บรรยากาศของแกลเลอรี ร้านขายของน่ารัก และร้านกาแฟที่เรายืนอยู่ ณ ขณะนี้ เป็นพื้นที่ของ ‘Artstory By Autistic Thai แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ภายใต้มูลนิธิออทิสติกไทย

ด้วยการฝึกอย่างเข้าใจของเหล่าคุณครู เด็ก ๆ ออทิสติกจะได้แสดงฝีมือวาดรูป สกรีนเสื้อ แพ็กสินค้า หรือแม้แต่ทำหน้าที่เป็นกรรมการบริษัทกันเอง

ในประเทศไทยมีเด็กพิเศษไม่มากนักที่มีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง แต่ Artstory By Autistic Thai อยากเป็นต้นแบบของ Social Enterprise เกี่ยวกับออทิสติกที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้พวกเขาได้

“เราต้องการให้คนเห็นว่าเด็กกลุ่มนี้ก็มีทักษะที่ดี ไม่ได้ด้อยไปกว่าคนอื่น” ซีอีโอหนุ่มกล่าวอย่างมุ่งมั่น

ผู้คนเริ่มเห็นงานของน้อง ๆ เหล่านี้ผ่านตา จากการที่ศิลปินเกาหลี โดยอง NCT ใส่หมวกลายกล้วย เซลฟี่ตัวเองให้แฟนคลับดูเมื่อหลายปีก่อน หลังจากนั้นชาวทวิตเตอร์ก็ได้รู้จักกับ Artstory By Autistic Thai และพากันไปซื้อมาใช้แบบโดยองบ้าง

ปรากฏการณ์ครั้งนั้นไม่เพียงทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด หากทำให้คนทั่วไปรวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ มองเห็นความสามารถที่แท้จริงของเด็กออทิสติก จนเกิดการคอลแล็บกับแบรนด์มากมาย จนถ้าจะให้นับก็ไม่พอนิ้วมือ

วรัท จันทยานนท์ ซีอีโอ Artstory by Autistic Thai ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ จะมาเล่าให้ฟังตั้งแต่แบรนด์เริ่มตั้งไข่ จนถึงวันที่ช่วยให้เด็กออทิสติกหลายคนมีอาชีพที่ตัวเขาเองภูมิใจอย่างทุกวันนี้

จากห้องเรียนศิลปะของมูลนิธิออทิสติกไทย

หากจะเล่าถึงแบรนด์ เราจะข้ามเรื่องราวของซีอีโอวัย 29 ปีคนนี้ไปไม่ได้

วรัทเป็นลูกชายคนรองของ อาจารย์ชูศักดิ์ จันทยานนท์

เดิมทีอาจารย์ชูศักดิ์ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับบริษัทต่าง ๆ แต่เมื่อได้รู้ว่าลูกชายคนโตเป็นเด็กออทิสติก อาจารย์ชูศักดิ์ก็หันหลังให้กับเส้นทางอาชีพเดิมมาทำงานด้านสังคมเต็มตัว ก่อตั้งมูลนิธิออทิสติกไทย และดำรงตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิ 

“เป้าหมายของพ่อคือการผลักดันให้ประเทศไทยรู้จักคำว่าออทิสติกครับ” วรัทเล่าถึงพ่อด้วยความภูมิใจ

จากตอนแรกเริ่มทำเป็นกลุ่มครอบครัวเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ พัฒนาเป็นเครือข่าย ทั้งยังเดินทางไปให้ความรู้ในพื้นที่ห่างไกล ก่อตั้งเป็นชมรมครอบครัวเด็กพิเศษในจังหวัดต่าง ๆ ด้วย

วรัทเติบโตมากับพี่ชายออทิสติก และได้ติดตามผู้เป็นพ่อไปทำงานเป็นประจำ เขาจึงได้เห็นเด็ก ๆ หลากหลายอาการ จนกลายมาเป็นความเข้าใจในคนกลุ่มนี้ตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก 

“เรารู้ว่าต้องทำตัวยังไงกับเขา” ลูกชายประธานมูลนิธิบอกอย่างนั้น

และเมื่อเติบโตขึ้นมา วรัทก็รู้ว่าจะผลักดันศักยภาพที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเด็กพิเศษยังไงดี

มูลนิธิออทิสติกไทยมีการฝึกสำหรับอาชีพต่าง ๆ ตามความถนัดของเด็กพิเศษแต่ละคนอยู่แล้ว ทั้งฝึกให้เป็นบาริสต้าในร้านกาแฟ หรือฝึกเล่นดนตรีไทย ซึ่งการฝึกศิลปะบำบัดก็เป็นหนึ่งในนั้น

ครูพิงก์-เพียงกาญจน์ สุวรรณปัทม์ เป็นครูที่ริเริ่มการสอนศิลปะบำบัด โดยในตอนนั้นที่มูลนิธิมีน้องศิลปิน 8 คน หนึ่งในนั้นก็คือ น้องนุ้ย ผู้วาดโลโก้ Artstory ที่เราเห็นกันทุกวันนี้

ตอนแรกวรัทตั้งใจทำ Artstory เป็นโปรเจกต์ระยะสั้นก่อนเรียนจบ แต่ยิ่งทำ เขาก็ยิ่งมองเห็นความพิเศษที่ไม่อาจปล่อยผ่านไปได้

“เฮ้ย มันเจ๋งนะ” วรัทเล่า เขาเป็นคนสนใจด้านศิลปะและการออกแบบมาแต่ไหนแต่ไร “เราเริ่มเห็นแววของเด็ก ๆ ทุกคน งานเขามีคาแรกเตอร์ที่ผลักดันต่อไปได้อีก

“เรามองว่าเด็ก ๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากศิลปะบำบัด และเราก็อยากให้คนอื่นได้เห็นผลงานของพวกเขาเพิ่มขึ้นด้วย จึงเริ่มนำลายของน้องมาทำเป็นหมวก เสื้อ กระเป๋า เริ่มไปออกบูทขายของ นี่คือจุดเริ่มต้น”

ถ้าใครได้มาดูที่ช็อปก็จะเห็นเลยว่าสินค้าของ Artstory หน้าตาน่ารักเกินห้ามใจ ยากที่มาเยือนแล้วจะออกไปมือเปล่า

เด็กออทิสติกแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ตั้งแต่ Low Function ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ Moderate สื่อสารได้บ้าง แต่ต้องคอยสังเกตความสามารถเฉพาะตัว และ High Function ภายนอกเหมือนคนทั่วไป แต่มีปัญหาด้านการสื่อสารเป็นของตัวเอง

น้องอั้ม เป็นน้องคนหนึ่งที่เมื่อแรกเริ่มเข้าร่วม Artstory ยังลากเส้นได้ไม่ต่อเนื่องและพูดได้ติด ๆ ขัด ๆ แต่เมื่อฝึกกับครูพิงก์ไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มทำได้ดีขึ้น และพูดได้ไหลลื่นขึ้นตามลำดับ

พวกเขาไม่ได้ให้น้อง ๆ นั่งวาดรูปเพียงอย่างเดียว แต่ยังฝึกให้ใช้ชีวิตในสังคมด้วย จากที่แต่ก่อนอยู่บ้าน ไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ คราวนี้เวลามีงาน เด็ก ๆ ก็ต้องออกไปทำกิจกรรมต่อหน้าสาธารณชน ถือว่าเป็นการฝึกความกล้าแสดงออกไปในตัว

นั่นคือข้อดีที่สุดข้อหนึ่งของแบรนด์นี้

พิเศษไกลถึงจักรวาล

ไวรัลโดยองและทวีตที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ รวมแล้วมียอดรีทวีตหลักแสน ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้ผู้คนเข้ามาสนใจในตัวเด็ก ๆ และมีผู้ติดตามพุ่งทะยานขึ้นมาอย่างผิดหูผิดตา

เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น มูลนิธิก็สร้างห้องให้น้อง ๆ ฝึกทำในส่วนที่ทำเองได้ เช่น การสกรีนลงบนเสื้อ กระเป๋า แก้ว การแพ็กของ ส่งของ และการรับลูกค้า

เมื่อคนรู้จักเพิ่มขึ้น งานก็โกอินเตอร์จนฉุดไม่อยู่ 

เริ่มตั้งแต่นางงามที่นำผ้าพันคอของ Artstory ไปใช้ประกวด 

Miss World 2018 ดีไซเนอร์ก็ได้ใช้ผ้าที่เด็ก ๆ เพนต์ในการออกแบบชุดให้ นิโคลีน (พิชาภา ลิมศนุกาญจน์) ผู้ซึ่งมีน้องเป็นเด็กพิเศษ

ASEAN Summit 2019 เด็ก ๆ ก็ได้เพนต์กระเป๋ากาบกล้วยของชุมชนสด ๆ 99 ใบ ต่อหน้าผู้นำจากประเทศต่าง ๆ

และล่าสุดในปี 2023 ประเทศสิงคโปร์ติดต่อมาให้เด็ก ๆ ออกแบบ Key Visual ให้กับการประชุม APEC ซึ่งงานนี้ได้ น้องออกัส เป็นศิลปินหลัก

 Artstory ตั้งใจอย่างมากที่จะให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการทำงาน ปัจจุบันน้องทั้ง 8 คนซึ่งเป็นสมาชิกแรกเริ่มก็ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทและถือหุ้นในบริษัทด้วย

ผู้ปกครองของเด็ก ๆ หลายคนก็เข้ามาทำงานใน Artstory กับลูก จนที่นี่กลายเป็นคอมมูนิตี้บรรยากาศอบอุ่น

“เรามีทีมหลังบ้านที่คอยช่วยกันคิด มีทีมคุณครูที่เป็นด้านบำบัด และด้านพัฒนาทักษะให้เด็ก ๆ” วรัทเล่าถึงเบื้องหลัง พลางแนะนำให้รู้จัก ‘ทีม’ ที่กระจายกันอยู่เต็มห้อง

“บางทีการเรียนรู้ก็เกิดจากการที่เราไปร่วมงานกับศิลปิน ซึ่งน้อง ๆ ที่เราฝึกเขามีทักษะพื้นฐานที่ค่อนข้างดีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว และพอได้คนที่แนะนำดี ก็ทำให้เด็กได้พัฒนาตัวเองมากขึ้นไปด้วย”

Artstory มีเป้าหมายหนักแน่นอีกอย่างหนึ่ง คือการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้เด็กออทิสติก

คนออทิสติกมักเข้าสังคมได้ยากสักหน่อย ที่นี่จึงเป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยที่ให้ทั้งความผ่อนคลาย และรายได้ที่เหมาะสมจากการจ้างงานของสปอนเซอร์ ทุกวันนี้พวกเขาจ้างน้อง ๆ อยู่หลายสิบคน และถ้ารวมถึงงานอื่น ๆ ในมูลนิธิด้วย ก็นับรวมได้มากถึง 300 คนเลยทีเดียว

“พองานดีไซน์ของน้อง ๆ ได้ขึ้นไปอยู่ในโฆษณา ไปอยู่บนแพ็กเกจจิงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ครอบครัวเขาก็ภูมิใจมากที่ลูกเขาได้มีผลงาน ถ้าเทียบกับคนทั่วไป ถือว่าได้เป็นทั้งดาราทั้งศิลปินเลยนะครับ” ซีอีโอยิ้มกว้าง

“ส่วนตัวเด็ก ๆ บางคนก็พูดออกมา บางคนก็พูดไม่ถนัด แต่เราอยู่กับเขามานานระดับหนึ่ง จึงรู้ว่า เขารู้สึกดีใจที่ได้เห็นผลงานตัวเองออกไปสู่สังคมให้คนอื่นได้เห็น”

อย่างไรก็ตาม วรัทบอกกับเราว่า ไม่ใช่ทุกอย่างจะราบรื่นไปเสียทั้งหมด เมื่อน้อง ๆ เริ่มมีงาน มีเงินเก็บ ก็มีมิจฉาชีพเข้ามาตีสนิท หวังเงินจากน้อง ๆ ที่ไม่รู้เดียงสา นี่ก็เป็นเรื่องที่ Artstory ดูแลและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

พื้นที่เชื่อมสัมพันธ์ ฉันกับเธอ

เมื่อทำแบรนด์ได้พักใหญ่ พวกเขาก็เริ่มมีความคิดอยากสร้างพื้นที่ให้คนภายนอกได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ๆ มากขึ้น ซึ่งในเมื่อมีการฝึกอาชีพบาริสต้าในโปรแกรมอยู่แล้ว จึงเริ่มจากร้านกาแฟเป็นอย่างแรก และแยกเป็นหลายแบรนด์ด้วยกัน

แบรนด์แรกคือ ‘For ALL Coffee’ กระจายอยู่ตามกระทรวงทั้งหลาย แบรนด์ที่ 2 คือ ‘เติมเต็ม คอฟฟี่’ ที่เกษตร-นวมินทร์ และสุดท้ายคือ ‘TrueCoffee’ ซึ่งอย่างหลังนี้มีน้อง ๆ เกือบ 10 คนที่ได้รับการฝึกฝนจากมูลนิธิแล้วเข้าทำงานที่นี่

เมนูพิเศษ ‘ส่งรัก’

จากร้านกาแฟ มูลนิธิก็เริ่มคุยกับผู้สนับสนุนหลักอย่างทรู คอร์ปอเรชั่น และร่วมกันเปิดเป็น ARTSTORY Creative Hub ขึ้นมา ในพื้นที่นั้นมีทั้งโชว์รูม พื้นที่จำหน่ายสินค้า และห้องศิลปะต่าง ๆ ที่คนภายนอกเข้าไปเยี่ยมชมได้ รวมถึงทำเวิร์กช็อปร่วมกับน้อง ๆ ได้ด้วย

พวกเราชาว The Cloud เองก็ได้เข้าไปเห็นบรรยากาศการทำงานของน้อง ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการวาด ไปจนถึงการสกรีนลงเสื้อ จะเรียกว่าเป็นพนักงานที่ตั้งใจทำงานที่สุดก็ไม่เกินจริง 

“อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เกิดความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่สร้างสรรค์ในหัวอย่างเดียว แต่สร้างสรรค์สังคมที่ดี มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น” วรัทว่า

ทรู คอร์ปอเรชั่น และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ทำงานกับมูลนิธิออทิสติกไทยมา 11 ปี ภายใต้แนวคิด ‘Creating a Better Life for Vulnerable Groups’

นอกจากพื้นที่สร้างสรรค์ที่ว่ามาแล้ว ยังสนับสนุนแท็บเล็ต 2,000 เครื่อง กระจายให้เด็ก ๆ ออทิสติกตามต่างจังหวัด ทั้งยังร่วมพัฒนานวัตกรรม Autistic Application กับมูลนิธิ เพื่อช่วยเสริมพัฒนาการต่าง ๆ ของน้อง ๆ ออทิสติก เช่น การฝึกกล้ามเนื้อมือมัดเล็ก การฝึกพูด และล่าสุดได้ พัฒนา Screening Tools for Person With Special Needs (STS) ระบบสำรวจและคัดกรองเด็กพิเศษ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลออทิสติกในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงสวัสดิการและการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

อีกทั้งจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัลสำหรับบุคคลออทิสติกและครอบครัว (Autism Digital Learning Center) และส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ให้บุคคลออทิสติกในรูปแบบต่าง ๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังมีส่วนอย่างมากในการร่วมสร้างอาคารใหม่ให้มูลนิธิ ซึ่งใช้เป็นพื้นที่ในการฝึกอบรมทักษะอาชีพ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของเด็ก ๆ และเป็นพื้นที่ต้นแบบให้ต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศอย่าง UN เข้ามาศึกษาดูงาน

ความฝันของซีอีโอ

สำหรับวรัท มูลนิธิต้องดูแลเด็กพิเศษเป็นอย่างดี เนื่องจากปัญหาอาจไม่ได้อยู่กับเด็กพิเศษอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับครอบครัว

บางครอบครัว เมื่อรู้ว่าลูกเป็นออทิสติก พ่อแม่ก็แยกทางกัน เกิดเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อาจดูแลลูกซึ่งมีความพิเศษได้ไม่เต็มที่

บางครอบครัวอาจขาดความรู้ ไม่รู้ว่าลูกเป็นอะไร เป็นแล้วต้องทำยังไงต่อ จากผลสำรวจ ประเทศไทยมีเด็กพิเศษประมาณ 2.5 แสนคน แต่มาลงทะเบียนคนพิการแค่ 30,000 คน คนเหล่านั้นจึงพลาดสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับ เช่น สิทธิในการรักษาหรือสิทธิในการมีงานทำ

วรัทเคยคิดว่าอยากจะทำโรงเรียนนานาชาติของเด็กพิเศษ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป เขาก็พบว่าสิ่งที่อยากทำจริง ๆ คือการขยายโอกาสไปสู่ทั่วประเทศ อย่างการให้ความรู้และการซื้ออุปกรณ์ฝึกพัฒนาการให้เด็กต่างจังหวัด

“การที่เราทำอะไรแล้วต่อยอดไปให้คนอื่น ๆ เห็นเราเป็นต้นแบบได้ มันมีความหมายกับผมมากเลยนะ” วรัทกล่าว

ในขณะที่อาจารย์ชูศักดิ์มาทางสายสังคม ถนัดทำงานกับภาครัฐ ลูกชายอย่างวรัทกลับถนัดงานเอกชนและการสื่อสารให้คนทั่วไปรู้จักมากกว่า แต่ทั้งพ่อและลูกก็มีปณิธานเดียวกัน คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กออทิสติก

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างยุคแรกเริ่มของมูลนิธิกับปัจจุบัน คือการรับรู้ของคนในสังคม ตอนนี้คนไม่ได้มองเด็กออทิสติกเป็นเพียงคนบกพร่องทางความสามารถแล้ว

“ผมเคยไปดูงานที่เมือง Adelaide ประเทศออสเตรเลีย เขามีชุมชนสำหรับคนพิการ ด้านในมีทั้ง Social Enterprise มีร้านซักรีด ร้านกาแฟ ร้านอาหาร มีศูนย์ฝึกต่าง ๆ เหมือนเป็นเมืองเลย แล้วเขาก็มี Group Home ให้คนพิการเข้าไปอยู่และดูแลตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเสียชีวิต

“นี่เป็นความฝันของผมเลยนะ ผมอยากให้เมืองไทยมีแบบนี้มาก เพราะปัญหาตอนนี้ คือถ้าคุณพ่อคุณแม่เสียชีวิตไป เด็กพิเศษก็ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว” วรัทเล่าถึงสิ่งที่อยากทำในอนาคต

“ถ้านโยบายภาครัฐเปลี่ยนแปลงแล้วติดต่อมาทางมูลนิธิ ผมก็ยินดีที่จะเข้าไปเป็นที่ปรึกษา”

มีอะไรอยากทิ้งท้ายไหม – เราถามวรัท

“อยากขอบคุณผู้สนับสนุนทุกคนเลย ถ้าไม่มีพวกเขา โครงการดี ๆ หลายโครงการจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ขอบคุณเด็ก ๆ ด้วย ถ้าไม่มีพวกเขาอยู่ข้าง ๆ สังคมก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ขอบคุณครอบครัวของเด็ก ๆ ด้วยที่เชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ

“และสุดท้าย ขอบคุณพ่อด้วยนะครับสำหรับคำแนะนำดี ๆ เสมอมา”

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ชาคริสต์ เจือจ้อย

ช่างภาพอิสระและนักปั่นจักรยานฟิกเกียร์ ชอบสั่งกระเพราหมูสับเผ็ดน้อยหวานๆ