พูดถึงแบรนด์แฟชั่นญี่ปุ่น นอกจากแบรนด์ดังอย่าง Yohji Yamamoto, COMME des GARÇONS, ISSEY MIYAKE ยังมีแบรนด์โลคอลเก๋ ๆ เท่ ๆ ในประเทศอีกมากมายตามร้าน Selected Shop ซึ่งอาจเป็นแบรนด์ที่เราไม่รู้จัก แต่แค่เดินดูก็สนุกแล้ว 

และในพื้นที่ที่มีความเก๋หนาแน่นแห่งนี้ โปร-ภูวเดช ลาภโรจน์ไพบูลย์ ดีไซเนอร์คนไทยผู้ก่อตั้ง ‘ablankpage.’ สร้างแบรนด์ได้โดดเด่นจนได้ไปร่วม Rakuten Fashion Week TOKYO ในปี 2023 ทำเสื้อผ้าให้ Netflix ทำแฟชั่นโชว์ร่วมกับสถานทูตไทยในโตเกียว เป็น Creative Director สร้างแบรนด์ที่เน้นเรื่อง Sustainability ร่วมกับแบรนด์ดังของญี่ปุ่นอย่าง Edwin และกวาดรางวัลจากการประกวดมากมาย ซึ่งหลายชุดมีดารา-เซเลบระดับเอลิสต์ขยันยืมไปใส่ตั้งแต่ตอนเป็นนักเรียนจนถึงปัจจุบัน เช่น Saito Takumi, Yumi Adachi, Nakajima Kento จากวง Sexy Zone และ Utaha จากวง Wednesday Campanella

ความสำเร็จระดับนี้ เชื่อไหมว่าเขาเพิ่งเริ่มทำแบรนด์ในปี 2022 หลังเรียนจบปริญญาโทด้านแฟชั่นจาก Bunka Fashion Graduate University ในปี 2021 เส้นทางจากกรุงเทพฯ สู่รันเวย์ในโตเกียวของโปรเป็นอย่างไร เดินสับไปฟังเรื่องราวจากเจ้าตัวกันเลย

วางเครื่องคิดเลขไปจับกรรไกร

ชีวิตในฐานะดีไซเนอร์ของโปรเริ่มต้นจากศูนย์ในกรุงโตเกียว

ก่อนจะไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นตอนอายุ 19 เขาเคยเป็นนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ภาคอินเตอร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อน

“ผมเก่งวิชาเลขเลยเลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ตอนแรกอยากมีแฟชั่นแบรนด์ของตัวเองเพราะอยากให้คนจำชื่อเราได้หลังจากลาโลกไปแล้ว อยากทำธุรกิจด้านนี้โดยที่เราเป็นไดเรกเตอร์แล้วจ้างดีไซเนอร์อีกที เพราะครอบครัวไม่ได้รวยมากระดับที่จะสร้างแบรนด์ซึ่งใช้เงินและคอนเนกชันเยอะมาก ผมเลยคิดว่าทางนี้ดีกว่า ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ก่อนแล้วค่อยสร้างธุรกิจ แต่พอไปเรียนถึงได้รู้ว่าแพสชันเราคืออย่างอื่น”

หลังเรียนเศรษฐศาสตร์ 1 ปี โปรตัดสินใจสอบทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อไปเรียนต่อด้านแฟชั่น ปีแรกเรียนภาษาญี่ปุ่นก่อนค่อยเข้าโรงเรียนวิชาชีพเรียนด้านแฟชั่นอีก 2 ปี ในคลาสมีทั้งแฟชั่นนิสตาสุดเปรี้ยวและคนเรียบร้อยที่ชอบเย็บผ้า พื้นฐานแต่ละคนก็ต่างกัน บางคนมาจากโรงเรียนมัธยมปลายที่เน้นเรื่องการเย็บผ้าและคนที่ไม่มีพื้นฐานอะไรเลยแบบเขา

“จำได้เลยว่าคาบแรกที่เขาสอนเย็บผ้า ทุกคนรู้เรื่องแล้ว ครูอธิบายรอบเดียวทำได้เลย แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งจะงง ด้วยความเป็นโรงเรียนแฟชั่น คนอยากปล่อยของ อย่างคาบสอนทำกระโปรงทรงเอธรรมดา คนที่ทำได้อยู่แล้วก็จัดเต็มมีปักอะไรมาเลย แต่โชคดีที่ครูดูให้ทุกคน ใครทำแพตเทิร์นเสร็จก็เอาไปให้เขาตรวจ ในห้องมีนักเรียน 40 กว่าคน ครูจะค่อย ๆ วงปากกาแดงตามจุดต่าง ๆ แล้วคอมเมนต์ ซึ่งก็ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้บ้าง เราจะไปให้ครูผู้ช่วยอธิบายอีกที (หัวเราะ)”

นอกจากแรงกดดันที่เห็นเพื่อน ๆ มีพื้นฐานมาแล้ว โรงเรียนนี้ยังกระตุ้นให้ทุกคนพยายามด้วยการจัดอันดับท็อป 3 ของห้องอีกด้วย แน่นอนว่าปีแรกอดีตนักเรียนสายวิทย์-คณิตจากเมืองไทยไม่ติดชาร์ตเลย แต่ปีที่ 2 โปรเริ่มฉายแววรุ่ง ทั้งติดอันดับในโรงเรียนและได้เป็นตัวแทนไปแข่งระดับประเทศหลายรายการ

หนึ่งในการแข่งขันที่สร้างชื่อและประสบการณ์ให้โปรอย่างมากคือ Soen Award ครั้งที่ 93 ลักษณะการแข่งขันที่นี่ต่างจากการประกวดเวทีอื่น ดีไซเนอร์ดาวรุ่งรับหน้าที่เป็นเมนเทอร์และต้องเลือกผู้เข้าประกวดเข้าทีม สุดท้ายเลือกคนเดียวไปประกวดกับทีมอื่น คล้ายรายการ The Face ที่เมนเทอร์จะเลือกนางแบบคนเดียวไปเดินไฟนอลวอล์ก โปรได้รับสิทธิ์นั้นและคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 1 มาให้เมนเทอร์ Kunihiko Morinaga ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ ANREALAGE ได้สำเร็จ

“ผู้เข้าประกวดมีทั้งคนญี่ปุ่นและต่างชาติ แต่ส่วนมากเป็นคนญี่ปุ่น โจทย์การแข่งค่อนข้างกว้าง เช่น Womenswear 3 ชิ้น แต่ที่ยากคือห้ามซ้ำกับงานที่เคยประกวดในอดีต เพราะเวทีนี้จัดมานานแล้ว 93 ปี เราต้องไล่กลับไปดูทั้งหมด แต่ก็ได้เรียนรู้ และงานนี้มีดีไซเนอร์ดัง ๆ มาเป็นกรรมการด้วย

“งานที่ได้รางวัลธีมคือ Light up the New World คนที่มองไม่เห็น เราจะทำเสื้อผ้า พรีเซนต์ออกไปยังไง เลยเริ่มไปสัมภาษณ์คนตาบอดว่าเขาอยากได้เสื้อผ้าแบบไหน ทำรีเสิร์ช ทุกคนชอบแฟชั่นนะ เขาอาจจะไม่เห็น แต่เขามีสิ่งที่อยากให้คนอื่นเห็น เช่น ความสดใส คนพิการอาจจะไม่ค่อยแต่งตัวฉูดฉาด แต่จริง ๆ แล้วมีบางโอกาสพิเศษที่เขาก็อยากสวย เราเลยพยายามให้เขารู้สึกได้ว่าเขาสวยแม้จะมองไม่เห็น”

หลังจบจากโรงเรียนวิชาชีพด้านแฟชั่นมาพร้อมทักษะและถ้วยรางวัล โควิดเริ่มระบาด โปรต้องตัดสินใจว่าจะกลับไทยหรืออยู่ญี่ปุ่นต่อ นักศึกษาด้านแฟชั่นที่คิดเลขเก่งตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทเพราะมองว่าอนุปริญญาด้านวิชาชีพอาจไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศไทยเท่าไหร่ และยังมีความรู้ไม่พอจะเป็นดีไซเนอร์เต็มตัว

Bunka Fashion Graduate University ที่โปรเลือกมีชื่อเสียง มีอาจารย์และวิทยากรซึ่งเป็นดีไซเนอร์แถวหน้ามากมาย น่าเสียดายที่การระบาดของโควิดทำให้ต้องเรียนออนไลน์เป็นหลัก แถมทำให้หางานหลังเรียนจบเป็นไปอย่างยากลำบาก 

แต่เพราะหางานไม่ได้นี่แหละที่ทำให้เขากลายเป็นดีไซเนอร์ดาวรุ่งเจ้าของแบรนด์ตั้งแต่อายุไม่ถึง 30

หันหลังให้รันเวย์ กลับไทยไปเฉิดฉายในแฟชั่นวีก

“ไม่ได้คิดเลยว่าเรียนจบแล้วจะทำแบรนด์ตัวเอง ตอนแรกจะสมัครงานเป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์หาประสบการณ์ก่อน ช่วงโควิดหางานไม่ได้ แต่เราคิดว่าอุตส่าห์พยายามมาขนาดนี้แล้ว ต้องทำให้ได้ คนรอบตัวก็บอกว่าเสียดายถ้าจะกลับไทย เราเลยทำงานพิเศษเอาเงินมาลงทำเสื้อผ้าคอลเลกชันหนึ่ง”

จังหวะดีที่โปรมีเพื่อนซึ่งจัดงาน Art Exhibition ชวนไปจัดแฟชั่นโชว์ ซึ่งทำให้เขาได้เจอสไตลิสต์ชื่อดังคนหนึ่งในงาน สไตลิสต์คนนี้อยากช่วย เลยให้คำแนะนำว่าควรทำอีกโชว์สำหรับแฟชั่นวีกของญี่ปุ่นซึ่งจะจัดช่วงเดือนมีนาคม ในตอนนั้นเดือนธันวาคมแล้ว แม้จะกลัวทำไม่ทัน แต่สุดท้ายโปรและสไตลิสต์ก็ช่วยกันจนทำสำเร็จ มีทั้งสปอนเซอร์สนับสนุนงบ และมีเพื่อน ๆ มาถ่ายภาพนิ่งกับวิดีโอทำพอร์ตให้อีก

“จริง ๆ แล้วพอทำงานนี้เสร็จ เราอิ่มใจแล้ว คิดว่ากลับไทยได้แล้วเพราะเหนื่อยมาก ทำงานมาราธอนมาตั้งแต่ธันวาคม พอตั้งใจว่าจะกลับไทย เลยลองสมัคร Tokyo Fashion Week ซึ่งเป็นงานใหญ่ช่วงเดือนกันยายนเล่น ๆ ดีกว่า ปรากฏว่าทางนั้นเขาชอบมาก เราสมัครไปเป็นแบบ Exhibition ไม่ก็ Online ไม่ใช่แฟชั่นโชว์ แต่เขาบอกว่าอยากให้ทำโชว์มาก ๆ แถมได้ที่ออกบูทในห้าง Shibuya Hikarie ซึ่งปกติค่าที่แพงมาก แต่เขาเสนอให้เราจ่ายแค่ 20% ก็เลยคิดว่า สู้วะ” 

สำหรับคนเพิ่งเรียนจบ ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน ถือว่าก้าวกระโดดมากจากงานแฟชั่นโชว์ที่จัดกันเองสู่งานใหญ่ระดับประเทศ แต่ดีไซเนอร์สายประกวดชาวไทยมองว่านี่คือโอกาสสำคัญที่บอกว่าเขายังไปต่อได้อีก

“ธีมของคอลเลกชันนี้ คือ สเตอริโอไทย (เล่นคำ Stereotype กับ Thai) เพราะอยากให้มองเราในฐานะคนไทยและเราที่เป็นดีไซเนอร์ ชุดแรก ๆ เริ่มจากความไทย ๆ เช่น มีชุดที่ได้แรงบันดาลใจจากเสาไฟฟ้าที่สายไฟระโยงระยาง แล้วค่อย ๆ เริ่มโมเดิร์นขึ้น จากไทย ๆ มาสู่ตัวเราที่ชอบเล่นใหญ่ ชุดมีวิ้ง ๆ และซ่อนเมสเซจเรื่องสวยแต่เปลือก เหมือนการสเตอริโอไทป์”

โชว์ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย หลายชุดเข้าตาดารา-เซเลบขอยืมไปใส่ถ่ายแบบ และมีร้านค้าติดต่อมาขอเอาชุดไปวางขายที่ร้าน ดีไซเนอร์ดาวรุ่งบอกเราว่า เคล็ดลับความสำเร็จของเขาคือทีมงานคุณภาพ ซึ่งก็คือเพื่อน ๆ พี่น้องในวงการและคอนเนกชันที่ได้จากตอนเรียน

“พอมาทำแฟชั่นโชว์ถึงได้รู้เลยว่าทำคนเดียวไม่ได้และใช้เงินเยอะมาก โชคดีที่ได้เพื่อนเก่ง ๆ มาช่วยและคิดค่าจ้างราคามิตรภาพ เช่น Show Director ที่คุมให้ทุกอย่าง ตั้งแต่จัดไฟ เพลง คนปล่อยคิวนางแบบ สไตลิสต์ อีกอย่างโชคดีที่เราเป็นเด็กสายประกวด เลยเป็นลูกรักครู เวลาจัดงานเขาก็ส่งน้อง ๆ นักเรียนมาช่วยงาน 

“จริง ๆ ต้องบอกว่าเราโชคดีที่ได้รู้จักคนดี ๆ เยอะ อย่างตอนเรียนปริญญาโท การเรียนออนไลน์อาจจะลำบาก แต่ด้วยชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยทำให้มีดีไซเนอร์ดัง ๆ มาพูดหลายท่าน เราเลยมีโอกาสได้รู้จักและแลกคอนแทกต์กัน เมนเทอร์ตอนประกวดก็ถูกชะตา พาไป Backstage Show ต่าง ๆ ซึ่งกลายเป็นใบเบิกทางที่ทำให้รู้จักคนที่มาช่วยเราในปัจจุบัน”

ผ่าน Rakuten Fashion Week TOKYO ไป พูดได้ว่า ablankpage. แจ้งเกิดเต็มตัว มีแบรนด์ดังติดต่อมาร่วมงานมากมาย เช่น Nishikawa Keori และ Edwin เพราะชอบทั้งผลงานการออกแบบและธีม Sustainability ที่โปรทำมาต่อเนื่องตั้งแต่สมัยเรียน ซึ่งเจ้าตัวพูดติดตลกว่า เพราะงบจำกัด เลยเป็นธีมที่ทำบ่อย

จริง ๆ แล้วจุดเริ่มต้นของงาน Sustainability คือธีสิสสมัยเรียนปริญญาโท บริษัททำแผ่นเหล็กอยากมาคอลแล็บกับโรงเรียน เพราะเขามีวัสดุที่มีตำหนิเลยเอามาให้นักเรียนแฟชั่น เผื่อจะเอาไปทำอะไรต่อได้ 

วัสดุที่ว่าคือฟิล์มเหล็กเนื้อบางที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีตำหนิ เช่น อาจจะยับหรือไฟฟ้าผ่านไม่ได้ ดูหาความเกี่ยวข้องกับแฟชั่นไม่ได้เลย

แต่รากเหง้าความเป็นเด็กสายวิทย์-คณิตของโปรจุดประกายไอเดียให้เขานำแผ่นเหล็กไปแช่ทะเลเพื่อทำให้เป็นสนิม และนำไปโดนตัวเร่งปฏิกิริยาต่าง ๆ ให้เกิดการผุพังและรูน้อยใหญ่ จนได้ผลงานเท่ ๆ ออกมา แบรนด์สิ่งทอยักษ์ใหญ่ ทั้ง Nishikawa Keori และ Edwin ซึ่งมีวัสดุไม่ผ่าน QC มากมายถูกใจแนวคิดและแนวทางของ ablankpage. เลยได้ทำโปรเจกต์ร่วมกัน

“เรามองว่ามันเป็นดีลที่วินทั้ง 2 ฝ่ายนะ” ดีไซเนอร์ดาวรุ่งเริ่มเล่าถึงเหตุผลที่แบรนด์ดังอยากร่วมงานด้วย

“เทรนด์ Sustainability กำลังมา ทางเขามีวัสดุที่ไม่ได้ใช้อยู่แล้ว การที่เขานำมาให้เรานำไปทำงานต่อก็ได้ทำ CSR แบบไม่มีค่าใช้จ่าย

“คนในวงการส่วนมากชอบงานเราเพราะแฝงเมสเซจในงานและชอบเล่นใหญ่ ซึ่งคนญี่ปุ่นไม่เล่นใหญ่เท่านี้ (หัวเราะ) อีกอย่างคือเขาชอบที่เราวางคอนเซปต์ให้แบรนด์เป็นพื้นที่ที่ทุกคนแสดงตัวตนของตัวเองได้ตามความหมายชื่อ a blank page ซึ่งเราตั้งใจตั้งแต่แรกว่าอยากร่วมงานกับคนอื่นในการสร้างสิ่งใหม่ ๆ จากพื้นที่ว่างเปล่านี้ร่วมกัน”

สู่ความโปรทั้งดีไซน์และธุรกิจ

การจะทำงานแฟชั่นต่ออย่างราบรื่น อีกหนึ่งสิ่งใหม่ที่โปรต้องรีบสร้างในพื้นที่นี้ คือทักษะด้านธุรกิจ

ด้วยความที่อายุของแบรนด์และตัวดีไซเนอร์ถือว่าน้อยมากในวงการ แม้ผลงานการออกแบบจะได้รับการยอมรับอย่างสวยงาม แต่ยังต้องสู้กับความท้าทายในฐานะผู้ประกอบการต่อ 

“หลังจากจบงาน เริ่มมีร้านอยากเอาของเราไปขาย แต่ตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจเรื่องธุรกิจเลย เราอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เราควรไปเรียนรู้จากใครก่อนแล้วค่อยมาทำ นี่อยู่ ๆ ต้องมาทำเลย เพราะโอกาสที่เข้ามาบีบให้เราต้องลุย” ดีไซเนอร์สายสู้แจกแจง

การเป็นคนไทยที่ทำธุรกิจแฟชั่นในญี่ปุ่นต้องดิ้นรนหลายเรื่อง ทั้งวีซ่า กฎหมาย ภาษี เอกสารต่าง ๆ ซึ่งซับซ้อนมาก โปรจึงหาตัวช่วยเป็นโครงการ Co-working Space ของเขต Arakawa ซึ่งให้ความรู้ด้านธุรกิจ และมีทนายให้คำปรึกษาว่าผู้ประกอบการต้องทำอะไรบ้าง

“พอทำธุรกิจจริงจัง ทั้งเรื่องภาษาและการต่อรองเป็นอีกระดับเลย งงกับระบบด้วย เพราะไม่เคยทำงานที่ไหนมาก่อน เวลามีดีลแย่ ๆ ติดต่อมา เราต้องฝึกต่อรองและถนอมน้ำใจ เพราะวงการมันแคบ แถมเป็นคนต่างชาติด้วย ไม่อยากให้ภาพลักษณ์แบรนด์เสีย 

“จริง ๆ แล้วตอนนี้เรื่องดีลงานเริ่มคล่องแล้ว แต่เรื่องธุรกิจ เรื่องบริษัทนี่ไม่ใช่ทาง เลยหาพาร์ตเนอร์อยู่ เราจะได้ทำแฟชั่นอย่างเดียว (หัวเราะ) บวกลบเลขได้ แต่นอกจากนั้นคือไม่ถนัด”

ตั้งบริษัทได้ก็ต้องต่อสู้เพื่อยอดขายต่อ โปรบอกว่าส่วนมากแบรนด์อื่นจะใช้เซลส์เอเยนต์และพีอาร์ แต่เพราะไม่มีงบ เลยต้องสู้ติดต่อร้านค้าต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

“ในแง่สื่อถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะเราได้ลงฟรีเยอะ มีดารายืมชุดไปใส่บ่อย แต่การหา Selected Shop ไปขายคือยากอีกระดับ ผมเลยตั้งใจเจาะกลุ่มคนชอบแฟชั่นซึ่งสนับสนุนแบรนด์ในประเทศ แม้ราคาสูงแต่คนเห็นคุณค่า” 

การต่อสู้ในวงการแฟชั่นญี่ปุ่นคงมีอะไรให้ฝ่าฟันต่อไปอีกไม่น้อย แต่ดาวรุ่งชาวไทยเชื่อมั่นว่าเขาจะไม่สูญเสียตัวตนไประหว่างทาง

“ที่ญี่ปุ่นชอบเสื้อผ้าสีดำ ๆ เยอะ แต่ตัวตนเราชอบเล่นใหญ่ ชอบสี ๆ พอสมควร เลยพยายามแทรกบ้าง แม้จะขายได้น้อย ไม่เหมาะกับตลาดประเทศนี้เลย แต่เราก็ไม่อยากทิ้งความเป็นตัวเอง ทุกคอลเลกชันที่ทำมีความเป็นเรา แฝงเมสเซจที่ต่างจากงานญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะเน้นปรัชญา แต่เราจะอยู่กับปัจจุบันมากกว่า และเป็นมุมมองของคนไทยด้วย”

แม้ชีวิตในฐานะดีไซเนอร์ของโปรจะเรียนรู้และเติบโตที่ญี่ปุ่นทั้งหมด แต่เขาก็พิจารณาความเป็นไปได้ทางธุรกิจที่ประเทศไทยเช่นกัน 

“ในอนาคตก็คงยังทำเรื่อง Sustainability ต่อไป แต่อาจไม่ใช่แค่ของเหลือจากบริษัทอื่นแล้ว และอยากโชว์ด้านอื่น ๆ ของประเทศไทยผ่านเสื้อผ้าด้วย วงการแฟชั่นที่ไทยก็อยากไปนะครับ เราชอบดูนางงาม อยากลองทำชุดนางงาม ชุดนางงามที่ญี่ปุ่นเบามาก (หัวเราะ)

“ถ้าแบรนด์ไทยอยากมาญี่ปุ่น ก็ลองมาคุยกันได้ครับ” ดีไซเนอร์ดาวรุ่งทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

Writer & Photographer

Avatar

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และหนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาโทที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ