แตงโมลูกโตๆ รสขม – ไม่ใช่เพลงแปลงของ จินตหรา พูนลาภ แต่เป็นชื่อบทความที่ 3 ของคอลัมน์วัตถุปลายตา ที่ครั้งนี้ไม่ได้จะมาบอกเล่าความหวานของแตงโม หรือชวนถกเถียงว่าน้ำแตงโมปั่นที่อร่อยนั้น ควรจะใส่หรือไม่ใส่น้ำแดงกันแน่ แต่จะชวนผู้อ่านชาวไทย เข้าไปสำรวจความหมายขมขื่นที่ฝังอยู่ในเนื้อแตงโมสีแดงฉ่ำ กับประวัติศาสตร์ของการเหยียดสีผิวของคนผิวดำในอเมริกา
แล้วคุณอาจจะแปลกใจว่า ผลไม้รสหวานที่ทุกคนรับประทานอย่างถูกอกถูกใจนั้น มันสร้างความเจ็บปวดให้กับเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกด้วยกันได้เพียงนี้เลยหรือ
เจ๊แม่ ก็ยังโดนทัวร์ลง
สัญลักษณ์แห่งความขมขื่นที่แฝงอยู่ในแตงโม คือสิ่งที่คอลัมน์วัตถุปลายตาพยายามจะสื่อสารอยู่เสมอ นั่นก็คือ ของหนึ่งชิ้น ไม่ว่าจะเป็นที่สนใจหรือเป็นของนอกสายตา มีพลังในการสื่อสาร และมีเรื่องราวฝังแนบติดอยู่กับมันแทบทุกชิ้น
เพียงแต่ครั้งนี้ เรื่องราวที่ฝังอยู่ในผลไม้ชนิดนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเต็มไปด้วยความหลังที่เจ็บปวด เจ็บปวดชนิดที่ว่ามาดอนน่า นักร้องดังที่อุตส่าห์อุปถัมภ์ลูกบุญธรรมผิวดำของเธอเองมาจากประเทศแอฟริกา แต่ดันโพสต์รูปลูกของเธอกินแตงโมอยู่ ก็ยังโดน ‘ทัวร์ลง’ แบบไม่ไว้หน้าแม่ใดๆ
แล้วทำไม ‘แตงโม’ กับ ‘คนผิวดำ’ ถึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน?
ผลไม้สองความหมาย
แตงโมคือผลไม้ที่ครั้งหนึ่งทาสผิวดำในอเมริกาถูกบังคับให้ปลูก เช่นเดียวกับฝ้ายและงานในไร่ในฟาร์มอื่นๆ อีกมายมาย และหลังจากสงครามการเมืองที่มีการเลิกทาสนั้น ชาวผิวดำก็ใช้แตงโมเป็นสินค้าในการค้าขายและดำรงชีวิตอย่างเสรีเช่นเดียวกัน
แก่นของสัญลักษณ์ที่ฝังอยู่ในแตงโม ซีกหนึ่งจึงว่าด้วยการเป็นตัวแทนทางเสรีภาพทางการเงิน จากที่เคยต้องรับใช้เจ้านายผิวขาว อดีตทาสผิวดำเหล่านี้จัดจำหน่ายผลผลิตจากฟาร์ม ซึ่งโดยมากคือแตงโมอย่างเสรีในท้องตลาด ทั่วทุกหัวระแหงหลังการเลิกทาส
แต่สัญลักษณ์ที่ฝังอยู่อีกซีกนั้น มาจากความหวั่นกลัวของคนขาว ซึ่งหวั่นเกรงในอิสระของคนผิวดำและการประกอบอาชีพอย่างเสรีแบบพอเพียง (แค่ขายแตงโมก็เลี้ยงชีพได้แล้ว) จึงเริ่มที่จะมีการผูกโยงและดัดแปลงความพอเพียง สมถะ ของคนผิวดำกับการขายแตงโมว่าเป็นความยากแค้น ยากจน แตงโมที่เนื้อหวานฉ่ำ สีแดง ก็ค่อยๆ เริ่มขมขึ้นในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเกิดมาจาก ‘ความกลัว’ ล้วนๆ
สกปรก ขี้เกียจ และไม่รู้จักโต
แตงโม ซึ่งเริ่มใช้เป็นผลผลิตแห่งการกดขี่นั้นถูกผูกติดเข้ากับความเชื่อว่า อดีตทาสผิวดำนั้นไม่สะอาด ไม่ขยัน วันๆ นอนกลิ้งกินแตงโม (ขายไป กินไป)
ที่สุดของความเชื่อเกี่ยวกับแตงโมและคนผิวดำในยุคนั้น สรุปง่ายๆ ได้ 3 คำ คือสกปรก ขี้เกียจ และไม่รู้จักโต
สกปรก เพราะการกินแตงโมน้ำฉ่ำๆ ให้สะอาดนั้นยากอยู่
ขี้เกียจ เพราะการปลูกแตงโมง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก แถมเป็นผลไม้ที่ยากต่อการกินไป ทำงานไป และต้องนั่งพักกินจริงๆ จังๆ
ไม่รู้จักโต เพราะรสชาติหวานและสีสันที่สดใสของมันนั้น มีคุณค่าทางสารอาหารน้อยมาก เหมือนกับขนมของเด็กๆ
และ 3 ความเชื่อที่ผูกติดอยู่กับแตงโมก็ถูกเอาไปผูกติดกับผู้ปลูก ผู้ขาย หรืออดีตทาสผิวดำง่ายๆ แบบนั้น
การเมือง + แตงโม = การโม
จริงๆ แล้วแตงโมในยุโรปสมัยโบราณเป็นผลไม้ที่ถูกมองว่าคือ ‘อาหารคนจน’ เช่นคนงานชาวอิตาลีหรือชาวอาหรับมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว จนกระทั่งมีการเลิกทาสในอเมริกา แตงโมจึงกลายเป็นผลไม้ที่ถูกมองในเชิงสัญลักษณ์
ความเป็นอิสระของอดีตทาสผิวดำนั่นเอง ความเกลียดชังในแตงโมที่คนชั้นนำผิวขาวเริ่มนำมาใช้เป็นอาวุธในการเหยียดสีผิว เหมารวม ถึงขนาดที่เคยมีคนฉีดยาพิษไว้ในแตงโมเพื่อจะฆ่าเพื่อนบ้านผิวดำ เพียงแค่คิดไปเองว่า “คนดำก็ต้องทานแตงโมสิ!” ก็เคยมีมาแล้ว
“คนดำเหล่านี้ยังไม่พร้อมกับอิสระหรอก” นั่นคือการเหมารวมและป้ายสี ซึ่งในช่วงการเลือกตั้ง ค.ศ. 1880 นั้น พรรคเดโมแครตกล่าวหารัฐเซาท์แคโรไลนา (South Carolina) ว่าใช้เงินภาษีของรัฐบาลไปกับแตงโมและความเอร็ดอร่อยส่วนตัว เพียงเพราะว่ารัฐนั้นเต็มไปด้วยประชากรผิวดำ และในหนัง The Birth of a Nation ที่ปล่อยมาใน ค.ศ. 1915 นั้น คนผิวขาวสนับสนุนให้คนดำเลิกทำงาน แล้วมานั่งกินแตงโมเฉยๆ เพราะเชื่อว่าคนดำที่พวกเขามองว่าเกียจคร้านนั้น “ยังไม่พร้อมกับอิสรภาพ”
ยาสีฟัน รสแตงโม
แตงโมในเชิงประวัติศาสตร์จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของอาหารกินกันตายของชนกลุ่มน้อยเรื่อยมา แต่ถ้าคุณคิดว่าคนกลุ่มน้อย คือคนกลุ่มที่ไม่มีพลังอำนาจในการต่อสู้กับความเหยียดที่ซ่อนไว้ในแตงโมแล้ว คุณกำลังคิดผิด
“โอบาม่าแปรงฟันด้วยยาสีฟันรสแตงโม”
มุกตลกที่ไม่ตลก ในหนังสือพิมพ์ Boston Herald ที่แซะอดีตประธานาธิบดีไว้ ซึ่งมุกแฝงนัยของการเหยียดสีผิวด้วยแตงโมนี่เอง เป็นหลักฐานว่าขนาดคนที่มีอำนาจและเป็นถึงผู้นำประเทศอย่างโอบาม่าเอง ก็หนีการถูกเหยียดไม่พ้น ในทางกลับกัน ผู้นำประเทศแคนาดาอย่าง จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) ก็เคยตกเป็นจำเลยของสังคม ในข้อหาที่เขาเคยทาสีผิวตัวเองให้กลายเป็นสีดำ ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นคนขาวถึงสองครั้งสองครา ซึ่งไอ้เจ้าการทา ย้อม หรือดัดแปลง สีผิวตัวเองให้เป็นสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็น หรือที่เรียกกันว่า Black Face นั้น ถือเป็นเรื่องไม่ควรทำอย่างยิ่ง
ดิสนีย์ ค่ายหนังการ์ตูนสุดคลาสสิก ก็ลบประวัติศาสตร์การเหยียดผิวในหนังแอนิเมชันของตัวเองหลายต่อหลายเรื่องไม่ได้ ซึ่งหากจะกล่าวถึงในบทความนี้ก็คงสาธยายไม่หมด แต่ความบอบช้ำที่ดิสนีย์น่าจะอับอายที่สุด น่าจะเป็นหนังการ์ตูนซึ่ง Romanticize หรือเอาความโลกสวย ทุ่งแตงโมสีหวาน ไปครอบไว้กับการเป็นทาสผิวดำ ในหนังเรื่อง Song of the South เล่าเรื่องของทาสผิวดำที่มีความสุขในการทำไร่ ทำนา อย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว หัวอ่อน ร้องรำทำเพลงกับฝูงสัตว์ หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็น ‘ทาสที่แฮปปี้’ นั่นเอง ซึ่งหนังเรื่องนี้ขึ้นอันดับหนึ่ง Hall of Shame หรือแท่นแห่งความอัปยศอดสูของดิสนีย์อย่างไม่มีข้อโต้เถียง
ผลไม้ไทย?
ในประวัติศาสตร์ไทยเราเองนั้นก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งปัญหาการเหยียดสีผิว ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในระดับชาติพันธุ์ แต่หากเรามองย้อนกลับไป ในวรรณคดีไทยหรือละครไทยหลายๆ เรื่อง ‘ความดำ’ คือสิ่งไม่สวยงามทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น เงาะป่า ที่ต้องถอดรูป ข้าวนอกนา จนไปถึงจรกา รูปชั่วตัวดำ ปากหนา จมูกโต ใน อิเหนา ซึ่งเต็มไปด้วยพรรณนาโวหาร ที่ส่งเสริมค่านิยมการดูแคลนความงามที่ไม่ตรงตามพิมพ์นิยมทั้งสิ้น จนถึงวันนี้ค่านิยมในความขาวใสของคนไทยก็ยังฝังรากลึกและพบเห็นได้ในทุกมิติของชีวิต
ถึงแม้เราอาจจะหลับตานึกผลไม้ที่ใช้เป็นอาวุธของการเหยียดในไทยไม่ได้ทันที แต่การเหมารวม ซึ่งเป็นรากที่ก่อกำเนิดนัยของการเหยียดนั้นอาจมีอยู่ในข้าวของชิ้นอื่นๆ เช่น มันคงไม่แฟร์ที่จะเหมารวมว่าคนอีสานชอบทานข้าวเหนียว ปลาร้า ปลาแดก ทานข้าวเหนียวแล้วดั้งแหมบ หรือวาทกรรม “จน เครียด กินเหล้า” เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าคนอีสานจะชอบทานหรือไม่ชอบทานอะไร หรือใครจน ไม่จน ใครเครียด ไม่เครียด ใครชอบกินเหล้า หรือไม่ชอบกินนั้น การ ‘เหมารวม’ ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในยุคที่กลุ่มคน บุคคล และความเชื่อ เต็มไปด้วยความหลากหลายแบบทุกวันนี้อย่างยิ่ง
เหมารวม ถูกกว่า?
ทำไมคนเราถึงเหมารวม
การ Stereotype การเหมารวม หรือการตัดสินคนนั้น เป็นสัญชาตญาณหนึ่งของมนุษย์ โดยพื้นฐานแล้ว เราทุกคนต้องการรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีพวกพ้อง และรู้สึกมีพื้นที่ที่เป็นของตัวเองเสมอ ซึ่งการแยกแยะเพื่อนออกจาก ศัตรู หรือความเหมือนออกจากความต่างนั้น เป็นจิตวิทยาพื้นฐานซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน
แต่การตัดสินของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน และมักจะอ้างอิงจากสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู ประสบการณ์ส่วนตัว ไปจนถึงค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรมต่างๆ ที่มีความหลายหลากเสมอ นั่นหมายความว่า ‘การเหมารวม’ ที่ครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจคนและชุดความคิด อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แม่นยำ และเที่ยงตรง อีกต่อไป
ผลไม้พิสดาร
บิลลี่ ฮอลิเดย์ (Billie Holiday) เขียนพรรณนาถึงซากศพของคนผิวดำที่ถูกแขวนคอและเผาทิ้งไว้บนต้นไม้ ในยุคที่เต็มไปด้วยความเหยียดสีผิวและความเกลียดชังต่อคนดำไว้ในเพลง Strange Fruit หรือหากจะแปลเป็นไทย ก็คงแปลได้ว่า ผลไม้พิสดาร ที่ส่งกลิ่นเนื้อมนุษย์เหม็นไหม้คละคลุ้ง
หากความตายของคนผิวดำบนต้นไม้เปรียบเสมือนผลไม้ รากของต้นไม้ต้นนั้นน่าจะหยั่งลึก ยึดเกาะ อยู่บนชุดความคิดที่ไม่ยอมรับในความแตกต่างและเท่าเทียมของมนุษย์ กลุ่มคน ความเชื่อ และชนชั้น ที่หลากหลาย และต้นไม้แห่งความเกลียดชังนี้ก็น่าจะเติบโตด้วยปุ๋ยแห่งการเหมารวม และอาจจะแตกหน่อ ขยายพันธุ์ ด้วยเกสรแห่งการลิดรอนซึ่งสิทธิ อิสระ เสรี และความเสมอภาค ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศเดียวกัน
ในยุคที่น้ำแตงโมปั่นยังมีหลายสูตร ตั้งแต่การใส่น้ำเชื่อม จนไปถึงน้ำแดง ผัดกะเพราเองก็ถูกวิวัฒน์ดัดแปลงจนมีส่วนผสมที่หลากหลาย และเป็นที่ถกเถียงมาโดยตลอดว่าผัดกะเพราแท้ที่ดีคืออะไร แต่ไม่ว่าความแตกต่างจะถูกขยายกว้างไปในสเปกตรัมใด ไม่มีความต่างอันไหนที่ควรค่าแก่การคร่าชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพียงเพราะความต่างของเมลานินหรือความเชื่อใดๆ
หากยังมีคนที่เชื่อว่า “อิสรภาพและความเท่าเทียมไม่ใช่สำหรับทุกคน” ต้นไม้แห่งความเกลียดชังก็จะยังคงออกดอกออกผลงอกงาม เหม็นไหม้ พิสดาร ต่อไปอีกนานแสนนาน