The Cloud x GC Sustainable Living Symposium

‘ถุงพลาสติก 1 ใบ’ – คนทั่วไปอาจมองว่าเป็นขยะ แต่สำหรับคนในชุมชนวัดชากลูกหญ้า ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พวกเขามองเห็นมูลค่าที่ซ่อนอยู่ในถุงใบนั้น

4 – 5 ตัน คือปริมาณถุงพลาสติกที่พวกเขาเก็บรวบรวมได้ภายใน 2 เดือน ซึ่งจะถูกส่งต่อให้โรงงานรีไซเคิล และรายได้การจากขายนี้จะแปรเปลี่ยนมาเป็นการจ้างงานผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางของชุมชนในงานคัดแยกขยะรีไซเคิล 

ไม่ใช่แค่ถุงพลาสติกเท่านั้น แต่ชาวบ้านที่นี่ยังแยกขยะอีกหลายประเภท ตั้งแต่กระดาษ แก้ว ขวดพลาสติก กระป๋อง น้ำมันพืช กล่องยูเอชที ฯลฯ แม้กระทั่งสิ่งที่รีไซเคิลไม่ได้ อย่างเช่น หลอดดูด ถาดพลาสติกกรอบ ถุงขนม ถุงแกง พวกเขาก็ไม่ทิ้ง แต่เก็บรวบรวมเพื่อส่งขายเป็นขยะเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้า ซึ่งรายได้จากการขายก็แปรมาเป็นทุนการศึกษา เงินค่าฌาปนกิจ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์แจกฟรี ฯลฯ 

ในวันที่ปัญหาขยะล้นเมืองเป็นปัญหาใหญ่แทบทุกที่ทั่วประเทศไทย อะไรทำให้ชุมชนวัดชากลูกหญ้าแก้ไขปัญหานี้สำเร็จ และก้าวข้ามผ่านความเชื่อที่ว่าคนไทยไม่แยกขยะ

ขอเชิญล้อมวงเข้ามา แล้วมาฟัง เปิ้ล-นภาพัฒน์ อู่เจริญ ประธานวิสาหกิจชุมชนธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า บอกเล่าเรื่องราวแห่งการสร้างความเปลี่ยนแปลงกัน

ธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิลชุมชนวัดชากลูกหญ้า จ.ระยอง วิสาหกิจชุมชนที่จ่ายดอกเบี้ยเป็นสวัสดิการชุมชนและความสุขมวลรวม

จุดเปลี่ยน

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 – 7 ปีที่แล้ว ชุมชนวัดชากลูกหญ้าก็มีปัญหาขยะไม่ต่างจากชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศไทย แต่สิ่งที่ทำให้ชุมชนนี้แตกต่าง คือการมองเห็นว่า ‘นี่คือปัญหา’ และ ‘จำเป็นต้องหาทางแก้’

“จากการดูงานหลายที่ทำให้เราเห็นว่าจุดแข็งของชุมชนเราคือมีทีมจิตอาสาที่เข้มแข็ง ส่วนจุดอ่อนคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ขยะที่มหาศาลทำให้เรารู้สึกว่าต้องจัดการแล้ว” ประธานวิสาหกิจชุมชนเล่าถึงจุดตั้งต้น

จากการคุยกันในทีม สิ่งที่ตกผลึกออกมาคือการก่อตั้งธนาคารขยะรีไซเคิล ซึ่งพวกเขาเริ่มขั้นตอนแรกด้วยการเชิญ ลุงสมนึก ลุงซาเล้งประจำชุมชนมาเป็นครูสอนแยกขยะให้ทีมงาน

ธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิลชุมชนวัดชากลูกหญ้า จ.ระยอง วิสาหกิจชุมชนที่จ่ายดอกเบี้ยเป็นสวัสดิการชุมชนและความสุขมวลรวม

“พอนัดวันได้ ลุงสมนึกก็บอกให้ทีมงานทุกคนเก็บขยะที่บ้านตัวเองเป็นเวลา 1 เดือน แล้วค่อยมาเจอกัน” เปิ้ลเล่าถึงวิธีสอนของลุงสมนึกที่ไม่ธรรมดา 

เมื่อถึงวันนัด ทีมงาน 39 ชีวิตนำขยะของบ้านตัวเองมาเทกองรวมกัน สิ่งที่ทุกคนเห็นคือภูเขาขยะกองมหึมา ซึ่งลุงสมนึกก็ชวนให้คิดว่า แค่บ้านไม่กี่หลังยังเก็บได้ขนาดนี้ แล้วถ้ารวมขยะจากทั้ง 400 กว่าครัวเรือนในชุมชนจะมหาศาลขนาดไหน 

“จากนั้นลุงสมนึกก็บอกว่าลองแยกนะ โดยไม่ต้องสนว่าอันไหนเรียกอะไร ให้ดูว่าอันไหนเหมือนกันให้ไปอยู่ด้วยกัน เหล็กอยู่กอง ขวดอยู่อีกกอง ถุงอีกกอง กระดาษอีกกอง ซึ่งพอแยกแล้ว เราเห็นเลยว่าจากกองภูเขาใหญ่ ๆ เหลือที่รีไซเคิลไม่ได้อยู่นิดเดียวเอง ที่เหลือสร้างมูลค่าได้หมด” 

หลังจากแยกประเภทเบื้องต้นแล้ว ลุงสมนึกก็สอนแยกแบบลงรายละเอียดมากขึ้น เช่น แก้วแยกย่อยได้เป็น 3 สี กระดาษแยกได้เป็น 3 ประเภท ถุงพลาสติกอีก 6 ประเภท ฯลฯ

“อย่างถุงพลาสติก แกบอกว่าให้ลองใช้ประสาทสัมผัสแยกดูก่อน อันไหนเนื้อเหมือนกันให้ไปอยู่ด้วยกัน นี่คือวิธีที่ง่ายสุด แยกแล้วเดี๋ยวค่อยมาเรียกชื่อทีหลัง ด้วยวิธีนี้เลยกลายเป็นว่าการแยกขยะเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะการทำงานกับชุมชน ถ้าเราใช้วิชาการยาก ๆ เมื่อไหร่ เขาจะไม่เอาเลย” 

เมื่อทีมงานหลักสำเร็จวิทยายุทธการแยกขยะแล้ว พวกเขาก็เริ่มแบ่งโซนลงพื้นที่ไปสอนชาวบ้าน 

“เราจะใช้กองทุนหมู่บ้านเป็นข้อเปรียบเทียบ เช่น ถ้าฝากกองทุนหมู่บ้านเดือนละ 100 นั่นคือต้องควักเงินในกระเป๋า แต่ธนาคารขยะของเรา แค่คุณแยกขยะมาให้ก็เป็นสมาชิกรายเดือนได้แล้ว สะสมเป็นเงินออมไว้ วันหนึ่งถ้าจะใช้ก็มาเบิกได้ หรือวันไหนอยากได้แมสก์ฟรี ก็นำแมสก์เก่าที่ใช้แล้วเก็บรวบรวมมาใส่ถังแดงแลกกับแมสก์ใหม่”

นอกจากนั้นยังมีกองทุนฌาปนกิจ ซึ่งจะมอบเงินให้ครอบครัวสมาชิกที่เสียชีวิตรายละ 10,000 บาท มีการให้ทุนการศึกษาแก่เด็กเรียนดีที่มีเกรดเฉลี่ย 3.5 ขึ้นไป ปีละ 50,000 บาท เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กตั้งใจเรียน 

แม้ว่าโดยหลักการแล้ว แนวคิดธนาคารขยะจะไม่มีอะไรซับซ้อนและมีข้อดีอย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติที่ต้องทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม… ไม่ใช่เรื่องง่าย 

ธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิลชุมชนวัดชากลูกหญ้า จ.ระยอง วิสาหกิจชุมชนที่จ่ายดอกเบี้ยเป็นสวัสดิการชุมชนและความสุขมวลรวม

“2 ปีแรกน้ำตาคลอเบ้าเลย เพราะทุกบ้านที่เอาขยะมาให้ รวมทุกอย่างมาหมด ทั้งเหม็น ทั้งสกปรก ยิ่งช่วงโควิดยิ่งไม่มีใครอยากทำ ท้อมาก แต่เราคิดว่า ถ้าทำไม่สำเร็จ เราก็คงรู้สึกแย่กับตัวเอง เลยบอกตัวเองว่าต้องทำได้สิ แล้วอีกอย่างคือทีมงานยังอยู่เคียงข้างเราตลอด เขาไม่เคยเดินหนี เราจึงมีแรงฮึดว่าต้องทำให้ได้” 

จากชาวบ้านที่รวมขยะทุกอย่างมาในถุงเดียว เธอก็ค่อย ๆ อธิบายอย่างใจเย็นถึงวิธีการแยกที่ถูกต้อง พร้อมทำให้ดูเป็นตัวอย่างตรงนั้น 

“เราจะบอกว่า ถ้าคุณแยกเศษอาหารออก ทำให้สะอาด คุณจะได้อีกราคานะ อย่างกระป๋องเหล็ก ก้นเรียบ กิโลละ 4 บาท แต่กระป๋องอะลูมิเนียม ก้นเว้า กิโลละ 35 บาท ซึ่งพอเขารู้ว่าถ้าแยกแล้วได้ราคาดีกว่า เขาก็ยอมทำ”

นอกจากลงไปคุยตามครัวเรือนแล้ว อีกกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญไม่แพ้กันคือร้านค้า ซึ่งจะมีขยะจำพวกพลาสติกแพ็กขวดน้ำ พลาสติกแพ็กกระป๋องน้ำอัดลม ลังใส่ขนมที่ปกติแล้วพวกเขาจะทิ้งทั้งหมด เปิ้ลและทีมงานก็ลงไปคุยและขอให้ช่วยเก็บขยะที่สะอาดเหล่านี้ไว้ให้

“ไปถึงเราก็ถามเขาก่อนว่าปกติเวลาเอาน้ำเข้าตู้แช่ พลาสติกที่แพ็กมาไปไว้ไหน เขาก็บอกว่าทิ้งทั้งหมด เราบอกว่าถุงพวกนี้มีมูลค่านะ ถ้าทิ้งมันจะไปอยู่ในหลุมฝังกลบเทศบาลมาบตาพุด ซึ่งตอนนี้ใหญ่เท่าภูเขาแล้วนะ ต่อไปวันข้างหน้าถ้าทับถมเยอะ ๆ ก็เป็นเชื้อโรค สร้างโลกร้อน ขอความร่วมมือให้ช่วยกันหน่อยได้ไหม พอเราอธิบายอย่างนี้ เขาก็เก็บให้” 

แม้แต่น้ำมันพืชที่เหลือจากการทอด ซึ่งปกติชาวบ้านจะเทลงท่อหรือไม่ก็สาดลงพื้น ทางกลุ่มก็ร่วมกับ ปตท. ในโครงการ ‘ทอดไม่ทิ้ง’ รับซื้อน้ำมันพืชเก่ากิโลกรัมละ 15 บาท ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมากจากชาวบ้าน

หรือแม้แต่ขยะที่แห้ง สะอาด แต่รีไซเคิลไม่ได้ เช่น หลอดพลาสติก ถุงขนม ถุงแกงที่ล้างและตากแห้งแล้วก็มาฝากทิ้งกับทางศูนย์ เพื่อขายเป็นขยะเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าในราคากิโลกรัมละ 40 สตางค์ แทนที่จะทิ้งลงถังเทศบาลให้ไปกองที่ภูเขาขยะ

“จากช่วงแรกที่เขาดูรำคาญ แต่พอเขาทำซ้ำ ๆ กลับกลายเป็นความเคยชิน แล้วความเคยชินก็ทำให้เราได้ขยะที่เขาเคยทิ้งกลับมารีไซเคิล นั่นคือขยะที่เราดึงออกจากถังขยะของเทศบาล” 

ธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิลชุมชนวัดชากลูกหญ้า จ.ระยอง วิสาหกิจชุมชนที่จ่ายดอกเบี้ยเป็นสวัสดิการชุมชนและความสุขมวลรวม

The True Value

สิ่งที่พวกเขาได้จากโครงการนี้ ไม่ใช่แค่รายได้จากการขายขยะที่แปรมาเป็นสวัสดิการเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ชุมชนสะอาดขึ้น ไปจนถึงการเป็นกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้มาพบปะสังสรรค์

“สิ่งที่เราเห็นเชิงประจักษ์ คือเรามีการจ้างงานกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง ให้มาช่วยคัดแยกขยะวันละ 200 บาท ทุกวันเขาจะมีความสุขกับการได้มาเจอกัน เขาบอกว่าอยู่บ้านเฉย ๆ ก็เหงา แต่มาทำงานแล้วได้เจอเพื่อน ไม่ต้องขอเงินลูกหลานใช้ ซึ่งเงินที่มาใช้จ้างพวกเขาก็มาจากถุงพลาสติกที่ทุกคนช่วยกันเก็บให้เรา”

เปิ้ลเล่าว่าจากขยะหลากหลายประเภทที่ชุมชนเก็บรวบรวมมาให้ แม้จะถูกแยกเบื้องต้นมาแล้ว แต่หน้าที่ของลุง ๆ ป้า ๆ เหล่านี้คือการแยกให้ละเอียดมากขึ้น รวมถึงการลอกสติกเกอร์ ลอกเทปกาว ซึ่งจะทำให้ขายได้ราคาดีขึ้นหลายเท่า

นอกจากนั้น วิสาหกิจชุมชนนี้ยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรสอนการแยกขยะให้เด็ก ๆ เพื่อส่งต่อแนวคิดนี้สู่รุ่นถัดไป

ธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิลชุมชนวัดชากลูกหญ้า จ.ระยอง วิสาหกิจชุมชนที่จ่ายดอกเบี้ยเป็นสวัสดิการชุมชนและความสุขมวลรวม

“เชื่อไหมว่าเด็กมาแล้วเขาสนุกมากจนถามว่าขอมาอีกได้ไหม เพราะเราสอนโดยให้มาลงมือทำจริงที่ศูนย์ พอเขาทำเป็นแล้ว เขาก็กลับไปแยกที่บ้าน ที่โรงเรียน พอโรงเรียนเก็บรวบรวมได้และพร้อมขาย ครูจะโทรมา เราก็ไปรับซื้อ เด็ก ๆ ดีใจมากที่เขาเห็นว่าสิ่งที่แยกแล้วมันได้เงินจริง ๆ จากที่ไม่เคยแยกขยะ ทุกวันนี้กลายเป็นว่าแย่งกันเก็บขยะ” 

 เมื่อถามถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนหนึ่งประสบความสำเร็จในโครงการธนาคารขยะ เปิ้ลมองว่าสำคัญคือการมีผู้นำที่มีใจจะทำเรื่องนี้จริง ๆ อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีแค่เรื่องแยกขยะเท่านั้น แต่ละชุมชนอาจเลือกทำประเด็นที่เหมาะกับพื้นที่ตัวเองและความสนใจของคนทำ เช่น ชุมชนหนึ่ง ผู้นำไม่อยากทำธนาคารขยะ แต่ชอบปลูกผักทำสวน ชุมชนนั้นก็ทำเรื่องการจัดการขยะอินทรีย์ หมักปุ๋ย หรือบางชุมชนมีผู้ประกอบการรับเหมาตัดกิ่งไม้ในโรงงาน ก็ทำปุ๋ยใบไม้ขาย เป็นต้น

แต่ทั้งหมดทั้งปวงนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนมุมมอง โดยเปลี่ยนจากสิ่งที่คนทั่วไปมองว่าเป็น ‘ขยะ’ ให้กลายเป็นสิ่งที่ ‘มีมูลค่า’ และเมื่อชุมชนมองว่าสิ่งเหล่านั้นมีมูลค่า พวกเขาก็จะไม่ทิ้งเรี่ยราด หรือทิ้งลงถังรวมให้ไปกองในภูเขาขยะ 

“สิ่งที่เราได้จากการทำตรงนี้คือความสุข สิ่งที่มากกว่ามูลค่าเงินคือการตอบรับที่ดีของชาวบ้าน และการได้เห็นสิ่งแวดล้อมของชุมชนดีขึ้น”

ธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิลชุมชนวัดชากลูกหญ้า จ.ระยอง วิสาหกิจชุมชนที่จ่ายดอกเบี้ยเป็นสวัสดิการชุมชนและความสุขมวลรวม

ลองคิดดูสิว่า หากชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศไทยได้รับการสนับสนุนให้ทำแบบนี้ ประเทศไทยจะสะอาดและน่าอยู่มากขึ้นขนาดไหน

ธนาคารขยะรีไซเคิลชุมชนวัดชากลูกหญ้า ได้รับการสนับสนุนจาก GC, ENVICCO ในโครงการ ‘YOUเทิร์น’ ซึ่งเป็นระบบจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจร และหากชุมชนใดสนใจอยากเปลี่ยนแปลงชุมชนของตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยแนวคิดธนาคารขยะรีไซเคิล ติดต่อได้ที่ [email protected]

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’