รศ. (พิเศษ) ระพี ลีละสิริ หรือที่เพื่อน ๆ เรียกว่า บอลลี่
เธอเป็นผู้มีใจรักและมีฝีมือในด้านศิลปะ เรียนจบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผู้เขียนรู้จักบอลลี่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เมื่อครั้งเป็นน้องใหม่คณะมัณฑนศิลป์ ตอนนั้นเธอยังเป็น บอล หนุ่มแว่นบุคลิกอบอุ่นเป็นกันเอง เป็นที่รักของเพื่อน ๆ เพราะมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อยู่ใกล้แล้วอบอุ่นใจสบายใจ เรียนด้วยกันสักพัก จาก ‘บอล’ เปลี่ยนเป็น ‘บอลลี่’ ก็ยิ่งสนิทสนมมากขึ้นอีก
หลังจากเรียนจบ ต่างคนต่างแยกย้ายไปทำงาน มีโอกาสพบกันบ้างในงานเลี้ยงสังสรรค์ต่าง ๆ
บอลลี่เคยทำงานด้านออกแบบตกแต่งภายใน ทำกิจการพรมทอมือจากวัสดุธรรมชาติแบรนด์ ‘ระพีลีลา’ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านงานสิ่งทอและหัตถศิลป์ไทย จนได้รับรางวัล Designer of the Year 2004, 2009, 2011 สาขา Textile and Fabric Design ได้เหรียญทองเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี สาขา Textile & Fashion และเป็นศิลปินวาดภาพสีน้ำมันโดยใช้เกรียง เคยแสดงนิทรรศการผลงานหลายครั้ง ตลอดจนได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรให้หลายหน่วยงานในประเทศไทย
เรื่องราวที่เราคุยกับบอลลี่ในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับอาชีพการงานหลักที่ได้เอ่ยไป แต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับของสะสม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับ นาวาอากาศเอกณะธีระ ลีละสิริ ซึ่งก็คือคุณพ่อของเธอ
ด้วยความที่ต่างคนต่างมีแนวคิดของตนเอง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การอยู่ด้วยกันอาจเปรียบเสมือนลิ้นกับฟัน มีบางเรื่องที่คุยกันไม่ได้นาน บางครั้งต้องหาทางสายกลางเพื่อเลี่ยงความขัดแย้ง
จนจับพลัดจับผลูไปงานประกวดพระเครื่องด้วยกัน เมื่อลองส่งพระเครื่องเข้าประกวด ก็ได้รางวัลมาครอง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งคู่มีกิจกรรมทำร่วมกัน มีเรื่องที่คุยกันได้ยาวมากกว่าเมื่อก่อน
และกลายเป็น ‘พ่อ-ลูก พระเครื่อง’ มาจนวันนี้
บอลลี่เป็นลูกคนโตของครอบครัว พ่อรับราชการทหารอากาศ แม่เป็นแม่บ้าน เคยเปิดร้านเสริมสวยนำเข้าแบรนด์ Kanebo เป็นคนแรกของไทย ทั้งยังมีฝีมือด้านการตัดเย็บและปักลวดลายเสื้อผ้า
บอลลี่ชื่นชอบศิลปะมาตั้งแต่จำความได้ ตอนเด็ก ๆ ชอบระบายสีในสมุดระบายสีที่พ่อแม่ซื้อให้
ช่วงประถมศึกษาปีที่ 6 ได้ติดตามแม่ไปบ้านคนรู้จัก มีโอกาสเห็นงานเพนต์สีน้ำมันบนแก้วซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้นวางอยู่ในตู้โชว์อย่างสวยงาม เธอชอบมาก อยากเรียน อยากเพนต์ได้เช่นนั้น
พอทราบว่ามีครูสอนเพนต์อยู่ใกล้บ้าน จึงไปเรียนกับครูทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงแรกไม่เก็บค่าเรียน เพราะเห็นว่าเป็นเด็ก ต่อมาเริ่มมีฝีมือ ขายชิ้นงานได้ จึงจ่ายค่าเรียนให้ครู บอลลี่เรียนอยู่นานถึง 3 ปี
ช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น อาจารย์เห็นว่ามีฝีมือด้านการวาดรูป แนะนำให้ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยช่างศิลป แต่ทางบ้านไม่เห็นด้วย อยากให้เรียนสายสามัญต่อ จึงเรียนมัธยมปลายสายศิลป์-ฝรั่งเศส
ช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย สมัยอยู่โรงเรียนวัดราชาธิวาส มีครั้งหนึ่งได้เข้าไปในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นอาคารเรียนคณะอักษรศาสตร์สวยงามมาก จึงเกิดความสนใจอยากสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
รุ่นพี่ข้างบ้านเห็นว่าชอบวาดรูป ถามว่าทำไมไม่ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร
คำถามของพี่ข้างบ้านเปิดโลกให้บอลลี่ได้ทราบว่ามีมหาวิทยาลัยที่สอนศิลปะด้วย (เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไม่ได้ง่ายเพียงปลายนิ้วจิ้มอย่างเช่นทุกวันนี้)
รุ่นพี่ท่านนั้นพาบอลลี่ไปชมมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ได้เห็นสถานที่และบรรยากาศแล้วประทับใจมาก จนเปลี่ยนเป้าหมายจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร
พอบอกทางบ้านว่าอยากเรียนศิลปากร ทางบ้านไม่ขัด เพราะเรียนสายสามัญมาแล้ว
เมื่อเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร เรียนภาควิชาประยุกตศิลปศึกษา วิชาเอกภาพไทย มีโอกาสได้ศึกษาศิลปะไทยหลายแขนง ทำให้เกิดความชื่นชอบและผูกพันกับความงามอย่างไทย และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บอลลี่ชื่นชมความงามของพุทธศิลป์ เริ่มสนใจสะสมพระพุทธรูปและบูชาพระเครื่อง โดยมีอาจารย์ที่ภาควิชาเป็นผู้ให้คำแนะนำ
ช่วงแรกเธอเน้นสะสมพระพุทธรูป โดยดูจากพุทธลักษณะที่ชอบ นำมาสะสมไว้จนแทบไม่มีที่จะเก็บ เธอให้ความสนใจพระเครื่องมากขึ้น เนื่องจากองค์เล็กและจัดเก็บสะดวกกว่า เมื่อพบองค์ที่ชอบก็เช่ามาเก็บสะสมไว้เพื่อชมความงาม ไม่ได้คิดว่าจะเข้าสู่แวดวงการประกวดพระเครื่องแต่อย่างใด
พระเครื่ององค์แรกที่บอลลี่สะสม คือพระปางลีลา พิมพ์เปิดโลก ยืนตอ (เนื้อดิน)
หากถามถึงวิธีการคัดเลือกพระ ดูอย่างไรว่าองค์ไหนแท้หรือไม่แท้ บอลลี่บอกว่า
“ช่วงแรก ๆ เราก็ดูไม่ค่อยออก อาศัยความรู้ที่ได้มาจากการเรียนวิชาศิลปะไทยมาใช้เป็นเทคนิคในการคัดเลือกพระเบื้องต้น โดยเคาะเพื่อฟังเสียงก่อน แล้วขั้นตอนต่อไปค่อยดูมวลสารและดูพิมพ์”
มีครั้งหนึ่งเธอไปทำงานให้ชุมชนทางภาคเหนือ ได้ยินคำกลอนเกี่ยวกับพระทางเหนือที่สร้างสมัยพระนางจามเทวีก็อยากหามาเก็บให้ครบ 8 องค์ตามที่มีชื่อในบทกลอน ตอนนี้รวบรวมครบแล้ว
พระรอด ยอดสูงส่ง
อีกพระคง คงกระพัน
พระลือ ชื่อลือลั่น
เสน่ห์นั้น ต้องพระบาง
พระเปิม ช่วยเสริมสร้าง
พระเลี่ยง ล้างทางอัปรีย์
พระลบ พบคนดี
มีสุขศรี พระรอดหลวง
เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นสะสมพระเครื่องของคุณพ่อ ท่านเล่าว่า
“ผมเป็นคนพิษณุโลก เกิดพิษณุโลก เคารพนับถือพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร มาตั้งแต่เด็ก พอรับราชการทหารอากาศ เวลาเดินทางไปจังหวัดไหนก็ได้รับพระเครื่องกลับมาเป็นที่ระลึก มีทั้งเช่าจากวัดบ้าง ได้รับเป็นที่ระลึกจากงานต่าง ๆ บ้าง คนรู้จักให้มาบ้าง ลูกน้องนำมาฝากบ้าง”
เมื่อคุณพ่อได้พระเครื่องมาก็นำมาเก็บสะสม และนำออกมาส่องดูเป็นครั้งคราว
“สะสมพระเครื่องแล้วต้องหยิบออกมาดูครับ ดูพระแล้วผมสบายใจ” พ่อธีพูดยิ้ม ๆ
ความเหมือนของคุณพ่อและลูกสาว คือชื่นชอบความงามทางพุทธศิลป์ และไม่เคยส่งพระเครื่องเข้าประกวดที่เวทีไหน
จริง ๆ แล้วพ่อมีงานอดิเรกหลายอย่าง เคยปลูกต้นกล้วยไม้ เพาะพันธุ์ได้ดอกสวย ๆ ส่งเข้าประกวดได้รับรางวัลระดับอาเซียน ต้นโป๊ยเซียนพ่อก็ปลูกได้งาม เคยส่งประกวดได้รางวัลเช่นกัน
ช่วงที่พ่อจัดว่าเป็นเซียนกล้วยไม้ บอลลี่ยังเป็นเด็ก พอได้เป็นลูกมือช่วยพ่อปลูกกล้วยไม้ ได้เห็นดอกกล้วยไม้สวยงามสมบูรณ์ที่พ่อส่งเข้าประกวด ก็จดจำมาวาดภาพดอกกล้วยไม้สวย ๆ
บอลลี่เล่าว่า “ช่วงเด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกับคุณพ่อบ้าง แต่ส่วนใหญ่สนิทสนมกับคุณแม่มากกว่า เพราะสนใจงานเย็บปักถักร้อย งานประดิษฐ์ต่าง ๆ และการทำอาหาร ทำขนม มีกิจกรรมทำกับคุณแม่ได้ตลอด แต่กับคุณพ่อบางครั้งก็ไม่ค่อยได้คุยกัน เพราะมีแนวคิดแตกต่างกัน”
ส่วนพระเครื่อง ต่างคนต่างสะสมตามความชอบของตนเอง ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้คุยกันเรื่องพระเครื่อง จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นปลาย พ.ศ. 2556 รุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยชวนบอลลี่ไปดูการประกวดพระเครื่องที่จัดโดยสถาบันศรัทธาธรรมพระเครื่อง บอลลี่ชวนพ่อไปด้วย โดยคิดแค่ว่าจะไปดูบรรยากาศเพียงเท่านั้น
เมื่อไปถึง ลูกสาวได้เห็นขั้นตอนการส่งพระเครื่องเข้าประกวดว่าต้องทำอย่างไรบ้าง โดยมีค่าสมัครเข้าร่วมประกวด องค์ละ 600 บาท ถ้ากรรมการพิจารณาดูแล้วพบว่าไม่ใช่ของแท้จะถูกคัดออก
ด้วยความอยากรู้ว่าพระที่ห้อยคออยู่เป็นพระแท้หรือเปล่า เพราะไม่เคยให้ใครช่วยดูมาก่อน
บอลลี่กับคุณพ่อเลยตัดสินใจถอดพระจากคอ ส่งเข้าร่วมประกวดคนละ 1 องค์ ด้วยความเงอะงะ ไม่คุ้นสนาม
ผลการประกวดออกมา ปรากฏว่า พระปางลีลา พิมพ์เปิดโลก ยืนตอ (เนื้อดิน) พระเครื่ององค์แรกที่บอลลี่สะสม ได้รับรางวัลที่ 1 และเหรียญพระพุทธชินราชของพ่อก็ได้รับรางวัลที่ 1 โดยรางวัลที่ได้รับคือถ้วยรางวัลและเกียรติบัตร
“ฉันประกวดศิลปะได้ที่ 1 ก็ไม่ตื่นเต้นเท่ากับประกวดพระได้ที่ 1 เลยนะ” บอลลี่เล่าถึงเหตุการณ์วันนั้น แววตาเป็นประกาย “ถ้าเป็นศิลปะ เราต้องทำเองกับมือจนมั่นใจว่ามันได้ แต่พระเครื่องเป็นสิ่งที่ต้องเฟ้นหา พอชนะแล้วปลื้มมากจนน้ำหูน้ำตาไหลเลย”
เมื่อไม่ได้คาดหวังมาก่อนว่าจะได้ถึงรางวัลสูงสุด สองพ่อลูกก็ตื่นเต้นดีใจมาก พอกลับมาบ้าน ก็เป็นพ่อเองที่ติดใจไม่หาย ค้นพระที่เก็บไว้ออกมาดู อยากจะหาพระส่งประกวดอีกในครั้งต่อไป
การไปงานประกวดพระ ไม่เพียงพาให้พ่อและบอลลี่เข้าวงการอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่ทำให้สองพ่อลูกที่ต่างคนต่างแซะกันมายาวนาน มีเรื่องคุยกันสนุกมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
หลังจากนั้นคุณพ่อก็หาซื้อหนังสือมาอ่าน ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม หากสนใจพระองค์ไหน เมื่อมีเวลาก็ออกไปหาตามแหล่งต่าง ๆ ที่มีแผงพระให้เช่า แถววัดบ้าง โต๊ะพระตามตลาดนัดบ้าง ได้องค์ที่ถูกใจกลับมาก็ช่วยกันดูกับบอลลี่ เปรียบเทียบกับข้อมูลในหนังสือ คอยปรึกษาหารือกัน 2 คน
บอลลี่เอง ถ้าได้พระองค์ใหม่มาก็นำมาให้พ่อช่วยดู เพราะพ่อเป็นคนละเอียด อ่านหนังสือเยอะ
“พระที่ไปเช่ามา เมื่อนำกลับมาส่อง พินิจพิจารณาดูแล้วพบว่าไม่ใช่ของแท้ก็มี” คุณพ่อเล่า
ไม่แท้ แล้วทำอย่างไร – ทีมงานก้อนเมฆถาม
“ไม่แท้ก็เก็บไว้ แยกไว้ต่างหาก ไม่เอาไปให้ใคร” คุณพ่อตอบพร้อมเสียงหัวเราะ
หลังจากส่งประกวดจนได้รับรางวัลที่ 1 ก็มีเดินสายไปประกวดพระเครื่องอีกมากกว่า 10 ครั้ง ในช่วง พ.ศ. 2556 – 2560 เลือกไปสนามที่เน้นแนวทางด้านพุทธศิลป์และการอนุรักษ์
การประกวดที่รู้สึกประทับใจมาก ๆ นอกจากครั้งแรกที่ถือว่าเป็นการเปิดโลก ยังมีอีก 2 งานที่บอลลี่และพ่อได้รับรางวัลมากมาย ได้แก่ งานที่จัดโดยกลุ่มอนุรักษ์พระเครื่องเลือดบ้านค่าย จังหวัดระยอง ส่งประกวด 23 องค์ ได้รางวัลที่ 1 จำนวน 14 รางวัล รางวัลที่ 2 จำนวน 6 รางวัล รางวัลที่ 3 จำนวน 1 รางวัล รางวัลพระแท้ 2 องค์ และรางวัลถ้วยรวมยอดเยี่ยม อีกหนึ่งงานจัดโดยสถาบันพระเครื่องไทย ส่งประกวด 45 องค์ ได้รางวัลที่ 1 จำนวน 29 รางวัล รางวัลที่ 2 จำนวน 13 รางวัล รางวัลที่ 3 จำนวน 3 รางวัล
พระเครื่องและวัตถุมงคลที่ส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลมากมายจาก 2 งานนั้น คือพระเครื่องและวัตถุมงคล หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
บอลลี่ศรัทธา หลวงปู่ทิม เพราะท่านเป็นอริยสงฆ์ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ท่านมีอภิญญาสูง และท่านเป็นหมอยาด้วย พระเครื่องวัตถุมงคลที่สร้าง สัดส่วนการปรุงเนื้อพระผงพรายกุมารรุ่นต่าง ๆ จึงมีสูตรหลากหลาย มีพุทธศิลป์หลายรูปแบบ งดงามแปลกตา ละเอียดงดงาม หลายองค์ประดับด้วยตะกรุดทองคำอย่างประณีตบรรจง เกิดจากความศรัทธาของลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นเจ้าของร้านทองในระยอง
“เวลาไปสนามประกวดก็แบ่งหน้าที่กันทำ เช่น บอลลี่กรอกเอกสารลงทะเบียน กรอกใบสมัคร คุณพ่อนำพระและใบสมัครไปส่งให้ทีมงานรับพระไปถ่ายรูป” เธอเล่าถึงการทำกิจกรรมร่วมกันกับคุณพ่อ
ต้องทำงานเป็นทีม เพราะแต่ละครั้งที่ไป ส่งพระหลายองค์ ส่ง 20 องค์ ต้องกรอกถึง 20 ใบ
หลังจากส่งพระเข้าประกวด ก็ต้องรอฟังผลการตัดสิน ใช้เวลารอประมาณ 4 ชั่วโมง ทั้งคู่มักหาที่นั่งด้วยกันเงียบ ๆ ในร้านกาแฟบ้าง หรือคุยกับผู้ร่วมประกวดคนอื่น ๆ บ้าง
เราถามบอลลี่ว่า ข้อดีของการคุยกับคุณพ่อเรื่องพระเครื่องมีอะไรบ้าง
“เป็นเรื่องที่คุยกันได้เรื่อย ๆ และมีกิจกรรมทำร่วมกัน มีการวางแผนว่าจะทำอะไรต่อด้วย เช่น ไปซื้อหนังสือ ไปหาพระมาเพิ่ม ช่วยกันเลือกว่าควรจะส่งองค์ไหนเข้าประกวด มีพระสมเด็จวัดระฆังองค์หนึ่ง ประกวดได้ที่ 1 มาแล้ว 3 สนาม รู้สึกว่าพอแล้ว ไม่ต้องส่งองค์นี้ไปประกวดแล้ว” ลูกสาวให้คำตอบ
ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา สองพ่อลูกไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานประกวดพระเครื่อง เนื่องจากผู้จัดบางสนามหยุดจัด เนื่องด้วยโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ต้องงดจัดประกวดไปโดยปริยาย แต่บอลลี่และพ่อก็ยังใช้เวลาว่างร่วมกันด้วยการคุยกันเรื่องพระเครื่อง ยังเพลิดเพลินกับการส่องพระที่สะสมไว้
เรื่องการเตรียมตัวก่อนเกษียณ ในฐานะที่พ่อเกษียณอายุราชการมา 20 กว่าปีแล้ว แนะนำว่า
- เตรียมงานอดิเรกไว้ทำหลังเกษียณ ชอบอะไร อยากทำอะไร เตรียมไว้ ถ้าไม่มีอะไรทำจะรู้สึกเหงา
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง
- ทำจิตใจให้เบิกบาน หัวเราะวันละ 5 – 6 ครั้ง ถ้าทำให้คนใกล้ตัวหัวเราะได้ด้วยยิ่งดี
- ออมเงินไว้ล่วงหน้า คุณพ่อรับราชการ เลยออมเงินไว้กับสหกรณ์และอื่น ๆ
“หนึ่ง สบายใจ สอง คนอื่นไม่เดือดร้อน” นั่นเป็นเหตุผลที่คุณพ่อเตรียมตัวเกษียณแต่เนิ่น ๆ
ความสุขหลังเกษียณของคุณพ่อ คือตัวเองไม่ค่อยเจ็บป่วย ครอบครัวสุขสบายดี และได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดกับครอบครัว รวมญาติไปเที่ยวกัน 40 กว่าคน ปีละครั้ง ทำต่อเนื่องมา 20 ปีแล้ว
สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้คุยกับผู้ใหญ่ในบ้าน ด้วยความที่มีช่องว่างระหว่างวัยหรือมีเรื่องไม่เข้าใจกัน บอลลี่มีคำแนะนำว่า “ต้องเปิดใจ เข้าใจท่าน หาวิธี หากิจกรรม พยายามปรับตัว พยายามหาวิธีการ สังเกตว่าท่านชอบอะไร เริ่มจากพาท่านออกไปเที่ยวนอกบ้าน ไปกินอาหาร ไปช้อปปิ้ง ให้ท่านได้เห็นว่ามีกิจกรรมอะไรน่าสนใจบ้าง ถ้าท่านไม่ชอบออกไปข้างนอก หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตให้ท่านดูก่อนก็ได้
“ใครที่ยังมีพ่อแม่อยู่ด้วยนับว่าโชคดี ต้องฉกฉวยเวลานี้ หากิจกรรมทำร่วมกันจะได้ไม่เสียใจภายหลัง บางคนไปอยู่ต่างจังหวัด ต่างประเทศ กว่าจะกลับมาพ่อแม่เป็นอัลไซเมอร์ จำไม่ได้แล้ว และเรื่องการจัดการความสัมพันธ์ควรรีบทำ ไม่ต้องรอให้อายุมาก เพราะเวลาของทุกคนเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ”
เมื่อได้ฟังลูกพูด คุณพ่อก็เสริมว่า “พ่อแม่ลูกหนีกันไม่พ้น อาจคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง เดี๋ยวก็ดีกัน เข้าใจกัน หนักเบาก็ให้อภัยกัน เรามีชีวิตอยู่ได้เพราะครอบครัว พึ่งพาอาศัยกัน มีลูกดีก็สบายใจ
“ความภูมิใจในตัวลูก คือลูกตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน ไม่ทำให้พ่อแม่เดือดร้อน”
สำหรับผู้เขียน ในฐานะเพื่อนที่รู้จักกันมานาน ดีใจที่มีโอกาสสัมภาษณ์บอลลี่และคุณพ่อ ทำให้ทราบเรื่องราวในอีกแง่มุมของเพื่อน ยินดีด้วยที่เพื่อนมีกิจกรรมทำร่วมกันกับพ่อ มีเรื่องคุยกันมากขึ้น
เรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาอาจเป็นจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งที่กระตุ้นเตือนให้นึกถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์สำหรับใครบางคนที่อาจมีระยะห่างกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม
ขอบคุณ The Cloud ที่ให้โอกาสได้ทำงานนี้
ขอบคุณบอลลี่และคุณพ่อคุณแม่ที่เปิดบ้านต้อนรับเราค่ะ