ในวันที่เฟซบุ๊กประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Meta’ และทุกคนก็ดูเหมือนจะพร้อมโอบรับ ตัวตนใหม่ในโลกเสมือนนี้กันถ้วนหน้า เพื่อนคนหนึ่งก็แคปหน้าจอของตัวเองมาอวดว่า มีคนตามในโลกโซเชียลเหยียบล้าน ในแทบจะทุกช่องทางแล้วนะ และในวันเดียวกันนี่เอง ที่ผมตัดสินใจเขียนเรื่อง ‘Alter Ego’ ในคอลัมน์วัตถุปลายตาตอนนี้
ในโลกที่ตัวเลขของ Followers เท่ากับมูลค่าและโอกาสทางธุรกิจ ผมอดคิดไม่ได้ว่า ตัวตนของคนที่เราเห็นหรือเลื่อนนิ้วผ่านบนโทรศัพท์นั้น ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับตัวจริงของเขากี่มากน้อย
“ในอนาคต ทุกคนจะเป็นคนดัง แต่ภายในช่วงสิบห้านาทีเท่านั้น” ประโยคคลาสสิกที่ แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) เคยพูดไว้เลาๆ ใช้อธิบายปรากฏการณ์ ‘ไวรัล’ ของโลกเสมือนและโลกออนไลน์ที่นับวันจะมีบทบาทกับชีวิตของมนุษย์มากขึ้น แบบที่ไม่มีวันย้อนหวนกลับ
ทว่าอันที่จริงการเกิดขึ้นของ ‘ตัวตนต่าง’ หรือ Alter Ego (หรือแอคหลุมในบางกรณี) มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นในวันที่เฟซบุ๊กเปลี่ยนเป็น Meta เพราะขนาด แอนดี้ วอร์ฮอล ก็เคยประดิษฐ์ตัวตนที่เป็นผู้หญิงของตัวเองขึ้น ภายใต้ชื่อ นาง Drella อันที่จริง โลกของการมีอีกหนึ่งตัวตนนั้น เป็นที่คุ้นเคยในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ศิลปะ และดนตรีมายาวนาน

วัตถุปลายตาจะพาท่านผู้อ่านไปศึกษาการสร้างอีกหนึ่งตัวตนของคนระดับตำนาน แล้วชวนหันกลับมามองโลกที่เราอยู่กันวันนี้ ว่าคุณๆ ท่านๆ ทั้งหลาย พร้อมหรือยัง กับโลก Metaverse ที่จักรวาลนับหมื่นล้านหมุนและโคจรไปพร้อมๆ กัน
ไม่ว่าคุณจะเลือกเป็น Clark Kent หรือ ซูเปอร์แมน, Beyonce หรือ Sasha Fierce, David Bowie หรือ Ziggy Stardust สิ่งหนึ่งที่คุณอาจจะไม่ทราบก็คือ ตัวตนของคุณ บางทีอาจจะมีมากกว่าหนึ่งมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกแล้วก็เป็นได้
และนี่คือบทบันทึกการเดินทางของโลกที่คุณ ไม่ใช่แค่คุณ
Alter Ego คืออะไร
ใน ค.ศ. 1730 มีการจัดตั้งการศึกษาวิจัยเรื่องตัวตนอีกตัวตนหนึ่ง หรือ Otherself ขึ้นมา โดยนาย Anton Mesmer ตั้งสมมติฐานก่อนทดลองว่า คนที่ทำตัวแปลกออกไป ในขณะที่ตื่นรู้อยู่นั้น ถือว่าโดนสะกดจิต
จนกระทั่ง ค.ศ. 1900 นั่นแหละ ที่คำว่า ‘Alter Ego’ หรือตัวตนเสมือนถูกนิยามขึ้น เพื่อระบุปัญหาและอาการเกี่ยวกับโรค Multiple Personality Disorder แต่จนภายหลังจึงเป็นที่ทราบกันว่า การมีตัวตนเสมือนนั้น ไม่ถือเป็นอาการป่วยแต่อย่างใด
ความต่างของการป่วยมีหลายบุคลิกกับการแค่มีตัวตนเสมือนนั้น อยู่ที่ว่าเจ้าตัวรู้ตัวหรือไม่ว่ามีบุคลิกอีกแบบซ่อนเร้นอยู่

ทฤษฎีที่ว่าด้วยการรู้ตัวและตั้งใจสร้างตัวตนเสมือนขึ้นมานั้น เริ่มพัฒนามาจากนักจิตวิทยาชื่อ Roberto Assagioli ซึ่งอธิบายไว้ว่า เราทุกคนมีตัวตนแฝงอยู่ในตัวเองไม่มากก็น้อย ตามระดับที่ไม่เหมือนกัน และตัวตนที่เราใช้ดำเนินชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น ก็คือตัวตนที่มีอำนาจต่อเรามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ
แต่ตัวตนอื่นๆ ไม่ได้จางหายไป เพียงแต่เราจะหยิบมันขึ้นมาใช้ตามประสบการณ์ที่ถูกหล่อหลอมมา ซึ่งเป็นปัจเจก บทบาทสมมติเหล่านี้มักจะโผล่ขึ้นมาตามเหตุการณ์จำเป็นต่างๆ เช่น เราอาจจะสวมบทบาทนักสู้ นักปกป้อง ผู้ดูแล หรือเล่นบทเหยื่อได้ทั้งสิ้น แล้วแต่ว่าเราเลือกที่จะหยิบบทบาทไหนขึ้นมาใช้ในเวลานั้นๆ

วิทยาศาสตร์ แห่ง Sasha Fierce
ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ ว่า Beyonce มีอีกหนึ่งร่างอวตารที่เธอตั้งชื่อให้เองว่า Sasha Fierce มีความมั่นใจสูงปรี๊ด เซ็กซี่ปรอทแตก และเฟียซชนิดเกินเบอร์ ซึ่งตัวร่างจริงอย่าง Beyonce เคยบอกไว้ว่า
“ทุกครั้งที่ฉันได้ยินคอร์ดเจ๋งๆ ทุกครั้งที่ฉันใส่รองเท้าส้นสูงปรี๊ด ทุกครั้งที่ฉันตื่นเต้นเกินกว่าจะขึ้นไปแสดงบนเวที ซาช่า เฟียซ จะโผล่มาช่วยเธอไว้ และซาช่าเองนั้นก็พูด เดิน เหิน เต้น ต่างจากตัวจริงของเธอลิบลับ”
Beyonce ให้สัมภาษณ์กับ Oprah Winfrey ไว้ว่า เธอจะอัญเชิญ Sasha ไว้ในกายหยาบอีกสักปีสองปี จนกว่าเธอจะรับมือกับอารมณ์ของการที่ต้องแสดงให้เฟียซคืนแล้วคืนเล่าได้เอง

อเดลล์เองก็ยอมรับว่า เธอมีอีกร่างที่ชื่อว่า Sasha Carter เป็นส่วนผสมของ Beyonce (ในเวอร์ชัน Sasha Fierce) และ June Carter นักร้องคันทรี่ระดับตำนาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเองในการขึ้นไปแสดงบนเวทีเช่นกัน ซึ่งอเดลล์ก็ประกาศตัวเป็นแฟนของทั้งสองนักร้องระดับตำนานอย่างเปิดเผย และไม่ได้คิดว่า Sasha Carter เป็นแค่กิมมิกในอุตสาหกรรมเพลงป๊อปแต่อย่างใด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Rachel White แห่ง Hamilton College ในนิวยอร์กกล่าวไว้ว่า การ ‘Self Distancing’ หรือการเว้นระยะห่างออกมาจากตัวตนของตัวเองนั้น ทำให้เรามองเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยตรรกะและเหตุผลที่เป็นภาพใหญ่มากขึ้น และทำให้เราลดความกังวล เพิ่มความอดทนต่อความกดดันและอุปสรรค ร่วมถึงเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเราเองได้อย่างน่าประหลาด

Self-distancing ศิลปะของเว้นระยะห่างจากตัวเอง
จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ผู้ร่วมเข้าการทดลองถูกขอร้องให้คิดถึงอุปสรรคในอนาคต แล้วแบ่งผู้ทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งขอให้ดำดิ่งลงไปในความคิดและอุปสรรคของตัวเอง ในขณะที่อีกกลุ่ม เขียนปัญหาและอุปสรรคแปะผนังไว้ แล้วถอยออกมามองในภาพกว้าง ผลที่ออกมาสรุปได้ว่า กลุ่มที่ถอยออกมามองปัญหาจากระยะไกล รู้สึกกังวล เครียด ตื่นเต้น น้อยกว่า และหาวิธีแก้ปัญหาได้มากกว่ากลุ่มที่จม ดำดิ่งไปกับสถานการณ์ในหัวของตัวเอง
อีกหนึ่งการทดลองที่ผมคิดว่ามีประโยชน์และน่าสนใจมากๆ ได้แก่ การถามคำถามเกี่ยวกับอาหารที่กำลังจะรับประทาน แบบแรกถามว่า “อาหารแบบไหนที่ฉันจะกินกันนะ” และ อีกหนึ่งคำถาม คือแทนคำว่า ฉัน ด้วยชื่อตัวเอง ผลปรากฏว่าคำถามแบบหลังทำให้ผู้ตอบเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์กับตัวเองมากกว่า

หากข้อมูลข้างบนยังไม่เพียงพอว่าการมีทั้งปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ และ Spider Man หรือการมีทั้ง บรูซ เวนย์ และ แบทแมน มีข้อดีข้อเสียอย่างไร อีกหนึ่งการทดลอง ขอให้เด็กๆ ในวัยเรียนสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมา เช่น ซูเปอร์ฮีโร่หรือตัวละครโปรดอย่าง โดร่า นักสำรวจ ผลวิจัยค้นพบว่าเด็กๆ เหล่านี้ จะมีสมาธิดีขึ้น และทำงานหนักขึ้นถึง 13 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน
Alter Ego จำเป็นต้องมีหรือไม่
บางคนก็บอกว่า การที่เราต้องสร้างอีกตัวตนขึ้นมา ทำให้เราเห็นแง่มุมต่างๆ ของอัตตา หรือตัวตนที่แท้จริงของเรามากขึ้น และอีกตัวตนหนึ่งของเราก็อาจจะกล้าทำในสิ่งที่ปกติเราไม่กล้าทำ ซึ่งหลายกรณีทำให้แง่มุมการใช้ชีวิตของเราสมบูรณ์หรือหลากหลายมากขึ้น
แล้วเราจะสร้างตัวตนใหม่ของเราได้ยังไง โดยไม่ต้องรอแว่น Metaverse
คำตอบคือการใช้ชีวิตให้หลายหลาก พบปะผู้คน ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ปกติเราในเวอร์ชันวันธรรมดาคงจะไม่คิดจะเข้าไปสัมผัส ถ้ายังฟังดูยากอยู่ นี่คือวิธีการแบบ Step by Step ในการสร้าง Sasha Fierce คนใหม่ฉบับตัวคุณขึ้นมาเอง
- คุณต้องการตัวตนอีกตัวตนหนึ่งไปทำไม IO หรือ แอคหลุม ซึ่งเหตุผลส่วนมากก็มักจะหนีไม่พ้น การปกป้องความเป็นส่วนตัวของตัวคุณเอง ถ้านั่นคือเหตุผลหลัก คุณจะมีสักกี่แอคหลุมก็ไม่ใช่เรื่องผิด
- นิยามบุคลิกใหม่ของตัวตนใหม่ของคุณ ส่วนมากแล้วมันมักจะเป็นขั้วตรงข้ามของตัวตนจริงของคุณเสมอ
- สร้างรูปร่างหน้าตาใหม่ สำหรับตัวตนใหม่ของคุณที่แตกต่างไปจากตัวตนปกติ
- ตั้งชื่อให้ตัวตนใหม่
- นำพาตัวตนใหม่ของคุณเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม หรือบริบทที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยตัวคุณเอง
- อย่าลืมออกมาจากตัวตนเสมือนบ้าง เพื่อให้เส้นแบ่งระหว่างตัวคุณจริงๆ กับตัวคุณอันดับสองแบ่งออกชัดเจนเสมอ

ตำนานแอคหลุม
ถ้าคุณกำลังคิดหวั่นใจ ว่าหากคุณสร้างตัวตนใหม่แบบเสมือนออกมาแล้ว คนทั่วไปจะคิดว่าคุณน่าจะเพี้ยนๆ ผมขอยกตัวอย่างตัวตนใหม่ในตำนานของวงการศิลปะและดนตรี ที่หวังว่าจะช่วยทำให้การให้กำเนิดคุณคนใหม่นั้น เป็นไปได้อย่างสบายใจกว่าเดิม ดังนี้
David Bowie – Ziggy Stardust / Aladdin Sane / Thin White Duke
Beyonce – Sasha Fierce
Adele – Sasha Carter
Miley Cyrus – Hannah Montana
Paul McCartney – Percy Thrillington
Prince – Camille
Eminem – Slim Shady
Nicky Minaj – Roman Zolanski
Madonna – Madame X
Andy Warhol – Drella
Marcel Duchamp – Rrose Selavy
Jean Michel Basquiat – Samo

ข้อควรระวังสำหรับการมีตัวตนเสมือน (ออนไลน์)
การสร้าง Sasha Fierce ขึ้นมาไม่ใช่เรื่องผิด แต่จริงๆ แล้ว ตัวตนที่ผุดขึ้นมาด้วยฝีมือของเรานั้น ส่วนมากจะตอบสนองความต้องการลึกๆ ของเรา เติมเต็มส่วนที่เราอยากเป็น อยากมี อยากทำได้ และเชื่อว่านี่คือด้านลับของเราที่ควรเฉลิมฉลอง

ตราบใดที่เราไม่หลงเข้าใจผิด คิดว่าตัวตนที่สร้างมาคือตัวตนของเราที่จะต้องคงอยู่ตลอดไป ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง และหลงเคลิ้มไปกับสิ่งที่ตัวเราเองสร้างขึ้น
แน่นอนว่าวันที่แว่นตา Metaverse จะเข้ามาสวมถึงหน้าบ้านคงมาถึงในไม่ช้า และถ้าหากอเดลล์สามารถหยิบนักร้องโปรดสองคนมาผสมกันให้กลายเป็นร่างอวตารได้ ผม – Aretha นำโชค ก็ขออวยพรให้ทุกท่าน ท่องโลกเสมือนด้วยอัตตาและตัวตน ที่สนุกสนานในทุกๆ วัน ไม่ว่าคุณจะแคร์หรือไม่แคร์ยอด Followers ของคุณก็ตาม
David Bowie หรือ Ziggy Stardust เคยกล่าวไว้ว่า “ฉันก็ยังไม่รู้ว่าฉันจะเดินทางไปทางไหนต่อเหมือนกันแหละนะ แต่ให้สัญญาเลย ว่ามันจะไม่น่าเบื่อแน่นอน”
ข้อมูลอ้างอิง