ผมมาร่วมทริปดูงานพลังงานแห่งอนาคตกับกลุ่ม ปตท. ที่ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ กับคณะสื่อมวลชนและผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. หลายท่าน ผมเลยได้ฟังเรื่องงานของ ปตท. แบบสุดพิเศษจากคำบอกเล่าของผู้บริหาร ทั้งผ่านไมโครโฟนพร้อมพรีเซนเทชัน และคุยกันสนุก ๆ บนโต๊ะอาหาร

พอรู้จักกันมากขึ้น ผมก็รู้สึกว่า ‘ชีวิต’ ของแต่ละท่านสนุกไม่แพ้เรื่องงาน

คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ หรือ พี่โด่ง ของน้อง ๆ คือประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือจะเรียกว่าซีอีโอคนที่ 10 ของ ปตท. ก็ได้ ตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2563 คุณอรรถพลให้สัมภาษณ์สื่อมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. ทิศทางขององค์กร ผลประกอบการ รวมถึงโครงการลมหายใจเดียวกัน ที่คุณอรรถพลวางบทบาทสำคัญให้ ปตท. มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโควิด-19

โดยปกติคุณอรรถพลจะให้ความสำคัญกับการทำงานมากกว่าเรื่องส่วนตัว เราจึงมักเห็นมุมมองทางด้านการทำงานมากกว่า

ผมเองก็ได้ฟังประสบการณ์ทำงานของคุณอรรถพลอยู่หลายเรื่อง รวมถึงฟังเขาถอดรหัสเรื่องราวในหนัง ก็รู้สึกว่าอยากให้คนทั่วไปมีโอกาสได้รู้จักมุมเหล่านี้ของคุณอรรถพลบ้าง

ถ้าเรารู้จักตัวเขาที่เป็นตัวเขาจริง ๆ ผมเชื่อว่าเราจะเข้าใจ ปตท. ในยุคของเขามากขึ้น

คุณอรรถพลจะเดินทางกลับไทยบ่ายนี้ วันนี้เขาเลยต้องแยกจากคณะไปนั่งรถส่วนตัวเพื่อไปดูงานพลังงานไฮโดรเจนที่รอตเทอร์ดาม ผมเลยขออนุญาตติดรถไปด้วย เพื่อใช้เวลาระหว่างเดินทางพูดคุยเรื่องชีวิตและการทำงานของเขา แบบที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมงคุ้มค่าทุกนาที

และนี่คือเรื่องราวที่ผมเริ่มบันทึกเมื่อประตูรถปิด แล้วกดหยุดเมื่อประตูรถเปิดหน้าสนามบิน Amsterdam Schiphol

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ CEO ปตท. ผู้คิดงานสไตล์คำคมหนัง และเปลี่ยนปั๊มเป็นพื้นที่ของชุมชน

“ผมเป็นคนง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่รู้เรื่องไวน์ ไม่มีซูเปอร์คาร์ อยากได้บ้างแต่ก็เป็นรุ่นโหล ๆ นาฬิกาไม่ใส่ ของสะสมไม่มี สิ่งที่ผมชอบมีแค่ดูหนัง ฟังเพลง กับเที่ยว” ซีอีโอ ปตท. พูดถึงตัวตนจริง ๆ ของเขา ถ้ามีเวลาเขาก็ยังเข้าไปดูหนังในโรง เมื่อก่อนเขาดูหนังทุกแนว โดยเฉพาะแนวดราม่าที่ต้องคิดเยอะ ๆ แต่ตอนนี้เขาขอเลือกหนังที่ไม่เปลืองพื้นที่สมองก่อน อย่างแนวแอ็กชัน Sci-Fi ซูเปอร์ฮีโร่ และโรแมนติกคอมเมดี้ ถ้าเป็นหนังไทยก็จะเจาะจงแค่ค่าย GDH เท่านั้น

เมื่อวานบนโต๊ะอาหารเย็น เขาเล่าเรื่อง Her (2013) หนึ่งในหนังเรื่องโปรด ในมุมความสัมพันธ์ระหว่างปัญญาประดิษฐ์กับมนุษย์ และการนำไอเดียในหนังมาต่อยอดใช้งานจริงแบบคมกริบ วันนี้ผู้บริหารวัย 58 ปี ยกตัวอย่างหนังเรื่องโปรดอีก 2 เรื่อง คือ Forrest Gump (1994) และ Contact (1997) เรื่องหลังนี่คุณอรรถพลจำรายละเอียดของหนังทั้งฉากสำคัญและคำพูดของตัวละครได้แม่นยำเหมือนเพิ่งดูเมื่อคืน เขาว่ามันเป็นหนังที่ผสานเรื่องวิทยาศาสตร์เข้ากับศิลปะ สังคม รัฐศาสตร์ ปรัชญา และความเชื่อ ได้อย่างเหนือชั้น “เพื่อนชอบแซวผมเวลาดูหนังว่าจ่ายร้อยดูเป็นหมื่น” คุณอรรถพลชอบเก็บทุกรายละเอียดมาคิด มาตีความ โดยเฉพาะประโยคเด็ดในหนังที่ส่งผลกับการทำงานของเขามาโดยตลอด ไปจนถึงการคิดวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท.

คุณอรรถพลเลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์ตามเพื่อนที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ จบวิศวฯ โยธา จากจุฬาฯ ด้วยเกรดกลาง ๆ เขาเริ่มงานด้านวิศวกรรมโยธาที่บริษัท ซิโน-ไทย จนกระทั่ง คุณเลื่อน กฤษณกรี (อดีตผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย) มีนโยบายรับวิศวกรรุ่นใหม่เข้ามาในองค์กรเยอะ ๆ โดยไม่จำเป็นต้องทำงานในตำแหน่งวิศวกร เขาจึงได้รับคำชวนจากคุณพ่อซึ่งทำงาน ปตท. มาตั้งแต่ยุคก่อตั้ง คุณอรรถพลซึ่งสนใจเรื่องราวการบุกเบิกสิ่งต่าง ๆ ของ ปตท. อยู่แล้ว จึงสมัครเข้ามาร่วมทีมใน พ.ศ. 2532 ซึ่ง ปตท. เปิดมาได้ 11 ปี ยังเป็นองค์กรขนาดกลาง มีส่วนแบ่งทางการตลาดตามหลังบริษัทน้ำมันฝรั่งหลายช่วงตัว แต่ก็มีความคึกคักจากการเปิดโรงแยกก๊าซธรรมชาติและการบุกเบิกทำปิโตรเคมี

หนุ่มวิศวกรวัย 24 ปีเริ่มงานแรกในฝ่ายการตลาด ด้วยการทำแผนที่เครือข่ายปั๊มน้ำมันทั่วประเทศทั้งปั๊ม ปตท. และปั๊มคู่แข่ง ด้วยการนั่งรถไปทั่วประเทศแล้วพล็อตจุดของปั๊มน้ำมันที่เจอลงบนแผนที่กระดาษในมือเทียบจากหลักกิโลเมตรข้างทาง (สมัยนั้นยังไม่มี GPS หรือ Google Maps) จากนั้นก็ย้ายมาทำส่วนกำหนดราคา คำนวณต้นทุนและกำหนดราคาขายของน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันหล่อลื่น รวมถึงทำโปรโมชัน ไอเดียซื้อน้ำมันเครื่องแจกทองของเขาถือว่าประสบความสำเร็จมาก

คุณอรรถพลได้ทุนจากบริติช เคานซิล ไปเรียน Diploma of Petroleum Management ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ทำให้ได้เห็นภาพใหญ่ของธุรกิจน้ำมันโลก พอกลับมาเมืองไทยไม่นาน ประเทศไทยก็มีนโยบายลอยตัวราคาน้ำมันใน พ.ศ. 2534 ทำให้เขาต้องออกสำรวจตลาดเพื่อวางกลยุทธ์กำหนดราคาอย่างจริงจัง

“ตอนนั้นผมยังขับรถไม่เป็นเลย สมัยก่อนผมนั่งรถเมล์ไปทำงาน มีน้องฝึกงานอยู่คนหนึ่ง เขาขับรถเป็น เราเลยไปลุยทั่วกรุงเทพฯ ระหว่างเซอร์เวย์ราคาน้ำมัน ผมก็ให้น้องสอนขับรถด้วย ผมขับรถเป็นเพราะน้องฝึกงานเลย”

คุณอรรถพลสนุกกับงานภาคสนามได้สักพัก คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านการตลาด (ตำแหน่ง ณ ขณะนั้น) ก็ชวนเด็กหนุ่มไฟแรงคนนี้มาร่วมงานด้วย

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ CEO ปตท. ผู้คิดงานสไตล์คำคมหนัง และเปลี่ยนปั๊มเป็นพื้นที่ของชุมชน

“คุณอย่ามองว่าเป็นงานเลขาฯ ผมจะให้คุณดูงานที่เข้ามาที่ผมด้วย ขึ้นกับคุณว่าจะเก็บเกี่ยวได้มากน้อยแค่ไหน” คุณประเสริฐบอกเลขาฯ หน้าห้องดีกรีวิศวฯ แบบนั้น

“ถ้าเอาสบาย ผมรับโทรศัพท์อย่างเดียวก็ได้ แต่ผมก็ทำเกิน ทุกเรื่องที่เข้ามาผมอ่านหมด แล้วเอาปากกาไฮไลต์ให้แกทุกเรื่องเลย จนแกบอกว่า เฮ้ย โด่ง ไม่ต้องก็ได้” คุณอรรถพลหัวเราะ แล้วเล่าต่อว่า พอมีเรื่องเข้ามาเยอะ ๆ คุณประเสริฐก็ยุ่งจนต้องฝากคุณอรรถพลไปประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ แทน เขาเลยได้เรียนรู้อะไรมากมาย โดยเฉพาะการเตรียมสไลด์ไปพรีเซนต์กับกรรมาธิการต่าง ๆ เขาจึงคุ้นเคยกับการชี้แจงให้นักการเมืองฟังตั้งแต่ยังหนุ่ม

“เวลาแก้สไลด์ แทนที่คุณประเสริฐจะบอกให้หน่วยงานที่ทำแก้ ก็ให้ผมไปบอก เราก็ไม่อยากไปสั่งเขา เกรงใจเขา ผมเลยไปช่วยเขาทำ เพราะผมรู้ว่าคุณประเสริฐอยากได้อะไร จนหลัง ๆ หน่วยงานต่าง ๆ ก็เชื่อใจ บอกว่า โด่งเอาไงว่ามา ก็ช่วยกัน”

คุณประเสริฐขึ้นชื่อเรื่องความดุ ความจริงจัง และทุ่มเททำงานหนัก คุณอรรถพลจึงได้เรียนรู้แบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะการตัดสินใจที่ละเอียดรอบคอบในเวลาที่จำกัด แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยการทำงานหนักมาก แต่ละสัปดาห์ต้องมีวันที่เขาทำงานจนหลังเที่ยงคืน โดยเฉพาะวันที่ต้องเตรียมพรีเซนต์ให้คุณประเสริฐ เขาจะอยู่แก้งานกับหน่วยงานที่ต้องจัดทำจนงานเสร็จเสมอ

“ผมเป็นคนทำงานยุคเก่า เหมือนคนญี่ปุ่นที่ยังรักและภูมิใจในองค์กร สิ่งที่ทำให้ผมทำงานหนักได้ คือทัศนคติ ตอนเด็ก ๆ ผมคำนวณราคาน้ำมัน เปลี่ยนราคาทีเราต้องส่งราคาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุคนั้นไม่มีอีเมล ผมต้องพรินต์ออกมา พับ 3 ท่อน แม็กซ์ แปะชื่อหน่วยงาน แล้วถือสมุดเซ็นรับไปยื่นให้ฝ่ายธุรการทั้งตึก ถ้าเราอยู่กับจุดด้อยของงาน ก็จะเซ็งว่าเราจบวิศวฯ ทำไมต้องมาเดินเอกสาร แต่ความคิดผมไปโฟกัสที่อื่น เรากำลังทำเรื่องราคาน้ำมันซึ่งส่งผลกับคนทั้งประเทศ แล้วเราก็เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่กำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากมาย พอภูมิใจในองค์กร ทัศนคติของเราก็อยู่ตรงนั้น”

หลังจากนั้นคุณอรรถพลก็ได้กลับไปดูงานการตลาด ได้ทำเรื่อง Repositioning เป็นที่มาของการปรับโฉมปั๊ม ปตท. ครั้งใหญ่ รวมถึงการรีแบรนด์คาเฟ่ อเมซอน ด้วย

เมื่อคุณประเสริฐรับตำแหน่งซีอีโอ ปตท. ใน พ.ศ. 2535 คุณอรรถพลก็ถูกดึงตัวขึ้นมารับตำแหน่งสำคัญ

คุณอรรถพลได้รับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลการประชุมบอร์ด ทำบันทึกการประชุม ควบตำแหน่งเลขานุการบริษัท ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จัดทำเรื่องระบบธรรมาภิบาลขององค์กร คุณอรรถพลจึงได้เรียนรู้งานที่กว้างมาก และเห็นทุกความเคลื่อนไหวของทุกหน่วยงานใน ปตท.

“ผมได้เห็นความสำคัญของกฎหมาย กฎระเบียบ ทำให้เรารอบคอบขึ้น องค์กรเราเป็นทั้งรัฐวิสาหกิจและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มันบริหารยากมาก เราทำถูกต้องตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ แต่อาจจะผิด พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ ก็ได้ ต้องดูให้ดี” คุณอรรถพลมองว่างานพวกนี้เป็นการเรียนรู้ที่ดีมากของคนที่อยากเป็นผู้บริหาร

“ผมไม่ตั้งเป้าหมายเรื่องงานไกลมาก ผมมองแค่ 2 ตำแหน่งข้างหน้าเท่านั้นเอง ไม่คิดไกลกว่านั้น” ซีอีโอ ปตท. พูดถึงการตั้งเป้าหมายในการทำงานของตัวเอง

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ CEO ปตท. ผู้คิดงานสไตล์คำคมหนัง และเปลี่ยนปั๊มเป็นพื้นที่ของชุมชน

ตำแหน่งต่อมาของคุณอรรถพล คือผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม ดูแลงานประชาสัมพันธ์และ CSR ของ ปตท. งานนี้เขาได้ฝึกทักษะการสื่อสารทั้งภาพใหญ่ภาพเล็ก เขาเรียนรู้ว่าการทำธุรกิจเป็นเรื่องของความสามารถ แต่ถ้าบริหารดีแล้ว ก็ต้องทำให้คนนอกมองเข้ามาแล้วเห็นสิ่งนั้นด้วย

“ผมมีหลักในการสื่อสาร 3 ข้อ หนึ่ง ต้องรู้พื้นฐานของผู้ฟังว่าเป็นใคร เพราะแต่ละกลุ่มต้องสื่อสารไม่เหมือนกัน สอง พยายามทำเรื่องยาก ๆ ให้ง่าย ๆ และสาม เวลาทำเรื่องใหญ่ ๆ ไม่ใช่แค่การสื่อสารธรรมดา เราต้องคิดคำที่ให้คนนำไปยึดเวลาทำงานได้” ข้อหลังนี้คุณอรรถพลยกตัวอย่างตอนเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ปตท. เป็น Powering Life with Future Energy and Beyond ต้องเลือกคำที่ไม่ยาว มีความหมาย และให้ทิศทางสำหรับคนทำงานได้

“ผมชอบคำว่า Powering Life เราไม่อยากบอกว่าดูแลคนไทย เพราะเราอยากดูแลคนทั้งโลก Life หมายถึง ชีวิต ผู้คน ชุมชน สังคม ประเทศชาติ โลก ทุกชีวิต เราให้พลังทุกชีวิตด้วย Future Energy และ Beyond ซึ่งก็มาระบุต่อว่ามีอะไรบ้าง”

คุณอรรถพลเรียนรู้เรื่องการใช้ถ้อยคำที่มีพลังเหล่านี้มาจากคำคมในหนัง ที่เขาชอบจนเอามาใช้ในชีวิตประจำวันจนถึงใช้ในเรื่องงาน

“ตอนบริษัทเราที่ฟิลิปปินส์มีปัญหา ผมกับ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ถูกส่งไปศึกษาว่าจะปิดบริษัทดีไหม เป็นเรื่องใหญ่มาก เราคุยกันว่าควรแต่งตัวยังไงดี ดร.บุรณินบอกว่าใส่สูทผูกไทดีไหม จะได้ Look Professional ผมบอกว่า ไม่ต้องหรอก Be Professional ดีกว่า”

ตอนที่คุณอรรถพลพยายามอธิบายภาพการรีแบรนด์ปั๊ม ปตท. โฉมใหม่ให้คนเข้าใจ เขาก็เลือกใช้คำว่า Pump in the Park ให้คนเห็นภาพ ซึ่งคำนี้โผล่ขึ้นมาตอนที่พี่ชายโทรมาชวนเขาไปดู Music in the Park ที่สวนลุมฯ

“ถ้าเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จะมามัวอธิบายรายละเอียดอย่างเดียวไม่ได้ คนฟังจะเบลอ เราต้องมีธีมที่ทำให้เขาเห็นภาพด้วย” คุณอรรถพลพูดถึงหลักในการสื่อสารที่เขาใช้มาโดยตลอด

คุณอรรถพลได้ขยับมาดูแลงานค้าปลีกในต่างประเทศ ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดพาณิชย์และต่างประเทศ

ปตท. มีปั๊มน้ำมันใน สปป.ลาว และกัมพูชา เขาเห็นโอกาสว่าควรเอาโมเดลปั๊มน้ำมันในไทยและธุรกิจค้าปลีกไปด้วย จึงชวนพาร์ตเนอร์อย่างแบล็คแคนยอน เย็นตาโฟเครื่องทรง และคาเฟ่ อเมซอน ไปลุยต่างประเทศกัน รวมถึงชวนให้ 7-Eleven ไปขอลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่นเพื่อเปิดสาขาใน สปป.ลาว และกัมพูชา

ในกัมพูชามีปั๊ม ปตท. ราวร้อยสาขา แต่มีคาเฟ่ อเมซอน 200 กว่าสาขา คาเฟ่ อเมซอน ที่นั่นถือเป็นร้านกาแฟทันสมัยและดูพรีเมียม ขวัญใจวัยรุ่น แล้วก็ยังเป็นร้านที่นักธุรกิจหนุ่มสาวรุ่นใหม่อยากเป็นเจ้าของ คุณอรรถพลมองว่าการทำแบรนด์ร้านกาแฟให้ดูอินเตอร์ ต้องรักษามาตรฐานทั้งเมนูและหน้าตาร้านอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ให้เหมือนกัน มีความเป็นท้องถิ่นได้บ้างเล็กน้อย

คุณอรรถพลมีโอกาสวนกลับมารับผิดชอบคาเฟ่ อเมซอน อยู่หลายรอบ แต่ละรอบล้วนมีเรื่องสนุก ๆ มากมาย 

“ช่วงแรก ๆ ที่ผมเข้าไปดูคาเฟ่ อเมซอน ก็มีบางส่วนอยากให้แบรนด์อยู่ใน Position ที่สูงขึ้น เราเลยออกอีกแบรนด์โดยใช้ชื่อ Amazon’s Embrace (ซึ่งตอนนี้ไม่มีแล้ว) ซึ่งในขณะนั้นผมมีความเห็นต่อทีมว่าเราควรทำแบรนด์ อเมซอน ให้แข็งแรงก่อน ซึ่งผมอยากให้ อเมซอน เป็น Popular Brand ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้”

คุณอรรถพลเชื่อว่าร้านกาแฟที่จะป๊อปปูลาร์ได้ จำนวนสาขาเป็นสิ่งสำคัญมาก ไปไหนก็ต้องเห็น รอบแรกที่คุณอรรถพลดูอเมซอน มีจำนวนสาขาอยู่ราวพันสาขา ขยายได้เกือบร้อยสาขาต่อปี ลูกน้องก็เลยตั้งเป้ารับนายใหม่ว่าจะขอเพิ่ม 100 สาขาต่อปี

“ผมถามว่าปิดไปกี่สาขา เขาตอบด้วยความภูมิใจว่า แทบไม่มีครับ แสดงว่าประสบความสำเร็จ แต่มองอีกมุม คุณยังลุยน้อยไปหรือเปล่า ธุรกิจค้าปลีกอนุญาตให้ปิดได้ 5 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นผมขอ 150 สาขา คุณอยากได้ทรัพยากรอะไรก็บอกมา เดี๋ยวผมหาให้” คุณอรรถพลบอกว่าตัวเลขล่าสุด คาเฟ่ อเมซอนเปิดใหม่ปีละ 400 สาขา แต่มีคนสมัครมาปีละ 4,000 คน เลยมีคนผิดหวังอยู่ 90 เปอร์เซ็นต์

“2 – 3 ปีที่แล้วเราเอาดิจิทัลมาใช้ เรามีข้อมูลเรื่องสาขาและสภาพพื้นที่หมดแล้ว เราตอบได้ทันทีว่าพื้นที่ไหนเปิดได้ไม่ได้ คนสมัครมาทางออนไลน์ ระบบอ่านแล้วก็ตอบปฏิเสธทันที เราก็ถูกด่าทันทีเหมือนกัน” คุณอรรถพลหัวเราะ “เราตอบได้เร็วเพราะบางพื้นที่เราเพิ่งอนุมัติไปแต่ยังไม่ได้สร้าง เขาก็เลยไม่เห็น ซึ่งใกล้กันแบบนี้เราเปิดสาขาใหม่ไม่ได้อยู่แล้ว” 

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ CEO ปตท. ผู้คิดงานสไตล์คำคมหนัง และเปลี่ยนปั๊มเป็นพื้นที่ของชุมชน

ทำงานด้านการตลาดอยู่นาน คุณอรรถพลก็ถูกโยกให้มาดูแลงานด้านวิศวกรรมในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืนและวิศวกรรมโครงการ หนึ่งในงานใหญ่ที่ดูแล คือการวางท่อส่งก๊าซใต้ดิน

การเจาะอุโมงค์ใต้ดินนั้นต้องหล่อลื่นหัวเจาะด้วย เบนโทไนท์ หรือ โคลนเทียม ซึ่งเป็นดินชนิดหนึ่ง ความโชคร้ายคือเมื่อขุดลอกพื้นที่ของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ดันเจอชั้นดินที่มีรอยแยก เบนโทไนท์ก็ทะลักขึ้นมาตามรอยแยก โดนสวนสมุนไพรเกิดความเสียหาย กลายเป็นข่าวใหญ่

“ลูกน้องที่เป็นวิศวกรบอกว่ามีระเบียบขั้นตอนอยู่ว่า ถ้าเบนโทไนท์ทะลักต้องทำ หนึ่ง สอง สาม อะไรบ้าง เช่น เข้าพื้นที่ไปเก็บกวาด ทำความสะอาด จ่ายค่าชดเชย แต่ผมบอกว่า เอาระเบียบไว้ก่อน เราขอโทษเขาก่อนไหม แล้วค่อยสื่อสารว่าเรามีมาตรฐานในการดูแลแบบนี้ และสิ่งสำคัญที่ต้องสื่อสาร คือเบนโทไนท์ไม่ใช่สารเคมี มันเป็นดินชนิดหนึ่ง เหมือนเกลือที่เราเรียกว่า โซเดียมคลอไรด์ ก็ได้” คุณอรรถพลเล่าวิธีจัดการภาวะวิกฤต

พอเกิดเหตุ ปตท. ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ คุณอรรถพลจึงใช้วิธีขอโทษผ่านสื่อ และขอโอกาสพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันกับผู้บริหารมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทาง ปตท. ได้เปลี่ยนแนววางท่อจากผ่านกลางพื้นที่เป็นเกาะแนวขอบ รวมถึงขอซื้อที่ดินตรงจุดที่วางท่อ แล้วก็จ่ายค่าชดเชย เหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงด้วยดี 

“เรื่องวิศวกรรมเราเชื่อมือลูกน้อง แต่เราช่วยเสริมให้เขาได้ ผมเพิ่มเรื่องระเบียบขั้นตอนเมื่อโคลนทะลัก ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เมื่อลงพื้นที่ไปแก้ปัญหาหน้างานแล้ว เราทุกคนต้องช่วยกันคิดว่าจะช่วยเหลืออะไรเขาได้บ้าง ถ้าทะลักใส่บ่อน้ำประจำหมู่บ้าน ก็ให้วิศวกรไปช่วยดูระบบน้ำในหมู่บ้าน ช่วยวางท่อทำแทงก์ ถ้าทะลักเข้าบ้านคน บ้านเขาหลอดไฟไม่ค่อยสว่างก็เปลี่ยนให้เขา อะไรพวกนี้จะทำให้คนมีความสุข นอกจากการชดเชย”

ชีวิตของ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ CEO ผู้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ปตท. ให้ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งชีวิต

คุณอรรถพลได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาเป็น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน ถ้าเทียบในยุคนี้ก็คือซีอีโอของ OR จากที่เขาเคยปรับเปลี่ยนปั๊ม ปตท. ครั้งใหญ่กับคอนเซปต์ Pump in the Park รอบนี้เขามองว่าความแตกต่างทางกายภาพเป็นสิ่งที่เลียนแบบได้ จึงเปลี่ยนแผนธุรกิจปั๊ม ปตท. จากปั๊มน้ำมันให้กลายเป็น Living Community หรือศูนย์กลางของชุมชน กลุ่มเป้าหมายก็เปลี่ยนจากเน้นคนเดินทางกลายมาเป็นคนเดินทางบวกชุมชนรอบ ๆ ทำให้เกิดการใช้พื้นที่รูปแบบใหม่เพื่อชุมชน เช่น เปิดพื้นที่ฟรีให้เกษตรกรเอาสินค้าเกษตรมาขายในช่วงที่ราคาตก ประสานกับดีลเลอร์ให้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกกับชุมชน เช่น ห้องละหมาด ตอนน้ำท่วมภาคใต้ หลายปั๊มก็เปิดเป็นศูนย์พักพิง ทำอาหารเลี้ยงผู้อพยพ สร้างความผูกพันกับชุมชน ทำให้ปั๊มน้ำมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

แล้วคุณอรรถพลก็ได้ขยับขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย รับผิดชอบการพา OR เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“ตอน ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์เราโดนกล่าวหาว่าขายสมบัติชาติ รอบนี้เราจึงต้องทำด้วยความรอบคอบ สินทรัพย์ตัวไหนที่หมิ่นเหม่ว่าจะเป็นของชาติก็ไม่เอาเข้า แล้วก็เน้นขายให้นักลงทุนรายย่อย” นั่นทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่คนแห่จองหุ้น OR ทั่วบ้านทั่วเมือง จนวันแรกที่เปิดตัวมีผู้ถือหุ้นทั้งหมดหลายแสนคน

งานยากอีกอย่างก็คือการสื่อสารกับพนักงานที่ต้องเปลี่ยนจากสถานะจากพนักงานรัฐวิสาหกิจมาเป็นพนักงานบริษัทเอกชน

“เราต้องบอกเขาว่าเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจไม่เกี่ยวกับความมั่นคง จะมั่นคงหรือไม่ขึ้นอยู่กับพวกเรา การเปลี่ยนเป็นบริษัททำให้คล่องตัวขึ้น ซึ่งจะมั่นคงขึ้น” คุณอรรถพลอธิบายต่อว่านอกจากการสร้างความเข้าใจแล้ว ก็ต้องคิดโมเดลจูงใจให้พนักงานด้วย 

ตอนนี้เขาอยู่ห่างจากตำแหน่งผู้ว่าฯ หรือซีอีโอแค่ขั้นเดียว แต่เขากลับไม่ได้คิดถึงเก้าอี้สูงสุดตัวนี้ “ผมเลิกคิดตั้งแต่ขึ้นมาถึงรองฯ แล้ว จากรองฯ ขึ้นผู้ว่าฯ มันเป็นประตูอีกบาน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจมันมีปัจจัยที่ไม่ใช่เรื่องงานเยอะไปหมด ผมไม่ค่อยชอบเรื่องพวกนั้นเท่าไหร่”

แต่สุดท้ายก็มีเหตุให้เขาคิด และกล้าลงสมัครตำแหน่งซีอีโอ ปตท.

คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช (ซีอีโอ ปตท. คนที่ 8) วางแผนหาคนมารับตำแหน่งต่อด้วยการให้บริษัทระดับโลกมาประเมินผู้บริหารระดับสูงที่มีศักยภาพทุกคนว่ามีความพร้อมแค่ไหน และมีอะไรต้องพัฒนาอีก คะแนนของคุณอรรถพลออกมาสูงมาก ทำให้เขากล้าสมัครตำแหน่งซีอีโอ ซึ่งต้องผ่านการคัดเลือกตาม พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ

ผลออกมาว่า ไม่ได้รับเลือก

คุณอรรถพลพูดถึงเหตุการณ์ตอนนั้น “เราเป็นผู้สมัครที่อายุน้อยสุด และเป็นการสมัครตำแหน่งซีอีโอในครั้งแรกของเรา นับแล้วเรายังมีเวลาและยังไม่คิดจะล้มเลิกความตั้งใจ”

การลงสมัครอีกครั้ง คุณอรรถพลจึงต้องเตรียมตัวให้รอบด้านขึ้นกว่าเดิม

เขาแสดงวิสัยทัศน์กับกรรมการสรรหาด้วยการเล่นคำตามที่ถนัดว่า PTT by PTT

“PTT แรกคือ Powering Thailand’s Transformation ผมอยากให้ ปตท. เป็นองค์กรที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้ข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ทั้งเรื่องดิจิทัล พลังงาน และอื่น ๆ by PTT P ตัวแรกคือ Partnership and Platform เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตรและพัฒนาธุรกิจของ ปตท. ให้มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มมากกว่าเป็นแค่ผู้ผลิตสินค้า เกาะเกี่ยวแล้วเติบโตไปด้วยกันทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชน และผู้ประกอบการไทย T คือ Technology for All เทคโนโลยีที่เกิดจากการผสมผสานด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญ นวัตกรรม และดิจิทัล โดยจะใช้ในทุกมิติของกระบวนการดำเนินงาน แม้แต่เรื่องกฎหมาย เราก็เอา AI มาช่วยอ่านสัญญา ลดเวลาการทำงาน T อีกตัวคือ Transparency and Sustainability ต้องทำงานด้วยความโปร่งใสและยั่งยืน”

ในที่สุดคุณอรรถพลก็ได้รับเลือกให้เป็นซีอีโอคนที่ 10 ใน พ.ศ. 2563

ชีวิตของ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ CEO ผู้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ปตท. ให้ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งชีวิต

คุณอรรถพลเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าฯ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ซึ่งพนักงาน ปตท. อยู่ในช่วง Work from Home การพูดคุยกับพนักงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกจึงต้องทำผ่านออนไลน์ ซึ่งเขาก็พยายามสร้างขวัญและกำลังใจให้พนักงาน รวมถึงเล่าแนวทางการรับมือของบริษัท

ถ้ามอง ปตท. ย้อนกลับไป เมื่อ ปตท. ระดมทุนได้จากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็นำไปทำการควบรวมและขยายกิจการทางธุรกิจเป็นจำนวนมาก เลยเติบโตแบบก้าวกระโดด จากนั้นก็ไม่ได้ลงทุนเพิ่มนัก ผลประกอบการก็สวยงามเพราะสิ่งที่ลงทุนไว้ออกดอกออกผล จนมาถึงยุคคุณอรรถพลก็เป็นช่วงเวลาที่กลับไปลงทุนเป็นจำนวนมากอีกครั้ง ซึ่งต้องอธิบายให้นักลงทุนเข้าใจว่าตอนนี้เป็นช่วงหยอดเมล็ดพันธุ์ มันไม่ได้โตเลยทันที ปตท. ไม่ใช่หุ้นหวือหวาแบบข้ามคืน แต่เป็นหุ้นที่มั่นคงอย่างยั่งยืนที่ถือแล้วอุ่นใจ

“ความสนุกของงานในตำแหน่งซีอีโอ คือเนื้อหาหลากหลายขึ้น ทำแล้วเกิดอิมแพกต์ ช่วยขับเคลื่อนประเทศได้หลายมิติขึ้น ที่เราไปลงทุนในต่างประเทศ เราไม่ได้อยากได้แค่กำไร แต่อยากชวนองค์กรชั้นนำเหล่านั้นมาร่วมกันลงทุนสร้างอะไรใหม่ ๆ ในไทย”

ส่วนสิ่งที่ยากคือ “ปัจจัยภายนอก วงการรัฐวิสาหกิจมีหลายมิติที่เราต้องจัดการ” เขาเสริมต่อว่าการเป็นซีอีโอบริษัทชั้นนำของประเทศ แถมยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่ที่สุด ส่งเงินเข้าคลังมากที่สุด ว่าเต็มไปด้วยคาดหวังจากทุกภาคส่วน

“ราคาพลังงานเป็นเรื่องที่เราต้องจัดการพอสมควร เนื่องจาก ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งมีหน้าที่หลักในการดูแลความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ สำหรับการบริหารจัดการราคาพลังงานนั้น การสะท้อนราคาที่แท้จริงเป็นสิ่งที่สำคัญ ประกอบกับหากราคาพลังงานผันผวนมากเกินไปเราก็ต้องเข้ามาดูแลเพื่อให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม แต่กระนั้น ปตท. ก็ต้องมีการคำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ด้วย เราจึงจำเป็นต้องรักษาสมดุลและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างครอบคลุมในทุกมิติ

“อีกเรื่องก็คือ ต้องทำใจ พอถึงจุดหนึ่งจะมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เยอะมาก บางเรื่องที่พยายามเต็มที่แล้ว แต่ถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องทำใจ”

น่าสงสัยว่าผู้ชายที่ทุ่มเทให้กับงานจนประสบความสำเร็จ จะประสบความสำเร็จในเรื่องการมีเวลาให้ครอบครัวไหม

“ผมโชคดีมากที่ลูกกับภรรยาเข้าใจ ผมว่าเป็นเรื่องดวงนะ มันขึ้นกับคู่ของเราว่าเขาต้องการมากหรือน้อย บางคนอาจจะทำมากกว่าผม แต่ครอบครัวก็ยังรู้สึกว่าไม่พอ ของผมเขาอาจจะต้องการ 30 เราทำ 20 ก็ใกล้เคียง เชื่อว่าหลายคนทุ่มเทกับงานจนประสบความสำเร็จไม่ได้ เพราะเขาเลือกให้ความสำคัญกับครอบครัว หรือเพราะครอบครัวเขาอาจจะต้องการเยอะก็ได้ ไม่รู้ แต่บางคนก็เลือกมีความสุขกับครอบครัวก่อน เรื่องงานเอาระดับหนึ่งก็พอ มันเลือกได้ โดยที่ทุกคนไม่ต้องเลือกเหมือนกัน”

เมื่อมีเวลาให้ครอบครัวไม่มากนัก ก็ต้องใช้เวลาที่มีอย่างคุ้มค่า

“บางครั้งผมก็แกล้งเป็นคนเรียกร้องซะเอง” คุณอรรถพลยิ้ม “ผมไม่ค่อยได้กลับบ้านไปกินข้าวเย็น ก็จะเป็นที่เข้าใจว่าผมไม่กินข้าวเย็นที่บ้าน แต่ถ้าวันไหนกลับเร็ว บางทีผมก็ไม่บอกก่อน แล้วบอกภรรยาว่ามีอะไรให้กินบ้าง เขาก็จะบ่นเพราะไม่ได้เตรียม แต่ผมเชื่อว่าเขารู้สึกดีที่พอมีเวลาเราก็อยากกลับมากินข้าวบ้าน”

ถ้ามีเวลาว่างนานขึ้นอีกนิด คุณอรรถพลก็พาครอบครัวไปเที่ยว ล่าสุดพ่อแม่ลูกลากกระเป๋าไปเที่ยวญี่ปุ่นกันเองแบบนั่งรถไฟ ต่อรถเมล์ และเดิน ไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวขาลุยทั่วไป

“กับภรรยา ผมต้องใช้คำว่าโชคดี ถึงจุดหนึ่งเราไม่ต้องหวานแหววเหมือนตอนจีบกันใหม่ ๆ แต่อยู่เป็นเพื่อนกันให้ดีที่สุดนั่นแหละยั่งยืน” พ่อบ้านพูดถึงคู่ชีวิตแล้วต่อด้วยลูกสาวที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์เหมือนพ่อ เขาไม่ได้เล่นบทบาทหัวหน้าครอบครัวแบบผู้นำองค์กร

“คนละเรื่องเลย ผมเลี้ยงลูกเป็นเพื่อน บางทีก็ชอบแกล้งทำตัวเป็นคนไม่เอาไหน ทำอะไรไม่ค่อยเป็น ต้องการความช่วยเหลือ อย่างเรื่องโปรแกรมในโทรศัพท์มือถือ ให้เขามาช่วยทำให้หน่อย เขารู้อยู่แล้วว่าสถานะของเราที่คนนอกมองคืออะไร ถ้าเราเอาบทบาทนั้นมาใส่กับเขาอีก ลุกขึ้นมานำทุกเรื่อง เขาก็จะสำคัญน้อยลง พอผมบอกว่า พ่อทำไม่เป็น เขาจะรู้สึกว่าตัวเองสำคัญ”

ชีวิตของ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ CEO ผู้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ปตท. ให้ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งชีวิต

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป