Episode นี้ เราคุยกันถึงธุรกิจครอบครัวที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งประกอบกิจการเรียวกังหรือโรงแรมแบบพื้นเมืองของญี่ปุ่น นอกจากเป็นที่พักอาศัยค้างคืนแล้ว ยังมีบริการต่าง ๆ เช่น อาหารพื้นเมือง การตกแต่งสถานที่แบบดั้งเดิม รวมถึงเสื่อทาทามิ ฟูกที่นอน และเสื้อผ้าด้วย
ธุรกิจนี้ชื่อ Houshi Ryokan ตั้งอยู่ที่จังหวัด Ishikawa ในประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี 718 ไม่ได้อ่านผิดนะครับ ปี 718 บวกลบคูณหารแล้วก็มีอายุแค่ 1,300 ปีกว่า ๆ เอง
ตอนนี้กรุงเทพฯ อายุ 240 ปี ถ้าเทียบแล้ว Houshi Ryokan ก็เก่ากว่ากรุงเทพฯ ประมาณ 5 เท่า หรือถ้าเทียบกับสุโขทัยหรือเชียงใหม่ที่มีอายุ 700 กว่าปี เรียวกังแห่งนี้ก็เก่ากว่าสุโขทัยหรือเชียงใหม่เกือบ 2 เท่า เทียบกันแบบนี้ก็ยิ่งนึกภาพออกว่าเก่าขนาดไหน
ถ้าเก่าขนาดนี้ก็คงไม่แปลกใจ ถ้าผมจะบอกว่านี่เป็นธุรกิจครอบครัวที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และเป็นโรงแรมที่เก่าเป็นอันดับ 2 ของโลก
แน่นอนว่าอะไรเก่า ๆ ขนาดนี้ย่อมมีตำนานที่น่าสนใจ ว่ากันว่าเมื่อ 1,000 กว่าปีก่อน มีพระเดินทางไปถึงบริเวณหนึ่งแล้วเกิดนิมิตว่า มีน้ำพุร้อนศักดิ์สิทธิ์อยู่ใต้ดินแถวนั้น ชาวบ้านเลยช่วยกันขุด แล้วก็เจอน้ำพุร้อนจริง ๆ จึงตั้งเป็นสถานที่พักค้างแรมหรือเรียวกัง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Houshi Ryokan แห่งนี้
ปัจจุบันบริหารโดย คุณ Houshi Zengoro ทายาทเจ้าของรุ่นที่ 46 มีสื่อไปสัมภาษณ์คุณ Zengoro ว่า มีเคล็ดลับอะไรจึงอยู่รอดยืนยาวมา 1,300 ปี 46 รุ่น จนถึงปัจจุบัน คำตอบจากคุณ Zengoro สรุปง่าย ๆ ว่ามี 2 ประการ
หนึ่ง คือความใส่ใจ ไม่เพียงใส่ใจในการให้บริการแก่ลูกค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงใส่ใจคนอื่น ๆ ด้วย ทั้งลูกจ้าง คู่ค้า Suppliers และชุมชนท้องถิ่น
สอง คือการพยายามหาสมดุลระหว่างการรักษารากเหง้าที่สืบทอดกันมา กับการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
คุณ Zengoro บอกว่ายุคสมัยเปลี่ยน คนรุ่นต่อมาก็เปลี่ยนไป การที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้ ต้องปรับเปลี่ยนบริการให้ตรงกับความต้องการของคนในยุคสมัยนั้น ๆ
อย่าง Houshi Ryokan ก็ต้องคิดว่าแขกที่จะมาพักเรียวกังในอีก 100 ปี หรือ 1,000 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
มีแต่ครับ คุณ Zengoro ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องมีขอบเขต ถ้าเปลี่ยนมากไปจนละทิ้งรากเหง้าพื้นเพเดิม ก็จะทำให้ธุรกิจขาดเสน่ห์และมนต์ขลังที่ตระกูลสั่งสมสืบทอดกันมายาวนาน
เขาเล่าว่าความท้าทายของธุรกิจครอบครัว มาจากทั้งด้าน Family และ Business แต่ทุกความท้าทายมีทางออก เพียงแค่ธุรกิจต้องปรับตัวให้ได้
ทางด้านครอบครัวนั้น ลูกชายและหลานชายของคุณ Zengoro เสียชีวิตไปก่อนแล้ว ทำให้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กว่า 1,300 ปี ที่ครอบครัว Houshi ขาดทายาทผู้ชายที่จะรับช่วงธุรกิจต่อไป ทางออกคือการปรับตัว โดยคุณ Zengoro ได้ตัดสินใจว่าจะส่งมอบธุรกิจนี้ให้ลูกสาวต่อไป
ส่วนทางด้านธุรกิจ Houshi Ryokan กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรมโรงแรม โดยเฉพาะจากโรงแรมสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ทางออกก็คือการปรับตัวอีกเช่นกัน โดยเริ่มนำเทคโนโลยีบางอย่างมาใช้ เช่น เว็บไซต์ และ Online Booking แต่ยังคงให้บริการที่พักแบบดั้งเดิม
นอกจากนี้ รสนิยมของคนญี่ปุ่นในปัจจุบันก็เปลี่ยนไป คนนิยมไปพักโรงแรมสมัยใหม่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่าเรียวกังแบบเก่า แต่คุณ Zengoro ก็ปรับตัวหาทางออก โดยหันไปเน้นลูกค้าต่างชาติมากขึ้น เพราะลูกค้าเหล่านั้นยังต้องการประสบการณ์การพักโรงแรมแบบญี่ปุ่น ต้องการสัมผัสวิถีปฏิบัติและการบริการแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงแรมสมัยใหม่ให้ไม่ได้
ถ้าจะถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของ Houshi Ryokan คงต้องบอกว่า เน้นการ ‘มองไกล’ และมี Long-term Perspectives ทั้งการมองย้อนอดีตและมองไปสู่อนาคตข้างหน้า
แล้วการมองไกลมีข้อดีอย่างไร
ข้อดีของการมองไกล มีอย่างน้อย 2 ข้อ หนึ่ง การมองไกลช่วยให้ธุรกิจหาสมดุลระหว่างการสืบสานรากเหง้าจากอดีตกับการปรับตัวสู่อนาคต ซึ่งในหลายกรณี ธุรกิจอาจไม่ต้องเลือกระหว่างการพัฒนาหรือการอนุรักษ์ก็ได้ เพราะ 2 สิ่งนี้อาจช่วยเสริมซึ่งกันและกัน ชื่อเสียงที่สั่งสมจากอดีตที่ผ่านมาเป็นสินทรัพย์ของธุรกิจที่มีคุณค่า และสร้างมูลค่าในอนาคตให้แก่ธุรกิจได้ สมัยนี้คงต้องเรียกว่าเป็น Soft Power อย่างหนึ่ง ซึ่งเรียวกังแห่งนี้เป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ได้ดี
สอง การมองระยะยาวสอดคล้องกับความใส่ใจต่อลูกค้า คู่ค้า และชุมชน ตลอดจนสมาชิกในครอบครัวเอง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ส่งผลให้ธุรกิจยั่งยืนในที่สุด และคนที่เราต้องใส่ใจก็ไม่ได้มีเฉพาะคนในรุ่นปัจจุบันเท่านั้น คุณ Zengoro กล่าวว่า ธุรกิจต้องใส่ใจคนรุ่นต่อไปเช่นกัน อย่างน้อยก็ไม่ส่งต่อมลพิษหรือปัญหาจาก Climate Change ไปให้ลูกหลานในอนาคต
เพราะธุรกิจจะอยู่รอดได้ ก็ต่อเมื่อคนอยู่รอดได้
ตัวอย่างในตอนนี้น่าจะสร้างกำลังใจและแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟังหลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะท่านที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งอาจนึกท้อแท้เมื่อเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในปัจจุบัน ทั้งด้านครอบครัวและด้านธุรกิจ และกังวลว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ธุรกิจครอบครัวจบที่รุ่นเรา
Houshi Ryokan แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดได้ ผ่านสงคราม โรคระบาด และวิกฤตเศรษฐกิจหลากหลายในช่วง 1,000 กว่าปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เกิน 3 รุ่น แต่ยาวนานถึง 46 รุ่น
ตอนต่อไปจะเป็นเรื่องราวของธุรกิจไหน ติดตามได้ที่ ทายาทรุ่นสอง Podcast