กิ่งลั่นทมโผล่พ้นขอบประตูรั้วที่สูงกว่าศีรษะ ทิ้งดอกร่วงโปรยปรายอยู่บนถนนในซอยหน้าบ้าน ฉันวางเป้เดินทางหนักอึ้งลงเมื่อเห็นป้ายเล็ก ๆ ข้างรั้ว ‘บ้านลืมเพ-ลา’ 

นี่แหละคือจุดหมายปลายทางในจังหวัดระยองที่ตามหา ถือวิสาสะเลื่อนเปิดประตูไม้บานใหญ่ สองเท้าก้าวเข้าไป พลันลั่นทมสั่นกระเพื่อมจนหยดน้ำสะเด็ดลงมา คุณพระ! ไม่ได้มีพลังงานอะไรบางอย่าง แต่คือกระรอกสีน้ำตาลตัวจ้อยหางฟูที่กระโดดโผจากกิ่งต้นลั่นทมแล้ววิ่งต่อไปยังข่อยต้นใหญ่นั่นต่างหาก 

ฉันเผลอมองตามกระรอกไป แล้วเห็นแสงอาทิตย์ส่องลอดใบหนาของต้นข่อยลงมาทาทาบผืนหญ้าสีเขียวสดตรงกลางลานบ้านอย่างพอดิบพอดี ในตอนนั้นเองที่เข็มนาฬิกาของฉันหยุดเดินไว้ชั่วคราว

จากความรกร้างสู่บ้านสวนกลางเมืองระยอง

ไม่ไกลจากย่านเมืองเก่า ชายหาด และสถานที่สำคัญใจกลางเมืองระยอง บ้านลืมเพ-ลา ซ่อนตัวอยู่กลางแมกไม้ บรรยากาศเงียบสงบ นอกจากที่นี่จะไม่มีโทรทัศน์ ก็ยังขอความร่วมมือลดการใช้เสียงดังหลัง 4 ทุ่ม เพื่อเอื้ออารีต่อเพื่อนบ้านรอบข้างที่ส่วนมากเป็นผู้สูงวัย

แต่เจ้าของโฮมสเตย์แห่งนี้คือ บึง-สรีระ สุขเกษม หญิงสาววัยเพียงเลข 3 สาวครีเอทีฟที่ทำงานอยู่ในเมืองหลวง และจะเปิดบ้านรับแขกเพียงช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ กับวันหยุดนักขัตฤกษ์ 

เดิมที่ดินตรงนี้เป็นของแม่และพ่อของบึง แต่ปล่อยไว้กลายเป็นที่กองสุมข้าวของถูกทิ้งขว้าง ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2554 คุณพ่อเกษียณจากการทำงานที่กรุงเทพฯ และตั้งใจกลับมาสร้างบ้านพักตากอากาศที่ระยอง บึงจึงคิดปรับปรุงที่ว่างให้เป็นบ้านเล็ก ๆ สักหลังที่มีกลิ่นอายสถาปัตยกรรมแบบภาคตะวันออก สอดคล้องกับย่านเมืองเก่าระยองที่อยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร

จากผืนดินเปล่า ค่อยคิดและทำโดยอาศัยปรึกษาเพื่อนที่เป็นสถาปนิกมาช่วยออกแบบโครงสร้างให้ ส่วนการตกแต่งสิ่งละอันพันละน้อยนั้นใช้ความชอบของตัวบึงเป็นหลัก มีรายละเอียดเล็ก ๆ น่ารักเข้ากันกับที่พักสไตล์ไทย เช่น กะเบียน (หรือบางคนเรียกกระด้งน้อย) ที่ตกแต่งบนฝาผนัง กรงนกหัวจุกที่นำมาทำโคมไฟ หรือบานประตูไม้เก่าเสริมขา ทาสี กลายเป็นโต๊ะกินข้าวตัวยาวที่รับแขกได้ทั้งครอบครัว 

แต่ที่ดูจะเป็นจุดขายของบ้านหลังนี้ คือความอุดมร่มรื่นของพรรณไม้หลายชนิด ทั้งข่อยที่เป็นไม้พื้นเมือง สะเดาอินเดียที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของบ้าน เหลืองปรีดียาธรหรือทองอุไร จั๋งด่าง มอนสเตอร่า เฟิร์นข้าหลวง ดีปลี ฯลฯ

“ตอนมาปรับปรุงพื้นที่ พยายามตัดต้นไม้ออกให้น้อย เพราะตั้งใจอยากอนุรักษ์พันธุ์ไม้เดิมให้ได้มากที่สุด” บึงบอก ระหว่างนั้นลมพัดพาใบสีเหลืองทองของสะเดาอินเดียร่วงหล่นลงมาอยู่เป็นระยะ ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านกลางป่าอยู่เหมือนกัน

เมื่อหัวถึงหมอน

สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับการเดินทางและเปลี่ยนที่นอนค่อนข้างบ่อย หลายครั้งฉันก็ไม่ค่อยได้มีเวลากำซาบความงามหรือแม้แต่ความนิ่มของเตียง แต่เพียงคืนแรกที่บ้านลืมเพ-ลา ฉันก็ทิ้งตัวลงบนเตียงกว้างอย่างไม่สนเรื่องในโลกอีกต่อไป ผ้าปูเตียงตึงเปรี๊ยะขาวสะอาดตามมาตรฐานโรงแรม หมอนนิ่มจนแทบจะหลับทันที ไหนจะกลิ่นหอมอ่อนที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายนั่นอีก

บ้านลืมเพ-ลา มีห้องพักเพียง 3 ห้อง ตามความตั้งใจของเจ้าของบ้านเพื่อจะได้ดูแลทุกคนอย่างทั่วถึงเหมือนดูแลเพื่อนของตัวเอง ห้องทั้ง 3 นั้นได้แก่ ห้องเขียวใบแค ห้องแดงก้ามปูอสุรา และห้องฟ้าตาแมว ตั้งชื่อตามเฉดสีในระบบสีไทยโทน (Thaitone) ที่เป็นการเรียกชื่อสีตามแร่ธาตุและพืชพรรณในธรรมชาติ (วิจัยและให้ชื่อโดย ดร. ไพโรจน์ พิทยเมธี นักวิชาการศิลปะด้านทัศนศิลป์)

“เป็น 3 สีที่เราชอบที่สุด ความตั้งใจแต่แรกที่จะให้มี 3 ห้อง 3 สี และเป็น 3 เรื่องราวที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของครอบครัวเราด้วย” เธอว่า

เริ่มที่ ‘เขียวใบแค’ ห้องที่แยกออกมาเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวยกพื้น และเป็นเพียงห้องเดียวที่สมาชิกสี่ขาเข้าพักด้วยได้ การตกแต่งยึดโทนสีเขียวกลมกลืนกับสีน้ำตาลของเครื่องเรือนไม้ และอาจเพราะเรือนเกือบทั้งหลังล้อมรอบด้วยต้นไม้ ในวันที่ฉันเข้าพักในช่วงปลายฝนต้นหนาวจึงแทบไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ เพียงพัดลมเพดานตัวเดียวก็เอาอยู่ โดยห้องเขียวใบแคนี้สร้างขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของต้นตระกูล

“บรรพบุรุษดั้งเดิมทางระยองของเราทำสวนมะม่วง เลยอยากให้ห้องนี้เป็นสีเขียว และเราก็ชอบต้นไม้ด้วย เวลาคนมาพักจะได้อารมณ์เหมือนอยู่ในป่า ส่วนมากครอบครัวที่มีผู้สูงวัยมาด้วยจะแนะนำให้พักห้องเขียวใบแค เพราะไม่ต้องขึ้นลงบันไดสูง คุณย่าคุณยายที่มาก็จะบอกว่ารู้สึกคิดถึงบ้านเก่าจัง นึกถึงบ้านที่เคยอยู่ตอนเด็ก ๆ ซึ่งบ้านแบบนั้นไม่มีแล้ว เขามาพักแล้วรู้สึกทำให้อยากกลับบ้านอีกครั้ง”

ห้องต่อมาคือ ‘ฟ้าตาแมว’ เพียงเปิดประตูเข้าไปก็รู้สึกถึงความสดใส ห้องนี้ใช้โทนสีน้ำเงินและขาวเป็นหลัก ที่น่าชังสุดก็คือดวงตากลมโตของแมวอ้วนที่จ้องมาจากปลอกหมอน

แรงบันดาลใจของห้องมาจากบ้านคุณย่าซึ่งเมื่อก่อนมีแมวเยอะ เธอจึงอยากบันทึกความทรงจำเหล่านั้นไว้ อีกทั้งขึ้นชื่อว่า ‘แมว’ เราก็มักเห็นมันใช้ชีวิตอิสระ ไม่ค่อยมีทีท่าว่าจะแยแสสิ่งใด (ยกเว้นอาหารเปียกและขนมแมวเลีย) เธอจึงอยากให้แขกที่มาพักรู้สึกผ่อนคลายสบายใจเหมือนเวลาที่แมวนอนโชว์พุง และนี่คือคอนเซปต์ของห้องฟ้ามีตา เอ๊ย! ฟ้าตาแมว

สุดท้ายคือห้อง ‘แดงก้ามปูอสุรา’ ที่ตั้งใจตกแต่งเพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ชายหนุ่มมาดเข้มผู้รักการผจญภัยในท้องทะเล ไม่ว่าจะเป็นตะเกียง ลูกโลก อ่างหินล้างหน้า ริ้วลายคลื่นบนฝาผนัง จนถึงหลอดไฟโทนสีส้มอบอุ่น ห้องนี้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณปู่ผู้รักความโลดโผน กระโดดจากอาชีพรับราชการครูไปเป็นต้นหนเรือ

“ปู่เป็นคนชอบผจญภัย ชอบออกไปกับเรือ ห้องนี้เลยตกแต่งให้เหมือนอยู่ในท้องเรือเพื่อระลึกถึงอาชีพเก่าของปู่”

ข้าวคลุกพริกเกลือ จานเอกลักษณ์ของภาคตะวันออก

“ลองกินนี่รองท้องก่อนนะคะ”

บึงเสิร์ฟขนมปังสไตล์ญี่ปุ่น ชิโอะ ปัง (Shio Pan) ที่เธอนวดเอง อบเอง กัดเข้าไปคำแรกแสงก็พุ่งออกจากตา ผิวสัมผัสด้านนอกค่อนข้างกรอบ แต่ข้างในนุ่มชุ่มลิ้นมาก 

เธอบอกว่าเป็นคนชอบทำอาหาร ทำขนม และขยันพลิกแพลงสูตรอยู่เสมอ อาหารเช้าของที่นี่บึงก็ลงมือรังสรรค์เองแบบจานต่อจาน เลือกใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลและต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุด เพราะบางคนอาจแพ้สารอาหารบางชนิด

นอกจากขนมปังและอาหารเช้าสไตล์อเมริกัน (ที่ฉันให้คะแนน 100 เต็ม 10) ยังโชคดีได้กินอาหารที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของคนภาคตะวันออก คือ ‘ข้าวคลุกพริกเกลือ’ เสิร์ฟมากับ ‘ซุปฟักไก่’ จัดจานมาอย่างสวยงามราวกับนั่งอยู่ในภัตตาคารห้าดาว 

เพิ่งรู้ว่าพริกเกลือของคนที่นี่หมายถึงน้ำจิ้มซีฟู้ด ข้าวหุงน้ำซุปนิ่มและหอม กินกับกุ้ง หมึก และปลากะพงทอดกรอบนอกนุ่มใน (หรือไม่ก็เป็นปลาอินทรี แล้วแต่ว่ามาช่วงไหน) ฉันกินเข้าไปแค่ครึ่งจานก็อิ่มจนน้ำตาจะไหล ต้องแอบมองหากล่องข้าวไว้เก็บกินมื้อต่อไป เพราะเธอเสิร์ฟมาให้แบบเกินอิ่มจริง ๆ

“เราต้องการให้ลูกค้านอนหลับและกินอิ่ม ถ้ามาแล้วยังไม่อิ่ม ยังต้องออกไปหาอะไรกินข้างนอก เราคิดว่าไม่ค่อยตอบโจทย์” เธอบอก

โอโมเตะนาชิ

ใครเคยไปเที่ยวญี่ปุ่น อาจคุ้นเคยกับคำว่า ‘โอโมเตะนาชิ’ (Omotenashi) ปรัชญาการต้อนรับขับสู้แบบญี่ปุ่น เน้นการเอาใจใส่ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาจนกว่าจะลับสายตากลับออกไป ที่ลืมเพ-ลา เราจะได้รับประสบการณ์แบบนั้น อาจเพราะนี่คือบุคลิกส่วนตัวของเจ้าของบ้านที่เป็นคนใส่ใจรายละเอียด และอยากให้แขกทุกคนรู้สึกเหมือนมาพักผ่อนบ้านเพื่อนตัวเอง

นอกจากต้องการมอบประสบการณ์การพักผ่อนแบบสบายที่สุดให้กับผู้เข้าพัก ลืมเพ-ลา ยังเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ Eco-friendly แม้วันนี้ยังไม่ 100% แต่ในอนาคตก็ตั้งใจไว้แล้วว่าต้องเป็นที่พัก Zero Waste หรือลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุด

Pet-friendly

“เราเองก็เลี้ยงหมา เวลาจะไปไหนมาไหนจึงเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ถ้าเลี้ยงสัตว์ก็อยากพาเขาไปด้วย”

เหตุผลที่ลืมเพ-ลา ทำที่พักแบบ Pet-friendly ต้องยกความดีความชอบให้ อาร์โนลด์ (ชวาร์เซเน็กเกอร์ คนนั้นนั่นแหละ) เจ้าของบ้านตัวสีขาวพันธุ์ชิวาวา ตัวสูงกว่าตาตุ่มหน่อยหนึ่ง แต่ท่าทางขึงขังเอาเรื่อง 

อาร์โนลด์เป็นหมาที่ใช้ความน่ารักได้สิ้นเปลืองมาก เตือนอย่างเดียว อย่าเผลอไปแตะตัวเขาก็แล้วกัน แต่ใครจะพาหมาแมวมาพักที่นี่ด้วยก็ไม่ต้องกลัวจะว่าอาร์โนลด์จะดุใส่ ไม่ว่าสมาชิกครอบครัวจะเป็นคนหรือเพื่อนสี่ขา จะได้รับการต้อนรับอย่างดีแน่นอน

เสียงของธรรมชาติ

ตอนกลางวันที่ท้องฟ้าสีสันสดสวย ฉันออกจากห้องพักมานั่งเล่นในพื้นที่ส่วนกลางของโฮมสเตย์ 

ผีเสื้อไม่ต่ำกว่า 10 ตัวบินอวดปีกวิบวับต้องประกายแดด นกขมิ้นสีเหลืองจัดส่งเสียงทักออกมาจากกิ่งไม้และมันยังแวบมาทักทายฉันที่ขอบหน้าต่างตอนเช้า

หากใครได้มาที่นี่ ฉันอยากชวนให้ลองหลับตาแล้วฟังเสียงกราวของใบไม้ที่ลมพัดผ่าน เสียงกาเหว่ากับนกปรอดที่ร้องจิ๊บจั๊บอยู่ตลอดทั้งวันอย่างไม่มีเหน็ดเหนื่อย ไม่อยากเชื่อเลยว่าห่างออกไปนิดเดียวคือถนนใหญ่ ใครอยากได้ที่พักที่ทั้งใกล้เมือง หาของกินง่าย ไม่ห่างทะเล และยังต้องการบรรยากาศสงบเงียบที่เหมาะแก่การพักผ่อนเพื่อเติมพลังชีวิต ฉันมั่นใจว่าลืมเพ-ลา โฮมสเตย์ คือคำตอบทั้งหมดที่คุณต้องการ

3 Things

you should do

at บ้านลืมเพ-ลา เฮอร์ริเทจ โฮมสเตย์ 

01

ลองพายซัพบอร์ด สำรวจป่าชายเลน ฟังเสียงนก วนรอบพระเจดีย์กลางน้ำ

02

ลองปั่นจักรยานเที่ยวหมู่บ้านชาวประมงและสะพานก้นปึกที่อยู่ไม่ไกลจากที่พัก

03

ลองแวะชื่นชมโบสถ์อายุหลายร้อยปีที่วัดโขด (ทิมธาราม) วัดเก่าแก่ที่สุดของจังหวัดระยอง ซึ่งมีหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

Baan Leum Payla Heritage Homestay

Writer

อรุณวนา สนิกะวาที

อรุณวนา สนิกะวาที

มีความสุขกับการเขียนนิยาย ขายของ ทำช่องยูทูบ มี blog ชื่อนักเขียนฐานะดีมีแมวหลายตัว

Photographer

ธนาธิป อดิเรกเกียรติ

ธนาธิป อดิเรกเกียรติ

ช่างภาพรักความสงบ กำลังพยายามค้นหาความสุขให้กับตัวเอง ผู้หลงใหลระหว่างบรรทัดของบทกวี