คอลัมน์ คน-โฆษณา ตั้งใจจะพูดถึงคนทำงานโฆษณาผ่านคนในวงการหลากหลายตำแหน่ง และ ‘ผู้บริหารงานลูกค้า’ หรือ ‘Account Executive (AE)’ ก็เป็นหนึ่งในตำแหน่งสำคัญที่เราสนใจ
เพราะนอกจากเป็นตำแหน่งที่มีทักษะหลายด้านจนมักถูกวงการอื่น ๆ มาชวนไปร่วมงานแล้ว AE เป็นตำแหน่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงผ่านสื่อ อาจเพราะเวลาพูดถึงชิ้นงานโฆษณา เราจะอยากรู้ว่าใครเป็นคนคิด เขาคิดมันได้ยังไง มากกว่าอยากรู้ว่าเอเจนซี่บริหารงานลูกค้าเจ้านี้อย่างไร เราเลยได้ฟังเบื้องหลังการคิดงานจากตำแหน่งครีเอทีฟมากกว่าเบื้องหลังการทำงานจากผู้บริหารงานลูกค้า
ผู้บริหารงานลูกค้าเป็นตำแหน่งที่ขาดไม่ได้ในเอเจนซี่ เพราะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนทุกแผนก เป็นด่านหน้าขององค์กรเวลาทำงานร่วมกับลูกค้าและคู่ค้า เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จแทบทุกประเภทของงานโฆษณา
แจมมี่-ปรัตถจริยา ชลายนเดชะ เป็นหนึ่งในเออีขวัญใจของวงการ มีส่วนสำคัญในการผลักดันผลงานสร้างสรรค์ที่ได้ทั้งเงินและกล่อง (รางวัล) เสมอมา
เธอเป็นเออีที่มีชื่อเสียงด้านการร่วมลุย ร่วมลองกับครีเอทีฟ แบบที่ ไผ่-ภาคย์ วรรณศิริ CCO แห่ง Wunderman Thompson ให้นิยามว่า ‘เธอคือคนพิเศษที่มี Positivity เกินต้าน’
และยังเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท Wunderman Thompson Thailand บริษัทที่เกิดจากการควบรวมของ Wunderman และ J. Walter Thompson บริษัทแรกและบริษัทเดียวของเธอมาตลอด 29 ปี
Wunderman Thompson ได้รับรางวัล Agency of the Year จากเวที ADMAN ปีล่าสุด ต่อจากการครองตำแหน่งนี้มาอย่างต่อเนื่องย้อนหลังไป 3 ปี ก็ยังมีรางวัลใหญ่น้อยจากเวทีทั่วโลกอีกมากมาย
นักบริหารงานลูกค้าคือผู้ประสานสิบทิศ เป็นตัวแทนเอเจนซี่เวลาทำงานกับลูกค้า เป็นศูนย์รวมจิตใจของทีมงาน และเป็นคนที่ต้องมีคำตอบให้กับทุกปัญหา รางวัลของงานบริหารลูกค้าจึงไม่ใช่การยืนบนเวทีใต้แสงไฟเหมือนครีเอทีฟที่เป็นหัวเรือด้านงานความคิดสร้างสรรค์ หรือมียอดขายสินค้าที่ทะลุเป้าเหมือนนักการตลาดที่เป็นลูกค้า แต่เป็นการช่วยส่งให้ทั้ง 2 ฝ่ายประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง
เราจึงอยากชวนทุกคนมารู้จักกับแจมมี่และอาชีพผู้บริหารงานลูกค้าในเอเจนซี่โฆษณาผ่านบทความนี้ และครั้งถัดไปที่ได้เห็นงานโฆษณา คุณอาจจินตนาการถึงการต่อสู้เบื้องหลังที่แสนสนุกของมัน
ปรัตถจริยา
ปรัตถจริยา มีความหมายว่า การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
เราพบความหมายนี้โดยบังเอิญระหว่างหาข้อมูลเกี่ยวกับแจมมี่ผ่านทาง Search Engine
ตลอดการสนทนา เธอพูดถึงการทำตัวให้เป็นประโยชน์อยู่เสมอ
งานเออีเป็นงานที่ใครได้ลองก็อาจรักหรือไม่ก็เกลียดไปเลย เพราะในความเป็นลมใต้ปีกที่รับบทผู้บัญชาการที่บ้านนั้น มันเป็นทั้งเสน่ห์และความกดดันที่แยกกันไม่ออก
สำหรับแจมมี่ แม้จะไม่ใช่รักแรกพบ แต่ก็เป็นรักแท้ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมายาวนาน
“เราไม่ได้โตมาพร้อมกับฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร แต่อยากมีส่วนร่วมกับงานโฆษณาที่เห็น พอได้ลองงานนี้แล้วพบว่าทำได้ ถึงจะไม่ได้เลือกงานนี้เพราะเป็นความฝัน แต่มันก็หลวมใจไปแล้ว” เธอเริ่มเล่า
หลังออกจากรั้วคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บ้านหลังที่ 2 ของแจมมี่ก็เป็น J. Walter Thompson หรือ Wunderman Thompson ในทุกวันนี้มาตลอด 29 ปี จาก First Jobber สู่ Managing Director แจมมี่เล่าว่าการให้ค่ากับผลลัพธ์ของงาน คือวัฒนธรรมขององค์กรนี้ที่เธอรัก แล้วก็จะรักษามันต่อไป
วันที่ถูกทาบทามให้มาเป็น ‘กรรมการผู้จัดการ’ แจมมี่เล่าความคิดในวันนั้นให้ฟังว่า “ตกลงรับตำแหน่งนี้ด้วยความคิดที่ว่า ถ้าจะต้องมีใครมาดูบ้านเรา เราก็ไม่อยากให้เป็นคนอื่น อยากให้บ้านเป็นอย่างที่เรารัก เราก็รับและทำ ซึ่งในการทำงานจริง ๆ การเปลี่ยนบทบาทมาเป็นกรรมการผู้จัดการต้องมองภาพใหญ่ขึ้น แต่ความสนุก ความสุขที่ไม่ได้เปลี่ยน คือการมีทีมที่มีแนวคิดเดียวกัน มองไปในทิศทางเดียวกัน”
ซื่อสัตย์และจริงใจ
ปัจจุบันเอเจนซี่โฆษณาต้องพบกับความท้าทายมากมาย ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สื่อมีมากขึ้น การทำชิ้นงานเพื่อการโฆษณาทำได้ง่ายและมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น งบประมาณสำหรับการโฆษณามีน้อยลง และลูกค้าก็คาดหวังมุมมองในการทำการสื่อสารการตลาดที่ต่างจากเดิม
ในยุคที่มีแต่วิกฤต คนทำธุรกิจจึงไม่มีทางเลือกนอกจากมองความท้าทายให้เป็นโอกาส แจมมี่บอกว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เอเจนซี่ได้เป็นคู่คิดและนำเสนอทางแก้ปัญหาให้กับลูกค้าหลากหลายวิธีมากขึ้น ซึ่งถ้าทำให้ดีก็จะสร้างทั้งรายได้และความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับลูกค้ามากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
แจมมี่พูดถึงงานบริหารงานลูกค้ากับการสร้างสัมพันธ์ว่า คือ ‘คนติดกระดุมเม็ดแรก’ ถ้ากระดุมเม็ดนี้ลงตัว เข้าที่เข้าทางได้ดี ความไว้เนื้อเชื่อใจก็จะเกิด ยิ่งพอผลลัพธ์ออกมาดี ธุรกิจลูกค้าไปได้ดี ธุรกิจของเอเจนซี่ก็ย่อมดีไปด้วย
แจมมี่บอกว่า “เราจะคอยรับฟังและประเมินความต้องการของลูกค้า ทั้งในและนอกขอบเขตงานโฆษณา แล้วก็เสนอความช่วยเหลือที่เรามีให้เขา เช่น ลูกค้ามีปัญหาในส่วนดีลเลอร์ เราก็เสนอว่าหลังบ้านเรามีทีมดูแลระบบ ดูแลข้อมูลลูกค้าที่มาช่วยได้ เพราะงานโฆษณาทุกวันนี้ไม่ใช่แค่การทำหนังโฆษณาแล้ว บทสนทนาที่เรามีกับลูกค้าจะสร้างโอกาสให้เราช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้”
“ถ้าเรามีความจริงใจที่จะช่วย แนะนำแต่สิ่งที่ดี ก็แทบไม่ต้องพยายามขายอะไรเลย” แจมมี่แนะนำอย่างจริงใจ
ผบ.ทบ. (ผู้บัญชาการที่บ้าน)
นอกจากจะเป็นผู้ติดกระดุมเม็ดแรกแล้ว แจมมี่ยังพูดให้เห็นภาพด้วยว่า “เออีคือคนถือธงทัพหน้าที่ถ้าเป็นหนังจีนก็คือคนที่ขี่ม้าหน้าสุด โบกให้ทุกคนไป บอกให้ทุกคนกลับ เออีต้องทำหน้าที่นั้นได้ ไม่ใช่พาทุกคนไปตาย ครีเอทีฟหลงทาง พัง”
การจะทำงานแต่ละชิ้นไปเสนอลูกค้า กระบวนการ เป้าหมาย รวมทั้งการบริหารทรัพยากรอย่างคนทำงาน เวลา งบประมาณต่าง ๆ จำเป็นต้องมีผู้ดูแลภาพรวม และขับเคลื่อนงานไปจนถึงปลายทางอย่างดีที่สุดให้ได้ เออีคือคนคนนั้น ทั้งความรับผิดชอบและความเป็นศูนย์รวมจิตใจ
ทรัพยากรของเอเจนซี่โฆษณา คือคนและมันสมองของคน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าและละเอียดอ่อนยิ่งกว่าเครื่องจักรราคาแพง การรักษาสมดุลระหว่างการดูแลธุรกิจและการดูแลคนทำงานก็เลยเป็นวิทยายุทธที่ผู้บริหารงานลูกค้าต้องมีความเชี่ยวชาญ
แจมมี่แบ่งปันแนวคิดของเธอเอาไว้แบบนี้ “เราไม่คิดว่าลูกค้าหรือคนทำงานสำคัญกว่ากัน ถ้าเกิดปัญหาในบ้าน เราต้องรักทีมตัวเองก่อน แต่ก็ต้องฟังลูกค้าแบบไม่ลำเอียงด้วยว่าปัญหาเกิดจากอะไร เพราะเราคือคนดูแลความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย กับลูกค้าก็ต้องแสดงความเป็นคู่คิด คู่ค้าที่ดี กับคนในบริษัทก็ต้องเป็นคนนำทีมที่เข้าอกเข้าใจ ให้ความอุ่นใจได้ว่าเป็นทีมเดียวกัน”
แนวคิดนี้ครอบคลุมไปถึงความเข้าใจช่องว่างระหว่างวัยด้วย โดยเฉพาะในฝ่ายบริหารงานลูกค้าที่แจมมี่บอกว่า เนื้องานมีความท้าทายมากขึ้นตามยุคสมัย จนเธอรู้สึกนับถือเพื่อนร่วมงานที่ต้องรับมือกับสิ่งนี้
เธอบอกว่า “เมื่อก้าวเข้ามาในโลกเอเจนซี่ น้องใหม่มักจะตกใจกับความเยอะที่ถาโถมเข้ามา ทั้งจากลูกค้า ฝ่ายกลยุทธ์ ฝ่ายสร้างสรรค์ ฝ่ายพีอาร์ ฝ่ายวางแผนสื่อ ฝ่ายโซเชียลมีเดีย อินฟลูเอนเซอร์ และอีกมากมาย เขาต้องรู้ให้รอบ ตามให้ทัน แม้เด็กรุ่นใหม่เขาโตมากับความเร็วและหลากหลายแบบนี้ก็จริง แต่ภูมิต้านทานและทัศนคติในการเรียนรู้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเลยก้าวออกจากวงการไป ในขณะที่หลายคนก็ยังสู้อยู่ เรานับถือเขาเลยนะ ต้องคอยเตือนตัวเองว่าจะไปบี้เขาไม่ได้ พี่ต้องเป็นทั้งคนซัพพอร์ต เป็นที่ปรึกษา แล้วก็ต้องเรียนรู้จากพวกเขาด้วย”
บทบาทของเออีในบ้านคือการสร้างความมั่นใจในทุก ๆ ด้านเพื่อให้ทุกคนเชื่อว่า แม้ว่าจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคกันมากแค่ไหน การมีบ้านที่เป็น Safe Zone ก็จะทำให้โลกภายนอกไม่โหดร้ายเกินไปนัก
การไม่ให้เกียรติคนทำงาน ความไม่สมเหตุสมผลทางธุรกิจ และขั้นตอนการทำงานภายในของลูกค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน คือ 3 ปัจจัยที่แจมมี่บอกว่า จะทำให้เธอขอยกเลิกสัญญากับลูกค้าได้เลย เธออธิบายว่า “ถ้าคุยกับทั้งสองฝ่ายแล้วพบว่าลูกค้าคือฝ่ายที่ทำตัวไม่น่ารักกับทีมเราจริง ๆ เราก็พร้อมจะบอกลา บางธุรกิจเห็นแล้วว่าจะทำให้คุ้มทุนไม่ได้ หรือมีผลกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม ก็จะแจ้งกับลูกค้าว่ามันมีปัญหาตรงนี้ และสุดท้ายถ้าลูกค้ามีระบบภายในที่ทำให้การทำงานกับเอเจนซี่ไม่มีประสิทธิภาพ เราก็ต้องขอถอนตัว ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าทุกเจ้าก็จากกันด้วยความเข้าใจ”
เชื่อว่าไม่มีใครสร้างความสำเร็จได้เพียงลำพัง
การเป็นผู้บริหารงานลูกค้าที่ได้ร่วมงานกับทุกฝ่ายและต้องรับมือกับทุกคน เป็นแหล่งบทเรียนชั้นดีที่ทำให้ได้เรียนรู้จากผู้คนหลากหลาย และเห็นสัจธรรมว่า ไม่มีความสำเร็จไหนที่สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว
แจมมี่เล่าว่า “ปัญหาของลูกค้าไม่ได้ต้องการคำตอบเดียวและใช้คนคนเดียวแก้ไขไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์งานหรือการแก้ปัญหา ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทั้งลูกค้าและทีมงาน งานสร้างสรรค์ก็ไม่ได้สำเร็จได้ด้วยครีเอทีฟเพียงฝ่ายเดียว และปัญหาด้านธุรกิจหรือการบริหารลูกค้าก็แก้โดยเออีเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้เช่นกัน”
“เออีอาจจะมีบทบาทมากกว่าหน่อย ตรงที่ทุกคนจะหันมาเพื่อให้เป็นคนฟันธง” แจมมี่บอกพร้อมเสียงหัวเราะ
ด้วยความเป็นศูนย์รวมจิตใจของทีมงานจากแผนกต่าง ๆ เออีจึงมักได้รับบทเป็นคนตัดสินใจ แก้ปัญหา และ ‘เสก’ สิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นเสมอ ซึ่งเป็นบทบาทที่มาจากความ ‘ไว้ใจ’ มากกว่าเป็นหน้าที่ที่มากับตำแหน่ง
แจมมี่บอกว่า “งานโฆษณาไม่ใช่ One Man Show ไม่มีใครทำงานนี้ได้โดยลำพัง เพราะขอบเขตของงานโฆษณาครอบคลุมงานหลายรูปแบบมากขึ้น แต่ละขั้นตอนต้องการความเชี่ยวชาญที่ไม่เหมือนกัน ทุกคนจึงต้องเข้าใจและยอมรับบทบาทของแต่ละฝ่าย และเชื่อว่าความสำเร็จเกิดจากทุก ๆ คน เราต้องดูแลกันและกัน เพราะว่าสินค้าของเอเจนซี่ก็คือสมองกับคน ถ้าเรารักษาสมดุลได้ ทุกคนจะมีความสุข และผลงานดี ๆ ก็จะตามมา”
Wunderman Thompson เป็นเอเจนซี่ที่ให้ความสำคัญกับทุกแผนกว่ามีส่วนสำคัญในการผลักดันงานความคิดสร้างสรรค์ เมื่อตอนทำงานพวกเขาก็จูงมือกันแน่น เมื่อได้รางวัลพวกเราก็ฉลองร่วมกัน วัฒนธรรมนี้ของ Wunderman Thompson ฝังลึกในตัวพนักงานทุกรุ่นมาตั้งแต่ก่อนการควบรวม เวลามีปาร์ตี้ พนักงานเก่า ๆ จึงมักกลับมาร่วมงานเสมอ ความเป็นสถาบันที่ทุกคนผูกพันก็น่าจะมีความเชื่อนี้เป็นส่วนสำคัญไม่มากก็น้อย
เปิดโอกาสให้ทุกความเป็นไปได้
งานโฆษณาเป็นการสื่อสารเพื่อการค้า เป็นการผสานสหศาสตร์และสหปัญหา ตั้งแต่เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจ การตลาด ศิลปะ กฎหมาย การผลิตสื่อ เทคโนโลยี จิตวิทยา ไปจนถึงเรื่องความรู้รอบตัวที่ทั้งสะสมและสงสัยได้แบบไม่รู้จบ
แจมมี่จึงแนะนำว่า “ในอุตสาหกรรมนี้ คุณจำเป็นต้องมีความอยากรู้ อยากลอง และรู้สึกถูกดึงดูดด้วยงานพวกนี้ เพราะกว่าจะไปถึงปลายทาง คุณจะต้องผ่านอะไร ๆ หลายขั้นตอน เจอความขัดแย้งทั้งในตัวเอง แล้วก็ระหว่างทีม เจอเรื่องที่ไม่เคยทำ เจอเรื่องที่ดูไม่สมเหตุสมผล และสิ่งที่จะทำให้คุณไม่ยอมแพ้ คือความอยากทำให้มันสำเร็จ”
29 ปีที่ผ่านมา แจมมี่คือ Super AE ที่สนับสนุนทุกความเป็นไปได้ ทั้งเรื่องของตัวเองและเรื่องของทีม เธอเล่าให้ฟังว่าเธอเคยร่วมทีมพาแบรนด์น้ำมันเครื่องไปบุกเบิกตลาดใหม่ เมื่อครั้งค่ายมือถือแข่งกันที่ความถูก แรง และเร็ว แจมมี่ก็เคยรับบรีฟ 5 ทุ่ม ไฟนอลราคาตอนตี 5 แล้วออกสื่อสิ่งพิมพ์ตอน 7 โมงเช้ามาแล้ว หรือแม้แต่ลูกค้าแบรนด์ระดับโลกก็ต้องมาเจอกับเออีสายกบฏอย่างเธอ ที่คอยตั้งคำถามกับความเหมาะสมของโฆษณาจากต่างประเทศซึ่งจะเอามาใช้ในตลาดประเทศไทย
หลายอย่างแจมมี่บอกว่าจะปล่อยมันไปเฉย ๆ ก็ได้ “แต่ตราบใดที่สมองและหัวใจยังทำงานอยู่ ทุกอย่างเป็นไปได้หมด” เธอยืนยันว่าอย่างนั้น
แจมมี่บอกว่า “เราไม่ชอบได้ยินคำว่าทำไม่ได้ ถ้าคุณคิดว่าทำไม่ได้ คุณก็จะอยู่ที่ 0 แต่ถ้าคุณคิด 10 คุณอาจได้มา 8 แล้วถ้าคุณคิดแค่ 3 คุณก็อาจจะไม่ได้อะไรเลยเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ทางครีเอทีฟเขาอยากลอง เราจะให้ลองก่อนเสมอ อาจลองทำสัก 3 ระดับ จากความคิดสร้างสรรค์ที่ใหม่ที่สุด อิมแพกต์ที่สุด ออกนอกคอมฟอร์ตโซนไปเลย ไล่จนมาเป็นระดับ 1 ที่ตอบโจทย์แบบตรงไปตรงมาที่สุด ให้ลูกค้าได้เห็นว่าเป็นยังไง ซึ่งส่วนใหญ่มักไปกับระดับ 2 ลูกค้าบางคนก็ไประดับ 3 แต่ถ้าเราไม่ขายเลย เราก็อยู่ที่ระดับ 0 ”
แต่ในความอยากก็ต้องมีสติ เช่น หากประเมินแล้วเห็นว่าลูกค้านี้ทำไปแล้วอาจจะไม่คุ้ม หรือเคยทำไปแล้วไม่คุ้ม ก็อาจจะต้องสะกดความอยาก หรือบอกกันว่าลองแค่สัก 1 ที อย่าเสียเวลามากกว่านั้น
แจมมี่ขยายความว่า “สิ่งที่ได้เรียนรู้คือความรู้รอบที่พร้อมจะยืดหยุ่นในการเจอลูกค้า คือคุณต้องเข้าใจเขาก่อน แล้วประเมินว่าเราจะเอาอะไรมาแชร์ได้ ไม่ใช่รู้สึกว่าฉันรู้ดี มีความรู้แน่น แล้วเอาไปยัดเยียดให้เขา ต้องมองให้ออกก่อนว่าเขาเป็นอย่างไร”
เศร้าได้บ่อยแต่จอยให้เร็ว
ลุคสาวเปรี้ยวของแจมมี่ทำให้เธอโดดเด่นและเป็นที่จดจำสำหรับทุกคนที่ได้เจอ แต่ภายใต้ภาพลักษณ์สุดเท่ก็มีความกดดันและท้อแท้ที่เธอต้องจัดการด้วยเหมือนกัน
เธอเล่าว่า “มันมีวันที่ Up มีวันที่ Down มีวันที่ดี มีวันที่เหนื่อยเหมือนทุกคน แต่ในฐานะผู้นำ เราก็ต้องเป็นคนที่ลุกขึ้นมาพร้อมบอกน้องเสมอว่า ลุยค่ะ พร้อมค่ะ เราต้องเป็นขุมพลังนั้นให้กับทุกคน แต่บางวันที่เหนื่อยฉิบเป๋ง น้ำตาร่วงออกมาเฉย ๆ ก็มี เราจะระบายกันเองในหมู่ซีเนียร์ สลับกันปลอบ สลับคนบ่น ไม่ให้ความท้อแท้ลามไปถึงน้อง”
แจมมี่บอกว่าเธอมักให้เวลากับความเครียดไม่นาน เมื่อรู้ตัวก็ต้องรีบเทมันออกจากสมอง เธอบอกว่า “ถ้าคุณแบกไว้มันก็เหมือนหินที่แทงตัวเองไปเรื่อย ๆ ยิ่งโตขึ้นเรื่องยิ่งมาก ถ้าเก็บไปเรื่อย ๆ คุณจะตาย เพราะปัญหารายวันที่เจอมันเยอะ เราต้องจัดการสิ่งที่เป็นขยะด้วยตัวเอง อย่าไปอยู่กับมันนาน ระบายออกซะ”
และแจมมี่ก็สารภาพว่าการแต่งตัวสนุก ๆ ของเธอ คือทางหนึ่งของการระบายออก รองเท้าส้นสูง บูตยาว ชุดจัดเต็ม สีสันสุดแสบ ยิ่งมากเท่าไร ยิ่งคลายเครียดได้มากเท่านั้น แล้วเธอก็คิดว่ามันน่าจะเป็นความสนุกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนอื่นจะรู้สึกสดชื่นไปด้วยเมื่อได้เห็น
สุดท้าย ยาหวานที่ยังร่ายมนต์ให้เธอยังอยู่สู้กับทุกปัญหา ก็คือความรู้สึกเมื่อแก้ปัญหาได้ การฝ่าฟันทุกอย่างไปได้จนได้งานที่ทำแล้วสร้างผลกระทบที่ดี
“มันมีความสุข มันฟิน เราอิ่มใจทุกครั้งเวลาที่พอสุดท้ายเราแก้โจทย์ได้แล้วลูกค้าพอใจ ลูกค้า KFC เคยบอกว่า ถ้ามันคือการแต่งงาน เขารู้สึกว่าเลือกแต่งงานกับคนที่ถูกต้องที่สุด คำเล็ก ๆ น้อย ๆ ของลูกค้าที่เขาขอบคุณเราแบบนี้ มันชูใจมาก”
“เวลาตาเราเป็นวิ้ง ๆ ตอนที่ผลงานออกมา ทำให้รู้ว่าเรายังมีความสุขกับงานนี้ ที่ตรงนี้ยังเป็นที่ของเราบอกเลยว่าใครที่รักงานนี้คงต้องเป็น Masochism คือโรคจิต ฟินกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ” แจมมี่ร่ายยาวพร้อมประกายตาวิ้ง ๆ
It’s NOT just a job.
ในยุคทองของวงการโฆษณา เคยมีคนกล่าวว่าคนโฆษณาคือ ‘มนุษย์ทองคำ’ เพราะพรั่งพร้อมไปด้วยคุณสมบัติด้านการจัดการ การบริหารความสัมพันธ์ ความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานแบบสู้ไม่ถอย
ทักษะเหล่านี้ไม่ใช่แค่ทักษะในการทำงาน แต่นักบริหารงานลูกค้าหลายคนก็บอกว่ามันเป็นทักษะที่ได้เอามาใช้จัดการชีวิต อาชีพเออีสอนทักษะชีวิตหลายด้าน ทั้งการบริหารคนและทักษะในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่บางครั้งก็คาดไม่ถึง
แจมมี่บอกว่า “เราบอกน้อง ๆ เสมอว่า เชื่อเถอะ วันนี้น้อง ๆ อาจจะโกรธพี่ แต่อีก 3 ปี 5 ปี น้องจะรู้สึกขอบคุณ เพราะน้องจะได้ทักษะที่เอาไปประกอบอาชีพได้อีกหลายอย่าง แม้กระทั่งเอาไปใช้จัดการชีวิตตัวเอง”
บทความนี้ก็คงจะไม่สมบูรณ์แบบในมาตรฐาน Super AE ถ้าเราไม่ได้ถาม Next Step ของโครงการชีวิตแจมมี่
“คิดไว้ว่าวันหนึ่งอยากทำงานแฟชั่น เป็นสิ่งหนึ่งที่ปักเอาไว้แล้ว แต่ตอนนี้ขอโฟกัสกับงาน แล้วหลังจากนี้จะขอทำเพื่อตัวเอง อยากจะไปเรียนคอร์สแฟชั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อความฟินในตัวเอง ไปดูงานศิลปะ ไปดูนิทรรศการที่เราชอบ จริตมันใช่ เห็นแล้วรู้สึกใจสั่น” แจมมี่กล่าวปิดการสนทนาแบบพูดไปยิ้มไป และเราก็ไม่ได้ขอไทม์ไลน์ที่ชัดเจนในโครงการนี้ เพราะรู้ว่าแจมมี่ก็มีความสุขกับการทำทุกที่ให้เป็นรันเวย์ทุกวันอยู่แล้ว