“ต้องออกเสียงว่า อะซะฬา ลูกค้าส่วนใหญ่ออกเสียงกันอีกแบบ แต่ไม่เป็นไรเลยครับ” 

โณ-ตระกูล ภักดีเพิ่มพูน ตอบยิ้ม ๆ หลังจากเราถามถึงการออกเสียงของชื่อสถานที่แห่งนี้

‘AZALA’ (อะซะฬา) คือชื่อของลอดจ์ 3 หลังแห่งใหม่ จังหวัดเชียงราย เหตุผลที่ต้องออกเสียงแบบนี้ เพราะคำนี้มาจากภาษากะเหรี่ยง แปลว่า หัวใจสีเขียว โณขยายความให้ฟังว่าเขานำคำนี้มาเป็นชื่อ เพราะอยากสื่อถึงคนรักธรรมชาติ และทุกกระบวนการสร้างล้วนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการสร้างความสุขให้แขกผู้เข้าพัก ตลอดจนสร้างประโยชน์ให้กับหมู่บ้านทุ่งพร้าวและชุมชนที่อยู่รายล้อม

“เราเป็นคนชนเผ่ากะเหรี่ยง ก่อนหน้านี้ไปต่างบ้านเพื่อการศึกษาและการงาน พอถึงจุดหนึ่งก็กลับมานั่งขบคิดว่าอยากทำอะไรบางอย่างที่บ้านเกิด ด้วยเหตุผลคืออยากกลับมาอยู่ใกล้พ่อแม่ และตั้งใจจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชุมชน จึงเกิดอะซะฬาขึ้นมา ซึ่งเป็นที่พักแห่งเดียวในหมู่บ้านนี้ครับ”

AZALA ตั้งอยู่ในหมู่บ้านทุ่งพร้าว ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย โณอธิบายให้เราฟังว่าตำบลนี้มีภูมิประเทศเป็นดอย มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่เยอะมาก อย่างกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เย้า แม้ว ลาหู่ ลีซอ หรือแม้กระทั่งคนจีน ตำบลวาวีจึงเป็นพื้นที่ที่ความหลากหลายทั้งชาติพันธุ์และภาษา ซึ่งภายในหมู่บ้านทุ่งพร้าวก็มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ 3 กลุ่ม คือกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ลาหู่ และกะเหรี่ยง

“พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ดินของพ่อแม่ เป็นผืนดินที่เขาทำการเกษตรมาทั้งชีวิต เรามองว่าถ้าจะกลับบ้านมาต่อยอดธุรกิจการเกษตร คงไปต่อไม่ได้แล้ว เพราะการทำเกษตรตรงพื้นที่นี้ไม่เห็นผลมาตั้งแต่เรายังเด็ก แต่ด้วยความที่ชอบธรรมชาติ รักการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมาก ๆ เราเลยตัดสินใจทำที่พัก”

เมื่อพูดถึงธรรมชาติ โณก็เริ่มเล่าถึงแพสชันของเขาให้ฟังด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดี

ความชอบพิเศษของเขา คือการซึมซับสถาปัตยกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ นั่นทำให้โณสนใจเรื่องการออกแบบ แนวคิดและการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวหรือที่พักซึ่งเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ

“เราชอบสิ่งเหล่านี้เป็นพิเศษ เมื่อไหร่ก็ตามที่นึกถึงธรรมชาติ มันชื่นใจ เรียกว่าใจฟูได้เลย และจริง ๆ เราชอบศิลปะ อยากเรียนการออกแบบภายใน แต่ไม่มีโอกาส พอโตขึ้นเราก็ยังชอบสิ่งเหล่านี้อยู่ ยังจินตนาการอยู่ว่า ถ้าทำเอง เราจะทำสไตล์ไหนหรือจะใช้วัสดุธรรมชาติแบบไหน” เขาเล่า

 ก่อนหน้าที่โณจะกลับบ้าน เขาทำงานด้าน Hospitality (งานบริการการต้อนรับ) และ Yachting (งานบริการบนเรือยอชต์) การทำงานสายนี้ทำให้โณมีพื้นฐานเรื่องการจัดการและการรับรองแขก รวมถึงการสร้างบริการด้วยมาตรฐานที่ดีให้ลูกค้า แต่การสร้างที่พักสักแห่งโดยเริ่มต้นจากที่ดินเปล่า ๆ ต้องใช้ทักษะที่มากกว่านั้น ทั้งวางแผนก่อสร้าง วางแผนออกแบบ ไปจนถึงการเลือกวัสดุในการก่อสร้าง

“เพราะชอบธรรมชาติมาก เราเลยอยากทำที่พักให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด และเราอยากเปลี่ยนภาพจำที่หลายคนเคยมองว่าการเที่ยวบนดอยต้องทุลักทุเลและลำบาก เราอยากทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวบนดอยดูหรูหราขึ้น ให้รู้สึกแขกสะดวกสบายท่ามกลางการพักผ่อนที่สงบ”

โณใส่ใจตั้งแต่การฟื้นฟูผืนดินของพ่อแม่ เรียกว่าเขาทุ่มแรงกายในการฟื้นฟูที่ดินผืนนี้ถึง 3 ปี เพื่อเปลี่ยนผืนดินที่เต็มไปด้วยสารเคมีจากการเกษตร ให้กลายเป็นผืนดินดีที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

“เราปล่อยให้ต้นไม้เริ่มโต ปล่อยให้หญ้าเกิดขึ้นตามธรรมชาติ จนหน้าดินค่อย ๆ กลับมาดี”

เมื่อหน้าดินพร้อม การก่อร่างโครงสร้างที่พักจึงเริ่มต้นขึ้น โณใส่ใจกับวัสดุทุกชิ้นที่ใช้ก่อสร้างที่พักและลอดจ์แต่ละหลัง เรียกว่าที่พักทุกหลังและวัสดุตกแต่งทุกชิ้นล้วนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“พอมาทำเอง กระบวนการผสมผสานเลยเกิดขึ้นในหัวเยอะมาก บ้าน 3 หลังของเราจึงใช้วัสดุธรรมชาติมากที่สุด วิธีการออกแบบของทั้ง 3 ห้องก็ต่างกันไป เราปรับการออกแบบที่พักแต่ละหลังให้เข้ากับระดับหน้าดินและธรรมชาติตรงนั้น ส่วนการบริการ เราเอาความรู้ที่ได้จากการทำงานสายต้อนรับมาปรับใช้ด้วย และมีการสร้างเมนูอาหารใหม่ ๆ ด้วยวัตถุดิบตามฤดูกาลเพื่อรับรองลูกค้าอยู่เสมอ”

เรื่องราวทั้งหมดส่งให้อะซะฬาได้รับนิยามว่า ที่พักสไตล์ Eco Luxury Lodge

Local to Luxury

#01

สถาปัตย์ในแบบของตัวเอง

คำว่า ‘Eco Luxury Lodge’ ที่เรากล่าวก่อนหน้านี้ โณไม่ได้เป็นผู้นิยามขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่แขกที่เข้าพักเป็นผู้นิยามให้ ซึ่งตรงกับคอนเซปต์ที่โณตั้งธงไว้ในใจก่อนที่จะสร้างอะซะฬาขึ้นมา

“อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้เรียนสายสถาปัตยฯ มา เราแค่ชอบและสนใจงานออกแบบ ดังนั้น โมเดลหรือแปลนตั้งต้นของที่พักจึงแทบไม่มีเลย อย่างนักศึกษาสถาปัตยฯ มาขอโมเดลของเราไปปรับใช้ เราก็ให้เขาไม่ได้ เพราะการออกแบบที่พักแห่งนี้ เราใช้วิธีการ Coahing Design กับช่างพื้นบ้านของที่นี่โดยตรง”

ที่พักทั้ง 3 หลักล้วนใช้ช่างท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งพวกเขาใช้ความชำนาญเฉพาะทางในแต่ละด้านของตนเอง โณเฟ้นหาช่างที่เก่งกาจในแต่ละด้านมาทำงานในส่วนที่แต่ละคนถนัด แล้วใช้วิธีการ Coahing หรือพูดคุยกับช่างที่หน้างาน เพราะโณอยากให้ทุกส่วนของบ้านเกิดขึ้นจากแพสชันของช่างแต่ละคน ผ่านการฝากร่องรอยความละเมียด เสน่ห์ของงานจาก 2 มือ และความคราฟต์ไว้ในทุกส่วนของที่พัก

“ถ้าสังเกต พื้นบ้านแต่ละหลังต่างระดับกัน เพราะเราตั้งธงไว้แล้วว่าจะไม่ทำลายสภาพของหน้าดิน ฉะนั้น พื้นห้องแต่ละหลังจะไม่เรียบ โดยเราออกแบบให้สอดคล้องกับหน้าดินของบ้านแต่ละหลัง”

โณให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า การออกแบบที่พักเป็นทรงกลม เพราะบนดอยลมพัดตลอดเวลา หากทำบ้านหลังใหญ่ ต้องทำทรงกลมเพื่อให้บ้านไม่ต้านลม กว่าจะรู้ว่าพื้นที่ตรงนั้นควรออกแบบลอดจ์ให้มีลักษณะแบบไหน เขาต้องเอาตัวเองไปขลุกอยู่กับที่ดินตรงนั้นทุกวันเป็นเวลาหลายเดือน จนเข้าใจทิศทางของสายลม เข้าใจความต่างของระดับผิวดิน และเข้าใจทิวทัศน์ที่สวยงามของธรรมชาติเป็นอย่างดี

“หลังคาของบ้านแต่ละหลังก็ใช้หญ้าคาเป็นวัสดุในท้องถิ่น ซึ่งเราให้ช่างสร้างหลังคาแบบเม็กซิโกจริง ๆ ภาคเหนือก็มีวิธีสร้างที่คล้ายกันนะ แต่ฝั่งเม็กซิโกเขาทำเนี้ยบกว่าและไม่ต้องใช้ฝ้าด้วย” 

การตกแต่งภายในและบริเวณรอบ ๆ ที่พักใช้การออกแบบจากความชอบของโณ นั่นคือ Tropical Design เขามองว่านี่เป็นสไตล์ที่เข้ากับคอนเซปต์ Eco ที่สุดแล้ว และหาวัสดุได้ในภาคเหนือด้วย

#02

เชฟผู้ชอบการเซอร์ไพรส์

ถ้าให้พูดกันตรง ๆ โณทำให้เราทึ่งตลอดการสนทนา เพราะสัมผัสได้ถึงแพสชันของคนคนหนึ่งที่ทำในสิ่งที่ใจรักแม้จะไม่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรงก็ตาม รวมถึงการที่เขาเปิดเผยว่าช่วงหนึ่งเขาเคยประกอบอาชีพเชฟที่ต่างประเทศ เขาจึงนำทักษะนั้นมาปรับใช้กับการบริการของอะซะฬาด้วย

“เราพยายามสร้างมาตรฐาน 5 ดาวให้งานบริการและอาหารในแบบฉบับที่เราเคยมีประสบการณ์มา ขณะเดียวกันก็ยังคงความอบอุ่นและความเป็นกันเองอยู่ด้วย และก่อนหน้านี้ เราเคยเป็นเชฟมาก่อน ชอบทำ และลองกินอาหารเมนูใหม่ ๆ อยู่เสมอ เลยสร้างสรรค์เมนูจากวัตถุดิบท้องถิ่นได้เยอะ

“ทำได้หลายสไตล์เลยนะ อาหารไทย ยุโรป หรือเอเชีย เราคิดเมนูขึ้นมาใหม่ได้หมดเลย” 

วัตถุดิบที่โณเลือกใช้มีทั้งผักสมุนไพรที่ได้จากท้องถิ่น เว้นเสียแต่วัตถุดิบประเภทโปรตีน อย่างเนื้อสัตว์ หมู ไก่ หรืออาหารทะเลที่นำเข้ามาจากพื้นที่อื่น เพราะที่หมู่บ้านทุ่งพร้าวไม่มีการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ 

แขกที่เข้าพักที่นี่จะได้เพลิดเพลินไปกับเมนูใหม่ ๆ ที่โณการันตีว่า อาหารไทยจะไม่ใช่กะเพรา พะแนง หรือแกงเขียวหวานอย่างที่คุ้นชิน แต่เป็นการรังสรรค์สิ่งใหม่ที่พร้อมเซอร์ไพรส์แขกที่มาเยือน

หากลูกค้ามีเมนูที่อยากลองชิมเป็นพิเศษ ก็สั่งให้เชฟเสิร์ฟได้เช่นกัน

#03

ความสบาย ความสงบ ความสุข มีครบจบที่นี่

นักเดินทางผู้มาเยือนอะซะฬาคือกลุ่มวัยทำงานที่อยากหลบหนีความวุ่ยวายในเมือง 

“ความตั้งใจแรก คือเราอยากทำที่นี่ให้เป็นที่พักของผู้ใหญ่ เราไม่ได้มองเรื่องเด็กเอาไว้เลย แต่วันหนึ่งมีลูกค้าเขามาพร้อมกับลูก ในตอนแรกไม่ได้คิดว่าเด็กต้องพักผ่อนในที่พักสไตล์ของเรา ซึ่งเราเพิ่งมารู้ว่าพ่อแม่เขาก็อยากให้ลูกเขาได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ด้วยการอยู่กับธรรมชาติ เลยเป็นโจทย์ที่เราต้องคิดเพิ่ม และต้องปรับบ้านบางหลังให้เหมาะกับเด็ก รวมถึงต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อพวกเขาด้วย

“เราอยากให้ลูกค้ามีความสุขก่อนออกจากที่นี่ เราพร้อมให้ความคุ้มค่ากับลูกค้าในทุกด้าน ตั้งแต่การกิน การอยู่ การนอน ที่พักที่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม หลาย ๆ อย่างพอรวมกันแล้ว แขกต้องรู้สึกสงบและมีความสุข เพราะเราอยากให้ที่นี่เป็นสถานที่ที่แขกมาเติมความสุขและความสงบในจิตใจ”

Locals are AZALA

อะซะฬากำลังเดินทางมาถึงครึ่งปี จากจุดตั้งต้นด้วยหนุ่มชาติพันธุ์นำภาษากะเหรี่ยงมาตั้งเป็นชื่อที่พัก ณ บ้านเกิด แล้วค่อย ๆ ประกอบสร้างจนสถานที่แห่งนี้เป็นที่พักใจให้นักท่องเที่ยวมากมาย และอาจพูดได้ว่า ในทุกองค์ประกอบของที่พักแห่งนี้เป็นหนึ่งกับชาวกะเหรี่ยงแห่งหมู่บ้านทุ่งพร้าว 

“อย่างที่บอกว่าทุกกระบวนการเป็นการทำงานกับชาวบ้านที่นี่ ส่วนใหญ่เป็นพนักงานพาร์ตไทม์ เมื่อไหร่ที่ชาวบ้านว่างหรือสะดวกจากงานที่เขาทำ เขาจะมาทำงานกับเรา ทั้งงานบริการในที่พัก งานทำสวน หรือในส่วนต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้เรามีทีมงานที่ทำงานด้วยกัน 6 – 7 คนแล้ว”

โณใส่ใจงานบริการอย่างมาก แม้ว่าการทำงานกับชาวบ้านไม่ได้ง่ายนัก แต่เขาพยายามสื่อสารด้วยภาษาบ้านเกิด รวมถึงช่วยแนะนำทุกขั้นตอนของงานบริการอย่างละเอียด นอกจากสร้างงานให้คนในชุมชน คนที่มาทำงานที่นี่ ยังเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่พวกเขาไม่เคยรู้จักและไม่เคยได้รับมาก่อนด้วย

“ความคิดแรกที่เรากลับบ้านเกิด คือเราอยากทำให้คนในชุมชนได้รับโอกาส อย่างตอนนี้ชุมชนกำลังหารายได้เพื่อสร้างโบสถ์ เราเลยตกลงกันว่า มาทำงานด้วยกันนะ แล้วเอาเงินที่ได้จากการทำงานมาสมทบทุน เราเพิ่มอัตราการจ้าง เปิดรับคนว่างงานมาทำงานด้วยกัน และแขกที่มาพักก็มีส่วนร่วมในการสร้างโบสถ์ด้วย เช่น แขกมียอดชำระ 10,000 บาท โดยปกติโรงแรมจะหักค่า Service Charge แต่เรานำส่วนนั้นมาเปลี่ยนให้เป็นยอดบริจาคแทน”

สำหรับชุมชนชาวคริสเตียนบนดอย แผนสร้างโบสถ์นับว่าเป็นสำคัญที่ทุกคนในชุมชนต้องช่วยกันทำให้เกิดขึ้นจริง โดยโณพยายามสร้างความเชื่อมโยงกับชุมชนในทุกกระบวนการ เพื่อให้ทุกคนในชุมชนทุ่งพร้าวมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของอะซะฬา

แม้การเดินทางของที่พักหัวใจสีเขียวเพิ่งเริ่มต้น แต่โณบรรลุหลายเป้าหมายที่ตั้งไว้ในใจแล้ว เรื่องราวมากมายที่เปี่ยมแพสชันจากโณทำเราอดถามไม่ได้ว่า – ความสุขของการทำสิ่งนี้คืออะไร

“หนึ่ง เราได้กลับบ้านเกิด สอง เราได้อยู่ใกล้พ่อแม่” โณตอบเราสั้น ๆ ก่อนขยายความต่อ

“เรามีความสุขที่ได้กลับบ้าน เพราะครอบครัวคือ ‘สิ่งอมตะ’ ยิ่งกว่านั้น เราได้เอาสิ่งที่ชอบมาเป็นงาน ทั้งสนุก แถมช่วยเหลือชุมชนได้เยอะมาก ๆ ดังนั้น มันทะลุเป้าหมายของเราในตอนนี้แล้ว

สำหรับเรา อะซะฬามีค่ามาก มันเป็นของขวัญจากพ่อแม่ที่เราได้รับแล้วนำมาทำต่อในแบบที่เราชอบ เราใส่กำลัง ความคิด ความรู้ คุณค่า ความรู้สึกทุกอย่างลงไปกับที่นี่ และไม่ได้มีคุณค่าแค่กับเราด้วยนะ เพราะที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้ช่วยเหลือชุมชน เหมือนกับโรงงานที่ไปตั้งอยู่กลางชุมชน ผู้คนก็ไม่ต้องจากบ้านไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล 

“อะซะฬาเป็นที่ที่พึ่งพาได้ในยามที่ชุมชนต้องการ ที่นี่จึงไม่ได้มีคุณค่าแค่กับตัวเรา แต่มีคุณค่ากับคนรอบข้างของเราด้วย”

การกลับบ้านของโณและการเกิดขึ้นของอะซะฬาทำให้ชุมชนได้เห็นสิ่งใหม่ ได้มีกิจกรรมร่วมกันในหลาย ๆ ด้าน และเห็นความเป็นไปได้ของอาชีพอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีแค่การทำเกษตร การมาถึงของอะซะฬาจึงกลายเป็นโมเดลนำร่องที่ทำให้ชาวบ้านเห็นว่า การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในแบบที่ไม่ทำลายธรรมชาติมากเกินไปก็สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างประโยชน์ให้กับใครหลาย ๆ คนได้เช่นกัน

3 Things

you should do

at AZALA

01

ชมวิวดอยช้าง นั่งชงชา จิบกาแฟ และดื่มด่ำกับวิวหลักล้าน

02

ร่วมกิจกรรมชุมชนตามฤดูกาล เช่น ปลูกข้าวในนา เก็บชากลับบ้าน

03

ใช้เวลากับตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจ และพักผ่อนใกล้ชิดธรรมชาติ

AZALA
  • 129 หมู่บ้านทุ่งพร้าว ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย (แผนที่)
  •  09 0319 1874
  • AZALA

Writer

Avatar

กชกร ด่านกระโทก

มนุษย์แมนนวล ผู้หลงใหลในกลิ่นและสัมผัสของหนังสือ ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านนิยาย/มังงะ สนุกไปกับการเดินทาง และชื่นชอบในการเรียนรู้โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์

Photographer

Avatar

จารุเกียรติ หน่อสุวรรณ

งานประจำก็ทำ ช่างภาพก็อยากเป็น