เอิงเอย… อภิชาติ ปากหวาน ประสานเสียง เป็นสำเนียงอีสานดั๊บรูปแบบใหม่

อิเล็กทรอนิกส์สอดผสมอีสานไทย ขอฝากไว้ให้เอ็นดู ช่วยชูชม

นี่คือถ้อยคำใน An Introduction to Apichat Pakwan บทเพลงแรกในอัลบั้ม Esantronics (ปี 2019) ของอภิชาติ ปากหวาน (Apichat Pakwan)ที่บอกกล่าวถึงตัวตนและบทเพลงของพวกเขา

อภิชาติ ปากหวาน ไม่ใช่ชื่อของบุคคลหรือพ่อครู-แม่ครูทางดนตรีอีสาน แต่เป็นชื่อของกลุ่มเพื่อนที่รักในดนตรีพื้นบ้านอีสาน พยายามหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับดนตรีอีสานที่พวกเขารัก

และที่สำคัญ พวกเขากำลังพาบทเพลงอีสานสมัยใหม่ไปไกลทั่วโลก

Apichat Pakwan วงดนตรีอีสาน-ดัชต์ ทำเพลงอีสานทรอนิกส์ม่วนคัก ๆ จนฝรั่งลุกมาเซิ้งทั่วยุโรป

ย้อนไป พ.ศ. 2559 วงดนตรีอภิชาติ ปากหวาน ก่อตั้งโดย โอลิเวียร์ ชโรเดอร์ (Olivier Schreuder) ดีเจ คอมโพสเซอร์ (Composer) หนุ่มชาวดัตช์ที่มาตกหลุมรักดนตรีพื้นบ้านอีสาน และตัดสินใจเดินทางมาเรียนรู้เสียงเพลงแห่งภาคอีสานที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และพบรักกับ อัง-อังคณาง พิมพ์วันคำ นักศึกษาเอกดนตรีพื้นบ้านในคณะเดียวกัน ทั้งคู่ร่วมก่อตั้งวงดนตรีขึ้นมาด้วยกัน ก่อนชักชวนเพื่อน ๆ นักดนตรีพื้นบ้านอีสานในคณะมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานเพลง

Apichat Pakwan วงดนตรีอีสาน-ดัชต์ ทำเพลงอีสานทรอนิกส์ม่วนคัก ๆ จนฝรั่งลุกมาเซิ้งทั่วยุโรป
Apichat Pakwan วงดนตรีอีสาน-ดัชต์ ทำเพลงอีสานทรอนิกส์ม่วนคัก ๆ จนฝรั่งลุกมาเซิ้งทั่วยุโรป

บทเพลงของ อภิชาติ ปากหวาน แม้นำดนตรีสมัยใหม่เข้ามาผสม แต่ก็มีพิณ แคน ปี่ ซอ โหวด ฯลฯ คอยบรรเลงลายดนตรีอีสานต่าง ๆ เป็นรากแก้ว และแตกมาเป็นรากแขนงด้วยการนำแนวดนตรีสมัยใหม่ อย่างดั๊บ (Dub), ฮิปฮอป (Hip Hop) และอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Music) เข้ามาผสมผสาน ทำให้เกิดดนตรีอีสานรสชาติใหม่ เหมือนเอาชีสมาผสมปลาร้าแล้วปรุงออกมาเป็นพิซซาหน้าอีสาน ตามคำอธิบายของ ฟิล์ม-ชนาวัฒน์ จอนจอหอ มือพิณ ซอ แคน โหวด หนึ่งในสมาชิกของวง

Apichat Pakwan วงดนตรีอีสาน-ดัชต์ ทำเพลงอีสานทรอนิกส์ม่วนคัก ๆ จนฝรั่งลุกมาเซิ้งทั่วยุโรป

“ตอนที่ผมเข้ามาทำเพลงกับอภิชาติ ปากหวาน ช่วงแรกผมก็งง ด้วยความที่โอลิเวียร์พูดไทยไม่ได้ ผมก็พูดอังกฤษไม่ได้ ต้องให้อังคอยเป็นล่าม มีอยู่วันหนึ่ง โอลิเวียร์บอกว่าเขาฟังเพลงเพื่อชีวิตบ้านเราแล้วรู้สึกว่าน่าเบื่อ ซึ่งผมเข้าใจว่าคนบ้านเราฟังเพลงโดยเน้นเนื้อหา แต่โอลิเวียร์ฟังเพลงที่เมโลดี้ ที่จังหวะ เพราะนั่นคือส่วนที่ทำให้ดนตรีเป็นภาษาสากล ไม่ว่าใครในโลกก็รับรู้และเต้นตามไปด้วยได้

“พอเข้าใจแบบนี้ ผมก็ให้โอลิเวียร์เล่นมาเลย แล้วผมจับจังหวะ หยิบพิณขึ้นมาเล่นแบบอีสานบ้านเฮา โอลิเวียร์ก็เล่นแบบฝรั่งของเขา เป็นดนตรีอีสานที่หลายคนยังเข้าไม่ถึง ยังงงว่ามันคือดนตรีอะไร เพราะมันใหม่มาก ๆ เหมือนเราทำอาหารจานใหม่ อย่างการเอาชีสมาผสมปลาร้า เป็นหน้าพิซซารสใหม่ที่คนอาจนิยมในอนาคตก็เป็นได้ มาดูสิว่าพิซซากับปลาร้ามาเจอกันแล้วจะออกมาเป็นยังไง” ฟิล์มหยุดหัวเราะเล็กน้อย “ไม่รู้ว่าคนฟังจะอร่อยหรือเปล่า แต่เราพยายามปรุงรสให้ออกมากินได้แน่นอนครับ”

Apichat Pakwan วงดนตรีอีสาน-ดัชต์ ทำเพลงอีสานทรอนิกส์ม่วนคัก ๆ จนฝรั่งลุกมาเซิ้งทั่วยุโรป

“สำหรับผม ดนตรีมีอยู่ 2 ประเภท คือดนตรีที่ดีกับดนตรีที่ไม่ดี ไม่ดีในที่นี้ไม่ได้หมายถึงดนตรีนั้นไม่ดี แต่แค่ไม่ใช่กับผม ผมมีความชอบหลากหลาย ผมสนใจฟังดนตรีจากทั่วโลก ผมฟังเพื่อหาเสียงที่น่าสนใจ และฟังเพื่อค้นหาจิตวิญญาณในดนตรีนั้น ๆ เพลงที่มีความพิเศษจะทำให้บางอย่างภายในร่างกายของผมสั่นไหว ซึ่งสิ่งนี้อยู่ในท่วงทำนองของหมอลำและดนตรีพื้นบ้านอีสาน 

“ผมสนใจและสนุกที่ได้ค้นคว้าลึกลงไปในดนตรีประเภทนี้ อะไรที่ทำให้หมอลำช่างพิเศษจากดนตรีอื่น ๆ อะไรที่ทำให้ดนตรีประเภทนี้มีจิตวิญญาณ มีเอกลักษณ์ของตัวเอง และหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับมัน” โอลิเวียร์อธิบายเหตุผลของจุดเริ่มต้นในการทำอภิชาติ ปากหวาน 

“ก่อนที่โอลิเวียร์จะเริ่มต้นทดลองสิ่งใหม่ ๆ เขาจำเป็นต้องค้นคว้าเกี่ยวกับดนตรีนั้นให้มาก ให้ลึกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เลยทำให้เรามีแผ่นเสียงหมอลำหรือดนตรีอีสานจำนวนมาก ขนาดเราเป็นลูกอีสานแท้ ๆ ยังไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีเพลงหมอลำที่ไพเราะขนาดนี้หลบซ่อนหรือตกไปในจากความทรงจำของผู้คนอยู่ด้วย อาจจะด้วยไม่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น โดยเฉพาะช่วงยุคปลาย 70 พอเราเจอ ก็ยังตกใจว่า ในอดีต วัฒนธรรมหมอลำของเราร่ำรวยมากเลยนะ แต่การบันทึกเสียงในเวลานั้นยังไม่ค่อยดี เสียงบางย่านอาจจะเบาเกินไป สิ่งที่โอลิเวียร์ทำคือลองนำแผ่นเสียงเหล่านี้มาปรับเสียงใหม่ให้เต็มยิ่งขึ้น และนั่นทำให้เสน่ห์ที่แท้จริงของเพลงเหล่านี้ออกมา หนูถึงกับน้ำตาไหลตอนได้ฟัง” อังเล่าเสริม

Apichat Pakwan วงดนตรีอีสาน-ดัชต์ ทำเพลงอีสานทรอนิกส์ม่วนคัก ๆ จนฝรั่งลุกมาเซิ้งทั่วยุโรป

เมื่อมีคลังข้อมูลที่เพียงพอ พวกเขาก็เริ่มต้นสร้างสรรค์บทเพลงอีสานสมัยใหม่ขึ้นมา 

“แม้ว่าผมจะทดลองและดูว่าทำอะไรได้บ้างกับดนตรีอีสาน แต่ผมก็ต้องมีเป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายนั้นขับเคลื่อนให้ผมทำดนตรีแต่ละชิ้นออกมา โดยเริ่มจากการคิดขึ้นมาก่อนว่าอยากสื่อสารอะไรผ่านดนตรี ผมอยากนำเสนอองค์ประกอบสวยงามที่สุดของดนตรีอีสานที่ผมค้นพบ ที่จับใจ ผมอยากทำดนตรีอีสานของตัวเองที่ให้ความรู้สึกแบบนั้น และนำเสนอแบ่งปันให้กับผู้คนอื่น ๆ รู้สึกเหมือนกับผม เป้าหมายอย่างที่สอง ผมอยากผสมผสานดนตรีที่ผมเล่นลงไปด้วย เช่น ไลน์เบสที่ดี เสียงอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าสนใจ เสียงพิณ เสียงแคนที่มีเสน่ห์ หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เพลงอีสานน่าสนใจขึ้น นั่นคือเป้าหมายของอภิชาติ ปากหวาน” โอลิเวียร์อธิบายเบื้องหลังสิ่งที่ขับเคลื่อนพวกเขา

หากนักดนตรีได้ฟังบทเพลงของอภิชาติ ปากหวาน สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ คือแต่ละเพลงของพวกเขามีการเรียบเรียงที่ซับซ้อน มีการเปลี่ยนคีย์ เปลี่ยนจังหวะ เพิ่มเสียงใหม่ ๆ เข้ามาในเพลง เพื่อความหลากหลายและทำให้เพลงของพวกเขาน่าสนใจ ไม่จำเจ ซึ่งต้องอาศัยทักษะที่สูงของนักดนตรี “ตอนได้ฟังครั้งแรก เราถึงกับอึ้งไปเลยนะ มันไม่เหมือนที่เราเคยชินเลย” บี-อนุสรา ดีชัยชนะ นักร้อง ผู้ประพันธ์เนื้อเพลงของอภิชาติ ปากหวาน เอ่ยขึ้น “ตอนแรก ๆ ที่ฟัง แล้วเราต้องร้องเพลงไปกับดนตรีที่โอลิเวียร์ทำ เราขึ้นไม่ถูก เราไม่ชินกับจังหวะ มันใหม่มาก ๆ แต่ฟังไปเรื่อย ๆ เหมือนว่ามีอะไรให้เอ๊ะอยู่ตลอดเวลา ยิ่งฟังยิ่งน่าสนใจขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราก็ค่อย ๆ ปรับตัวไปกับเพลงได้”

Apichat Pakwan วงดนตรีอีสาน-ดัชต์ ทำเพลงอีสานทรอนิกส์ม่วนคัก ๆ จนฝรั่งลุกมาเซิ้งทั่วยุโรป

“นักดนตรีอีสานที่จะเล่นให้เข้ากับดนตรีของโอลิเวียร์ได้ จำเป็นต้องเล่นเครื่องดนตรีอีสานได้เกือบทุกชิ้น และต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์พอสมควร ที่สำคัญต้องเป็นนักดนตรีพื้นบ้านที่มีหัวใจเปิดกว้าง หัวสมัยใหม่ ถึงจะเข้าใจและเล่นกับดนตรีของเขาได้ เวลาแสดงสดจะเห็นว่านักดนตรีของอภิชาติ ปากหวาน มีการสลับเครื่องดนตรีไปมา เพื่อให้ได้เสียงที่เข้ากับดนตรีช่วงต่าง ๆ ในแต่ละเพลง 

“บางทีก็ต้องพกแคนไปหลายเต้าเลยครับ” ฟิล์มช่วยเล่าทักษะสำคัญของนักดนตรี

นอกจากสร้างสรรค์เพลงให้ออกมาซับซ้อนน่าสนใจ ทุก ๆ การแสดงสดของอภิชาติ ปากหวาน พวกเขายังตั้งใจปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นเพลงต่าง ๆ ใหม่บนเวทีเสมอ ทำให้ผู้ชมเห็นการด้นสดของนักดนตรีบนเวที ไม่ว่าจะฟังเพลงของพวกเขามากี่ครั้ง หากมีโอกาสชมพวกเขาแสดงสด คุณจะรู้สึกเหมือนกำลังชมการแสดงของวงดนตรีแจ๊สเก่ง ๆ แต่อยู่ในรูปแบบของดนตรีอีสานร่วมสมัย

Apichat Pakwan วงดนตรีอีสาน-ดัชต์ ทำเพลงอีสานทรอนิกส์ม่วนคัก ๆ จนฝรั่งลุกมาเซิ้งทั่วยุโรป
Apichat Pakwan วงดนตรีอีสาน-ดัชต์ ทำเพลงอีสานทรอนิกส์ม่วนคัก ๆ จนฝรั่งลุกมาเซิ้งทั่วยุโรป

“ถ้าคนฟังดนตรีของเราเป็นนักดนตรี จะรู้เลยว่าผมชอบทรมานนักดนตรีในวงขนาดไหน” โอลิเวียร์หัวเราะสนุกก่อนอธิบายต่อ “ก่อนที่ผมจะปรับเปลี่ยนอะไรบนเวที ผมจำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจพื้นฐานของเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานก่อน นี่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อผมลองปรับเปลี่ยนบางอย่างที่อาจไม่เหมือนตามแบบแผนของดนตรีอีสาน ผมต้องรู้ว่านักดนตรีพื้นบ้านในวงของผมจะเล่นมันได้ 

“ผมต้องการแสดงให้เห็นว่าดนตรีอีสานมีความหลากหลายขนาดไหน นักดนตรีพื้นบ้านอีสานมีศักยภาพขนาดไหน เพราะต้องใช้ทักษะและไหวพริบอย่างมากในการแสดงแต่ละเพลงของอภิชาติ ปากหวาน เพราะผมต้องการทำให้ทุกคนเห็นว่าดนตรีอีสานมีความเป็นไปได้มากขนาดไหน

“เวลาเราแสดงสดบนเวที เครื่องดนตรีทุกชิ้นและไมค์จะต่อเข้าไปรวมกันที่เครื่องของโอลิเวียร์ เพื่อที่เขาจะปรับหรือใส่เอฟเฟกต์เสียงบางอย่างได้ บางทีโอลิเวียร์ก็นึกสนุก แกล้งเราตอนที่กำลังเล่นพิณแล้วเขาใส่เสียงอวกาศหมุนฟิ้ววววเข้ามาก็มี” ฟิล์มหัวเราะ “มันทำให้โชว์และดนตรีของเราดูน่าสนุก มีการลองใส่เสียงแบบอวกาศลงไปในเสียงแคนหรือพิณ ทำให้ผู้คนแปลกใจ นักดนตรีเองก็ตกใจครับ” ฟิล์มหัวเราะสนุกอีกครั้ง “นักดนตรีจึงต้องมีทักษะและนิ่งพอสมควรถึงจะเล่นในวงอภิชาติ ปากหวานได้”

นอกจากความทุ่มเทในการทำเพลง การแสดงสดพวกเขาก็ทุ่มเทไม่แพ้กัน ทุกครั้งที่มีงานแสดงพวกเขามักบันทึกวิดีโอเก็บไว้แล้วนำมาเปิดดูด้วยกัน เพื่อหาวิธีพัฒนาการแสดงให้ดียิ่งขึ้น

เบื้องหลังและแรงขับเคลื่อนของ Apichat Pakwan วงดนตรีลูกครึ่งอีสาน-ดัตช์ ที่พาเสียงดนตรีอีสานดังกึกก้องทั่วยุโรป
เบื้องหลังและแรงขับเคลื่อนของ Apichat Pakwan วงดนตรีลูกครึ่งอีสาน-ดัตช์ ที่พาเสียงดนตรีอีสานดังกึกก้องทั่วยุโรป

หลายคนเรียกสิ่งที่อภิชาติ ปากหวาน ทำว่า ‘ดนตรีทดลอง (Experimental Music)’ เป็นการทดลองหยิบวัฒนธรรมดนตรีของอีสานมาผสมกับดนตรีตะวันตก ผลลัพธ์ที่ได้ แน่นอนว่าคือความใหม่ แต่ในอีกแง่ก็เป็นการเปิดทางและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ดนตรีอีสานร่วมสมัยมากขึ้น แต่หลายครั้ง ความใหม่ก็ต้องใช้เวลา เพื่อให้ผู้ฟังได้ปรับตัวและเข้าใจสิ่งใหม่ที่พวกเขาพยายามนำเสนอ

ในช่วงแรก ๆ ที่ผลิตผลงานออกมา หลายคนไม่เข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังพยายามทำกับดนตรีอีสาน บางคนถึงกับส่ายหัวไม่เห็นด้วย มองผลงานพวกเขาในแง่ลบ 

“ช่วงแรกที่เราปล่อยผลงานออกมา ผลตอบรับจากในประเทศค่อนข้างเงียบ” อังเล่าย้อนความรู้สึกตอนนั้นให้ฟัง “ตอนนั้นเราเลยตัดสินใจลองไปนำเสนอที่ต่างประเทศ ไปทัวร์ที่ยุโรป แต่ก็ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ หลายครั้งพวกเราก็ท้อนะคะว่ายังไม่มีคนเข้าใจในสิ่งที่พวกเราตั้งใจทำ ในสิ่งที่พวกเราหวัง แต่ท้ายที่สุดเหมือนก็หาคนฟังเจอ คนฟังก็หาเพลงแบบนี้ที่เราทำเจอ มันรอแค่วันที่จะมาเจอกัน 

“ตอนแรกเราก็น้อยใจที่ไม่มีคนฟังเลย ทั้งที่ดนตรีมันใหม่ มันเพราะ มีทุกองค์ประกอบของดนตรีอีสาน ทำไมคนถึงยังไม่เปิดใจฟังสักที เราก็งงว่าไม่ดีตรงไหน เราต้องปรับเปลี่ยนไหม แต่โอลิเวียร์บอกว่า ไม่ หากเรายังรู้สึกดีกับสิ่งที่ทำ สักวันหนึ่งจะมีคนเข้าใจ อย่าโกหกตัวเอง ดนตรีที่เราเล่นต้องเยียวยาเราได้ ทำให้เราไม่เบื่อ ถ้าเราเบื่อ เราต้องหยุดเลย เพราะเท่ากับว่าเราไม่เคารพตัวเอง แต่สิ่งที่พวกเราทำ ยิ่งทำ เรายิ่งฮึกเหิม ดูการแสดงของตัวเองแล้วรู้สึกว่าตรงนี้เราเล่นดีกันมากเลย เราสนุกที่ได้เล่นดนตรีด้วยกัน มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน และสักวันดนตรีของเราก็จะพาคนที่ชอบเหมือนกับเรามาเจอกัน ในช่วงเวลาที่เราท้อ หลายครั้งเราก็ได้เจอกับคนที่เข้าใจ เขาจะมาให้กำลังใจเรา ให้ทำต่อไปนะ ห้ามหยุด” อังเล่า

เบื้องหลังและแรงขับเคลื่อนของ Apichat Pakwan วงดนตรีลูกครึ่งอีสาน-ดัตช์ ที่พาเสียงดนตรีอีสานดังกึกก้องทั่วยุโรป

“เราเหมือนพาผู้คนผจญภัยไปในโลกดนตรีด้วยบทเพลงของเรา และรางวัลของคนที่ชอบผจญภัยก็คือการได้เจอสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน และกลายเป็นสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ นี่คือผลจากหัวใจที่เปิดกว้าง แต่สำหรับคนสร้างสรรค์ ต้องรู้ตัวเองให้ดีก่อนว่ากำลังทำอะไร ทำเพื่ออะไร และน่าสนใจยังไง 

“ผมไม่ได้หวังว่าจะประสบผลสำเร็จ หาเงินได้จำนวนมาก แต่เราต้องตอบตัวเองได้ว่าเรากำลังสนุกกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ เรามีความสุข เราได้แรงบันดาลใจจากเพลงที่ทำ ได้มีโอกาสทำงานกับนักดนตรีอีสานเก่ง ๆ จำนวนมาก นี่คือสิ่งที่พิเศษ เพลงของพวกเราเป็นสุ้มเสียงไม่เหมือนกับเพลงอื่น ๆ ที่เคยถูกเปิดหรือเคยฟัง ผมรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่ผมอยากทำ เราทุ่มเต็มที่กับทุก ๆ เพลงในแต่ละอัลบัม รวมถึงการแสดงทุกครั้ง ท้ายที่สุดสิ่งที่เราทำก็จะค่อย ๆ ดึงดูดคนที่คิดเหมือนกันหาเราเอง และคอยอยู่สนับสนุนเราให้ทำผลงานต่อไป” โอลิเวียร์ช่วยเสริมความคิดเห็นที่หนักแน่นของเขา เช่นเดียวกับสมาชิกคนอื่น ๆ

“ตอนนั้นเราไปแสดงที่เชียงใหม่ มีฝรั่งคนหนึ่งมาคุยกับเราว่า นี่คือดนตรีของฉันเลย เขาย้ายมาอยู่ที่ไทย ชอบดนตรีไทย ชอบดนตรีอีสาน แต่ก็มีบางช่วงที่เขาคิดถึงดนตรีบ้านเกิด และวงเราก็รวมทั้งสองอย่างไว้ด้วยกัน เขาเลยบอกว่า นี่แหละคือดนตรีของฉัน ตอนนั้นเราดีใจกันมากค่ะ” บีเสริม

เบื้องหลังและแรงขับเคลื่อนของ Apichat Pakwan วงดนตรีลูกครึ่งอีสาน-ดัตช์ ที่พาเสียงดนตรีอีสานดังกึกก้องทั่วยุโรป
เบื้องหลังและแรงขับเคลื่อนของ Apichat Pakwan วงดนตรีลูกครึ่งอีสาน-ดัตช์ ที่พาเสียงดนตรีอีสานดังกึกก้องทั่วยุโรป

“ดนตรีที่พวกเราทำ ผมมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของดอกไม้ที่จัดอยู่ในแจกันดนตรี ดอกไม้ดอกนี้อาจไม่สวยเหมือนดอกอื่น แต่ผมว่ามันเป็นดอกเล็ก ๆ ที่น่ามองอีกดอกหนึ่ง อยากให้ลองฟังดู 

“สำหรับผม ดนตรีอีสานวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง หมอลำกลอนสมัยโบราณพอเอามาใส่กลองชุดก็กลายเป็นหมอลำซิ่ง คนอีสานพยายามไม่หยุดอยู่กับที่ และในยุคของเราล่ะ เราก็อยากทำดนตรีอีสานที่เป็นแนวของเราประดับไว้ในวงการ มันอาจไม่ดังในยุคของเรา แต่ยุคถัดไปอาจมีคนที่หันมาสนใจก็ได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเราไม่เริ่มต้นทำตั้งแต่ตอนนี้ ผมมองว่าสิ่งที่พวกเราทำเป็นการอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านด้วยนะครับ เราอยากเห็นพิณ เห็นแคนไปดังในระดับโลก เหมือนกับที่อูคูเลเล่ของเกาะฮาวายดังขึ้นมา คนหันมาเล่นกันทั่วโลก เราก็อยากเห็นพิณ เห็นแคนเป็นแบบนั้น

“การอนุรักษ์ไม่ใช่การมาซื้อพิณ ซื้อแคน แล้วไปประดับไว้ที่ฝาผนังของบ้าน แต่การอนุรักษ์ที่แท้จริงสำหรับผมคือการหยิบออกมาเล่น ให้มันอยู่ในยุคสมัยปัจจุบัน อย่าทำให้เชย อย่าปิดกั้น มันมีความเป็นไปได้อีกเยอะมาก ดีไม่ดีผมไม่รู้ แต่เรามีความสุขที่ได้ทำก็เพียงพอ” ฟิล์มทิ้งท้าย

เบื้องหลังและแรงขับเคลื่อนของ Apichat Pakwan วงดนตรีลูกครึ่งอีสาน-ดัตช์ ที่พาเสียงดนตรีอีสานดังกึกก้องทั่วยุโรป

ปัจจุบัน อภิชาติ ปากหวาน ยังคงสร้างสรรค์เพลงใหม่ ๆ และค้นพบผู้คนที่ชื่นชอบและเชื่อมั่นในสิ่งที่พวกเขาทำทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราเห็นภาพของฝรั่งฟ้อนรำกับเพลงอีสานทรอนิกส์ มีผู้คนติดตามรอผลงานใหม่ ๆ และวันที่จะได้ไปฟ้อนและชมโชว์ของพวกเขาในอนาคต 

ความเป็นไปได้ต่อไปของดนตรีอีสานบ้านเราเป็นอย่างไร คำตอบอยู่ในบทเพลงของพวกเขา

…อภิชาติ ปากหวาน

Apichat Pakwan วงดนตรีอีสาน-ดัชต์ ทำเพลงอีสานทรอนิกส์ม่วนคัก ๆ จนฝรั่งลุกมาเซิ้งทั่วยุโรป
Apichat Pakwan วงดนตรีอีสาน-ดัชต์ ทำเพลงอีสานทรอนิกส์ม่วนคัก ๆ จนฝรั่งลุกมาเซิ้งทั่วยุโรป

สมาชิกปัจจุบันของ Apichat Pakwan

โอลิเวียร์ ชโรเดอร์ (ดีเจ, ซินธ์), อัง-อังคณาง พิมพ์วันคำ (เครื่องเคาะ), บี-อนุสรา ดีชัยชนะ (ขับร้อง, แต่งคำร้อง), วิว-วิมลมาศ กางจันทา (ขับร้อง), ฟิล์ม-ชนาวัฒน์ จอนจอหอ (เครื่องดนตรีอีสาน) และ ต้น-นายสันทกร พูลสวัสดิ์ (เครื่องดนตรีอีสาน)

Writer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง