“ไม่ต้องเขียนเรื่องป้าก็ได้ แต่ช่วยเล่าเรื่อง ลุงช้าง หน่อยได้ไหมคะ”

เป็นคำขอร้องของ ป้าอั้น-จันทสิริ เจริญพิทักษ์ ซึ่ง ณ ขณะนั้นสามีของเธอ ธวัชชัย เจริญพิทักษ์ ต้องผ่าตัดซ่อมสุขภาพครั้งใหญ่ ใหญ่ขนาดที่ว่าเขาอาจตื่นขึ้นมาไม่เหมือนเดิม 

ในช่วงเวลาที่หมิ่นเหม่ว่าความทรงจำที่มีร่วมกันจะหายไป เธออยากให้ใครได้บันทึกเรื่องราวการทำงานของ Jewelry Designer คนนี้ 

ป้าอั้นและลุงช้างเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์จิวเวลรี ‘บ้านต้นมะขาม’ ซึ่งทำเครื่องประดับร่วมสมัยไทยสุดโก้ราว 30 – 40 ปีก่อน ป้าอั้นคือนักขายมือหนึ่ง คู่ชีวิตของเธอคือดีไซเนอร์ที่แทบไม่เคยปรากฏตัวต่อหน้าลูกค้า ไม่ปั๊มโลโก้ในเครื่องประดับ ไม่อธิบายเหตุผลการออกแบบใด ๆ เพราะงานได้บอกเล่าทุกอย่างแล้ว

“อะไรก็อหังการไปเสียหมด” ป้าอั้นนิยามสามีสั้น ๆ 

เมื่อนัดมาพูดคุยเรื่องราวทั้งหมด เราตอบสุภาพสตรีตรงหน้าไปว่า คงไม่ได้เล่าเรื่องร้านเครื่องประดับอัญมณีที่สืบทอดจากร้านทองมา 100 กว่าปี หรือเรื่องการดีไซน์อันไฉไลของลุงช้าง

สิ่งที่ร้อยรัดเรื่องทั้งหมดนี้ไว้คือความรัก ดังนั้น บันทึกทั้งหมดนี้คือ Love Story ของบ้านต้นมะขาม ซึ่งมีป้าอั้นเป็นนางเอก

ฉากแรกเริ่มต้นที่ริมแม่น้ำน้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ 

ลูกร้านทองกับโอวกุ้ย 

“น่าขำที่ว่าป้าอั้นโตมาในร้านทองที่วิเศษชัยชาญ คิดอยู่แต่ว่าวิเศษชัยชาญไม่มีอะไรเลย เราอีโก้มาก ฉันจะต้องไปเป็นอะไรตามที่พี่ ๆ คาดหวัง เพราะเรียนหนังสือดี” 

น้องนุชสุดท้องของครอบครัวร้านทองในวิเศษชัยชาญ บ้านแรก ๆ ในชุมชนที่มีโทรทัศน์ ออกจากอ่างทองเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วัยรุ่น เมื่อเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับหน้าที่เป็นปฏิคม ดูแลเงินทองในการจัดกิจกรรมของคณะ เธอจึงได้เจอรุ่นพี่จากลาดกระบังฯ ที่เข้ามาช่วยงาน 

“คนนี้แปลกมาก เจอกันครั้งแรก ตัวดำ ขับรถโฟล์กเต่าสีส้ม ใส่กางเกงสีเขียว เสื้อสีม่วง ทุกอย่างบนตัวเก่าหมด (หัวเราะ) แต่เรารู้สึกว่าเขาฉลาด มีดีข้างใน คุยอะไรก็ตอบได้”

เกินครึ่งศตวรรษแล้ว ตั้งแต่ป้าอั้นได้เจอลุงช้างเป็นครั้งแรก แต่สุภาพสตรีในวัยเลข 7 ยังคงจำวันวานได้เป็นอย่างดี ชายหนุ่มจบ Industrial Design ทำงานเก่ง วาดรูปสวย ดีไซน์อะไรก็งามละเอียด 

แต่หนุ่มมหาลัยรอบตัวก็น่าจะฉลาดทั้งนั้น แล้วทำไมถึงต้องเป็นลุงช้าง – เราสงสัย

 “ก็มีแต่แว่นไงคะ ฉลาดหนังสือ แต่คุยด้วยแล้วมันชืด” ป้าอั้นตอบชัด 

ลุงช้างมาจากหาดใหญ่ เป็นลูกข้าราชการธรรมดา วัยเด็กเป็นกองทัพมดเหมือนในเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ขนน้ำตาลจากปาดังเบซาร์มาตลาดกิมหยง หนีตำรวจอยู่บนหลังคารถไฟ ปูมหลังชีวิตต่างจากคุณหนูคนเล็กจากร้านขายทองลิบลับ แถมเพราะเป็นคนผิวคล้ำ ไปไหนมาไหนคนจีนก็เรียกว่า อาบัง หรือ โอวกุ้ย ที่แปลว่า ผีดำ 

“ลุงช้างพาไปดูของที่เขาทำฝากขาย พวกกระดุม หัวเข็มขัดลงยา ยุคนั้นหนัง โรมิโอและจูเลียต (พ.ศ. 2511) ดังมาก สาว ๆ ทุกคนต้องแต่งตัวแบบ Olivia Hussey ผมยาว แสกกลาง ถักเปียเล็ก ๆ มาคาด แล้วใส่เครื่องประดับโบฮีเมียน พอไปถึงร้าน เขาก็สะกิดว่าทวงตังค์ให้หน่อย แกไม่กล้าแม้แต่จะถามว่าขายอะไรไปแล้วบ้าง ตอนส่งของก็ไม่เคยทำบัญชี ป้าอั้นก็เข้าไปถามว่าขายยังไง ทำไมตั้งราคาเท่านั้นเท่านี้ ลุงช้างดีใจมาก บอกว่าในที่สุดฟ้าก็ส่งคนขายมาให้”

“เราต้องขายของแพง”

ฉากหลังของเรื่องรักโรแมนติกนี้ไม่เรียบง่าย พวกเขาได้พบเห็นการเมืองคุกรุ่น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 คนรุ่นใหม่สนใจการเมือง ป้าอั้นและลุงช้างคลุกคลีอยู่กับกลุ่มนักศึกษาหัวหอกที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร จึงพับการคิดอ่านเรื่องธุรกิจไว้สนิท จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 

“เพื่อนสนิทเราเข้าป่าหมด ยกเว้นเรา 2 คนที่ไม่ได้ออกหน้า เพื่อนบางคนเป็นลูกชายคนโตของครอบครัว บางคนทำงานภาคค่ำเพื่อส่งเสียพ่อแม่ แต่ทุกคนต้องไป ต้องทิ้งทุกอย่าง ไม่งั้นตาย ลุงช้างบอกว่าเราต้องเป็นโรบินฮูด เราต้องขายของแพง และเราต้องแบ่งเงินไปช่วยเหลือเขา” 

“เราคุยกันว่าจะกลับบ้าน ไปหาพี่สาวคือคุณป้าใหญ่ เขาเป็นหัวหน้าครอบครัวแทนคุณพ่อที่เสียตั้งแต่ป้าอั้นยังเด็ก ป้าบอกลุงช้างว่า พี่ไม่ต้องพูดอะไรเลยนะ พี่ไปอยู่กับช่างทอง อั้นจะคุยเอง แล้วป้าก็กลับไปเล่าให้ที่บ้านฟังว่าอยากค้าขาย ซึ่งป้าใหญ่ก็แปลกใจมาก เพราะตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2516 – 2519 ป้าอั้นไม่เคยกลับบ้านเลย อยู่กรุงเทพฯ ตลอด

“ป้าใหญ่ตอบว่าดีใจที่ไม่ยุ่งเรื่องการเมือง ถ้าจะทำมาหากินก็จะสนับสนุนเต็มที่” 

แม้พวกพี่สาวจะขัดใจพ่อหนุ่ม 5 ย. (ไว้ผมยาว สวมเสื้อยืด กางเกงยีน รองเท้ายาง สะพายย่าม) แต่ลุงช่างทองชาวจีนฮากกาที่ร้านกลับเอ็นดูหนุ่มเงียบ ๆ ที่มาตั้งใจเรียนวิชาคนนี้มาก และบอกแม่ของป้าอั้นว่าหน่วยก้านใช้ได้ ลุงช้างจึงได้ทดลองเรียนรู้ทองตั้งแต่การดัดตะขอ ได้ค่าจ้างตัวละ 1 สลึง และกลับไปอ่างทองบ่อย ๆ เพื่อหัดเรียนทำทอง

“สมัยก่อนตรอกหัวเม็ดเป็นย่านรับซ่อมเครื่องประดับโบราณ เราสองคนย่ำต๊อกอยู่แถวหัวเม็ด บ้านหม้อทุกวัน เข้าออกร้านร้านนี้โดยใช้หน้าป้าอั้นเป็นหลัก ไปบอกว่าเราเป็นลูกใคร เป็นน้องใคร ลุงช้างก็เข้าไปนั่งมุมห้องกับตำรวจที่เฝ้าร้านเพชรแล้วตั้งใจฟัง เราตระเวนไปตามร้านเหล่านี้ เพราะสมัยก่อนไม่มีสถาบันอัญมณี ไม่มีโรงเรียนสอน ป้าอั้นโตในร้านทอง ดูเพชรพลอยไม่เป็น เรากลัวว่าจะตอบคำถามคนไม่ได้”

“ลุงช้างไปขอตามร้านว่า ถ้าหากมีพลอยไม่สวยจะขอเอาไปศึกษา ก็ไปเจออาแปะคนหนึ่งที่สนับสนุน เขาให้พลอยฟรีมาเลย 1 ห่อ มี 20 กว่าเม็ด แล้วบอกว่าโยนของแท้ลงมาด้วย เจอเม็ดไหนให้เอามาส่งการบ้าน ปรากฏว่าตอบถูกจากการนั่งฟัง ไม่ใช่ว่าโรแมนติกมาก คนหนึ่งออกแบบ คนหนึ่งขาย ไม่ใช่ค่ะ เราทำตัวเป็นแก้วเปล่า ไปนั่งเรียนตามร้านอยู่เป็นปี จากที่ลุงช้างต้องนั่งมุมห้องกับตำรวจที่นั่งเฝ้าร้านเพชร ก็ได้ขยับมานั่งดูพลอย” 

บ้าน / ร้าน / สตูดิโอ

นอกจากร่ำเรียนวิชาอัญมณีจนเชี่ยวชาญ คอนเซปต์ของลุงช้างนำลิ่วมาแต่เริ่ม ได้แก่

  1. ขายเอง ไม่วิ่งขาย ไม่ฝากคนอื่น เพราะฟ้าส่งคนขายมาให้แล้ว
  2. ของต้องราคาแพง คนซื้อต้องอยากได้และมีเงิน 
  3. เป็นของ Handcrafted ทำด้วยมือเท่านั้น ใช้วัสดุแท้ ไม่มีโลโก้ แค่เห็นสไตล์ก็รู้ว่าเป็นบ้านต้นมะขาม

คู่รักคู่นี้เริ่มต้นจากการเช่าตู้ดิสเพลย์ขายของที่ห้างไทยไดมารู โดยขายเครื่องเงินสะสมของลุงช้าง พร้อมจัดแสดงแบบจิวเวลรีที่ลุงช้างวาดคู่กัน จนมีลูกค้ามาซื้อเครื่องเงิน และเอาเครื่องประดับที่บ้านมาให้ซ่อมหรือตกแต่งเพิ่มเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เก๋ เทคนิคคือสเกตช์ภาพเครื่องประดับเดิมเป็นสีขาวดำ แล้วสเกตช์แบบใหม่เป็นภาพสี ให้เห็นภาพว่าถ้าปรับดีไซน์ตามนี้จะสวยสักเพียงไหน 

นอกจากนี้ยังตระเวนไปตามบ้านแม่ของเพื่อน ๆ ฐานะดีของป้าอั้น นำจิวเวลรีตัวอย่างไปให้ดู และรับนำเครื่องประดับมาเติมแต่งให้สวยงาม โดยเฉพาะการเติมสัตว์ประจำปีเกิด เป็นไอเดียที่มีมาแต่ไหนแต่ไร

เมื่อกิจการเริ่มจริงจัง ลุงช้างตั้งชื่อร้านว่า ‘บ้านต้นมะขาม’ เป็นที่ระลึกถึงมะขามต้นใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ จุดเริ่มต้นการทำร้านทองของตระกูลป้าอั้น เมื่อ คุณตาฉึ่น กิ้ด หยี่ ได้มาตั้งรกรากทำร้านทอง ‘กวง ง่วน เซียง’ ใต้ต้นมะขามนั่นเอง

จากตู้เดียวที่ไทยไดมารู ทั้งคู่ย้ายมาอยู่เพลินจิตอาเขต กิจการดำเนินรุดหน้าโดยลูกค้าไม่เคยเห็นผู้ออกแบบ เพราะเก็บเนื้อเก็บตัว ฝากคำพูดผ่านปากป้าอั้นมาเท่านั้น ฝ่ายภรรยามีหน้าที่ไปเจรจาให้สำเร็จ 

“บุคลิกลุงช้างไล่แขก ตรงไปตรงมา ถ้าลูกค้าไม่ชอบไอเดีย ก็บอกป้าอั้นให้ไปซื้อพลอยเขามาซะ เราจะซื้อมาทำตามแบบที่เขียนให้เขามาดู ถ้าเขาชอบก็จ่ายค่าพลอยตัวเองกับค่าเรือนกลับไป ถ้าเขาไม่ชอบก็ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย ทีนี้เราจะพูดยังไง พูดแบบนี้กับลูกค้าไม่ได้ 

“ป้าอั้นต้องกลับมาบอกว่า คนออกแบบเห็นพลอยแล้วชอบมาก ฝันอยากเห็นพลอยเป็นแบบนี้ ไม่ต้องมัดจำนะคะ ฝากพลอยไว้ แล้วเดี๋ยวเราเอาพลอยไปเทสต์ให้ว่าแท้ไหม แล้วเราจะทำให้ พูดแบบนี้ก็สำเร็จเรื่อยมา โดยที่ไม่มีใครเคยเห็นดีไซเนอร์”

20 ปีผ่านไป หลังจากคู่รักไปเยี่ยมวิเศษชัยชาญในครั้งนั้น ทาวน์เฮาส์หลังหนึ่งที่ถนนเพลินจิตก็ได้กลายมาเป็นบ้านต้นมะขามใน พ.ศ. 2530 บ้านหลังนี้เป็นทั้งสตูดิโอออกแบบ ผลิตงาน เป็นหน้าร้านขายของ และชั้นบนก็เคยเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวด้วย 

บ้านต้นมะขามเป็นบ้านจริง ๆ แขกไปใครมาก็ถอดรองเท้า เข้ามานั่งกินข้าว กินขนม หรือพาเพื่อนมานั่งรอช้อปปิ้งได้นาน ๆ ถ้ายังไม่มีไอเดีย นำพลอยที่มีอยู่หรือเครื่องประดับเก่ามาปรึกษาก็ได้ว่าอยากทำอะไร เคล็ดลับคือใครมาต้องสบาย ได้กลิ่นและได้กินของอร่อยเสมอ 

นักขายประจำร้านใช้วิธีจัดของโชว์น้อย ๆ แต่มีกล่องไว้ข้างตัว นั่งคุยกันก่อนว่าอยากได้อะไร และมีการ์ดภาพวาดของลุงช้างอยู่ในมือ พูดอะไรก็เสกภาพเอย แหวนเอยมาให้ดูและทดลอง ถ้ายังไม่ถูกใจ ค่อยถามว่าอยากให้ดีไซเนอร์ออกแบบให้ไหม 

“แล้วป้าอั้นจะกลับมาเล่าให้ลุงช้างฟังว่า เขายกกระบังสูง ใส่เสื้อเชิ้ตไหมไทย ใช้กระเป๋าหนังจระเข้ และอยากได้แหวนที่ไม่เกะกะ เพราะเขาใส่คู่กับนาฬิกา ลุงช้างก็จะสเกตช์แล้วป้าอั้นก็เอามาพรีเซนต์ ตอนนี้จะพูดเรื่องสตางค์แล้วว่าค่าแรงเท่าไหร่ จะใช้ทอง ใช้เงิน ใช้พลอยอะไร ก็ดูว่าเขาชอบแบบไหน”

สมัย 30 กว่าปีก่อน การขายแบบนี้ถือว่าแปลกใหม่มาก เพราะจิวเวลรีแพง ๆ ต้องไปซื้อตามห้างร้านหรู ถ้ากลัวว่าของไม่แท้ก็ต้องไปซื้อทองจากเยาวราช บางคนขับรถมาส่งภรรยาที่บ้านต้นมะขาม เข้าใจอยู่สองนานว่าเป็นร้านขนม เพราะได้ขนมติดมือกลับทุกครั้ง มารู้ทีหลังลมแทบจับว่าสุดที่รักมาซื้อเครื่องประดับต่างหาก

กำไลสร้างตัว

จุดเปลี่ยนที่ทำให้บ้านต้นมะขามโด่งดังและมั่นคงขึ้น คือ ‘กำไลสานเฉียง’ ป้าอั้นเริ่มรู้สึกว่าคนมาบ้านไม่ค่อยมีบทสนทนาใหม่ ซื้อของ-ซ่อมของเดิมไปแล้วก็ไม่รู้จะซื้ออะไรต่อ จึงตัดสินใจจัดงาน Thank You Party ประจำปีเพื่อขอบคุณลูกค้า เชิญลูกค้ามารับประทานอาหารและดูของคอลเลกชันใหม่ ลุงช้างออกแบบกำไลสานมาวางอวดในงานนี้โดยเฉพาะ และกำชับว่าห้ามเร่ขาย จะทำทีละวงให้ขนาดพอดีกับข้อมือลูกค้าทุกคน ว่าจะทำเพียง 99 วงเท่านั้น ปรากฏว่าคิวสั่งยาวไปถึง 109 วง ลูกค้าชอบมาก ทั้งที่ค่าช่างวงละ 5,999 บาท ไม่รวมค่าทองที่ตกบาทละราว ๆ 3,000 บาท จะสั่งเป็นทอง เงิน พิงก์โกลด์ หรือ 3 วัสดุสานกันก็ได้ เรียกว่าทองสามสี

“ไม่มีการวางมัดจำ มีแค่ชื่อ ที่อยู่ กับเบอร์โทรศัพท์ เหมือนไม่งก แต่จริง ๆ เราเชิญเขามา เรารู้อยู่แล้วว่าเขาเป็นใคร พูดง่าย ๆ เขาเป็นเซเลบในยุคนั้น ส่วนใหญ่เป็นหมอ นายธนาคาร อาจารย์มหาวิทยาลัย ทุกคนจบปริญญาตรี”

“จากนั้นทองสามสีก็เป็นที่นิยมขึ้นมา เพราะทองนิ่ม เงินนิ่ม พิงก์โกลด์แข็ง แต่เราก็สานได้แม้จะยาก และเราผลิตช่างของตัวเองจากเด็กจบใหม่ ไม่ย้อนกลับไปหาช่างเก่า ๆ เพราะช่างมีอายุจะดุว่า เอ็งไปเอาเงินมารวมกับทองได้ยังไง คนซื้อเขาไม่ซื้อหรอก ต่อไปเขาจะขายใคร”

ป้าอั้นอธิบายเสริมว่ายุคนั้นคนไม่นิยมเครื่องประดับที่ใช้วัสดุหลายอย่างปนกัน เพราะอนาคตเอาไปหลอมไม่ได้ ขายก็ไม่ได้ราคา แต่ใครซื้อของบ้านต้นมะขามต้องไม่คิดขายหรือหลอม ความชอบของคุณต้องคงทนยาวนานไปสู่รุ่นลูกหลาน ทางร้านไม่รับเปลี่ยน แต่รับฝากขายให้ 

“บางคนถือกำไลสานเฉียงของเราไปร้านทอง แล้วร้านทองบอกว่า โง่มากเลยที่ไปทำของอย่างนี้มา เสียของหมด ปัจจุบันกำไลแบบนี้ของร้านเรายังขายที่เซ็นทรัล ชิดลม วงละแสนกว่าบาท” 

God is in the Details

30 ปีกว่าที่แล้ว ร้านทองสีแดง ร้านเพชรสีฟ้า ทุกร้านมีตู้ดิสเพลย์แบบเดียวกันหมดจากโรงงานเดียวกัน และเครื่องประดับต่างก็ลอกเลียนจากแค็ตตาล็อกฮ่องกงซึ่งรับวัฒนธรรมฝรั่ง 

ลุงช้างเห็นว่าคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักเครื่องประดับอิตาลี แม้ของอิตาลียังไม่เข้ามานั่งในหัวใจคนไทย แต่อิตาลีทำพิงก์โกลด์ ทองสีชมพู และทำนิตยสารชื่อ 18 KARATI ซึ่งสมัยก่อนต้องไปจองที่ Asia Books ถึงจะได้แมกาซีนนี้มา 

ลุงช้างติด F ภาษาอังกฤษ ยิ่งอิตาเลียนยิ่งอ่านไม่ออก แต่ได้หนังสือมาแล้วจะมาสเกตช์แบบของตัวเอง ใช้พิงก์โกลด์แทนนาก จากนั้นเดินทางไปเที่ยวที่ไหนก็ไปหาแรงบันดาลใจ ไปสเกตช์ลายเส้นม้วนในสุสาน ไปพิพิธภัณฑ์เพื่อไปดูหนามเตย 

“อย่าเรียกเราว่าหัตถศิลป์ไทยโบราณ น่าเบื่อมาก เอียนมาก แล้วถ้าย้อนประวัติศาสตร์ เครื่องประดับชุดไทยเราก็รับมาจากอินเดียทั้งสิ้น ของเราไม่ใช่ของชาววัง แต่เป็นงานฝีมือร่วมสมัยในยุคนั้น” 

ทุนที่ได้มาจากกำไลสานทำให้บ้านต้นมะขามกล้าลงทุนกับพลอยเม็ดใหญ่ และเน้นการลงยาบนพื้นทองคำแบบช่างจีน นอกจากนี้ยังมีลูกปัดเม็ดมะยม ของมงคลตามคติขอม ดัดลายเส้น Scrollwork ละเอียดยิบ แต่ละชิ้นงานของบ้านต้นมะขามมีเทคนิคเฉพาะตัว แหวนใส่แล้วเกาะนิ้ว ไม่หมุนไปมา หมุดหรือตัวเชื่อมกำไลก็ใช้วัสดุแท้หมด ไม่มีแกนข้างใน วิธีการนี้เป็นซิกเนเจอร์มาจากหลัก Industrial Design ของลุงช้าง

“ลูกค้าตามกันมาซื้อ เพราะกำไลสานกับเม็ดมะยมดัดลาย บางคนอยู่แบงก์ชาติ บางคนอยู่สถานทูต เพราะมันไปตอบเขาเรื่องงานฝีมือ แค่ใส่ฝรั่งก็เดินมาบอกว่า Gorgeous เขาเลยรู้สึกว่าแบรนด์เราแปลก ฝรั่งไม่เคยเห็น แล้วสมัยก่อนห้างก็ไม่มีจิวเวลรีขายแบบยุคนี้ แบรนด์เนมก็ยังไม่ได้ทำเครื่องประดับ ของเรารายละเอียดแยะ แต่ต้องดูใกล้ ๆ ถึงรู้ว่าคืออะไร ไม่ใช่ยืนไกล ๆ ก็มองเห็นเลยว่าทับทิมหรือมรกต แล้วเอามาใส่กับผ้าถุงหรือยีนก็สวย” 

ช่วง พ.ศ. 2530 – 2540 เป็นยุครุ่งเรืองของบ้านต้นมะขาม งานดีเทลของลุงช้างพร้อมไปด้วยไอเดียบรรเจิด มีช่างรองรับ และมีลูกค้าที่พร้อมจะซื้อเก็บเพื่อส่งต่อให้ลูกหลาน 

“เขาไม่อยากทำของเหมือนคนอื่น และใช้วัสดุแท้ เป็นรสนิยมที่ดีมากของลุงช้าง ป้าอั้นไม่มีเซนส์เลย เมื่อบวกกับดีไซน์และงานฝีมือ นั่นคือความอมตะของเขา ไม่สลักอะไรในหลังเข็มขัดหรือท้องแหวน ลายเซ็นอยู่ในแบบ ให้คนเห็นแล้วรู้ว่าเป็นของบ้านต้นมะขาม แกหนักแน่นมาก ลุงช้างนี่แกอย่างกับ คีอานู รีฟส์ อยากให้คนดูที่งาน อย่าดูเรื่องส่วนตัว เขาไม่ใส่เครื่องประดับเลย ใส่เสื้อตราลูกไก่กับห่านคู่” 

ป้าอั้นเล่าย้อนเรื่องอดีตด้วยเสียงขำขัน 

“ลุงช้างชอบบอกว่า ถ้าเจ๊งก็แค่ไปผัดราดหน้าขาย เพราะสมัยก่อนเขาชอบทำราดหน้าให้กิน และเราไม่ใช่ใครมาจากไหนเลย เราไปขายราดหน้าก็ได้ ถ้าผ่อนบ้านไม่ไหวก็ให้แบงก์ยึดไป”

ต้มยำกุ้ง

กิจการดำเนินมาอย่างผาสุก คนหนึ่งทำ คนหนึ่งขาย และแล้ววิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 ก็มาถึง

“ไม่มีลูกค้ามาหาที่บ้าน โทรหาใครก็บอกว่าทิ้งมัดจำ ทุกคนลำบากหมด ลูกค้าเรา 80 เปอร์เซ็นต์เป็นคนทำงานแบงก์ระดับผู้บริหาร เจ้าของโรงงาน ซึ่งเงินถูกฟรีซเพราะบริษัททุน 21 แห่งปิด ป้าอั้นเลยปิดบ้าน ไปเซ็นสัญญาอยู่เซ็นทรัล ชิดลม ขอเอาเฟอร์นิเจอร์ที่บ้านไปวางจัดตู้ตรงระหว่างบันไดเลื่อนชั้น 7 ที่ขายเฟอร์นิเจอร์เก่า ห้างก็บอกว่าขายไม่ได้หรอก ตรงนั้นคนไม่เดิน มีแค่ร้านเฟอร์นิเจอร์ ร้านหนังสือ และสโมสรเซ็นทรัลบัณฑิตน้อย ปรากฏว่าผู้ปกครองเซ็นทรัลบัณฑิตน้อยคือลูกค้าเราทั้งหมดเลย ได้คำตอบว่าคนที่เคยได้ยินชื่อเรา แต่ไม่เคยมีของเรามีอีกมาก 

“ตอนนั้นกลับบ้านมาบอกลุงช้าง แกโกรธมาก บอกแล้วว่าไม่ให้วิ่งออกไปขาย ใครจะซื้อต้องมาหาเรา ป้าอั้นก็บอกว่าลุงเป็นไดโนเสาร์ หมดยุคแล้ว ไม่ยุ่งด้วย ลูกก็ยังเรียนหนังสือ ป้าอั้นนั่งเฝ้าร้านตั้งแต่ 10 โมงถึง 4 ทุ่มทุกวัน 7 วันไม่เคยหยุด หนักหนาแต่ก็ผ่านมาแล้ว บ้านต้นมะขามยังติดลมบน อยู่กับเซ็นทรัลมา 22 ปี ไม่เคยเลิก ลูกชายก็ทำต่อถึงทุกวันนี้”

ต่อยอดต้นมะขาม

บ้านต้นมะขามโฉมใหม่ในมือของลูกขายคนโต ธามาริน เจริญพิทักษ์ เพิ่มเติมจิวเวลรีแบบใหม่ ๆ ที่ร่วมสมัยปัจจุบัน แต่ยังคงเก็บเอกลักษณ์งานสานและใส่ใจทุกรายละเอียด โดยขายที่ห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก ส่วนสตูดิโอบ้านต้นมะขามเดิมนั้นเปิดเป็นเวิร์กช็อปให้คนมาทำจิวเวลรีเงินหรือทองของตัวเองด้วยกรรมวิธีดั้งเดิม ตั้งแต่เผาไฟไปจนถึงรีดเส้นและดัดลาย ที่นี่มีอุปกรณ์และช่างช่วยดูแลพร้อมสรรพ รอบห้องตกแต่งด้วยภาพวาดและการกรุผนังละเอียดตามสไตล์ลุงช้าง

“คอนเซปต์การซื้อก็ไม่เหมือนยุคนี้ ไม่มีแล้วการซื้อแหวน 3 วงให้ลูกสาว 3 คน หรือมาเลี่ยมพระให้ลูกชาย มีแต่ทำให้ตัวเองใส่ และทำให้ใช้ในชีวิตประจำวัน ตอนนี้เป็นยุคของลูกหลานแล้ว เราก็ส่งต่อให้เขา”

ปัจจุบันป้าอั้นและลุงช้างวางมือจากธุรกิจ แต่อยากบอกเล่าเรื่องราวของเครื่องประดับร่วมสมัยในยุคก่อน รวมถึงนำจิวเวลรีมาจัดแสดงให้เห็นงานฝีมือที่กำลังจะสูญหายไป

“อยากทำนิทรรศการของที่มีอยู่ว่าคนไทยก็เป็นนักออกแบบ และแสดงงานที่ใช้เทคนิคเดิม อย่างงานลงยาร้อน ตอนนี้ก็แทบไม่มีแล้ว เพราะยากและแพง ประกอบกับตลาดจีนเข้ามาทำเป็นลงยาเย็น ไม่ต้องใช้ไฟเป่า ใช้แล็กเกอร์เคลือบ ก็หมดไปอีกทีละอย่าง” 

ปิดท้ายเรื่องนี้ด้วยการอวดของสวย ๆ งาม ๆ ของบ้านต้นมะขาม และถ้าอยากเรียนรู้เพิ่มเติม หรือลงมือทำจิวเวลรีเพื่อตัวเองหรือเพื่อคนที่เรารัก ก็ติดต่อไปเวิร์กช็อปที่บ้านต้นมะขามได้เลย

จิวเวลรีชุดนักษัตรตามปีเกิด มีทั้งจี้ เข็มกลัด ใส่ได้หลายแบบ องค์ประกอบทุกอย่างเป็นทองคำแท้ กระทั่งหมุดทุกตัว ไม่ใช้ของสำเร็จรูป เทคนิคเข็มคู่และบานพับ ไม่หลุดง่าย ๆ 

กำไลมะยมดัดลาย Scrollwork มีตุ้งติ้งลูกฟักทอง สวยตาแตก เม็ดมะยมนี้มีหลายขนาด เอามาร้อยกับมุกหรืออะไรก็ได้ 

เข็มกลัดลงยาพื้นดำแต้มจุด เกิดจากการฉลุแบบฝรั่ง ทับด้วยลายไทย เป็นงานยากเพราะต้องใช้ไฟเป่าทับหลายชั้น ด้านหลังเป็นเข็มคู่กับบานพับตามซิกเนเจอร์เข็มกลัดของร้าน

จี้ลงยารูปต้นมะขาม เป็นตลับให้ลูกค้าเก็บเส้นผม เป็นของขวัญแจกลูกค้า 

แหวนแอปเปิล แอปเปิลใช้พลอยแหว่ง ใบกับขั้วเทคนิคลงยา กับแหวนมะม่วงอกร่อง ใช้ทับทิมพม่า และตุ้มหูผึ้งลงยา ป้าอั้นชอบใส่ของชิ้นเล็ก ๆ ลุงช้างเลยทำให้ 

กรอบเลี่ยมพระ พระหล่อเป็นทองมาอยู่แล้ว ทางร้านทำกรอบเสมือนมีเบาะให้หลวงพ่อ ฉลุกระทั่งด้านหลัง เห็นหลังพระ วิธีเข้าเรือนต้องชมช่าง พอดีเป๊ะ

งานสานนิ่ม ๆ ยังทำอะไรได้หลากหลาย ตั้งแต่กระปุก Miniature ให้ลูกค้าสะสม ทำจากพิงก์โกลด์และเงิน ซองพลูใส่ผ้าเช็ดปาก ไปจนถึงสานเข็มขัดและกระเป๋าถือใบใหญ่ ลูกค้าที่เคยเอาสั่งกระเป๋าทองสานต่างยิ้มออกถ้วนหน้า สมัยทองบาทละ 1,700 บาท เคยมีลูกค้าสั่งกระเป๋าทอง 30 บาทด้วย

ป.ล. เรื่องนี้จบอย่างแฮปปี้เอนดิง หลายวันหลังสัมภาษณ์เสร็จ ป้าอั้นโทรมาบอกว่าลุงช้างผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยดี 

Website : www.tonmakham.com 

Facebook : Baan Tonmakham

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล