“ชื่อ ปันดา-ปัณฑ์ดา เจียรทัศนประกิต ค่ะ เดิมเป็นคนโคราช มาทำอาชีพพยาบาลที่เกาะพะงัน ตอนนั้นอกหัก หนีรักขับรถลงเกาะเหมือนในหนัง เพื่อนสนิท เลย แต่ไม่ได้เป็นไข่ย้อยนะ
“ปัจจุบันทำบ้านนุ้ย เปิดร้านถึงพะงัน เป็นทั้งเจ้าของร้านและเป็นแม่ครัวเองด้วยค่ะ”
“ชื่อ ชนิน-ชนินทร์ เจียรทัศนประกิต ครับ เป็นหุ้นส่วนบ้านนุ้ยกับร้านถึงพะงัน เป็นคนกรุงเทพฯ ตอนนี้ทำมาหากินและตั้งรกรากอยู่เกาะพะงัน เรียกว่าเป็นผู้อพยพก็ได้ครับ”

การแนะนำตัวของ ชนิน และ ปันดา ทำให้เราเกิดข้อสงสัยไม่น้อย
ทำไมหนุ่มสาวจากกรุงเทพฯ และโคราช ถึงจับพลัดจับผลูมาเปิดบ้านพักชื่อ ‘บ้านนุ้ย’ บนเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แถมยังหยิบยกชื่อของตัวละคร นุ้ย (รับบทโดย เอ๋-มณีรัตน์ คำอ้วน) ตัวละครนางพยาบาลสาวประจำโรงพยาบาลเกาะพะงันจากภาพยนตร์เรื่อง เพื่อนสนิท
อย่างไรก็ตาม การที่พวกเขาเป็นคนต่างถิ่นก็ช่วยให้บ้านพักที่ทำจากไม้ อยู่ห่างจากถนน 200 เมตร อาศัยอยู่ร่วมกับต้นมะพร้าว 20 กว่าต้นในสวนนั้น ดูมีเสน่ห์ขึ้นทันตา ผ่านเรื่องราวของการเป็นคนนอกที่อยากให้ผู้เข้าพักรู้สึกเหมือนเป็นคนใน ทั้งจากประสบการณ์และความรู้สึกที่บ้านนุ้ยตั้งใจมอบให้

นุ้ย
(คำสรรพนามที่เด็กผู้หญิงใช้แทนตัวเอง)
“คนมักเข้าใจว่าบ้านหลังนี้คือ บ้าน ‘นุ้ย’ จริง ๆ อ๋อ ไม่ใช่ครับ”

ชนินพูดติดตลกขณะเปรยถึงที่มาของบ้าน ซึ่งทำเอานักท่องเที่ยวหลายคนเข้าใจผิดไม่น้อยเกี่ยวกับชื่อบ้าน ด้วยตำแหน่งที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลเกาะพะงัน พอทั้งคู่มานั่งนึกกันไปนึกกันมา คนส่วนใหญ่มักจดจำเชียงใหม่ในหนังเรื่อง เพื่อนสนิท มากกว่าเกาะพะงัน ทั้ง ๆ ที่ 80% ของหนังถ่ายทำบนเกาะแห่งนี้ ถึงอย่างนั้นกลับไม่มีใครนำจุดเด่นตรงนี้มาใช้บนเกาะเลย ฉะนั้น คงเป็นการดีที่พวกเขาจะทำมัน
ในอีกความหมายหนึ่ง นุ้ย (ออกเสียง หนุ่ย) เป็นคำที่เด็กผู้หญิงในภาคใต้ใช้เรียกแทนตัวเองหมายความว่า ‘หนู’ หรือ ‘น้อง’ พวกเขามองว่านี่คือตัวบ่งบอกความเคารพ การวางตัว และความนอบน้อม ซึ่งเป็นความรู้สึกที่สื่อสารออกไปอ้อม ๆ ผ่านตัวบ้าน เนื่องจากเป็นบ้านไม้ อาจไม่ต้องถึงขั้นนอบน้อม แต่อย่างน้อยต้องอ่อนโยน จะกระแทกกระทั้น ตึงตัง โครมคราม ก็คงไม่ดีกับบ้านสักเท่าไหร่
แจ็บหัวแหมด
(ภาษากลางแปลว่า ปวดหัว)
“เราสนใจบ้านเก่าในเกาะพะงันมาตั้งนานแล้ว แต่ว่ามันมีน้อย ต้องโชคดีจริง ๆ ถึงจะเจอบ้านแบบนี้ และที่เราได้บ้านหลังนี้มาเพราะจังหวะมันได้พอดี” ปันดาอธิบายถึงจังหวะพอดีที่เข้ามาเหมือนรู้ว่าเธอกำลังอยากได้บ้านทรงนี้ แบบนี้ และต้องเป็นบ้านไม้แบบนี้ ทรงนี้
ทั้งหมดเริ่มต้นที่รุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งเคยเช่าบ้านหลังนี้ พอถึงคราวต้องโยกย้ายออกจากเกาะก็บอกกับเพื่อน ๆ ว่า “บ้านน่าอยู่นะ มีใครอยากลองเช่าต่อไหม เจ้าของเขาน่ารัก” อีกทั้งยังมีการแวะเวียนมาป้ายยาให้กับปันดา “บ้านหลังนี้นะ น้องต้องชอบแน่” ทีแรกเธอก็ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก เพราะขณะนั้นกำลังจดจ่ออยู่กับการทำร้าน ‘ถึงพะงัน’ จนกระทั่งเพื่อนคนหนึ่งถ่ายรูปตัวบ้านส่งมาให้ดู บรรยากาศสวนมะพร้าวที่นับว่าเริ่มหายากแล้วบนเกาะพะงัน ทำให้เธอถึงกับต้องออกไปดูบ้านในเย็นวันนั้นทันทีที่เห็นรูป
“พอดูเสร็จปุ๊บ เราก็เอฟบ้านเลย” นั่นคือสิ่งที่เธอทำในช่วงเวลาต่อมา
ทุกอย่างดูเป็นไปด้วยดี เปรียบเสมือนโชคชะตาบันดาลจังหวะนี้มาให้เธอ

เสียอย่างเดียว จังหวะนั้นเป็นเดือนตุลาคม หรืออีกชื่อหนึ่งคือช่วงกำลังเข้าหน้ามรสุมของเกาะพะงัน พร้อมด้วยบ้านไร้คนอยู่อาศัยกว่า 3 เดือน สภาพข้างในทุกอย่างเหมือนเดิม ฝ้าที่เจ้าของทำไว้เพื่อติดแอร์ เสื่อน้ำมันหลากสี และด้านหนึ่งของบ้านที่ยุบลงไป
“เราทำร้านถึงพะงันมาก่อน เลยรู้ว่าช่างไม้ในพะงันน้อยมากที่จะทำเป็นจริง ๆ วัสดุอุปกรณ์หายากมาก ข้อจำกัดเยอะไปหมด” ข้อควรรู้จากชนินและปันดาเกี่ยวกับการทำบ้านพักบนเกาะ
สิริรวมทั้งสิ้นจบที่ช่าง 3 เจ้า เจ้าหนึ่งดีดบ้าน อีกเจ้าหนึ่งรีโนเวตภายใน และอีกเจ้าหนึ่งทำรั้ว
ส่วนกระบวนการดีดบ้านใช้เวลากว่า 2 เดือน และสละแม่แรงที่พังไปอีก 2 ตัว ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็มองว่าเหมือนได้เข้าใจธรรมชาติของช่างในพื้นที่ เป็นการทำความรู้จักเกาะในอีกแง่มุมหนึ่ง

เริน
(ภาษากลางแปลว่า บ้าน)
“เราเห็นภาพตั้งแต่วันแรกที่เดินขึ้นบ้านเลยว่าจะทำอะไรบ้าง
“เราว่าเหมือนบ้านยายที่เคยอยู่ตอนเด็ก อยู่กันทั้งครอบครัว เพียงแต่เป็นยายคนละคน ลูกหลานคนละคน เราเลยอยากทำบ้านหลังนี้ให้คนที่มาอยู่คิดถึงบ้าน”
ปันดาเล่าถึงแนวคิดการทำบ้านพักของเธอ และประสบการณ์ที่อยากให้ผู้เข้าพักได้รับ ซึ่งไม่ใช่แค่ความสะดวกสบายหรือการผ่อนคลาย แต่ยังพ่วงมาด้วยความรู้สึกหวนคิดถึงบ้านเก่าที่ต่างจังหวัด บ้านของผู้สูงอายุประจำครอบครัว หรือสำหรับบางคนอาจเป็นสถานที่รวมญาติในวันสำคัญ


ทีนี้มาว่ากันถึงบ้านเก่า ชนินและปันดาเลือกรื้อข้างในออกทั้งหมดให้เหลือแต่ไม้เดิม และยังคงภูมิปัญญาของคนใต้เอาไว้ เช่น ยกใต้ถุนสูงในระดับที่ต่างจากคนเหนือหรือคนอีสาน เนื่องจากใต้ถุนของภาคใต้สูงแค่ระดับเอว มีช่องลมให้ถ่ายเทจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน ช่วยระบายความชื้นวันฝนตก
หลังจากตกแต่งภายในใหม่ทั้งหมด พวกเขายังมองถึงความปลอดภัยของผู้พักอาศัยภายในบ้านไม้ที่หลาย ๆ จุดค่อนข้างเปิดโล่ง สิ่งที่เพิ่มเข้ามาจากเดิมคือประตูเลื่อนแบบญี่ปุ่น เสมือนตัวกั้นห้องสำหรับคนที่อยากได้ความเป็นส่วนตัวขณะนอนหลับ ถ้าเปิดออกก็จะได้ห้องรับแขก 1 ห้องตามต้องการ
แน่นอนว่าด้วยความที่พวกเขาอินกับหนังเรื่อง เพื่อนสนิท ชั้นหนังสือภายในบ้านจึงแทบตัดแปะจากในหนังมาวางเอาไว้อย่างไรอย่างนั้น
“เป็นความน่ารักของลูกค้าหลายคนที่เขามักเอาหนังสือมาเติมบนชั้น ใครอยากได้ไปอ่าน ถ้าเขาขอ เราก็จะให้ เพื่อส่งต่อกันไป” ปันดาเล่า

จับนา
(ภาษากลางแปลว่า ดูแลหรือเอาใจใส่)
“เราอยากต้อนรับทุกคนตั้งแต่ท่าเรือ ไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นบริการของเรา แล้วพาเข้าบ้าน เราอยากเห็นรีแอ็กของเขาตอนที่เห็นบ้านครั้งแรก และด้วยความที่บ้านเคยทรุด หน้าต่างที่เคยเอียงอยู่หลายปี พอเราดีดขึ้นมาก็เริ่มปิดยาก ต้องอธิบายลูกค้าว่า หน้าต่างต้องปิด 2 บานพร้อมกันนะคะ
“อันนี้ต้องซ้ายก่อน ขวาก่อน บางคนก็มองว่าน่ารักดี” ปันดาเล่า
ขณะเดียวกัน ชนินพูดถึงการท่องเที่ยวบนเกาะว่า หากไม่อยากไปไหนไกล หรืออยากพักผ่อนอยู่แค่ในละแวกบ้าน เรามีสวนมะพร้าวให้คุณได้นั่งเล่น ข้างบ้านเป็นตายายเจ้าของที่ ไปนั่งเล่นตรงศาลา กินหมาก พูดคุยฉันมิตรได้ตามสบาย ดีไม่ดีบางวันจะได้เห็นคุณยายเอาควายมากินหญ้ากันตรงหน้า ชนิดที่คนต่างชาติถึงกับยกให้เป็นไฮไลต์ประดับบ้านเลยทีเดียว
กลับกัน หากอยากออกเที่ยวแต่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน บอกชนินและปันดาได้เลย พวกเขาพร้อมพาคุณเที่ยวเสมอ (ในจังหวะที่ว่างนะ) ถ้าอยากสัมผัสชีวิตของคนบนเกาะ ตกเย็นลองตอบรับคำชวนไปกินข้าวที่บ้านของพวกเขา คุณอาจได้ทำความรู้จักเคล้าสังสรรค์กับคนที่ผ่านไปผ่านมาอย่างน่าสนุก
“บางทีคนไม่รู้จะจูนกับเกาะอย่างไร เราก็บอกว่า วันนี้เพื่อนเราเล่นดนตรีที่ตรงนี้นะ ถ้าวันนี้อากาศเป็นแบบนี้ ไปตรงนั้นจะดีมาก เราจะยั้ง ๆ ไว้ว่า อย่าวางแผนเยอะ เกาะนี้มีความไหลไป ให้ลองสังเกตเอา แล้วตามอันนั้นไป เพราะเกาะนี้มีเวทมนตร์ การที่เราเจอบ้านก็เป็นความไหลไปเหมือนกัน การที่เราได้มาอยู่ที่นี่ก็เหมือนกัน ยิ่งถ้าได้สัมผัสเยอะ ๆ จะเริ่มออกยากละ” ชนินหัวเราะขณะเล่า
เพราะเขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่โดนเวทมนตร์ของเกาะนี้ดึงดูดเอาไว้จนยากจะออกไป
พร้อม ๆ กันนั้น เขาขยายความถึงเวทมนตร์ของเกาะที่พาคนไหลไปกับสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างไม่ติดขัด เรียกกันง่าย ๆ คือการเดินทาง เขาจะบอกให้ว่าควรลองเริ่มต้นที่ตรงไหน อาจเป็นร้านของใครสักคนที่มีแนวความชอบเดียวกัน หลังจากที่มีเพื่อนแล้ว คุณก็จะรู้ได้เองว่าควรไปที่ไหนต่อ เพราะคนประเภทเดียวกันมักดึงดูดเข้าหากัน และจะมีความทรงจำของคุณตกค้างอยู่ในเกาะแห่งนี้โดยไม่รู้ตัว

ถึงพะงัน
(อยากให้ลองอ่านด้วยสำเนียงคนใต้)
แรกเริ่มไอเดียการทำร้าน ‘ถึงพะงัน’ และบ้านพักของปันดายังคงน้อยนิด จนกระทั่งเธอได้พูดคุยกับคุณลุงเจ้าของบ้านแบบไม่ได้จริงจังว่า ทำร้านที่บ้านหลังนี้ได้ไหม ไม่ถึง 5 วินาทีต่อมา คุณลุงก็ตะโกนกลับมาว่า ทำเลย!
จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเตรียมตัว โดยมี พี่เยาว์ เจ้าของร้านอาหารจากเชียงใหม่มาช่วยสอนทำอาหาร รวมไปถึงแนวคิดต่าง ๆ ว่า “เมนูปลาอย่าไปเอาปลากะพงหรือปลาทั่วไปที่คนเขาหากินที่อื่นได้ ปลาเก๋าไม่ต้อง ปลาอินทรีมันเดิม ๆ เอาปลาท้องถิ่นที่ชื่อบ้าน ๆ แล้วถามคนขายว่าทำอย่างไร เขาไกด์เธอได้อยู่แล้ว ถึงพะงันเลยเหมือนใช้อาหารเป็นตัวบอกเล่าพื้นที่” ปันดาเล่า
สำหรับใครที่สนใจ ต้องแจ้งให้ทราบก่อนเลยว่าร้านถึงพะงันไม่ได้เปิดตลอดเวลา ลูกค้าที่อยากเข้ามาใช้บริการต้องจองก่อนเสมอ นอกจากนี้ทางร้านไม่มีเมนูให้ บอกเพียงแค่ว่าคุณทานหรือไม่ทานอะไร ชนินและปันดาจะเป็นคนจัดเตรียมอาหารให้ในวันนั้นเลย
สาเหตุที่ทำแบบนี้เพราะพวกเขาเชื่อว่าถ้าเปิดเป็นร้านตามสั่งที่ต้องทำอาหารตลอดเวลา พวกเขาคงท้อแท้และเลิกทำร้านนี้โดยเร็ว ในอีกแง่หนึ่ง เพื่อให้วัตถุดิบมีความสดอยู่เสมอ เนื่องจากพวกเขาจะออกไปซื้อและจัดเตรียมวัตถุดิบในตอนเช้า แม้แต่น้ำจิ้มก็ไม่มีค้างคืน อีกทั้งยังใช้ปลาจากประมงเรือเล็ก กะปิจากชุมพร เคยจากเกาะลิบง เกลือจากปัตตานี ความอุดมสมบูรณ์ของภาคใต้อยู่ในเมนูของพวกเขาหมดแล้ว
“เราอุดหนุนชุมชนเต็มที่ ส่วนข้าวเราใช้ของพ่อเราเอง บ้านเราที่โคราชปลูกข้าวหอมมะลิแท้กินเอง แล้วครั้งหนึ่งเราพาพ่อกลับมาเกาะด้วย วันนั้นชนินพรีเซนต์อาหารจานข้าวให้กับคนต่างชาติ แล้วเขาก็อึ้งมาก เขาไม่เคยกินข้าวออร์แกนิกแท้ ๆ หรือข้าวหอมมะลิแท้ ๆ ที่คนปลูกนั่งอยู่ตรงนี้
“แล้วเราเห็นพ่อกำลังยิ้มอยู่” ปันดาเล่า
ถึงแม้ว่า ‘บ้านนุ้ย’ กับ ‘ถึงพะงัน’ จะเป็นคนละสถานที่ แต่ลูกค้ากว่าครึ่งเป็นคนที่มาเข้าพักบ้านนุ้ย ซึ่งมีส่วนลดให้ด้วย ชนินและปันดามองว่าบ้านหลังนั้นและร้านร้านนี้ คืออีกหนึ่งความไหลไปของเกาะพะงันที่เอื้อให้ทั้ง 2 สถานที่กลายเป็นเรื่องเดียวกัน
โพลก รือ
(ออกเสียงเป็น โผลก รือ ภาษากลางแปลว่า วันข้างหน้า อนาคตที่จะถึง)
ปันดาเล่าถึงแผนในอนาคตให้ฟัง 3 อย่าง
หนึ่ง อีเวนต์เล็ก ๆ ที่อยากให้บ้านนุ้ยกลายเป็นพื้นที่สำหรับชุมชน คล้ายกับการเป็นตลาดที่มีชาวบ้านเอาของมาขาย มีเพื่อนนักดนตรีมาเล่น หรือใครก็ได้ที่อยากมาร่วมแจม
สอง บ้านพักอีก 2 หลังแบบหลองข้าว (บ้านใต้ถุนสูงในภาคเหนือ) อารมณ์คล้ายบ้านทางมาเลย์ มีระเบียงเปิด ลมโกรก เพื่อให้เข้ากับบ้านหลังแรก กับพื้นที่โดยรอบ กับสิ่งแวดล้อมของเกาะพะงัน
สาม การฉายหนังเดือนละครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องแรกต้องเป็น เพื่อนสนิท

ชนินบอกกับเราว่า หลังจากที่พวกเขาถูกความไหลไปของเกาะพะงันพัดพามาจนกลายเป็นผู้อยู่อาศัย เขาทั้งสองหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของความไหลไปนั้น ทั้งจังหวะของการท่องเที่ยวที่เชื่อมผู้คนเข้ากับความทรงจำน้อยใหญ่ซึ่งอาจหาไม่ได้จากบ้านพักหลังอื่น หรือความชอบในหนังเรื่อง เพื่อนสนิท แม้ว่าจะไม่ใช่ของจริง แต่ก็มีหัวใจของความอินอยู่ ข้อสำคัญ ชุมชนในละแวกโดยรอบต้องไม่ได้รับผลกระทบจากสภาวะนักท่องเที่ยวล้นเกาะ
“เราหวังให้คนได้เข้ามาที่เกาะพะงันในแบบที่เขาไม่เหมือนนักท่องเที่ยว แต่เหมือนได้มาเที่ยวหาเพื่อน หาญาติ หรือกลับภูมิลำเนามาพักผ่อนหย่อนใจ และใช้ชีวิตให้ช้าลง” ชนินพูดปิดท้าย

2 Things
you should do
at บ้านนุ้ย
ตามรอย เพื่อนสนิท

01
ไปโรงพยาบาลเกาะพะงันและวัดอัมพวัน ในฉากที่ไข่ย้อยกับนุ้ยนั่งไหว้พระกัน

02
ไปหาดโฉลกหลำ อยู่ฟากเหนือ ห่างจากที่นี่ 10 นาที เป็นบ้านไข่ย้อยหลังที่ติดริมทะเล ไม่เปิดให้เข้าพัก แต่เข้าไปถ่ายรูปได้ เกาะม้าที่เป็นฉากนั่งวาดรูปกันก็ไม่ไกลจากที่นี่ อยู่ใกล้โฉลกหลำ