‘เที่ยวรอบโลก’ ความฝันวัยเด็กของใครหลาย ๆ คนที่พูดง่าย แต่ยากที่จะตั้งให้เป็นเป้าหมายในชีวิต
เชษฏ์ สุวรรณรัตน์ อดีตพนักงานประจำ ปัจจุบันเป็นเจ้าของเพจ ‘วิ่งรอบโลก: Running The World’ คือผู้ท้าชิงคนนั้น เขาตั้งใจวิ่งเพื่อบันทึกเรื่องราว 196 ประเทศผ่านมาราธอน และอยากแบ่งปันให้ทุกคนบนโลกออนไลน์
จุดออกตัว
“จุดที่ทำให้เริ่มสนใจการวิ่ง คือเหตุการณ์ระเบิดที่บอสตันมาราธอน ในปี 2013 เราไปยืนถ่ายรูปเล่นแถวเส้นชัย และ 1 ชั่วโมงหลังจากที่เดินออกมากินข้าว มันเกิดระเบิดขึ้น” เชษฏ์เผยจุดเริ่มต้นที่มาจากเรื่องสะเทือนใจชนิดหวิดเอาชีวิตไม่รอด
หลังจากนั้นบอสตันจัดงานวิ่งการกุศล เพื่อระดมเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ด้วยความรู้สึกร่วมของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ และคำว่า Boston Strong ที่สกรีนอยู่บนเสื้อ ทำให้เชษฏ์สมัครเข้าร่วมงานวิ่งครั้งนั้นเป็นสนามแรก แม้จะไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน
“ตอนไปเรียนและทำงานที่อเมริกา เราใช้ชีวิตแบบพนักงานออฟฟิศทั่วไป ไม่ออกกำลังกาย กินฟาสต์ฟู้ด เราอ้วนจนถึงจุดที่มีน้ำหนัก 80 กิโลกรัม แล้วก็ไปวิ่ง 4 กิโลเมตร โอ้โห พอวิ่งจบแล้วรู้สึกเหมือนเกือบตาย ทำให้รู้ว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้ดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองเลย ตอนนั้นแหละที่จุดประกายความคิดว่า เราอยากจะวิ่งบอสตันมาราธอนสักครั้งในชีวิต”
เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ถูกปักหมุด แต่ไม่นานนักก็หลุดออกมา เมื่อเขาลงสมัครงานวิ่ง 5 กิโลเมตรจนรู้สึกเหนื่อย และเปรียบเทียบระยะวิ่ง 42 กิโลเมตรว่าเกินความจำเป็นต่อชีวิต Bucket List งานบอสตันมาราธอนจึงถูกขีดฆ่าไป
อย่างไรก็ตาม 2 ปีต่อมา บอสตันมาราธอนก็ส่งแรงกระตุ้นให้เชษฏ์อีกครั้ง วันนั้นเขาได้เห็นคนกำลังวิ่งในสนามยามฝนตกหนัก ขณะที่เขายืนจิบกาแฟอุ่น ๆ ในร้านข้างลู่วิ่ง
“คนที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราคือ รีเบกก้า เกรกอรี่ (Rebekah Gregory) ในปี 2013 เธอโดนระเบิดตอนวิ่งใกล้ถึงเส้นชัย กลายเป็นนักกีฬาที่ต้องโดนตัดขา เราว่ามันคงใจสลายมาก แต่ในปี 2015 เธอเขียนจดหมายถึงบอสตันมาราธอน เพื่อขอวิ่งต่อจากระยะทางที่เหลืออีกไม่กี่ฟุตในวันนั้น เธอรู้สึกว่ากำลังจะได้รับเหรียญรางวัลแต่ดันล้มลงก่อน เธอจึงพยายามซ้อมวิ่งบนขาเทียมตลอด 2 ปี เพื่อขอวิ่งอีก 5 กิโลเมตรสุดท้ายในปีนี้
“พอถึงวันจริง มีนักข่าวมาถ่ายภาพเธอและเราก็ยืนอยู่ตรงนั้นด้วย ทำให้เรามองกลับมาที่ตัวเอง เราเคยตั้งเป้าว่าจะวิ่งบอสตันมาราธอนให้ได้ แต่แล้วก็ปัดตกไปด้วยสนาม 5 กิโลเมตร เพราะคิดว่าเหนื่อยและดีต่อสุขภาพแล้ว เขาขาขาด แต่เขายังวิ่งได้ เราก้มดูขาตัวเอง ยังมีอยู่ครบ 32 ทุกอย่าง ไม่ได้แล้วเว้ย ปีหน้าฉันจะวิ่งบอสตันมาราธอน อันนั้นแหละเป็นจุดที่ทำให้ตัดสินใจขึ้นมาอย่างจริงจัง” และในวันนั้น Bucket List เดิมของเชษฏ์ก็วนกลับมาเป็นเป้าให้พุ่งชนอีกครั้ง

ฝันที่เป็นจริง
เมื่อกำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจน วิธีที่ช่วยพาไปถึงปลายทางก็ปรากฏ เชษฏ์แพลนตารางฟิตซ้อมร่างกายเพื่อพัฒนาเวลาวิ่งให้ตรงตามเงื่อนไขการสมัครบอสตันมาราธอน แต่ด้วยระยะเวลาเพียง 1 ปี จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ไม่ว่าเชษฏ์จะมีพัฒนาการก้าวกระโดดในระยะเวลาอันสั้นแค่ไหน แต่เวลาที่ทำได้จากการวิ่งมาราธอนสนามอื่นในช่วงระหว่างทาง ยิ่งตอกย้ำว่าไม่มีทางทำได้ ไม่ว่าจะพยายามมากแค่ไหน แต่เขาก็ดิ้นรนหาทางออก จนในที่สุดจึงค้นพบการสมัครแบบการกุศล
เงื่อนไขคือต้องหาเงินให้ได้ 5,000 เหรียญฯ เชษฏ์ทั้งเปิดรับบริจาคเงินจากการสอนทำอาหารไทยในโรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ และเล่นดนตรีเปิดหมวกกับกลุ่มเพื่อนบน Facebook Live ภายใต้ชื่อเพจ ‘On My Way To Boston Marathon’
การยื่นสมัครในรูปแบบนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนักโดยเฉพาะในแวดวงนักวิ่งไทย เชษฏ์คือคนแรก ๆ ที่เจอ แล้วนำข้อมูลมาส่งต่อบนเพจและพิสูจน์ให้เห็นว่าทำได้จริง ทำให้ได้รับความสนใจ มียอดผู้ติดตามหลักพันในระยะเวลา 5 เดือน โดยปราศจากการบูสต์โพสต์
สุดท้ายยอดบริจาคก็ทะลุเป้า ความฝันที่อยากวิ่งบอสตันมาราธอนก็กลายเป็นจริง Bucket List ถูกขีดฆ่า และไร้การเคลื่อนไหวบนเพจ On My Way To Boston Marathon อีกต่อไป

ทางที่เลือกด้วยตัวเอง
หลังการวิ่งบอสตันมาราธอนอย่างบ้าคลั่ง และตารางซ้อมที่หักโหมเกินร่างกายต้านไหว ทำให้เชษฏ์ต้องหยุดพักฟื้นร่างกายอยู่ครึ่งปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำ
ตั้งแต่เด็ก เชษฏ์มีอาชีพในฝันที่ดันวิ่งสวนทางกับครอบครัว ทำให้เขาต้องประนีประนอมเลือกอนาคตที่ไม่ได้ชอบนักมาตลอด ตั้งแต่เรียนคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนปริญญาตรี เรียนต่อปริญญาโทสาขา Information System ใน Northeastern University College of Engineering ที่สหรัฐอเมริกา และจบมาทำงาน Software Engineer ที่บอสตัน
“จริง ๆ สิ่งที่เราอยากเรียนคือศิลปกรรม นิเทศ หรืออะไรก็ได้ในแวดวงเต้นกินรำกิน แต่ที่ครอบครัวพูดมาเราก็เข้าใจ เพราะงานนี้สร้างเม็ดเงินและเป็นสิ่งที่เราทำได้ดี”
ทั้งความสามารถที่ไต่เต้าจนถึงตำแหน่ง Director และประสบการณ์เฉพาะทางซึ่งเป็นที่ต้องการสูงในตลาด ทำให้กล่องข้อความ LinkedIn ของเชษฏ์มีแจ้งเตือนขอซื้อตัวทุก ๆ เช้าเย็น ณ ตอนนั้นเขามีรายได้มากพอจะเปิดบริษัทให้คำปรึกษาเป็นของตัวเอง และบริหารทั้งสองบริษัทควบคู่กันไป
จากเนื้องานเชิงสร้างสรรค์ สู่เนื้องานเชิงบริหารอย่างเต็มตัว หน้าที่หลักคือสอนงานลูกน้อง รับมือกับการเปลี่ยนผ่านของลูกทีม และคุยงานกับลูกค้าจากต่างประเทศ ความสนุกหรือความสุขเพียงเล็กน้อยไม่มีให้เสพอีกต่อไป จนวันหนึ่งเข็มความอดทนเดินมาชนขีดจำกัด เชษฏ์จึงตัดสินใจเก็บเงินก้อนหนึ่งและลาออกไปใช้ชีวิต

“คนเราจะประสบความสำเร็จแบบมีความสุขได้ ต้องได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ทำสิ่งนั้นได้ดี และทำในสิ่งที่คนต้องการ ซึ่งอย่างน้อยอาชีพเรามี 2 อย่างหลัง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เรารัก
“ตอนนั้นแค่บอกตัวเองว่า ขอหยุดแบบไม่ทำอะไรเลย 1 ปีเต็ม ๆ อยากลองใช้ชีวิตแบบเช้าวันนี้หยิบกาแฟขึ้นมาจิบ แล้วนั่งเสิร์ชดูตั๋วเครื่องบินว่าที่ไหนถูก วันรุ่งขึ้นก็บินเลย แบกเป้ตะลุยไปประเทศที่อยากไป พอใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ 1 ปี ก็รู้สึกว่าติดการใช้ชีวิตแบบนี้ จนมองไม่เห็นภาพตัวเองกลับไปทำงานออฟฟิศอีกแล้ว”
ช่วงพักผ่อนในปลายปี 2016 เมื่อหายจากอาการบาดเจ็บ เชษฏ์ไปเที่ยวฮาวายแล้วลงสมัครงานวิ่ง Honolulu Marathon แบบไม่ซีเรียสเรื่องการทำเวลา และมองเป็นเพียงกิจกรรมรับลมชมวิวระหว่างทริป แต่นั่นทำให้เขาได้สัมผัสกับความสุขบางอย่าง
ต้นปีถัดมาที่ได้เยือนปารีส เขาเริ่มค้นหามาราธอนที่จัดในเมืองไปด้วย กิมมิกนี้กลายมาเป็นความสนุกที่เขาทำควบคู่ไปกับความฝันจะเที่ยวรอบโลก จนท้ายที่สุดก็ได้ถือกำเนิดเพจวิ่งรอบโลกขึ้นมาโดยอาศัยเครดิตจากเพจเก่า
“เรานิยามวิ่งรอบโลกว่า ถ้าได้ไปประเทศไหน แล้วได้วิ่ง Full Marathon เรานับแล้วล่ะว่ามาวิ่งและได้มาเหยียบประเทศนี้จริง ๆ เลย Rename ชื่อเพจตัวเองแค่นั้นเองครับ หลังจากนั้นก็ตั้งเป้าหมายชีวิตขึ้นมาว่า ก่อนตายขอวิ่งมาราธอนให้ครบทั้ง 196 ประเทศทั่วโลก”
เป้าหมายใหญ่จึงสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยใช้สมุดบันทึกที่ชื่อว่า ‘วิ่งรอบโลก’

วิ่งทีละก้าว
“ตอนแรก ๆ มีแค่รูปถ่าย แคปชั่น หลัง ๆ เริ่มมีวิดีโอที่ทำให้คนรู้จักเอกลักษณ์ของเพจ เราถือกล้องวิ่งไปถ่ายไป ระหว่างทางก็ถ่ายบ้างหยุดบ้าง แต่ตั้งแต่จุดสตาร์ทไปจนถึงเส้นชัย เรามีอะไรให้เขาดูแล้วรู้สึกเหมือนได้มาวิ่งสนามนั้นด้วยกัน” เชษฏ์เล่าบรรยากาศการบันทึกสมุดหน้าแรก ๆ ให้ฟัง
ทุกวันนี้เพจขยายไปบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บไซต์ แต่ 1 คือจำนวนทีมงานที่ผลิตคอนเทนต์ทุกรูปแบบจากเพจวิ่งรอบโลกตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ทั้งเขียนงาน ถ่ายภาพ แต่งภาพ ตัดต่อ ทำเว็บไซต์ รวมถึงอีกหลายรูปแบบและหลายขั้นตอน ซึ่งครีเอเตอร์สมัยนี้จะสร้างขึ้นมาด้วยความช่วยเหลือกันเป็นทีม แต่ทั้งหมดคือสิ่งที่ชายคนนี้สร้างขึ้นมากับมือแบบ One-man Show
“วิ่งเสร็จก็มานั่งตัดต่อ วันรุ่งขึ้นก็ลงคลิปเลย คนชอบคิดว่า โห มีทีมงานเยอะขนาดนั้นเลย วิ่งเสร็จแล้วไม่พักเลยเหรอ ก็เนี่ย นั่งตัดวิดีโอนี่แหละคือการพักของเรา (หัวเราะ)” ในแง่หนึ่ง เขามองว่าสิ่งนี้สานฝันความชอบในงานด้านนิเทศอยู่กลาย ๆ
วิ่งรอบโลกยังไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้ เบื้องหลังที่เชษฏ์คิดไว้ ยังมีแพลนจะต่อยอดไปอีกมากมาย แต่ตอนนี้มีแค่ชิ้นเดียวที่ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง คือ การจัดทริปวิ่งในต่างประเทศ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 ที่โควิด-19 ระบาดหนัก งานวิ่งทั่วโลกประกาศยกเลิกและเพจต้องหยุดชะงัก วิ่งรอบโลกจึงจัด Virtual Run ขึ้น โดยเปิดรับสมัครบนแพลตฟอร์มของ LET’S RACE THAILAND และประสบความสำเร็จ พวกเขาจึงร่วมมือกันเปิดบริษัทนำเที่ยวแบบมีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย โดยใช้ชื่อของพวกเขาทั้งสองมารวมกัน กลายเป็น ‘LET’S RUN THE WORLD’ (RUNNING THE WORLD + LET’S RACE THAILAND)

“บริษัทเราพยายามเลี่ยงคำว่าทัวร์ แต่เรียกเป็น ‘ทริป’ ที่พาไปวิ่งต่างประเทศ จำนวนคนไม่ได้เยอะ เพราะอยากให้ทุกคนในทริปรู้จักกันแบบอบอุ่น ไม่ได้เป็นทัวร์ทั่วไปที่พาคุณไปทิ้งไว้ตรงนั้นตรงนี้ สิ่งที่ต่างกันคือ ตัวเราไปด้วยจริง ๆ คนที่ไปก็ไปวิ่งมาราธอนกับเราจริง ๆ แล้วก็พาเขาไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราไป
“เวลาไปที่ไหน เราก็พยายามศึกษาหาข้อมูลไปก่อนด้วยว่า ประเทศนั้นมีอะไรให้เที่ยวบ้าง ไม่ใช่ไปวิ่งอย่างเดียวแล้วจบ แต่เราใช้มาราธอนเป็นข้ออ้างให้พาตัวเองไปประเทศนั้น แล้วเราก็จะได้เที่ยวด้วย”
ปัจจุบันเพจมีกระบวนการทำงานที่ใหญ่ขึ้น เริ่มมีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและมีรายได้ที่มากพอจะหาคนมาช่วย แต่ส่วนผลิตคอนเทนต์ยังเป็นเชษฏ์เหมือนเดิม
“ที่ผ่านมาเพจไม่ได้สร้างรายได้ เลยไม่รู้จะจ้างทีมงานไปทำไม และไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาจ้าง แต่อันนี้มันเริ่มเป็นธุรกิจจริงจัง ก็เลยมีน้องแอดมิน 2 – 3 คนช่วยตอบและโพสต์คอนเทนต์ที่เราเตรียมไว้ให้ แต่เพจวิ่งรอบโลกก็ยังเป็นตัวเราทำเองคนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ”


ห้องสมุดนักวิ่ง
เชษฏ์ชวนเราจินตนาการว่า เพจวิ่งรอบโลกมีความสนใจอยู่ 2 วงหลัก ๆ คือ ‘เที่ยวรอบโลก’ และ ‘วิ่ง’ เพราะฉะนั้น หากเอาทั้งสองวงมาทับซ้อนกัน คนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเพจ คือส่วนที่ทั้งสองวงนั้นเหลื่อมกันเป็นหลัก และอาจมีเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยถ้าพูดในเชิงการตลาด ซึ่งรวมกันแล้วมีจำนวนน้อยมาก
นี่เป็นสิ่งที่เขารู้มาตั้งแต่วันแรกแต่ก็ยังจะทำต่อไป เพราะไม่ได้หวังสร้างรายได้จากเพจมาตั้งแต่ต้น แต่อยากให้เป็นพื้นที่บันทึกเรื่องราวระหว่างทางที่ทำตามฝันเท่านั้น
“เราไปมาหลายประเทศ ก็อาจจะได้เห็นอะไรที่คนอื่นไม่มีโอกาสเห็น จึงอยากเอามาแบ่งปัน มาบอกกล่าว ว่าประเทศนี้เป็นอย่างนี้นะ ประเทศนี้ทำอย่างนี้นะ แล้วก็มีข้อมูลให้เขา เผื่อใครอยากไปต้องทำยังไง มีพื้นที่ตรงไหนไม่ปลอดภัย จองโรงแรมยังไง ทำวีซ่ายังไง อะไรประมาณนั้นมากกว่า
“การไปเที่ยวรอบโลกเปิดโลกสำหรับเรามาก มันทำให้ได้เจออะไรใหม่ ๆ ได้เรียนรู้ภาษา เจอคน วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง ซึ่งก็ทำให้เรากลับมามองเปรียบเทียบกับตัวเราและประเทศของเรา
แล้วยังรู้สึกว่าลดอัตตาหรือความเป็นตัวตนไปได้ด้วย”
เราปิดด้วยคำถามทิ้งท้ายว่า วันแรกที่ลาออกจากงานประจำ กับวันนี้ที่วิ่งมาถึงก้าวที่ 42 คิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
“รู้สึกว่าทุกวันนี้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมาก ๆ แค่นั้นเลย เราได้เจอสิ่งที่เรารักที่จะทำ แล้วเราก็มีเป้าหมายในชีวิต” เชษฏ์ตอบ

ภาพ : วิ่งรอบโลก: Running The World