เรามาที่ ‘33 Turntable Services’ ในวันฝนตก เป็นที่รู้กันว่าเชียงใหม่หน้าฝนจะร่มเย็นเป็นพิเศษ
ที่แห่งนี้ ประภาส สุธาอรรถ ตั้งใจซื้อไว้ให้ลูกชายในอนาคต แต่ระหว่างทางได้ปล่อยเป็นบ้านเช่าหลังเล็ก ๆ เปิดร้านข้าวแกงกะหรี่อยู่ 1 สัปดาห์เต็ม ก่อนพบว่าตัวเองไม่ถนัดทำงานกับคนเยอะ ๆ มาเจอโควิด-19 ก็ประยุกต์ใช้เป็นที่ทำงานช่วง Work from Home
งานหลักของเขาคือ สถาปนิก สตูดิโอ Destroy Dirty Thing
ส่วนงานอดิเรกที่กลายมาเป็นงานรองในที่สุดคือ ช่างซ่อมเครื่องเล่นแผ่นเสียงและนักสะสมตัวยง
33 Turntable Services ตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 33 ดังชื่อ มีขนาดกะทัดรัด ล้อมรอบด้วยกระจก พร้อมต้นไม้ด้านนอกที่มองจากมุมไหนก็เห็นความเขียวชอุ่ม
ประภาสตั้งใจให้ที่นี่เป็นสตูดิโอให้บริการจำหน่ายและซ่อมเครื่องเล่นแผ่นเสียง โดยมีแผ่นเสียงหลากหลายแนวจากกรุส่วนตัววางขายพอเป็นพิธี และจะดีใจมากหากแค่มีคนอยากเข้ามานั่งฟังเพลงเคล้าบทสนทนากับเขา จิบเบียร์ยามบ่ายที่ซื้อมาจากร้านชำข้างบ้าน
Track 1
ความหลงใหลในดนตรีของชายคนนี้เริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก ในครอบครัวชาวสุรินทร์ที่ฟังเพลงกันเป็นกิจวัตร
“แม่ผมฟังหมอลำ พ่อฟังลูกกรุง ส่วนพี่ฟังเพลงร็อก”
ภาพจำเกี่ยวกับดนตรีคือสมาชิกครอบครัวแย่งกันเปิดเพลงในบ้าน ส่งอิทธิพลให้เด็กชายประภาสหัดเล่นกีตาร์สมัยมัธยม และกลายเป็นคนที่ฟังเพลงหลากหลายแนว ทั้งแนวแจ๊ส คลาสสิก ป๊อป ร็อก และอื่น ๆ แม้แต่ตอนต้องเลือกเรียนมหาวิทยาลัย เขายังลังเลระหว่างสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์หรือสาขาดนตรี
“ผมเริ่มจากฟังเทป ใช้ซาวนด์อะเบาต์ ซีดี แล้วก็มายุคไอพอด ช่วงมหาลัยถ้าจะซื้อซีดีต้องไปทิพย์เนตร เทปจะมีแผงขายอยู่หน้ามอ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ถ้าจำไม่ผิด Linkin Park ดังมาก เพื่อน ๆ เขาฟังกัน ส่วนผมจะฟังพวกอิเล็กทรอนิกส์บ้าง ฮิปฮอปบ้าง”
Track 2
แผ่นเสียงยังไม่เข้ามาในชีวิต จนกระทั่งปี 2000
เพื่อนของประภาสมีเครื่องเล่นพร้อมแผ่น พอได้ไปลองฟังก็ชอบขึ้นมาทันที
“เมื่อก่อนในเชียงใหม่ เวลาซื้อแผ่นเสียงเราต้องไปบ้านคนขาย” เขาเล่าย้อนความหลัง “ต้องไปคุยกับเขา ขอดูแผ่นเขา มันจะมีขายตามตลาดมือสองแล้วก็บ้านคนนี่แหละ”
ซีดีแผ่นไหนถ้าฟังบ่อยจะเป็นรอย พอเป็นรอยคุณภาพเสียงก็แย่ลง พังง่าย ความมหัศจรรย์ของแผ่นเสียงสำหรับเขาคือ อายุไขยืนยาว บางแผ่นอยู่มาหลายสิบปีก็ยังฟังได้ดีอยู่
แผ่นเสียงแผ่นแรกในชีวิตที่เขาซื้อคือ Dave Brubeck ราคา 50 บาท ที่ยังฟังได้ดีอยู่ ราคาแผ่นเสียงมือสองในตอนนั้นอยู่ที่ 20 – 50 บาท ไม่เกินนี้เท่าไหร่ เทียบได้กับราคาขายก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม
เขาเริ่มซื้อแผ่นเสียงเก็บมาเรื่อย ๆ ยาวนานเป็นสิบปี แต่ยังยึดไอพอดเป็นเครื่องฟังเพลงประจำตัว จึงไม่ได้ฤกษ์ซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียงสักที จนวันหนึ่งที่สร้างบ้านส่วนตัวเสร็จ เพื่อนยกเครื่องเล่นให้ 1 เครื่อง แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซ่อมเอง
“ได้ฟังแผ่นเสียงที่สะสมมาครั้งแรกกับเครื่องที่ จ่อย-สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ ยกให้ จากนั้นมันเหมือนกดปุ่มเปิด เราทิ้งทุกอย่าง แล้วหันมาฟังเพลงด้วยรูปแบบนี้อย่างเดียว”
Track 3
นั่นคือเรื่องราวของประภาส
ส่วนที่มาของ 33 Turntable ถ้าย้อนกลับไปจริง ๆ คงเริ่มจากพ่อที่เป็นช่าง ทุกครั้งที่กลับบ้านจะชักชวนให้ลูกชายคนนี้เป็นลูกมือ ซ่อมโน่นซ่อมนี่
ถ้าเป็นคนอื่นได้เครื่องเสียงเก่ามาคงหนักใจ แต่สำหรับประภาสผู้คุ้นชินกับเครื่องมือไม้เครื่องมือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มันกลายเป็นความสนุก
“2 – 3 ปีจากนั้นผมถึงซื้อเครื่องของตัวเอง เริ่มต้นจากตัวละประมาณ 40,000 กว่าบาท แล้วก็ขยับมาเล่นยี่ห้อ Linn ซึ่งเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงจากสกอตแลนด์ เจ้าเครื่องยี่ห้อนี้เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของการฟังเพลง ทำให้เราเอ็นจอยกับดนตรีขึ้นเยอะเลย หลังจากนั้นก็เริ่มสะสมหนักขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มหมกมุ่นกับการทำให้เสียงดีขึ้น”
เสียงจะดีขึ้นได้ เขาว่าอยู่ที่องค์รวม พร้อมเปรียบเทียบให้ฟังว่า มันเหมือนกับเพลงเพลงหนึ่ง วงดนตรีที่เล่นทุกตำแหน่งต้องเข้าขากัน เพลงถึงจะออกมาไพเราะ ระบบเสียงก็เช่นกัน ต้องอาศัยทั้งลำโพง ทั้งแอมป์ขยายเสียง
“แต่ผมแปลกหน่อยหนึ่ง ผมจะคิดเสมอว่า ยังไงก็แล้วแต่ เครื่องเล่นต้นทางต้องดีที่สุด” ชายเจ้าของร้านพูดขึ้น “อาจเป็นเพราะเราอินกับดนตรีมาก แล้วสโลแกนของแบรนด์ Linn คือ Source First ถ้าเครื่องเล่นแผ่นเสียงเก็บเสียงได้ไม่หมด ต่อให้ลำโพงหรือแอมป์จะดีแค่ไหน เสียงที่ออกมาก็ไม่ดีที่สุดหรอก”
จากการซ่อมเครื่องเล่นแผ่นเสียงเครื่องแรกในชีวิต ประภาสมักเป็นที่พึ่งให้เพื่อน ๆ ที่รู้จัก ร้านบางร้านในเชียงใหม่ จนกลายเป็นช่างซ่อมเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่คนวงการในจังหวัดรู้กัน
Track 4
อย่างที่เล่าไปแล้วตอนต้น บ้านหลังนี้เคยปล่อยให้เพื่อนเช่ามาก่อน เคยเป็นร้านข้าวแกงกะหรี่อยู่ราว ๆ 1 สัปดาห์ ก่อนจะแปลงร่างเป็นสตูดิโอสถาปนิกในช่วงโควิด-19 ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่เขาได้ทำในสิ่งที่รัก
“คอนเซ็ปต์ผมคือ ขายและซ่อม Turntable ส่วนแผ่นเสียงเป็นส่วนประกอบ” เขาว่าตัวเองเป็นคนหวงแผ่น
“เมื่อปีที่แล้ว ผมได้เป็นตัวแทนในการขายเครื่องยี่ห้อ Linn, Rega, Michell Audio และ Nottingham Acoustic อย่าง Linn นี่มีคอนเนกชันอยู่แล้ว เพราะปกติแบรนด์นี้ต้องใช้ช่างประกอบ แต่ภาคเหนือยังไม่มี กระบวนการต่าง ๆ เลยเกิดขึ้น
“ผมมีร้านประจำอยู่กรุงเทพฯ คือ ร้าน TRG ซื้ออะไหล่จากเขาแล้วก็ขอคำแนะนำในการติดตั้ง เขาก็ส่งคู่มือมาให้ ทุก ๆ 2 ปีต้องมีการอัปเดตส่วนประกอบ จนวันหนึ่งบอกเขาว่า คุณสุนทร ผมจะเปิดร้าน Turntable แต่ยังไม่รู้อะไรเลย เขาก็บินขึ้นมาหาแล้วถามว่า อยากเป็นตัวแทน Linn ไหม”
ประภาสอยากให้ 33 Turntable เป็นเหมือนร้าน TRG ของคุณสุนทร และ Turntable One ของคุณพิทักษ์ ที่ต่างมีความรู้อย่างลึกซึ้ง การเปิดร้านทำให้ตัวเขาได้เจอปัญหาเยอะขึ้น เวลาคนเอาเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาซ่อมก็เหมือนพาคนป่วยมาโรงพยาบาล แต่ละเครื่อง แต่ละอาการ เวลาซ่อมเครื่องหนึ่งได้ จะเกิดไอเดียในการซ่อมอีกเครื่องโดยอัตโนมัติ
“ผมชอบ Turntable แทบทุกตัวที่ผ่านเข้ามา” เขาว่าอย่างนั้น
Track 5
นอกจากรับซ่อมแล้ว เขายังเป็นผู้แนะนำที่เก่งกาจคนหนึ่ง
เก่งในที่นี้ ไม่ใช่การพูดเก่ง โน้มน้าวใจเก่ง แต่คือความเข้าใจลูกค้า
“ถ้าเป็นมือใหม่จะไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนใหญ่มาด้วยงบประมาณ สิ่งที่ผมอยากรู้คืองบที่มี ระบบที่จะเอาไปใช้ และแนวเพลงที่จะเอาไปฟัง ซึ่งงบประมาณตั้งต้น 50,000 แต่ละเครื่องจะไม่แตกต่างกันมาก แต่เมื่อไหร่ที่ลูกค้าเริ่มจริงจัง เริ่มมีงบไปถึงแสน ต้องมานั่งคุยกันดี ๆ จะเอาไปใช้กับแอมป์อะไร มีแผนจะซื้อ Pre Phono ใหม่ไหม อีกเรื่องที่ตามมาคือ ดีไซน์”
ส่วนมากประภาสจะให้ลูกค้าเลือกดีไซน์ก่อน เพราะไม่อยากให้กลายเป็นของมือสองเร็ว เขาเป็นคนขายที่ห้ามมากกว่ายุให้คนซื้อ
“เวลาเราขายเครื่องมือสอง คนที่ได้กำไรคือคนเทรด เช่น เครื่องนี้มือหนึ่ง 2 หมื่น ขายวนอีกรอบก็ได้ 2 หมื่น มันไม่ใช่มูลค่าที่แท้จริง ทุกครั้งที่ลูกค้ามาร้าน ผมจะห้ามเสมอ บอกใจเย็น ๆ ก่อน ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ซื้อ”
การซื้อขายที่ร้านนี้จึงไม่ใช่แบบครั้งเดียวจบ ซื้อไปแล้วก็ยังเรียกเขาเข้าไปดูแลเวลามีปัญหา จะว่าไปก็ไม่ต่างจากงานสถาปัตย์ที่เขาทำอยู่
“ผมเคยทำร้านอาหารแล้วไม่ใช่ทางตัวเอง เราไม่ถนัดการดีลกับคนเยอะ ๆ พอมาร้านนี้เข้าทาง เป็นการบริการแบบ 1 ต่อ 1 คล้ายงานสถาปัตย์เลย เวลาลูกค้ามา เขาก็มาคนเดียว บ้างก็ 2 คน มาถึงนั่งกันตรงนี้ คุยกันแบบนี้ ระหว่างคุยก็เลือกเพลงฟังไปด้วย สั่งกาแฟมาดื่ม เหมือนเวลาคุยแบบเลย
“งานสถาปัตย์บางทีเป็นปี งานนี้ก็อาจจะเดือนได้ สมมติลูกค้าจะซื้อหัวเข็ม เขาจะมาเทียวฟัง พูดคุยแลกเปลี่ยน เดี๋ยวก็เอากาแฟมาฝาก ใช้เวลาเป็นเดือนในการตัดสินใจซื้อ ถ้ามาแบบนี้ผมจะชอบมาก”
Track 6
จากการสะสมแผ่นเสียงตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา วันนี้ประภาสมีแผ่นเสียงในคลังส่วนตัวร่วมหลักพัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เก็บไม่ยอมขายกับส่วนที่ขาย แผ่นของเขามักเป็นเพลงแจ๊สเก่า ๆ ขณะที่แผ่นของภรรยาเป็นเพลงร่วมสมัยขึ้นมา
“แผ่นที่ขายออกส่วนมากเป็นแจ๊ส แต่แผ่นที่ซื้อเข้ายังแนวเพลงกว้างเหมือนเดิม จริง ๆ ผมไม่อยากให้ภาพจำร้านนี้เป็นร้านขายแผ่นเสียง แต่ถ้าไม่มีแผ่นเสียงขายเลย มันจะดูแปลกไหม” เขาหัวเราะลั่น
ในเมื่อขายแผ่นเสียงแล้ว เราขอให้ประภาสแนะนำ 5 แผ่นที่ชอบที่สุด ซึ่งยากมากสำหรับชายที่มีคอลเลกชันจำนวนแตะพัน
เขาเลือกไม่ได้
เราเลยต้องเพิ่มโจทย์ว่า ‘5 แผ่นที่ชอบที่สุด ที่นึกออก ณ ตอนนี้’
1. Dave Brubeck – Brubeck Plays Brubeck
“นี่คือแผ่นเสียงแผ่นแรกในชีวิต เป็น First Press ออกมาในปี 1956 และเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าวงการแผ่นเสียง”
2. Julian Lage – Squint
“อันนี้เป็นแผ่นล่าสุดของเขา ผมเป็นแฟนเขาอยู่แล้ว ยิ่งอัลบั้มนี้ย้ายมาค่าย Blue Note Records ยิ่งชอบขึ้นไปอีก”
3. Gene – To See the Lights
“วงนี้คือ Britpop สมัยที่ผมเป็นวัยรุ่น คนอื่นเขาฟัง Oasis ส่วนผมจะฟัง The Bluetones กับ Gene ผมว่าซาวนด์เขาดี มีความต่อเนื่อง และไม่ได้ใหม่จนเกินไป”
4. I Musici – Vivaldi
“แผ่นนี้เป็นเพลงคลาสสิกที่ประทับใจมาก ผมเพิ่งรู้จักไม่นานจากเพจที่เขาแนะนำดนตรีประเภทนี้ พอลองฟังก็ชอบมาก”
5. Andrew Cyrille – Lebroba
“นอกจากค่าย Blue Note Records ผมจะมีอีกค่ายที่ชอบคือ ECM เขาทำเพลงแจ๊สเหมือนกัน แต่จะร่วมสมัยกว่า”
ร้านเปิดทำการทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ประภาสยังเป็นสถาปนิกเต็มตัว เป็นช่างซ่อมในบางเวลา และเป็นนักขายควบคู่ไปด้วย
1 ปีของบ้านเลขที่ 33 ทำให้ได้เจอคนมากมาย เจอลูกค้าสถาปัตย์จากการขายเครื่องเล่นแผ่นเสียง และเจอลูกค้าแผ่นเสียงจากการออกแบบบ้านให้เขา
มีเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ลูกค้าทั้งประจำและขาจร แวะเวียนมาเรื่อย ๆ ทำให้เสียงเพลงในบ้านหลังนี้แทบไม่เคยได้หยุดพัก มันกลายเป็นพื้นที่ที่ประภาสในวัยมหาวิทยาลัยแสวงหา ที่ที่เขาลองฟังแผ่นเสียงได้โดยไม่ต้องรอสิบปีจนซื้อเครื่องเล่นเหมือนที่ผ่านมา
“มาเถอะครับ ไม่ต้องซื้ออะไรเลยก็ได้ มานั่งฟังเพลงกันก่อน”
จบประโยคนั้น เขาก็เอื้อมมือไปเปิดวอลลุ่มเพลงแจ๊สที่เบาเสียงไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มสัมภาษณ์
33 Turntable Services
ที่ตั้ง : 33 ถนนสามล้าน ซอย 1 พระสิงห์ เมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ 10.00 – 15.00 น. (นอกเวลาทำการต้องนัดล่วงหน้า)
โทรศัพท์ : 08 3204 1979
Facebook : 33 turntable services