The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

“ฝั่งขวาเป็นในเมือง ฝั่งซ้ายก็สิงห์ปาร์ค ตรงข้ามร้านก็วัดห้วยปลากั้ง ด้านหลังก็เป็นวัดร่องขุ่น อยู่วงแหวนตะวันออกที่จังหวัดเชียงรายทำขึ้นมาครับ ฉะนั้น ถ้าจะมาจากตัวเมืองก็มุ่งหน้าไปสิงห์ปาร์ค จากวัดร่องขุ่นก็มุ่งหน้าไปสนามบิน จากสนามบินมาถึงนี่ก็ประมาณสัก 7 – 8 นาทีเอง”เสียงบอกพิกัดปลายสายของ เจ-เศรษฐ์สถาพร ศศีภาสกร นำเรามาถึง ‘ARABIA COFFEE STORE’ ร้านกาแฟเล็ก ๆ นอกตัวเมืองเชียงรายที่ตนเพิ่งสร้างขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อน บนทำเลทองที่เขาเล่าด้วยยิ้มแก้มปริว่า ‘อยู่ตรงกลางของแหล่งท่องเที่ยว’

ปลายทางเดินซึ่งโรยด้วยกรวดเม็ดละเอียด ตึกสีขาวชั้นเดียวยืนเด่นอยู่บนพื้นซีเมนต์เรียบ อวดอักษรคำว่า ARABIA COFFEE EST 1991 บนผนังส่วนที่ยื่นนูนออกมาจากส่วนอื่น ๆ ให้เห็นมาแต่ไกล เป็นการบ่งบอกว่าเจ้าของร้านอย่างเจภูมิใจแค่ไหนกับความเก่าแก่ของกาแฟ ARABIA COFFEE ที่หล่อเลี้ยงครอบครัวเขามานานหลายสิบปี ตั้งแต่วันที่พวกเขายังมีความเป็นอยู่ที่ขัดสนบนยอดเขาสูง

เจเป็นคนชาติพันธุ์อาข่า ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ดอยปางขอน อำเภอเมืองเชียงราย เขาเล่าว่าชื่อ-นามสกุลภาษาไทยอันเพราะพริ้งนี้เขาเป็นคนตั้งขึ้นเองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เพื่อให้ง่ายต่อการติดต่อสื่อสารกับคนไทยทั่วไป มากกว่าชื่อแรกเกิดของเขาอย่าง อาเจ หมี่เชกู่

“ผมเพิ่งมาหัดภาษาไทยตอนอายุ 14 ปี มาพูดคุยได้จริงก็ตอน 20 แล้ว ดังนั้น ถ้าคำไหนที่พูดไม่ค่อยรู้เรื่องก็ต้องขอโทษด้วยครับ” หนุ่มอาข่าออกตัวพร้อมเสียงหัวเราะ

ยุคนี้ไร่กาแฟอาจฟังดูเป็นของขึ้นชื่อประจำดอยปางขอนไปแล้ว แต่หากย้อนไปเมื่อสัก 40 ปีก่อนหน้า ชาวเขาชาวดอยเพิ่งได้รู้จักเมล็ดพันธุ์ชนิดนี้ เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของพวกเขา พระองค์ทรงแนะนำให้ชาวอาข่าบนดอยปางขอนปลูกกาแฟขายเป็นรายได้เลี้ยงตัวแทนการทำไร่เลื่อนลอยหรือปลูกฝิ่น ก่อนที่หน่วยงานพัฒนาสังคมและการเกษตรต่าง ๆ จะนำกล้าพันธุ์กาแฟมาแจกจ่ายแก่ชาวเขาตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน

อาซัง หมี่เชกู่ คุณพ่อของเจที่เพิ่งได้รับสัญชาติไทย เป็นหนึ่งในผู้ได้รับเมล็ดพันธุ์ จึงเริ่มต้นชีวิตเกษตรกรกาแฟ และเป็นรากฐานให้ธุรกิจของครอบครัวมาจนปัจจุบันนี้

“เราเริ่มปลูกกันตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน จนกระทั่ง 20 ปีให้หลังนี่เราเริ่มมาคัดแยกสปีชีส์ เลือกที่สมบูรณ์ที่สุดแล้วขยายพันธุ์ทำเป็นฟาร์มตัวอย่างให้ได้มาตรฐานแบบทั่วโลก” เจเท้าความ

“เมื่อก่อนตอนที่เราเริ่มปลูกกันใหม่ ๆ ยังไม่ได้มีการคัดแยกสายพันธุ์กาแฟกันชัดเจนนัก ได้ทราบว่ามีสายพันธุ์คาติมอร์ คาทูรา คาทุย เบอร์บอน 4 สายพันธุ์นี้ที่ได้รับมาปลูก เราเอาแต่สปีชีส์มารวมกันปลูกในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ เราคัดเลือกพันธุ์ที่แข็งแรง เพาะจากเมล็ดขยายไปเลย”

เจและพี่น้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางต้นกาแฟในไร่ของพ่อแม่ เมื่อทุกคนเติบใหญ่ก็กลายเป็นกำลังสำคัญในการฟูมฟักไร่กาแฟบนดอยปางขอน พร้อม ๆ กับความเจริญที่คืบคลานมายังดอยบ้านเกิด ไฟฟ้า น้ำประปา เริ่มทยอยมาถึง นำมาซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย และโอกาสทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น เจมองเห็นลู่ทางที่จะนำกาแฟมาขายในเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯ จึงขับรถส่งเมล็ดพันธุ์กาแฟระหว่างเชียงราย-กรุงเทพฯ ทำให้เขาได้รับคำแนะนำที่เปลี่ยนชีวิตไปโดยสิ้นเชิง

“10 ปีที่แล้วผมทำกาแฟคั่วขาย ลูกค้าบอกให้เราเปิดร้านกาแฟ ผมชงกาแฟไม่เป็น จะให้เปิดร้านได้ยังไง เขาบอกว่าถ้าเราไม่เปิดร้านกาแฟ เขาก็ไม่ซื้อ ผมเลยต้องไปตั้งร้านกาแฟ แล้วก็ถามความเห็นจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่เขาเรียน Marketing เขาก็ถามผมว่าเวลาทำกาแฟแล้วนึกถึงอะไร”

คำถามนั้นทำให้เจกลับไปพลิกหนังสือหาประวัติความเป็นมาของสายพันธุ์กาแฟอีกหลายตลบ และได้ค้นพบว่าชาติแรก ๆ ที่เริ่มปลูกกาแฟ นำเมล็ดกาแฟมาคั่วบดทำเครื่องดื่ม มีอยู่ 2 ชาติที่น่าสนใจ คืออาระเบีย (อาหรับ) กับอะบิสซิเนีย (เอธิโอเปีย) ซึ่งเขาคิดว่าชื่อหลังนั้นเรียกยากเกินไป จึงนำคำว่า ‘อาระเบีย’ ชนชาติและดินแดนผู้ให้กำเนิดกาแฟอาราบิก้ามาตั้งชื่อแบรนด์ของตัวเอง

“เราทำทุกอย่างด้วยความคิดว่าทำให้ง่ายเข้าไว้ก่อน”

เจเปรยพลางตั้งคำถามชวนคิดเกี่ยวกับโลโก้ร้านเขา

“โลโก้ร้านนี้ผมวาดเองง่าย ๆ วาดบนจอโทรศัพท์ เด็ก ๆ มาเห็นเขาก็ตอบได้ว่ามันคืออะไร เห็นแล้วก็รู้เลย ผมว่าคุณเห็นก็คงตอบได้เหมือนกัน มันคือรูปครกตำเมล็ดกาแฟสมัยเรายังไม่มีไฟฟ้าใช้ ตำเสร็จแล้วไปคั่วกระทะ แล้วใช้ครกตำอีกรอบหนึ่งเพื่อป่นให้ละเอียดขึ้น เรามองว่าครกกับสากมีบทบาท มีความใกล้ชิดกับเรามากเลย เลยวาดรูปออกมาให้เป็นรูปครกครับ”

ร้านแรกของเจเปิดตัวในชื่อ ARABIA COFFEE ตั้งอยู่ที่เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ เขาเล่าว่าสาเหตุที่เลือกเปิดร้านในเมืองกรุงก่อนก็เพราะอยากให้คนกรุงเทพฯ ได้ลองชิมกาแฟจากเชียงรายโดยไม่ต้องลำบากเดินทางไกล เมื่อร้านแรกประสบผลสำเร็จ เขาและพี่น้องก็จับมือกันเปิดร้านที่ 2 ที่ 3 มีทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย และล่าสุดที่กำลังจะเปิดใหม่คือสาขาสุราษฎร์ธานี กลายเป็นผู้ผลิตกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำเพียงไม่กี่รายในไทยที่มาทำร้านกาแฟและทุกอย่างด้วยตัวเอง

สำหรับร้าน ARABIA COFFEE STORE ในเชียงรายที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2563 ปีแรกที่โควิดแพร่ระบาดไปทั่วโลก ตามด้วยการล็อกดาวน์ห้ามคนออกจากพื้นที่ ต่างประเทศปิดพรมแดน นักท่องเที่ยวไม่หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวไทยอย่างแต่ก่อน ขณะที่ธุรกิจบริการหลายประเภทถูกสั่งปิดตามมาตรการควบคุมโรคระบาด ร้านกาแฟยังได้รับอนุญาตให้เปิดขายได้ แต่ต้องกำหนดเขตให้บริการเป็นกิจจะลักษณะ

“ตอนนั้นผมซื้อโกดังเก่า กะว่าจะใช้เป็นที่เก็บสต็อกเมล็ดกาแฟ เพราะบนดอยความชื้นสูง และไม่สะดวกแปรรูปตามการสั่งซื้อของลูกค้าทุกครั้ง ตอนโควิดผมก็ไม่รู้จะไปไหน ต้องกักตัวอยู่แต่ในหมู่บ้าน 2 เดือน จะไปซื้อของที่ไหนเขาก็ไม่ขาย เขาก็กลัวเรา เราก็กลัวเขา เราก็ไปได้ไม้มือสองของเก่า ใจเราก็อยู่กับที่ไม่ได้ เราก็เลยค่อย ๆ รังสรรค์ให้เป็นร้านกาแฟในรูปแบบที่คงความเก่าไว้อยู่”

นั่นคือสาเหตุที่ภายในร้านนี้เต็มไปด้วยโครงสร้างที่เป็นไม้เก่า ทั้งโครงหน้าต่าง วงกบประตู โต๊ะ เก้าอี้ที่มีรอยแตกผุไปตามกาลเวลา เหนืออื่นใดคือเสาต้นใหญ่หนึ่งเดียวตรงกลางร้านซึ่งเป็นไม้ตะเคียน

“คอนเซปต์ของผมคือใช้ต้นทุนให้ต่ำ เพราะของใหม่จะหาซื้อช่วงนั้นก็ลำบาก ของเก่ามีมูลค่าอยู่แล้ว แค่ขัดถูมัน อยากก่อสร้างให้ดูแตกต่าง ไม่ใช้ปูน ไม่ใช้เหล็ก ใช้แต่ต้นไม้ อย่างไม้ตะเคียนตรงกลางโดยธรรมชาติก็เป็นไม้ที่แข็งแรงอยู่แล้ว ไม่ต้องไปแต่งเติมอะไร มันก็สวยในแบบของมันเอง”

เจตั้งใจออกแบบร้านให้โปร่งโล่ง ไม่อึมทึมหรือมิดชิดเกินไป เข้ามาแล้วเย็นสบาย มีลมพัดผ่านเข้ามา เลยออกแบบผนัง 2 ชั้นให้โปร่ง เปิดทางให้อากาศหมุนเวียนได้ ส่วนด้านบนแอบซ่อนใบพัดที่ดูดลมออกได้ เป็นของเก่าที่ยังคงทน รื้อกลับมาใช้ใหม่ได้

“เห็นเราแล้วต้องเห็นกาแฟไทย ไม่ใช่เห็นเราแล้วนึกถึงเบเกอรีอร่อย” 

หนุ่มอาข่ากล่าวถึงอีกแนวคิดในการทำ ‘ร้านกาแฟ’ ซึ่งเขาชอบจะเรียกอย่างนี้มากกว่าคำว่า คาเฟ่ ซึ่งอาจตีความถึงสินค้าและรูปแบบการให้บริการที่หลากหลายกว่าแค่ขายกาแฟอย่างที่เขาทำ

ลูกค้ามากมายของ ARABIA COFFEE STORE เป็นชาวต่างชาติ แต่ละคนสอนให้เจรู้จักวิธีคั่ว วิธีชง จนถึงวัฒนธรรมการกินกาแฟของชาติพวกเขา ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ชายชาวดอยอย่างเขาได้เห็นโลกทั้งใบโดยมีร้านของตนเป็นโรงเรียนที่ช่วยแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งฝ่ายลูกค้าและผู้ขายไปด้วยกัน

ความคิดหนึ่งที่เขาได้จากการทำร้านนี้ คือใช้ประโยชน์จากของที่ตัวเองมีให้ดีที่สุด

“เรามีกาแฟของเราในมือ นี่คือแนวคิดที่ต่างประเทศเขาเชิดชู ผมไม่ได้มีโอกาสไปต่างประเทศ แต่คนต่างประเทศมาอยู่ใกล้ร้านเรา เพราะสาขานี้อยู่ใกล้กับโรงเรียนอินเตอร์ มีลูกค้ามาจากหลายชาติ เขามาเขาก็ทึ่งว่าประเทศไทยมีกาแฟด้วยหรือ สายพันธุ์กาแฟในไทยเป็นอย่างไร ก็ได้พรีเซนต์ว่าเราเป็นเจ้าของฟาร์มกาแฟไทย จึงจะขายแต่กาแฟที่เรามี เราปลูกเอง

“ผมไม่เคยไปบราซิล จะไปพรีเซนต์กาแฟบราซิลก็ทำไม่ถูก เอธิโอเปียไม่เคยไป จะพรีเซนต์กาแฟเขายังไง เราเอาที่เรามีของเรามานำเสนอนี่แหละดีที่สุดแล้วครับ”

ในยุคที่คาเฟ่เปิดใหม่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง แต่ละแห่งแข่งขันกันสร้างจุดเด่นให้ร้านตัวเองด้วยเมนูพิเศษหรือกาแฟชนิดที่หาไม่ได้จากร้านทั่วไป บ้างเพิ่มเมนูขนมหวานหรืออาหารทานเล่นอื่น ๆ เป็นจุดขาย บ้างขยายจุดเด่นด้วยการแต่งเติมร้านให้สวยงามเอาใจสายถ่ายรูป ร้านกาแฟของเจกลับคิดในมุมต่างจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ นอกจากบูรณะโกดังเก่ามาเป็นร้านที่ตกแต่งเรียบง่ายด้วยวัสดุรียูส กาแฟที่เขาคั่วและชงขายก็มีตัวเลือกน้อยมาก แต่กลับเป็นที่ติดอกติดใจของใครหลายคนที่ได้ดื่ม

“ผมขายแค่ 5 เมนูเอง” เจนับนิ้วและเอ่ยชื่อเมนูที่ทุกคนคุ้นหูกันดี “เอสเปรสโซ่ อเมริกาโน่ คาปูชิโน่ มอคค่า ลาเต้ มีเท่านี้ ไม่คิดว่าควรมีนอกเหนือไปจากนี้ เพราะถ้าจะแพลนธุรกิจให้เติบโตไปกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยกำลังที่มี ต้องคุมทุกอย่างให้ง่าย เลยขายแต่กาแฟทั่วไปที่คนเขากินกัน”

 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเจ้าของแบรนด์ ARABIA COFFEE จะปิดกั้นให้ลูกค้าชิมแต่เมนูพื้นฐานพวกนี้ เพราะเขาได้เปิดช่องทางให้ทุกคนได้ลองกาแฟชนิดอื่น ๆ ด้วย 2 มือของตัวเอง

“ถ้าอยากกินเมนูกาแฟที่มากกว่านี้ ก็มีกาแฟให้คุณเบลนด์ด้วยตัวเองได้ ทำจากกาแฟที่เราแปรรูปมาแล้ว คุณจะเบลนด์เป็นสูตรอะไรก็แล้วแต่ ให้คุณผสมวัตถุดิบเอง ผมอยากให้ทุกคนได้เข้าถึงกาแฟไทย ทุกอย่างมันไม่ยาก แค่เปิดเครื่องต้ม เอาเมล็ดกาแฟใส่ไปได้เลย”

ความพิเศษของร้านที่เชียงราย คือเจเปิดพื้นที่ให้ลูกค้าได้ทดลองคั่วกาแฟเอง มีพื้นที่พร้อมให้ใช้ ซึ่งสิ่งนี้ยังไม่ปรากฏใน ARABIA COFFEE สาขาอื่น

ในภาวะลังเลที่เลือกไม่ถูกว่าจะสั่งกาแฟเมนูไหนดี เจบอกกับเราเหมือนที่เขาพูดกับลูกค้าทุกคน นั่นคือแนวคิดที่เขามีต่อกาแฟทุกแก้ว ไม่ว่าจะมาจากเมล็ดพันธุ์ไหน เมนูอะไร หรือชงโดยใครก็ตามที

“กาแฟดื่มแล้วต้องได้ประโยชน์ ได้รสชาติที่ดี ผมจะไม่แบ่งแยกว่านี่ได้รับรางวัลมา อันนี้ไม่ได้แชมป์จะไม่อร่อย เรื่องพวกนี้มาทีหลัง เราต้องรู้ก่อนว่ากาแฟสำคัญยังไง ต้องการเท่าไหร่ นี่คือสิ่งที่เราให้ข้อมูลกับเขา แต่เขาจะกินต่อหรือไม่กินอะไรก็เรื่องของเขา”

จบคำเขาว่า เจ้าของร้านผู้มาจากดอยปางขอนก็แนะนำกาแฟที่เหมาะกับรสนิยมและตัวตนของเรามากที่สุด ทำให้เราตัดสินใจเลือกเครื่องดื่มประจำวันนี้ได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมากอย่างตอนแรก

จากลูกหลานชนเผ่าบนพื้นที่ทุรกันดาร ไม่ได้เข้าโรงเรียน ไม่มีความรู้อ่านเขียนภาษากลางของคนทั้งประเทศ เศรษฐ์สถาพร หรือ อาเจ ในวันนี้เป็นทั้งเจ้าของไร่กาแฟและร้านกาแฟหลายสาขา สิ่งที่นำพาตัวเขามาถึงจุดนี้ ได้แก่ ความแน่วแน่ ความสม่ำเสมอ ความคิดสร้างสรรค์ถึงสิ่งใหม่ ๆ ในแบบของตัวเขา อาจรวมถึงความกล้าที่จะแตกต่างจากคนอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนอยู่ในเครื่องคั่วบด เมนูที่ขาย รอยแตกของไม้ และทุกอย่างที่ประกอบกันเป็น ARABIA COFFEE STORE แห่งเมืองเชียงราย

ชวนมาดื่มกาแฟเคล้ากลิ่นอายโกดังเก่าที่นี่ รับประกันว่าทุกหยาดหยดที่คุณได้ดื่มไปจะทำให้คุณเข้าถึงต้นน้ำของเมล็ดที่ส่งตรงจากยอดดอยเลยทีเดียว

ARABIA COFFEE STORE

‘Amazing Northern Lifestyle’ เป็นโปรเจกต์สนุก ๆ ที่ Thailand Coffee Fest ร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้ทุกคนออกเดินทางในภาคเหนือ โดยใช้กาแฟและเพื่อน ๆ กาแฟ ทั้งเบเกอรี ชา ช็อกโกแลต เป็นสื่อกลางในการเล่าเรื่อง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและสนับสนุนผู้ประกอบการ

พวกเราอยากชวนไป Coff & Hopp ผจญภัยสำรวจคาเฟ่และร้านกาแฟพิเศษ 69 ร้าน ในภาคเหนือ เพื่อรับสติกเกอร์ที่ออกแบบโดยศิลปินชาวเหนืออย่าง mig.mig, Nutkai และ Nuea Jackkrit

*รับสติกเกอร์สุดน่ารักจาก 3 ศิลปินรุ่นใหม่ ได้ตั้งแต่วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

จารุเกียรติ หน่อสุวรรณ

งานประจำก็ทำ ช่างภาพก็อยากเป็น