For English Version,  Click Here

ฟิชแอนด์ชิปส์ เชกสเปียร์ สไปซ์เกิลส์ เจมส์ บอนด์ แฮรี่ พอตเตอร์ ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เดอะ บีเทิลส์ หมีแพดดิงตัน ผ้าลายสก็อต ข่าวบีบีซี และตู้โทรศัพท์สีแดง 

คุณว่าทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกันตรงไหน 

คำตอบคือความคุ้นเคยต่อภาพจำของสหราชอาณาจักร แหล่งผลิต Cultural Superpower มาหลายศตวรรษ ไม่ว่าในแง่ภาษา การศึกษา ภาพยนตร์ วรรณกรรม ดนตรี อาหาร กีฬา และสารพันประเด็น Soft Power ทรงพลังที่ส่งอิทธิพลไปทั่วโลก

ไม่ว่าเศรษฐกิจสังคมการเมืองจะผันแปรไปกี่ยุคสมัย สหราชอาณาจักรหรือ United Kingdom (UK) ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มี ‘อำนาจอ่อน’ แข็งแกร่งที่สุดในโลก 

เคล็ดลับการผลิต Cultural Superpower ของสหราชอาณาจักรให้จับใจคนทั่วโลก

ปีสองปีมานี้ คนไทยสนใจ Soft Power กันมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ข้าวเหนียวมะม่วงไทยบนเวที Coachella ที่ทางของพะแนงและแกงส้มในเวทีอาหารโลก ซีรีส์วายไทยที่ฮิตในต่างแดน ไปจนถึงความหวังในการบรรจุมวยไทยในกีฬาโอลิมปิก นำไปสู่การตั้งคำถามมากมายว่า Soft Power ของไทยคืออะไร แล้วทิศทางของอำนาจนี้จะไปอย่างไรต่อ 

เรามาสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็น แกล้มชาอังกฤษอุ่น ๆ กับผู้แทน 2 ท่าน ท่านทูต Mark Gooding เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย และ คุณ Helga Stellmacher ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ประเทศไทย เพื่อเข้าใจเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ให้กระจ่างกัน

เคล็ดลับการผลิต Cultural Superpower ของสหราชอาณาจักรให้จับใจคนทั่วโลก

มากกว่าเรื่องบันเทิง

ท่านทูตมาร์ค กูดดิ้ง มองซอฟต์พาวเวอร์ว่าเป็นคำกว้าง ๆ ที่หมายถึงการส่งอิทธิพลต่อผู้อื่นผ่านไอเดียหรือการสังเกตแทนการใช้กำลังหรือเงินทอง ซึ่งต้องใช้แพสชันในการส่งอิทธิพลต่อคน ประเทศ และองค์กรทั่วโลก

“วัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบหลักของซอฟต์พาวเวอร์ พอคิดถึงอังกฤษ คนอาจคิดถึงกีฬาอย่างฟุตบอลพรีเมียร์ลีก หรือคิดถึงวัฒนธรรมป๊อป ทั้งรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์อย่าง เจมส์ บอนด์ แฮรี่ พอตเตอร์ หรือนักดนตรีอย่าง แฮร์รี่ สไตล์ ซึ่งเปลี่ยนมุมมองของคนทั้งโลกต่อดนตรีอังกฤษใช่ไหมครับ แต่เวลาคิดถึงซอฟต์พาวเวอร์ ผมว่ามันกว้างกว่านั้นมาก มันคือสิ่งที่สะท้อนคุณค่าของสหราชอาณาจักร 

เคล็ดลับการผลิต Cultural Superpower ของสหราชอาณาจักรให้จับใจคนทั่วโลก

“อย่างบีบีซี (บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ) ซึ่งเป็นองค์การกระจายเสียงสาธารณะของสหราชอาณาจักร พวกเขาทำงานอย่างอิสระจากการควบคุมของรัฐบาล เพื่อสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพ สิ่งนี้สะท้อนความเชื่อมั่นของคนอังกฤษต่อเสรีภาพสื่อและการแสดงออก หรือระบบรัฐสภาสหราชอาณาจักรก็เป็นตัวอย่างระบอบประชาธิปไตยแก่หลายประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับกฎหมายอังกฤษที่เป็นต้นแบบการบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก

เคล็ดลับการผลิต Cultural Superpower ของสหราชอาณาจักรให้จับใจคนทั่วโลก
เคล็ดลับการผลิต Cultural Superpower ของสหราชอาณาจักรให้จับใจคนทั่วโลก

“มากไปกว่านั้น คือเราอยากแสดงออกตัวตนด้านต่าง ๆ ให้ชาวโลกได้เห็น ทั้งเรื่องเทคโนโลยี การศึกษา ปัญหาสิ่งแวดล้อม การค้าเสรี และไอเดียต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่การโปรโมตประเทศ แต่คือการช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็ไม่ได้พูดแค่ว่าประเทศเราแก้ไขวิกฤตภูมิอากาศอย่างไร แต่ผลักดันไอเดียว่านี่เป็นภารกิจของทุกประเทศที่ต้องช่วยแก้ไขปัญหานี้ ข้อดีคือรัฐบาลและองค์กรของสหราชอาณาจักรมีเครือข่ายทางการทูตสากลที่ยอดเยี่ยมมาก เราเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ (United Nations) เครือจักรภพ (Commonwealth) ฯลฯ เราพยายามจับมือกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อทำงานร่วมกัน

“มหัศจรรย์มากที่ประสบการณ์เกี่ยวกับสหราชอาณาจักรมีความหมายต่อผู้คนอย่างยาวนาน ฉันรู้สึกว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับฮอกวอตส์ มีอิทธิพลต่อคนมาก ๆ และคนไทยก็รู้เรื่องพรีเมียร์ลีกมากกว่าฉันซะอีก (หัวเราะ) การทำงานในเอเชีย ฉันพบว่าหลายคนที่ทำงานที่บริติช เคานซิล ไม่เคยไปสหราชอาณาจักร แต่ว่ามีความผูกพันจากการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม เช่น ไปห้องสมุดกับคุณยายแล้วได้อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวกับสหราชอาณาจักร และไม่ว่าไปทำงานที่ไหนในโลก ก็มักจะได้เจอวัฒนธรรมอังกฤษเสมอ” คุณเฮลก้า สเตลมาเกอร์ เสริม

นอกจากทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าราชวงศ์อังกฤษเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้คนคิดถึงเป็นลำดับต้น ๆ เมื่อคิดถึงสหราชอาณาจักร และในปีนี้จะมีการจัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้น ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพระราชพิธีนี้ในรอบ 70 ปี ทางสำนักพระราชวังอังกฤษประกาศว่า พระราชพิธีในครั้งนี้จะสะท้อนบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันที่พร้อมก้าวสู่อนาคต ในขณะเดียวกันก็เคารพต่อธรรมเนียมปฏิบัติและความงดงามที่มีมาแต่อดีต

เคล็ดลับการผลิต Cultural Superpower ของสหราชอาณาจักรให้จับใจคนทั่วโลก

ซอฟต์พาวเวอร์เป็นเปลือกนอกที่ผู้คนมองเห็น กว่าจะมาถึงจุดนั้น นโยบายระดับชาติเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนอำนาจและภาพจำต่าง ๆ 

“เราทำงานกับหลายฝ่ายเพื่อผลักดันไอเดียและคุณค่าที่สหราชอาณาจักรยึดถือ ทั้งเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน การค้าเสรี โอกาสการร่วมมือ สถานทูตเองก็ทำงานหลายอย่างร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงสาธารณสุขของไทย เรายังทำงานในประเด็นที่เป็นความท้าทายระดับโลก อย่างวิกฤตภูมิอากาศกับรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นการทำงานต่อเนื่องจากการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP26 ในปี 2021 เรื่องเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม เราได้ร่วมมือกับหลายองค์กรในเมืองไทย สหราชอาณาจักรก็ได้ทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขเรื่องวัคซีนและบริการสุขภาพต่าง ๆ เราดีใจที่ได้ร่วมมือกันเพื่อปกป้องชีวิตคน ปัญหาโรคระบาดส่งผลต่อเราทั้งหมด และทำให้เราเร่งพัฒนาวัคซีน เป็นการทำงานร่วมกันของประชาคมโลกเรื่องสุขภาพ” 

ท่านทูตเน้นความสำคัญของการเชื่อมความสัมพันธ์กับโลกภายนอก มากกว่าการโปรโมตเรื่องราวภายในประเทศ ซึ่งสหราชอาณาจักรทุ่มเทมาก เช่น บริจาคเงินเพื่อความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (ODA-Official Development Assistance) กว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ฯ

เคล็ดลับการผลิต Cultural Superpower ของสหราชอาณาจักรให้จับใจคนทั่วโลก

ส่วนงานของบริติช เคานซิลมีความเป็นซอฟต์พาวเวอร์อยู่แล้ว ทั้งการสนับสนุนการเรียนภาษา การศึกษา ไปจนถึงวิทยาศาสตร์และศิลปะ ซึ่งต้องคงรักษาไว้ต่อไป รวมไปถึงการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างความสัมพันธ์ แก้ไขปัญหาที่ท้าทาย

“บริติช เคานซิลเน้นการศึกษา การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในเมืองไทย โดยเฉพาะทางออนไลน์ซึ่งทำให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น เปิดโอกาสให้คนได้เรียนต่อ ทำงาน เรามีโปรแกรมร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไปจนถึงโปรโมตการศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร มีระดับการศึกษาและสาขาศึกษาต่อที่หลากหลาย ซึ่งทำให้ไม่ใช่แค่ได้เรียนภาษา แต่ได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม มุมมองความคิด และกลับมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในเมืองไทย ชุมชนนักเรียนเก่าอังกฤษในเมืองไทยใหญ่มากนะคะ สหราชอาณาจักรเป็นจุดหมายการเรียนอันดับ 1 ของการเรียนต่อในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ” 

“เราสนับสนุนงานส่งเสริมศิลปะและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างศิลปินรุ่นใหม่จากไทยและอังกฤษให้ทำงานร่วมกัน เราไม่ได้ทำงานเจาะจงให้คนรู้จักคนดังอังกฤษกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ แต่มองว่าทำยังไงให้คนกลุ่มต่าง ๆ ได้เติบโตในระยะยาว เลยเน้นเจาะจงที่ศิลปินรุ่นใหม่และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เช่น การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่าง Creative Hub อย่างที่นางเลิ้ง ไปจนถึงสนับสนุนมรดกภูมิปัญญางานคราฟต์ของเมืองไทยในโปรเจกต์ Crafting Futures เพราะการช่วยเหลือ เชื่อมต่อ ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงประสบการณ์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะเป็นประสบการณ์ที่มีค่าในอนาคต

“ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่แค่การโปรโมตสิ่งที่ดังอยู่แล้ว ยังมีแง่มุมอื่น ๆ เช่น การสนับสนุนเทคโนโลยี สนับสนุนเด็ก ๆ มากกว่าคิดถึงแค่อุตสาหกรรมบันเทิง” คุณเฮลก้าอธิบายให้เห็นภาพ

เคล็ดลับการผลิต Cultural Superpower ของสหราชอาณาจักรให้จับใจคนทั่วโลก

คุณค่าของศิลปะ

ทำไมสหราชอาณาจักรถึงผลิตศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์มาได้ทุกยุคทุกสมัย 

เป็นคำถามตรง ๆ ต่อรายนามอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมจากบริเตนใหญ่ ครอบคลุมทั้งภาพยนตร์ โทรทัศน์ ดนตรี ศิลปะ แฟชั่น สถาปัตยกรรม วรรณกรรม กีฬา ฯลฯ ซึ่งร่วมสมัยกับบริบทปัจจุบันอยู่เสมอ 

คำตอบของทั้งคู่เรียบง่ายกว่าที่คาด 

“เราให้ความสำคัญกับการศึกษาที่ผลักดันความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะเป็นสิ่งสำคัญ นโยบายต่าง ๆ ในอังกฤษวางอยู่บนรากฐานว่าศิลปะต้องเติบโตได้ เมื่อคิดถึงศิลปะ เราคิดถึงสิ่งที่เชื่อมต่อกับคนทั่วโลกได้ เราแค่ทำให้มั่นใจว่าสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ศิลปะนั้นได้รับการปกป้อง ศิลปะจึงเติบโตได้ และพยายามคงคุณภาพของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เสมอ” ท่านทูตเอ่ย

“การได้เรียนรู้ศิลปะของประเทศอื่น ๆ ก็สำคัญด้วย อย่างประเทศไทย เราก็ทำงานส่งเสริมและแลกเปลี่ยนศิลปะ ซึ่งทำให้คนของเราได้สัมผัสศิลปะดั้งเดิมจากหลาย ๆ ประเทศ” คุณเฮลก้าสำทับ

เคล็ดลับการผลิต Cultural Superpower ของสหราชอาณาจักรให้จับใจคนทั่วโลก

ความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม

อีกประเด็นสำคัญที่สหราชอาณาจักรใส่ใจมาก คือ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พวกเขาเชื่อว่า เรื่องนี้จะส่งผลต่อทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายทุกอย่างไปอีกหลายทศวรรษ 

“ชาวสหราชอาณาจักรตื่นตัวเรื่องนี้ค่อนข้างมากครับ ยิ่งปัญหามลพิษทางอากาศในลอนดอนแย่ลง ทำให้คนเริ่มตระหนักเรื่องนี้จริงจัง มีการลดการใช้พลาสติกลงมากภายในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งนโยบายรัฐส่งผลมากในเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรม อย่างการห้ามใช้รถเบนซินและดีเซลในปี 2040 ทำให้คนสนใจการเดินทางทางเลือกมากขึ้น และเราตั้งเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050”

“เราตระหนักถึงปัญหาการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่ส่งผลต่อชั้นบรรยากาศมานานหลายปี จึงตั้งเป้าหมายจริงจังมากเรื่องนี้ ซึ่งเราทำเองไม่ได้ฝ่ายเดียวแน่ ๆ จึงต้องพยายามร่วมมือกับประเทศทั่วโลกและ UN เพื่อเผยแพร่ความรู้ เราหวังว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเห็นผลยิ่งขึ้นหลายเท่าถ้าเราร่วมมือกัน ไม่ใช่แค่จากองค์กรใหญ่ แต่เกิดจากทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

“เป้าหมายหลักของเราคือการทำงานในระดับสากล การแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า ไปพร้อม ๆ กับดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นี่เป็นประเด็นใหญ่ที่ไม่ว่าทำภารกิจไหน ๆ ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้

“เมืองไทยก็เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ปัญหาการเพาะปลูก เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ที่เราต้องร่วมมือกัน นี่คือตัวอย่างคุณค่าที่สะท้อนตัวตนของสหราชอาณาจักรอย่างที่บอกไปตอนต้น” ท่านทูตย้ำ

ฝั่งบริติช เคานซิลก็ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ทำงานด้านความสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อม มีโปรแกรมสื่อสารด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนเรื่องธรรมชาติรอบตัวไปในทิศทางเดียวกัน

ทูตมาร์ค กูดดิ้ง และ คุณเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ตัวแทนประเทศผู้ผลิต Cultural Superpower เล่าเรื่องพลังของนโยบายสหราชอาณาจักร

ซอฟต์พาวเวอร์ไทย

จากสายตาคนต่างประเทศ ทั้งคุณเฮลก้าและคุณมาร์คชอบ Soft Power ไทย 

น่าสนใจ น่าหลงใหล มีพลัง ทั้งคู่เห็นตรงกัน คำถามคือ เราจะต่อยอดเรื่องนี้ออกไปได้ไกลแค่ไหน

“สมัยทำงานอยู่ที่แมนเชสเตอร์ การไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารไทยเป็นความหรูหราอย่างหนึ่งค่ะ พอมาอยู่ที่นี่ก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หลายอย่าง อย่าง ลิซ่า BLACKPINK เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้ฉันมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ได้เรียนรู้มากเลย” คุณเฮลก้ายกตัวอย่างประสบการณ์ส่วนตัวของเธอต่อภาพจำประเทศไทย

“ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากครับในสหราชอาณาจักร เป็นจุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยม ประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่องรอยยิ้มของคนไทย และชาวสหราชอาณาจักรก็มาเที่ยวเมืองไทยราว ๆ 1 ล้านคนต่อปี เพราะคิดถึงประเทศที่สวยงาม ชายหาดสวย ๆ วัฒนธรรมที่น่าสนใจ และกรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองหลวงใหญ่ ร้านอาหารไทยในสหราชอาณาจักรก็มีเยอะแยะ หลายคนก็มาเมืองไทยเพื่อเรียนมวยไทย โดยรวมแล้วผมคิดว่าคนสหราชอาณาจักรมองว่าเมืองไทยน่าสนใจนะ” ท่านทูตตบท้ายด้วยรอยยิ้ม

ทูตมาร์ค กูดดิ้ง และ คุณเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ตัวแทนประเทศผู้ผลิต Cultural Superpower เล่าเรื่องพลังของนโยบายสหราชอาณาจักร
ทูตมาร์ค กูดดิ้ง และ คุณเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ตัวแทนประเทศผู้ผลิต Cultural Superpower เล่าเรื่องพลังของนโยบายสหราชอาณาจักร

พวกเขายินดีที่จะร่วมมือกับไทย ทั้งในด้านการศึกษา กิจกรรมด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และโครงการเกี่ยวกับดิจิทัลในอนาคต ไปจนถึงสิ่งที่เราแลกเปลี่ยนระหว่างกันได้ ทั้งด้านวัฒนธรรมและด้านอื่น ๆ 

เป้าหมายไม่เพียงให้คนไทยได้รู้จักสหราชอาณาจักร แต่อยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายมองเห็นอนาคตว่าเราร่วมมือกันทำอะไรได้บ้าง เพราะหลายครั้งเรื่องดี ๆ ก็ไม่ได้เกิดจากการลงมือทำเพียงลำพัง การร่วมมือกันอาจเกิดพลังบางอย่างที่ต่างฝ่ายต่างคาดไม่ถึง

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ