‘Ang Morr – อั้งม้อ’ เรียกตัวเองว่าร้านอาหารจีนลูกครึ่งฝรั่ง
ตั้งใจปลุกชีพอาหารสไตล์กุ๊กช็อปที่หลายคนเพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรกขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการยกระดับเป็น Bistro
คราวนี้กุ๊กช็อปกลับมาด้วยหน้าตาสดใส มีชีวิตชีวา สนุกสนานกว่าที่เคยมาก เพราะรสชาติดั้งเดิมเกือบทุกจานผ่านการผสมผสานกับไอเดียใหม่เอี่ยมอ่อง ออกมาเป็นอาหารที่คนทั่วไปกินได้ คนเฒ่าคนแก่กินแล้วคิดถึง ขนาบข้างด้วยบาร์หรู โซฟายิ่งใหญ่ และมีความสูงสองชั้น ในบรรยากาศโล่งโปร่งสบาย โดดเด่นอยู่ท่ามกลางบ้านและคอนโดกลางซอยแสงชัย สุขุมวิท 38 ไม่ยอมให้ใครจดจำว่าเป็นอาหารในตำนานที่หากินไม่ได้อีกแล้ว
หากกำลังสงสัยว่า ‘หน้าตา’ ที่ว่าเป็นอย่างไร ลูกครึ่งจีนผสมฝรั่งจะออกมาเป็นแบบไหน
เราชวนไปเปิดเมนูหน้าแรกพร้อมกัน
Your Journey begins.


หัวมังกุ ท้ายมังกร
“อั้งม้อเป็นส่วนหนึ่งของนารา ไทย คูซีน ที่อยากขยายและเติบโต เราชวนภาณุมาทำด้วยกัน สำรวจตลาดที่น่าสนใจและยังไม่มีใครสน”
เสียงของ ยูกิ ศรีกาญจนา เจ้าของร้านนาราเอ่ยขึ้น เมื่อให้พูดถึงความเป็นมาของร้านอาหารแสตนด์อโลนแห่งใหม่ย่านสุขุมวิท ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับ ภาณุ อิงคะวัต Creative Director ประจำร้านที่เธอเพิ่งแนะนำไป

ภาณุเล่าว่ากุ๊กช็อปคืออาหารฝรั่งยุคแรกของเมืองไทย กำเนิดขึ้นในยุครัชกาลที่ 4 ประเทศไทยพยายามปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น รองรับชาวต่างชาติที่แห่แหนเข้ามาประกอบอาชีพ แน่นอนว่าต้องส่งผลถึงอาหารการกินที่ปราศจากเชฟชาวยุโรปมากฝีมือ สิ่งที่พวกนายฝรั่งหาได้ คือ เชฟชาวจีนกับวัตถุดิบจากภูมิภาคเอเชียเท่านั้น ได้ออกมาเป็นอาหารฝรั่งรสชาติดีตามสูตรที่มีทั้งสลัด สตูว์ ขนมปัง เพียงแต่วัตถุดิบและเครื่องปรุงบางอย่างขาดหายไป นานวันเข้าอาหารประเภทใหม่นี้ก็ได้รับความนิยมมาก จนเชฟชาวจีนเหล่านี้ต้องขยับขยายมาเปิดร้านของตัวเอง จากที่คนทำอาหารส่วนมากจะเป็นแม่ค้าชาวไทยใส่เสื้อคอกระเช้า นุ่งโจงกระเบน อยู่ดี ๆ ก็มีร้านที่ผู้ชายเป็นพ่อครัว สวมเสื้อขาว จึงเรียกว่า กุ๊กช็อป
นับจากรัชกาลที่ 4 ก็ร่วมร้อยปีมาแล้ว ความนิยมกุ๊กช็อปค่อย ๆ หล่นหายไปตามกาลเวลา เขายกตัวอย่าง แกงกะหรี่ มาเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ว่าก็เป็นอาหารฝรั่งยุคแรกของประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน เพียงแต่คนญี่ปุ่นสานต่อวัฒนธรรม คิดค้น พัฒนาเรื่อยมาจนแกงกะหรี่กลายเป็นอาหารที่หลายคนนิยมทาน กระจายมายังประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทย ยังคงได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้
แตกต่างจากอาหารกุ๊กช็อปไทย ที่พูดไปน้อยคนนักจะพยักหน้าตาม ต้องโยนชื่อ สีลมภัตตาคาร หรือ ร้านอาหารฟูมุ่ยกี่ ถึงจะนึกรสชาติที่ปลายลิ้นออกแค่ไม่รู้ว่าอาหารแบบนี้เรียกว่าอะไร ซึ่งก็เป็นร้านที่เจ้าของเก่าแก่ทำให้คนรุ่นเก่าทานอีกนั่นแหละ
หลังทั้งคู่ผ่านการพูดคุยโต้เถียงไอเดียร้านมากว่า 2 ปี ว่าจะชุบชีวิตอาหารที่มีเสน่ห์เหลือล้นแต่เหมือนตายไปแล้วยังไง ก็เกิดเป็นร้านอาหารจีนลูกครึ่งฝรั่งโฉมใหม่ Ang Morr – อั้งม้อ มาจากคำที่ใช้เรียกฝรั่งหัวแดงตั้งแต่สมัยก่อน อั้ง แปลว่า สีแดง ส่วน ม้อ แปลว่า ผม
“อาหารที่มีความเป็นไทยแต่ร่วมสมัย คืออาหารที่คนกินแล้วได้ย้อนกลับไปดูอดีต เราไม่ได้อยากกลายเป็นร้านกุ๊กช็อปแบบฟูมุ่ยกี่ เราอยากเปลี่ยนร้านกุ๊กช็อปให้โมเดิร์นมากขึ้น”

เก่าไม่ไป ใหม่มา
เมื่อถามถึงกลุ่มเป้าหมาย ภาณุให้ความสำคัญกับกลุ่มวัยทำงานช่วงอายุ 30 – 50 ปีที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ข้างนอกบ้านมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มคนอายุ 50 ขึ้นไปที่ยังคิดถึงอาหารคุ้ยเคยในวัยหนุ่มสาว มีความเยาว์อยู่ในตัว หรือที่เรียกว่า Young at Heart และกลุ่มวัยรุ่นที่สนใจอยากลองอาหารสไตล์ใหม่ที่หากินได้ยาก
จะเห็นได้ว่าอั้งม้อเป็นร้านที่รองรับลูกค้าได้ทุกเพศทุกวัย ด้วยคอนเซ็ปต์ที่พวกเขายึดถือเป็นมั่นหมาย คือ Old & New เก่าผสมใหม่
“คำนี้เป็นกรอบที่ช่วยทำให้เราเดินไปไม่หลงทาง บางครั้งโมเดิร์นไปอาจไม่ใช่สไตล์ที่เหมาะสม หรือเหลาเกินไปก็ไม่ใช่ มันต้องมีความฝรั่งกับจีนผสมกัน” เขาชวนคิด
ไล่มาตั้งแต่ผลักประตูเข้าร้าน ผนังสีเขียวเข้มสลับกับลวดลายสีชมพูของดอกโบตั๋น ดวงไฟระย้าด้วยฝีมือ Lighting Designer วอลเปเปอร์ทั้งหมดถูกเขียนและทำขึ้น มีเสียงเพลงคลาสสิกดังคลอไกล ๆ จนถึงสวนหลังร้านที่พึ่งพา Landscape Designer เช่นกัน กอปรกับบริษัทออกแบบเองก็บังเอิญเติบโตมาในบ้านคนจีน เข้าใจดีว่าอาม่าอากงในอดีตใช้ชีวิตยังไง อั้งม้อจึงใช้หินขัดในการตกแต่งร้านเยอะมาก เนื่องจากเป็นวัสดุที่คนจีนโบราณนิยมใช้ตามตึกแถว


ภาณุบอกว่าร้านอาหารทุกวันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการกินอย่างเดียว แต่คือ Experience ของผู้คน ทั้งตัวร้าน เพลงที่เปิด วิธีการพรีเซนต์อาหาร เรื่องราวที่สอดแทรกในทุก ๆ จาน จะช่วยเสริมให้ทานแล้วรู้สึกพิเศษ
“เรายืนอยู่บนกุ๊กช็อป แต่เติมเสน่ห์การกินการอยู่เข้าไป หยิบทุกอย่างมาผสมผสานกันเป็นแนวที่เรียกว่า Chinois Chic คือเก๋ ๆ เท่ ๆ สไตล์จีน และฝรั่งของเราจะเป็นฝรั่งเศส อังกฤษ มากกว่าจะไปทางอเมริกัน อาหารที่เลือกมาก็เป็นอาหารที่คนยุคใหม่สนุกไปกับมันได้ เช่น เส้นใหญ่ราดหน้าเนื้อสันนอก เลือกระดับความสุกได้เอง ทำให้เขามีส่วนร่วม”
ได้ยินดังนั้นก็ไม่รีรอที่จะสำรวจเมนูอื่น ๆ ตาม เมนูของที่นี่รูปสวยจัดจ้าน ขนาดใหญ่ มองเห็นวัตถุดิบทั้งหมดบนจาน ฟังจากความตั้งใจที่จะเพิ่มลูกเล่นให้อาหารดูสนุกขึ้น เรากลับเห็นหน้าตาอาหารกุ๊กช็อปคล้ายเดิมปะปนอยู่มากมาย จนต้องถามให้หายข้องใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
“เราจะทำอาหารให้แฟนตาซีสุด ๆ ไม่ได้ เพราะคนไม่ได้มาที่นี่เพราะอยากกินอาหารฟิวชัน เขาชอบในเรื่องราวของอาหาร ตำนานของอาหาร คนรุ่นเก่าโหยหาอยากทานอยู่แล้ว เพียงแต่ในบรรยากาศใหม่ ถ้าอาหารรสเดิม บรรยากาศเดิม งั้นไปร้านเก่าแก่ไม่ดีกว่าเหรอ หรือคนรุ่นใหม่ก็คงไม่ไปร้านเก่า ๆ อยู่แล้ว ถ้าเจอร้านที่หยิบเอาอาหารในตำนานมาทำใหม่ เขาคงอยากมาลองชิม เราจึงต้องเก็บเรื่องราวเก่า ๆ ไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้สนุก ให้ Contemporary เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนสมัยนี้”
“แล้วเราเอามาทำยังไง นั่นคือสิ่งที่สำคัญ”

ครึ่งจีน ครึ่งฝรั่ง
“กุ๊กช็อปยุคออริจินอลเราจะไม่แตะเลย ไม่เปลี่ยนสูตร ไม่ต้องการให้คนผิดหวัง อยากให้เขามากินแล้วรู้สึกว่า เคยกินนะ แต่หน้าตาไม่ใช่แบบนี้ ทำให้เขาได้รู้สึกถึงรสชาติของวันวาน”
ภาณุกำลังพูดถึงเมนูสลัดเนื้อสัน เมนูโปรดจากยุคเก่าที่เขาเองบอกว่าดูหน้าตาแล้วธรรมดามาก ใช้แค่ผักกาดกรอบ มะเขือเทศ แตงกวา เทียบกับสลัดสมัยนี้ที่มีผักสดเยอะไปหมด ทอดเนื้อด้วยไฟแรงจนสีออกดำ แต่ข้างในกลับนุ่ม เจือสีแดง น้ำสลัดก็ไม่ใส่น้ำมัน ใช้จิ๊กโฉ่วเคี่ยวจนเข้มข้นแทนบัลซามิก

นอกจากนี้ยังมี พอร์กช็อปทอดโบราณ แกงกะหรี่ไก่ สตูว์ลิ้นวัว ปูจ๋า ซุปข้าวโพด ซุปหางวัว ฯลฯ บรรดาอาหารกุ๊กช็อปเก่าแก่ที่ยังคงสูตรเดิม เพียงแต่นำมาปัดฝุ่น เติมวิธีการให้สนุกขึ้น เช่น การใช้เซียงจา ขนมยอดนิยมของเด็ก ๆ ทำละลายให้ได้รสบ๊วย

รวมถึงการรังสรรค์เมนูให้ตอบโจทย์ลูกค้าหลากหลายกลุ่ม เช่น การทำฮะเก๋ารูปปลาทอง ไส้กุ้งผสมครีมเห็ดทรัฟเฟิล ขณะเดียวกันก็ยังมีติ่มซำรสชาติดั้งเดิมให้เลือกชิม หรือออส่วนสุดแปลก ที่มีทั้งเนื้อกรอบแบบปัจจุบัน และนุ่มแบบโบราณในกระทะเดียวกัน แม้กระทั่งขนมปังปิ้งสูตรประจำร้าน ก็เสิร์ฟพร้อมกับปาเต้ตับห่าน ผสมเหล้าไวน์จีน

ส่วนยำสลัดเต้าหู้เย็น คือเมนูที่เขาเลือกให้เป็นตัวแทนนิยามของร้าน หากได้ตักชิมจะเข้าใจทันทีว่าเพราะอะไร

เพียงผิวเผินอาจดูเหมือนธรรมดา แต่ด้านบนเต้าหู้มีเนื้อแซลมอนตะกุย คล้ายปลาดุกฟู เสริมด้วยผักโตวเหมี่ยวของจีน ราดด้วยน้ำยำแบบไทย ๆ ร้านเลือกใช้ซีอิ๊วแทนน้ำปลา เป็นอาหารกุ๊กช็อป 3 สัญชาติที่กินรวมกันแล้วได้รสกลมกล่อม สดชื่น
ส่วนของหวาน ยูกิเอ่ยปากว่าสนุกมาก ๆ เธอมีทั้งน้ำแข็งไสรสบ๊วยกับแอปเปิลเขียว ไอติมไข่แข็ง หรือทีเด็ดอย่างกล้วยทอด ที่สมัยก่อนจะคลุกกับน้ำตาลเคี่ยวจนมีสัมผัสเหนียวเหนอะ แต่ที่นี่ใช้ไนโตรเจนเหลวเสริมลงไป จนได้กล้วยทอดคลุกคาราเมลหวานกรอบ ทานคู่กับไอศกรีมวานิลลา
“การทานอาหารที่อั้งม้อ ไม่ใช่อาหารจานเดียว แต่คือการแบ่งปัน จึงต้องมีการผสมผสานกันระหว่างเก่าและใหม่ในโต๊ะเดียว”

ผมแดง หน้าหมวย
หลังเปิดร้านได้ไม่นาน ภาณุยอมรับว่ากระแสตอบรับดีกว่าที่คาดคิดไว้ จนมีบ้างที่กลับมาหารือกันกับทีมว่าเป็นเพราะอะไรแน่
“หรืออาจจะเป็นเพราะว่าตำนานกุ๊กช็อป ถึงคนจะไม่รู้จักว่าคืออะไร แต่ถ้านึกถึงอาหาร เขาจะเข้าใจและจำได้ มีความทรงจำร่วมกัน คนอายุ 30 – 40 ปี จะชอบพูดว่าพ่อแม่เคยพาไปกิน แต่ตอนนี้หากินไม่ได้แล้ว”
ไหน ๆ ก็ปลุกชีพอาหารที่ใกล้สูญหายขึ้นมาได้อีกครั้ง ในอนาคต พวกเขาจึงไม่ต้องการเปิดรับแค่ทุกเพศทุกวัยเท่านั้น แต่จะพยายามพาอั้งม้อเข้าไปอยู่ในทุกช่วงเวลาของผู้คนให้ได้ โดยที่นี่จะเสิร์ฟอาหารเช้าตั้งแต่ 8 โมง ออกเมนูอาหารจานเดียวที่ซื้อง่ายขายคล่องสำหรับมื้อเที่ยง มีบาร์ค็อกเทลและไวน์ครบถ้วน รอบริการลูกค้ามื้อดึก และมีสวนด้านหลังที่จะเปิดให้เป็น Dog Friendly เอาใจคนรักสัตว์ เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกความต้องการขนานแท้ ต่างจากตอนเริ่มโปรเจกต์ที่ทั้งคู่ยังเต็มไปด้วยความกังวลใจ
“เราเป็นห่วงนิดหน่อยว่าจะเข้าใจยากไหม เถียงกันอยู่ตั้งนานว่าจะจีนลูกครึ่งฝรั่งหรือฝรั่งลูกครึ่งจีน เพราะออริจินอลคืออาหารฝรั่งที่ทำโดยกุ๊กจีน แต่ไม่มีคนเข้ามาอั้งม้อแล้วเดินออกไปบอกว่าร้านนี้คือร้านอาหารฝรั่งหรอก”
คุณจะเห็นด้วยกับคำพูดนี้อย่างยิ่ง หากได้ลิ้มรสอาหารจานโตบนโต๊ะจนหมด ดื่มด่ำบรรยากาศ และมองเห็นรายละเอียดของร้านทุกซอกมุม เราขอปิดท้ายด้วยการถามหัวหอกสำคัญของโปรเจกต์นี้ให้แน่ใจ ว่าหากเปรียบร้านอาหารเป็นคนแล้ว ลูกครึ่งจีนผสมฝรั่งคนนี้จะหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งอาจเรียกความสนใจจนคุณต้องเหลียวหลังกลับไปมอง
“อั้งม้อเป็นสาวจีนหน้าหมวย ตัดผมม้า ตาแหลม ผิวขาว แต่นุ่งกระโปรงบานลายดอกโบตั๋นแบบฝรั่ง ด้วยความมั่นใจ”

ร้าน Ang Morr อั้งม้อ
ที่ตั้ง : เลขที่ 6 ซอยแสงชัย ถนนสุขุมวิท 38 พระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 11.00 – 22.00 น. อาหารเช้า วันศุกร์-เสาร์ เวลา 08.00 – 12.00 น.
โทรศัพท์ : 02 118 3641
Facebook : ANG MORR – อั้งม้อ