Sustrends 2024‘ คืองานสัมมนาว่าด้วย 50 เทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนโลก จัดโดย The Cloud และองค์กรด้านความยั่งยืนทั้งจากภาครัฐ เอกชน ประชาชน รวมถึงเยาวชน รวมแล้วกว่า 20 องค์กร และมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 20 ท่านมาร่วมนำเสนอเทรนด์การทำงานด้านความยั่งยืนในอนาคต ใช้เวลาท่านละ 10 นาที เล่า 3 เทรนด์ที่ควรรู้ในวงการของตัวเอง 

งานสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ พิพิธภัณฑ์สวนเบญจกิติ มีผู้เข้าร่วมฟังบรรยายท่ามกลางธรรมชาติกลางกรุงกว่า 1,000 คน ซึ่งทั้งผู้จัดและผู้เข้าร่วมต่างพยายามสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป เช่น เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ลดการใช้ขวดพลาสติก เปลี่ยนของที่ระลึกวิทยากรเป็นเงินบริจาคให้องค์กรการกุศลที่สนับสนุนเรื่องความยั่งยืน ใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น 

นอกจากกิจกรรมภายในงานที่ตอบโจทย์ตามความตั้งใจของผู้จัดแล้ว งานสัมมนานี้ยังอัดแน่นไปด้วยเทรนด์ที่คนทำงานด้านความยั่งยืนทุกภาคส่วนควรรู้ เพื่อที่จะวางแผนการทำงานในปีหน้าได้อย่างถูกต้อง 

หากคุณพลาดเป็น 1 ใน 1,000 กว่าคนที่ได้เข้าร่วม Sustrends 2024 หรืออยากเรียนรู้สิ่งนี้เพิ่มเติม เพื่อเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและตั้งเป้าหมายสู่ความยั่งยืน ขอให้บันทึกบทความนี้เก็บไว้ เพราะเราสรุปหัวใจสำคัญของทุกเทรนด์จาก 20 วิทยากรตัวจริงไว้ที่นี่แล้ว 

SDGs from Global to Local 

โดย เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย

สถานการณ์ในโลกปัจจุบันอาจทำให้หลายคนหาเหตุผลในการตื่นมาในทุก ๆ เช้ายากขึ้น ข่าวร้าย ปัญหา และความท้าทายในสื่อที่เราเสพทุกวี่วันคล้ายส่งสัญญาณว่าโลกใบนี้กำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากน้ำมือของมนุษย์ องค์กรสหประชาชาติจึงกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขึ้นเมื่อปี 2015 ซึ่งตั้งแต่นั้นมาจนวันนี้ คุณเรอโน เมแยร์ กล้าพูดได้ว่า ไม่เคยเจอใครแม้แต่คนเดียวที่ไม่เห็นด้วยกับ SDGs เพราะมีความเป็นสากลและออกแบบมาเพื่อรวมให้มนุษย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

หากลงลึกไปในรายละเอียดของ SDGs แล้ว เราจะเห็นว่า SDGs มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับทุกคน จนการลงมือปฏิบัติเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง แต่ในขณะเดียวกัน การจะบรรลุเป้าหมายได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการลงมือทำจริงของทุกคน SDGs จึงมีเป้าหมายย่อยที่ลงลึกถึงทุกระดับ ตั้งแต่ประเทศไทยไปจนถึงท้องถิ่น เพื่อช่วยให้ ‘คุณ’ เป็นผู้ลงมือทำด้วยตัวเอง และลงมือผลักดันให้เกิดความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ตอบโจทย์ SDGs เพื่อทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ และการตื่นขึ้นมาในทุก ๆ เช้าไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

การปรับ SDGs จาก 17 เป้าหมาย เป็น 6 กลุ่มปัญหา 

โดย ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทำไมต้องปรับ 

คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิกขององค์กรสหประชาชาติ หรือ UNESCAP ประเมินว่า ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนวิธีการทำงานเสียใหม่ เราจะบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ในปี 2065 ซึ่งล่าช้ากว่าความตั้งใจแรกไปถึง 35 ปี แต่การจะบรรลุเป้าหมายให้ได้ตามกำหนดนั้นไม่ใช่การเร่งทำสิ่งเดิม ๆ ให้เร็วขึ้น แต่ต้องพลิกโฉมสิ่งที่เราทำ และเปลี่ยนจากวิธีการทำงานแบบ Silo คือต่างคนต่างทำ ซึ่งเป็นวิธีการทำงานที่ทำให้ขับเคลื่อนความยั่งยืนได้ลำบาก เพราะในขณะที่หนึ่งเป้าหมายเคลื่อนไปข้างหน้า อาจมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่ก้าวถอยหลัง เราจึงต้องเปลี่ยนจากการทำงานแบบ Silo มาเป็นการทำงานแบบบูรณาการ

ปรับเป็นอย่างไร 

แต่ก่อนจะเปลี่ยนวิธีการทำงาน จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีมอง SDGs เสียก่อน ที่ผ่านมา การที่เรามองแยกเป็น 17 เป้าหมาย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเราทำแต่ละประเด็นแยกกันได้ จึงเกิดการปรับกรอบความคิดจาก 17 เป้าหมายสู่ 6 กลุ่มปัญหา ประกอบด้วย

  1. การพัฒนาเมืองและพื้นที่กึ่งเมือง (Urban and Peri-urban Development)
  2. เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืน (Sustainable and Just Economy)
  3. ชีวิตความเป็นอยู่และศักยภาพของมนุษย์ (Human Well-being and Capabilities)
  4. ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ (Sustainable Food System and Healthy Nutrition)
  5. การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมและยั่งยืน (Energy Decarbonization and Universal Access)
  6. ทรัพยากรร่วมระดับโลก (Global Environmental Common)

เราต้องปรับตัวตามอย่างไร

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางใหม่นั้น เราจึงต้อง

  1. รู้เรื่องระบบธรรมาภิบาล เพื่อสร้างกลไกในการทำงานร่วมกัน
  2. รู้เรื่องเศรษฐกิจและการเงิน เพื่อสร้างกลไกทางตลาด และสร้างแรงดึงดูดให้กับสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน
  3. ทำให้คนธรรมดา ชุมชน และองค์กร ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนได้
  4. หาวิธีใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนในแบบบูรณาการ
  5. เพิ่มศักยภาพของทุกภาคส่วน ผ่านการศึกษาและกิจกรรมการให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้าง

โอกาสของธุรกิจในการปรับตัวจากวิกฤตด้านความยั่งยืน

โดย ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand)

Better Hospitality Initiative

เมื่อทั่วโลกตื่นตัวกับประเด็นเรื่องความยั่งยืน นักท่องเที่ยวที่จะยอมลงทุนเดินทางไกลเพื่อเข้าพักในโรงแรมเพียงไม่กี่คืนนั้นจะค่อย ๆ หมดไป ธุรกิจการท่องเที่ยวจึงต้องปรับตัวและพลิกวิกฤตความยั่งยืนให้เป็นโอกาส โดยเปลี่ยนผ่านสู่การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เป็นการท่องเที่ยวที่มากกว่าแค่ในโรงแรม แต่รวมทั้งย่าน เที่ยวทั่วเมือง และที่สำคัญคือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งทาง World Bank และ IFC มีทุนสนับสนุนภายใต้โครงการที่ชื่อว่า Better Hospitality Initiaive ให้ธุรกิจที่ออกแบบการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ดังกล่าวในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่นประเทศไทยอีกด้วย 

เนื่องจาก Sustainable Hospitality Alliance (SHA) ซึ่งประกอบไปด้วย 50,000 กว่าโรงแรมทั่วโลกกำลังสนใจและพยายามเปลี่ยนผ่านสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยจึงควรรีบปรับตัว รวมถึงหาพันธมิตรเพื่อให้ได้รับการการันตีเรื่องความยั่งยืนจาก SHA ด้วย ‘ฉลากเขียว’ ไม่เช่นนั้นอาจตกเทรนด์ได้ง่าย ๆ

Food System Transformation

เพราะประชากรในประเทศไทยกว่า 35 ล้านคนที่อยู่ในธุรกิจการเกษตร แปรรูป และอาหาร มีรายได้ไม่เพียงพอ การเปลี่ยนผ่านระบบอาหารจึงจะเกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 5 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. ทำให้อาหารมีคุณภาพ ไม่มีสารปนเปื้อน 
  2. ทำให้มีอาหารกระจายอย่างทั่วถึง
  3. ทำให้เกิดการผลิตและบริโภคอาหารอย่างยั่งยืน
  4. ทำให้เกิดการกระจายรายได้ของประชากรที่อยู่ในธุรกิจอาหาร
  5. ให้ความช่วยเหลือเรื่องอาหารเมื่อเกิดวิกฤตต่าง ๆ

ทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับ 5 ประเด็นหลักนี้ เพื่อพลิกการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ

Green Jobs & Workforce

ภาคธุรกิจจะเริ่มหันมามองหาคนที่มีความสามารถอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เช่น ความสามารถในการประเมินต้นทุนของแหล่งวัตถุดิบทางธรรมชาติหรือ ‘คุณค่า’ ของทรัพยากรโดยคำนึงถึงที่ผลกระทบในภาพใหญ่ ไม่ใช่แค่การประเมิน ‘มูลค่า’ หรือการตีราคา ความสามารถในการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าของกิจกรรมในองค์กร (Value Chain Analysis) เพื่อช่วยเพิ่มคุณค่าและสร้างผลกำไร หรือความสามารถในการวิเคราะห์และจัดการกับผลิตภัณฑ์ที่จะถูกดึงออกจากตลาด (Product End of Life Analysis) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ฉะนั้น หากต้องการเพิ่มคุณค่าและค่าตอบแทนของตัวเองในตลาดแรงงาน คุณจำเป็นต้องคำนึงถึงการพัฒนาความสามารถและทักษะเหล่านี้เป็นสำคัญ

แผนที่จะพาไทยให้บรรลุเป้าหมาย SDGs 

โดย ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

SDG Roadmap

การที่เราจะพาประเทศไทยไปสู่คำว่าสังคมที่ยั่งยืนภายในปี 2030 เราต้องมีแผนหรือ SDG Roadmap แบ่งออกเป็น 3 สร้าง ได้แก่ 

  1. สร้างความตื่นตัวให้ทุกคนรู้จักและเข้าใจคำว่า ‘ความยั่งยืน’ จนดำเนินชีวิตโดยไม่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลัง 
  2. สร้างความเชื่อมโยงในทุกแผนงานพัฒนา เพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืน 
  3. สร้างความมีส่วนร่วมของทุกคน ในทุกภาคส่วน

Partnership for Development

การสร้างความร่วมมือจะเป็นเทรนด์สำคัญที่ทำให้เราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เพราะ SDGs ไม่ใช่เรื่องของรัฐหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาชน

Citizen Engagement

เพราะ SDG Roadmap ต้องใช้คน คนคือพระเอก คนคือผู้เล่นหลัก คนคือหัวใจของการพาประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เราทุกคนจึงต้องลงมือทำ เราต้องปรับเปลี่ยนให้ตัวเองให้มีพฤติกรรมที่ยั่งยืน เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนรอบข้างนำไปปฏิบัติตาม เกิดเป็นโมเดลดอกเห็ดที่ผุดและเติบโตขึ้นในทุกพื้นที่ เมื่อตัวเรายั่งยืน สังคมยั่งยืน ประเทศยั่งยืน โลกก็จะยั่งยืนต่อไป

Transition to Sustainable City

โดย ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ร่วมมือเพื่อความยั่งยืน

เพราะความร่วมมือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน กรุงเทพมหานครจึงนำหลากหลายเครื่องมือและกิจกรรมเพื่อรองรับเทรนด์นี้ พร้อมทำให้ความร่วมมือนั้นเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม Traffy Fondue (LINE : @traffyfondue) รับแจ้งทุกประเด็นปัญหาของเมืองกรุงเทพฯ ผ่านไลน์ หรือสภาเมืองคนรุ่นใหม่ เป็นเวทีที่เปิดรับความคิดเห็นประชาชนทุก 3 เดือน เป็นต้น

ปรับกายภาพ

เทรนด์การใช้ขนส่งสาธารณะและลดใช้รถยนต์เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจะเกิดขึ้นในยุคแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งกรุงเทพมหานครไม่ได้นิ่งนอนใจ และดำเนินการปรับปรุงทางกายภาพครั้งใหญ่เพื่อรองรับเทรนด์ดังกล่าว เช่น เพิ่มทางเท้า 1,000 กิโลเมตร เพิ่มการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ปรับปรุงจุดจอดจักรยาน และเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วเมือง

ปรับกฎหมาย

กรุงเทพมหานครกำลังพยายามสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อปรับกฎหมายให้เกิดการใช้งานพื้นที่ต่าง ๆ ของเมืองอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น เช่น ควบคุมการเข้าออกของรถบรรทุกเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ปรับผังเมืองเพื่อให้เกิดการขยายเมือง และสร้างตึกสูงอย่างปลอดภัย พร้อมมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัยในบริเวณ การตั้งราคาขยะเพื่อกระตุ้นให้คนแยกขยะมากขึ้น ปรับพื้นที่ใต้ทางด่วนให้เกิดประโยชน์ และย้ายท่าเรือคลองเตยเพื่อลดมลภาวะในชุมชนโดยรอบ เป็นต้น

Empowering People, Empowering City พลัง ‘คน’ สร้างเมือง 

โดย ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Shma และ we!park

Co-invest

ชาวเมืองทุกคนต่างมีทรัพยากรอยู่ในมือไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรความรู้ ทรัพยากรทุน หรือทรัพยากรที่ดิน การร่วมลงทุนด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในมือเพื่อการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้ เช่น การรวบรวมข้อมูลที่ดินรกร้างแล้วนำมาพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ที่สำคัญ การร่วมลงทุนในรูปแบบนี้ให้ผลลัพธ์ที่เหนือกว่าประโยชน์ในเชิงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพราะผู้ร่วมลงทุนจะได้เป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาเมือง จนติดใจและส่งผลให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ

Customization

แต่ละเมืองมีข้อจำกัดและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน การยืมแบบอย่างความสำเร็จของเมืองหนึ่งมาใช้ในอีกเมืองหนึ่ง โดยไม่ปรับแต่งให้ตอบโจทย์คนในพื้นที่ จึงเป็นการสูญเสียงบประมาณ เวลา และโอกาส 

เราจึงควรสร้างศักยภาพให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการริเริ่ม วางแผน ออกแบบ และตัดสินใจในการจัดการพื้นที่เมืองให้ตอบโจทย์ผู้อยู่ เช่น การสร้างศักยภาพให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบสวนที่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ที่เป็นทั้งพื้นที่ออกกำลังกายและเป็นสวนกินได้ เป็นต้น

Small Intervention, Big Impact

การสร้างเมืองให้ตอบโจทย์ความยั่งยืนเริ่มได้จากการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย เพราะการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ นั้นแทรกซึมเพื่อเข้าถึงทุกปัญหา และทำได้ง่ายเพราะใช้งบประมาณน้อย แถมยังขยายผลจนนำมาเชื่อมโยงกันเป็นระบบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบในวงกว้าง เช่น เราอาจเริ่มจากการเพิ่มสวนขนาดเล็กหลาย ๆ จุด ซึ่งเมื่อเอาพื้นที่ทั้งหมดมาเชื่อมโยงกัน เราจะได้พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้จะทำได้เมื่อศักยภาพของคนเมืองถูกปลดล็อก และทำให้ทุกคนเป็นพลังของเมือง ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น เราจะได้เมืองที่น่าอยู่และเป็นเมืองที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน

The Future of Sustainability 

โดย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร หัวหน้าสายงานพัฒนา ความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

From Nice-to-have to Want-to-have

มุมมองที่มีต่อความยั่งยืนได้เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน จากที่เคยเป็นสิ่งที่ ‘ทำก็ดี’ กลายเป็นสิ่งที่ ‘ต้องทำ’ เพราะการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐที่เข้มงวดขึ้น แต่เทรนด์ที่เราจะเห็นในปี 2024 คือความยั่งยืนกลายเป็นสิ่งที่หลายธุรกิจ ‘อยากจะทำ’ เพราะประโยชน์ที่ได้นั้นจะตกอยู่ที่มนุษย์ โลก และผลกำไรของบริษัทเอง 

From Corporate Practice to Data-driven Investment

แต่เดิมนักลงทุนมองว่า บริษัทที่ลงทุนกับความยั่งยืนมีต้นทุนสูงกว่า และผลตอบแทนต่ำกว่าบริษัทอื่น แต่ในปี 2024 บริษัทที่ลงทุนกับความยั่งยืนจะถูกมองว่ามีการบริหารความเสี่ยงและลดโอกาสถูกฟ้องจากประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืน ฉะนั้น เราจะเห็นกองทุนจำนวนมากหันมาลงทุนในหุ้นยั่งยืน ข้อมูลและคนวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจึงเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นแรงจูงใจให้บริษัทและนักลงทุน หันมาลงทุนกับความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

From Today’s Frontier to Tomorrow’s Norm

เราจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อทุกการกระทำเพื่อความยั่งยืนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ จากนี้ไป การพัฒนาสู่ความยั่งยืนจะไม่ใช่สิ่งใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องใช้แรงหรือใช้ความพยายามมากกว่าปกติ แต่เป็นกิจวัตรประจำวันของเราทุกคน

Business beyond Net Zero 

โดย สุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการ สถาบัน ChangeFusion

Impact Transparency

ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเรื่องความโปร่งใสในการสร้างผลกระทบของโครงการเพื่อความยั่งยืน และพยายามสร้างมาตรฐานในการตรวจสอบเพื่อให้ทุกประเทศนำไปปรับใช้ เพื่อรองรับเทรนด์ดังกล่าว ภาคธุรกิจจึงควรเตรียมตัวและเตรียมข้อมูลให้พร้อม เพื่อรองรับการตรวจสอบ ติดตามที่มาที่ไปและผลกระทบของทุกโครงการเพื่อความยั่งยืน

Impact Quality

ทุกความพยายามในการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนควรต้องคำนึงถึงคุณภาพของผลกระทบเป็นสำคัญ เพื่ออธิบายว่าผลกระทบที่ได้สร้างนั้นมีประโยชน์จริงอย่างไร และมีความหมายต่อ SDGs อย่างไร จึงมีประโยชน์อย่างมากในการขยายผลต่ออย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หากจะปลูกป่า ควรคำนึงถึงมากกว่าแค่จำนวนต้นไม้ แต่เป็นชนิดของต้นไม้ที่เหมาะกับพื้นที่ และผลประโยชน์ที่โลกใบนี้จะได้รับจากต้นไม้เหล่านั้นว่าคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ เป็นต้น

Business beyond Net Zero

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกใบนี้สมดุล เพราะทุกชีวิตบนโลกต่างมีหน้าที่กำกับดูแลสมดุลของวัฏจักรต่าง ๆ ที่เอื้อต่อชีวิตเรา แต่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ ความหลากหลายทางชีวภาพหายไปกว่า 70% ทำให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ไม่เพียงพออีกต่อไป และเทรนด์ที่ควรปรากฏในปี 2024 คือการสร้างผลเชิงบวกต่อธรรมชาติ (Nature Positive) ซึ่งทุกคนในทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูธรรมชาติ พลิกฟื้นความสมบูรณ์ของป่าและความหลากหลายทางชีวภาพได้ ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทหรือฐานะใดก็ตาม

Sustainable Well-being

โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Life Style Well-being

วิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน แม้ส่วนหนึ่งจะกำหนดด้วยตัวเราเอง แต่ก็มีอีกหลายส่วนที่ดำเนินอยู่บนเงื่อนไข สิ่งกระตุ้น ชี้ชวน และชักจูง ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม อันเป็นผลมาจากความอยากได้ อยากมี และไม่พึงพอใจในตนเอง เทรนด์ความยั่งยืนทางสุขภาวะที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 จึงดึงวิถีชีวิตของผู้คนโดยกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคให้เคลื่อนไปในทางที่จะนำไปสู่สุขภาวะที่ดีกว่า ท่ามกลางอิทธิพลของสิ่งกระตุ้นรุมเร้าทั้งหลายเหล่านี้

Precision and De-intermediarization Well-being

พัฒนาการเทคโนโลยีส่งผลให้ปัจจัยต่าง ๆ ที่กระตุ้นวิถีชีวิตของมนุษย์นั้นมีความเฉพาะเจาะจงตามปัจเจกบุคคล เช่น ระบบวิเคราะห์พฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคที่ยิงโฆษณา ตอบโจทย์ความต้องการ อยากได้ อยากมี ของ ‘คุณ’ โดยเฉพาะ หรือแผนที่พันธุกรรมเฉพาะบุคคล ที่ทำให้การให้ยารักษาโรคเจาะจงตามความต้องการของร่างกายโดยเฉพาะ และหากสังเกตให้ดีจะพบว่าพัฒนาการทางเทคโนโลยีนี้ยังตัดมนุษย์คนกลางออกจากระบบได้อย่างแนบเนียน ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนซึ่งแทนที่ด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ก คนขับรถที่แทนที่ด้วย AI หรือรังสีแพทย์ที่แทนที่ด้วยโปรแกรมอ่านฟิล์มเอกซเรย์ เป็นต้น เราจึงต้องปรับตัวเพื่อทำงานและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเทรนด์ทางสุขภาวะดังกล่าวเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและเท่าเทียม

Healthy and Harmonized Planet

วงการสุขภาพและวงการแพทย์เองตระหนักถึงผลกระทบต่อโลกจากการพัฒนาที่ขาดสมดุลในศตวรรษที่ 20 ไม่ต่างกับประชาคมโลก นักสร้างสุขภาพทั่วโลกจึงหันมามองมากกว่าแค่สุขภาพของมนุษย์ แต่รวมไปถึงความเท่าเทียมและความสมดุลในสุขภาวะของสัตว์ สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม อันประกอบเป็นโลกใบนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

การเรียนรู้ในโลกที่เปลี่ยนไป

โดย โตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ OKMD

Meta Learning

วิธีการเรียนรู้แบบเดียวแบบเดิมอาจไม่เหมาะกับทุกคนเสมอไป ส่งผลให้บางคนเรียนรอด แต่บางคนก็ทิ้งการเรียนรู้นั้นกลางคัน และไม่เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืน แต่อันที่จริงแล้ววิธีการเรียนรู้นั้นมีหลากหลายแบบที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป ฉะนั้น ในปี 2024 เราจะได้เห็นเทรนด์ที่เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เห็นภาพใหญ่ และเห็นวิธีการเรียนรู้ทุกรูปแบบ ก่อนที่จะเลือกว่าวิธีการเรียนรู้แบบใดที่เหมาะกับตัวคุณ 

Ultra Learning

เมื่อได้เลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเองแล้ว จะทำให้เกิด Ultra Learning หรือการเรียนรู้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างลึกซึ้งอย่างยั่งยืน เพราะผู้เรียนอยากเรียนจากภายใน สนุกที่จะเรียน และไม่รู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับวิธีการ หากผู้เรียนถูกบังคับให้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่ได้มีโอกาสเลือกวิธีเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเองก่อน จะทำให้ผู้เรียนเกลียดการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย

Micro Learning

เมื่อคุณได้เห็นภาพใหญ่ของการเรียนรู้ เลือกวิธีการที่จะเรียนรู้ และลงลึกกับสิ่งที่จะเรียนรู้ด้วยวิธีการที่คุณเลือกด้วยมือของคุณเอง คุณจะเกิดความรักและความต้องการที่จะเรียนรู้ จนสร้างเป็นจักรวาลแห่งการเรียนรู้เล็ก ๆ ที่อยู่รอบตัวคุณ หรือ Micro Learning ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบไปตลอดชั่วชีวิต ซึ่งนี่จะเป็นเทรนด์การเรียนรู้ที่ยั่งยืนที่สุด

ความรู้ควรรู้ที่กำลังเปลี่ยนวงการอาหาร 

โดย ดวงพร ทรงวิศวะ ผู้ก่อตั้ง Bo.lan และ คอลัมนิสต์ The Cloud

Food Literacy

การจะสร้างให้คนเกิดปัญญาในการกินได้นั้นมี 3 ปัจจัยหลัก อย่างแรกคือผู้กินต้องมีความรู้และมีข้อมูลว่าสิ่งที่ตนเลือกกินนั้นสร้างผลกระทบอย่างไรและกับใคร เมื่อมีข้อมูลดังกล่าวแล้ว ยังต้องมีทักษะในการวิเคราะห์และแยกแยะว่าข้อมูลนั้นมีความจริงเท็จหรือไม่ และสุดท้ายผู้กินต้องมีทัศนคติที่ดีในการกิน จนนำข้อมูลที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาปรับให้เกิดพฤติกรรมการกินที่ดีต่อผลประโยชน์ส่วนรวม หากปัจจัยทั้ง 3 นี้ครบถ้วน ผู้กินจะเกิดสติปัญญาในการกิน หรือ Food Literacy ซึ่งจะเป็นเทรนด์การกินที่ขับเคลื่อนให้สังคมเติบโตได้อย่างยั่งยืน

Nutriepigenomics

แต่ละคนมีพันธุกรรมที่มีความเฉพาะเจาะจงตามปัจเจกบุคคล ซึ่งทำให้เราทุกคนมีการตอบสนองต่อการกินของสิ่งเดียวกันไม่เหมือนกัน การศึกษาให้รู้ลึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างโภชนาการและพันธุกรรม หรือ โภชนพันธุศาสตร์ (Nutriepigenomics) จึงเป็นเทรนด์ที่นักวิจัยควรให้ความสำคัญ เพราะเป็นประโยชน์ต่อนักออกแบบนโยบายในการสนับสนุนการบริโภคอาหารที่เหมาะสมกับพันธุกรรมของประชากรส่วนใหญ่ และเป็นการใช้โภชนาการป้องกันการเกิดโรคได้อีกด้วย

Food Security

ความมั่นคงทางอาหาร หรือ ความสามารถของคนในการเข้าถึงอาหารที่ดี มีประโยชน์ และดำรงชีวิตได้อย่างมีสุขภาพที่ดีนั้น เป็นเทรนด์ที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ท้าทาย ไม่ใช่เพราะเราผลิตอาหารไม่เพียงพอ แต่เพราะเราแจกจ่ายอาหารได้ไม่ทั่วถึง ไม่ใช่เพราะเราไม่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่เป็นเพราะเราพยายามใช้สิ่งเหล่านี้เอาชนะธรรมชาติแทนที่จะใช้มันให้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราจึงต้องหาทางแก้ปัญหาให้ตรงจุดเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

เราต้องเอาองค์ความรู้ทางโภชนาการและระบบอาหารที่มีอยู่มากมายมาลงมือปฏิบัติจริง และหากเราอยากเปลี่ยนให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เราต้องเริ่มสร้างการเปลี่ยนตั้งแต่ ‘วันนี้’ เป็นต้นไป

การปรับตัวของวงการอาหารในวันที่โลกป่วย คนก็ป่วย 

โดย พงษ์ศิลา คำมาก ผู้ก่อตั้ง Sansaicisco และ Slow Food Chiang Mai

พีระมิดบนโต๊ะอาหาร ต้องสอดคล้องกับพีระมิดห่วงโซ่อาหาร

เคยสังเกตหรือไม่ว่าสัดส่วนของสิ่งที่เรากินบนโต๊ะอาหารนั้นไม่สอดคล้องกับสัดส่วนของวัตถุดิบบนโลกใบนี้ ของที่มีมากมายและหลากหลาย เช่น ถั่ว มักถูกเสิร์ฟเพียงน้อยนิดบนโต๊ะอาหาร แต่สิ่งที่มีวงจรชีวิตยืนยาวแถมบริโภคอาหารเยอะ เช่น วัวหรือหมู กลับเป็นอาหารจานหลัก ฉะนั้นเทรนด์ในการทำให้สัดส่วนบนโต๊ะอาหารสอดคล้องกับสัดส่วนของวัตถุดิบบนโลกใบนี้ จะต้องเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืน

การกินเพื่อแก้ปัญหาหนึ่ง จะนำเราไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง

การกินอาหารตามเทรนด์เพื่อแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งกำลังจะไม่เป็นเทรนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออาหารชนิดนั้นไม่ได้มีมากเพียงพอเพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นอย่างกะทันหัน จนทำให้ผู้ผลิตต้องฝืนธรรมชาติและทำลายสมดุล ฉะนั้น การกินอาหารในพื้นที่ ในสัดส่วนที่มีตามธรรมชาติ จึงจะเป็นเทรนด์ใหม่ที่เข้ามาแทนที่ และช่วยส่งเสริมให้วงการอาหารเติบโตได้อย่างยั่งยืน

การแก้ปัญหาด้วยการสอนทำอาหาร

คนที่จะเข้าใจเรื่องอาหารและปัญหาจากการบริโภคอาหาร อันจะนำไปสู่การคิดหาหนทางหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาของความยั่งยืนทางอาหารได้ดีที่สุด คือคนที่ได้ลองทำอาหารด้วยตัวเอง ได้ลองค้นหา เข้าใจ และรู้ลึกไปจนถึงที่มาของแต่ละวัตถุดิบบนโต๊ะอาหาร การสอนทำอาหารจึงเป็นอีกหนึ่งหนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

Just Energy Transition 

โดย สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

Just

การพัฒนาที่ยั่งยืนหมายถึงการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นเรา โดยไม่ลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลังในการตอบสนองความต้องการของตัวเอง หรือสรุปง่าย ๆ ว่าเราต้องพัฒนาอย่างยุติธรรม ซึ่งแยกย่อยออกมาเป็น 4 มิติหลัก ได้แก่

  1. ความยุติธรรมเชิงการกระจาย (Distributional Justice) คือการทำให้ผลประโยชน์เข้าถึงคนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ไม่กีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และทำให้ผลกระทบไม่ตกอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินจำเป็น 
  2. ความยุติธรรมเชิงกระบวนการ (Procedural Justice) คือการทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ
  3. ความยุติธรรมเชิงตระหนักรับรู้ (Recognition Justice) คือการมองเห็นและยอมรับว่าทุกคนมีความเท่าเทียมและทุกคนควรมีสิทธิ์มีเสียง
  4. ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) คือการเรียกร้องให้เราเห็นผลเสียหรือความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาในอดีต และหาทางชดเชยหรือเยียวยาผลกระทบอย่างถูกต้องเหมาะสม

Energy

ถือเป็นโชคดีที่พลังงานหมุนเวียนใช้ได้จริง มีประสิทธิภาพสูงจริง และเรามีเทคโนโลยีที่ปลดล็อกพลังงานสะอาดจากข้อจำกัดในอดีตได้แล้ว และถือเป็นโชคดีที่พลังงานหมุนเวียนนั้นมีต้นทุนต่ำ ทุกคนเข้าถึงและจัดการได้ด้วยตัวเอง พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นความหวังที่แท้จริงของประชาธิปไตยทางพลังงาน 

Transition

การเปลี่ยนผ่านพลังงานจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ทันเวลา ซึ่งการจะเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำนั้นจะเป็นไปได้ ต่อเมื่อเราเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณูปโภค นโยบาย ไปจนถึงวิธีคิดของคนที่จัดการพลังงานให้เอื้อต่อการผลักดันพลังงานหมุนเวียนขึ้นมาแทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ และการเปลี่ยนผ่านจากระบบการจัดการพลังงานที่รวมศูนย์อยู่ที่ภาครัฐ สู่การกระจายอำนาจและเปิดเสรีในการบริหารจัดการ ซื้อขายพลังงาน ควรต้องมาพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยุติธรรม

Energy for Decarbonization

โดย อาทิตย์ เวชกิจ กรรมการ สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) และ ประธานกรรมการ บริษัท นีโอ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด

Appropriate Truth and Trust

พลังงานต้องมีราคามีที่เหมาะสม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความเสถียร ซึ่งในอดีตนั้น ฝั่งที่สนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลมักโจมตีว่าพลังงานหมุนเวียน แม้จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแต่แพงและไม่เสถียร แต่ในวันนี้ เราควรจะต้องคุยกันบนพื้นฐานความจริงที่ว่า พลังงานหมุนเวียนนั้นตอบทุกโจทย์ของการเป็นพลังงานที่จะช่วยให้โลกใบนี้พัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างสมบูรณ์แบบ

Need of Change

หากดูจากคุณสมบัติของพลังงานหมุนเวียนแล้ว แน่นอนว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลควรจะเปลี่ยนเข้าสู่ขาลง สวนทางกับการใช้พลังงานหมุนเวียน และเพราะแผนพลังงานที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในมือของภาครัฐทั้งหมด ความร่วมมือจากภาครัฐจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดนั้นประสบความสำเร็จได้ 

Unavoid Future to be Achieved

ในปัจจุบันนี้ เราใช้พลังงานสะอาดกันอยู่เพียง 10% และถ้าเราเพิ่มการใช้พลังสะอาดให้ได้ตามเป้าที่ 85% ไม่ได้ ในปี 2050 นั้นประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือดมากที่สุดเป็นลำดับที่ 9 ของโลก การผลักดันการใช้พลังงานสะอาดจึงเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้เราส่งต่อประเทศนี้ให้กับคนรุ่นหลังได้

Nature Integrity ความสมบูรณ์ขององคาพยพเพื่อดำรงประสิทธิภาพการทำงานของระบบนิเวศ 

โดย ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียวและผู้ร่วมก่อตั้งทุ่งน้ำนูนีนอย

Biodiversity Net Gain

การเพิ่มจำนวนสายพันธุ์ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Biodiversity Net Gain เป็นเทรนด์ที่ต้องใส่ใจในปี 2024 เพราะผลจากการเจรจากรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล แสดงให้เห็นว่าสังคมโลกได้มีความเห็นร่วมกันถึงกรอบแนวทางปฏิบัติ ที่จะประเมิน ติดตาม และตรวจสอบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ และหลายประเทศได้มีมาตรการตามแนวทางปฏิบัติดังกล่าวอย่างชัดเจน เช่น ประเทศอังกฤษได้ออกกฎหมายที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้การพัฒนาเมืองหรือพื้นที่อื่น ๆ ต้องออกแบบให้เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพอย่างน้อย 10% เป็นต้น 

Rewild

การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพจะทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ได้ทำหน้าที่ในการฟื้นกลไกการทำงานของระบบนิเวศที่ล่มสลายไปแล้วขึ้นมาใหม่ และเปิดโอกาสให้ธรรมชาติจัดสรรตัวเอง แต่ในบางกรณีเราอาจต้องช่วยลั่นไกเพื่อริเริ่มกระบวนการฟื้นฟู เช่น การนำหมาป่าจากแคนาดามายังอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนของสหรัฐฯ หลังจากที่หมาป่า 2 ตัวสุดท้ายซึ่งเป็นผู้ล่าบนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารถูกฆ่า และระบบนิเวศในอุทยานฯ พังทลาย นอกจากนี้ การ Rewild ยังเริ่มต้นจากเรื่องเล็ก ๆ รอบตัวได้ เช่น การปล่อยให้หญ้าท้องถิ่นขึ้นมาแทนสนามหญ้าที่เรามักจะตัดให้เตียน เพื่อฟื้นประชากรแมลงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นต้น ที่สำคัญนั้น การเริ่มต้นเล็ก ๆ นี้ต่อยอดและเชื่อมโยงต่อไปในระดับชุมชน ในเมือง ในพื้นที่เกษตร ในแม่น้ำลำธาร จนถึงพื้นที่อนุรักษ์ขนาดใหญ่ได้ เพื่อสร้างผลกระทบในวงกว้างอย่างยั่งยืน

Nature Rights

ความสลับซับซ้อนอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาตินั้น เหนือความเข้าใจและความสามารถของมนุษย์ เราจึงไม่ควรเข้าไปควบคุมหรือกำกับ แต่เราต้องเคารพในสิทธิการดำรงอยู่และกฎกติกาของธรรมชาติ ทำให้ในปัจจุบันนี้ เริ่มมีการออกกฎหมายเพื่อให้มนุษย์ยอมรับในสิทธิโดยชอบธรรมของธรรมชาติ โดยที่ธรรมชาติไม่ต้องพิสูจน์คุณค่าหรือมูลค่าของตัวเอง เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ได้มีการประกาศให้แม่น้ำมีสิทธิของตัวเอง ฉะนั้น การจะใช้ทรัพยากรน้ำในแม่น้ำต้องทำโดยไม่ทำลายโครงสร้างของระบบนิเวศแม่น้ำ เพื่อให้เกิดการใช้อย่างยั่งยืน

ในปี 2024 เราจะได้เห็นเทรนด์การเปลี่ยนทัศนคติจากการมองเห็นมูลค่าทางเศรษฐกิจของธรรมชาติ ไปสู่การตระหนักในคุณค่าของธรรมชาติที่อุ้มชูและแยกออกจากชีวิตเราไม่ได้เลย ความอดทนอดกลั้นกับการทำลายธรรมชาติควรจะต้องเป็นศูนย์ (Zero Tolerance) เพราะเราสูญเสียธรรมชาติไปมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว

A Safe Space between Planetary Boundary and Social Boundary

โดย ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย

Global Boiling

‘โลกเดือด’ ส่งผลคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหาร การเข้าถึงน้ำสะอาด อากาศที่ดี และจะนำไปสู่การพังทลายของระบบนิเวศที่สนับสนุนค้ำจุนทุกชีวิต ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม ความยากจน และโรคระบาดในอนาคต หากมองในระดับโลกแล้ว เทรนด์นโยบายสภาพภูมิอากาศที่ทรงพลังแต่เรียบง่ายที่สุดที่จะหยุดยั้งโลกเดือดได้ คือการหยุดขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ พร้อมผลัดดันให้กลุ่มประเทศร่ำรวยหรืออุตสาหกรรมฟอสซิลยักษ์ใหญ่ (Carbon Majors) จ่ายหนี้นิเวศเพื่อชดเชยให้กับผลกระทบจากวิกฤตโลกเดือด ส่วนประเทศไทยที่ได้ใช้ต้นทุนนิเวศหมดไปตั้งแต่ปี 2530 แล้วนั้น ยังถือว่าโชคดีที่เรามีนโยบายสภาพภูมิอากาศ แต่โชคร้ายที่นโยบายดังกล่าวยังไม่ได้สัดส่วน และไม่พูดถึงความเป็นธรรม หรือ Climate Justice ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรให้ความคำนึงถึง เพื่อให้เกิดการจัดการแผน Net Zero และ Carbon Neutrality อย่างยุติธรรมกับทุกคน

Greenwashing Literacy

ในขณะที่เราทุกคนกำลังช่วยกันปกป้องโลก แต่กลยุทธ์การฟอกเขียว หรือ Greenwashing เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดูเป็นมิตรต่อโลกและเพิ่มกำไรพร้อมสะสมความมั่งคั่งให้กับคนกลุ่มเล็ก ๆ ไม่กี่กลุ่ม กลับแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่เราต้องรู้เท่าทันการฟอกเขียว เราต้องรู้ว่าการฟอกเขียวเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และโลกมากกว่าที่เราคิด เพราะการฟอกเขียวนั้นเบี่ยงเบนความสนใจ ทำให้เราไม่ได้สนับสนุนหน่วยธุรกิจที่ตั้งใจลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง จนส่งผลให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนนั้นเกิดขึ้นได้ช้าลง

A Safe Space between Planetary Boundaries and Social Foundations

เพื่อต่อสู้กับวิกฤตโลกเดือด เพื่อทำให้กลยุทธ์การฟอกเขียวเป็นเพียงประวัติศาสตร์ และเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นเกิดขึ้นตามเป้าหมาย เราต้องร่วมกันหาคำตอบให้ได้ว่า พื้นที่ปลอดภัยและเป็นธรรมต่อสังคมและของมนุษยชาติในขีดจำกัดทางนิเวศวิทยานั้นอยู่ที่ไหน โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจโดนัท (Doughnut Economics) ที่เชื่อว่ามีพื้นที่การพัฒนาที่สมดุลตรงกลาง (เนื้อโดนัท) ระหว่างวิกฤตสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศ (พื้นที่นอกโดนัท) และรากฐานทางสังคม (พื้นที่ในรูโดนัท) หากเราหาพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่พัฒนาให้โดนัทชิ้นใหญ่ จนล่วงเกินขีดจำกัดของธรรมชาติ หรือลิดรอนรากฐานทางสังคมและเป็นภัยต่อสิทธิ์หรือความเป็นอยู่ของมนุษย์ จนโดนัทไม่มีรู เราจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน เป็นโดนัทรูปทรงสวยงาม บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

How to Create Governance Ecosystem

โดย ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้ง HAND Social Entreprise / ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Open Data

การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีระบบนิเวศของธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลที่ดี ซึ่งต้องอาศัยการเปิดเผยข้อมูลที่ครอบคลุมและมีมาตรฐาน เพราะจะทำให้ประชาชนติดตามการใช้งบประมาณของภาครัฐ และการทำงานขององค์กรที่เฝ้าติดตามได้ และป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข่าวดีคือมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นสากลนั้นมีอยู่แล้ว เราจึงนำเอามาใช้ประโยชน์ได้ทันทีโดยไม่ต้องออกแบบเองใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นระบบและเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

Participation

เมื่อมีข้อมูลแล้ว เราต้องให้ประชาชนนำเอาข้อมูลนี้ไปใช้ประโยชน์และเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลได้ ดังนั้นนอกจากข้อมูลที่เปิดเผยออกมาจะต้องเข้าถึงได้ง่ายแล้ว ยังต้องเป็นข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย เพื่อเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

Accountability

ปลายทางคือเราอยากเห็นสังคมที่มีความรับผิดชอบ สังคมที่คนจะโกงยาก และคนที่มีความซื่อสัตย์จะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ดี แต่ความรับผิดชอบจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ ในประเทศเกาหลีที่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีพื้นที่ให้ประชาชนส่งข้อร้องเรียนและติดตามการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ จนจับประธานาธิบดีมาเข้าคุกในข้อหาทุจริตได้สำเร็จ คือตัวอย่างความยิ่งใหญ่ของ 3 เทรนด์นี้

ประเทศไทยยังมีความหวังและยังตามทัน วันนี้เรามีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่พร้อม เรามีเทรนด์ที่สำเร็จในต่างประเทศให้ได้ศึกษาและนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบท และที่สำคัญคือเรามีประชาชนที่ตื่นรู้ สู้โกง ไม่ยอมรับการทุจริตอีกต่อไป เราทำให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศของธรรมาภิบาลหรือระบบการกำกับดูแลที่ดีได้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้เราประสบความสำเร็จในการรักษาทรัพยากรป่าไม้ ปฏิรูปการศึกษา สร้างสวัสดิการให้กับประชาชนให้สำเร็จได้มากขึ้น และพาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

Financing Needs & How to Close the Gap

โดย ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

Public Finance

การคลังสาธารณะ (Public Finance) มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาษี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญ เพราะรัฐใช้ภาษีเป็นแรงจูงใจและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือลดพฤติกรรมหรือกิจกรรมบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ อย่างที่กรมสรรพสามิตใช้สิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้งในการวางฐานภาษีและกำหนดแนวทางการจัดเก็บภาษีเพื่อรองรับแนวนโยบาย Carbon Neutrality และ Net Zero ผ่านโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น

Mobilization of Capital Markets

นอกเหนือจากภาษีแล้ว การระดมตลาดทุนเป็นอีกหนึ่งกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่การระดมทุนก็ต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและกติกาที่ชัดเจนสำหรับนักลงทุนหรือธุรกิจ และป้องกันการกล่าวอ้างที่เกินจริง ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานกรรมการคณะกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จึงได้จำแนกกิจกรรมที่สอดคล้องและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น Green Bond หรือตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อปล่อยกู้ให้กับเกษตรกรนำเงินไปปลูกป่าและบำบัดน้ำเสีย หรือ Social Impact Bond ที่รัฐได้ปรับรูปแบบการใช้งบประมาณเพื่อจ่ายเงินคืนให้กับผู้ลงทุน ต่อเมื่อมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน เป็นต้น

Budget Tracking

กลไกการติดตามการใช้งบประมาณของรัฐเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ เราต้องรู้ว่ารัฐบริหารจัดการรายได้และใช้จ่ายอย่างไร และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีระบบการติดตามและตรวจสอบการนำงบประมาณไปใช้ในแต่ละส่วนอย่างละเอียดในทุกโครงการเพื่อความยั่งยืน กลไกทางการเงินจึงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ และเมื่อทุกกลไกทำงานร่วมกัน เราจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในท้ายที่สุด 

Make Sustainability Sustainable

โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

Co-habitation

เมื่อสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งสูญพันธุ์จากภาวะโลกเดือด ก็จะส่งผลให้สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งสูญพันธ์ุตามกันเป็นลูกโซ่ จนระบบนิเวศล้มครืน และมนุษย์ก็จะสูญพันธุ์ตามไปในท้ายที่สุดตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะ ‘อยู่ร่วมชายคาเดียวกัน’ (Cohabitation) กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ รวมถึงโลกใบนี้ที่ประกอบด้วยผืนฟ้า มหาสมุทร และแผ่นดิน เราต้องเปลี่ยนแนวคิดจากการยึด ‘มนุษย์’ เป็นศูนย์กลาง (Anthropocentric) เป็นการยึด ‘โลกพิภพ’ เป็นศูนย์กลาง (Eco-centric) จากการยึด ‘ตัวเอง’ เป็นศูนย์กลาง (Self-centric) เป็นการยึด ‘เพื่อนมนุษย์’ เป็นศูนย์กลาง (Philanthropic) และจากการมองเห็นแค่รุ่นของเรา (Current Generation) ไปสู่การให้น้ำหนักกับคนรุ่นถัดไป (Future Generations) เราต้องเริ่มเปลี่ยนที่ตัวเราและที่แนวคิดของเรา เพราะเมื่อเราเปลี่ยน โลกจึงจะเปลี่ยน

Co-creation

การอยู่ร่วมชายคาเดียวกันจะต้องเกิดจากความร่วมไม้ร่วมมือ ‘รวมรังสรรค์’ (Co-creation) ไม่ใช่การ ‘มุ่งแข่งขัน’ แน่นอนว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องการการเติบโตและความมั่นคง แต่เพราะเราต้องอยู่ร่วมชายคา (มิใช่แข่ง) กับสิ่งมีชีวิตและโลกใบนี้ การเติบโตและความมั่นคงจึงต้องมาพร้อมกับความยั่งยืนและความเท่าเทียม เราต้องเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) และเท่าเทียม (Shared Prosperity) พร้อมมีความมั่นคงที่สอดรับกับความยั่งยืน (Saved Planet) และเท่าเทียมเช่นเดียวกัน (Secured Peace) และนี่คือ 4 กรอบความคิดที่เป็น ‘ต้นน้ำ’ ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

Co-evolution

แม้วิวัฒนาการเชิงพันธุกรรมของมนุษยชาติได้ชะลอลงแล้ว แต่วิวัฒนาการของมนุษย์ทางกระบวนความคิดนั้น ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น ถ้ามีเรามีแนวคิดที่จะ ‘อยู่ร่วมชายคาเดียวกัน’ (Co-habitation) เราจำเป็นจะต้องร่วมใจ ‘รวมรังสรรค์’ (Co-creation) และลงมือ ‘ร่วมวิวัฒน์’ (Co-evolution) เพื่อให้เกิดความกลมกลืนในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และมนุษย์กับโลกใบนี้

เมื่อเรากลับไปสู่ธรรมชาติดั้งเดิม เป็นมนุษย์ที่แท้ และหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล ภายใต้ชุดของกระบวนการนี้ จะทำให้ความยั่งยืน (Sustainability) ที่ทุกคนเรียกหา เกิดความยั่งยืน (Sustainable) ขึ้นได้อย่างแท้จริง

มุมมองเยาวชนต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

โดย สุทธิโชค จิตรศรีสมบัติ ผู้ก่อตั้ง สมาคมยุวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อไทย (YSDA)

ใคร่จะเป็นคนดี

แม้วัฒนธรรม วิธีการมองโลก และวิธีการใช้ชีวิตของมนุษย์แต่ละคนจะมีความแตกต่างกันไป แต่ลึก ๆ แล้วทุกคนมักจะมีความใคร่จะเป็นคนดี ซึ่งความดีนี้ไม่มีนิยามที่เป็นสากล แต่ SDGs เป็นตัวอย่างของความดีที่มีนิยามสากลซึ่งมนุษย์เห็นร่วมกัน อันจะส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนทุกคนในการออกแบบกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาและมุ่งสู่ความดีที่มีชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน

แฟนด้อม

การร่วมมือกันในยุคสมัยนี้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ยกตัวอย่างเช่น เทรนด์ ‘แฟนด้อม’ ที่เราเห็นอยู่ในสังคมไทย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราคิดว่าเรื่องนี้ดีและพยายามเชื่อมกับคนที่คิดเหมือนกัน จนเกิดเป็นด้อมของตัวเอง และเมื่อด้อมหนึ่งออกมาแสดงออกว่าความคิดของด้อมตัวเองนั้นถูกต้อง ก็มักจะนำไปสู่การปะทะและความรุนแรงกับอีกด้อมที่เห็นไม่ตรงกัน ฉะนั้นในวันนี้เราจึงไม่ควรจะมาสร้าง ‘ด้อมยั่งยืน’ แต่เราควรจะประสานทุกด้อม ด้วยการใช้หลักการกลางที่เรียกว่า SDGs

ฟรีด้อม

ความจริงนั้นมีหลายด้าน ซึ่งทุกคนมีอิสระในการเลือกที่จะมองในด้านที่ตัวเองคิดว่าถูก ว่าใช่ นั้นแปลว่าหากเราไม่มีหลักการกลางและบรรทัดฐาน ก็อาจก่อให้เกิดการปะทะของอิสรภาพทางความคิด โชคดีที่ความจริงในประเด็นเรื่องความยั่งยืนนั้น มี SDGs เป็นหลักการกลาง ที่จะประสาน ‘แฟนด้อม’ พร้อมลดแรงปะทะของ ‘ฟรีด้อม’ ทางความคิด อันจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกคนเพื่อแก้ปัญหาความยั่งยืนในท้ายที่สุด

การพูดคุยถึงหลักการในวันนี้จะนำมาสู่การปฏิบัติจริงได้ ถ้าเรามีความเชื่อว่าความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะถ้าเราไม่เชื่อว่ามันจะสำเร็จ เราจะไม่ลงมือทำ แต่เราตัวคนเดียวก็แก้ปัญหาความยั่งยืนไม่ได้ เราจึงต้องเชื่อมให้ทุกคนเข้ามาร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน โดยใช้ภาษากลางที่เรียกว่า SDGs เพื่อสร้างความเชื่อร่วมกัน แล้วทุกสิ่งที่เราทุ่มเทแรงกาย แรงใจ แรงเงินไปมากมาย จะได้สำเร็จ และเราจะได้อยู่ในโลกที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ขอบคุณวิทยากรที่มาร่วมพูด ผู้ร่วมงานที่มาร่วมฟัง และผู้อ่านที่อยู่กับเรามาถึงจนถึงบรรทัดนี้ แน่นอนว่าในฐานะผู้จัดงาน ถือว่าเราประสบความสำเร็จ แต่ในฐานะมนุษย์และประชากรโลก ถือว่าเราเพิ่งเริ่มงาน บทสรุปจากงานนี้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะบอกคนรุ่นถัดไปว่า วันนี้คนรุ่นเรารับรู้แล้วว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ แต่เราจะทำอย่างไรกับมันหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ‘คุณ’

อีก 1 ปีเจอกันใหม่ในงาน Sustrends 2025 และนอกจากจะมารู้จักเทรนด์ในอนาคตแล้ว หวังว่าคุณจะมีเรื่องเล่าให้คนที่นั่งข้าง ๆ ฟังว่าปีที่ผ่านมาคุณ ‘อินเทรนด์’ อย่างไร

Writer

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ชอบอ่านหนังสือก่อนนอน ออกกำลังกาย และกำลังตามหางานอดิเรกใหม่ ๆ

Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน