในประเทศฝรั่งเศส 

พรีเมียมขนาดราคาเริ่มต้นอยู่ที่บริการนวดเท้า 1 ชั่วโมง 90 ยูโร หรือประมาณ 3,500 บาท 

ศศิมาบอกว่าระดับของผู้ที่มาใช้บริการก็คือกลุ่มเดียวกับคนที่รับประทานอาหารในร้านระดับมิชลินสตาร์ 

ตั้งแต่ก้าวแรกที่เราเข้ามาใน Ban Thaï Spa ก็เหมือนได้กลับบ้าน ทั้งเสียงเพลง เฟอร์นิเจอร์ การต้อนรับจากพนักงาน รวมไปถึงชามะตูมที่ได้ดื่ม ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในสปาที่กรุงเทพฯ หรือไม่ก็เชียงใหม่แบบไม่ผิดเพี้ยน 

ขนาดเราที่ไกลบ้านมา 10 วันยังประทับใจขนาดนี้ ไม่แปลกใจเลยที่ลูกค้าชาวท้องถิ่นจะยอมควักกระเป๋ามาผ่อนคลายคอ บ่า ไหล่ กันที่นี่

เส้นทางของนักธุรกิจหญิงไทยคนนี้ไม่ได้ราบรื่นและผ่อนคลายแบบการนวดน้ำมัน แต่กลับเต็มไปด้วยความเจ็บปวดเหมือนเวลาโดนกดเส้นให้ร้องโอ๊ย ก่อนจะตัวเบาในภายหลัง

จากถนนราชดำเนินสู่ถนนฌ็องเซลิเซ่ ศศิมาหอบเอาความรู้และความหวัง ตั้งใจจะมาสร้างธุรกิจที่นี่แบบ ‘ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่คิดจะหันหลังกลับ’ เราจึงขอนั่งคุยกับเธอ เพื่อเอาเรื่องราวของนักสู้ที่ชื่อ ศศิมา มาเล่าสู่กันฟัง

ศศิมา ปาร์ค นักธุรกิจชาวไทย ผู้ก่อตั้ง ‘Ban Thaï Spa’ สปาไทยระดับพรีเมียมที่มีสาขาทั่วปารีส

“เป็นคนไม่ชอบถอย”

ศศิมาเริ่มเล่าถึงชีวิตสาวไทยที่ย้ายมาอยู่ปารีสในปี 2004 ว่า “พอเขาเห็นว่าเป็นแฟนฝรั่งก็ตัดสินไปก่อนแล้ว โดยที่ไม่รู้หรอกว่าตัวตนเราเป็นใคร เรามาจากไหนจริง ๆ เวลาเราเข้าไปสมัครงานร้านไทย ยื่นประวัติการทำงานไป เขาก็จะมองว่าใช่เหรอ จริงเหรอ ของปลอมหรือเปล่า คนไทยบางทีก็เหยียดกันเอง” 

ศศิมาเคยเป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลพญาไท 1 อยู่นาน 9 ปี เธอเรียนจบปริญญาโท อยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร เงินเดือนดี หน้าที่การงานดี แต่ก็ทิ้งทั้งหมดที่ว่ามานั้นมา เพื่อทดลองอยู่กับคนรักชาวฝรั่งเศส

เธอตั้งใจจะเอาอาชีพพยาบาลมาทำงานที่นี่ แต่กฎหมายก็ให้เป็นได้แค่ผู้ช่วยพยาบาลซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ตั้งใจ และภาษาฝรั่งเศสในระดับเริ่มต้นก็ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้เธอหางานไม่ได้ 

“มีจังหวะถอดใจอยากกลับเมืองไทยเหมือนกัน แต่เราสละทุกอย่างที่เคยมีไปหมดแล้วเพื่อจะมาอยู่ที่นี่ เป็นคนไม่ชอบถอย ก็เลยเลือกเดินต่อ” เธอเล่า

ผ่านไป 7 เดือนแบบไม่มีรายได้ แต่เธอเริ่มรู้จักชุมชนคนไทยมากขึ้น มีคนไทยแนะนำให้ทำอาชีพนวดเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพระหว่างเรียนภาษา ศศิมาในวันนั้นก็มีทัศนคติไม่ดีกับอาชีพนวด กลัวว่าจะทำไม่ได้เพราะไม่เคยทำ และกลัวว่าจะต้องขายบริการทางเพศ

“แต่คนที่ชวนก็บอกให้ไปลองคิดดู ไม่งั้นจะทำอะไรกิน” เธอบอกว่ายังจำคำพูดนั้นได้ดี

 ศศิมา ปาร์ค นักธุรกิจชาวไทย ผู้ก่อตั้ง ‘Ban Thaï Spa’ สปาไทยระดับพรีเมียมที่มีสาขาทั่วปารีส

หลังจากนั้น เธอตัดสินใจเรียนนวดไทยจากคนไทยที่ช่วยสอนให้ จึงได้รู้ว่าศาสตร์การนวดคือกายวิภาคศาสตร์เหมือนที่เธอเคยเรียนมาในวิชาพยาบาล เธอจึงเริ่มสนุกกับมัน เรียนรู้ได้เร็ว และทำได้ดี จนอยากศึกษามากขึ้น 

ศศิมาขอลาพักร้อนกลับมาเรียนเรื่องการนวดไทยอย่างจริงจังที่วัดโพธิ์ ด้วยความตั้งใจจะทำธุรกิจของตัวเอง และอยากทำมันอย่างรู้จริง เธอบอกว่า “เรามีเป้าว่ามาอยู่ที่นี่ เราจะไม่เป็นลูกจ้าง เราต้องทำธุรกิจของตัวเองให้ได้” 

แล้วในปี 2006 เธอก็ได้พบกับสามีในปัจจุบันซึ่งเป็นชาวจีน “เขาเป็นทั้งหุ้นส่วนชีวิตและเป็นหุ้นส่วนธุรกิจด้วย” ศศิมาเล่าพร้อมยิ้มกว้าง “ตอนเข้ามาจีบ เขาทั้งชวนทำธุรกิจแล้วก็ขอเป็นแฟนด้วย เขาลงทุน ให้พี่เป็นคนบริหาร พอไปดูสถานที่ที่แรกแล้วโอเคก็ลาออกจากร้านที่ทำมา 10 เดือน เพื่อออกมาสปาแห่งแรก ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังดำเนินกิจการอยู่” ศศิมาเล่าจุดเริ่มต้นของทุกวันนี้ให้ฟัง

 ศศิมา ปาร์ค นักธุรกิจชาวไทย ผู้ก่อตั้ง ‘Ban Thaï Spa’ สปาไทยระดับพรีเมียมที่มีสาขาทั่วปารีส

“ต้องให้ลูกค้าเลือกเรา จนถึงจุดที่เราเป็นฝ่ายเลือกลูกค้าได้”

“เราเป็นคนตั้งชื่อ Ban Thaï Spa เอง เริ่มด้วยพนักงาน 7 คน เราเป็นพนักงานต้อนรับ เราอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนบ้านของคนไทยที่อยู่กลางปารีส พอแขกเข้ามาจะได้รู้สึกเหมือนเข้ามาบ้านคนไทย เราให้พนักงานทุกคนยกมือสวัสดี ต้องยิ้ม เสิร์ฟน้ำ เสิร์ฟผ้าเย็น ผ้าร้อน ตามฤดูกาล เขาจะนวดหรือไม่ก็ต้อนรับไว้ก่อน เชิญเขานั่ง แล้วค่อยถามว่าสนใจนวดใช่ไหม” ศศิมาเล่าอย่างภาคภูมิใจ

“เราอยากทำให้ต่างจากคนอื่น อยากทำสปาให้เหมือนโรงแรม 5 ดาวที่เน้นเรื่องสถานที่สวย บรรยากาศดี และสะอาด เป็นสปาเต็มรูปแบบ คือมีบริการทรีตเมนต์ที่ใช้น้ำเข้ามาบำบัดด้วย ให้บริการอย่างมืออาชีพ แล้วก็ดูแลตั้งแต่ลูกค้าก้าวเข้ามาในร้านจนกระทั่งก้าวออกไป” ศศิมาเล่าเหตุผลที่เลือกทำธุรกิจสปาแทนที่จะเป็นร้านนวดเฉย ๆ

“ในช่วงแรกต้องให้ลูกค้าเลือกเรา จนถึงจุดที่เราเป็นฝ่ายเลือกลูกค้าได้” เธอบอกกลยุทธ์เกมยาวที่แอบคิดไว้ในใจ

ที่ร้านนวดอื่น ๆ ในปารีส พนักงานส่วนใหญ่เป็นคนที่ย้ายมาอยู่ที่ปารีสและหาอาชีพทำ การนวดจึงเป็นแบบที่สอนกันต่อ ๆ มา ไม่ใช่มืออาชีพ 

แต่ที่ Ban Thaï Spa ศศิมาอยากให้ทุกคนเป็นมืออาชีพ เธอจึงเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในบรรดาสาวไทยที่อยากทำงานนวดว่า เธอทั้งมาตรฐานสูงและเข้มงวดกับพนักงานสุด ๆ 

เธอขอความชอบธรรมในเรื่องนี้ว่า “เราเข้มงวดกับนักบำบัด เพื่อจะได้ไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เสียชื่อเสียง” 

ที่ Ban Thaï Spa นักบำบัดทุกคนต้องแต่งตัวด้วยเครื่องแบบที่สะอาด ทำผมให้เรียบร้อย แต่งหน้าให้สวยงาม ทุกคนมีมาตรฐานการนวดเหมือน ๆ กัน และความเข้มงวดเหล่านี้ก็ประกอบกับการบริหารจัดการที่ดี มีระบบการเข้า-ออกงาน มีสวัสดิการที่เหมาะสม เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการทำงาน

“มันอาจจะติดมาจากการเป็นพยาบาล ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ ความเป็นระเบียบ ความน่าดู น่ามอง เราเอาความรู้เหล่านั้นมาใช้ กล้าพูดเลยว่า Ban Thaï Spa เป็นร้านสปาที่ดีที่สุดในยุโรป”

Ban Thaï Spa สปาไทยในฝรั่งเศสที่ตั้งใจยกระดับธุรกิจนวดไทยให้พรีเมียมเหมือนร้านมิชลินสตาร์

แต่แม้จะดีและแตกต่างแค่ไหน ก็ยังไม่มากพอจะทำให้หลุดจากภาพจำเดิม ๆ ของการนวดไทยที่ถูกเข้าใจผิด 

“ชื่อเสียงการนวดไทยในยุคนั้นก็ยังถูกเข้าใจผิดเยอะว่าเป็นการขายบริการทางเพศ พนักงานนวดก็ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้หญิงบาร์มาก่อน จ่ายตังค์ไปเดี๋ยวก็ได้ เขาไม่เชื่อว่าเราเป็นการนวดเพื่อสุขภาพจริง ๆ ต้องอธิบายเยอะมาก เวลามีคนมาขอซื้อบริการทางเพศก็ต้องปฏิเสธอย่างมีจุดยืน เราจะแจ้งพร้อมรอยยิ้มเลยว่าเราไม่มีบริการทางเพศ แต่มีบริการแบบไหนบ้าง ราคาเท่าไหร่ บางคนก็เข้าใจ ลองแล้วชอบ เขาก็จะบอกต่อ ๆ ไปว่าบริการของร้านเราเป็นแบบไหน” ศศิมาเล่าพร้อมยิ้มให้ดูเป็นตัวอย่าง

“เราถูกฝึกมาว่าลูกค้าคือพระเจ้าตั้งแต่เป็นพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน ถูกสอนเรื่องการบริการ ฝึกความอดทนมาเยอะ” ศศิมาอธิบายพร้อมยิ้มพิมพ์ใจอีกหนึ่งที

Ban Thaï Spa สปาไทยในฝรั่งเศสที่ตั้งใจยกระดับธุรกิจนวดไทยให้พรีเมียมเหมือนร้านมิชลินสตาร์

“เทียบได้กับการกินอาหารร้านมิชลินสตาร์ ราคาแทบไม่มีผลกับการตัดสินใจ”

Ban Thaï Spa เปิดได้เพียง 1 ปีก็มีสาขาที่ 2 ศศิมาเล่าพร้อมยิ้มอย่างภูมิใจว่า “ไม่รู้ว่าจะเล่าให้ฟังยังไง คือตอนนั้นเราบูมมาก”

“เปิดได้แค่ 2 เดือนก็ดัง มีสื่อมาติดต่อขอสัมภาษณ์ ELLE, Vogue ก็มา ทีวีเชิญไปออก เพราะเราทำอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น ทำร้านแรก 3 – 6 เดือนก็คืนทุน มีลูกค้ามายืนต่อแถว บางคนถึงกับขอซื้อคิวที่มีคนจองไว้แล้วโดยให้ราคาเพิ่มก็มี”

ศศิมาเล่าว่าเธอได้ลูกค้ามาจากการแนะนำกันปากต่อปาก บวกกับการลงโฆษณาในสื่อออนไลน์ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้สูง นักธุรกิจหรือเจ้าของบริษัทที่มักมีปัญหาหลัง คอ บ่า ไหล่ จากความเครียด การทำงานนั่งโต๊ะ และการเดินทาง 

ศศิมาบอกว่า Ban Thaï Spa เทียบได้กับการกินอาหารร้านมิชลินสตาร์ ราคาแทบไม่มีผลกับการตัดสินใจมาใช้บริการ ขอแค่การบริการที่น่าประทับใจ

“คนปารีสดูแลยากมาก ๆ โดยเฉพาะลูกค้าที่มีเป็นคนรวยยิ่งดูแลยาก เขามีความรู้สึกว่าเขามาจ่ายเงินแล้วเรามีหน้าที่ดูแลเขาให้ดี ตอนเข้ามาบางคนจะบอกว่าแพง แต่ตอนออกก็ยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะว่าเราบริการดี” ศศิมาเล่าอย่างมั่นใจ

Ban Thaï Spa สปาไทยในฝรั่งเศสที่ตั้งใจยกระดับธุรกิจนวดไทยให้พรีเมียมเหมือนร้านมิชลินสตาร์

ตอนนี้ Ban Thaï Spa มีในปารีส 4 สาขา และมีที่ Nice กับ Bordeaux ด้วย รวมเป็น 6 สาขา

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ Ban Thaï Spa โตขึ้นอย่างรวดเร็ว ศศิมาบอกว่าคือการปรับแนวคิดในการบริหารจัดการและการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย 

ศศิมาเล่าว่าก่อนหน้านี้มีพนักงานต้อนรับ 2 คน ทำทั้งรับนัดทางโทรศัพท์และรับลูกค้า ปัจจุบันมีพนักงานต้อนรับ 2 คนเหมือนเดิม แต่ให้เน้นเรื่องการบริการลูกค้าไปเลย แล้วใช้ศูนย์ Call Center ซึ่งเป็นคนฝรั่งเศสให้บริการรับนัดลูกค้าแทน 

“มันง่ายกว่า คล่องตัวกว่า คนเอเชียใจดี บางทีก็โดนเอาเปรียบ แต่พอเป็นคนฝรั่งเศสด้วยกันคนก็ไม่กล้าเอาเปรียบมาก หรือจะจองผ่านเว็บไซต์ก็ได้ มีกฎการยกเลิกและการจองที่ชัดเจน จึงไม่มีการเสียโอกาสจากการถูกยกเลิกแบบกระชั้นชิด แถมยังได้ดูแลลูกค้าดีขึ้นด้วย อย่างสาขาที่ Bordeaux เราแทบไม่ต้องไปดูเลย เพราะทุกอย่างเป็นระบบหมดแล้ว” เธออธิบายการทำงานที่ง่ายขึ้นให้ฟัง พร้อมบอกอีกว่าตอนนี้ขยายสาขาไปเท่าไหร่ก็ได้ เพราะวางระบบเอาไว้หมดแล้ว 

แต่ปัญหาจากทุกการขยายสาขาคือจำนวนนักบำบัด ปัญหาใหญ่ของธุรกิจนี้คือมีคนเปิดร้านเยอะ แต่ไม่มีหมอนวด มีการซื้อตัวเกิดขึ้น บุคลากรขาด

Ban Thaï Spa สปาไทยในฝรั่งเศสที่ตั้งใจยกระดับธุรกิจนวดไทยให้พรีเมียมเหมือนร้านมิชลินสตาร์

“เราต้องการคน คนต้องการงาน” 

เมื่อมีความต้องการจากลูกค้าและมีระบบที่อยู่ตัว พร้อมขยายกิจการได้ ศศิมาก็นั่งคิดว่าจะหาคนมาทำงานได้จากไหนที่ทำงานได้เลย ไม่ต้องเสียเวลามาเริ่มจากศูนย์ 

“ก็เลยทดลองเอาพนักงานมาจากประเทศไทย” ศศิมาเล่าแนวคิดแบบ Quick Win ที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย “คนมีอาชีพนวดในประเทศไทยยังตกงานอยู่เยอะมาก และบางคนไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ส่วนเราก็ต้องการนักบำบัดมืออาชีพที่ไว้ใจได้ ทำงานได้เลย การชวนคนมาทำงานที่นี่เลยไม่ใช่เรื่องยากมาก” เธออธิบาย

Ban Thaï Spa จึงเป็นสปาเจ้าแรกที่นำเข้านักบำบัดจากประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อปี 2017 เริ่มจากพนักงานชุดแรก 6 คน 

“เราดูแลดีมาก ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีลูกค้าเราก็ให้เงินเป็นเงินเดือน จ่ายค่าเดินทาง ค่าเอกสารให้ทุกอย่าง มีบ้านให้อยู่ สวัสดิการที่เขาได้รับเหมือนคนที่อยู่ที่นี่ทุกอย่าง แล้วปรากฏว่ามันประสบความสำเร็จ เขาเป็นมืออาชีพ มีประสบการณ์ มีใบรับรองผ่านงาน ไม่ต้องมาสอนอีก” 

การเลือกพนักงานมาจากประเทศไทย ศศิมาก็ยังคงเข้มงวดเหมือนเดิม เธอเล่าให้ฟังว่า “เราก็ไปเลือกตามสปาต่าง ๆ คุยกับโรงเรียนที่สอนนวดให้เขาส่งเด็กมาให้ มีคนไปทดลองให้ หรือไม่เราก็ไปทดลองเอง แต่ตอนสัมภาษณ์เราจะสัมภาษณ์เอง เพราะอยากดูทัศนคติการทำงานด้วย” 

เราถามศศิมาว่า แล้วถ้าวันหนึ่งเกิดปัญหาการจ้างพนักงานจากต่างประเทศเช่นเรื่องกำแพงภาษีหรือโควตาการจ้างงานชาวต่างชาติจะทำยังไง ศศิมาก็ไม่ประมาทและเล่าว่า ทุกวันนี้เธอมีโครงการ Train the Trainer เพื่อเป็นทีมสอนและควบคุมคุณภาพการนวด การบริการ และสร้างทัศนคติที่ดีต่อองค์กรเอาไว้แล้ว

ปัจจุบัน Ban Thaï Spa มีพนักงาน 80 กว่าคน ใน 6 สาขา

“เราทำสปาอย่างสง่าผ่าเผย”

นอกจากเป็นนักธุรกิจแล้ว ศศิมายังเป็นนายกสมาคมนวดไทยและสปาในฝรั่งเศส ที่ตั้งใจจะตอบแทนอาชีพที่เธอบอกว่ามีบุญคุณกับเธอเหลือเกิน ด้วยการสร้างมาตรฐานการบริการและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ถูกต้องให้กับคนที่ทำงานด้านนี้ด้วย

เธออยากส่งเสริมเรื่องนวดให้เป็น Soft Power ของประเทศไทยมานานแล้ว แต่เพิ่งจะก่อตั้งสมาคมนี้สำเร็จเมื่อ UNESCO ขึ้นทะเบียนการนวดไทยให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในปี 2019 นี้เอง

“ก่อนหน้านี้ทางการยังกังวลเรื่องความเสี่ยงว่ายังมีคนทำธุรกิจนวดแบบขายบริการทางเพศอยู่ กลัวจะส่งเสริมไม่ถูกที่ถูกคน กลัวโปรโมตไปแล้วจะไปส่งเสริมการนวดที่ผิดกฎหมาย” ศศิมากล่าวพร้อมยอมรับว่าก็น้อยใจนิดหน่อย 

การจับกลุ่มกันในหมู่ผู้ประกอบการเป็นสมาคมจะช่วยส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน เป็นที่ปรึกษาให้กันและกันได้ ช่วยสร้างอาชีพให้คนไทย เมื่อมีปัญหาก็ช่วยกันแก้ พอรวมตัวกันแล้วจะมีสิทธิมีเสียงไปต่อรองมากขึ้น เช่น กระบวนการการนำเข้านักบำบัดหรือการเรียกร้องสิทธิของนายจ้าง

“เราขอบคุณอาชีพนี้มาก อาชีพนี้มีบุญคุณกับเราและครอบครัวมาก มันช่วยกอบกู้ชีวิตเราขึ้นมาจากที่จม ๆ อยู่ใต้ศูนย์ จนไต่ขึ้นมาได้ ใครอย่ามาดูถูกอาชีพนี้นะ เราลุยตายแน่” เธอบอก 

แล้วยังเล่าให้ฟังด้วยว่าเธอมักสอนคนทำงานสปารุ่นน้องว่า “ต้องให้เกียรติตัวเอง ให้เกียรติอาชีพตัวเอง อย่าดูถูกอาชีพตัวเองแล้วทำให้คนมาดูถูกเรา อย่าไปทำอย่างอื่นตามกระแส อย่าไปเห็นเงินเยอะ ๆ แล้วกระโดดลงไป เราต้องทำสปาได้อย่างสง่าผ่าเผย”

Lessons Learned

  • Aim High ไม่ว่าจะมีทางเลือกจำกัดแค่ไหนก็ควรมองเป้าหมายที่ทางเลือกที่ดีที่สุด ไม่ใช่ทางเลือกที่ง่ายที่สุด
  • Do Business with Integrity. มีจุดยืนมั่นคงในการทำธุรกิจในแบบที่เราศรัทธา ไม่หวั่นไหวไปกับเรื่องฉาบฉวย เพื่อให้งานที่ทำเป็นงานที่เราภาคภูมิใจ
  • When life gives you lemons, make lemonade. ไม่ว่าชีวิตจะโยนอะไรเข้ามาก็คว้าและทำโอกาสนั้นให้ดีที่สุด

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก