ไม่นานก่อนหน้าที่บทความนี้จะปล่อยสู่สายตา
คือวันครบรอบ 10 ปีของวิสาหกิจชุมชน ‘ข้าวหอมดอกฮัง’
แบรนด์ข้าวพื้นบ้านอินทรีย์ จากชุมชนบ้านโคกสะอาด จังหวัดสกลนคร
ข้าวจาก ‘นาป่าล้อม’ ที่เหล่าคนรักข้าวบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘อร่อยพิเศษ’
ความพิษซึ่งเกิดขึ้น ‘ตามธรรมชาติ’ มาตลอดทศวรรษ
ความพิเศษซึ่งเกิดและเติบโตขึ้น ‘ตามธรรมชาติ’ มาตลอดทศวรรษ
ธรรมชาติในความหมายถึง ธรรมชาติที่คอยเลี้ยงดูต้นข้าว
รวมถึงธรรมชาติของการบริหารจัดการแบรนด์ให้เข้าไปนั่งในใจคน
และผู้อยู่เบื้องหลังความธรรมชาติเหล่านั้นก็คือ แอ้ว-บำเพ็ญ ไชยรักษ์
ลูกหลานชาวนาบ้านโคกสะอาด และอดีตนักเขียนสารคดีสายสิ่งแวดล้อม
ผู้ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านในวันหนึ่ง พร้อมความหวังอยากพาข้าวในท้องนาบ้านเกิดออกเดินทางไกล
ทว่าเส้นทาง ‘คนข้าว’ ของแอ้วเริ่มต้นก่อนที่หอมดอกฮังจะเกิดหลายสิบปี
ด้วยเธอเกิดในครอบครัวชาวนา วิ่งเล่นอยู่ตามท้องไร่ปลายนาตั้งแต่จำความได้
ข้าวจึงเป็นชิ้นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตและความทรงจำของเธอเรื่อยมา
กระทั่งวันหนึ่งที่แอ้วเลือกสวมหมวกนักเขียนและคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อม
จังหวะชีวิตก็ช่วยเปิดโอกาสให้เธอลงพื้นที่พูดคุยกับชาวนาในหลายพื้นที่
กระทั่งเกิดคำถามชุดใหม่เกี่ยวกับข้าวและชาวนาไทย
และทำให้ ‘ข้าว’ กลับมาอยู่ในความสนใจ จนกลายเป็นบทบาทใหม่ของเธอในวันนี้
ย้อนเวลากลับไปก่อนข้าวหอมดอกฮังจะถือกำเนิด หลังจากแอ้วเรียนจบไม่นาน เธอเริ่มต้นทำงานกับมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งทำงานส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมแถบภาคอีสาน พร้อมรับบทนักวิจัยและนักเขียน หน้าที่การงานเปิดโอกาสให้เธอได้เรียนรู้ทั้งมิติสิ่งแวดล้อมและปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับเกษตกรไทยมาหลายทศวรรษ โดยเฉพาะในโมงยามที่ประเด็น ‘จำนำข้าว’ กำลังถูกวิพากษ์อย่างร้อนแรง แอ้วลงมือเขียนบทความเรื่องชาวนาไทย ชิ้นงานที่ทำให้เธอได้ก้าวไปคุยกับชาวนาทั้งภาคกลางและภาคอีสาน ซึ่งทำให้มุมมองเกี่ยวกับข้าวและชาวนาขยายกว้างขึ้นอีกระดับ
“ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก แต่ชาวนาภาคกลาง 70 เปอร์เซ็นต์ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง และภาคอีสานกำลังจะตามมาติด ๆ แค่เรื่องนี้ก็สะท้อนว่าโครงสร้างการผลิตข้าวของไทยมีปัญหามาก” เธอเล่าสิ่งที่ค้นพบในวันนั้น ซึ่งกลายเป็นหัวเชื้อสำคัญที่ทำให้เป้าหมายของข้าวหอมดอกฮังชัดเจนตั้งแต่วันแรก
เป้าหมายที่อยากสร้างทางเลือกให้กับชาวนา และสร้างตัวเลือกให้กับคนกินข้าว
หลังตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตอยู่บ้านเกิดพักใหญ่ แอ้วเริ่มมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้รอบตัวหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือระบบนิเวศของนาข้าวและ ‘ป่าโคก’ หรือป่าเต็งรังที่เรียงรายล้อมรอบท้องนา ปัจจัยหลักที่ทำให้ผืนดินของนาโคกสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ มากกว่านั้น ป่าโคกยังช่วยกักน้ำและเป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนในชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
“พอรู้ว่าชุมชนมีต้นทุนด้านทรัพยากร เราก็เริ่มศึกษาการปลูกข้าวมากขึ้น พาคนในหมู่บ้านไปเรียนรู้กับเครือข่ายชาวนาอินทรีย์ที่จังหวัดยโสธร ดูว่าเขาปลูกข้าวยังไง อนุรักษ์พันธุ์ข้าวยังไง แล้วกลับมาสร้างแปลงทดลองที่บ้านเรา” ช่วงเวลาระหว่างการทำงานในแปลงทดลองทำให้แอ้วเห็นข้อแตกต่างที่นับเป็นจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ อาทิ นาข้าวของยโสธรนั้นเป็นดินทรายที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ แต่นาข้าวของชุมชนโคกสะอาดเป็นดินลูกรัง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเลือกสายพันธุ์ข้าวมาปลูก รวมถึงเกี่ยวโยงกับการปลูกข้าวตั้งแต่ลงกล้าจนถึงเก็บเกี่ยว
“ตอนยังเด็ก เราจำได้ว่าในชุมชนมีข้าว 30 – 40 สายพันธุ์ แต่ระยะ 30 ปีให้หลังเริ่มทยอยหายไปเยอะมาก ช่วงเริ่มสร้างแปลงทดลองเราเลยตั้งเป้าอยากนำพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกลับมาสู่ชุมชน จึงเริ่มศึกษาระบบนิเวศแบบลงรายละเอียด และพบว่าลักษณะของนาโคกที่มีระดับความชันลดหลั่นกันคล้ายกับอุ้งมือ เหมาะกับการปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์อยู่แล้ว อย่างข้าวหนักที่ใช้เวลาปลูกนานแบบหอมมะลิ ควรปลูกบริเวณลุ่มหนอง คล้ายกับตรงกลางอุ้งมือ เพราะต้องกักน้ำไว้เลี้ยงต้นข้าวมาก ส่วนข้าวกลางอย่างหอมนางนวล หรือข้าวเบาอย่างทับทิมชุมแพที่ใช้เวลาปลูกรองลงมาควรปลูกในนาที่มีความสูงขยับขึ้นมาเรื่อย ๆ” แอ้วย้อนเล่าถึงวันแรก ๆ ที่เธอกลับมาสวมหมวกชาวนา ก่อนย้ำว่าไม่มีเพียงข้อดีเท่านั้นที่ต้องเรียนรู้ แต่ก็มีอุปสรรคให้ต้องทำความเข้าใจเช่นกัน
“ลักษณะเฉพาะข้อหนึ่งของนาดินลูกรัง คือระดับความชื้นของดินเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เพราะดินลูกรังไม่อุ้มน้ำและโครงสร้างดินทำให้น้ำระเหยเร็ว ใน 1 เดือนอาจมีทั้งดินฉ่ำฝนและดินแห้งสลับกัน ซึ่งเป็นธรรมชาติที่เราต้องทำความเข้าใจและโอนอ่อนผ่อนตาม หรือจริง ๆ แล้วอาจเป็นปัจจัยทำให้ข้าวของหอมดอกฮังหอมอร่อยก็ได้นะ เพราะข้าวต้องพยายามเอาตัวรอดจากระบบนิเวศสุดขั้ว ถ้าโตได้ก็คงอร่อย (หัวเราะ)” เธอพูดกึ่งเล่นกึ่งจริง
เมื่อข้าวหอมดอกฮังเกิดขึ้น บทบาทของชาวนาในชุมชนโคกสะอาดก็เพิ่มขึ้นตามมา
ด้วยนอกจากปลูกข้าวเพื่อขาย ชาวนาในเครือข่ายยังแบ่งเวลามาใช้ร่วมกันในแปลงอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวที่ปัจจุบันมีข้าวหมุนเวียนออกรวงถึงกว่า 300 สายพันธุ์ แอ้วย้ำว่างานอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวนั้นไม่เพียงเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน แต่ยังช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับชุมชนผ่านการกระจายความเสี่ยงจากการปลูกข้าวเพียงไม่กี่ชนิด ช่วยเชื่อมสัมพันธ์เครือข่ายชาวนากว่า 30 ครัวเรือนให้แน่นแฟ้น และที่สำคัญคือการสร้าง ‘ห้องเรียนเรื่องข้าวและระบบนิเวศ’ ที่มีบทเรียนบทใหม่เกิดขึ้นให้ทำความเข้าใจไม่รู้จบ
“กลุ่มเราเรียนรู้ความสอดคล้องระหว่างข้าวกับระบบนิเวศจากแปลงอนุรักษ์อยู่เรื่อย ๆ บางปีน้ำท่วมหนัก แต่มีข้าวสายพันธุ์หนึ่งยืนต้นรอด ก็แปลว่าข้าวสายพันธุ์นั้นเหมาะกับการปลูกในนาลุ่ม เราก็จะคัดพันธุ์ส่งต่อให้กับชาวนาที่ปลูกข้าวในที่ลุ่ม ซึ่งระบบการทำงานของแปลงอนุรักษ์แบบนี้ทำให้ข้าวพื้นบ้านกระจายตัวค่อนข้างเร็ว ปัจจุบันเราเห็นพาข้าว (สำรับข้าวของชาวอีสาน) ของแต่ละครอบครัวมีข้าวพื้นบ้านเพิ่มมากขึ้น และมีข้าวพื้นบ้านเติบโตอยู่ในนาเยอะขึ้นทุกที เป็นเรื่องที่น่าดีใจ” เธอเล่าถึงกำลังใจที่มองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ยิ่งไปกว่านั้น การอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านยังสร้างจุดแข็งด้านการตลาดให้กับข้าวหอมดอกฮังอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยเรื่องเล่าถึงข้าวอร่อยหอมกรุ่นที่พัฒนาคุณภาพอยู่ตลอดเวลา ผ่านความใส่ใจที่ไล่เลียงมาตั้งแต่นาข้าว ยุ้งฉาง โรงสี ไปจนถึงในจานนั้น ยิ่งช่วยเสริมเติมความอร่อยของข้าวให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกระดับ
นอกจากคุณภาพและความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าว ใจความสำคัญอีกข้อที่ทำให้ข้าวหอมดอกฮังยืนระยะมาร่วมทศวรรษ คือการบริหารจัดการอย่าง ‘เป็นธรรมชาติ’ หรือที่แอ้วขยายความว่า คือการบริหารจัดการแบบไม่จัดการ โดยมีหลักการง่าย ๆ ว่าเธอและเครือข่ายชาวนาจะจับมือกันทำงาน แลกเปลี่ยนความคิด และวาดแนวทางการพัฒนาของข้าวหอมดอกฮังร่วมกันเสมอ เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมให้กับชาวนาในเครือข่าย ผ่านเรื่องเล่าที่มีทุกคนเป็นตัวแสดง และเป็นเรื่องเล่าที่ชาวนาต่างภูมิใจและพร้อมนำเสนอคู่กับเมล็ดข้าวดี ๆ
“ยิ่งข้าวหอมดอกฮังเติบโต เรายิ่งมีโอกาสทำงานกับหน่วยงานที่หลากหลาย ร้านอาหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ไปจนถึงแบรนด์ข้าวต่าง ๆ ที่เข้ามาทำงานร่วมกับเครือข่ายของเรา นอกจากเป็นการขยายตลาด อีกทางหนึ่งคือการส่งต่อเรื่องเล่าของหอมดอกฮังออกไปสู่วงกว้าง และเป็นเรื่องเล่าจากปากของคนที่มาสัมผัสเราจริง ๆ”
10 ปีที่ผ่านมานั้นน่าพึงพอใจ ทว่า 10 ปีจากนี้จะดำเนินไปอย่างไร – เราโยนคำถามสุดท้าย ตั้งใจจะขยายความสำคัญของวาระครบทศวรรษ
แอ้วนิ่งคิดแค่เสี้ยวนาทีก่อนตอบว่า เป้าหมายของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวหอมดอกฮังนั้นยังคงเดิม เพิ่มเติมหลังจากนี้คือการสร้างพื้นที่เรียนรู้และพัฒนาเรื่องข้าวพื้นบ้าน คอยอำนวยทั้งบรรยากาศและทรัพยากร เพื่อเชื่อมโยงใครต่อใครที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงการผลิตข้าวไปสู่ความยั่งยืนให้เข้ามาร่วมมือกันง่ายขึ้น
“การยืนระยะมาถึงวันนี้ของข้าวหอมดอกฮัง ในอีกนัยหนึ่งคือการทำงานต่อเนื่อง เพื่อยืนยันว่าองค์ความรู้จากการทำเกษตรเชิงนิเวศที่เราค้นพบระหว่างทาง คือคำตอบของหลายปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญ หนึ่งในนั้นคือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หนักหน่วงขึ้นทุกวัน และการทำเกษตรอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติก็แสดงให้เห็นว่ามันช่วยบรรเทาปัญหาได้จริง มีผลวิจัยที่รองรับว่าการทำนาโคกปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าปกติ และปล่อยออกซิเจนมากกว่าปกติ หรือการอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การอนุรักษ์ความหลากหลายของระบบนิเวศในนาข้าว หรือการรวมกลุ่มของเครือข่ายชาวนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ก็เป็นเครื่องมือช่วยแก้อีกหลายปัญหาที่สังคมกำลังอยากได้คำตอบ” เธอทิ้งท้าย
พร้อมสำทับว่า หากสิ่งที่ชาวนาบ้านโคกสะอาดค้นพบนั้นกระจายสู่วงกว้าง วงจรปัญหาข้าวและชาวนาไทย อาจค่อย ๆ คลี่คลายไปสู่ความหวังที่ไม่ไกลเกินจริง