“แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ แต่เธอไม่รู้บ้างเลย
เอาล่ะ เตรียมใจไว้หน่อย มันจะหัวก้อยต้องเสี่ยงกัน เย เย้ เย่”

ขณะที่ชายหนุ่มหลายท่านกำลังเพลิดเพลินกับ MV ที่มีความยาวเกือบ 6 นาที ของเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย ของน้องๆ BNK48 ซึ่งเป็น MV ที่เล่าบรรยากาศความเป็นไทยในกรุงเทพฯ ผ่านพื้นที่ย่านต่างๆ โดยไม่คิดอะไร

กลับมีสถาปนิกบ้าบอท่านหนึ่ง (เราเอง) นั่งกดหยุด MV วินาทีที่ 0.53 ซึ่งเป็นซีนที่เพลงได้หย่อนโลเคชันมาที่ถนนเยาวราช เพื่อพิจารณาอย่างจริงจัง

เราพบเพียงอาม่าและหลานยืนเต้นประกอบเพลงที่ขอบถนนแบบเหงาๆ และครุ่นคิดต่อไปว่า ไหนๆ มาถ่ายถึงเยาวราช น่าจะเซ็ตเอาแม่ค้ารถเข็นมาเต้นแทนไปเลย เพราะในซีนอื่นๆ ก็เอาพี่วิน พี่ตุ๊กตุ๊กหรือว่าพี่นักมวย มาแล้ว การขาดพี่รถเข็นไป ช่างคล้ายการทำเหรียญสิบหล่นหายไปโดยไม่รู้ตัว (เปรียบคือทำหายบ้างก็ได้แหละครับ)

รถเข็นขายของที่หายไปใน MV สำหรับเรานั้นช่างน่าเสียดาย เพราะในมุมมองสถาปนิกนั้น รถเข็นถือเป็นงานสถาปัตยกรรมขนาดย่อมประเภทหนึ่งที่มีกลิ่นความเป็นไทยๆ อบอวล และตอนเรียนสถาปัตย์ก็ไม่ได้ค่อยพูดถึงกันนัก นั่นทำให้เหมาะกับการนำมาพูดถึงในคอลัมน์ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ มากๆ (โยงกลับมาได้ด้วย)

นั่นทำให้เราออกสำรวจพื้นที่เยาวราช ตามเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย ที่ได้ฟัง เพื่อตามหา ‘สถาปัตย์เสี่ยงขาย’ หรือสถาปัตย์รถเข็น ว่ามีความลับของการออกแบบอะไรที่เราไม่รู้แอบซ่อนอยู่

เอาล่ะ เตรียมใจไว้หน่อย มันจะหัวก้อยต้องเสี่ยงกัน….

รถเข็น
รถเข็น

รถเข็น x ออกร้าน

“ราคา 7,000 บาท ได้หมดครบชุด ตอนนั้นพี่ไปสั่งประกอบที่เวิ้งนครเกษม เมื่อประมาณ 16 ปีที่แล้ว ตอนนี้น่าจะไปแตะหลักหมื่นแล้วมั้ง”

พี่พิกุล แม่ค้ากาแฟโบราณรถเข็น ผู้เป็นวีรสตรีแห่งการดับกระหายของคนในย่านซอยนานา เยาวราช มาเป็นเวลา 12 ปี ให้ข้อมูลเรื่องงบเริ่มต้นการเป็นมนุษย์รถเข็น

ต้องย้อนความกลับไปนิดหน่อยว่า ครั้งหนึ่งเราเคยทำงานประจำเป็นสถาปนิกอยู่ในย่านนานา และก็สนิทกับพี่พิกุลเสมือนญาติมิตรคนหนึ่ง เพราะนอกจากอุดหนุนกาแฟแกบ่อยครั้ง หลายๆ อีเวนต์ในนานานั้น เราก็ได้แปะมือขอความช่วยเหลือจากพี่พิกุลบ่อยครั้ง การพูดคุยครั้งนี้ก็เช่นกัน

“ถ้าพูดถึงการออกแบบรถเข็น มาตรฐานของวัสดุตอนเริ่มต้นส่วนใหญ่มีอยู่ 2 ประเภท หนึ่งก็คือ เหล็ก สองก็คือ อะลูมิเนียม ที่แพงกว่าแต่เบากว่า เคลื่อนย้ายง่ายกว่า รู้หรือเปล่าว่า เมื่อเอาไอ้วัสดุนี้เทียบกันแล้ว จะเห็นถึงความต่างของการใช้งานอย่างเห็นได้ชัดเลยนะ” พี่พิกุลพูดคุยต่อด้วยสำเนียงอ่อนโยน พร้อมกับยืนชงกาแฟโบราณหวานน้อยในราคา 20 บาทให้เรา

“มันก็คงคล้ายๆ ออกแบบร้านตามห้องแถว ตอนที่พี่ไปร้านเพื่อสั่งประกอบรถ ก็ต้องคิดไปก่อนว่า สิ่งที่ต้องการมีอะไรมั่ง ตอนแรกพี่ขายก๋วยเตี๋ยว เขาก็เจาะหลุมสำหรับใส่หม้อต้มไว้ให้ และจัดแจงพื้นที่ใต้หลุมที่ใส่เตาแก๊สได้ วัดขนาดช่องให้พอดี แต่ขายไปขายมา ตอนนี้ปิดฝาหลุมแล้วขายกาแฟแทนแล้วล่ะ (หัวเราะ)

“เราไม่รู้วิธีใช้หรอก ต้องขายไปสักพักก่อน ถึงจะรู้ว่าต้องวางที่ชง วางแก้ว วางเงินตรงไหน คล้ายว่าค่อยๆ เรียนรู้ไปกับรถคันนี้น่ะ” พี่พิกุลเล่าประสบการณ์กับเราต่อ พร้อมหมุนตัวชงกาแฟไปมาให้ลูกค้าท่านอื่นๆ สลับกับการยื่นทอนเงินอย่างคล่องแคล่ว

ถ้าลองสังเกตการจัดพื้นที่อินทีเรียของร้านพี่แก ในพื้นที่ไม่ถึง 1 ตารางเมตร เราจะเห็นการจัดสรรพื้นที่การใช้งานอย่างพอดีๆ บริเวณไหนที่วางไม่พอ ก็จะใช้พื้นที่อากาศโดยการแขวนแทน และประดับไปด้วยไวนิลที่มีลวดลายสีสันบ้างพอกรุบกริบ

ความลับในงานสถาปัตยกรรมทำมือเคลื่อนที่

“พี่ก็ปรับแต่งต่อเติมไอ้รถคันนี้เยอะอยู่นะ เติมเองแล้วฟังก์ชันผิดไปบ้างเหมือนกัน เช่น โครงเหล็กที่เอาไว้วางถังน้ำแข็งที่อยู่หัวรถ (พร้อมเปิดปิดถังโชว์) ตำแหน่งมันผิดที่นะ มันต้องอยู่ท้ายรถจึงจะถูกต้อง เป็นเรื่องของการถ่ายน้ำหนักเวลายกเข็น ซึ่งสำคัญมากๆ แต่เราไม่รู้

“พอเป็นแบบนี้ทำให้น้ำหนักเทไปทางหัวรถ พี่จึงเข็นพร้อมน้ำแข็งไม่ได้ เวลาจัดของทั้งหมดเพื่อเข็นมาตั้งร้านริมถนน ก็ต้องเดินสองเที่ยวเลยนะ ถ้ามีคนช่วยออกแบบให้แต่แรก ก็น่าจะดีกว่านี้ (หัวเราะ)” คำกล่าวจากพี่พิกุลคล้ายทวงคำสัญญาในอดีตเมื่อนานมาแล้ว ที่เคยคุยว่าจะออกแบบรถเข็นให้แกใหม่ แต่ก็ลืมไปตามสายลมของเมื่อวาน (จิบกาแฟกลบเกลื่อน)

รถเข็น x ออกแบบ

เมื่อคุยกันไปสักพัก บวกกับคาเฟอีนของกาแฟโบราณที่พี่พิกุลชงให้เริ่มออกฤทธิ์ ทำให้การชงตบเรื่องออกแบบกับพี่พิกุลค่อนข้างตรงจริต ผสมกับร่มเงาของแสงแดดยามสาย ใต้ผ้าใบที่ปะปนกับไวนิลสปอนเซอร์สินค้าของรถเข็นพี่แก ช่วยให้บทสนทนาไหลลื่นเป็นเท่าตัว

พี่พิกุลจึงเริ่มเผยรายละเอียดหลายๆ อย่างของรถเข็นที่เราไม่เคยสังเกต ตั้งแต่ที่แขวนเก็บร่มสนาม หมุดที่เอาไว้ปักพื้น หรือขาตั้งข้อเหล็ก ที่ทำหน้าที่หยุดล้อไม่ให้หมุน ซึ่งใช้นวัตกรรมก้อนหินหยุดล้อแทนได้เช่นกัน อย่างร้านพี่พิกุลเองจะพิเศษหน่อย ต้องมีแผ่นไม้ปรับระดับพื้นล้อก่อน เพราะพี่แกยืนขายบนฟุตปาธ แต่กลับจอดรถบนถนน ทำให้ระดับการยืนขายไม่สมดุลนั่นเอง

ความลับในงานสถาปัตยกรรมทำมือเคลื่อนที่
ความลับในงานสถาปัตยกรรมทำมือเคลื่อนที่

สิ่งที่สำคัญที่สุดของรถเข็นก็คือ ตู้เก็บของแบบคาบิเนต ที่เป็นเหมือนกล่องดวงใจของรถเข็น เพราะนอกจากหน้าที่เก็บวัสดุสินค้าที่เอาไว้ทำเงิน ตัวกล่องนี้ก็เป็นเสมือนตัวขึ้นฟอร์มของรถเข็น คล้ายกระบวนการสร้างตัวตนทางสถาปัตยกรรม หรือที่ทางสถาปนิกมักเรียกว่า enclosure ซึ่งเรามักจะเห็นเป็นรูปร่างกล่องที่ทับโครงเหล็กนั่นเอง

ตามมาตรฐานปกติทั่วไป ไอ้กล่องดวงใจนี้มีระดับของพื้นด้านบนอยู่ที่ประมาณ 70 เซนติเมตร จากพื้นดิน ซึ่งเป็นระดับของเคาน์เตอร์บาร์ในร้านค้าทั่วไป ความกว้างของกล่องนี้ส่วนมากจะอยู่ที่ 60 – 80 เซนติเมตร ไม่เล็กมากสำหรับการใช้งาน และไม่กว้างเกินไปสำหรับการเข็นหลบรถยนต์บนถนน

รถที่มีหลังคา ความสูงชายคานั้นมักจะชิดเหนือศีรษะนิดหน่อย เพื่อให้ไม่เกะกะ บางคันก็ต่อกันสาด ซึ่งยื่นมาออกเพื่อเพิ่มร่มเงา ตำแหน่งการเพิ่มกันสาดก็มักจะสัมพันธ์กับทิศทางแสงแดด ณ ที่จอดของร้านด้วย (วิธีคิดเดียวกับการสร้างบ้านเห็นๆ)

“การตกแต่งหน้าร้านอย่างที่เราเห็นทั่วไป ส่วนมากเป็นการใช้ไวนิลโฆษณาสินค้าที่ได้มาหุ้มตัวรถเข็นอีกที พวกป้ายก็จะเป็นสีขาวๆ แล้วพิมพ์ชื่อร้าน ร้านพี่เองก็เป็นแบบนั้น เพราะพี่ไม่ซีเรียส

“แต่รู้ไหมว่ารถเข็นบางคันเนี่ย เขาไม่รับแผ่นโฆษณาพวกนี้เลย เขาซีเรียสเรื่องการตกแต่งหน้าตาของร้านเหมือนกันนะ อารมณ์แบบนี่เป็นบ้านฉัน ไม่ใช่ที่โฆษณานะ”

พี่พิกุลสะท้อนให้เราฟังว่า รถเข็นบางคันเป็นมากกว่าแค่รถเข็น และเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตเช่นกัน ตัวแกเองบอกว่า ลูกชายของแกโตมาได้ก็เพราะรถเข็นคันนี้ ถ้ามีใครมาขอซื้อ แกก็คงไม่ขาย เพราะมีคุณค่าทางจิตใจ

เมื่อสะท้อนกลับมาหาตัวเราเอง บางครั้งก็แอบคิดเล่นๆ ว่ารถเข็นพี่พิกุลเป็น Third Place ย่อมๆ ของชาวนานา เพราะเมื่อใดที่เราผ่านย่านนี้ ก็ต้องแวะมายืนหรือนั่งคุยกับแกนี่แหละ ครั้งใดที่ไม่เจอ เราก็จะแอบเศร้านิดๆ เสมอ

“ในความเห็นของพี่นะ รถเข็นที่พี่ว่าออกแบบดี ก็คือพวกรถเข็นที่พับซ่อนพวกโต๊ะ เคาน์เตอร์ หรือว่ายืดขยายสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ และยิ่งพับได้เนียนเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะทั้งหมดนี้ช่วยให้เราเคลื่อนย้ายและเก็บสะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงรบกวนคนอื่นให้น้อยที่สุด”

รถเข็น

ความคิดเห็นสุดท้ายที่หนักแน่นจากมนุษย์รถเข็น ที่เฝ้าพื้นที่ย่านนานามาเป็นเวลานานกว่าสิบปี ช่วยอธิบายความเป็นสถาปัตยกรรมรถเข็นที่ตกผลึกให้เราเข้าใจอย่างชัดเจน และแน่นอนว่า คีย์เวิร์ดสำคัญของการออกแบบรถเข็นก็คือ ‘ความคล่องตัว’ นั่นเอง

รถเข็น x ออกจากกรอบ

อย่างไรก็ตาม เรายอมรับว่าสถาปัตย์รถเข็นนั้น เกิดจากช่องโหว่ของพื้นที่เมืองหลายประเทศที่เติบโตอย่างไร้ระเบียบ ดังนั้นการมีรถเข็นจึงเป็นเหมือนกาวที่ผสานรอยต่อของช่องโหว่นั้น แต่เพียงกาวที่นำไปผสานกลับหยอดกันมั่วและไม่ตรงรอย จนอาจจะเลอะเทอะไปบ้าง หรือลืมทำความสะอาดในบางที

และต้องยอมรับไปอีกว่า สถาปัตยกรรมรถเข็นกระจายไปทั่วกรุงเทพฯ สร้างสีสันและความผูกพันกับย่านนั้นๆ มากมาย เพราะเมื่อสถาปัตยกรรมประเภทนี้รวมตัวกันที่ใด เมื่อนั้นความเคลื่อนไหวของเหล่าผู้คนก็จะเข้าไป และเมื่อพื้นที่ใดเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าไปเจอกัน พื้นที่นั้นก็จะมีชีวิตขึ้นมาทันที

รถเข็น
รถเข็น
รถเข็น

ในฐานะสถาปนิกบ้านๆ ผู้รักรถเข็นอย่างเรา ก็ยังมองหาสมดุลการออกแบบสถาปัตย์รถเข็น ที่สามารถใช้ศักยภาพการหากินได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องเสี่ยงขายแบบไม่ถูกระเบียบในที่สาธารณะ

เราเชื่อว่าคำตอบของสมดุลการออกแบบนี้ คงสามารถที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า ถ้าเรามีโอกาสของการออกแบบเรื่องพวกนี้ให้ได้ทดลองอย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญสิ่งเหล่านี้คือความเป็นไทยที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้

สุดท้ายนี้หากท่านได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว เราอยากให้ย้อนไปเปิดเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย แล้วกดวินาทีที่ 0.53 เหมือนเรา ไม่รู้ว่าผู้อ่านจะเห็นด้วยไหมว่า ถ้าทีมผู้กำกับ MV คุกกี้เสี่ยงทาย ได้เผอิญอ่านบทความนี้ก่อน ‘สถาปัตย์เสี่ยงขาย’ น่าจะไม่พลาดที่จะปรากฏอยู่ใน MV คุกกี้เสี่ยงทาย อย่างแน่นอน

สวัสดีครับ

*ขอขอบคุณ
คุณพิกุล ภูสูสี

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น