เข็มสั้นชี้เลข 11 เข็มยาวชี้เลข 12 พระอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนตัวตั้งฉากกับท้องฟ้า บ่งบอกเวลาใกล้เที่ยงวัน ใกล้ชั่วโมงพักจากกิจกรรมตรงหน้า ถ้ามีมื้อสายสนุก ๆ สักจาน คงเติมเต็มช่วงวันสาย ๆ ได้เป็นอย่างดี แต่อาหารก็มีหลากหลายนานาจิตตัง บางคนอาจจะมีคำถามว่า วันนี้กินอะไรดีนะ? เป็นส่วนหนึ่งก่อนการเริ่มมื้ออาหาร เราเลยมีช้อยส์สนุก ๆ อยากชวนทุกคนไปเปิดโลกอาหารนานาชาติจากหลายตรอกซอกมุมรอบกรุงเทพฯ (ท้องร้องกันแล้วใช่มั้ย)
Take Me Out รอบนี้ ตระเวนคัดสรรมาแล้วเน้น ๆ กับร้านอาหารมื้อสายฉบับนานาชาติ 10 ร้าน 10 สัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกัน อย่างอาหารญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม หรือจะเป็นอาหารที่ไม่เคยคุ้นแต่อยากเปิดใจลอง เช่น อาหารพม่า เนปาล แอฟริกา รวมทั้งสัมผัสประสบการณ์ทานอาหารที่น่าจดจำด้วยจานหลักที่ปรุงจากแพสชันและวัตถุดิบสดใหม่
เชฟทุกคน ทุกร้าน พร้อมแบ่งปันเรื่องราวของอาหารประจำชาติและเสิร์ฟมื้อสายนี้สุดฝีมือเพื่อนักชิมทุกคน
ความอร่อยแปลกใหม่รออยู่ตรงหน้า แค่ปักหมุดไว้ แล้วออกไปกิน Brunch พร้อมกันเลย!
01
มิงกะละบา!
ชิมยำใบชารสจัดจ้าน หอมเครื่องเทศ ขนานเมียนมาแท้ ๆ ที่ MO.NA
ร้านแรกที่เราพาไป คือต้นตำรับของอาหารพม่าแท้ ๆ เลยต้องขอกล่าวทักทายด้วยภาษาประจำชาติสักเล็กน้อย
ประเดิมชาติแรกที่พม่า หนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่มีความสัมพันธ์สนิทกับไทยมาช้านาน แต่เรื่องอาหารอาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยเท่าไร สองเท้าเลยพาเรามาหยุดหยู่หน้าร้านเล็ก ๆ หลังจากลัดเลาะเข้ามาในตลาดย่านพระโขนง


MO.NA เรียกสั้น ๆ จำง่าย ๆ ชื่อเดียวกับเจ้าของร้านอย่าง โมนา เธอเริ่มต้นจากการขายอาหารเร่แบบรถเข็น พอขายมาเรื่อย ๆ ก็เก็บเงินก้อนหนึ่งเปิดร้านอาหารพม่าท้องถิ่น คงกลิ่นและรสชาติเอกลักษณ์ตามฉบับพม่าไว้ได้อย่างดี เพราะเธอเลือกนำเข้าวัตถุดิบหลักจากประเทศพม่าโดยตรง คนที่เข้ามาทานอาหารที่ร้านก็มักเป็นคนพม่าในย่านพระโขนง บางครั้งก็มีนักท่องเที่ยวต่างถิ่นและชาวไทยผู้อยากเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ต่อมรับรสแวะเวียนมาทานอยู่บ้าง

อาหารพื้นถิ่นพม่าที่ไม่ควรพลาด คือ ยำใบชา จานนี้เป็นอาหารและขนมขบเคี้ยวยอดนิยมของคนพม่าที่เปรียบเสมือนเอเนอจี้บาร์ มีส่วนผสมหลักเป็นใบชาหมักและถั่วชนิดต่าง ๆ รวมทั้งพริกขี้หนู มะเขือเทศ งา กระเทียม และขิง ส่งกลิ่นหอมของเครื่องเทศพร้อมรสชาติจัดจ้าน ดึงดูดให้คนที่อยากสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ มาเรียนรู้ผ่านการชิมรสชาติได้ในทุกวัน
พิกัด : 10/32 ซอยสุขุมวิท 71 แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร (BTS พระโขนง)
เวลาทำการ : 07.00 -19.00 น.
โทรศัพท์ : 06 2709 0665
02
ซิน จ่าว!
ลิ้มรสบั๋นห์แบ่วรสมือคนเวียดนามตัวจริงเสียงจริงที่ Tonkin Annam
เขยิบจากพม่ามาไม่ใกล้ไม่ไกล ไปที่อีกหนึ่งประเทศเพื่อนบ้านทางทิศตะวันออกอย่างเวียดนาม
ย้อนกลับไปสมัยสงครามเวียดนาม ผู้คนบางส่วนอพยพมาที่ไทย เช่นเดียวกับเจ้าของร้านนี้ นอกจากสิ่งที่ติดตัวมาคือวัฒนธรรม ยังมีตำราอาหารในความทรงจำ เขาเชื่อว่าเป็นสิ่งสะท้อนภาพรวมทุกอย่าง ทั้งสังคม การเมือง และวิถีชีวิต

การทำอาหารนับว่าเป็นหนึ่งในตัวตนของ กาย ไล มิตรวิจารณ์ เขาคิดถึงรสมือคุณป้าที่เคยทำอาหารให้กิน จึงกลับไปรื้อฟื้นความทรงจำ ศึกษา คลุกคลี ทำความรู้จักกับอาหารเวียดนามให้ถ่องแท้ที่ Tonkin บ้านเกิดของย่าในแคว้นตอนเหนือ และ Annam บ้านเกิดของปู่ในแคว้นตอนกลาง Tonkin Annam จึงเกิดขึ้นและเสิร์ฟอาหารเวียดนามถิ่นเหนือและแถบกลางสไตล์โฮมคุกมาตลอด 5 ปี

หนึ่งในจานที่อยากแนะนำ คือ บั๋นห์แบ่ว อาหารว่างสำหรับทานกลางวัน เป็นที่นิยมของคนเวียดนาม มองเผิน ๆ หน้าตาคล้ายขนมถ้วยบ้านเรา แต่บ้านเขาเป็นของคาวด้วยหน้าหมูสับผัดต้นหอม เสิร์ฟคู่กับน้ำปลาสูตรเฉพาะของร้าน (เราชิมแล้วอร่อยติดใจ เค็มกำลังดีและมีกลิ่นหอมจากน้ำมันต้นหอม ปรุงเข้ากับน้ำปลาเวียดนาม) และส้มจี๊ดทำหน้าที่ให้ความเปรี้ยวแทนมะนาว
วัตถุดิบหลักที่พิเศษของร้านนี้ หนึ่ง คือ แป้งข้าวเจ้าที่ไม่ผ่านการแช่น้ำ สอง คือ ผักทุกชนิดในร้านปลูกสดจากสวนของ ตงกิง อันนัม ทุกเมนูเสิร์ฟในจานชามที่อวดลวดลายศิลปะท้องถิ่น และตะเกียบไม้ขนุนเสริมบรรยากาศให้เหมือนบินไปกินถึงถิ่นเวียดนาม

พิกัด : 69 ซอยท่าเตียน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (MRT สนามไชย)
เวลาทำการ : 11.00 – 22.00 น.
โทรศัพท์ : 09 3469 2969
03
ซาลามัต ดาตัง!
สัมผัสรสชาตินาซี เลอมัก ฉบับโฮมคุกฝีมือชาวมาเลเซียที่ 8817 Cafe
อีกหนึ่งประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ติดกับทางตอนใต้ของไทย มีการค้าขาย สถานที่ท่องเที่ยวที่สัมพันธ์กับไทยมากมาย อยู่ติดกันแค่นี้ แต่เราเชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่เคยชิมอาหารมาเลเซียสักครั้ง เราเลยอาสาพาไปเปิดประสบการณ์อาหารมาเลเซียที่คาเฟ่ย่านสุทธิสาร เจ้าของร้านเกริ่นว่าเสน่ห์ของอาหารมาเลคือ ต้องกินร้อน ๆ ทันทีหลังเสิร์ฟ ถ้าผ่านไป 10 – 20 นาที รสชาติจะเปลี่ยน

บ้านเลขที่ 88 ในซอยรัชดา 17 เป็นที่ตั้งของ ‘8817 คาเฟ่’ ร้านอาหารมาเลจากชาวมาเลที่อยู่ไทยมานาน อย่าง เดวิด เซ็ก ตั๊ก ไว และ เจนต์-วุฒิศักดิ์ นาชัยธง พร้อมกับหุ้นส่วนที่เคยทำธุรกิจท่องเที่ยวด้วยกัน ลูกค้าที่เคยมาทานต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเหมือนกลับไปกินข้าวที่บ้าน ด้วยรสชาติฉบับมาเลเซียแท้ ๆ ใช้วัตถุดิบสำคัญส่งจากปีนัง พร้อมพลิกแพลงสูตรให้ถูกปากคนไทย

เมนูที่เราชวนทุกคนไปชิม และเจ้าของร้านกระซิบว่ามาที่นี่ห้ามพลาด คือ นาซี เลอมัก ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารประจำชาติของมาเลเซีย ไปทางไหนก็เจอได้ตามสตรีทฟู้ดทั่วไป ข้าวหุงด้วยกะทิรับบทหลักของจานนี้ แวดล้อมด้วยน้ำพริกและเครื่องเคียง 5 อย่าง มีไก่ทอดหรือแกงกะหรี่ ไข่ต้ม ถั่วลิสง แตงกวา ปลาเล็กทอด ถ้าใครสายเส้นสายแป้ง ที่ร้านยังมีเมนูน่าลองอีกมากมาย เช่น หมี่ฮกเกี๊ยน ชาก๋วยเตี๋ยว โรตีชะไน และอย่าลืมเพิ่มความกลมกล่อมด้วยเครื่องดื่มประจำชาติ อย่างเต ตาริก หรือชามาเล ด้วยนะ

พิกัด : 88 ซอยรัชดาภิเษก 17 (อินทามระ 45) เขตดินแดง แขวงดินแดง กรุงเทพมหานคร (MRT สุทธิสาร)
เวลาทำการ : 10.00 – 20.00 น.
โทรศัพท์ : 09 5812 6817
04
คนนิจิวะ!
สั่งชุดกับข้าวและซดซุปร้อน ๆ ตามสไตล์ชาวญี่ปุ่นที่ Okonomi

ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยมีมากมาย เราขอชวนเลือก Okonomi ร้านอาหารญี่ปุ่นของ เชษฐ เชษฐโชติศักดิ์ ซึ่งพาร้านอาหารญี่ปุ่นในย่านบรูกลิน สหรัฐอเมริกา มาสู่ประเทศไทย ภายใต้ 2 คอนเซ็ปต์หลักที่อยากให้ทุกคนที่มารู้สึกเหมือนได้ Start the Day เริ่มต้นวันใหม่ด้วยอาหารญี่ปุ่น และ Stay the Day ใช้เวลาวันนี้ของคุณเพื่อผ่อนคลายในร้านที่ตกแต่งแนวสแกนดิเนเวียน องค์ประกอบภายในร้านคัดสรรอย่างดี ตั้งแต่โต๊ะ เก้าอี้ ยันแผ่นไม้ที่เลือกใช้ไม้ฮานาโกะเพราะกลิ่นที่ให้ความสบาย


อาหารที่ควรค่าแก่การลิ้มลอง ได้แก่ Ichiju Sansai (อิจิสุ ซันไซ) ซุป 1 อย่างกับข้าว 3 อย่าง และเลือกวัตถุดิบหลักอย่างปลาได้ 3 ชนิด พร้อมเสิร์ฟตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 11 โมง นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มแก้วพิเศษ Kuromitsu Macchiato กาแฟหอมกรุ่น ใช้ความหวานจากน้ำตาลดำญี่ปุ่นแทนคาราเมล เหมาะแก่การเริ่มต้นวันสาย ๆ กับมื้ออาหารที่ครบทั้งรสชาติและสารอาหาร
พิกัด : 33/1 ซอยสุขุมวิท 38 แขวงพระโขนง กรุงเทพมหานคร (BTS พระโขนง)
เวลาทำการ : 08.00 – 18.00 น.
โทรศัพท์ : 06 1338 8000
05
อันยองฮาเซโย!
ซดซุปกิมจิถึงเครื่องเสมือนมีออมม่ามาปรุงให้ถึงบ้านที่ Kiani Korean Restaurant
กระแส K-Pop และซีรีส์เกาหลียังคงมาแรง ขอชวนสายเกาและผู้ชื่นชอบวัฒนธรรมแดนกิมจิมาชิมอาหารเกาหลีใต้รสชาติต้นตำรับฝีมือคนเกาหลีแท้ ๆ สูตรจากออมม่า (คุณแม่) ของ อี จงจิน ลูกชายผู้หลงใหลการทำอาหารและชื่นชอบประเทศไทย

จากร้านคิมบับเล็ก ๆ ในศูนย์การค้า Fifty Fifth Thonglor เมื่อ 10 ปีก่อน สู่ร้าน Kiani Korean Restaurant
เดิมที แม่ของจงจินเปิดร้านขายอาหารที่ปูซาน ลูกชายจึงอยากเปิดร้านอาหารสาขาลูกบ้าง แต่การเปิดร้านที่นู่นมีการแข่งขันสูง เขามีเพื่อนเป็นคนหลายเชื้อชาติจากการทำงานสายวิศวกร ทำให้รู้จักเและมาเที่ยวเมืองไทยบ่อยจนเรียกได้ว่าเป็นบ้านหลังที่ 2 จึงตัดสินใจเปิดร้านและใช้สูตรอาหารเกาหลีกลิ่นอายบ้านเกิดฝีมือแม่ ด้วยรสชาติโฮมเมดของที่นี่ รับรองเลยว่าคนเกาหลีกินแล้วต้องคิดถึงบ้าน ส่วนคนต่างชาติหรือคนไทยชิมแล้วก็เหมือนได้ไปเยือนแดนโสมขาวเลยทีเดียว


‘Kiani’ ในภาษาเกาหลีแปลว่าคุณพ่อขายาว ซึ่งพร้อมดูแลทุกคนด้วยอาหาร คุณพ่อขายาวแนะนำเมนูที่ไม่ควรพลาดคือ ซุปกิมจิพร้อมเครื่องเคียง ซุปกิมจิแต่ละร้านรสชาติไม่เหมือนกัน สูตรของที่นี่มีความเฉพาะตัว กลมกล่อมเหมือนมีคุณแม่มาทำซุปให้กินที่บ้าน ไม่หวานไม่เผ็ดจนเกินไป กินกับเครื่องเคียงและข้าวในช่วงสาย ๆ ก็อร่อยอิ่มท้อง พร้อมเริ่มทำงานช่วงบ่ายทันที!
ทุกวันไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ ชวนเพื่อน ชวนครอบครัว มาฝากท้องให้คุณพ่อขายาวดูแลได้เลย
พิกัด : 90 ถนนสุขุมวิท ซอย 55 (ซอยทองหล่อ 2) เขตคลองตันเหนือ กรุงเทพมหานคร (ใกล้กับ BTS ทองหล่อ 400 ม.)
เวลาทำการ : 11.00 – 21.00 น.
โทรศัพท์ : 0 2714 7730
06
นมัสเต!
ตักคาร์จาร์เซ็ตตำรับเนปาลเข้าปาก และสัมผัสอ้อมกอดหิมาลัยที่ Himalaya Restaurant
คนไทยมักคิดว่าอาหารเนปาลและอาหารอินเดียรสชาติคล้ายกัน แต่ที่นี่จะพานักชิมไปรู้จักรสชาติแห่งอาหารจากเทือกเขาหิมาลัย สูตรต้นตำรับเอกลักษณ์เนปาลแท้ที่ไม่เหมือนอาหารอินเดีย

ธันวา-อัสสชิตะ อวาเล อดีตนักข่าวต่างประเทศสำนักพิมพ์มติชน ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านอาหารเนปาลสูตรท้องถิ่นอย่าง Himalaya Restaurant การทำงานในวงการสื่อของธันวาทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักในฐานะคนกลาง ผู้ดูแลคนไทยที่อยากไปเยือนเนปาล และคนเนปาลที่อยากมาเยือนเมืองไทย ร้านนี้เกิดขึ้นเพื่อบริการคนเนปาลที่มาไทยแต่กินอาหารไทยไม่ได้ และคนไทยที่อยากไปเนปาลได้ลองชิมอาหารเนปาลก่อนไปเที่ยวเพื่อความสบายใจ
ร้านฮิมาลายาจึงไม่ได้เป็นเพียงร้านอาหาร แต่เปรียบเสมือนทูตทางวัฒนธรรม เผยแพร่ความเป็นเนปาลแท้ ๆ ให้คนภายนอกได้รู้จัก และเป็นพื้นที่สำหรับชาวเนปาลผู้หวนคิดถึงบ้าน

อาหารพื้นเมืองเนปาลที่ไม่ควรพลาดคือ Khaja Set (คาจาร์เซ็ต) เป็นเมนูเอกลักษณ์ของเนปาล มีแค่ร้านนี้ร้านเดียวในไทยที่มีขาย ในเซ็ตมีข้าวเม่า ยำมันฝรั่ง ยำไก่ คนเนปาลจะกินช่วงเช้า-บ่าย รสชาติกลมกล่อม ไม่เผ็ด กินง่าย ไม่ฉุนเครื่องเทศ
อาหารเนปาลกินง่าย รสชาติดี ถูกปากคนไทย ขอเชิญนักชิมมาพิสูจน์ได้ทุกวันไม่เว้นเสาร์อาทิตย์

พิกัด : 122/16 ถนนราชปรารภ กรุงเทพมหานคร (BTS พญาไท / BTS ราชเทวี)
เวลาทำการ : 11.00 – 22.00 น
โทรศัพท์ : 0 2060 4778
07
ชาโลม!
หยิบขนมปังจิ้มน้ำมันมะกอกและผงสมุนไพร เติมพลังฉบับชาวอิสราเอลที่ Nine Pastry
ขนมปัง Rush Hour ของชาวออฟฟิศมักเป็นแซนด์วิชแฮมง่าย ๆ อีกมือถือแก้วกาแฟเล็ก ๆ ถ้าขนมปังรสชาติเดิมอาจจำเจ ขอแนะนำร้านเบเกอรี่แนวใหม่ เสิร์ฟขนมปังสไตล์อิสราเอล โดยเชฟผู้เปี่ยมแพสชันต่อการอบขนมปังและเชื่อว่าขนมปังเป็นสิ่งมีชีวิต

Nine Pastry ร้านเบเกอรี่โดยหนุ่มชาวยิวผู้เคยทำงานในสายการบินอย่าง เนียร์ เน็ตเซอร์ ร่วมกับ Food Stylist สาวไทย แพตตี้-พิชญา ศิริวงศ์รังสรรค์ คู่หูผู้รักในการทำขนมปัง ที่อยากเสิร์ฟขนมปังสไตล์ตะวันออกกลางในชั่วโมงเร่งด่วนให้ลูกค้าเข้ามา Grab & Go เบเกอรี่หลักของร้านคือขนมปังซาวร์โดว (Sourdough) และครัวซองต์
ขนมปังทุกชิ้นเกิดจากแพสชันและความรักในการทำขนมปังของเนียร์ เขาเลี้ยงยีสต์สำหรับทำขนมปังเอง เพราะหลงใหลการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของยีสต์ก่อนเป็นขนมปัง ดังนั้น การนำก้อนยีสต์เข้าเตาอบให้ออกมาเป็นขนมปังแต่ละก้อน สร้างความภูมิใจและเติมแพสชันในการตื่นตี 5 มาอบขนมได้ในทุก ๆ วัน


ขนมปังที่ชวนลิ้ม คือ Classic Sourdough ขนมปังสไตล์อิสราเอล จิ้มน้ำมันมะกอกและผงซาตาร์ (Za’atar) สมุนไพรจากตะวันออกกลาง หอมผงสมุนไพร กินง่ายอยู่ท้อง แถมมีเมนูพิเศษทุกวันศุกร์และเสาร์ เป็นเมนูที่ทำเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ในวัฒนธรรมของคนยิว
พิกัด : 615 สุขุมวิท 22 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร (BTS พร้อมพงษ์)
เวลาทำการ : 08.00 – 18.00 น.
โทรศัพท์ : 09 5815 5839
08
เคีย โอร่า!
รังสรรค์ Fish & Chips มื้อสนุก ๆ แบบคนนิวซีแลนด์ ที่ Kai New Zealand

ข้ามมาฝั่งตะวันตกที่ประเทศนิวซีแลนด์กันบ้าง ดินแดนนี้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอังกฤษค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกีฬา การแต่งกาย หรือภาษา ที่สำคัญคือเรื่องอาหารประจำชาติ ซึ่งคำว่า Kai มาจากภาษาเมารี แปลว่า อาหาร เกิดจากความต้องการเผยแพร่สูตรอาหารจากคุณพ่อคุณแม่ของเจ้าของร้านชาวนิวซีแลนด์สู่คนไทย ทั้งยังใช้วัตถุดิบชั้นดีส่งตรงจากประเทศนิวซีแลนด์ เช่น เนื้อวัว แกะ กวางเกรดพรีเมี่ยม หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์ตัวโต ๆ เพิ่มดีกรีความอร่อยด้วยขั้นตอนการปรุงอย่างพิถีพิถันในครัวเปิดโล่งกลางโถงชั้น 1 มีเมนูเด็ดให้เลือกชิมหลากหลาย ทั้งเบอร์เกอร์ สปาเก็ตตี้ และของหวาน ตามตำรับตำรานิวซีแลนด์แท้ ๆ
ส่วนจานที่ขึ้นชื่อสุด ๆ ของ Kai คือ Fish & Chips อาหารทานง่ายแต่มีกิมมิกแสนสนุก


นักชิม DIY ทุกจานอาหารได้เต็มที่ เลือกได้เลยว่าจะเอาปลาชนิดอะไร (มีหลากหลายชนิดปลาแต่แวกว่ายมาจากนิวซีแลนด์ที่เดียว) จะปรุงแบบไหน หาซอสที่ชอบ เครื่องเคียงที่ใช่ เลือกตามจริตปรับให้เข้ากับสไตล์ได้ในเมนูสุดพิเศษมื้อนี้ ท่ามกลางบรรยากาศบ้านไม้หลังใหญ่ เน้นความโปร่ง โล่ง สบาย เหมาะแก่การเริ่มต้นมื้อสายสุดชิลล์ใจกลางเมือง
พิกัด : 142 22-23 ซอยสาทร 12 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร (BTS เซนต์หลุยส์)
เวลา : 11.00 – 23.00 น.
ติดต่อ : 0 2635 3800
09
ฮัลโหล!
ตักแกงซาก้าซาก้า คู่ Fufu ตะลึงความอร่อยของแอฟริกาที่ Saima Food Master
เดินทางมาถึงร้านเกือบสุดท้ายแห่งเดียวของทวีปแอฟริกา
ถ้าพูดถึงดินแดนนี้ เราอาจติดภาพสิงสาราสัตว์อันอุดมสมบูรณ์ท่ามกลางทุ่งหญ้าสะวันนา แต่เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่ค่อยคุ้นหน้าคุ้นตากับอาหารแอฟริกันสักเท่าไร เราเลยอาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอาหารแอฟริกาอันโอชามื้อนี้กัน

Saima Food Master เกิดจากเรื่องราวของ คุณพ่อทาเฮ มูฮัมหมัด ชายชาวปากีสถานพบรักกับ คุณแม่สมยงค์ มูฮัมหมัด แม่ครัวสาวไทยในร้านอาหารย่านที่มีคนแถบแอฟริกาและตะวันออกกลางอาศัยอยู่เยอะ ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจซบเซา ทำให้ร้านเก่าที่คุณแม่เคยทำงานปิดตัวลง คุณพ่อและคุณแม่จึงตัดสินใจเปิดร้านเป็นของตัวเอง
จากครัวเล็ก ๆ ในอพาร์ตเมนต์ ขายส่งให้แค่คนในละแวกใกล้เคียงในวันนั้น สู่วันที่มีลูกค้าติดอกติดใจมากขึ้นทั้งคู่จึงขยับขยายมาเปิดร้าน Saima Food ตั้งตามชื่อของลูกสาว แจน-ไซม่า มูฮัมหมัด อยู่ที่ย่านบางรักจนถึงปัจจุบัน (นี่เป็นร้านอาหารที่เกิดจากความรักและครอบครัวจริง ๆ เรารู้สึกอย่างนั้น)


คุณพ่อคุณแม่บอกว่าคนแอฟริกันนิยมทาน Fufu 1 ก้อน (เปรียบเสมือนข้าวสวยบ้านเรา) กับเมนูเครื่องเคียงอีกเล็กน้อย เช่น ปลาทอด กล้วยผัดเปรี้ยวหวาน และแกง 2 – 3 อย่าง ซึ่งจานที่เราแนะนำให้ลองสักครั้งในชีวิต คือ Saka Saka (ซากาซาก้า) เป็นแกงผักโขมสไตล์แอฟริกัน โดดเด่นด้วยน้ำซุปสูตรลับของร้านที่ใช้ผักแทนซาดีน เพื่อลดปริมาณโซเดียม และให้สายวีแกนทานได้ด้วย หรือใครอยากทานเนื้อสัตว์ด้วย ก็มีทั้งเนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อไก่ เนื้อปลา ให้เลือกชนิดเนื้อได้ตามใจชอบ
พิกัด : 293/30 ซอยกำจายเอี่ยมสุรีย์ ถนนสุรวงค์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร (BTS เซนต์หลุยส์)
เวลาทำการ : 13.30 – 21.30 น.
โทรศัพท์ : 0 2235 1329
10
โอล่า!
กัดหมับ! ‘I love you honey wrap’ รสชาติเข้มข้นสไตล์เม็กซิกันที่ Wraptor
เอาใจสายเฮลท์ตี้ กับคนชอบทานผักและวัตถุดิบชั้นดี แต่ยังคงรสชาติจัดจ้านถึงใจ เราขอผายมือแนะนำร้านสุดท้ายด้วยอาหารเม็กซิกัน เน้นความสด รสจัด มีผัก เนื้อสัตว์ และซอส เป็นส่วนประกอบหลักของทุกจาน ชิมรสชาติเม็กซิกันแท้ ๆ โดยไม่ต้องบินไกล แค่โดยสารฉับไวมาที่ย่านอารีย์ มีด้วยกัน 2 สาขา ห่างกันเพียง 200 เมตร พร้อมเสิร์ฟความอร่อยเพื่อลูกค้าทุกคน

‘ไส้ต้องแน่น แป้งต้องดี!’ คือคอนเซ็ปต์หลักของ Wraptor ร้านที่เริ่มต้นจากความชอบทาน Wrap ของ แมว-พิสิฐ สุธีโร เขาจึงศึกษาสูตรอาหารเม็กซิกันด้วยตัวเอง จนพัฒนาออกมาเป็นสูตรลับของร้าน ทุกจานให้มากกว่าความอิ่มอร่อย เพราะทุกวัตถุดิบเป็นมิตรต่อสุขภาพ ใช้น้ำมันรำข้าวเพื่อลดคอเลสเตอรอลและใช้เนยแท้ ไม่มีมาการีนผสม

‘I love you honey wrap’ คือซิกเนเจอร์ของที่นี่ ไม่ว่าจะตัดซ้าย หั่นขวา ผ่ากลาง ก็เจอแต่ไส้ล้น ๆ หนึ่งคำได้สารอาหารครบ 5 หมู่ ความนุ่มของแป้ง ความกรอบของผัก ความแน่นของเนื้อสัตว์ เติมเต็มด้วยรสชาติซอสสุดเข้มข้นอย่างฮันนี่มัสตาร์ดสูตรเฉพาะ แมวกระซิบว่าเขาใช้น้ำผึ้งจากธุรกิจของครอบครัวมาเคี่ยวใหม่หอมกรุ่นวันต่อวัน กินคู่กับเครื่องดื่มเปรี้ยวซ่าอย่าง Wild honey lemon lime ก็เติมความสดชื่นได้ดี หรือหนุ่มสาวคอแอลกอฮอล์จะกระดกคราฟต์เบียร์สักแก้ว ก็เสริมรสชาติอาหารให้ลงตัวมากยิ่งขึ้น
จบมื้อนี้ ใครหลายคนอาจจะบอกกับตัวเองได้เลยว่า I love you honey, Wraptor

พิกัด : ปากซอยอารีย์สัมพันธ์ 2 และซอยอารีย์ซอย 2 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร (BTS อารีย์)
เวลาทำการ : 11.30 – 22.00 น.
โทรศัพท์: 08 5660 8880
เรื่อง : ปิยฉัตร เมนาคม, กชกร ด่านกระโทก, วิทย์ อนันต์ธนาเกษม, ปุณณ กาญจนะโภคิน