“รางวัลกินรีทอง มหาชน ครั้งที่ 8 สาขาอนุรักษ์การแสดงศิลปะพื้นบ้าน ได้แก่…”
ในฮอล์ที่กระหึ่มไปด้วยเสียงเฮฮา จู่ ๆ ก็เงียบดุจดั่งป่าช้า เสมือนรอคอยแสงอาทิตย์สาดส่องให้พื้นที่นี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จนกระทั่งทราบว่า รางวัลนี้ตกเป็นของ คลังพลอย ไวยพัฒน์ จากหมอลำเสียงวิหค พ่อยกแม่ยกหมอลำชาวที่ราบสูงหลาย ๆ ท่านคงต้องทำหน้าฉงนสงสัย ว่าเด็กสาวที่ได้รับรางวัลนี้คือใครกันหนอ
แต่พอได้ทราบว่านั่นคือชื่อเสียงเรียงนามที่แท้จริงของ ยูกิ เพ็ญผกา จากใบหน้าที่ฉงนสงสัยก็แปรเปลี่ยนเป็นร้องอ๋อกันทันใด

ก่อนเริ่มพูดคุยกัน ภาพของสาวชาวอำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ นางเอกหมอลำในวัยเพียง 15 ปี ได้ปรากฏขึ้นมายังจอคอมพิวเตอร์ ภาพลักษณ์ของสาวน้อยแลดูอ่อนน้อม เหนียมอาย ไร้เดียงสา ช่างแตกต่างจากตอนเธอสวมหัวโขนเป็นนางเอกหมอลำที่พกความมั่นใจและพลังเกินร้อยอย่างสิ้นเชิง
ตอนนี้เรากำลังพูดคุยกับ ‘ยูกิ คลังพลอย’ ไม่ใช่ ‘ยูกิ เพ็ญผกา’ ที่เราและหลาย ๆ ท่านคุ้นเคย
ออกจะเป็นเรื่องแปลกที่นักแสดงหมอลำมีชื่อเล่นเหมือนการ์ตูนอนิเมะ ทั้งที่ปากยังเว้าภาษาอีสานแจ๋ว ๆ ยูกิย้ำว่านี่คือชื่อที่มารดาตั้งให้ เนื่องจากเลือดครึ่งหนึ่งในกายเธอสืบมาจากแดนอาทิตย์อุทัย
“ชื่อ ยูกิ เป็นชื่อตั้งแต่เกิด คุณแม่เป็นคนตั้งให้ค่ะ หนูเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น คุณแม่เป็นคนอีสาน คุณพ่อเป็นคนญี่ปุ่น” เธอตอบคำถามที่หลายคนคาใจ
“ยูกิ (雪) แปลว่า หิมะ ค่ะ” เด็กสาวกล่าวเสริมเผื่อคนที่ไม่มีความรู้ด้านภาษาข้างพ่อเธอ
13 เมษายน พ.ศ. 2550 คือวันที่เด็กหญิงคลังพลอยหรือยูกิลืมตาดูโลก เธอเติบโตมาภายใต้การเลี้ยงดูของคุณแม่และพ่อเลี้ยงแสนดี ห้อมล้อมด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ยูกิค้นพบว่าเสียงเพลงคือของขวัญจากฟากฟ้าที่ประทานความสุขสำราญให้กับเธอมาแต่เล็กแต่น้อย เธอจึงหลงใหลในเสียงเพลงและดนตรีนานาชนิด ทั้งเพลงสมัยใหม่และสมัยเก่า
“หนูชอบร้องเพลงมากค่ะ ร้องมาตั้งแต่ 3 ขวบได้ เพลงที่ร้องตอนนั้นก็เป็นเพลงลูกทุ่ง ยังไม่ใช่เพลงหมอลำ เพลงแรกที่ร้องคือเพลง นักร้องบ้านนอก ค่ะ” สาวลูกครึ่งเผยงานอดิเรกของตนด้วยยิ้มพิมพ์ใจ

“นอกจากเพลงลูกทุ่งแล้ว หนูชอบฟังพวกเพลงสตริง เพลงแร็ป เพลง K-POP ด้วย พี่ลิซ่า BLACKPINK หนูก็ชอบ ชอบมาก ๆ ค่ะ”
อย่างไรก็ดี ความชอบทั้งหมดทั้งมวลนี้ยังเป็นรองดนตรีหมอลำ
พจนานุกรมภาษาถิ่นไทยอีสานแจงรากศัพท์ของหมอลำออกเป็น 2 คำ ได้แก่ ‘หมอ’ ที่หมายถึงผู้มีความชำนาญ กับ ‘ลำ’ ที่แปลว่าการบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยทำนองอันไพเราะ ‘หมอลำ’ จึงเป็นคำประสมที่แปลเป็นภาษาไทยกลางได้ว่า ผู้ชำนาญด้านการขับทำนองเล่าเรื่อง
เพลงหมอลำเป็นประเพณีการละเล่นที่แพร่หลายไปทั้ง 2 ฝั่งโขง จะประเทศลาวหรือภาคอีสานของไทย งานวัดงานบุญของ 2 แผ่นดินนี้ไม่เคยขาดเสียงแคนและคำร้องที่มีต้นแบบมาจากเพลงลูกทุ่ง ความแพร่หลายของหมอลำนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเป็นหมอลำสารพัดชนิด
“หมอลำจะมีหลายประเภทค่ะ เช่น หมอลำซิ่ง หมอลำกลอน หมอลำหมู่ ฯลฯ แตกต่างกันออกไปในบางสาขาอาชีพ แต่ที่หนูลำอยู่ทุกมื้อนี้เป็นหมอลำหมู่ ลำเรื่องต่อกลอนทำนองขอนแก่นค่ะ”
นี่คือหมอลำชนิดที่กำเนิดใหม่เมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นรูปแบบหมอลำที่เติบโตมาจากการผสมผสานระหว่างหมอลำพื้นกับลิเกของภาคกลาง เห็นได้จากชุดผู้แสดงที่รับมาจากลิเกเต็ม ๆ กับการร้องแบบหมอลำพื้น ร้องรำกันเป็นหมู่คณะ แต่ละคนสวมบทบาทเป็นตัวละครแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ เช่น พระราชา เจ้าหญิง ฤๅษี เทวดา ผีสาง เรื่องที่ใช้ลำโดยมากอ้างอิงจากนิทานชาดกท้องถิ่นของภาคอีสาน ใจความของเรื่องที่ใช้แสดงคือการมุ่งสอนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ
แต่หมอลำหมู่ในยุคนี้ได้ปรับปรุงรูปแบบการแสดงให้ถูกจริตคนยุคใหม่ การแสดงของยูกิจึงมีมากกว่าหมอลำตามแบบฉบับดั้งเดิมที่ทุกคนคุ้นเคย

“จะมีช่วงคอนเสิร์ต ก็ร้องเพลงตลาดทั่วไป เพลงอินดี้ เพลงหมอลำ ร้องสลับกันไป พอตกดึกก็ลำเรื่องต่อกลอน เป็นคล้าย ๆ ลิเก แต่ว่าเป็นภาษาอีสาน คนละทำนองกัน แล้วก็มีแสดงละครเข้าถึงบทบาทกันบ้าง” เธอเริ่มใช้ภาษาบ้านเกิดเมื่อบรรยากาศการพูดคุยอบอวลไปด้วยความสนุกสนาน
เมื่อพิจารณาอายุของยูกิ อาจคิดว่าเส้นทางหมอลำของเธอเพิ่งเริ่มต้นขึ้น แต่ถ้าย้อนกลับไปจริง ๆ แล้ว บนถนนเส้นนี้ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่เธอยังเป็นวัยรุ่นฟันน้ำนม เรียนอยู่ชั้น ป.2 โน่นแล้ว
“ตอนเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่พาเบิ่งหมอลำ ส่วนใหญ่ดูหมอลำซิ่ง ตอนนั้นหนูดูในคลิปอยู่เลยค่ะ ยังไม่ได้ไปดูหน้างาน พอโตขึ้นก็มีโอกาสได้ไปหน้างาน เห็นพี่เขาแต่งตัวสวย มีคนดูเยอะ อยากแต่งตัว อยากเป็นแบบพี่เขาบ้าง” แววตาเป็นประกายถูกส่งทอดจากหน้าจอคอมพิวเตอร์สี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ทำให้เหมือนย้อนเห็นภาพเด็กหญิงอายุไม่เกิน 10 ปีที่มีแววตาเต็มไปด้วยความฝัน
“หนูมีไอดอลคือ พี่แอน อรดี แล้วก็ พี่ใหม่ พัชรี ค่ะ หนูชอบดูพวกพี่เขามาก ดูคลิปตลอด ดูทั้งวันเลยค่ะ” ยูกิบอกด้วยสีหน้าภาคภูมิใจ
“หลังจากตอนนั้นก็ได้ไปบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าอยากเป็นหมอลำ เลยหาประสบการณ์ด้วยการประกวดร้องเพลงไปเรื่อย ๆ ก่อน จุดเปลี่ยนอยู่ที่เขาพาหนูขึ้นรถแห่ ไปร้องเพลงอยู่บนรถแห่ตอนอายุ 10 ปี ตอนนั้นไปที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ พ่อกับแม่ค่อยมาตัดสินใจว่าจะพาขึ้นวงหมอลำจริง ๆ เลยมาเป็นหมอลำหมู่ค่ะ” เธอจูงมือพาเราหวนคืนยังอดีตที่เป็นจุดเริ่มต้นในการเดินตามความฝันของเธอ

เรียกว่าหมอลำเสียงวิหคกับยูกิเติบโตมาด้วยกันคงจะได้ เพราะวันที่คุณพ่อและคุณแม่ของเธอพาไปสมัคร หมอลำเสียงวิหคก็เพิ่งเปิดใหม่ได้ปีแรก
“ตอนคุณพ่อคุณแม่พาไปสมัคร ตอนนั้นคณะเขาเพิ่งเปิดใหม่ปีแรก หนูอายุ 11 จะเข้า 12 ขวบ ตอนนั้นเราแสดงเป็นตัวลูก ยังไม่ได้เป็นนางเอก”
หมอลำรุ่นเยาว์เล่าความรู้สึกวันแรกบนเวทีซึ่งเธอยังจำได้ไม่มีเลือน
“ตอนนั้นไปแสดงที่วัดสีชมพู กรุงเทพฯ ความรู้สึกของการเป็นคนดูกับคนที่ได้ขึ้นแสดงมันต่างกันมาก ๆ เลยนะคะ ตอนดูหน้าเวทีเหมือนเราไปนั่งดูผลงานเขาเฉย ๆ แต่ตอนนี้เราเป็นผู้สร้างผลงานให้ผู้ชมหน้าเวทีดู ตอนแรกก็กดดัน แต่ตอนนี้เริ่มชินแล้วค่ะ”
เพราะคณะหมอลำเสียงวิหค ยูกิ เพ็ญผกา จึงมีตัวตนขึ้นมาท่ามกลางเสียงแคน
“ชื่อ ยูกิ เพ็ญผกา หัวหน้าวงเป็นคนตั้งให้ค่ะ เป็นชื่อที่ใช้ในวงการ หนูว่ามันเพราะดี”
จากสเต็ปการเติบโตของกันและกัน คณะกับนักแสดง ยูกิเข้ามารับบทบาทในฐานะนักแสดงสมทบ ฝึกร้องเพลง ฝึกการแสดง และศึกษาสิ่งที่เกี่ยวกับหมอลำในทุก ๆ วัน
“ท่าทางไม่ยาก เรื่องร้องยากกว่าค่ะ ร้องหมอลำยากกว่าร้องเพลงลูกทุ่งด้วย เพราะเพลงหมอลำจะมีเกริ่น หัวเพลงจะเป็นการเกริ่น แล้วก็จะเป็นทำนองรำซึ่งจะแตกต่างกันออกไป แล้วช่วงถัดมาจะเป็นเพลงธรรมดาเลยค่ะ เป็นทำนองที่แล้วแต่อาจารย์นักแต่งเพลงจะแต่งไป จะมีช่วงรำสลับกันกับท่อนร้อง ส่วนท่อนลงก็จะมีลูกเอื้อนนิดหน่อย ผสมกันไปจนจบเพลง

“หนูก็ฝึกร้องเพลงอยู่เรื่อย ๆ ร้องเพลงทุกวัน ฝึกการแสดง ดูอะไรหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวกับหมอลำ เวลาซ้อมต้องมาซ้อมเองที่บ้าน ให้คุณพ่อ (พ่อเลี้ยง) ซ้อมให้ เพราะคุณพ่อร้องได้ค่ะ”
ครั้นแล้ววันหนึ่ง โอกาสพลิกชีวิตก็ล่องลอยมาหาเมื่อเธอมีอายุได้ 13 ปี
“หัวหน้าคณะเขามาบอกคุณแม่ค่ะว่าจะให้น้องมาเป็นนางเอก แต่น้องต้องลดหุ่น เพราะตอนนั้นหนูอ้วนอวบ ตัวกลมเลย” กว่ายูกิจะก้าวขึ้นมาเป็นนางเอก ไม่ได้มาด้วยโชคช่วย แต่เป็นความพยายาม มุ่งมั่น พัฒนาทั้งการร้องและภาพลักษณ์
“หนูใช้เวลา 2 เดือน ลดน้ำหนักไปเกือบ 10 กิโลกรัม ออกกำลังกาย งดอาหารเย็น บวกกับลดปริมาณอาหาร จากที่เคยกินของหวาน น้ำหวาน ช่วงนั้นหนูก็งดไปเลยค่ะ”
ในวัย 13 ปี เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่น่าจะยังดิ้นรนกับชีวิตใหม่ในชั้นมัธยมศึกษา แต่เด็กหญิงยูกิกลับต้องเผชิญความกดดันเพิ่มจากภาระการเรียน นั่นคือการเดินสายออกแสดงไปทั่วภูธร
“หมอลำจะมีงานแสดงตามงานวัดหรืองานอื่น ๆ ที่เจ้าภาพจ้างไป เช่น งานทำบุญบ้านใหม่ ไปภาคอื่นด้วย อย่างเวลาลงกรุงเทพฯ ก็จะมีผู้จัดเขาจ้างไปลง 3 – 4 วัน งานจะไม่ไกลกันมาก แต่กรุงเทพฯ เล่นได้ถึงเที่ยงคืน ปกติเล่นถึงสว่าง”
ในช่วงแรกที่เพชรเม็ดใหม่ในวงการเริ่มเฉิดฉาย ชื่อต้นของเธอเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจจากพ่อแก่แม่เฒ่าไม่น้อย หลายคนลุกลี้ลุกลนที่จะได้รู้จักนางเอกอายุ 13 ที่มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น
“การที่เป็นลูกครึ่งและอายุน้อย หนูว่าน่าจะมีส่วนให้มีชื่อเสียงนะคะ คนที่เขามาดูพอรู้ว่าชื่อยูกิ ก็สงสัยและตื่นเต้นด้วยค่ะ บางคนก็มีเข้ามาถาม เราก็อธิบายให้เขาฟังไปว่าเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น เลยชื่อยูกิ”
จากตัวสมทบ สู่ตัวหลักของการแสดงหมอลำ ความกดดัน ความตื่นเต้น เสียงติชม เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพบเจอ
“วันแรกที่ได้ขึ้นเป็นนางเอก ตอนนั้นหนูไปเล่นอำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี เปิดวงปีที่ 2 ค่ะ ตอนนั้นรู้สึกกดดันมาก ๆ อยู่ในห้องแต่กับเสียงเพลงอย่างเดียวเลยค่ะ ซ้อมทั้งวัน กดดัน กลัวมันออกมาไม่ดีเลยซ้อม ๆ ตลอดเลยค่ะ” เธอยังจดจำเรื่องราวทุกรายละเอียดของวันนั้นได้เป็นอย่างดี
“พอแสดงเสร็จก็โล่งเลยค่ะ โล่งมาก ๆ ความรู้สึกตอนนั้นคือตื่นเต้นแล้วก็ดีใจ เหมือนมันตื้นตันใจอยู่ตลอดเวลาที่มีคนหน้าเวที แล้วก็ดีใจที่ตัวเองได้ขึ้นเป็นนางเอก คืนนั้นก็คือสั่นทั้งคืนเลยค่ะ”
เป็นธรรมดาของมือใหม่ที่ต้องประสบผลตอบรับทั้งแง่บวกแง่ลบ ยูกิได้เก็บคำวิจารณ์เหล่านั้นมาใช้ในการผลักดันตนเองให้มีพลังสู้ต่อ ชั่วเวลาไม่นานก็มีแม่ยกทยอยมาติดพันเธอ
“ก็มีทั้งคนชมแล้วก็คนตินะคะ ปน ๆ กันไป” ยูกิ เพ็ญผกา กล่าวยิ้ม ๆ “หนูก็จำทุกคำพูดของทุกคนที่มาหา เพราะหนูดีใจและปลื้มใจทุกครั้งที่มีคนมาให้กำลังใจ ประทับใจทุกคน ทุกคำพูดเลย”

ภายในเวลาไม่กี่ปีที่ได้เลื่อนขั้นเป็นนางเอกประจำคณะ หมอลำสาวลูกครึ่งรายนี้ได้ตระเวนไปทั่วภาคอีสาน งานที่จังหวัดไหนเป็นอย่างไร เธอสาธยายได้เป็นฉาก ๆ
“ที่แสดงในอีสาน จะไปแถวอุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานีเป็นส่วนมากค่ะ อีสานใต้ก็ไปบ่อยเหมือนกัน แต่ละงานก็จะเหมือน ๆ กัน จังหวัดที่คนดูเยอะก็มีที่นครพนม บึงกาฬ แล้วก็หลายจังหวัด น่าจะเยอะหลายที่เลยค่ะ แต่หนูก็จำได้ไม่หมด
“เดินทางบ่อย ๆ ก็เหนื่อยอยู่ค่ะ อย่างเวลามีงานติดต่อกันหลายงาน ก็มีเพลียบ้างนิดหนึ่ง”
เสียงไก่ขันมักใช้เป็นสัญญาณของการแจ้งว่าเช้าวันใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่เหล่าหมอลำใช้เสียงนี้เป็นสัญญาณของการจบการแสดงของพวกเขา
“วันที่มีแสดง หลังจากเล่นจนสว่างของงานที่แล้วมา หนูจะขึ้นรถมาล้างหน้า เสร็จแล้วหนูก็กินข้าวและนอนบนรถค่ะ พอถึงหน้างานก็ลงไปอาบน้ำ แต่งหน้าเตรียมขึ้นแสดงค่ะ แสดงทั้งคืนเลยถึงสว่างอีกเหมือนเดิมค่ะ แล้วก็นอนบนรถอีกเหมือนเดิม” ชีวิตที่วนลูปของเธอถูกบรรยายเหมือนวงกลมที่ไม่มีวันจบสิ้น แต่เปี่ยมไปด้วยพลังไฟที่เธอสนุกไปกับมัน
ภาพสวยงามบนเวทีหมอลำเบื้องหลังต้องแลกมาด้วยความยากลำบาก เสื้อผ้าสวยงามที่สวมใส่ต้องคอยปกป้องไม่ให้เลอะโคลนดินที่ชื้นแฉะจากฝนที่โหมกระหน่ำ เวทีที่ตกแต่งสวยงาม ด้านหลังต้องเนรมิตให้กลายเป็นเหมือนบ้านเพื่ออยู่อาศัยตลอดคืน
“ชีวิตหมอลำ นอนกลางดิน กินกลางทราย ถ่ายกลางทุ่งนาค่ะ ไปหน้างานบางวันมีแต่ป่า ห้องน้ำไม่มีเลย ลำบากในการเดินทาง ในการใช้ชีวิตอยู่หลังเวที มีบ้างที่มีฝนตก ขึ้นเวทีก็ต้องตากฝนเล่น แต่ถ้าฝนตกหนักก็ต้องหยุด เพราะไม่งั้นฉากเวทีมันอาจจะล้มทับคน อันตรายมากค่ะ” เธอถ่ายทอดชีวิตของหมอลำอีกด้านหนึ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ “เวลานอนก็มีเต็นท์ที่กาง เป็นเต็นท์ส่วนตัว เต็นท์ใครเต็นท์มัน เอาผ้าสีฟ้า ๆ มาอ้อมเต็นท์ ปูเสื่อนอนกันในนั้น เหมือนเป็นบ้าน”
กาลเวลาผันเปลี่ยน ความคิด และความรู้สึกของผู้คนย่อมแปรเปลี่ยนตาม สิ่งที่เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของไทยกลับถูกคนไทยด้วยกันด้อยค่า มองเป็นของราคาถูก

“น่าจะมีช่วงหนึ่งที่มีดราม่าบ่อย ๆ ก็จะกดดันตัวเอง ชอบไปอ่านคอมเมนต์ที่เขาเมนต์มา เมนต์ดราม่า เมนต์ด่า แต่ช่วงหลัง ๆ ก็โฟกัสไปที่คนให้กำลังใจ พ่อกับแม่ก็จะคอยบอกว่าอย่าคิดมาก”
แม้จะมีอาชีพการงานที่หาเลี้ยงครอบครัวได้เป็นมั่นเหมาะ แต่ยูกิก็ยังไม่ทอดทิ้งการเรียนเฉกเช่นเยาวชนทุกคน เธอยังคงศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจในวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่จังหวัดบ้านเกิด
ถึงอย่างไร ความฝันของเธอก็ยังคงมีหมอลำเป็นที่หนึ่งในใจเสมอ
“อยากมีชื่อเสียงโด่งดังค่ะ อนาคตที่วางไว้ก็น่าจะเกี่ยวกับครู อยากสอนหมอลำ”
อนาคตนั้นทำท่าจะเฉียดใกล้ความจริงเข้าไปทุกที ด้วยความเป็นคนกล้าฝัน กล้าลงมือทำ ตั้งใจจริง และไม่ละเลยความอ่อนน้อมถ่อมตน ผู้ใหญ่ในแวดวงหมอลำเพลงลูกทุ่งหลายคนจึงพากันเอ็นดูยูกิ และหยิบยื่นโอกาสแสดงฝีมือให้เธอเนือง ๆ หนึ่งในนั้นคือเจ้าของสมญา ‘ราชินีลูกทุ่งหมอลำ’ จินตหรา พูนลาภ ที่ยูกิออกปากเรียก ‘แม่จิน’ ได้โดยสนิทใจ
เธอเชื่อว่าต่อไปภายภาคหน้า ศิลปะการแสดงที่เธอรักอาจเป็นที่สนอกสนใจมากขึ้น จากการที่สื่อสังคมออนไลน์อย่าง TikTok นิยมเอาคลิปหมอลำไปเผยแพร่กัน
“หนูบังคับความคิดของใครไม่ได้ บางคนไม่ชอบหมอลำ ก็ไม่ได้บังคับให้มาชอบหมอลำ หนูเองแค่อยากอนุรักษ์ อยากสืบสานศิลปะของคนอีสานไว้ ถ้าไม่มีใครสืบสาน มันก็จะหายไป แล้วหนูเองก็ชอบของหนู ใครไม่ชอบก็ไม่เป็นไร” ความคิดที่ดูโตเกินวัยและแรงปราถนาอันแรงกล้าเปล่งออกมาจากสาวลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นจากเมืองชัยภูมิคนนี้
“อยากฝากสำหรับคนที่ยังไม่รู้จักพวกเรานะคะ หมอลำเสียงวิหคถือว่าเป็นหมอลำน้องใหม่ของวงการหมอลำ เพิ่งตั้งมาได้ 3 ปี อาจจะผิดพลาดบ้าง อยากให้ทุกคนได้ลองมาดู ลองเปิดใจ และมาสนุกร่วมกัน การแสดงรับรองว่าน่าจะม่วน ติดตามคิวงานได้ที่เพจหมอลำเสียงวิหค มีอัปเดตทุก ๆ เดือน ใครไปดูหน้างานไม่ได้ก็มีไลฟ์ออนไลน์อยู่ตลอดค่ะ” นางเอกหมอลำหน้าละอ่อนเชิญชวนทิ้งท้าย
ความพยายามตลอดเส้นทางหมอลำของยูกิ จากจุดเริ่มต้นมันช่างยาวไกล ในระหว่างการเดินทางอาจเจอลูกรัง ดินทรุด การจราจรติดขัดบ้าง แต่ทุกอย่างเป็นเหมือนบทเรียนที่ทำให้เธอกลายเป็นคนที่แข็งแกร่งมากขึ้น และถนนที่มีชื่อว่าหมอลำเส้นนี้คงมีความยาวอีกไกลแสนไกล ให้เธอได้โลดแล่นไปอีกนานแสนนาน
