วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนชายล้วนที่ถอดแบบการศึกษาจากอังกฤษ อายุกว่า 109 ปี มีเนื้อที่มากกว่า 100 ไร่ เป็นสถานศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสถาปนาขึ้น
ในวาระที่ The Cloud จัดทริป Walk with The Cloud 24 : The Philosopher King ในเดือนมกราคม เพื่อสำรวจแนวพระราชดำริในการสร้างคนของรัชกาลที่ 6 ณ ‘หอวชิราวุธานุสรณ์’ และวชิราวุธวิทยาลัย โดย ผศ.สุรวุธ กิจกุศล ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกจากบริษัทสถาปนิก 49 จำกัด ธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกประจำสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร รวมถึงกลุ่มนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยและนักเรียนปัจจุบัน ได้นำชมโรงเรียนและร่วมแบ่งปันเรื่องราวของสถานศึกษาเก่าแก่นี้ไว้ด้วย
ประวัติโรงเรียน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งในเวลานั้นคือพระยาไพศาลศิลปศาสตร์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2453 เพื่อรับกระแสพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของชาติ
ในวันรุ่งขึ้น วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2453 จึงได้เปิดโรงเรียนสำหรับมหาดเล็กข้าหลวงเดิมเป็นการชั่วคราว โดยแบ่งพื้นที่ของอาคารโรงเรียนราชกุมารเก่าในพระบรมมหาราชวังสำหรับโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งต่อมาได้พระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า ‘โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ โดยโรงเรียนสำหรับมหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่เปิดทำการสอนขึ้นใหม่นั้น ได้พระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนมหาดเล็กหลวง’
นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน 100,000 บาทเป็นทุนรอนของโรงเรียน โดยนำไปฝากไว้กับแบงก์สยามกัมมาจลหรือธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน
สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง นอกจากเป็นสถานที่ทรงทดลองการจัดการศึกษาของชาติ ในลักษณะเดียวกับการที่ทรงตั้งดุสิตธานีสำหรับทดลองการปกครองในระบอบประชาธิไตยแล้ว ยังมีพระราชดำริอย่างใหม่ในการสร้างโรงเรียนแทนวัดด้วย เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าในรัชสมัยของพระองค์มีพระอารามหลวงอยู่มากแล้ว หากสถาปนาพระอารามหลวงขึ้นอีก ก็จะเป็นพระราชภาระในการบูรณปฏิสังขรณ์ อีกทั้งทรงเห็นว่าสิ่งจำเป็นในขณะนั้นคือการให้การศึกษาแก่ราษฎร อันจะนำพามาซึ่งความเจริญแก่ชาติบ้านเมืองในอนาคต

ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาที่ตั้งถาวรของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยทรงให้พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) จางวางมหาดเล็ก และกรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นผู้ไปตรวจพิจารณาหาสถานที่อันเหมาะสม ซึ่งได้พิจารณาเลือกที่ดินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ ‘สวนกระจัง’ บริเวณริมคลองเปรมประชากร ส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต เป็นสถานที่ตั้งถาวรของโรงเรียน
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ (Edward Healey) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนช่างของสามัคยาจารย์เป็นผู้วางผังโรงเรียนให้สอดรับกับวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เมื่อการก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวเป็นเรือนไม้หลังคามุงจากที่สวนกระจังแล้วเสร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนจากโรงเรียนชั่วคราวในพระบรมมหาราชวังมาอยู่ที่โรงเรียนแห่งใหม่ ณ สวนกระจัง พร้อมกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีทำบุญขึ้นโรงเรียนใหม่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2454
เมื่อเอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ พร้อมด้วยพระสมิทธเลขา (ปลั่ง วิภาตะศิลปิน) นายช่างออกแบบของกรมศิลปากรจัดการออกแบบก่อสร้างหอสวดและหอนอนของนักเรียนแล้วเสร็จ ได้โปรดพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 750,000 บาท เพื่อจัดสร้างโรงเรียนถาวรด้วยสถาปัตยกรรมไทยอันวิจิตร




สำหรับการจัดการศึกษาของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง นอกจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการศึกษาไปในแนวทางแบบพับบลิคสกูลของอังกฤษแล้ว ยังได้พระราชทานพระบรมราโชบายในการอบรมสั่งสอนนักเรียนมหาดเล็กหลวงไว้เป็นพิเศษ ดังปรากฏในพระราชบันทึกที่พระราชทานไปยังเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่ง ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้นำมาแปลเป็นภาษาไทย ความว่า
ข้าส่งข้อความนี้มาเพื่อให้เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการอ่าน ข้าได้ขีดเส้นแดงใต้ข้อความบางตอน คือตอนที่ถูกใจข้าและตอนที่แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องที่ข้ารู้สึกตลอดมา
ระบบการศึกษาและกฎเกณฑ์ทั้งหลาย ตลอดจนหลักสูตรแท้จริงทำให้เปลืองกระดาษไปเปล่าๆ ยิ่งกว่านั้นคือ เปลืองเวลาด้วย ถ้าไม่ทำให้ประชาชนเป็นอย่างที่เราต้องการสำหรับประเทศของเราได้เป็นผลสำเร็จ ข้าไม่หมายความว่าอะไรดีสำหรับเมืองอังกฤษจะต้องดีสำหรับเมืองไทยด้วย ตรงกันข้าม ถ้าจะเอาวิธีการของคนอังกฤษมาใช้ทั้งดุ้นโดยไม่มีการดัดแปลง ก็จะเป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์ แต่บันทึกนี้อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความคิดอะไรบ้าง
สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ข้าไม่เป็นห่วงการปั้นนักเรียน ‘ชั้นมัธยม’ ให้เป็นเทวดาเหมือน กันหมดทุกคน ได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนนเท่าการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็ง และสะอาดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะรับภาระต่างๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆ ครั้ง ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือ เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี และข้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้ามารายงานว่า เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขเศษซ้อนไม่เป็น และไม่รู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่าความเป็นลูกผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร ข้าไม่อยากได้ยิน ‘คนฉลาด’ บ่นอีกว่า ‘ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด’ สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือ ให้การศึกษาเป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นเยาวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมด โดยบรรทุกหลักสูตรและระบบการต่างๆ ลงไป ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงาม จนทำให้เด็กที่ออกไปแล้วหวนกลับมาคิดถึงในวันข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจ ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่งสร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือจะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม
ที่ข้ากล่าวมานี้จะเข้ากันได้กับระบบการศึกษาของเจ้าหรือไม่ก็ตาม ถ้าเข้ากันได้ข้าก็ดีใจ แต่ถ้าเข้ากันไม่ได้ก็ขอให้วิธีการของข้าได้รับการพิจารณาดำเนินการโดยยุติธรรมด้วย อย่าพยายามบังคับให้ครูของข้าทำตามข้อไขของเจ้า ให้ทำตามข้อไขของข้าเถิด เพราะกีฬาประเภทนี้ข้าคิดให้เขาเล่น และตัวข้าเองจะเป็นผู้ให้ถ้วยรางวัล
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงรับเป็นองค์บรมราชูปถัมภกโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่ด้วยในช่วงนั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกส่งผลกระทบให้สภาวะเศรษฐกิจไทยฝืดเคือง รัฐบาลจึงต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายลง รวมทั้งพระราชทรัพย์รายปีที่ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ถูกตัดทอนลงด้วย พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กรุงเทพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนให้ใหม่ว่า ‘วชิราวุธวิทยาลัย’

หอสวดหรือหอประชุม
ตั้งอยู่กลางพื้นที่ของโรงเรียน เป็นอาคารรูปทรงโกธิกที่ผสานรูปแบบศิลปกรรมไทยตามแนวคิดของศาสนสถานในพระพุทธศาสนาไว้อย่างกลมกลืน หน้าบันของหอประชุมทั้ง 4 ด้านจำหลักไม้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์เทพทั้งสี่ในศาสนาฮินดู หอประชุมนี้จึงเปรียบเสมือนวิมานของทวยเทพ และเป็นที่ประชุมสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียน ประกอบพิธีกรรมสำคัญของโรงเรียนสืบมาจนปัจจุบัน

หอประชุมนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาพระฤกษ์เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2458 และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเหยียบหอสวดของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นปฐม เมื่อวันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2460
เอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ ออกแบบหอสวดประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวงให้เป็นไปตามแบบของพับลิกสกูลในอังกฤษ คืออยู่ตรงกลางโรงเรียน แต่ยังคงความเป็นไทยด้วยการใช้สถาปัตยกรรมไทยและให้หันหน้ามาทางทิศตะวันออก
สุดทางเดินของหอสวดด้านทิศตะวันตก ประดิษฐานธรรมาสน์บุษบกซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาประดิษฐานใว้ ธรรมาสน์บุษบกนี้ได้รับมาจากงานพระศพของพลเรือเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา โดยมีสัญลักษณ์ให้สังเกตและจำได้ว่าเป็นของพระองค์คือมีรูปราชสีห์จำหลักไม้ปิดทองเป็นฐานทั้ง 4 ด้านกับมีราชสีห์ปิดทองหมอบรองรับขั้นบันไดขึ้นธรรมาสน์ 3 ขั้น รูปราชสีห์นั้นสันนิษฐานว่า น่าจะมีที่มาจากพระนามกรมนครราชสีมา
แหงนขึ้นไปมองด้านบนจะพบกับพระวิสูตร 3 องค์ สำหรับประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ขององค์บรมราชูปถัมภก วชิราวุธวิทยาลัย

องค์กลางประดิษฐานพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์ องค์ซ้ายประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์จอมพล จอมทัพบกสยาม และองค์ขวาประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงฉลองพระองค์เต็มยศจอมพล ผู้บังคับการพิเศษกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบรมฉายาลักษณ์ทั้ง 3 องค์นี้ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิสูตร ซึ่งจะเปิดต่อเมื่อมีงานประจำปีของโรงเรียนเท่านั้น
ลงมาข้างล่าง จะพบกับหน้าบันที่ไม่เหมือนกันทั้ง 4 ด้านของหอสวดแห่งนี้
ทิศตะวันออก หรือด้านหน้าของหอสวด เป็นตราพระราชลัญจกรพระวชิระ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระอินทร์ในคัมภีร์ไตรเพท ซึ่งเป็นมูลรากแห่งศาสนาพราหมณ์นั้น พระอินทร์เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งกว่าเทวดาทั้งหลาย นับว่าเป็นเจ้าแห่งฟ้า เป็นผู้ถือไว้ซื่งอสุนีบาต และเป็นผู้บันดาลให้ฝนตกเพื่อบำรุงพืชผลทั้งปวงในแผ่นดิน


ทิศเหนือ เป็นตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระนารายณ์ ซึ่งเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่งในหมู่พระเป็นเจ้าทั้ง 3 ในศาสนาพราหมณ์ มีความในหนังสือวิษณุปุราณะ ซึ่งเป็นตำรับสำหรับแสดงเรื่องพระวิษณุสรุปไว้ตอนหนึ่งว่า โลกนี้ไซร้ ได้บังเกิดมาแต่พระวิษณุ โลกนี้มีอยู่ในพระองค์ พระองค์เป็นผู้บันดาลให้โลกนี้คงอยู่และสูญไป

ทิศตะวันตก เป็นตราพระราชลัญจกรหงส์พิมาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพรหม ซึ่งเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่งในหมู่พระเป็นเจ้าทั้ง 3 ในศาสนาพราหมณ์ นับถือว่าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งปวง เป็นสยัมภู คือเกิดขึ้นอีกเอง กำเนิดของพระพรหมนี้ ตามคัมภีร์ต่างๆ ข้างศาสนาพราหมณ์มีเล่าเรื่องไว้ต่างๆ กันหลายอย่าง พระมนูว่าแรกบังเกิดนั้นเป็นไข่ฟองใหญ่ก่อน ไข่แตกออกแล้วจึ่งเป็นองค์พระพรหม แต่หนังสือมหาภารตะและคัมภีร์ปุราณะบางฉบับว่า พระพรหมาได้เกิดขึ้นในดอกบัวหลวง ซึ่งผุดขึ้นมาจากพระนาภีพระนารายณ์ พรหมาปุราณะกลับว่าพระพรหมา ฤาในที่นี้เรียกว่า ‘อาปวะ’ ได้แบ่งพระองค์เป็น 2 ภาค เป็นชายภาคหนึ่ง หญิงภาคหนึ่ง และพระนารายณ์ได้เกิดมาแต่ภาคทั้งสองนี้ แล้วพระนารายณ์จึ่งสร้างพระวิราช ซึ่งเป็นบิดาของมนุษย์คนแรก แต่ในคัมภีร์นี้เองมีฎีกาอธิบายไว้ว่า ในชั้นต้นพระนารายณ์ได้สร้างพระอาปวะ ฤา วิสิษฎ ฤา วิราช ขึ้น โดยอาสํยกำลังพระพรหมา แล้วพระวิราชจึ่งสร้างพระมนูซึ่งเป็นบิดาแห่งมนุษย์ทั้งหลายอีกชั้นหนึ่ง

ทิศใต้ เป็นตราพระราชลัญจกรมหาโองการ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระอิศวรซึ่งเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่งในหมู่พระเป็นเจ้าทั้งสามในศาสนาพราหมณ์ ถือว่าเป็นผู้ล้างฤาทำลาย แต่โดยเหตุที่ในศาสนาพราหมณ์ถือว่าสัตว์ไม่ตายสูญเลย คงท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร จึ่งไม่ถือว่าพระอิศวรเป็นผู้ผลาญอย่างเดียว ทั้งเป็นผู้สร้างขึ้นใหม่ด้วย เพราะฉะนั้น นับว่าเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงของเก่าให้เป็นใหม่ดีขึ้น
ตึกวชิรมงกุฎ

เป็นตึกเรียน 2 ชั้น มีทั้งหมด 12 ห้องเรียน สร้างขึ้นโดยเงินทุนพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเงินสะสมของโรงเรียนในวงเงินค่าก่อสร้าง 105,900 บาท เป็นตึกทรงไทย 2 ชั้น มีมุขหน้าและมุขหลัง ที่ตอนปลายอาคารทั้งสองด้านหลังคาลดสามชั้นพร้อมช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันมุขหน้าเป็นปูนปั้นลายใบเทศ การก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เสด็จแทนพระองค์ทรงเปิดตึกเรียนถาวรที่ได้พระราชทานนามว่าตึกวชิรมงกุฎ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475
อาคารนวมภูมินทร์

อาคารนวมภูมินทร์ เป็นอาคารเอนกประสงค์คอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประเพณี 3 ชั้น ออกแบบโดยนิธิ สถาปิตานนท์ ศิษย์เก่าซึ่งตั้งใจสร้างอาคารใหม่ให้กลมกลืนกับอาคารเก่าโดยรอบ ผสมผสานวัสดุแบบโบราณกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
ปัจจุบันชั้นล่างจัดเป็นห้องประชุมขนาดเล็ก ห้องทำงานผู้บังคับการ ห้อง Community Room ห้องพักครู และห้องเอนกประสงค์ ชั้นที่ 2 จัดเป็นห้องประชุมใหญ่ ชั้นที่ 3 จัดเป็นห้องรับรองและห้องประชุม ชื่อนวมภูมินทร์นี้ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
ตึกครูและนักเรียน

ตึกครูและนักเรียน มีที่มาจากคำว่า House ซึ่งแปลว่า บ้าน เพราะอาคารที่จัดเป็นตึกครูและนักเรียนนั้น ในพับลิกสกูลของอังกฤษคือบ้านพักของนักเรียนที่อยู่ประจำในโรงเรียน เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้โรงเรียนนี้เป็นเสมือนพระอารามหลวงประจำรัชกาล จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกบ้านของนักเรียนในโรงเรียนนี้ว่า ‘คณะ’ เช่นเดียวกับการเรียกหมู่กุฎิสงฆ์ในพระอารามซึ่งรวมหมู่กัน โดยมีครูกำกับกับคณะ หรือ House Master หรือที่เรียกกันว่าผู้กำกับคณะ เป็นเสมือนพระภิกษุอาวุโสที่ทำหน้าเจ้าคณะปกครองดูแลสงฆ์
เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอสวดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงใน พ.ศ. 2458 ก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกครูและนักเรียนที่ 4 มุมโรงเรียนไปพร้อมกัน โดยเอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่เป็นผู้ออกแบบอาคารทั้งสี่คณะแรก
นอกจากมีผู้กำกับคณะ ยังมีหัวหน้าคณะ คือกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าดูแลความเรียบร้อยในคณะตนเอง
คณะผู้บังคับการ (School House)

มีที่มาจากชื่อภาษาอังกฤษของคณะคือ School House เพื่อรักษาประเพณีของ Public schools ที่คณะนี้มีผู้บังคับการเป็นผู้กำกับคณะ เป็นสถาปัตยกรรมแบบทวารวดี สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 120,000 บาท
คณะดุสิต (Dusit House)
มาจากนามของพระราชวังดุสิต เป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยา สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 130,000 บาท แต่ต่อมาเสียหายจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินประเทศพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ส่วนหนึ่งของอาคารคณะดุสิตได้ถูกทำลายลง และมีการบูรณะขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2496 โดยต่อมาได้มีการบูรณะคณะดุสิตขึ้นใหม่อีกครั้งใน พ.ศ. 2553 จนสภาพเป็นเช่นในปัจจุบัน
คณะจิตรลดา (Chitrlada House)

มาจากนามของพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในพระราชวังดุสิต เป็นสถาปัตยกรรมแบบรัตนโกสินทร์ สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 145,000 บาท ว่ากันว่า ก่อสร้างคณะจิตรลดาให้วิจิตรงดงามที่สุดเพราะว่าคณะนี้เป็นทางเสด็จผ่านเข้าโรงเรียนในงานประจำของโรงเรียน
คณะพญาไท (Phyathai House)

มาจากนามของพระราชวังพญาไท เป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 125,000 บาท
สีประจำคณะคือสีชมพู นักเรียนคณะนี้ขึ้นชื่อเรื่องกีฬาว่ายน้ำ
คณะจงรักภักดี และคณะศักดิ์ศรีมงคล

ต่อมาเมื่อวชิราวุธวิทยาลัยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้จำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความแออัดในการพักอาศัย จึงได้มีการสร้างตึกนักเรียนขึ้นใหม่อีก 4 คณะ ได้แก่คณะจงรัก คณะภักดี คณะศักดิ์ศรี และคณะมงคล โดยในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาเปิดอาคารคณะใหม่ทั้ง 4 คณะ ซึ่งต่อมาได้มีการยุบรวมคณะทั้งสี่นี้ โดยให้เหลือเพียง 2 คณะ เป็น คณะจงรักภักดี และคณะศักดิ์ศรีมงคล
อาคารเพชรรัตน

อาคารเพชรรัตน เป็นอาคาร 2 ชั้น ตั้งชื่อตามพระนามของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ใช้เงินค่าก่อสร้างจากเงินส่วนพระองค์และเงินจากการแสดงละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ออกแบบโดยหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง และคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2506
อาคารสุวัทนา

อาคารสุวัทนา เป็นอาคารเรียน 2 ชั้น ตั้งชื่อตามพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 และเป็นพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ออกแบบโดย หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2507
อาคารประชาธิปก

อาคารประชาธิปก เป็นอาคารเรียน 3 ชั้น ตั้งชื่อตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในวโรกาสพระบรมราชสมภพครบ 100 ปี ออกแบบโดยนายโอภาส สายะเสวี สถาปนิกประจำสำนักพระราชวัง สิ้นค่าก่อสร้าง 11,400,000 บาท สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีเสด็จมาทรงเปิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536
หอประวัติ

เดิมเป็นตึกพยาบาล เป็นอาคารสำหรับพยาบาลนักเรียนเจ็บป่วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นการทำผาติกรรมทดแทน ‘พระตำหนักสมเด็จ’ ซึ่งโรงเรียนจัดเป็นตึกพยาบาล แต่ได้โปรดเกล้าฯ ให้รือย้ายไปปลูกสร้างเป็นกุฏิสงฆ์วัดราชาธิวาส ต่อมาได้เปลี่ยนตึกพยาบาลนี้เป็นหอประวัติ และให้ย้ายตึกพยาบาลไปไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม
หอนาฬิกา

คณะข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในนาม ‘คณะละครไทยเขษม’ ได้ร่วมกันจัดแสดงละครพระราชนิพนธ์เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 1 มกราคม พ.ศ. 2471 – 2472 เพื่อจัดหารายได้ก่อสร้างหอนาฬิกาอุทิศเป็นพระราชกุศล เมื่อ พ.ศ. 2473 โดยหอนาฬิกานี้นำนาฬิกาเรือนใหญ่ที่เคยติดบนหอประชุมของโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) ผู้บังคับการในขณะนั้นได้ให้พระสาโรชรัตนนิมมานก์ และศาสตราจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) ร่วมกันออกแบบหอนาฬิกาพร้อมระฆังรูปสี่เหลี่ยมมีลวดลายเป็นพิเศษแบบสุโขทัย
ตึกวชิราวุธานุสรณ์

เป็นอาคารกีฬาในร่มเอนกประสงค์ (Indoor Stadium) ที่สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บริจาคทุนทรัพย์จากเงินรายได้การจัดงานวชิราวุธานุสรณ์ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตึกวชิราวุธานุสรณ์นี้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ต่อมาใน พ.ศ. 2548 จึงได้รื้ออาคารเดิมซึ่งชำรุดทรุดโทรมลง และก่อสร้างอาคารกีฬาในร่มใหม่แทนอาคารเดิม การก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อปี พ.ศ. 2550
อาคารเวสสุกรรมสถิต

เป็นตึก 3 ชั้นรูปทรงสถาปัตยกรรมไทยสร้างขึ้นทดแทนตึกเรียนวิชาหัตถศึกษา การก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2543 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารเรียนศิลปกรรมหลังใหม่นี้ว่า ‘ตึกเวสสุกรรมสถิต’ และโปรดเกล้าฯ ให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
อาคารวชิราวุธ ๑๐๐ ปี

อาคารวชิราวุธ ๑๐๐ ปี สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสที่วชิราวุธวิทยาลัยมีอายุครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2553 เป็นอาคารสูง 5 ชั้น ลักษณะอาคารเป็นงานสถาปัตยกรรมไทย มี 19 ห้องเรียน มีพื้นที่ใช้งาน 3,000 ตารางเมตร มีความพร้อมที่จะใช้สื่อการสอนที่ทันสมัย โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555
ประเพณีเข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จ

วชิราวุธวิทยาลัยมีประเพณีที่สำคัญที่นับได้ว่ามีที่เดียวในประเทศไทยคือประเพณีการเข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในทุกปี
ประเพณีการเข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จนี้ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) เล่าให้ฟังว่า เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อล้นเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมางานโรงเรียน ประทับเสวยพระกระยาหารค่ำแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ เมื่อรถยนต์พระที่นั่งเริ่มเคลื่อนออกจากโรงเรียน นักเรียนต่างพากันวิ่งตามส่งเสด็จ บ้างก็เข้าเข็นรถยนต์พระที่นั่งซึ่งเป็นรถไฟฟ้า การครั้งนี้ทำเอาอาจารย์ใหญ่ในเวลานั้น คือ พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ) ที่ต่อมาได้เป็นพระยาบริหารราชมานพ ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงตกใจที่นักเรียนบังอาจกระทำการไม่เหมาะสม รุ่งเช้าอาจารย์ใหญ่ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษแทนนักเรียน แต่มีพระราชดำริว่าการที่นักเรียนได้กระทำไปนั้น ก็ด้วยความจงรักภักดีใคร่จะได้สนองพระเดชพระคุณให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายพระเนตร จึงมีพระราชกระแสดำรัสสั่งให้โรงเรียนรักษาธรรมเนียมนี้ไว้ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นักเรียนได้เข็นรถยนต์พระที่นั่งและวิ่งตามส่งเสด็จสืบมาจนถึงปัจจุบัน
(จากบทความของอาจารย์วรชาติ มีชูบท ใน ฝากเรื่องราวไว้กับน้องๆ เรื่องงานกรีฑา)
4 เรื่องที่คนอาจไม่รู้เกี่ยวกับวชิราวุธ
1. จบวชิราวุธไม่จำเป็นต้องเป็นทหารมหาดเล็ก
ด้วยความที่สมัยก่อนโรงเรียนชื่อโรงเรียนมหาดเล็กหลวง อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าจบจากที่นี่จะต้องไปเป็นมหาดเล็กในวังหรือเป็นทหาร แต่แท้จริงแล้ว โรงเรียนนี้จบไปทำอาชีพอะไรก็ได้ตามต้องการ การเรียนการสอนของที่นี่เหมือนกับโรงเรียนทั่วๆ ไป เน้นสอนให้เด็กทุกคนรู้จักระเบียบวินัย รู้หน้าที่ตนเอง มีความเป็นผู้นำ มีความเป็นสุภาพบุรุษ มีความอดทนเข้มแข็ง และมีความรู้รอบด้าน
2. นักเรียนวชิราวุธต้องผมสั้นเสมอ
จากคำบอกเล่าของรุ่นพี่นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย หรือที่เรียกว่า OV ท่านหนึ่งเล่าว่า ในสมัยก่อนผู้ชายนิยมใช้น้ำมันเซ็ตผมแล้วหวีจนเรียบแปล้ คืนก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จมาเปิดสระน้ำที่โรงเรียน นักเรียนชายกลุ่มหนึ่งแอบลักลอบเข้าไปเล่นน้ำ เช้าวันต่อมาภารโรงที่เดินมาตรวจสระน้ำ หัวใจถึงกับตกไปอยู่ที่ตาตุ่ม เมื่อพบว่ามีน้ำมันลอยอยู่เต็มสระ พระยาภะรตราชา (ผู้บังคับการในขณะนั้น) รู้เข้าจึงโกรธมาก จึงสั่งให้ตัดผมสั้นขาว 3 ด้านแทน และโรงเรียนก็เห็นระเบียบเรียบร้อยจากการตัดผมทรงเดียวกันหมด จึงคงรักษาธรรมเนียมการตัดผมสั้นมานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
3. ที่นี่ไม่มีโรงอาหาร มีแต่เฉ่า

เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำ และมีอาหารให้ครบสามมื้อ จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีโรงอาหาร แต่มีโรงอาหารว่างแทน ซึ่งเรียกว่า ‘เฉ่า’
มีที่มาจากชื่อของเจ้าของร้านขายน้ำอัดลม ที่ตั้งอยู่ที่เรือนจากด้านทิศตะวันตกริมสระน้ำ ชื่อจริงๆ ของเจ้าของร้านคือนายเชาว์ แต่นักเรียนนิยมเรียกว่า ‘เจ๊กเฉ่า’ ผู้เป็นเหมือนสัญลักษณ์คู่กับเรือนจากมาช้านาน ต่อมาคำว่าเจ๊กเฉ่าถูกกร่อนมาเป็น ‘เฉ่า’ เพียงพยางค์เดียว ปัจจุบันเฉ่าหรือโรงอาหารว่างตั้งอยู่ที่ชั้น 1 ของอาคารวชิราวุธานุสรณ์
4. นอกจากรักบี้ วชิราวุธมีกีฬาและกิจกรรมมากมาย
ด้วยวชิราวุธวิทยาลัยเป็นโรงเรียนประจำชายล้วน จึงทำให้ที่นี่มีกีฬาให้เล่นเยอะมาก ได้แก่ รักบี้ฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาหลักของโรงเรียน มินิรักบี้ ฟุตบอล บาสเกตบอล ปิงปอง แบดมินตัน เทนนิส สควอช ไฟฟ์ ว่ายน้ำ กรีฑา โดยจะมีการแข่งขันกีฬาภายในระหว่างคณะเป็นประจำทุกปี คณะใดชนะเลิศจะได้ครองถ้วยรางวัลเงินแท้ หากเป็นรุ่นใหญ่มูลค่าถ้วยเกือบแสนเลยทีเดียว
นอกจากจะมีการแข่งขันกีฬาต่างๆ ที่นี่ยังมีการแข่งขันระเบียบวินัย การแข่งขันทดสอบสมรรถภาพร่างกาย กิจกรรมดนตรี และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่เรียกว่าชมรมวันเสาร์ ซึ่งให้เวลาเรียนรู้ตลอดวัน เพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์ต่างๆ นอกห้องเรียน
