1 กุมภาพันธ์ 2024
3 K

เราอยู่กันที่โรงแรม SO/ Bangkok ฝั่งตรงข้ามสวนลุมพินี ใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ที่เห็นเยอะกว่าประเทศอื่นคงจะเป็นนักท่องเที่ยว ‘ชาวเกาหลี’ ที่หลั่งไหลเข้ามามากกว่าเดิมโดยเฉพาะช่วงปี 2023 ที่ผ่านมา

ทำไมประเทศไทยถึงกลายเป็นปลายทางสุดฮิตของชาวต่างชาติที่มาพร้อมวิดีโอคอนเทนต์เที่ยวไทยมากมายจนตามชื่นชมไม่หมด

เพื่อหาคำตอบนั้น เราจึงนัดพูดคุยกับ Kim Zoo Young หรือ โซอี้คิม (Zooey Kim) อินฟลูเอนเซอร์สายท่องเที่ยวผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 13 ปี เธอคือสาวเทสต์ดีที่ลงภาพอะไรในอินสตาแกรม zooey_kim ก็มีชาวเกาหลีมาตามรอยเต็มไปหมด แม้โซอี้จะถ่อมตัวว่าไม่ใช่ผู้นำเทรนด์ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยที่จะเรียกเธอว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่ชักชวน 한국 사람 (ฮันกุกซารัม : ชาวเกาหลี) มาเมืองไทย

เท่านั้นไม่พอ โซอี้ยังเขียนคอลัมน์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในไทยให้กับนิตยสารกว่า 10 แห่ง จนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ติดต่อมาร่วมงานในอินสตาแกรม tatseoul และถึงขั้นมีคนทักมาขอคำแนะนำเรื่องการย้ายมาอาศัยในเมืองไทยด้วย

เรียกว่าถ้าจะพูดถึงมุมมอง เทรนด์ หรือการเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวของชาวเกาหลีในไทย ถ้าไม่มาถามตัวแม่อย่างโซอี้ก็คงไม่ได้

เรื่องการใช้ชีวิตของเธอเองก็น่าสนใจ เราคิดว่าโซอี้คือ Working Woman ตัวจริงที่ขึ้นเครื่องบินต่อปีบ่อยจนนับครั้งไม่ได้ เธอสวมหมวกหลายใบตั้งแต่นักออกแบบงานคราฟต์ของร้าน Enough for Life Shop จนถึงอาร์ตไดเรกเตอร์ ผู้ดูแลและปลุกปั้นศิลปินของ 0316 FILM บริษัทผลิตคอนเทนต์ครบวงจรโดยทีมงานแดนโสมขาว แต่ถึงแม้งานจะรัดตัว เธอยังพยายามสร้างสมดุลให้ความฝันในการใช้ชีวิตแบบ ‘Slow Life’ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่การใช้ชีวิตในเมืองไทยแตกต่างจากประเทศบ้านเกิดโดยสิ้นเชิง 

เรานั่งรออยู่ในห้องรับรองของโรงแรมไม่นาน ประตูห้องก็เปิดออก

‘อันนยองฮาเซโย!’ เราตะโกนอยู่ในใจ แต่ไม่ทันได้พูดออกไป เพราะคนที่เพิ่งเข้ามาเป็นฝ่ายเริ่มทักทายอย่างสดใสด้วยภาษาไทยฟังชัดเจน “สวัสดีค่ะ! สวัสดีค่ะ!” 

หญิงสาว 3 คนเข้ามาในห้อง เธอคนแรกคืออินฟลูเอนเซอร์ที่เรารอคอย ด้านข้างของเธอคือหญิงสาวหน้าตาน่ารัก Gahyeon Ko ผู้รับหน้าที่ล่ามในวันนี้ แต่ด้วยความสามารถในการพูดภาษาไทยของทั้งสอง เราและช่างภาพถึงกับกระซิบกันว่า “นี่คือคนไทยชัด ๆ” ส่วนคนสุดท้ายที่มาพร้อมกระเป๋าลาก เธอคือช่างแต่งหน้าผู้ดูแลโซอี้ในวันนี้ รู้สึกประทับใจว่าพวกเขามีความเป็นมืออาชีพสุด ๆ

โซอี้เคยมาเที่ยวเมืองไทย 4 ครั้ง ก่อนตัดสินใจย้ายมาอยู่ยาว ๆ แต่คำว่ายาวของเธอในตอนนั้นก็เพียง 1 – 2 ปี ตัวเธอเองยังตกใจที่อยู่มานานขนาดนี้ นับตั้งแต่บินกลับไปเคลียร์บ้าน จัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย ความประทับใจของเธอที่มีต่อเมืองไทยไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของเรา ทั้งเรื่องที่เมืองไทยอยู่ง่าย เที่ยวง่าย ผู้คนน่ารัก หรือเพราะเป็นบ้านเกิดของนักร้องนักแสดงไทยชื่อดังอย่าง นิชคุณ 2PM แต่สิ่งสำคัญอีกข้อที่ทำให้ชาวเกาหลีประทับใจและเลือกมาเมืองไทย คือความต่างอย่างสุดขั้วของ ‘การใช้ชีวิต

“ที่ประเทศของฉันทุกอย่างรวดเร็ว มีคนที่พร้อมจะสนใจชีวิตคนอื่น ดุหรือบ่นคนอื่นตลอดเวลา ทำไมอายุเท่านี้ยังไม่แต่งงาน ทำไมยังไม่มีลูก ซึ่งเป็นเรื่องที่จริงจังมาก นั่นทำให้ผู้คนในแต่ละช่วงวัยใช้ชีวิตคล้าย ๆ กัน ไม่เหมือนเมืองไทยที่ง่าย ๆ สบาย ๆ คนไทยเคารพและเข้าใจคนอื่นมากกว่า” 

แม้กระทั่งปรากฏการณ์ชาวเกาหลีเที่ยวเชียงใหม่ โซอี้ก็คิดว่าเกิดจากเหตุผลข้อนี้ด้วยเช่นกัน

“ชีวิตมันเหนื่อยค่ะ” เธอหัวเราะ 

“พอเราใช้ชีวิตเร็ว ๆ แล้วไปเจอเชียงใหม่ ชีวิตเราก็ช้าลงเฉยเลย ตอนที่ย้ายไป มันเหมือนไม่มีอะไรให้ทำช่วงหนึ่งเลยค่ะ ฉันเดินเล่นไปเรื่อย หาสถานที่ใหม่ ถ่ายรูป อยู่บ้านเล่นกับแมว

“ฉันคิดว่านี่คือเสน่ห์ของจังหวัดนี้ คนเกาหลีเวลาไปเที่ยวจะชอบทำการบ้านแล้วลงตารางเที่ยวไว้แน่น ๆ แต่พอไปเชียงใหม่ บรรยากาศทำให้เราไม่อยากทำอย่างนั้น กลับกัน เราเลยอยากไปเพื่อพักผ่อนมากกว่า”

เราถามเธอต่อว่า เป็นเพราะเธอหรือเปล่าที่ทำให้เชียงใหม่แน่นขนัดไปด้วยฝูงชนจากแดนโสมขาว

“ไม่แน่ใจเลยค่ะ ฉันคิดว่าพวกเขาสนใจเชียงใหม่จริง ๆ แต่มีความเปลี่ยนแปลงในลักษณะการท่องเที่ยวพอสมควร คือช่วงแรกพวกเขาจะไปเพื่อทำกิจกรรม เช่น ขี่ช้าง ปีนเขา

“แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้วค่ะ ไปพักชิลล์ ๆ หาร้านกาแฟนั่งดื่มสบาย ๆ มากกว่า นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่ฉันเห็นมาตลอด 10 กว่าปี”

https://www.instagram.com/p/Cvj7F8dxZGl/?hl=en&img_index=1

โซอี้เดินทางในประเทศไทยตั้งแต่เหนือจรดใต้ แต่นอกจากเชียงใหม่ที่ทำให้เธอสัมผัสถึงความสโลว์ไลฟ์ อีกแห่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือจังหวัดกระบี่ 

“เชื่อไหมว่าฉันเคยดูรูปจังหวัดกระบี่ในนิตยสารที่เกาหลีแล้วชอบมากจนตัดภาพนั้นเก็บเอาไว้ในกระเป๋าสตางค์ พอมาเมืองไทย ฉันเพิ่งรู้ว่ากระบี่อยู่ที่นี่ แต่ก็ยังไม่ไปนะคะ ฉันคาดหวังไว้สูง กลัวว่าไปแล้วจะผิดหวัง ฝันสลาย ฉันรอ 2 ปีถึงได้ไปค่ะ” เธอหัวเราะ

ไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เราถามเธอด้วยความอยากรู้

“ไม่ผิดหวังเลยค่ะ! ฉันไปภูเก็ตและจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคใต้มาแล้ว ขอยกกระบี่ให้เป็นที่ 1”

และผลของการโพสต์ภาพจังหวัดกระบี่ในอินสตาแกรมก็ทำให้ผู้ติดตามของเธอสนใจและพากันไปตามรอยความงามในกระบี่ต่อ

เรานั่งหัวเราะกับโซอี้ เธอบอกว่ามีคนไทยหลายคนที่มาถามข้อมูลเรื่องที่เที่ยวในไทยกับเธอ แต่เราก็ตอบกลับไปว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะขนาดตัวเราเองยังมั่นใจว่าเคยไปเที่ยวจริง ๆ ไม่ถึง 20 จังหวัดแน่นอน ยิ่งได้เห็นสถานที่ลับ แปลกตา ในอินสตาแกรมของเธอก็ยิ่งอึ้ง 

เธอไปหาจุดหมายปลายทางที่โดนใจชาวเกาหลีมาจากไหนกัน

“ก่อนไปเที่ยว ฉันทำการบ้านหนักมาก ต้องรู้รายละเอียดของจังหวัดจนถึงประวัติศาสตร์ เบื้องหลังที่น่าสนใจ มีทั้งถามจากคนอื่น และได้ข้อมูลจาก ททท. ฉันคิดว่าเป็นความพิเศษที่ทำให้สไตล์ท่องเที่ยวของฉันไม่เหมือนคนอื่นด้วย หรือบางที พอลงไปอยู่ในพื้นที่แล้ว ฉันก็มักเดินสำรวจไปเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้เจออะไรใหม่ ๆ เยอะเหมือนกัน”

หนึ่งในสถานที่ที่โซอี้เดินเจอโดยบังเอิญและประทับใจจนถึงตอนนี้ คือร้านหัตถกรรมมาคาร (ซอสพริกศรีราชา ตราเหรียญทอง) 

“ใคร ๆ ก็รู้จักซอสศรีราชา แต่ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นชื่ออำเภอของไทย เจ้าของร้านบอกฉันว่าเขาทำซอสนี้เอง ยังนั่งติดฉลากเองด้วย ฉันเลยขอเอาเรื่องราวของเขาไปโพสต์ ผู้ติดตามก็ทึ่งและสนใจมาก คงเพราะฉันลงเรื่องเบื้องหลังที่คนต่างชาติไม่รู้ ทำให้ผู้ติดตามมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเรียกว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้แล้ว

“แต่ฉันไม่ได้ตั้งใจเป็นตั้งแต่แรกนะคะ” เธอเอ่ยขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ฉันแค่คนชอบจด ก็เลยจดทุกวัน ผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นคงเป็นกำไรที่ทำให้ฉันมีชื่อเสียงขึ้นมากกว่า ส่วนชื่อเสียงนั้นเอาไปทำอะไร คงเอาไว้เปิดเผยความลับของไทยค่ะ” คนพูดหัวเราะ เราเองก็หัวเราะด้วย เพราะคิดว่าเธอคงหมายถึง ‘เผยแพร่’ เรื่องราวน่าสนใจเบื้องหลังสถานที่ต่าง ๆ มากกว่า

instagram.com/p/Cigf1H1vweZ/?hl=en&img_index=1

สไตล์การท่องเที่ยวของโซอี้ส่วนใหญ่เจาะจงไปที่วิถีชีวิตพื้นบ้าน เธอไม่ได้พุ่งตัวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลต์ของแต่ละจังหวัด บ้านหลังน้อย ที่พักในสวน เวิร์กช็อปกลางทุ่ง คาเฟ่เล็ก ๆ จึงเป็นจุดหมายของเธอ เช่นเดียวกับร้านอาหารโบราณอายุนับร้อยปีที่โซอี้และชาวเกาหลีสนใจเป็นพิเศษ เพราะบ้านของพวกเขามีสงครามที่กวาดล้างร้านเก่าเหล่านี้ไป อาหารสูตรโบราณอายุกว่าศตวรรษจึงเป็นสิ่งที่พวกเขาอยากลิ้มลอง

สำหรับลงคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ โซอี้เล่าว่าเธอเริ่มจากเขียน Blog ก่อน ชื่อว่า 느리게 흐르는 태국의 시간 เป็นเหมือนไดอารี บันทึกทุกวันว่าชีวิตในไทยเป็นอย่างไร 

แน่นอนว่าช่วงแรกไม่มีใครดู กระทั่งความสม่ำเสมอในการลงคอนเทนต์เกิดผลงอกงามให้ผู้ติดตามเพิ่มขึ้นในอินสตาแกรม และช่วงหนึ่งก็มีหลายคนมาคอมเมนต์ว่า เธอจะต้องได้รางวัลจาก ททท. แล้วล่ะ 

ไม่นานหลังจากนั้น เรื่องเล่นก็กลายเป็นเรื่องจริง เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกรุงโซล ติดต่อมาให้เธอร่วมเดินทางไปเที่ยวไทยและเขียนคอนเทนต์สำหรับชาวเกาหลีตั้งแต่เมื่อ 8 ปีก่อนจนถึงตอนนี้

หลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในสายตาของโซอี้ คือเมืองไทยมีรถติดมากขึ้น เสียงแตรรถเยอะขึ้น และฝุ่นเยอะมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ของเธอเปลี่ยนไป แต่ถึงอย่างนั้นเรื่องการท่องเที่ยวก็ถือว่าสะดวกกว่าสมัยก่อนมาก

“ช่วงแรกฉันทะเลาะกับคนขับแท็กซี่ตลอดเลยค่ะ” โซอี้หัวเราะก่อนเล่าต่อ 

“ตอนนั้นทุกคนใจดีหมดยกเว้นคนขับแท็กซี่ แต่ช่วงหลังไม่เครียดแล้วค่ะ เพราะมีบริการรถโดยสารทางเลือกมากขึ้น”

สำหรับการไปเที่ยวนอกกรุงเทพฯ เมื่อ 10 ปีที่แล้วการเดินทางยังไม่สะดวกนัก เธอจึงเข้ากลุ่มนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็ก ตามหาเพื่อนแปลกหน้าสัก 3 – 4 คน แล้วเช่ารถสองแถวไปเที่ยวด้วยกัน ซึ่งเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ เพราะเกาหลีไม่มีรถสองแถวให้ผจญภัยแบบนี้

“ยุคนั้นคนเกาหลีในกรุงเทพฯ มีน้อย แทบจะรู้จักกันหมด คนจะย้ายไปยุโรป ย้ายไปตะวันตกมากกว่า แต่มาตอนนี้พวกเขาอยากมาใช้ชีวิตที่ไทยเยอะ หลายคนติดต่อฉันเพื่อขอคำแนะนำ ซึ่งสิ่งแรกที่ฉันจะแนะนำคือเรื่องวีซ่าค่ะ อยู่มา 13 ปี ฉันมีปัญหาเรื่องวีซ่าตลอด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ฉันล้มเลิกการอยู่เมืองไทยนะคะ ฉันจัดการมันอย่างถูกต้องทุกครั้ง

นั่นคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลงหรือเปล่า เราแซวเธอ ซึ่งอีกฝ่ายก็หัวเราะตอบ 

เรา ‘เหมือนจะ’ เปลี่ยนหัวข้อสนทนา

“เมืองไทยทำให้ฉันรู้จักปล่อยวางนะคะ ก่อนมาที่นี่คนรอบตัวฉันเป็นห่วงมาก คำถามเยอะแยะไปหมด มาเมืองไทยทำไม จะอยู่ได้เหรอ จะดีเหรอ แต่พอฉันมาจริง ๆ ประเทศนี้กลับบอกฉันว่าปล่อยคำพูดเหล่านั้นไว้บ้างก็ดี ไม่ต้องโดนบ่น แล้วก็ไม่ต้องไปบ่นคนอื่นเขา

“อย่างเวลาไปทานข้าวกับคนไทยแล้วทางร้านเสิร์ฟผิดเมนู คนไทยก็ไม่บ่น ส่วนใหญ่จะกินไปเลย ไม่เป็นไร อันนี้ต่างกับที่ประเทศฉันมากค่ะ” เธอหัวเราะอย่างคนปล่อยวาง

อีกเหตุผลที่ทำให้แนวคิดสโลว์ไลฟ์ของโซอี้ขาดช่วงไป คงเป็นเพราะงานมหาศาลที่เธอทำด้วย 

หากจะนับงานแรกของเธอในเมืองไทยคงบอกว่าเป็น ‘นักเขียน’ มีนิตยสารเกาหลีและประเทศอื่น ๆ กว่าสิบเจ้าติดต่อให้เธอเขียนเรื่องเมืองไทยในเวอร์ชันลงรายละเอียดมากกว่าเดิม ซึ่งเราก็ถามเธอกลับไปว่า ในยุคสมัยนี้ไกด์บุ๊กหรือคอลัมน์ในนิตยสารยังจำเป็นอีกหรือ

“ฉันมองว่าบางครั้งก็น่าเศร้าที่ไกด์บุ๊กกลับกลายเป็นการจำกัดอิสระในการเที่ยวของตัวเองนะคะ แต่ฉันคิดว่าสำหรับคนที่ไปเที่ยวครั้งแรกและต้องการข้อมูล สิ่งเหล่านี้ยังมีประโยชน์ จนถึงเวลาที่พวกเขาเที่ยวได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องกังวลอะไรแล้ว เราจะกลายเป็นแรงบันดาลใจที่สร้างความกล้าให้พวกเขาออกไปเจอสิ่งใหม่ ๆ”

นอกจากบทบาทคอนเทนต์ครีเอเตอร์ โซอี้ยังช่วยเพื่อนดูแลธุรกิจ Enough for Life ในส่วนร้านขายสินค้าแฮนด์เมดด้วย

“พอฉันลงพื้นที่ก็ได้เห็นความพิเศษของงานฝีมือท้องถิ่นเยอะมาก ฉันตั้งใจอุดหนุนงานฝีมือของคนไทย โดยจะออกแบบแล้วให้ช่างฝีมือท้องถิ่นช่วยทำ วัตถุดิบก็เอามาจากธรรมชาติ ยกตัวอย่าง ผ้าทอ ฉันก็จะไปดูเองตั้งแต่วิธีการทำ การย้อม การทอ เพื่อให้ได้สินค้าคุณภาพ ถูกใจลูกค้า”

สินค้าในร้านของโซอี้มีตั้งแต่ภาชนะ กรอบรูป ตะกร้าสาน กระเป๋า หมอน ช้อนจากเปลือกหอย จนถึงของตกแต่งดีไซน์แปลกตา แต่รับรองว่าน่ารัก น่าใช้ทุกอัน

enoughforlife.shop

อีกบทบาทของเธอคือผู้ช่วยดูแลธุรกิจ 0316 Entertainment ซึ่งเป็นอีกงานที่โซอี้ภูมิใจ เพราะมีทั้งงานโปรดักชัน ทำเพลง ทำมิวสิกวิดีโอ ผลิตรายการโทรทัศน์ จนถึงจัดคอนเสิร์ต และปั้นคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นไอดอล ซึ่งถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทั้งเด็กไทยและเด็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สนใจเข้าวงการมีพื้นที่ในการฝึกฝนและพัฒนาตัวเอง

“แต่ก็มีเรื่องท้าทายมากพอสมควร” โซอี้หัวเราะเบา ๆ 

“เพราะทัศนคติไม่เหมือนกัน มาตรฐานในการซ้อมไม่เหมือนกัน ชาวเกาหลีซีเรียสกับการทำงานมาก ทุ่มเทอย่างหนัก แต่เด็กบางคนที่เข้ามาไม่ได้มีทัศนคติแบบนั้น เราก็ต้องเข้าใจและปรับตัวกันไป”

โดยความท้าทายเหล่านี้ไม่ได้ทำให้พวกเขาท้อแท้ ในทางกลับกัน กลับมีกำลังใจในการทำงานยิ่งขึ้น เมื่อกิจกรรม G-Wave International Dance Competition ที่ทางบริษัทจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2016 มีผลตอบรับดี และแสดงให้เห็นว่ามีวัยรุ่นไทยสนใจด้านการเต้นเป็นจำนวนมาก

หนึ่งในเอ็มวีที่ผลิตโดย 0316 Entertainment

ก่อนจากกัน โซอี้ยังคงย้ำคำเดิมว่าเมืองไทยให้อะไรหลายอย่างกับชีวิต หลังจากเช่าบ้านมา 10 กว่าปี ตอนนี้เธอก็กำลังสร้างบ้านของตัวเองหลังแรกที่เชียงใหม่

“ที่นี่มีอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่เหมือนบ้านเกิดของฉันค่ะ ที่นั่นเหมือนเกาะ เพราะทางเหนือก็ไปไม่ได้ แต่เมืองไทยมีเพื่อนบ้าน มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้มาแบ่งปันชีวิตกัน มุมมองในการมองโลกของฉันก็กว้างขึ้น ได้เจอคนใหม่ ๆ เยอะขึ้น

“แม้จะไม่สโลว์ไลฟ์เหมือนเดิม แต่รสชาติชีวิตของฉันเพิ่มขึ้น ครบรสเหมือนส้มตำไม่ก็ต้มยำกุ้ง สมกับเป็นอาหารไทยที่สื่อถึงเมืองไทยได้ดี”

เธอบอกว่าการเป็นชาวต่างชาติในไทย สิ่งที่ยากสุดคือเรื่องทัศนคติและวัฒนธรรม โดยเฉพาะประเทศของเธอที่ประชาชนมีความเครียดในการทำงานและการใช้ชีวิตสูง เมื่อมาเจอเมืองไทยที่อะไร ๆ ก็ง่าย ๆ สบาย ๆ จึงต้องปรับตัวเช่นกัน บางทีต้องทำใจ บางทีปล่อยวาง แต่โดยรวมแล้วล้วนดีต่อตัวเธอเอง (ในหลายครั้ง)

“ฉันเลือกเมืองไทยเพราะเหตุผลเหล่านั้น เพราะฉะนั้น ตอนนี้ฉันเลยจะตั้งใจทำงาน เพราะอยากเกษียณเร็ว ๆ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ได้เหมือนชื่อ Blog ที่เคยตั้งไว้ 

“느리게 흐르는 태국의 시간 แปลว่า เวลาที่ผ่านไปช้า ๆ ในเมืองไทยค่ะ”

ขอบคุณสถานที่ SO/ Bangkok 

2 ถนนสาธรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ (แผนที่) Facebook : SO/ Bangkok

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์