ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ที่ AI (Artificial Intelligence) เริ่มเข้ามามีบทบาทในหมู่คนตัวเล็ก ๆ ในหลายอุตสาหกรรม แม้แต่งานที่รู้กันว่าต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ อย่างงานเขียน งานวาด งานออกแบบกราฟิก AI ก็เข้าไปแทรกซึมได้ จนเป็นที่พูดถึงกันว่ามนุษย์จะถูกแย่งงานในอนาคตอันใกล้

แน่นอนว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาและประเด็นที่ว่า งานของปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ดูไม่มีเลือดมีเนื้อเอาเสียเลย

ด้านงานเมืองเองก็ใช้ AI กับเขาเหมือนกัน ตอนนี้สถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาเริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนาเมืองในหลายด้าน และมีบางประเทศได้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้จริง ๆ แล้ว เช่นเดียวกันกับสายงานอื่น AI ที่ทำงานเมืองก็มีความสามารถ (มากมาย) และข้อจำกัด (มากมาย) ที่ควรทราบ

เนื่องในวาระที่ได้หยิบยกประเด็น AI กับการพัฒนาเมืองขึ้นมา มาหาคำตอบร่วมกันดีกว่าว่า AI จะแย่งงานนักผังเมืองได้จริงไหม

ความเก่งกาจด้านเมืองของ AI

เราเริ่มสนใจประเด็น AI ช่วยพัฒนาเมืองจากซอฟต์แวร์ที่ชื่อ UrbanistAI

ขั้นตอนการทำงานของ UrbanistAI นั้นเรียบง่าย แค่อัปโหลดภาพบรรยากาศในเมืองเข้าไป จากนั้นระบบก็จะสร้างองค์ประกอบในรูปขึ้นมาใหม่ เช่น เปลี่ยนการออกแบบทางเดิน เปลี่ยนการวางผังตลาด หรือเปลี่ยนการจัดโต๊ะเก้าอี้ใหม่ ทำให้มองเห็นความเป็นไปได้อื่น ๆ ในการออกแบบด้วยระยะเวลาแสนสั้น ไม่ต้องใช้เวลานั่งคิดนอนคิด

ภาพ : UrbanistAI เจเนอร์เรต

แต่จริง ๆ แล้ว มี AI ที่ช่วยวิเคราะห์ได้ลึกกว่านั้นมาก จนนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์กับเมืองได้จริง ๆ 

Camilla Ghisleni จาก ArchDaily เคยวิเคราะห์ไว้ว่า AI ช่วยพัฒนาเมืองได้ 4 ด้านด้วยกัน

01 การออกแบบเมืองและสัณฐานวิทยา

ทีมนักผังเมืองและนักวิทยาศาสตร์จาก Tsinghua University ประเทศจีน ได้พัฒนาระบบการวางผังเมืองด้วย AI ภายใต้แนวคิดเมือง 15 นาที โดยฝึกฝนระบบโดยใช้โปรเจกต์ที่ออกแบบโดยมนุษย์เป็นต้นแบบ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าผลลัพธ์ที่ออกมานั้นใช้ได้เลย และทั้งหมดสำเร็จได้ภายในเสี้ยววินาที

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในหัวข้อนี้คือ Digital Twins หรือแบบโมเดลจำลองเสมือนจากวัตถุทางกายภาพที่ใช้ได้เหมือนวัตถุจริง ซึ่งในกรณีนี้ก็คือการจำลองเมืองเหมือนจริงขึ้นมาในโลกดิจิทัล แล้วทดลองสร้างสถานการณ์ให้กับโมเดลนั้น และนำผลที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจพัฒนาเมืองจริง ๆ ต่อไป

02 ความยืดหยุ่นและการปรับตัวต่อสภาพอากาศ

AI ช่วยเหลือเมืองต่าง ๆ ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยการสร้างแบบจำลองมาคาดการณ์ ประเมินความเสี่ยง และสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า อย่าง i-Tree Canopy ของ Google ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยในการวางผังเมืองโดยการบรรเทาผลกระทบจากคลื่นความร้อนจัด หรือ AI ของนักวิจัย IBM ที่วัดและจัดเก็บข้อมูลปริมาณคาร์บอนในแต่ละพื้นที่ได้

ในโลกที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและแปรปรวนจากภาวะโลกรวน เรามองว่าหาก AI ช่วยจัดการเมืองในด้านนี้ได้ก็จะเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะเมื่อสภาพภูมิอากาศส่งผลโดยตรงกับคุณภาพชีวิต และอาจเป็นภัยต่อชีวิตได้ไม่ยากเลย

03 การวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน

ปี 2021 National Planning Department (DNP) ของโคลอมเบียทำโครงการนำร่องโดยนำแผนที่ทางอากาศมาร่วมวางแผนเมืองและจัดลำดับความสำคัญให้กับพื้นที่ที่จะต้องปรับปรุง ซึ่งภายหลังโครงการนี้ก็ได้พัฒนามาเป็น AI อย่าง MAIIA ช่วยตรวจจับการตั้งถิ่นฐานและนำเสนอวิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ

04 การมีส่วนร่วมของชุมชน

AI อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างนักวางผังเมืองและชุมชน รวมถึงใช้ VR และ AR ช่วยให้ผู้คนเห็นภาพที่นักออกแบบต้องการนำเสนอและแสดงความคิดเห็นได้

จริงอยู่ที่มนุษย์คุยกันเข้าใจที่สุด แต่หากมีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยอีกแรงก็เป็นเรื่องดี

ใครไหวเริ่มก่อน

หากจะยกตัวอย่างเมืองที่เริ่มใช้ AI ในการพัฒนาเมือง ก็คงต้องเอ่ยถึง ‘อัมสเตอร์ดัม’ เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ 

อัมสเตอร์ดัมมีชื่อเสียงในด้านการจัดการระบบคลองและการใช้จักรยาน นับเป็นเมืองที่เป็นต้นแบบที่ดีในการพัฒนามาก ๆ แต่ถึงอย่างไรอัมสเตอร์ดัมก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะบ้าง รถติดบ้าง ปัจจุบันนี้จึงใช้ AI เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ โดยรวบรวมข้อมูลจำนวนรถประจำทาง รถราง รถไฟใต้ดิน ความถี่ในการให้บริการ ผังเมือง ตำแหน่งป้ายจอด และความต้องการของผู้โดยสาร แล้วออกแบบเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดให้แต่ละคน

นอกจากจะทำให้เดินทางได้คล่องตัวขึ้น ยังช่วยให้คนใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น ใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง และลดการปล่อยคาร์บอนโดยรวมของเมืองด้วย

อีกตัวอย่างที่ดีคือเพื่อนบ้านผู้เก่งกาจด้านเทคโนโลยีอย่าง ‘สิงคโปร์’

ตอนนี้นักวางผังเมืองของสิงคโปร์กำลังริเริ่มใช้ AI ช่วยการวางผังเมือง โดยสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ในเมือง และคาดการณ์ผลกระทบของกลยุทธ์การวางแผนที่แตกต่างกัน ซึ่งสถานการณ์ที่ว่าก็มีหลากหลาย เช่น การวางแนวอาคารที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อแสงแดดยังไงบ้าง หรือรูปแบบถนนที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อการไหลของการจราจรยังไงบ้าง

การจำลองและการคาดการณ์ต่าง ๆ ของ AI ช่วยให้นักออกแบบมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้น และคาดการณ์ผลกระทบจากการตัดสินใจนั้น หรือปรับเปลี่ยนแบบให้เหมาะสมก่อนที่จะลงมือก่อสร้างจริงได้ด้วย

เมืองเป็นสิ่งซับซ้อน และการวางแผนเมืองก็เป็นงานที่ต้องบูรณาการข้อมูลหลายด้าน ต่อให้คิดว่าพิจารณาข้อมูลมากแล้ว ก็ยากที่จะครบถ้วนตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เมืองเมืองหนึ่งมีอะไรเกิดขึ้นยิบย่อยไปหมด ทั้งเรื่องคน สัตว์ สภาพอากาศ ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์สารพัด 

จากที่เล่ามาทั้งหมด เราอาจสรุปได้ว่า การใช้ AI ช่วยออกแบบเมืองมีข้อดีในการรวบรวมและจัดการกับชุดข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งถ้านักผังเมืองจะต้องทำด้วยตัวเองทั้งหมด คงต้องใช้กำลังคนเยอะมากและอาจมี Human Error แต่ในขณะเดียวกัน AI ทำได้ง่าย ๆ รวมถึงคาดการณ์การขยายตัวของเมืองด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตและแนวโน้มในปัจจุบันได้ด้วย หลายเมืองในโลกจึงเริ่มใช้ AI กันแล้ว 

ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย ถ้าจะทำบ้าง เราต้องมีการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบก่อน เพราะ AI จะเจเนอร์เรตออกมาไม่ได้ หากปราศจากข้อมูลตั้งต้นที่ถูกต้องและมากพอ นอกจากนี้ยังต้องวางแผนนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในเต็มประสิทธิภาพอีกทีด้วย

เราคงต้องลงทุนกันอีกหลายมิติ

สิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์ทำไม่ได้

พูดถึงความสามารถของ AI กันไปแล้ว เราจะพูดถึงข้อจำกัดของ AI ในการพัฒนาเมืองกันบ้าง

ข้อจำกัดแรก คือด้านจริยธรรม (ซึ่งเอาจริง ๆ ฟังดูก็รู้ว่าเป็นเรื่องของมนุษย์)

หากไม่ได้ป้อนข้อมูลที่หลากหลาย ฝึกอบรม และติดตามอย่างเหมาะสม AI อาจจะลงมือวางผังหรือวางแผนเมืองด้วยอคติได้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนถึงกับบอกว่า AI อาจส่งเสริมความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมเลยด้วยซ้ำ

“ลองจินตนาการถึงโลกดิสโทเปียที่ทุกคนทาสีผนังเหมือนกันเพื่อสร้างความประทับใจให้กับบอต หรือผู้นำท้องถิ่นที่มุ่งเน้นการปรับปรุงคะแนนในแต่ละพื้นที่ด้วยการวัดของ AI แทนที่จะแก้ไขปัญหาจริงสิ” Carlo Ratti ศาสตราจารย์ด้านการวางผังเมืองจาก MIT ยกตัวอย่าง

ถ้าเป็นแบบนั้น จะเรียกดิสโทเปียก็ไม่เกินจริง

ภาพ : NAR Innovation District เมืองอิสตันบูล ที่ AI ช่วยออกแบบและเรนเดอร์

ข้อจำกัดถัดมา คือด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

ระบบ AI ต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมาก และบางส่วนก็เป็นข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลละเอียดอ่อนของบุคคล นักวางผังเมืองและนักพัฒนา AI จึงต้องร่วมมือกันสร้างโปรโตคอลความเป็นส่วนตัวของข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าเจ้า AI จะทำงานอย่างโปร่งใส มีความรับผิดชอบในการใช้ข้อมูล

ข้อจำกัดสุดท้าย คือด้านเทคนิค

อย่างที่เราเกริ่นไปตั้งแต่แรกว่า AI จะต้องอาศัยข้อมูลตั้งต้นที่ดี ถ้าข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่สมบูรณ์หรือมีความเอนเอียง แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ออกมาก็ใช้ไม่ได้

ฉะนั้น จากคำถามที่ว่า AI จะมาแทนที่มนุษย์ได้หรือไม่นั้น ในตอนนี้ก็อาจพอสรุปได้ว่ายังไม่ได้

AI มีประโยชน์มากในบทบาทผู้สนับสนุนที่ช่วยจัดการข้อมูลจำนวนมากในเวลาสั้น ๆ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับนักวางแผนที่เป็นมนุษย์ในการตัดสินใจขั้นสุดท้าย โดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อนอื่น ๆ อย่างเอกลักษณ์ของชุมชน บริบททางวัฒนธรรม หรือจิตใจของชาวบ้านเป็นสำคัญ

เพราะสุดท้ายแล้ว เรื่องเมืองเป็นเรื่องของผู้คนอยู่ดี

ข้อมูลอ้างอิง
  • www.archdaily.com/1012951
  • www.planetizen.com/news
  • www.bloomberg.com/news
  • www.linkedin.com/pulse
  • www.forbes.com/sites

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน