ถ้าไม่นับชาวนาอาชีพ จะมีอีกสักกี่คนที่แบ่งเวลาว่างมาใช้กลางท้องนา ในบทบาทที่เขาเรียกตัวเองว่า ‘ชาวนาวันหยุด’ ใครคนนั้น คือ สุภชัย ปิติวุฒิ ผู้บริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ในจังหวัดกำเเพงเพชร ผู้สวมหมวกอีกใบในฐานะผู้ก่อตั้ง ชาวนาวันหยุด เครือข่ายที่ตั้งใจอยากแก้ปัญหาเรื่องข้าวและชาวนาไทยด้วยบทบาทของคนรุ่นลูก

ความพิเศษของเครือข่ายชาวนาวันหยุดที่ทำให้เราต้องติดต่อขอคุยกับสุภชัยเป็นการพิเศษนั้น อยู่ตรงการใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการทำงานพัฒนา และที่สำคัญที่สุด คือเป็นการทำงานพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานความเป็นจริง

“ผมคิดว่าถ้าอยากพัฒนาข้าวไทย น่าจะต้องเริ่มจากการพัฒนาเรื่องปากท้องของชาวนาเป็นอันดับแรก เพราะเราจะพัฒนาคุณภาพข้าวได้อย่างไรในเมื่อชาวนายังเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว” เขาเกริ่น เมื่อเรานั่งลงคุยกันตอนบ่ายวันหนึ่ง ก่อนบทสนทนานานนับชั่วโมงจะเริ่มต้นขึ้นหลังคำถามเรียบง่ายที่เราอยากให้เขาช่วยไขข้อสงสัยว่า อะไรทำให้บัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์ผู้ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมมานานนับสิบปีหันมาสนใจเรื่องข้าว ซ้ำยังสนใจในมิติของ ‘ปัญหา’ ซึ่งในมุมคนนอกอย่างเรานั้นดูจะเป็นปัญหาที่ไกลตัวเขาอยู่พอสมควร

“เป็นความโชคดีที่หน้าที่การงานทำให้ผมได้ใกล้ชิดกับชาวนา และได้รู้ถึงปัญหาที่เขาเผชิญกันอยู่ จนค้นพบว่าจริง ๆ แล้วข้าวเป็นสินค้าการเมือง ชาวนาเป็นตัวละครที่มีคนเขียนบทให้เล่นเพื่อหาผลประโยชน์ทางการเมืองมาโดยตลอด เป็นหนึ่งในปัญหาที่เราล้วนรู้ว่ามีอยู่ในสังคม แต่ก็ยังมองไม่เห็นทางออก” เขาเล่าถึงวันแรก ๆ ในฐานะนักพัฒนาข้าว

“พอกลับมาทบทวนดูแล้ว พบว่าน่าจะต้องเริ่มจากคนข้างในรวมตัวกันแก้ปัญหา เกิดคำถามต่อมาว่า วงการข้าวบ้านเรามีต้นทุนอะไรบ้าง จึงเริ่มต้นศึกษารายละเอียดทั้งเรื่องข้าวและชาวนา เพื่อหาว่าเราควรเริ่มต้นเดินจากตรงจุดไหนดี” สุภชัยจึงเริ่มค้นหาคำตอบผ่านการศึกษางานวิจัยทั้งของไทยและต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้การปลูกข้าวที่ให้ประโยชน์กับชาวนาสูงสุด ทั้งในเรื่องคุณภาพและปริมาณการผลิตที่ตอบโจทย์เรื่องรายได้

“วันหนึ่งผมอ่านเจองานวิจัยของ Cornell University เขาทำวิจัยเรื่อง SRI-Rice ที่ใช้ต้นกล้าอายุน้อย การใช้น้ำในนาข้าวไม่จำเป็นต้องขังน้ำไว้ในนาตลอดเวลา ถึงปล่อยให้นาแห้งในระยะแตกกอ ข้าวก็ไม่ได้คุณภาพลดลง แถมทำให้ต้นข้าวแข็งแรงขึ้นด้วย เพราะการปล่อยให้นาแห้งบ้างเป็นการกระตุ้นให้รากต้นข้าวหาอาหารได้ดีขึ้น การค้นเจอสิ่งนี้คือจุดเปลี่ยนเลยก็ว่าได้ เพราะมันคือวิธีที่จะทำให้ต้นทุนการทำนาลดลง และได้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย แต่ปัญหาคือเราจะสื่อสารกับชาวนาอย่างไรให้เขาเชื่อถือ เพราะผมเองก็ไม่ได้เป็นชาวนา และตอนนั้นยังไม่มีตัวอย่างผลลัพธ์ที่ชัดเจนในแปลงนาขนาดใหญ่” 

การผลักดันการเปลี่ยนแปลงในตอนแรกจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็นับเป็นความท้าทายที่เขาไม่ยอมแพ้ สุภชัยเริ่มลงมือจัดการข้อมูลในมือให้เข้าถึงง่าย ให้คนรับสารไปแล้วใช้ได้จริง 

“ผมสื่อสารกับชาวนาว่าจริง ๆ แล้วข้าวไม่ใช่พืชน้ำ แต่เป็นพืชที่ทนน้ำท่วมขังเท่านั้นเอง สิ่งนี้แตกต่างกันนะครับ เพราะชาวนาส่วนใหญ่มองว่าข้าวเป็นพืชที่ต้องปลูกในน้ำขังเท่านั้น ซึ่งผิดกับความเป็นจริง พอสื่อสารออกไปแบบนี้เขาก็เริ่มเข้าใจ จนมีชาวนาจากจังหวัดนครสวรรค์เดินเข้ามาหาเราว่า เขาอยากลองเอาความรู้นี้ไปทดลองทำนาตัวเอง สุดท้ายก็ได้ผลออกมาดี กลายเป็นผลงานที่จับต้องได้ขึ้นมา เราจึงเอาผลลัพธ์เหล่านี้เดินทางไปพบปะพูดคุยกับชาวนากลุ่มต่าง ๆ เพื่อหาแนวร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

ระหว่างบทสนทนาดำเนินไป สุภชัยส่งรูปภาพท่อน้ำพีวีซีสีฟ้าที่ปักลงในดินกลางนาข้าวให้เราดู พร้อมอธิบายว่าสิ่งนี้คือ ‘เครื่องมือสื่อสาร’ อันยอดเยี่ยมที่จะบอกชาวนาว่าถึงจะปล่อยให้นาแห้งบางช่วง แต่น้ำใต้ดินยังคงมีเพียงพอหล่อเลี้ยงต้นข้าว ซึ่งสังเกตได้จากระดับน้ำที่เอ่อขึ้นมาในท่อพีวีซีที่ปักลงดินในท้องนา

จากจุดเริ่มต้นที่นาแรก เดินทางสู่นาที่ 2 3 4 ผ่านคำบอกเล่าปากต่อปากถึงผลลัพธ์ของการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง หรือที่สุภชัยเรียกว่าวิธีการ ‘แกล้งข้าว’ กระทั่งเครือข่ายชาวนาวันหยุดเริ่มมีสมาชิกเป็นชาวนาในหลายจังหวัดภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และเริ่มจับมือกันทำงานกับกลุ่มลูกหลานของชาวนา ซึ่งสุภชัยมองว่าคือกำลังสำคัญที่จะทำให้วงการข้าวไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เมื่อคนรุ่นใหม่หันกลับมาพัฒนาภาคเกษตรให้สอดคล้องกับบริบทสังคม

“ในทัศนะของผม ภาคเกษตรเป็นเหมือนภาคสร้างเมือง หมายความว่าเกษตรกรทำงานหาเงินมาส่งลูกหลานเรียนหนังสือ จากนั้นลูกหลานก็ไปทำอย่างอื่นที่รายได้ดีกว่า มั่นคงกว่า คนทำงานในภาคเกษตรจึงลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนะครับ เพียงแต่ว่าถ้าเราสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาใช้เวลากับความรู้ ปฏิบัติร่วมกับครอบครัว ทำงานในภาคเกษตรคู่ขนานกับงานประจำ การพัฒนาจะไปได้ไวและมีประสิทธิภาพ เพราะคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เขาเปิดรับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”

เขาสำทับถึงเป้าหมายของเครือข่ายชาวนาวันหยุดให้เราฟังอีกครั้งว่า คือการทำงานชาวนาหลุดพ้นจากวงจรปัญหาเรื่องหนี้สิน ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคมของพวกเขาเพื่อดึงคนรุ่นใหม่กลับมาช่วยกันพัฒนาภาคเกษตร และนั่นเป็นเหตุผลที่การทำงานของพวกเขาไม่ได้มุ่งไปทางเกษตรเคมีเป็นหลัก หรือเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ทว่าเป็นการพัฒนาอย่างเข้าใจบริบทของท้องถิ่นที่สุด

“ถามว่าการทำนาอินทรีย์ดีไหม ดีแน่นอน แต่ชาวนาที่จะปรับเปลี่ยนไปทำนาอินทรีย์ต้องมีทุนระดับหนึ่งถึงจะยืนระยะสำเร็จ แต่เป้าหมายของผม คือการสร้างเครื่องมือและกระบวนการที่ปรับใช้กับชาวนาส่วนใหญ่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่เจาะจงว่าต้องทำนาอินทรีย์เท่านั้น แต่ให้ชาวนาค่อย ๆ ปรับวิธีทำนาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยตั้งแต่คนปลูกถึงคนกินไปเรื่อย ๆ 

“เพราะจริง ๆ แล้ว ถ้าเข้าใจระบบการทำนาที่ถูกต้อง อย่างการทำนาแบบเปียกสลับแห้งที่เรานำเสนอ ผลลัพธ์ของมันจะทำให้ชาวนาลดปริมาณการใช้น้ำในการปลูกข้าวลง จะช่วยดึงศักยภาพต้นข้าว เพราะเมื่อต้นข้าวออกรากหาอาหารได้มาก สุขภาพดี และให้ผลผลิตดีด้วยตัวเอง ปัจจัยเสริมอย่างปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลงก็ใช้เท่าที่จำเป็น”

ถึงแม้การทำนาแบบเปียกสลับแห้งจะช่วยลดการใช้น้ำในนาข้าวและลดต้นทุนของชาวนาลงได้มาก แต่การสร้างระบบชลประทานให้ทั่วถึงและการบริหารจัดการน้ำอย่างเข้าใจบริบทภาคเกษตรก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การทำนารูปแบบนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาคเกษตรให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้วยเช่นกัน

หลังเดินทางร่วมกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ในวันนี้สุภชัยและสมาชิกเครือข่ายชาวนาวันหยุดยังคงรักษาหลักการในการทำงานไว้อย่างเหนียวแน่น นั่นคือการสังเกต ตั้งคำถาม และบริหารจัดการอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตและต้นทุนของชาวนาแต่ละคน ให้ยกระดับคุณภาพชีวิตจากการทำนาได้จริง

ก่อนจบบทสนทนา สุภชัยชวนเราเฝ้าดูอนาคตที่เขาและเพื่อน ๆ เกษตรกรอยากเดินไปให้ถึง นั่นคือการผลักดันให้เครือข่ายชาวนาวันหยุดเป็น ‘ตัวกลาง’ ประสานความร่วมมือจากหลากหลายฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาวงการข้าวไทยให้เติบโตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

“ถ้าเราเชื่อมให้คนที่มีโอกาสทางสังคมเข้ามาร่วมพัฒนาวงการข้าวได้ ในวันนั้นศักยภาพของข้าวไทยจะถูกใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด” เขาทิ้งท้ายให้เราร่วมกันเฝ้ารอด้วยความหวัง

ติดตามความเคลื่อนไหวของชาวนาวันหยุดได้ที่ Facebook : ชาวนาวันหยุด

Writer

อรุณวตรี รัตนธารี

อรุณวตรี รัตนธารี

นักสื่อสารเรื่องราวของมนุษย์ผ่านอาหาร ผู้อยากเห็นระบบอาหารของไทยใส่ใจคนทุกกลุ่ม

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย