ใน Episode นี้ เราจะมาคุยกันถึงตัวอย่างธุรกิจครอบครัวของพี่น้องที่คลานตามกันมา ร่วมก่อร่างสร้างธุรกิจด้วยกัน แต่ในที่สุดทะเลาะกัน แยกธุรกิจกัน ไม่พูดกันจนตาย หรือเรียกว่าไม่เผาผีกันเลยทีเดียว

ซึ่งสุดท้ายธุรกิจใหม่ของทั้งคู่เติบโตอย่างมาก เป็นธุรกิจรองเท้ากีฬาที่ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 และ 3 ของโลก

นั่นก็คือธุรกิจครอบครัวของพี่น้องตระกูล Dassler ผู้ก่อตั้งแบรนด์ adidas และ PUMA

2 บริษัทนี้เริ่มต้นมาอย่างไร ทำไมจึงแตกแยก แล้วทำไมยังเติบโต เราจะมาถอดบทเรียนกันในตอนนี้

ก่อนอื่นต้องเริ่มก่อนว่า PUMA เป็นบริษัทของพี่ชายชื่อว่า Rudolf หรือ Rudi Dassler ส่วน adidas เป็นบริษัทของน้องชายชื่อว่า Adolf หรือ Adi Dassler ทั้ง 2 บริษัทตั้งอยู่ในเมือง Herzogenaurach แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี

ธุรกิจรองเท้ากีฬาของสองพี่น้องเริ่มต้นจากพ่อแม่ Christoph Dassler ผู้พ่อเป็นคนงานทำรองเท้า ส่วนแม่ Pauline ทำธุรกิจซักผ้าเล็ก ๆ ในเมือง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 น้องชาย Adi เริ่มเรียนรู้การทำรองเท้าจากพ่อ และผลิตขายในห้องซักผ้าของแม่ ต่อมาในปี 1924 พี่ชาย Rudi ก็เข้ามาช่วย และตัดสินใจร่วมกันก่อตั้งธุรกิจชื่อว่า Gebrüder Dassler Schuhfabrik ซึ่งแปลว่า Dassler Brother Shoe Factory

Adi เป็นคนขี้อาย แต่ช่างคิด ช่างประดิษฐ์

ส่วน Rudi ชอบเข้าสังคม พูดคุยโฉ่งฉ่าง เป็นนักขาย

ธุรกิจเติบโตเร็วยิ่งขึ้นหลังจากชักชวน Jesse Owens นักกรีฑามาใส่รองเท้าของพวกเขา เพื่อเข้าแข่งโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลินในปี 1936 และได้ 4 เหรียญทองไปครอบครอง

แม้ภายนอกจะประสบความสำเร็จ แต่ธุรกิจที่โตเร็วนี้กลับมีรอยร้าวภายในที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง โดยเฉพาะเมื่อทั้งคู่แต่งงานแต่ยังอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ต่างคนต่างไม่ลงรอยกับภรรยาของอีกฝ่าย ความขัดแย้งเริ่มปรากฏตั้งแต่ปี 1933 ที่ภรรยาของ Adi เข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจ ทำให้ Rudi ไม่พอใจ

พอช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 Rudi ถูกเรียกไปประจำการในกองทัพนาซีปี 1943 ซึ่งคิดว่า Adi เป็นคนจัดการเพื่อส่งเขาออกไปจากโรงงาน

มาช่วงท้ายของสงครามโลก Rudi ก็โดนทหารอเมริกันจับด้วยข้อหาเป็นกองกำลังของนาซี และเขาก็คิดว่า Adi เป็นคนแจ้งเบาะแสเช่นกัน

จริงหรือไม่ก็ไม่มีใครยืนยันได้ แต่มันแสดงให้เห็นว่าความเชื่อใจกันระหว่างพี่น้องไม่เหลืออยู่อีกต่อไป

ในที่สุด ปี 1948 ทั้งสองคนจัดการแยกธุรกิจ แบ่งทรัพย์สินและคนงาน โดย Rudi หอบข้าวของข้ามไปเปิดโรงงานในเมืองเดียวกัน แต่อยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ

Adi ตั้งชื่อธุรกิจว่า adidas มาจาก Adi กับ Dassler

ส่วน Rudi ตั้งชื่อธุรกิจว่า Ruda แล้วเปลี่ยนเป็น PUMA ในภายหลัง

ความขัดแย้งระหว่าง Rudi กับ Adi ไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างพี่น้องนักธุรกิจ 2 คนเท่านั้น แต่ทั้งเมือง Herzogenaurach ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ก็แยกออกเป็น 2 ฝ่ายเช่นเดียวกัน ถ้าใครทำงานกับบริษัทใด ก็จะไม่สุงสิงกับคนในอีกบริษัทหนึ่ง ไม่ช้อปปิ้งในร้านที่ตั้งอยู่ฟากเดียวกับโรงงานของคู่แข่ง และยังไม่แต่งงานข้ามกลุ่มอีกด้วย เพราะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมในเมืองนี้

ว่ากันว่าคนในเมืองนี้จะก้มหน้ามองต่ำ เพราะต้องมองก่อนว่าคู่สนทนาใส่รองเท้ายี่ห้ออะไร จึงจะเริ่มสนทนากัน

แม้จะรู้กันว่า 2 บริษัทนี้ไม่ถูกกัน ก็ยังมีคนวอนหาเรื่อง ย้อนไปในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 1960 Armin Hary นักวิ่งชาวเยอรมัน ใส่รองเท้า PUMA วิ่งชนะ แต่เปลี่ยนไปใส่รองเท้า adidas ตอนขึ้นรับเหรียญ เพราะอยากได้เงินค่าสปอนเซอร์จากทั้ง 2 บริษัท ทำให้ Adi โกรธมาก และแบนนักกีฬาคนนี้ไปตลอดกาล

ด้วยความขัดแย้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งสองคนแทบจะไม่พูดกันอีกเลยตลอดชีวิต จน Rudi เสียชีวิตในปี 1974 และ Adi เสียชีวิตอีก 4 ปีให้หลัง แม้จะสิ้นลมไปแล้ว หลุมศพของสองพี่น้องก็ยังอยู่คนละฟากของสุสาน ไกลกันที่สุดเท่าที่จะไกลได้

แล้วธุรกิจของทั้งคู่เป็นยังไงกันบ้าง

PUMA สมัย Rudi เป็นธุรกิจท้องถิ่นเล็ก ๆ จนกระทั่ง Armin Dassler ลูกชายของ Rudi ขยายกิจการจนเป็นธุรกิจระดับโลก แต่ในที่สุด Armin และ Gerd Dassler ทายาทรุ่นสองของ Rudi ก็ขายหุ้นไปในปี 1989

ส่วน Adi มีลูก 4 คน ทายาทผู้รับช่วงต่อจากเขาคือลูกชายชื่อว่า Horst Dassler

Horst ย้ายไปอยู่ฝรั่งเศส เริ่มสร้างแบรนด์ชุดว่ายน้ำของตัวเองชื่อ arena ในปี 1973 ต่อมา Adi ตาย แม่ของเขา Käthe ขึ้นเป็นประธานบริษัทต่อจากพ่อ ส่วน Horst ก็กลับมารับช่วงบริษัท adidas และได้เป็นประธานบริษัทต่อจากแม่

แต่สุดท้าย เพียงไม่กี่ปีหลังจากที่ Horst เสียชีวิต ทายาทของ Adi Dassler ที่เหลือได้ตัดสินใจขายธุรกิจ adidas ให้นักธุรกิจชาวฝรั่งเศสในปี 1990

สรุปว่าตอนนี้ทั้ง adidas และ PUMA ไม่ได้เป็นของตระกูล Dassler อีกต่อไป

ปี 2017 ยอดขายของ adidas 10.4 ล้านเหรียญ ส่วน PUMA 2.4 พันล้านเหรียญ นับเป็นบริษัทรองเท้ากีฬาอันดับ 2 และ 3 ของโลก ในขณะที่อันดับ 1 คือ Nike ซึ่งมียอดขายถึง 24 พันล้านเหรียญ

แล้วเราจะถอดบทเรียนอะไรจากเรื่องราวธุรกิจของพี่น้อง Dassler ได้บ้าง

หลาย ๆ คนอาจบอกว่าถ้าเขาไม่แยกกัน ธุรกิจอาจแข็งแกร่งจนใหญ่กว่า Nike ไปแล้ว แต่ในทางกลับกัน ถ้าอยู่ด้วยกันแบบไม่เชื่อใจ การแยกทางอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าด้วยเหตุผล 2 ประการ

หนึ่ง ปกติแล้ว ความเชื่อใจหรือ Trust ถือเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญของธุรกิจครอบครัว ซึ่งระหว่างพี่น้อง Dassler ไม่เหลือความเชื่อใจอีกแล้ว และความไม่เชื่อใจก็กลับกลายเป็น Liability ที่อาจทำลายธุรกิจได้

สอง เมื่อแยกแล้วมาแข่งกันเอง ทำให้ทั้ง 2 บริษัทเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สุดท้ายแล้วส่งผลดีต่อทั้ง 2 บริษัท

นอกเหนือจากการแข่งขันทางธุรกิจแล้ว การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายก็น้อยลงตามกาลเวลา เพราะ Rudi กับ Adi เสียชีวิตไปร่วม 50 ปีแล้ว และทั้ง adidas กับ PUMA ก็ไม่ได้เป็นธุรกิจครอบครัวของทายาทพี่น้อง Dassler อีกต่อไป

ความขัดแย้งจบลงอย่างเป็นทางการในปี 2011 ที่บริษัททั้ง 2 แห่งจัดกิจกรรมให้พนักงานมาเตะฟุตบอลกระชับมิตร

ส่วนทายาทตระกูล Dassler คนสุดท้ายที่ทำงานในอดีตของธุรกิจครอบครัวนี้คือ Frank Dassler หลานของปู่ Rudi ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าที่ปรึกษากฎหมายให้ adidas จนเกษียณในปี 2018 และเสียชีวิตในปี 2020ใช่ครับ เขาเป็นหลานของปู่ Rudi แต่ไปทำงานให้ adidas บริษัทคู่อริของปู่ ซึ่งตอนแรกพ่อแม่ก็ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้ห้ามใด ๆ

นี่คือตัวอย่างของธุรกิจครอบครัวที่แยกจากกันแล้วยังเติบโตต่อได้ดี แล้วพบกันใหม่ตอนหน้า

Host

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต