“ทางออกจากบ้านเราเทปูนทำถนนใหม่เมื่อเช้า ถ้ารอถนนแห้งคุณน่าจะไปขึ้นเครื่องไม่ทัน งั้นเดี๋ยวคุณนั่งมอเตอร์ไซค์ออกไป แต่ไม่ต้องห่วง เราจะเอากระเป๋าเดินทางของคุณขึ้นมอเตอร์ไซค์ไปด้วย”

เราขอเริ่มย่อหน้าแรกด้วยการสปอยล์ตอนจบของทริปบาหลีด้วยประสบการณ์สุดพิเศษเหมือนที่ Airbnb สัญญาไว้ตอนมาชวนให้ The Cloud ไปร่วมเดินทางกับสื่ออีก 10 กว่าประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับการท่องเที่ยวบาหลี วันนี้เราขอเป็นตัวแทนทีมไทยมาชวนทุกคนเดินทางเพื่อไปสัมผัส ‘ความเป็นบาหลี’ ขอย้ำว่านี่ไม่ใช่โปรแกรมพิเศษสำหรับสื่อ แต่เป็นโปรแกรมของ Airbnb ที่ทุกคนกดจองได้!

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ที่เกาะบาหลี แดดจ้า อากาศอบอุ่นแบบต้องถอดแจ็กเก็ตทันทีที่ออกจากเครื่องบิน เราเดินผ่านโถงผู้โดยสารขาเข้าที่ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยอุณหภูมิแบบธรรมชาติ นั่งรอคนขับรถที่นัดกันไว้ 1 ชั่วโมง ก่อนจะนั่งรถฝ่าการจราจรช่วงหลังเลิกงานอีก 2 ชั่วโมง ไปยังบ้านพักที่อยู่ท่ามกลางทางลูกรังและทุ่งนา ก่อนพระอาทิตย์จะลับฟ้าพอดี

ทีมงานของ Airbnb บอกว่าบ้านพักแถบนี้เหมาะกับการปลีกวิเวก เพราะสงบและใกล้ชิดธรรมชาติ เป็นที่ชื่นชอบของชาวตะวันตกสุด ๆ หนทางเข้าออกมีเพียงถนนแคบ ๆ รถสวนไม่ได้ ทางที่ดีที่สุดคือการขี่มอเตอร์ไซค์

บ้านของเราด้านหนึ่งติดป่า อีกด้านติดทุ่งนา ถ้ามาพักที่นี่สักครึ่งปีก็น่าจะได้เห็นวัฏจักรการปลูกข้าวครบ 1 รอบ แต่ถ้ามีเวลาไม่กี่วันก็จะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตกครบ 1 รอบเหมือนกัน 

ที่บาหลีมีบริการเชฟส่วนตัวที่จ้างให้มาทำอาหารที่บ้านได้ โดยเราแค่เลือกเมนูที่อยากกิน เชฟจะไปตลาด คุ้ยตู้เย็น จุดเตา และจัดจานอาหารให้เรากินแบบไม่ต้องออกไปไหนเลย

ภาพจำเกี่ยวกับบาหลีน่าจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ทุ่งนา + วัฒนธรรม และ ชายหาด + ปาร์ตี้ รอบนี้เรามาเยือน ‘อูบุด (Ubud)’ แหล่งท่องเที่ยวประเภท ทุ่งนา + วัฒนธรรม ที่หลายคนรู้จักผ่านภาพยนตร์ Eat Pray Love ที่ จูเลีย โรเบิตส์ มาพักใจและพบรักที่นี่ 

แล้วก็อาจจะเป็นเพราะ Eat Pray Love นี่แหละที่ทำให้พอกวาดตามองเร็ว ๆ เราเห็นชาวต่างชาติเยอะมาก ทั้งฝรั่งและเอเชีย ที่น่าสนใจคือฝรั่งหลายคนดูคุ้นเคยกับสถานที่ ขี่มอเตอร์ไซค์คล่องแคล่ว แถมยังช่วยบอกทางได้อีกต่างหาก 

เราได้รับคำอธิบายเรื่องนี้จากชาวเยอรมันที่ร่วมทริปด้วยกันว่าบาหลีเป็นเกาะสวรรค์ของชาวยุโรป โดยเฉพาะหลังจากวิกฤตพลังงานที่แค่ค่าไฟต่อเดือนเพียงอย่างเดียวก็เอามาใช้ชีวิตที่นี่ได้หลายเดือนแล้ว จึงเป็นเหตุให้มีชาวยุโรปหนีหนาวมาอยู่ยาว ๆ ที่บาหลีเยอะมาก จนมีชุมชนย่อม ๆ ซึ่งก็ดูจะอยู่ร่วมกับคนท้องถิ่นได้อย่างไม่มีใครรบกวนใคร

ทริปนี้ Airbnb บอกว่าจะพามารู้จักบาหลี แล้วเขาก็ว่ากันว่าห้องครัวคือสถานที่ที่จะทำให้เราได้รู้จักบ้านที่เราไปเยือนมากที่สุด ฉะนั้น อยากสนิทกับใคร ให้ไปกินข้าวที่เขาทำ ที่ครัวของเขา

กิจกรรมสัมผัสความเป็นบาหลีที่เราได้ไปทำในทริปนี้ จึงเริ่มด้วยการเรียนทำอาหารที่ Ubad Ubud กับเจ้าภาพสุดแซ่บ ชื่อ Maid (เมด) 

เมดเปิดบ้านต้อนรับหลังพาพวกเราไปเดินดูตลาดเช้า ที่ต้องไปเรียนกันถึงที่บ้าน เพราะเมดไม่ได้แค่จะสอนทำอาหาร แต่แจ้งพวกเราว่าชั้นเรียนนี้มีข้อสอบเป็นการทำอาหารกลางวัน ซึ่งพวกเราจะต้องทำกินกันเอง และเรื่องในครัวของชาวบาหลีไม่ได้อยู่แค่ในครัว แต่เป็นศูนย์กลางของวิถีชีวิต

เธอเล่าเรื่องจากก้นครัวให้เราฟังอย่างออกรสยิ่งกว่าของว่างที่เธอเอามาเสิร์ฟ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ลูกสะใภ้แต่ละคนต้องมีครัวเป็นของตัวเอง งานเลี้ยงงานทำบุญของชุมชนคือเรื่องสำคัญอันดับ 1 เพราะถ้าไม่ไปวันที่เราจัดงานจะไม่มีใครมา ซึ่งจะเสียหน้ามาก ๆ หรือแม้แต่การดูแลผู้สูงอายุของรัฐบาลที่ทำผ่านการรณรงค์ให้รับเด็กมาเลี้ยง แก่ไปจะได้มีคนดูแล 

เมดสอนเราทำอาหารทั้งหมด 9 เมนู สกิลล์การทำอาหารที่แต่ละคนพกติดตัวมาจากทุกมุมโลกก็มีหลายระดับ หลายทฤษฎี ทุกคนช่วยกันตำ ผัด สับ คลุก เสียบไม้ ย่าง ต้มกันชุลมุน จนได้อาหาร 9 จานซึ่งต่างคนก็ต่างชื่นชมกันเองที่ช่วยกันให้ไม่ต้องอดอาหารกลางวัน

อีกหนึ่งประสบการณ์ที่สนุกไม่ซ้ำแน่ ๆ คือการนำเที่ยวโดยคนท้องถิ่นที่ไม่ใช่ไกด์มืออาชีพ (แต่ในบางประเทศจำเป็นต้องมีใบอนุญาต) เพราะเราจะได้ยินเรื่องเล่าสนุก ๆ ของสถานที่นั้น ๆ แบบไม่มีในหนังสือ ไม่เคยได้ยินที่ไหน จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ซึ่งถ้าไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ที่สนใจสืบเสาะความจริง เราว่ามันก็เป็นประสบการณ์เหมือนได้อ่านหนังสือเพลิน ๆ ดีเหมือนกัน

รอบนี้เราได้เจอ โคมัง ที่ Goa Gajah วัดฮินดูโบราณที่มีถ้ำช้างเป็นแลนด์มาร์ก เนื่องจากอากาศที่บาหลีร้อนมาก นักท่องเที่ยวบางคนเลยใส่เสื้อแขนกุดหรือขาสั้น ซึ่งทางวัดก็เตรียมผ้าถุงไว้ให้ใส่ทับเพื่อความเรียบร้อยเหมือนที่ทำกันในประเทศแถบนี้ แต่ที่แปลกสำหรับเราคือเขามีตะกร้าที่ใส่ผ้าแถบสีแดงไว้ด้วย โคมังยื่นผ้าแถบมาบอกให้เราผูกเอวเอาไว้ พร้อมชี้ไปที่แม่ ๆ ชาวบาหลีที่ล้วนมีผ้าแถบสีต่าง ๆ คาดเอวไว้ทั้งนั้น

ถ้าหาอ่านทั่วไปจะได้ความว่า การผูกผ้าที่เอวเป็นความเชื่อทางฮินดูเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย แต่สิ่งที่โคมังเล่าคือให้คาดเอวไว้จะได้ไม่กินของไม่ดี ไม่เอาแต่นั่ง และเดินตัวตรง ซึ่งอาจเป็นการตีความสิ่งชั่วร้ายของโคมังก็ได้ และพอถามถึงผ้าโพกหัวของผู้ชาย เขาบอกว่ามัดเอาไว้จะได้ไม่คิดไม่ดีเวลาเข้าวัด พร้อมยิ้มกว้าง

ตอนกล่าวอำลา คนบาหลีจะพูดขอบคุณว่า “สุข สะ เมอ” คล้ายกับจะบอกให้เรามี ‘สุขเสมอ’ ซึ่งตรงใจพอดีกับความรู้สึกทุกครั้งเวลาเล่าถึงทริปนี้

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น