เมื่อพูดถึงแหล่งผลิตและบ่มเพาะนวัตกรรม หลายคนมักนึกถึงซิลิคอนวัลเลย์ หุบเขาแห่งเทคโนโลยีที่เป็นศูนย์กลางความไฮเทคและบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลก
วันนี้ The Cloud ได้โอกาสอันดี พูดคุยกับ คุณเบญญาภรณ์ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่ วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ถึงแผนการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์ให้เติบโตเป็นผู้นำเมืองนวัตกรรมระดับอาเซียน
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางมากว่า 30 ปี ช่วงหลังเศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่น้อยมากเมื่อเทียบกับอดีต ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 จึงเกิดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EECi (Eastern Economic Corridor of Innovation) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจประเทศ
วังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley) เป็นโครงการเมืองนวัตกรรมอัจฉริยะของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตั้งอยู่ที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษนี้
โดย ปตท. คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ด้านนวัตกรรมอันหลากหลายนอกเหนือจากด้านพลังงาน จึงอยากสร้าง Smart Natural Innovation Platform ที่รวบรวมองค์กรหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงพัฒนา Smart City ให้พร้อมสำหรับการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและแหล่งอยู่อาศัยที่มีคุณภาพชีวิตดี ดึงดูดผู้ประกอบการ บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงเข้ามา
การสนับสนุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของ วังจันทร์วัลเลย์ นั้น สอดคล้องกับแผนพัฒนาของ สวทช. ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาเมืองอนาคตในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย
ทั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (FOOD INNOPOLIS) ที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) เน้นพัฒนาเทคโนโลยีที่คาดการณ์ว่าใช้งานง่ายในอนาคต อย่างปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ยานยนต์สมัยใหม่ เมืองนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ (BIOPOLIS) และเมืองนวัตกรรมการบินและอวกาศ (SPACE INNOPOLIS)
พื้นที่ 3,454 ไร่ ของ วังจันทร์วัลเลย์ แบ่งเป็น 3 โซน


Education Zone รากฐานของนวัตกรรมคือการศึกษา
“ความท้าทายของการสร้างศูนย์นวัตกรรม คือประเทศเรายังมีคนที่มีทักษะด้านนี้ไม่เพียงพอ จึงต้องผลิตบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ให้ทันต่อความต้องการ แก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการ Reskill และ Upskill คนให้มีความชำนาญ” คุณเบญญาภรณ์เล่า
คล้ายซิลิคอนวัลเลย์ที่มีสถาบันการศึกษาชื่อดังอย่างสแตนฟอร์ดตั้งอยู่ ก่อนจะมาเป็น วังจันทร์วัลเลย์ ปตท.ได้ก่อตั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) สอนหลักสูตรวิทย์-คณิตสมัยใหม่ในระดับมัธยมปลาย เน้นการสอนเพื่อเติบโตเป็นนักนวัตกรรม นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ส่วนสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับระดับสากล
ตั้งแต่เปิดมา นักเรียนจากทั้งสองสถาบันมีผลการศึกษาเป็นที่ยอมรับ สร้างชื่อเสียงและพร้อมต่อยอดความรู้ในการศึกษาต่อต่างประเทศ เพราะสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด พร้อม Go Global ให้ระดับการสอนที่มีคุณภาพ โดยทั้งหมดนี้เรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
ด้วยพื้นที่สีเขียวในวังจันทร์ ทำให้มีศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์และศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สอนการเกษตรสมัยใหม่ องค์ความรู้เรื่องการปลูกป่าและ Smart Farming อีกทั้งในอนาคต อาจมีสถาบันการศึกษาประเภทอื่นเพิ่มเข้ามาอีก
Innovation Zone วิจัยและพัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคต
ขึ้นชื่อว่าโซนนวัตกรรม พื้นที่ในเขตนี้จึงรวบรวมองค์กรเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมหลากหลาย ตั้งแต่ศูนย์นวัตกรรมที่มี Smart Farming แบบ Open Air และในโรงเรือนแบบปิด การพัฒนาโรงกลั่นชีวภาพ เทคโนโลยีสุขภาพ และแบตเตอรี่สมัยใหม่
Smart Manufactory สนับสนุนให้โรงงานในภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีทันสมัยอย่าง Internet of Things ระบบหุ่นยนต์และเซนเซอร์มาช่วยในกลไกการผลิตแบบเดิม
บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ที่ศึกษานวัตกรรมด้านการบำรุงรักษาใต้น้ำ
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มีกล้องจุลทรรศน์ที่ส่องได้ลึกถึงระดับอะตอม ทั่วโลกมี 20 เครื่องเฉพาะในเมืองที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น
เหมาะอย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจ เอกชน ผู้ประกอบการ มาติดอาวุธด้านเทคโนโลยี ต่อยอดไอเดีย พัฒนาสินค้าและเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อไป
อาคาร Intelligent Operation Center หรือ IOC ซึ่งถือว่าเป็นอาคารเขียว (Green Building) ที่ทำให้คนในเมืองสามารถเห็นข้อมูลการใช้น้ำ ไฟ และระบบรักษาความปลอดภัย มีระบบสาธารณูปโภคที่คำนึงถึงพลังงานสะอาดและลดการปล่อยคาร์บอน ทั้งด้านอุณหภูมิ ก๊าซ มลพิษ สร้างอาคารเขียวและติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดพลังงาน



Community Zone เมืองคุณภาพชีวิตดี
ด้วยคอนเซ็ปต์ Smart City วังจันทร์วัลเลย์จึงออกแบบการใช้ชีวิตแบบ Smart Living เพื่อดึงดูด Smart People ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่สนใจเข้ามาใช้ชีวิตในเมือง เปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน
อาคารในเมืองออกแบบโดยยึดหลัก Universal Design ให้คนทุกเพศทุกวัยอยู่อาศัยร่วมกันได้ ผสมผสานความทันสมัยและธรรมชาติในเมือง มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่งล้อมรอบจำนวนมาก ส่วนที่พักอาศัยมีโรงแรม อพาร์ตเมนต์ ทั้งสำหรับอยู่ถาวรและชั่วคราว ที่ออกกำลังกาย สถานพยาบาล โรงเรียนนานาชาติ สถานที่สัมมนาและ Co-working Space สำหรับพบปะสังสรรค์
การออกแบบคุณภาพชีวิตที่ดี มีพื้นที่ทำงานและพักผ่อนอย่างสะดวกสบาย สร้างบรรยากาศที่เหมาะแก่การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เป็นการสนับสนุนให้คนเก่งมารวมตัวกัน ต่อยอดกันและกันได้ในการทำงาน ในด้านการเดินทาง เน้นการใช้รถ EV Bus แบ่งทางเดินเป็น 3 เลน คือ รถยนต์ จักรยาน และทางเดินเท้า เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นเมือง Smart City ที่พัฒนาความเป็นอยู่ถึง 7 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การบริการภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) และพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)



Sandbox พื้นที่ผ่อนปรนกฎ เล่นสนุกกับการทดลองนวัตกรรม
ในการทำสิ่งใหม่ บางครั้งกฎระเบียบเดิมไม่รองรับ จึงต้องมี Sandbox หรือพื้นที่ที่ขออนุญาตผ่อนปรนกฎระเบียบ เพื่อทดลองทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม
ตัวอย่างเช่น UAV Regulatory Sandbox ใช้ทดสอบโดรน ในปัจจุบันพื้นที่ทั่วไปมีกฎระเบียบการบินโดรนว่าบินได้อย่างไรและสูงแค่ไหน แต่การใช้งานโดรนในอนาคตนั้นมีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น วังจันทร์วัลเลย์ได้รับอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ให้สามารถทดสอบโดรนรูปแบบใหม่ ทั้งส่งของ ดับเพลิง ตรวจสอบความปลอดภัย และยังมีสนามทดสอบรถที่ทดลองการใช้รถ EV กับ รถ Autonomous เป็นหลักอีกด้วย
เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ ต้องใช้คลื่นสัญญาณอินเทอร์เน็ต 5G พื้นที่ Sandbox จึงมีการร่วมมือกับเครือข่ายผู้ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่


Ecosystem ที่พันธมิตรทุกคนคือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ
ปัจจัยความสำเร็จของเมืองนวัตกรรม คือ การสร้างระบบนิเวศหรือ Ecosystem ที่มีพันธมิตรและหน่วยงานจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ เอกชน มารวมพลังกันเพื่อผลักดันพื้นที่แห่งนี้
คุณเบญญาภรณ์กล่าวว่า “จุดแข็งของวังจันทร์วัลเลย์คือ เราจับมือกับภาครัฐแบบเข้มแข็งมาก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้ลงทุนอุปกรณ์ด้านวิทยาศาสตร์หลักหมื่นล้าน เพื่อให้ภาคธุรกิจตื่นตัวเรื่องนวัตกรรม อยากให้คนไทยที่เก่งๆ มาจับมือกัน ตั้งใจสร้างเป็นพื้นที่ Open Innovation สำหรับประเทศ”
นอกจาก 3 กลุ่มพันธมิตรสำคัญในพื้นที่ คือ สถาบันการศึกษาใน Education Zone สถาบันวิจัยใน Innovation Zone และหน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตใน Community Zone แล้ว กลุ่มที่สำคัญไม่แพ้กัน คือกลุ่มธุรกิจและผู้ประกอบการที่สนับสนุนเมืองนวัตกรรมในบทบาทต่างกันไป เช่น บริษัทขนาดใหญ่อาจมีปัญหาหรือโจทย์ทางธุรกิจบางอย่าง ที่ startup สามารถสนับสนุนหรืออาจเป็นตัวช่วยสำคัญในการแก้ไขปัญหาหรือเติมเต็มความต้องการเหล่านั้นได้ ส่วนธุรกิจขนาดกลางที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการ เมื่อเข้ามาอยู่ใกล้คนเก่งและระบบนิเวศที่ดีแล้ว ยิ่งมีโอกาสพัฒนาด้านระบบยิ่งขึ้นไปอีก


นอกจากนี้ ยังมีแผนให้กลุ่มนักลงทุน Angel Investor และ Venture Capital ที่พร้อมสนับสนุนความฝันและเงินทุนให้ผู้ประกอบการ โครงการอย่าง Accelerator ที่มีพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและให้ความรู้ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ธุรกิจ รวมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์และหาพันธมิตรให้
ผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้บริการจะได้สิทธิประโยชน์พิเศษจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือการเก็บภาษีในอัตราต่ำ และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด สำหรับชาวต่างชาติยังได้ Smart Visa for Foreigner ทำให้เดินทางเข้า-ออกประเทศได้สะดวกอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น วังจันทร์วัลเลย์ฯ ตั้งอยู่บนทำเลที่มีศักยภาพสามารถเชื่อมต่อ กับศูนย์โลจิสติกส์ที่ทันสมัยในพื้นที่ EEC ซึ่งจะช่วยเพิ่มความพร้อมด้านการขนส่งสินค้าทางเรือและอากาศกับอาเซียน และดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณเบญญาภรณ์ปิดท้ายว่า “สิ่งที่ต้องการที่สุด คือความร่วมมือจากทุกคนในการสร้างเมืองนี้ การสร้างนวัตกรรมเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศ และไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ทุกคนคือพาร์ตเนอร์ที่เข้ามาช่วยกันต่อจิ๊กซอว์”
Future of Wangchan Valley
ปัจจุบันวังจันทร์วัลเลย์มีทั้งส่วนที่เปิดดำเนินการแล้ว อย่างสถาบันการศึกษาและโซนนวัตกรรมบางส่วน มีส่วนที่กำลังเริ่มทดลองใช้อย่าง Sandbox รวมถึงพื้นที่ที่อยู่ระหว่างกระบวนการออกแบบและก่อสร้าง
เป้าหมายระยะยาวคือ เป็นผู้นำศูนย์นวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่บริษัทขนาดกลาง เล็ก และภาคประชาชน อย่างครบวงจร เมื่อโมเดลพื้นที่วังจันทร์สำเร็จแล้ว มีแผนอยากขยายเขตเศรษฐกิจไปตามภูมิภาคอื่นๆ เพื่อให้ทุกภาคมีศูนย์กลางเมืองนวัตกรรมเพื่อกระจายความเจริญ โดยโมเดลเหล่านี้ตั้งใจพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะ มีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่ไปกับการส่งเสริมนวัตกรรมเหมือนวังจันทร์วัลเลย์
คุณเบญญาภรณ์สรุปความตั้งใจของ ปตท. ไว้ว่า “เราไม่อยากสร้างแค่โรงงานอุตสาหกรรม แล้วแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมภายหลัง แต่อยากพัฒนาอย่างยั่งยืน อยากให้มีพื้นที่เปิดกว้างที่ภาคธุรกิจ ประชาชน ผู้ประกอบการทุกระดับ เข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีได้ ทุกคนเข้ามาหาโอกาสของตัวเองได้ง่ายขึ้น มีเวทีที่รับฟังความคิดเห็นกันมากขึ้น ช่วยกันแก้ไขปัญหากันมากขึ้น”
ข้อดีของเมืองนวัตกรรม คือจากเดิมที่แต่ละภาคส่วนแยกกันคิดค้นทำงานในส่วนของตนเองแบบต่างคนต่างทำ เมื่อมีพื้นที่กลาง จึงสามารถดึงดูดคนเหล่านี้มารวมอยู่ในที่เดียวกัน หาทางร่วมกันได้มากขึ้น ปตท. เชื่อว่าหากสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่แข็งแรงได้ หนทางการเดินตามรอยซิลิคอนวัลเลย์ก็เป็นจริงได้ไม่ยาก

ภาพ : Wangchan Valley