The Cloud x ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

คนในวัย 50+ ส่วนใหญ่ต้องรู้จัก พี่อ้อย-จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา เราเองรู้จักพี่อ้อยในฐานะนักแสดงที่ชื่นชอบ ครอบครัวของพี่อ้อยเป็นครอบครัวศิลปินอย่างแท้จริง โดยเฉพาะ คุณแม่มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา ท่านเป็นนักแสดงจนอายุ 92 ปี ได้รับสมญานามว่า ‘ศิลปิน 5 แผ่นดิน’

พี่อ้อยเองก็เป็นนักแสดงตั้งแต่เด็ก และทำงานในวงการมาจนถึงทุกวันนี้ รับบทบาททางการแสดงมากมาย วันนี้พี่อ้อยในวัย 66 ปีได้รับบทบาทยิ่งใหญ่และท้าทายที่สุดในชีวิต นั่นคือดูแลคุณแม่มารศรีวัย 103 ปี พี่อ้อยเขียนบทเอง เล่นเอง และกำกับเอง เรามาฟังกันค่ะว่าพี่อ้อยมีธีดูแลคุณแม่อย่างไร

เรามีนัดกับพี่อ้อยในเย็นวันอาทิตย์ หลังจากแนะนำตัวกันเรียบร้อยแล้วก็เริ่มบทสนทนาว่า การเตรียมตัวเข้าวัยอิสระไม่ได้มีแค่มิติเดียว จึงอยากชวนพี่อ้อยพูดคุยในมิติเรื่องการดูแลคุณแม่ค่ะ

พี่อ้อยตอบรับด้วยความยินดี และนี่คือเรื่องราวที่เราพูดคุยกัน

ช่วยเล่าเรื่องงานให้ฟังหน่อยค่ะว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง

ปัจจุบันพี่เป็นครูสอนการแสดง เป็นครูใหญ่ที่ Kantana Training Center และเป็นแอคติงโค้ชให้กับนักแสดงทุกช่อง เป็นฟรีแลนซ์ รับกำกับภาพยนตร์ กำกับละคร ตอนนี้รับเล่นละครด้วย

พี่ทำแบบนี้มา 30 กว่าปีแล้วค่ะ สอนมาตั้งแต่อายุ 27

นอกจากงานหลักแล้ว เคยเห็นพี่อ้อยทำงานจิตอาสาด้วย

พี่ทำจิตอาสามาตั้งแต่อายุ 30 กว่า ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย บางทีก็ไปลงพื้นที่ร่วมกับสภากาชาดไทย กรมกิจการพลเรือน ทหารอากาศ ทหารรักษาดินแดน จนได้รับพระราชทานยศเป็นนายหมวดโทประจำกองอาสารักษาดินแดน ตั้งแต่เกิดโควิด-19 ก็ไม่ได้ไป ในกลุ่มจิตอาสาพูดคุยกันว่าเมื่อไหร่พี่อ้อยจะมา เพราะเราลุย อย่างน้ำท่วมที่ลึก ๆ ผู้ชายไม่ไป แต่เราไป

ทำงานมากมาย มีวิธีรักษาสมดุลเรื่องงานและการดูแลคุณแม่อย่างไร

พี่ใจสู้ค่ะ ต้องเสียสละเพื่อครอบครัว หาเงิน ทำทุกอย่างให้ครอบครัวสุขสบาย

ตอนแรกแม่อยู่บ้านพี่สาว มาอยู่กับพี่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว พี่จ้างพยาบาลดูแลคนแก่เดือนละ 2 – 3 หมื่น อยู่ได้ไม่ถึงอาทิตย์ เพราะแม่ไม่นอน คนดูแลก็ไม่ไหว ต้องเปลี่ยนไป 2 – 3 คน คนดูแลตอนนี้อยู่ด้วยกันมา 10 ปี เขาดูแลได้เหมือนพี่ทุกอย่าง นวดยาย เล่นกับยาย แม่อยู่กับเขาแล้วมีความสุขมาก 

ช่วงที่คุณแม่อยู่กับพี่สาว พี่อ้อยดูแลคุณแม่อย่างไรบ้างคะ 

พี่เป็นคนเห็นแก่เงิน สมัยวัยรุ่นน่ะ ช่วงเทศกาลเราหาเงินทั้งนั้นเลย

วันหยุดปั๊บได้เงิน พี่ทำงานอยู่กองถ่ายทุกวัน บางทีอยู่กับ ท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ถ่ายที่เมืองกาญจน์ฯ ตลอด ถ้าเข้ากรุงเทพฯ คือไปหาแม่ พาแม่ไปทานข้าว น้อยมากที่ครอบครัวเราจะได้ทานข้าวด้วยกัน พอ 60 ขึ้นมาถึงแบบ เออ ถึงเวลาที่จะไปทานข้าวกับลูกกับครอบครัว เมื่อก่อนของานไว้ก่อน 

ขอถามเรื่องคุณแม่มารศรีนะคะ ท่านดูแลตัวเองยังไงให้แข็งแรงจนเล่นละครถึงอายุ 92

แม่แข็งแรงกว่าพี่นะ ตอนเขาอายุ 80 กว่ายังวิ่งอยู่เลย ไปเดินห้าง วิ่งซื้อของ เราจะบอกแม่ว่าอย่าวิ่ง เดี๋ยวหกล้ม แม่บอกว่าสบายมาก ส่วนเรื่องบทละครยังจำได้ ความจำดี เขาชอบเล่นละคร 

ทุกวันนี้คุณแม่ตื่นมาก็ออกกำลังกาย ยกแขนยกขาเกือบ 30 นาที เขาฉีกแข้งฉีกขา ท่าถูกต้อง แข็งแรง แล้วพี่ก็ให้แม่กินดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ส่วนจิตใจสำคัญที่สุด ต้องให้เขามีความสุขในทุกวัน

สังเกตว่าคุณแม่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นเมื่อไหร่คะ

หลังจากโควิด-19 ค่ะ ก่อนหน้านั้นไม่มีอะไรเลย เขาเป็นคนร่าเริงด้วย

หลังโควิด-19 ตอนอายุเริ่ม 100 กว่า ๆ ตื่นมาเขาจะมึนหัว ปวดหัว เจ็บหน้าอก ไปหาหมอ หมอก็บอกว่าปกติ มีช่วงที่แม่ติดโควิด-19 ต้องนอนโรงพยาบาลเกือบเดือน ทุกวันนี้แม่ยังเดินไม่ได้ เริ่มความจำเสื่อมหลังจากติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เราไปรักษาในโรงพยาบาลรัฐบาล ตอนนั้นไม่มีห้องพิเศษ

แม่ชอบให้มีคนอยู่ด้วยตลอดเวลา พอไปอยู่โรงพยาบาล เยี่ยมได้เป็นช่วง แม่ก็เริ่มเครียด เหมือนโดนลูกทิ้ง เสียใจ เขาเครียดจนกระทั่งความจำเริ่มเสื่อม พอได้ห้องพิเศษก็พาคนดูแลไปอยู่ด้วย

เขาสบายใจขึ้น แต่ตอนนี้ก็ไม่เหมือนเดิม 100 เปอร์เซ็นต์ บางทีจำได้บ้างไม่ได้บ้าง สำหรับคนแก่ สำคัญมากนะ ต้องมีคนอยู่ใกล้ ๆ แล้วคอยคุยด้วย ไม่อย่างนั้นเขาจะรู้สึกเหมือนโดนทอดทิ้ง 

ตอนพี่อ้อยดูแลคุณแม่ด้วยตัวเอง เจอปัญหาอะไรบ้างมั้ยคะ

ไม่มีปัญหาเลย คุณแม่ไม่ดื้อ มีเรื่องเดียวเลย คือชอบนอนกิน

ตอนกลางคืน พี่เข้าไปหาแม่ เขาจะแอบขนมไว้ด้านหลัง พอพี่ออกไปก็หยิบขนมมานอนกิน ถ้านั่งกินพี่ไม่ว่า เลยต้องมีกล้องติดไว้ค่ะ พอเห็นก็บอกว่าแม่ อีกแล้วนะจ๊ะ (ด้วยน้ำเสียงอ่อนหวาน)

มีคำแนะนำสำหรับคนที่ต้องดูแลผู้สูงอายุมั้ยคะ ว่าเขาควรต้องปรับตัวและปรับทัศนคติอย่างไร เพื่อลดความเครียดทั้งคนดูแลและผู้ถูกดูแล

สิ่งแรกที่สำคัญที่สุด คือความรัก ความเมตตา และความเอาใจใส่

ถ้ามีความรัก ความเมตตา เราจะเอ็นดูเขา ง่าย ๆ เลย ลองนึกย้อนกลับไปตอนที่เราเป็นเด็กว่าพ่อแม่ดูแลเรายังไง และอย่าเป็นคนหงุดหงิดง่าย เช่น หงุดหงิดเพราะมานั่งเช็ดขี้เช็ดเยี่ยว คิดกลับกัน ตอนเด็ก ๆ พ่อแม่ทำให้เราโดยเขาไม่รู้สึกรังเกียจ และปรับความคิดจากเราต้องดูแลเขา เป็นยังโชคดีนะ ยังมีความสุขนะที่ยังมีพ่อแม่ให้กอด ให้ดูแล อีกอย่างต้องพูดกับท่านเพราะ ๆ 

คนที่ดูแลผู้สูงอายุได้ดีที่สุดต้องเป็นคนในครอบครัวใช่มั้ยคะ

สำหรับพี่ ใช่ค่ะ พี่ถือว่าคนที่อยู่บ้านพี่ไม่มีใครเป็นคนใช้ มีแต่คนในครอบครัว

ทุกวันนี้พี่เสียใจตรงที่เข้าไปหาแม่ไม่ได้ ต้องกอดแม่ผ่านกระจก (เพื่อป้องกันโควิด-19) แรก ๆ พี่น้ำตาไหลทุกวัน ตอนหลัง พี่ตุ๊ก ดวงตา, พี่โย ทัศน์วรรณ บอกว่า อ้อยอ่อนแอไม่ได้นะ แม่อายุมากแล้วต้องรู้ว่าเราต้องทำอะไร ถ้าอ้อยอ่อนแอ จะเอากำลังที่ไหนไปทำงาน แล้วหน้าก็โทรม ไม่มีความสุข เราเลยรู้สึกว่าต้องสู้ ตอนนี้เลยเล่นกันผ่านกระจก เราป่วยไม่ได้ เป็นอะไรไม่ได้ เราต้องดูแลแม่ 

สิ่งแรกที่พี่อ้อยจะทำเมื่อได้เข้าห้องกระจกไปหาคุณแม่

กอด แต่พอกอดนาน เด็กที่ดูแลแม่ก็บอกว่า พี่อ้อย พอ ๆ (หัวเราะ)

ตอนนี้กลับไปบ้านก็จะเกาะกระจกเหมือนลิง ส่งเสียง แอ ๆๆ อาจแง้มประตูนิดหนึ่ง นาน ๆ เข้าได้ที ถ้าพี่อยู่บ้าน 2 – 3 วันติดกันถึงจะเข้าได้ แต่เข้าก็ต้องปิดแมสก์ เพื่อป้องกันเต็มที่

ตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว พี่อ้อยเห็นปัญหาอะไรในสังคมบ้าง

ผู้สูงอายุน่าสงสารตอนไปโรงพยาบาล รอคิวนาน อยากให้แยกแผนกผู้สูงอายุ บางทีพี่พาแม่ไปโรงพยาบาลเอกชนเพราะไม่อยากให้รอเป็นชั่วโมง อีกอย่างเห็นปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูง 

พี่อ้อยคิดว่าภาครัฐและเอกชนควรส่งเสริมหรือพัฒนาด้านใดให้คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุดีขึ้น

ปรับค่ารักษาพยาบาลค่ะ โดยเฉพาะสูงวัยนะคะ ใช้คำว่ามนุษย์ดีกว่า ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ราคาเพิ่มขึ้นไป รัฐบาลต้องช่วยเหลือประชาชนค่ะ ให้ประชาชนกินดี อยู่ดี มีค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม

พี่อ้อยอยากเห็นสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นแบบไหนคะ

อยากให้ผู้สูงอายุมีความสุข มีครอบครัวที่อยู่เย็นเป็นสุข ให้ลูกหลานเมตตา ลูกหลานรักใคร่ อยากให้สังคมมองว่าครอบครัวเป็นหน่วยเล็ก ๆ สิ่งสำคัญที่สุดคืออยากให้องค์กรครอบครัวแข็งแรงมากขึ้น

ถ้าหน่วยเล็ก ๆ อย่างครอบครัวแข็งแรง ประเทศจะดีขึ้น คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น 

ชวนพี่อ้อยส่งกำลังใจให้คนที่ต้องดูแลผู้สูงอายุหน่อยค่ะ

อย่าท้อ ให้เอ็นดูท่าน คิดเสียว่าผู้สูงอายุเป็นคนน่ารัก ที่สำคัญต้องอดทนและมีใจ

ในวัย 66 พี่อ้อยวางแผนจะเกษียณตัวเองอย่างไรบ้าง

การเงินพี่ไม่เคยได้เก็บเลย ภาระเยอะ มีลูกสี่ขาอีก 6 ตัว เรารักเขา เขาก็รักเรา เราเลี้ยงเขาก็ต้องเลี้ยงให้ดีที่สุด แม่ไม่เป็นภาระกับพี่เลย แต่มีหมาเป็นภาระ (หัวเราะ) 

แสดงว่ายังไม่คิดเกษียณหรือคะ

ไม่เคยคิดจะเกษียณ

เมื่อก่อนเคยคิดในใจว่าชีวิตนี้ขอตายในหน้าที่ แต่เขาบอกห้ามพูด ให้พูดว่า “ชีวิตเราต้องมีความสุข” พี่มีความคิดแบบนี้ เพราะยังมีแรงทำงาน พี่ไม่อยากให้ลูกมาเลี้ยงและไม่อยากเป็นภาระให้เขา

พอหลังอายุ 60 สุขภาพของพี่อ้อยเปลี่ยนไปมั้ยคะ

ช่วง 60 ปีปกติมาก เพิ่งเริ่มเห็นชัดในปีนี้ เริ่มรู้สึกว่าสุขภาพอ่อนแอลง

มีวิธีดูแลตัวเองยังไงบ้าง

เมื่อก่อนพี่เป็นนักกีฬา เป็นนักบาสฯ ของธนาคารกรุงเทพ ออกกำลังกายเยอะ ยกเวทตลอด เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยยกเวท เพราะทำให้ตัวใหญ่ เล่นละครเป็นป้า เป็นยาย เวลาเดินต้องหนีบไว้ตลอด เลยเลิกเล่น

การออกกำลังกายของพี่ คือเวลาอยู่กองถ่าย เป็นแอคติงโค้ช ทำงาน 7 โมงเช้าถึง 5 ทุ่ม วิ่งตลอดนะ ดูมอนิเตอร์เสร็จ วิ่งไปบอกนักแสดงให้แก้ไข วิ่งมาดูมอนิเตอร์ วิ่งไปวิ่งมา ต้องเร็ว เดินไม่ได้

ความสุขในวันนี้ของพี่อ้อยคืออะไรคะ

มีครอบครัวที่ดี มีหมาสี่ขา 6 ตัว นั่นแหละความสุข

พี่อ้อยให้ความสำคัญกับครอบครัวมาก ๆ ‘ครอบครัว’ มีความหมายยังไงกับพี่อ้อย

ครอบครัวคือชีวิตของเราค่ะ ครอบครัวเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง

เรามีความสุขเพราะครอบครัว เพราะลูกเรา เพราะแม่เรา เพราะหมาเรา

บทเรียนชีวิตพี่อ้อยได้เรียนรู้ตลอด 66 ปี

ในชีวิตพี่ สิ่งที่ได้เรียนรู้ คือต้องมีสติ พี่เคยพลาดในชีวิตเพราะไม่มีสติ

ไม่ว่าจะทำอะไรขอให้นึกถึงหน้าคนที่เรารัก คนที่รักเรา คนที่ห่วงเรา

หลังจบการสนทนากับพี่อ้อยแล้ว แต่ความคิดเรายังไม่จบ เราคิดวนเวียนกับคำพูดของพี่อ้อย

และนี่คือบทสรุปจากสิ่งที่เราเรียนรู้ในแบบของตัวเองว่า

  • ครอบครัวคือจุดเริ่มต้นของชีวิตและความรัก เพราะมีความรักจึงมีชีวิต 
  • ความรักคือสายใยที่ผูกโยงคนในครอบครัว หล่อเลี้ยงชีวิตให้เติบโต มีความสุข ผ่านความเอาใจใส่และความอดทน 
  • ความสุขคือการได้เห็นคนที่เรารักมีความสุข 
  • คนแก่มักเข้าใจเด็ก เพราะเคยเป็นเด็กมาก่อน แต่เด็กมักไม่เข้าใจคนแก่ 
  • พี่อ้อยคือตัวแทนที่ทำให้เราเข้าใจคนแก่
  • คนแก่ไม่ได้ต้องการแบรนด์เนม ไม่ต้องการร้านหรู ไม่ต้องการบ้านใหญ่ เขาแค่อยากสัมผัสถึงความรัก ความเอาใจใส่ คำพูดที่อ่อนหวานจากคนเป็นลูก อยากได้การปฏิบัติจากคนในสังคมอย่างเข้าใจ ไม่ใช่มองเพียงว่า ‘เขาเป็นแค่…คนแก่คนหนึ่ง’

The Cloud Golden Week : Happy Young Old คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ The Cloud จับมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดรับวัยอิสระ อายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ มารวมพลัง ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆเป็นเวลา 1 สัปดาห์ 

ภายใต้ธีม ‘การเตรียมตัวเข้าสู่วัยอิสระ’ และ ‘การดำเนินชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข’ เปรียบเสมือนคู่มือเล่มน้อย ๆ ที่อัดแน่นด้วยคำแนะนำ การรับมือ การใช้ชีวิตก่อน-หลังเกษียณในหลากหลายมิติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘การดูแลผู้สูงวัยยามเจ็บป่วย’ เราจึงชวนวัยอิสระเล่าเรื่องราวของ อ้อย-จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา นักแสดงและครูสอนการแสดงที่ดูแลคุณแม่วัย 103 ปี ซึ่งเธอแบ่งปันแนวคิดการดำเนินชีวิตและวิธีปรับมุมมองสำหรับดูแลผู้สูงวัย ให้ทั้งผู้ดูแลและผู้ถูกดูแลมีความสุข ลดความเครียดไปด้วยกัน

ชวนเตรียมพร้อมรับมือเกษียณ ปรับความคิดและเข้าใจวิธีการบริหารเงินให้เพียงพอ เพื่อชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในแคมเปญ ‘Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้’ ทาง setga.page.link/BdxMb7a4c4o9QzHQ8

Writer

อาริยา นทกุล

อาริยา นทกุล

เคยเป็นสัตวแพทย์รักษาน้องหมาน้องแมว ตอนเด็กมีฝันอยากเป็นนักเขียน ปัจจุบันเกษียณแล้ว กำลังจะย้ายไปทำสวนปลูกพืชและใช้ชีวิตเรียบง่ายในต่างจังหวัด

Photographer

วิศรุต อังคทะวานิช

วิศรุต อังคทะวานิช

ช่างภาพสายโฆษณาและศิลปินภาพถ่ายที่เป็นที่รู้จักจากการถ่ายภาพปลากัด