Sustrends 2024 : 50 เทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนโลก จาก 20 วิทยากรตัวจริง

ปีนี้เป็นครึ่งทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในปี 2030 จึงมีการปรับเปลี่ยนจากการมอง 17 ปัญหาแยกจากกัน รวมมาเหลือเพียง 6 กลุ่มปัญหา 

ปีนี้ประเทศไทยมีนโยบายและการตั้งเป้าหมายมากมายจากหลายหน่วยงานเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน แล้วแผนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศไทยคืออะไร เหมือนหรือต่างจาก BCG Economy และ Bangkok Goals อย่างไร 

นั่นคือ 2 ปัจจัยสำคัญที่คนทำงานด้านความยั่งยืนในภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ควรทราบ เพื่อที่จะวางแผนการทำงานในปีหน้าได้อย่างถูกต้อง

The Cloud จึงชวน UNDP, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร, UN Global Compact Network Thailand, OKMD, SDG Move, ป่าสาละ, มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ, มูลนิธิโลกสีเขียว, ChangeFusion, RE100 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอีกกว่า 20 องค์กร ร่วมกันจัด ‘Sustrends 2024’ งานสัมมนาว่าด้วย 50 เทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังจะเปลี่ยนโลก โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 20 ท่าน จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน รวมถึงเยาวชน

วิทยากรแต่ละท่านจะเล่า 3 เทรนด์ที่เราต้องรู้ ผ่าน 3 สไลด์ ในเวลา 10 นาที โดยแบ่งช่วงตาม 6 กลุ่มปัญหา และ 4 กลไกที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย

นี่คืองานปีแรกที่เราตั้งใจจัดต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้คนทำงานด้านความยั่งยืนได้รับข้อมูลใหม่ ๆ สำหรับวางแผนการทำงานในปีต่อไป งาน Sustrends 2024 จะจัดในวันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 12.00 – 17.30 น. ที่พิพิธภัณฑ์สวนเบญจกิติ งานนี้รับผู้ชมจำนวนจำกัด เข้าร่วมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย


งาน Sustrends 2024 ตั้งใจนำเสนอเนื้อหาล่าสุดด้านความยั่งยืน มากไปกว่านั้น เรายังพยายามจัดงานโดยลดผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด และนี่คือความพยายามของเรา

1. เราเลือกสถานที่จัดงานที่ผู้เข้าร่วมเดินทางมาได้ด้วยระบบขนส่งมวลชน และสนับสนุนให้ผู้ร่วมงานเดินทางมาด้วยวิธีดังกล่าว

2. เราเลือกสถานที่จัดงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบปรับอากาศ แต่มีความเย็นจากพื้นที่สีเขียวและการไหลเวียนของอากาศ

3. พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในการจัดงานมาจากเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการสนับสนุนจาก Banpu

4. มีการคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากการเดินทางของผู้ร่วมงานและผู้จัดนิทรรศการ โดยการสนับสนุนจาก Mekha V มีการทดสอบโดยมหาวิทยาลัยพะเยา แล้วซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กระบวนการทั้งหมดผ่านการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

5. งานนี้จัดตาม ‘แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นสําหรับการจัดงานอย่างยั่งยืน’ ของ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

6. เครื่องดื่มอินทนิลทุกแก้วที่แจกให้ผู้ร่วมงาน ใช้แก้ว BIO CUP ย่อยสลายได้ ซึ่งแก้วที่ใช้แล้วทุกใบจะถูกส่งมอบให้กรมป่าไม้นำไปเป็นแก้วเพาะกล้า สนับสนุนโดย บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 

7. ของว่างเป็นโดนัทแพลนต์เบสและไก่ป๊อปแพลนต์เบส ในจานและถ้วยกระดาษย่อยสลายได้ สนับสนุนโดย alt.Eatery

8. งานนี้ไม่มีการมอบของที่ระลึกให้วิทยากร แต่นำงบประมาณจำนวนนั้นไปบริจาคเพื่อช่วยเติมเต็มมื้ออาหารครบโภชนาการให้น้อง ๆ ในโรงเรียนที่ห่างไกลผ่าน FOOD FOR GOOD และจะนำคำขอบคุณจากน้อง ๆ มาเป็นของที่ระลึกให้วิทยากรชื่นใจแทน

9. เดือนสิงหาคม กรุงเทพมหานครจัดเทศกาล ‘บางกอกวิทยา’ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในทุกพื้นที่ งาน Sustrends 2024 ก็เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้ หลังจากจบงานในเวลา 17.30 น. เราอยากช่วยผู้ร่วมงานให้หลีกเลี่ยงช่วงเวลาเดินทางที่แออัด มูลนิธิโลกสีเขียวจึงจัดกิจกรรมพิเศษ ‘Earth Appreciation 10 : Environmental Education Trends 2024’ ชวนผู้ที่สนใจไปเดินศึกษาธรรมชาติในสวนเบญจกิติ พร้อมกับเรียนรู้รูปแบบกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษาที่น่าจับตาในอนาคต

นั่นคือก้าวแรกที่เราพยายามตั้งใจคิดและทำให้ดีที่สุด หวังว่าคุณจะได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ด้วยกัน


นี่คือ 20 ช่วง ซึ่งจะเล่าถึงเทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนโลกโดย 20 วิทยากรตัวจริงจาก 10 วงการ

เรอโน เมแยร์

ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย

บทบาทของ UNDP ในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจากภาพรวมของโลกสู่การทำงานในประเทศไทย

ผศ.ชล บุนนาค

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อถึงครึ่งทางของการมุ่งหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการปรับแนวทางครั้งใหญ่ คือเปลี่ยนจากการตั้ง 17 เป้าหมาย สู่การมองเป็นภาพรวมใน 6 กลุ่มประเด็นปัญหา ทำไมต้องปรับ ปรับเป็นอย่างไร แล้วเราต้องปรับตัวตามอย่างไร ช่วงนี้มีคำตอบ

ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ

ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand)

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านความยั่งยืน เราต้องเผชิญกับปัญหาอย่างปรากฏการณ์เอลนีโญ การว่างงานกับการขาดแคลนแรงงาน และผลกระทบจากการท่องเที่ยว ทุกธุรกิจต้องปรับตัว แล้วอะไรคือกลยุทธ์ทางธุรกิจแห่งอนาคตที่แก้ปัญหานี้ไปพร้อม ๆ กับทำให้องค์กรได้เปรียบในการแข่งขัน

ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์

ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

กลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ของไทย และความเหมือน-ความต่างของคำต่อไปนี้ SDG Roadmap, ยุทธศาสตร์ชาติ, BCG Economy, Bangkok Goals และ ESG

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานค

กรุงเทพมหานครกำลังจะมีการปรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนในหลายด้าน ซึ่งจะส่งผลให้การใช้งานพื้นที่ต่าง ๆ ของเมืองยั่งยืนขึ้น และประชาชนจะใช้ชีวิตในเมืองอย่างมีความสุขขึ้น นี่คือการปรับตัวด้านความยั่งยืนครั้งใหญ่ของกรุงเทพมหานครที่เราควรทราบเพื่อเตรียมตัวล่วงหน้า

ยศพล บุญสม

ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Shma และ we!park

แนวคิดการออกแบบเมืองวิธีใหม่ที่เริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับคน เพื่อให้คนมีส่วนร่วมในการออกแบบเมือง แทนที่จะเริ่มต้นจากรัฐหรือนักออกแบบเหมือนในอดีต

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

แนวคิดล่าสุดในประเด็นสุขภาพ ตั้งแต่เรื่องไลฟ์สไตล์ ทิศทางของวงการการแพทย์ที่ถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี และทิศทางของวงการสาธารณสุขในอนาคตที่มองไกลไปถึง Healthy Planet

โตมร ศุขปรีชา

ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ OKMD

ในโลกที่เปลี่ยนไป การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีวิธีการต่างไปจากเดิมอย่างไร ตั้งแต่กระบวนการที่จะทำให้เราค้นพบรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะกับตัวเอง ไปจนถึงวิธีเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร

หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การเปลี่ยนผ่านของแนวคิดด้านความยั่งยืนจากความคิดเก่าสู่ความคิดใหม่ และบทบาทของการใช้ตลาดทุนขับเคลื่อนความยั่งยืน

สุนิตย์ เชรษฐา

กรรมการผู้จัดการ สถาบัน ChangeFusion

สิ่งที่ภาคธุรกิจควรทำอย่างแท้จริงเพื่อสนับสนุนความยั่งยืน มากไปกว่าการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งขณะนี้หลายองค์กรได้ข้ามผ่านไปสู่สิ่งที่สร้างอิมแพกต์มากกว่าแล้ว

ดวงพร ทรงวิศวะ

ผู้ก่อตั้ง Bo.lan และ คอลัมนิสต์ The Cloud

ความรู้ล่าสุดที่กำลังสั่นสะเทือนวงการอาหาร เมื่อทฤษฎีวิทยาศาสตร์ส่งผลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ผ่านอาหารและสารอาหาร ตั้งแต่เรื่องพันธุกรรมจนถึงพฤติกรรมการกิน

พงษ์ศิลา คำมาก

ผู้ก่อตั้ง Sansaicisco และ Slow Food Chiang Mai

แนวคิดเกี่ยวกับอาหารที่กำลังเปลี่ยนไป ตั้งต้นจากเทรนด์อาหารแห่งอนาคตที่ทุกคนคุ้นเคย แล้วชวนมองในมุมกลับว่า จากเทรนด์นั้น เรากำลังแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา แล้วถ้าลองคิดดี ๆ ปัญหาเหล่านี้แก้แบบไหนได้อีก

สฤณี อาชวานันทกุล

กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

ทำไมความยุติธรรมถึงสำคัญในการมุ่งหน้าสู่ Net Zero และทำไมสังคมควรทำลายอำนาจผูกขาดเพื่อเปิดเสรีให้ผู้บริโภคผลิตพลังงานได้เอง

อาทิตย์ เวชกิจ

กรรมการ สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) และ ประธานกรรมการ บริษัท นีโอ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชน เพื่อเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน

ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

อดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียวและผู้ร่วมก่อตั้งทุ่งน้ำนูนีนอย

แนวคิดต่อธรรมชาติที่กำลังเปลี่ยนไป ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แนวทางการทำธุรกิจ และการใช้ชีวิตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ธารา บัวคำศรี

ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย

ในช่วงเวลาที่เราใช้ทรัพยากรทะลุเพดาน Eco Footprint ของโลกไปแล้ว เราจะหาจุดร่วมเพื่อไปต่ออย่างไร ถึงไม่ทำร้ายโลกไปมากกว่านี้ แล้วพาสังคมเดินหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

ผู้ร่วมก่อตั้ง HAND Social Entreprise / ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การสร้างระบบนิเวศของธรรมาภิบาลที่มากไปกว่าแค่การปลุกให้เกิดการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นที่เราต้องให้ความสำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องข้อมูล ความร่วมมือ และเทคโนโลยี

ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

การใช้กลไกทางการเงินและเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

นอกจากความตื่นตัวและการลงมือสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนในทุกภาคส่วนแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้ความยั่งยืนนี้มีความยั่งยืน คือยังคงอยู่อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

สุทธิโชค จิตรศรีสมบัติ

ผู้ก่อตั้ง สมาคมยุวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อไทย (YSDA)

ในยุคที่สังคมตื่นตัวเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และมีสื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงออก จึงเกิดเป็นพฤติกรรมเฉพาะของยุคสมัยที่เยาวชนอยากชวนมองในมุมต่าง ทั้งเรื่องการร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม บทบาทของอินฟลูเอนเซอร์ และการแสดงความเห็นผ่านคีย์บอร์ด

นอกจากนี้ยังมีวิดีโอ Green Business Visions and Actions in 2024 ที่น่าเรียนรู้จาก 5 องค์กรชั้นนำมานำเสนอให้ชมด้วย

Sustrends 2024

Sustrends 2024 : 50 เทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนโลก จาก 20 วิทยากรตัวจริง

วัน-เวลา

เวลา 12.00 - 17.30 น. น.

สถานที่

พิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ

จำนวนผู้เข้าร่วม

800 คน

สมัครเข้าร่วมกิจกรรม