8 พฤษภาคม 2024
2 K

ใครรู้ตัวว่าเป็นคนหลงใหลในประวัติศาสตร์ ตลอดจนข้าวของโบราณทั้งหลาย ชั่วขณะหนึ่งในชีวิตคุณอาจเคยคิดว่าถ้าได้ลองค้นหาโบราณวัตถุที่ถูกลืมบ้างก็น่าจะดีไม่ใช่น้อย

แต่จะทำได้อย่างไร ถ้าหากว่าตัวคุณไม่เคยเรียนโบราณคดี ไม่ได้มีวิชาชีพด้านนี้ และไม่อยู่ในสาขาอาชีพที่เปิดช่องทางให้ชีวิตคุณได้เวียนมาบรรจบความฝันดังกล่าวเลย

เพราะคนที่คิดฝันเช่นนี้มีมากมาย ประกอบกับความต้องการเผยแพร่ความตระหนักรู้ด้านงานโบราณคดีของภาครัฐเอง ‘โครงการรับสมัครอาสาร่วมขุดค้นทางโบราณคดี ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส’ จึงริเริ่มขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกองโบราณคดี กรมศิลปากร กับ มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา

นับได้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการขุดค้นหาร่องรอยอดีตของชาติได้ ภายใต้การควบคุมดูแลของนักโบราณคดีตัวจริง แม้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าภายในระยะเวลาแค่ไม่กี่วันที่ข่าวประชาสัมพันธ์ออกไป จะมีผู้สนใจเข้าร่วมมากเกินครึ่งพันราย

โดยสถานที่ทดลองทำงานของผู้ผ่านการคัดเลือก คือวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร พระอารามหลวงเก่าแก่ที่มีความเป็นมายาวนานยิ่งกว่ากรุงเทพฯ เสียอีก

รุ่งเช้ากลางเดือนที่ขึ้นชื่อว่าร้อนที่สุดในรอบปี เท้าทั้งสองพาเราก้าวฝ่าแสงตะวันจ้ามาถึงย่านสำเพ็งอันเป็นที่ปฏิบัติงานของเหล่าอาสา ไอแดดที่แผดแรงราวจะเผาไหม้คงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ถนนการค้าของชาวไทยเชื้อสายจีนแห่งนี้ไม่คึกคักอย่างที่ควรจะเป็น ประตูเหล็ดยืดหน้าร้านค้าในอาคารพาณิชย์โดยมากยังปิดสนิท ผิดกับประตูทางเข้าวัดจักรวรรดิที่มีรถยนต์แล่นเข้าอยู่เป็นระยะ ต่างกรูกันไปจอดกลางลานจนแน่นขนัดเมื่อใกล้ได้เวลานัดหมาย

เราก้าวเท้าฝ่าความร้อนที่เรียกเหงื่อหยดตามตีนผม ผ่านสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในวัด ตั้งแต่ประตูรั้ว เขามอ บ่อเลี้ยงจระเข้อันลือชื่อ ไปถึงหน้าอาคารพระอุโบสถ (โบสถ์) หลังปัจจุบันที่มีป้ายไวนิลสีน้ำเงินเข้มแขวนไว้ เขียนข้อความ ‘โครงการ ศึกษาโบราณคดีวัดจักรวรรดิราชาวาส’ เด่นหราอยู่ด้านบน

ดร.ภัทรวรรณ พงศ์ศิลป์ เป็นชื่อ-สกุลแรกที่เราเห็นจากป้ายชื่อนั้น เพียงอึดใจต่อมา เจ้าของชื่อนั้นก็ปรากฏกายให้เห็นในชุดเสื้อยืดประจำกรมศิลปากร ทับด้วยเสื้อกั๊กสะท้อนแสง กางเกงขาสั้นดูทะมัดทะแมง รวมถึงหมวกนิรภัยทรงเดียวกับที่เรามักเห็นช่างก่อสร้างสวมกัน

นักโบราณคดีตัวจริงจากศิลปากรที่ใคร ๆ ก็เรียก พี่ขวัญ หรือ คุณขวัญ ด้วยความเคารพ แนะนำตัวว่าเป็นผู้ควบคุมดูแลโครงการนี้ และจะอาสาพาเราเดินสำรวจความคืบหน้าของการขุดค้น แต่ก่อนจะออกเดินไปด้วยกัน เราเหลือบไปเห็นแผ่นสังกะสีมากมายรายล้อมบริเวณปฏิบัติงาน เช่นเดียวกับนั่งร้านที่ตั้งอยู่ข้างตัวอาคารเป็นบางจุด คุณขวัญจึงผายมือไปที่โต๊ะอาสาสมัครซึ่งมีหมวกทรงเดียวกันกองอยู่

“เพื่อความปลอดภัยในการเข้าพื้นที่ขุดค้น รบกวนใส่หมวกนิรภัยก่อนนะคะ” ฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เรารีบปฏิบัติตามทันที เท่านี้ก็พร้อมเยี่ยมชมแหล่งขุดค้นแห่งนี้แล้ว

วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร หลายคนคงเคยได้ยินชื่อเก่าว่า ‘วัดสามปลื้ม’ บ้างก็รู้จักในฐานะวัดย่านสำเพ็งซึ่งมีบ่อจระเข้ขนาดใหญ่อยู่กลางวัด ด้วยเหตุที่สมัยรัชกาลที่ 8 มีจระเข้ตาบอด 1 ข้างนาม ‘ไอ้บอดวัดสามปลื้ม’ เคยอาละวาดไล่กัดกินผู้คนริมแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงปางตายไปหลายราย ภายหลังคนในวัดจับได้ จึงได้ล้อมรั้วให้ไอ้บอดอยู่เป็นเขตอภัยทาน

ใครที่แม่นประวัติศาสตร์มากกว่านั้น อาจทราบไปถึงว่าวัดนี้เคยเป็นวัดสมัยอยุธยาชื่อ ‘วัดนางปลื้ม’ ซึ่งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งวัดโดย เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เมื่อราว พ.ศ. 2362 ก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) จะทรงรับวัดนี้เป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามใหม่ให้เพราะพริ้งว่า ‘วัดจักรวรรดิราชาวาส’ ดังที่เรียกกันจวบจนทุกวันนี้

ส่วนสาเหตุที่กองโบราณคดีได้เลือกวัดนี้เป็นพื้นที่ทำงานสำหรับอาสาสมัคร เกิดขึ้นจากความทรุดโทรมของอาคารภายในวัดซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน การจะซ่อมแซมใด ๆ จึงต้องประสานผ่านกรมศิลปากรซึ่งเป็นผู้ดูแลเสียก่อน

“เมื่อปลาย พ.ศ. 2566 หลวงพ่อเจ้าอาวาส พระธรรมวัชรวิสุทธิ์ (พรหมา สปฺปญฺโญ) ได้มีลิขิตไปถึงกรมศิลปากร เพื่อขอซ่อมหลังคาฉุกเฉิน เนื่องจากหลังคารั่ว ท่านได้ขอให้มีการศึกษาทางโบราณคดี เพื่อนำมาใช้ในการบูรณะโบราณสถานภายในวัด เลยเป็นที่มาของโครงการนี้ค่ะ”

 ปลายปีดังกล่าว กองโบราณคดีได้ขุดค้นมุขด้านหน้าและด้านข้างวิหารกลางโดยงบประมาณของวัด และมีแผนจะขยายการทำงานด้านโบราณคดีต่อเพื่อนำผลการศึกษามาใช้บูรณะโบราณสถาน พร้อมกับปรับปรุงภูมิทัศน์ของวัดด้วย และในตอนนั้นเอง กองโบราณคดีได้ผุดความคิดใหม่ว่าการสำรวจครั้งนี้ควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

“เราอยากให้สังคมรู้จักโบราณคดีว่าคืออะไร” คุณขวัญกล่าว “เลยอยากเปิดโอกาสให้เขาเข้ามาเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อที่จะได้รู้ว่างานโบราณคดีศึกษาอะไร มีประโยชน์อย่างไร พอเขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง เขาก็จะเป็นแนวร่วมของเราในการอนุรักษ์ สืบสาน มรดกศิลปวัฒนธรรมต่อไป เพราะในสังคมกรุงเทพฯ ยุคปัจจุบัน การอนุรักษ์กับการพัฒนาดูเหมือนจะสวนทางกันอยู่ เรามีการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งทำให้เมืองหรือโบราณสถานและวัตถุที่อยู่ในเมืองถูกทำลาย หรือต้องถูกนำออกไป

“กระบวนการศึกษาทางโบราณคดีก็เข้ามามีบทบาทในสังคมทางส่วนนี้มาก เราจึงอยากให้ประชาชนทั่วไปได้มารู้ว่ากระบวนการทำงานทางโบราณคดีเป็นอย่างไรบ้าง และงานโบราณคดีจะช่วยให้คำตอบกับสังคมได้อย่างไร”

กระนั้นก็ตาม การดึงภาคประชาชนมามีส่วนร่วมกับการทำงานของกองโบราณคดียังถือเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นนัก ก่อนหน้านี้กรมศิลปากรเคยทำงานร่วมกับอาสาสมัครด้านต่าง ๆ เช่น อาสาสมัครดูแลรักษามรดกศิลปวัฒนธรรมตามท้องถิ่นก็จริง แต่การจะเชิญชวนบุคคลทั่วไปมาช่วยขุดค้นทางโบราณคดีเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

กองโบราณคดีจึงร่วมกับมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา พันธมิตรสำคัญที่เคยร่วมกันรับอาสาสมัครคุณครูมาอบรมด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย มาร่วมคิดและคัดเลือกอาสาสมัคร

ใครบ้างที่จะได้รับเลือกให้มาเป็นอาสาสมัครในโครงการขุดค้นครั้งนี้ 

คุณขวัญตอบทันทีว่า เป็นได้ทุกคน ไม่มีข้อจำกัดด้านเพศ วัย ฐานะ วิชาชีพ หรือใด ๆ ทั้งสิ้น

“เราไม่จำกัดอะไรเลย เพราะเราอยากให้ใครก็ได้ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมกับงานโบราณคดี โดยไม่ผูกขาดเพียงกรมศิลปากรเท่านั้น เพียงแต่อยากให้เขามาเรียนรู้อย่างถูกต้องจากผู้รู้จริง และทำงานร่วมกับผู้มีภารกิจหน้าที่ด้านนี้โดยตรง”

บนเส้นทางที่คุณขวัญนำทางเราไปสู่หลุมขุดค้น เราแลเห็นอาสาสมัครหลากหลายวัย สวมเสื้อกั๊กสะท้อนแสงและหมวกนิรภัยแบบเดียวกับเรา บางคนก็มีอายุ บางคนก็ยังเด็กมาก บางคนก็มาด้วยกันทั้งคุณแม่และคุณลูก เป็นภาพที่หาดูได้ยากยิ่งในบริเวณขุดค้นทางโบราณคดีเยี่ยงนี้

คุณขวัญเล่าว่าในจำนวนผู้สมัครกว่า 700 คนที่กองโบราณคดีต้องคัดเลือกมานั้น มีเพียง 50 คนโดยประมาณที่จะได้รับเลือกมาร่วมโครงการ โดยทางกองจะพิจารณาจากเวลาว่างที่เขาและเธอคนนั้นมาเรียนงานได้ เนื่องจากการจะฝึกทักษะทางโบราณคดีของแต่ละคนย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ต้องใช้เวลาและความอดทนสูง จึงต้องการคนที่มีความพร้อมและเวลาเพียงพอเป็นสำคัญ

อันดับแรกที่ทุกคนต้องเรียนรู้คือระเบียบและกฎเกณฑ์ทางการขุดค้น อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ นักโบราณคดีต้องชี้แจงและเน้นย้ำให้บรรดาอาสาปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะหากทำสิ่งใดตามใจชอบ อาจทำลายหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งเป็นสมบัติของชาติ

ผู้ควบคุมงานโบราณคดีพาเรามาชมอุปกรณ์ที่นักโบราณคดีต้องใช้ เบื้องหน้าของเธอคือเครื่องไม้เครื่องมือกองใหญ่ที่ดูไปก็คล้ายอุปกรณ์ทำการเกษตร มีทั้งจอบ เสียม เกรียงสำหรับขุดแต่งดินเพื่อแต่งหลักฐานที่พบ มีหมุดปักสำหรับขึงเชือกทำผังหลุม ตลับเมตรสำหรับวัดขนาดหลุม และความลึกที่ขุดลงไป ไม้สเกลสีขาว-แดง สำหรับเทียบขนาดความกว้าง ยาว ลึก 

ยังมีอุปกรณ์ขนาดเล็กอีกหลายชิ้น เช่น แปรงปัดเศษฝุ่นดิน ที่โกยผง ซึ่งจะได้ใช้เมื่อขุดเอาหลักฐานโบราณวัตถุขึ้นมาจากชั้นดินแล้ว และตะกร้าสำหรับใส่โบราณวัตถุที่เราขุดพบ ซึ่งจะแยกเป็นแต่ละระดับชั้น เมื่อนำไปแยกใส่ถุงสำหรับใส่โบราณวัตถุ ก็ต้องเขียนระบุให้ชัดเจนว่ามาจากชั้นดินอะไร หลุมที่เท่าไหร่ เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ค้นคว้าต่อ

บริเวณหลุมขุดค้นที่ 1 ชลประพัทธ์ ปานประเสริฐ นักโบราณคดีรุ่นใหม่ซึ่งทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้อาสาฯ กำลังง่วนกับการสูบน้ำที่ขังอยู่ในหลุม

“เครื่องสูบน้ำจำเป็นทุกที่ค่ะ เพราะถ้าเราขุดไปในระดับที่เจอน้ำใต้ดิน ยังไงก็ต้องสูบน้ำไปด้วย แต่เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ต่ำ ขุดไปนิดเดียวก็จะเจอน้ำแล้ว” 

คุณขวัญอธิบายพลันก้าวไปหาอาสาสมัครผู้กำลังทำความสะอาดหลักฐานที่พบ “ตอนยังไม่ล้าง เราแทบจะดูไม่ออกเลยว่าเป็นอะไรบ้าง แต่พอเรามาล้างทำความสะอาดแล้ว เราก็จะเจอภาชนะดินเผาที่มีการประทับลายแบบนี้ แต่ละลวดลาย แต่ละเนื้อดิน เราก็จะทราบว่าเป็นภาชนะแบบไหน มีที่มาจากแหล่งผลิตที่ไหน แหล่งเตาอะไร ประเทศหรือจังหวัดอะไร อายุประมาณเท่าไหร่ เป็นงานที่นักโบราณคดีจะต้องนำไปวิเคราะห์ต่อ”

ในมือของเธอมีเศษภาชนะดินเผาชิ้นหนึ่งซึ่งคนทั่วไปคงยากจะดูออกว่ามันคืออะไร แต่ไม่ไกลเกินสายตาผู้เชี่ยวชาญตัวจริงที่จะทราบที่มาของโบราณวัตถุชิ้นนี้

“ชิ้นนี้เป็นงานที่ขึ้นรูปด้วยมือ เราจะเห็นรอยนิ้วมือในการปั้น แล้วก็ผสมกับการใช้แป้นหมุนช้า เราก็วิเคราะห์ถึงเทคนิคการผลิตสมัยโบราณได้ อย่างที่น้องกำลังล้างอยู่นี่คือกระเบื้องมุงหลังคา เป็นกระเบื้องดินเผา จะเห็นว่ามีขอที่เกี่ยวกับระแนงอยู่น่ะค่ะ”

บริเวณที่ทำการขุดค้น มีหลุมที่ถูกเปิดแล้ว 4 หลุมที่กองโบราณคดีเลือกจุดเหล่านี้เป็นที่ขุดก็เพราะมีการตรวจสอบแผนที่เก่ามาแล้วว่า 4 จุดนี้เคยเป็นที่ตั้งเจดีย์ประจำมุมของเขตพุทธาวาส แล้วยังมีระเบียงคตลักษณะคล้ายตัว L ล้อมมา เหล่านักโบราณคดีจึงวางผังหลุมขุดค้นในพื้นที่ที่พอจะขุดได้ โดยอาศัยศาสตร์ต่าง ๆ เข้ามาประกอบกับความรู้ทางโบราณคดีด้วย

ณ หลุมที่ 4 ที่ตั้งอยู่ข้างพระอุโบสถหลังเก่า ปัจจุบันแปรสภาพเป็นพระวิหาร เมื่อมีการสร้างอุโบสถใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 มาใช้งานแทน ต๋อง-อภิชา สุขแสงเพ็ชร กำลังพักเหนื่อยจากการก้ม ๆ เงย ๆ ในหลุมขุดค้นนี้มาร่วมชั่วโมง

คอดนตรีอาจรู้จักชื่อเขาคนนี้จากบทบาทนักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์เพลง และ Music Director ให้กับรายการและคอนเสิร์ตต่าง ๆ สารพัด แต่เราเลือกจะสนทนากับเขาในบทบาทของอาสาสมัครคนหนึ่งซึ่งผ่านการทำงานมาถึงสัปดาห์ที่ 4 จวนจะจบหลักสูตรอาสาสมัครขุดค้นทางโบราณคดีเข้าไปทุกขณะ

“จริง ๆ โบราณคดีเป็นมุมที่ผมหลงใหลมาตั้งแต่เด็ก จากการชมภาพยนตร์เรื่อง อินเดียนา โจนส์ ผมเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จุดประกายความคิดนี้ให้กับหลาย ๆ คน ซึ่งผมก็คือหนึ่งในนั้น ก็ฝันว่าสักวันเราคงได้ผจญภัยแบบ ดร.โจนส์ แต่พอมาขุดจริง มันไม่เหมือนในภาพยนตร์หรอก ผมว่ามันลึกซึ้งกว่า รู้สึกตัวว่าผมมีสมาธิมากกว่าช่วงสัปดาห์แรก ผมจดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านี้มากขึ้น เพลิดเพลินไปกับมัน”

สมาธิคือสิ่งสำคัญที่สุดที่โปรดิวเซอร์เพลงคนเก่งได้รับจากการตามรอยภาพยนตร์โปรดในวัยเด็ก

“ผมรู้สึกว่าตัวเองยังเย็นไม่พอครับ ผมยังใจร้อนกว่าที่คิด เดิมผมว่าผมใจเย็นแล้วนะ แต่พอผมมาลงมือขุด ผมมาเจอคุณขวัญ เฮ้ย! เขาเย็นกว่าผมเยอะนะ ผมมักวัดจากสิ่งที่ผมขุดเจอ ผมจะตัดสินแล้วว่ามันคือไอ้นี่ มันคือไอ้นั่น แต่พอส่งให้เจ้าหน้าที่ปุ๊บ เขาจะไม่เคาะทันที แต่ใช้วิธีสันนิษฐานว่า อาจจะมั้ง ไม่แน่ใจนะ ขอเก็บดูก่อน มันแสดงถึงว่าเราต้องใจเย็นกว่านี้กับการที่จะเคาะหรือโพล่งอะไรออกไป นี่คือสิ่งสำคัญที่ผมได้จากการขุดครั้งนี้เลย”

ใช่แต่ผู้ใหญ่ที่ได้ทำตามความฝันของตัวเองเท่านั้น เยาวชนคนรุ่นใหม่อีกไม่น้อยที่อาสามาร่วมโครงการนี้ก็ได้เติมเต็มความชอบของตัวเอง เช่น นันท์นภัส ปัญญาวรญาณ นักเรียนหญิงวัย 15 ปีจากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 ที่ได้ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมใหญ่ให้เป็นประโยชน์ด้วยการมาร่วมศึกษาโบราณคดี ทำหน้าที่เป็นมือนำหลักฐานคัดแยกใส่ตะกร้าตลอดหลายสัปดาห์มานี้

“พี่ชายหนูชอบพวกโบราณคดีมาก เขาซื้อหนังสืออะไรมา หนูชอบอ่านหนังสือ ก็ต้องอ่านตามเขา เลยชอบมันไปโดยปริยาย ตอนจะเข้าร่วมโครงการนี้ น้าส่งมาให้ดูค่ะ ตอนที่ตัดสินใจสมัครก็ไม่มีเพื่อนมาด้วย มาคนเดียวเลย เหตุผลที่สมัครเข้ามา หลัก ๆ ก็คือ ‘เป็นแนวทางในการเลือกเรียนมหาวิทยาลัย’ และเพราะมันเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ หนูว่าง เลยอยากมาเจอกลุ่มสังคมใหม่ ๆ”

จากเด็กสาวที่รู้จักโบราณคดีผ่านตัวหนังสือที่อ่านตามพี่ โครงการนี้ช่วยให้เธอได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือทุกอัน ลองทำแผนที่ พล็อตกราฟ เรียนรู้การขุดและกำหนดระดับ

นอกเหนือไปจากนันท์นภัสแล้ว ยังมีนักเรียนนักศึกษาอีกหลายคนที่ได้รับโอกาสให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขุดค้นครั้งนี้ คุณขวัญกล่าวว่าเธอตั้งใจรับเด็ก ๆ รุ่นนี้มาร่วมงานหลายคน เสมือนเป็นกิจกรรมเปิดโลก ให้เห็นว่านักโบราณคดีจริง ๆ ทำงานอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกอาชีพในอนาคต และปลูกฝังความรักมรดกศิลปวัฒนธรรมลงสู่หัวใจน้อย ๆ ที่จะเติบโตเป็นอนาคตของชาติในวันข้างหน้า

จากข้อมูลที่ได้รับจาก ปั้น-สาริศ วัฒนากาล นักโบราณคดีผู้ดูแลหลุมขุดค้นที่ 3 และ 4 บริเวณข้างพระอุโบสถเก่านี้ เป้าประสงค์ในการขุดหลุมนี้คือเพื่อค้นหาส่วนรากฐานของอุโบสถหลังเก่าซึ่งยังไม่พบ เพราะพื้นวัดนี้ผ่านการทับถมมาหลายชั้น และเนื่องจากดินบริเวณนี้เป็นดินถมที่คนโบราณมักถมทิ้งของที่ไม่ใช้แล้ว การจะขุดหาเศษโบราณวัตถุที่บ่งบอกอายุเป็นสมัยอยุธยาจึงเป็นงานยากยิ่ง บางทีอาจต้องรอให้ถึงการขุดค้นระยะที่ 2 ที่จะทำกันต่อในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2567 ทั้งนี้เพื่อรอให้ผ่านฤดูฝนที่อาจเกิดน้ำท่วมขังไปก่อน

แม้ปลายทางของการขุดค้นครั้งนี้อาจไม่ได้พบ ‘ของ’ แต่สิ่งที่ได้พบแล้วแน่นอนคือ ‘คน’ อย่างคุณต๋องและน้องนันท์นภัสที่ได้เดินตามความฝันของตัวเอง และจะเป็นกำลังเล็ก ๆ ในส่วนประชาชนที่ช่วยส่งต่อความตระหนักรู้ทางโบราณคดีแก่เพื่อนร่วมสังคมสืบไป

โครงการอาสาสมัครขุดค้นทางโบราณคดี โดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร ยังมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในช่วงเวลาอื่นอีก ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : กองโบราณคดี กรมศิลปากร

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล