ในฐานะคนคนหนึ่งที่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ คำถามที่อยู่ในหัวผมเสมอคือ หนังแบบไหนกันนะที่เรียกว่า ‘มีคุณค่า’ สำหรับคนดู หรือคุ้มค่าที่จะใช้เวลาและทุนทรัพย์ไปกับมันราว 2 ชั่วโมงบวกลบ 

คิดไปคิดมา คุยกับคนโน้นบ้างคนนี้บ้าง สุดท้ายลงเอยด้วยการได้ข้อสรุปว่า ‘หนังที่ทำงานกับเรา’ ไม่ว่าจะแง่ไหนก็ตามครับ สนุก ตลก บันเทิง กลัว ตื่นเต้น หนังที่ทำให้เราอินได้ หรือสะเทือนอารมณ์ขนาดที่ออกจากโรงไปแล้วยังคงคาอยู่ในสมอง เกิดการพูดคุย หรือถึงขั้นเรียกน้ำตาได้ทั้งระหว่างดูและหลังดู โดยที่หนังแต่ละเรื่องก็จะทำงานกับคนแต่ละแบบที่ต่างกันออกไป และมากน้อยตามประสบการณ์ของแต่ละคน

แต่นอกเหนือจากนี้แล้ว หนังที่มีคุณค่าสำหรับผม คือนอกจากทำให้คนที่มีจุดร่วมอินหรือรู้สึกรีเลตได้แล้ว ยังทำให้คนไม่มีจุดร่วมหรือไม่ได้อยู่ใน Position นั้นอินได้ด้วย และนั่นคือสิ่งที่หนังเรื่องนี้ที่ชื่อ Aftersun ทำได้ดีครับ ดึงเราเข้าสู่ห้วงอารมณ์อย่างบาดลึก สลัดไม่ออกแม้จะผ่านไปนานแค่ไหน ด้วยการทำให้เชื่อได้ว่าทั้งหมดนี้ ‘จริง’ ทั้งเรื่องราวที่เกิดขึ้น และตัวละครที่มีชีวิตจิตใจ จับต้องได้ในฐานะมนุษย์ที่ไม่ได้เพอร์เฟกต์เหมือนเรา ๆ

กล้องวิดีโอ ความทรงจำ และฤดูร้อนของฉันกับพ่อใน ‘Aftersun’ หนังอบอุ่นที่ทำงานกับใจอย่างบาดลึก

Aftersun เป็นหนังดราม่าค่าย A24 ที่เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทหนังใหญ่ครั้งแรกก็ได้กระแสตอบรับดีแบบถล่มทลายของผู้กำกับ Charlotte Wells โดยหนังได้ Barry Jenkins (ผู้กำกับ Moonlight) กับ Adele Romanski ที่เคยโปรดิวซ์ Never Rarely Sometimes Always มารับหน้าที่อำนวยการสร้าง

หนังว่าด้วยเรื่องราวความหลังและความทรงจำที่ถ่ายทอดผ่านกล้องวิดีโอและสายตาตัวละคร Calum และ Sophie พ่อวัย 31 กับลูกสาววัย 11 ที่ใช้เวลาด้วยกันในทริปฤดูร้อนช่วงปลายปี 90 ที่ประเทศตุรกี ซึ่งเต็มไปด้วยมวลความสุขชวนอมยิ้ม และความทุกข์ที่แสนซึมเศร้า แทรกอยู่อย่างคละคลุ้งทั่วบริเวณ ผ่านการกำกับที่โชว์ให้เห็นอย่างตรงไปตรงมาผ่านมุมมองใดมุมมองหนึ่ง ผ่านเงาสะท้อน ผ่านความเงียบ กับการแช่เฟรมให้สังเกตรายละเอียด ไปจนถึงการนำเสนอแบบ Abstract

ก่อนหน้าที่จะทำหนังเรื่องนี้ Charlotte Wells เคยกำกับหนังสั้นเรื่องหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว เป็นหนังสั้นเรื่องแรกของเธอเมื่อปี 2015 ชื่อ Tuesday เล่าเกี่ยวกับเด็กหญิงอายุ 16 ที่กำลังจะไปโรงเรียน ในห้องกินข้าวมีพ่อ แม่ และน้อง เธอลาพ่อแม่ แล้วบอกกับแม่ของเธอว่า “วันนี้วันอังคาร หนูจะไปค้างบ้านพ่อนะ” ก่อนจะเฉลยว่าพ่อของเธอเสียชีวิตไปแล้ว และหนังสั้นเรื่องนี้พูดถึงการรับมือกับการสูญเสียพ่อของเด็กหญิงคนนี้ (รับชมได้ทาง Vimeo ช่องของ Charlotte Wells เอง)

สำหรับเธอที่เป็นผู้กำกับ และในทางปฏิบัติแล้ว Aftersun เป็นเหมือนภาค Prequel (ภาคก่อนหน้า) ของ Tuesday ที่จะบอกเล่าเรื่องราวก่อนหน้าว่าพ่อของ Sophie เป็นคนยังไง หน้าตาแบบไหน และทั้งคู่เคยมีความสัมพันธ์แบบไหนกันมาก่อนที่จะลงเอยอย่างในหนังสั้น Tuesday

กล้องวิดีโอ ความทรงจำ และฤดูร้อนของฉันกับพ่อใน ‘Aftersun’ หนังอบอุ่นที่ทำงานกับใจอย่างบาดลึก

Charlotte Wells ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างหนังสั้น-ยาวทั้ง 2 เรื่องมาจากชีวิตจริงที่เธอสูญเสียคุณพ่อไปตั้งแต่อายุ 16 และพ่อของเธอผู้เต็มไปด้วยความครีเอทีฟและความทะเยอทะยานคนนี้ คือคนที่มีอิทธิพลและมีส่วนอย่างมากในการทำให้เธอมีความฝันจะเป็น Filmmaker ในสักวัน

ทั้งหมดเริ่มต้นจากการรื้อค้นภาพถ่ายวันหยุดที่ Charlotte พบภาพถ่ายของเธอกับพ่อ และพบว่าพ่อของเธอดูเด็กอย่างเหลือเชื่อ

จากจุดนี้เอง เธอเริ่มสร้างความทรงจำมากขึ้น ลงเอยด้วยการรวบรวมมันเพื่อเขียนเป็นบทหนังขึ้นมา และการให้เวลากับมันในการรวบรวมข้อมูลมากพอ ก็เพื่อที่จะถ่ายทอดความทรงจำนี้กับตัวละครพ่อให้สมบูรณ์พร้อมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องบอกว่า Aftersun ไม่เชิงเป็นหนังชีวประวัติซะทีเดียวครับ แต่เป็นหนังที่ Based On จากเรื่องจริง ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวของตัวผู้กำกับเอง ก่อนแต่งเติมรายละเอียดเข้าไปเพื่อสะท้อนธีมของรากนี้ออกมาให้ชัดเจนที่สุด

ซึ่งการที่หนังเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องส่วนตัว ผู้กำกับ Charlotte Wells ก็ได้นิยาม Aftersun อย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นหนัง ‘Emotionally Autobiographical’ หรืออัตชีวประวัติที่ขีดเส้นใต้การขับเน้นทางด้านอารมณ์ความรู้สึกเป็นพิเศษ ทำให้เรื่องนี้ที่เป็นทั้งหนังใหญ่เรื่องแรกและเรื่องที่เธอรู้สึกเกี่ยวข้องกับมันที่สุด เป็นหนังที่เธอตั้งใจสร้างมาก ๆ

กล้องวิดีโอ ความทรงจำ และฤดูร้อนของฉันกับพ่อใน ‘Aftersun’ หนังอบอุ่นที่ทำงานกับใจอย่างบาดลึก

2 องค์ประกอบแรกที่ Charlotte Wells ใส่ใจ คือ 2 นักแสดงหลักที่จะมารับบทเป็นตัวแทนของเธอกับพ่อ และวิธีการควบคุมมุมมองนักแสดงครับ โดยในเรื่องนี้ Paul Mescal จากซีรีส์ Normal People รับบทเป็น Calum ส่วน Frankie Corio รับบทเป็นลูกสาวที่ชื่อ Sophie ซึ่งนี่คือการแสดงเรื่องแรกของเธอ 

Charlotte เผยว่าเธอได้แคสต์นักแสดงสำหรับบท Sophie มากกว่า 800 คนกว่าจะเจอคนนี้ และสโคปจาก 800 คลิปวิดีโอมาเป็น 16 คนที่ต้องมาออดิชันแบบ Face to Face ซึ่งหลังจากจบการทดสอบ ก็พบว่านอกจากเก่งและสับรางอารมณ์ได้ดีแล้ว Frankie ยังถ่ายทอดบทได้ลึกซึ้ง โดยไม่ปล่อยให้มันพาไปหลังสั่งคัตอีกด้วย ที่สำคัญ เธอมีเคมีที่เข้ากับ Paul ได้ดีอย่างเหลือเชื่อ

ทางด้าน Paul ที่สอบผ่านด้านความนิ่งและอบอุ่นนั้น Charlotte ให้โจทย์ด้วยการเล่าไอเดียเกี่ยวกับหนังและตัวละคร ตามด้วยเรื่องเบื้องหลังเพื่อเป็นรากฐาน จากนั้นให้เขานำมันไปตีความในแบบที่เหมาะกับตัวเอง (นอกจากนี้เขายังต้องฝึกรำมวยจีนไทชิ หรือที่บ้านเราเรียกไท้เก๊กด้วยนะ เพราะพ่อ Charlotte ตัวจริงชอบรำบ่อย ๆ) ซึ่งมันลงเอยอย่างที่เห็น การแสดงของ Paul Mescal ในเรื่องนี้เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง จนพาเขาเข้าชิงนำชายออสการ์เมื่อปีที่ผ่านมา

หลังจากได้ตัวนักแสดงครบทั้งสอง Charlotte ใช้วิธีที่จะสรุปอย่างเห็นภาพ คือ ‘จับ-วาง’ นักแสดง 

Paul กับ Frankie ที่อายุห่างกัน 14 ปีในชีวิตจริง ใช้เวลาด้วยกัน 2 สัปดาห์ที่โรงแรมในช่วงวันหยุดก่อนที่หนังจะถ่ายทำเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง ทำให้ทั้งสองสนิทกันมากตั้งแต่ก่อนถ่ายทำ จนถึงระหว่างถ่ายทำ และแม้หลังถ่ายทำเสร็จสิ้นแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังติดต่อกันผ่านการวิดีโอคอลกันอยู่เลย (ซี้เบอร์นั้น)

สำหรับ Frankie เนื่องจากหนังเล่าในมุมมองของ Sophie เป็นหลัก เพื่อให้ Sophie อยู่แต่ในมุมมองของตัวเองโดยไม่มีมุมมองพ่อมาเจือปน ในช่วงที่อ่านบทเพื่อซ้อมกับผู้กำกับ Frankie จะได้อ่านแต่บทที่ไม่มีฉากตอน Calum อยู่คนเดียว (เพราะฉากเหล่านี้พูดถึงความซึมเศร้าของตัวละคร Calum) และเพื่อให้ Frankie ถ่ายทอดการแสดงออกมาอย่างใสซื่อที่สุด ในฐานะลูกสาวที่มองไม่เห็นความทุกข์เหล่านั้นและไม่รู้เลยว่าพ่อคิดอะไรอยู่

กล้องวิดีโอ ความทรงจำ และฤดูร้อนของฉันกับพ่อใน ‘Aftersun’ หนังอบอุ่นที่ทำงานกับใจอย่างบาดลึก

‘ความกำกวม’ และ ‘การตีความ’ เป็นเหมือนประตูกับลูกบิดที่ไม่ได้ล็อกเพื่อเข้าสู่จิตใจของผู้กำกับอย่าง Charlotte Wells และเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกเข้าถึงกับหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะตีความตามประสบการณ์และความเข้าใจตัวเองได้ใกล้หรือไม่กับที่ Charlotte ตั้งใจก็ตาม เธอออกมาให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า ถึงแม้หนังจะมีความ Personal แต่ต่างคน ต่างวาระ เธอจะไม่ปิดกั้นประสบการณ์ของหนังเรื่องนี้กับใครก็ตามที่เปิดดูหรือเข้าโรงมาดู เพราะจะเติมเต็มความกำกวมนั้นยังไง ลึกแค่ไหน ขึ้นอยู่กับแต่ละคน 

เพียงแต่สิ่งหนึ่งที่เธอคอนเฟิร์มได้ คือนี่ไม่ใช่หนังที่พูดถึงความเหินห่างของพ่อ-ลูก หากแต่กล่าวถึงพ่อ-ลูกที่รักและสนิทกันมาก ๆ และถึงอย่างนั้นมันก็มีเมสเซจที่แน่นอน และเธอตั้งใจจะสื่อสารอยู่เหมือนกันนะครับ และอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นบ้างแล้วว่า นอกจากเล่าผ่านตัวละคร ‘กล้องวิดีโอ’ ก็เป็นอุปกรณ์และสื่อที่สำคัญเช่นกัน และกล้องวิดีโอนี้ก็มาจากแรงบันดาลใจที่มีอยู่จริง นั่นคือกล้อง DV ที่พ่อของเธอซื้อให้ และ Charlotte ชอบมันมาก เพราะเธอมีนิสัยที่ชอบถ่ายทุกอย่างเก็บไว้

กล้องวิดีโอในเรื่องนี้ นอกจากทำหน้าที่บันทึกภาพและเสียงแล้ว ยัง Immortalize หรือแค็ปเชอร์ความทรงจำให้คงอยู่ตลอดไป กลายเป็นความทรงจำสดใหม่เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นสำหรับ Charlotte ในวัยเดียวกับพ่อเธอตอนนี้ที่กำลังเปิดดูอยู่ การที่ต่างคนต่างหยิบมาดูยังแสดงให้เห็นด้วยว่าทั้งสองคนรักกันแค่ไหน โดยที่ในขณะเดียวกันก็มีบางอย่างที่เชื่อมโยงกันไม่ได้ซึ่งทั้งคู่ก็อธิบายไม่ถูก (โดยเฉพาะจากฝั่งของ Calum) และตัวละครทั้งสองพยายามใช้เจ้าสิ่งนี้ในการเชื่อมกันด้วยระยะห่าง ทั้งทางใจและทางเวลา

‘Aftersun’ หนังอบอุ่นแต่จงใจกำกวมโดย Charlotte Wells ที่ทำงานกับใจคนดูผ่านความทรงจำและฤดูร้อนนั้นของฉันกับพ่อ

Calum เป็นตัวละครที่เก็บความรู้สึก สะท้อนถึงการที่คนคนหนึ่งมีหลายบทบาท ทั้งในฐานะมนุษย์คนหนึ่งกับพ่อคน ในฐานะมนุษย์ เขากำลังเปราะบาง อ่อนแอ และมีปัญหา แต่ในฐานะพ่อคน เขาต้องการใช้ช่วงเวลากับลูกสาวให้คุ้มค่าที่สุด จึงได้ปัดเรื่องในใจออกไป เหลือเพียงความรู้สึกดี ๆ เอนจอยกับสิ่งตรงหน้า สังเกตได้จากการที่ลูกทำแว่นดำน้ำตกน้ำหายแล้วเขาไม่ยอมเสียเวลาที่จะได้ใช้เวลาให้คุ้มค่ากับลูก หรือการที่เขาบ่ายเบี่ยงที่จะตอบเรื่องที่มาของแผล

ลูกจะอยู่ที่ไหนก็ได้ที่อยากอยู่ ลูกจะเป็นใครก็ได้ที่ลูกอยากเป็น ลูกมีเวลา นี่คือประโยคในหนังเรื่องนี้ที่สรุปใจความทั้งหมดว่าหนังเกี่ยวกับอะไร ในมุมมองของผม ประโยคนี้เป็นประโยคพ่อสอนลูกที่มีความ ‘กำกวม’ ว่าอาจเป็นการสอนเฉย ๆ หรืออีกทาง สะท้อนว่าตัวคนสอนเองอาจกำลังขัดแย้งกับคำที่ตัวเองกำลังสอนลูกอยู่ เพราะตัวเขาอาจทำไม่ได้ด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งก็ตาม

ในขณะที่เราได้เห็นว่า Paul กับลูกสาวกำลังอาบแสงอาทิตย์ฤดูร้อนแห่งความอบอุ่นตลอดทั้งเรื่อง จากความสัมพันธ์พ่อ-ลูก Aftersun ก็ได้นำเสนอเลเยอร์สีหม่นและแตกสลายของ Calum ที่อยู่ข้างใต้นี้อีกทีใน Plain Sight 

ที่น่าสังเกตคือความดำมืดและยากจะหยั่งถึงในใจของ Calum กับความคิดปลิดชีวิตตัวเอง (Suicidal Thoughts) เป็นสิ่งหนึ่งที่สอดแทรกให้เห็นเป็นระยะ ๆ ในหนังเรื่องนี้ ตั้งแต่ไปยืนทรงตัวริมระเบียง ตัดเฝือกเอง เดินโดยไม่สนว่ารถจะชน หายใจผ่านผ้าเปียก และฉากที่เดินหายเข้าไปในน้ำทะเลตอนที่ฟ้ามืดสนิท รวมไปถึงตอนที่เขาเลือกที่จะไม่ร้องคาราโอเกะกับลูกสาวดื้อ ๆ หรือมีสีหน้าเรียบเฉยตอนคนร้องเพลงวันเกิดให้

พ่อใช้ชีวิตมาเกิน 31 ก็เหลือเชื่อแล้ว ไม่ต้องพูดถึง 40 บทพูดนี้เองก็บ่งบอกว่า Calum กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าและวิกฤตบางอย่าง ในขณะเดียวกันลูกสาวตรงหน้าที่เห็นด้วยตาเปล่ากับเห็นทั้งตัวเองและลูกสาวผ่านวิดีโอก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขาทั้งยิ้มและหัวเราะ เพราะลูกสาวเป็นเหตุผลที่หนักอึ้งในการที่เขาจะมีชีวิตอยู่ต่อไป และเป็นเหตุผลที่ทำให้มันเป็นเรื่องน่าเศร้าหากไม่เป็นเช่นนั้น

‘Aftersun’ หนังอบอุ่นแต่จงใจกำกวมโดย Charlotte Wells ที่ทำงานกับใจคนดูผ่านความทรงจำและฤดูร้อนนั้นของฉันกับพ่อ

จุดที่จะบอกว่าเป็น ‘ใจความสำคัญที่สุด’ ของเรื่องก็คงไม่ผิดนัก นั่นคือการแทรกฉาก Abstract ห้องมืดกะพริบ ๆ ที่ Sophie ตอนเด็กและตอนโตยืนอยู่กับพ่อตัวเองในนั้นครับ ส่วนตัวแล้วผมตีความตามความเข้าใจของตัวเองว่า

หนึ่ง ด้านการเล่าเรื่อง = ห้องนี้เปรียบได้ดั่งความทรงจำที่เลือนราง เหมือนภาพในวิดีโอหรือภาพจากกล้องโพลารอยด์ที่หยิบมาดูแต่ละครั้งเพื่อระลึกถึงใครบางคน และกลับไปใช้ชีวิตในช่วงความทรงจำเหล่านั้นกับพวกเขาแบบชั่วครู่ ไม่ปะติดปะต่อ เห็นบ้าง ไม่เห็นบ้าง แต่ไม่ว่ายังไงก็จะไม่ชัดเจน เห็นเต็มตา และจับต้องได้ ถ้าเป็นตามนี้จะสะท้อนเมสเซจของหนังเกี่ยวกับเรื่องระลึกความทรงจำได้อย่างยอดเยี่ยม รวมถึงสะท้อนถึงการที่ Sophie ในวัยเท่าพ่อกำลังนั่งเปิดดูวิดีโอ และค้นรูปพ่ออยู่ในไทม์ไลน์ปัจจุบันด้วยเช่นกัน ซึ่งในฉากสุดท้ายที่ Calum ถ่าย Sophie นั่นคือโมเมนต์ที่ไม่อาจตอบได้ว่าพ่อเธอจะเสียชีวิตหลังจากนี้หรือไม่ แต่ก็ชวนคิดว่า นั่นอาจเป็นภาพจำสุดท้ายจริง ๆ ที่ Calum เห็น Sophie และ Sophie เห็น Calum หรือเป็นการสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์โดยให้ Calum เดินกลับไปยัง ‘ดินแดนแห่งการระลึกถึง’ หรือในไฟล์วิดีโอและภาพถ่าย หลังจากที่ Sophie ดูฟุตเทจของเธอกับพ่อจบแล้ว ซึ่งพ่อเธอเสียชีวิตเหมือนเรื่องจริงของ Charlotte Wells (ผู้กำกับที่เสียพ่อตอนอายุ 16 แล้วใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างหนังเรื่องนี้) ณ จุดใดจุดหนึ่งตอนเธอยังเป็นเด็ก

สอง ด้านสัญญะของตัวละคร = ห้องมืดอาจเป็นภาพแทนสภาวะจิตใจของ Calum กับความสัมพันธ์ของ Calum และ Sophie ตลอดทั้งเรื่อง คือ Calum อยู่ในความมืดท่ามกลางผู้คนมากมาย (บนโลกใบนี้) และ Sophie ได้แต่ยืนมองดูอยู่ห่างๆ จะเอื้อมก็เอื้อมไม่ถึง จะคว้ามากอดพ่อก็หายใจไม่ออกอยู่ดี เพราะไม่ว่าใกล้แค่ไหน หรือใครจะอยู่ข้าง ๆ ก็ไม่อาจช่วยพ่อจากความมืดมิดนี้ได้ และหลังจากจากกับลูกสาว Calum ต้องเดินกลับไปเผชิญกับสภาวะนั้นเพียงลำพัง ส่วนภาพ Calum ที่ Sophie ทั้งสองช่วงอายุเห็นยืนยิ้ม หัวเราะ และเต้นสนุกสนาน ก็คือภาพของพ่อที่เธอจดจำได้ ผ่านทั้งรูปภาพ ฟุตเทจวิดีโอ และความทรงจำ

ไม่ว่าจะอย่างไร มันก็เป็นเรื่องน่าสะเทือนอารมณ์ที่ดูเหมือนบอกใบ้ผ่านหลายอย่างไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประโยคของ Sophie ที่พูดว่า พ่อเคยมีวันที่ยอดเยี่ยม แต่กลับมาแล้วรู้สึกเหนื่อยล้า ดาวน์ ๆ และกระดูกมันขยับไม่ได้มั้ย ที่บอกใบ้ว่านั่นคือตัวหนัง Aftersun และจุดจบของเรื่องราวนี้ กับประโยคที่ว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เราก็จะอยู่ในที่เดียวกัน เพราะแชร์ท้องฟ้าเดียวกัน ที่บ่งบอกว่ามันคือเรื่องจริง และจะเป็นเช่นนั้นตราบเท่าที่คนทั้งคู่กำลังเงยหน้าจ้องมองท้องฟ้าอยู่

‘Aftersun’ หนังอบอุ่นแต่จงใจกำกวมโดย Charlotte Wells ที่ทำงานกับใจคนดูผ่านความทรงจำและฤดูร้อนนั้นของฉันกับพ่อ

แต่ต่อให้จะกะพริบแค่ไหน เลือนรางเพียงใด การย้อนนึกถึงความทรงจำดี ๆ พวกนั้นก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่าจริง ๆ นะครับ เพราะมันเตือนว่าครั้งหนึ่งก่อนตะวันจะลาลับ มันเคยอบอุ่นและสวยงามสว่างไสวแค่ไหน ต้องขอชื่นชม Charlotte Wells กับนักแสดงนำทั้งสองครับ สำหรับการกำกับและแสดง (ครั้งแรกของ 2 ใน 3 คนในนี้) ที่ทำให้คนดูเชื่อกับสิ่งที่หนังนำเสนอ และรู้สึกไปกับมันได้อย่างลึกซึ้งกินใจ

ดู Aftersun ครั้งแรก หรือดูอีกรอบได้ที่ Netflix

ข้อมูลอ้างอิง
  • hollywoodreporter.com
  • deadline.com
  • mubi.com
  • theguardian.com
  • latimes.com

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ