นกเค้า หรือ นกฮูก เป็น ‘นักล่าน่ารักษ์’ (เขียนไม่ผิดหรอก!) และในปีหนึ่งเคยเป็น ‘ธีม’ งาน เทศกาลดูนกเมืองไทย หรือ Thailand Bird Fair 2016 ของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) เพราะความน่ารักของบรรดา ฮ นกฮูก ตาโต นั้นเป็นภัย จึงโดนจับมาขายทั้งออนไลน์และออนไซต์ในตลาด จนประชากรในธรรมชาติของนกเค้าหลายชนิดนั้นลดจำนวนลงจากเดิม 

หลายคนอาจสับสนระหว่าง ‘นกเค้า’ กับ ‘นกฮูก’ ได้ง่าย ๆ ด้วยคำว่า นกเค้า (Owl และ Owlet) ทั้ง 2 คำสื่อถึงนกนักล่าตาโตในกลุ่มนี้ทั้งหมด คือชื่อไทยเราเรียกรวม ๆ นกกลุ่มนี้ที่มีอยู่หลายชนิด โดยชนิดที่พบได้บ่อยในเมือง คือนกเค้าขนาดเล็กทั้ง 3 ชนิด มีขนาดตัววัดจากหัวจรดหางประมาณฝ่ามือของผู้ใหญ่ (20 – 22 เซนติเมตร) ได้แก่ นกเค้าแมว นกเค้าโมง (Asian Barred Owlet ; Glaucidium cuculoides) และนกเค้าจุด (Spotted Owlet ; Athene brama

ส่วนอีกชนิดคือนกฮูก แม้ชื่อว่า นกฮูก ก็ถือว่าเป็นนกเค้าชนิดหนึ่งด้วย มีอีกชื่อหนึ่งว่า นกเค้ากู่ (Collared Scops Owl) ได้มาจากเสียงร้อง กู้ว ทุ้มต่ำพยางค์เดียว มักส่งเสียงร้องทุก ๆ 10 วินาที จุดเด่นคือมีขนยาวคล้ายหูชัดเจน (Ear Tufts ที่เราเห็น พบได้เฉพาะในนกเค้าบางชนิดที่มีขนยื่นยาวบนหัวคล้ายใบหู แท้จริงแล้วนกทุกตัวไม่มีใบหู มีเพียงช่องเปิดหูเท่านั้น ขนคล้ายหูของนกเค้าใช้แสดงอารมณ์ได้ เช่น แสดงพฤติกรรมข่มขวัญคู่แข่งที่มาบุกรุกอาณาเขต และช่วยพรางตัวโดยยืดตรงแนบเนียนไปกับเปลือกไม้)

และถ้าบินตามนกบิน (เพลงประกอบรายการ ทุ่งแสงตะวัน) ออกไปตามชานเมือง ปริมณฑล หรือทุ่งนาต่างจังหวัด จะได้เจอนกแสกที่ส่งเสียงร้อง แสก แสบแก้วหูยามค่ำคืน เป็นที่มาของชื่อ (Eastern Barn Owl ; Tyto javanica) นกแสกขนาดใหญ่กว่าบรรดานกเค้าขนาดเล็กที่พบบ่อยในเมือง มีขนาดราว 1 ไม้บรรทัด หรือหัวจรดหางราว 30 เซนติเมตร เป็นนักกำจัดหนูตัวฉกาจ ทั้งหนูนา หนูพุกในนาข้าว และหนูท้องขาวในสวนปาล์มน้ำมัน นกแสกกินหนูเฉลี่ยคืนละ 2 ตัว รวมปีหนึ่งราว 700 ตัวที่มันบริการนิเวศให้กับชาวนา ชาวไร่แบบฟรี ๆ

ภาพ : ทรงพล สังข์งาม
เห็น ‘จุด’ ชัด ๆ สมชื่อนกเค้าจุด
ภาพ : ชุตินธร วิริยะปานนท์
นกแสกจากสวนสมดุล (Somdul Agroforestry Home) เป็นสวนวนเกษตรและคาเฟ่
ภาพ : อติคุณ ทองแตง
ในหลายภาคของไทย เราพบนกแสกเกาะนอนในโถงถ้ำด้วย
ภาพ : ทรงพล สังข์งาม
ก้อนสำรอก (Pellets) คือก้อนเศษอาหารที่ย่อยไม่ได้ เมื่อนกแสกกินหนูไปสักตัว ส่วนที่ย่อยไม่ได้คือกระดูก กระโหลก และขนหนูจะอัดกันเป็นก้อนกลม แล้วสำรอกในจุดเกาะนอน ก่อนบินออกล่าอาหารมื้อถัดไป
ภาพ : สุรเชษฐ์ เรืองมาก
ก้อนสำรอกของนกแสก เก็บมาตากแดดจัดให้เด็กแยกก้อนสำรอก ต่อโครงกระดูก รู้ถึงอาหารที่นกแสกกินได้ (Pellet Dissection)
ภาพ : สุรเชษฐ์ เรืองมาก
นกเค้ากู่ หรือ นกฮูก มีขนคล้ายหู (Ear Tufts) บนหัว นกตัวนี้คุณปิ่นตั้งชื่อให้ว่า ฮาวาย ไม่ได้เลี้ยงไว้แต่เป็นนกธรรมชาติ อาศัยหากินในพื้นที่บ้านสวนที่ไม่ตัดต้นไม้ใหญ่เลย ริมแม่น้ำปิง เมืองเชียงใหม่ คุณปิ่นติดกล่องรังนก (Nest Box) ไว้ถึง 7 หลัง ให้บรรดานกเค้าขนาดเล็กมาเลือกสรร ‘จองบ้าน’ กันตามใจชอบ
นกเค้าโมง หรือ นกเค้าแมว สังเกต ‘หัวกลม’ ไม่มีขนคล้ายหูบนหัว เป็นนกเค้าขาประจำอีกชนิดในเมือง ภาพนี้ถ่ายจากบ้านสวนที่เชียงใหม่ คุณปิ่นเล่าว่าเค้าโมงมักจับหนูและแมลงมากินในบ้านรังนก และมีเสียงร้อง จี๊ด จี๊ด จี๊ด รัว ๆ ยามช่วงจับคู่ หน้าบ้านรังนก (Mating Call)
ภาพ : ปิ่น-ไกวัล ชินาลัย 

แต่ด้วยความน่ารักนั้นเป็นภัยอย่างที่บอกไว้แต่ต้น เพราะปีปีหนึ่งพวกมันโดนจับมาขายออนไลน์ ออร์เดอร์แบบล้วงยกรังมาลงกล่องจนประชากรในธรรมชาติบางชนิด เช่น นกเค้าจุดที่พบบ่อยตามเมืองและท้องทุ่งทั่วประเทศไทย ยังกลับกลายเป็นวิกฤตได้ นกเค้าแทบทุกชนิดจึงมักติด Top 10 นกป่ามาสู่นกเลี้ยงทุกรอบ ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน ตั้งแต่ยุคเจ้า เฮ็ดวิก (Hedwig) นกฮูกหิมะของแฮร์รี่ พอตเตอร์ มาจนถึงยุคตุ๊กตาเฟอร์บี้ (Furby) 

เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา ทาง TRAFFIC SEA-เครือข่ายติดตามการค้าสัตว์ป่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยสำรวจตลาดนัดสัตว์เลี้ยงจตุจักร กรุงเทพฯ ทีมนักวิจัยพบว่าเพียงแค่เดินสำรวจ 2 วัน พบนกวางขายมากกว่า 1,200 ตัว จำนวนมากถึง 117 ชนิด มากกว่าครึ่งเป็นนกตามธรรมชาติในไทยที่ถูกจับมาอย่างผิดกฎหมาย (Chng and Eaton, 2016) 

ในงานวิชาการชิ้นนี้เองที่ฉายภาพชัดแบบ 8K ของการค้านกป่า เพราะภาพบทความคือนกเค้าจุดเกาะบนกรงทั้ง 2 ตัวดูคล้ายใกล้หมดสติหรือสิ้นชีพอยู่มะรอมมะร่อที่ขาผูกด้วยเชือกสีแดง และลูกนกเค้าจุดอีกเต็มกระบะวางขายกันเกลื่อน ใน JJ Market (มีร้านขายนกถึง 45 ร้านในปีนั้น) และการค้าขายในโลกออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กในช่วงปี 2015 – 2019 นกเค้าจุดก็ยังถูกจับมาขายมากที่สุดเช่นกัน (Panter and White, 2020) จนในที่สุด นกเค้าจุดลดจำนวนลงและผู้เชี่ยวชาญด้านนกของไทยร่วมกันประเมินสถานภาพการอนุรักษ์ (National Threat Status) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (BCST, 2020) ประเมินไว้ว่าเป็นสัตว์ที่ใกล้ถูกคุกคาม (NT ; Near Threatened Species) 

นักล่ายามค่ำคืนกลุ่มนี้จึงลดลงอย่างต่อเนื่อง นกเค้าจุดเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด แม้จะเป็นนกม่อน ๆ (นกที่พบบ่อย ภาษาอังกฤษคือ Common Species) ก็ยังหายไปจากหลายพื้นที่ ทว่าในเมื่อนกเค้าทั้งหลายเป็นนกนักล่า (Birds of Prey) เช่นเดียวกันกับนกนักล่าที่เราคุ้นเคยกันดี ได้แก่ เหยี่ยว อินทรี อีแร้ง นกเค้าในเมืองเหล่านี้ล่าได้ทั้งแมลง (มักพบนกเค้าล่าด้วงปีกแข็ง เช่น ด้วงแรด ด้วงมะพร้าว แมลงนูน ฯลฯ และตั๊กแตนหนวดสั้น ทั้งหมดเป็นแมลงศัตรูพืช (Pest)) สัตว์มีพิษแถวบ้านบางชนิด เช่น แมงป่อง ตะขาบบ้าน ฯลฯ และหนูท้องขาว หนูจี๊ด จนไปถึงหนูนาหรือหนูตามท้องท้องทุ่งนา ทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ (หนูพุกและหนูนา) 

พวกมันจึงทำหน้าที่สำคัญในระบบนิเวศ คอยควบคุมประชากรของสัตว์ที่เป็นเหยื่อไม่ให้ล้นเกินในระบบนิเวศเมืองจนสร้างปัญหา เช่น แพร่โรคระบาดจากหนูตามบ้าน (โรคฉี่หนู) กัดกินต้นข้าว จนชาวนาต้องเพิ่มยาเบื่อหนู เพราะสารเคมีที่เกษตรกรใช้ย่อมตกค้างในระบบนิเวศและส่งผลถึงนกตามห่วงโซ่อาหาร เช่น ยาเบื่อหนู ทำให้นกแสกและนกเค้าที่กินหนูเป็นอาหารตายอีกต่อหนึ่ง สุดท้ายก็เวียนครบจบที่ปนเปื้อนมาในจานข้าวเราจนได้

ปัจจัยสำคัญต่อการขยายพันธุ์ของนกนักล่าเหล่านี้ นอกจากปริมาณอาหารที่มากพอแล้ว โพรงรังในธรรมชาติตามต้นไม้นั้นสำคัญยิ่ง เพราะเป็นทั้งแหล่งหลบภัยในเวลากลางวัน (Shelter) จากนกชนิดอื่น ๆ เช่น อีกา บรรดานกปรอดที่มารบกวน (นกเล็ก ๆ เช่น นกปรอด นกกินปลี นกอีแพรดแถบอกดำ มัก ‘ก่อม๊อบ (Mobbing)’ ไล่นกเค้าที่พบในตอนกลางวัน) และยังเป็นที่ทำรังวางไข่ ตลอดจนเลี้ยงลูกให้เติบโต

ข่าวดี! เราช่วย ‘ผู้พิทักษ์’ เหล่านี้ได้เลยด้วยการติดตั้งกล่องรังนก (Nest Box) หรือ ‘บ้าน’ ให้นกเค้าและนกแสก โดยช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและขยายพันธุ์ให้กับแก๊งนกฮูกตาโต ลดโอกาสสูญพันธุ์ในพื้นที่นั้น ๆ ที่อาจขาดแคลนโพรงรังธรรมชาติ

นกเค้าโมงในกล่องรังนกจาก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในพื้นที่บ้านสวนของ ปิ่น-ไกวัล ชินาลัย โดยแกบอกว่า รังนี้ติดตั้งอยู่บนต้นไม้ใหญ่ ในใบไม้หนาทึบ

Tricks and Tips : เรียกนกเค้ามาเฝ้าบ้าน

  1. บริเวณแถวบ้านนั้นต้องมีนกเค้าอาศัยอยู่ก่อน เช่น นกเค้าโมง นกเค้าจุด หรือนกเค้ากู่ (ทั้ง 3 ชนิด เป็นนกเค้าขนาดเล็ก พบได้บ่อยตามพื้นที่สวน พื้นที่เกษตร ชานเมือง) แม้ไม่เคยเห็นตัวก็ต้องได้ยินเสียงมันก่อน จึงติดกล่องรังนกได้ 
    ตามไปฟังเสียงนกเค้าทั้ง 3 ชนิด + 1 แถมนกแสก (หากบ้านใครอยู่ใกล้ทุ่งนาหรือมีพื้นที่สวน) ได้ที่
    นกเค้าจุด
    นกเค้ากู่หรือนกฮูก
    นกเค้าแมวหรือนกเค้าโมง
    นกแสก
  2. กล่องรังนกต้องมีขนาด 30 เซนติเมตร หรือ 1 ไม้บรรทัดขึ้นไป หากซื้อกล่องบ้านนกแบบที่เอามาประดับสวนจากตามร้านขายต้นไม้มาติด จะได้แต่บรรดานกที่ปรับตัวเก่ง เช่น นกกางเขนบ้าน นกกระจอกใหญ่ นกเอี้ยงสาลิกา ฯลฯ มายึดแทน ดังนั้นอาจต้องใช้รังของพวกเลี้ยงนกแก้ว เช่น นกแก้วโม่งและนกแก้วคอแหวนสีกุหลาบ ฯลฯ นกเค้าขนาดเล็กถึงจะพอเข้าไปอยู่ได้
แบบกล่องรังนกที่ วรพจน์ บุญความดี เคยส่งให้และดัดแปลงจาก BTO

รังนกเทียม 2 ขนาด จากคำแนะนำของ หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ Kasetsart University Raptor Rehabilitation Unit ที่ ผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการติดตั้งกล่องรังนกเค้า ดังนี้

แบบกล่องรังนกที่ วรพจน์ บุญความดี เคยส่งให้ แล้วเนเจอร์เพลินให้ช่างเอ็มแห่งบ้านนา จ. นครนายก ผลิตออกมา ก่อนให้เด็ก ๆ ระบายสีอะคริลิก แล้วกลับไปติดที่บ้านหรือบริจาคกับเรา เพื่อส่งมอบต่อให้ทีมรุกขกร Tree Keeper Thai นำไปติดบนต้นไม้ใหญ่
Nest Box Painting อีกหนึ่งกิจกรรมที่เนเจอร์ เพลิน นำมาใช้ เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องนกเค้า
ภาพ : สุรเชษฐ์ เรืองมาก

‘ขนาดเล็ก’ สำหรับนกเค้าจุด นกเค้าแมว หรือนกฮูก ติดตั้งบนต้นไม้ ควรทำด้วยวัสดุไม้เบา เช่น ไม้อัด หนา 8 – 10 มิลลิเมตร ขนาด 7 x 9 x 16 นิ้ว (หนา x กว้าง x สูง) เจาะรูกลมหรือรูปสี่เหลี่ยม เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้ว 1 รู ใส่ขี้เลื่อยบนพื้นของรังเทียมหนา 1 – 2 เซนติเมตร (ด้านข้างหรือด้านบนที่เป็นหลังคา หากออกแบบให้เปิดออกเพื่อทำความสะอาด เศษรัง อาหารที่นกเอามาป้อน และเปลือกไข่นกได้ จะดีมาก และรองรับการทำรังวางไข่ของนกเค้าในฤดูกาลถัดไป)

‘ขนาดใหญ่’ สำหรับนกแสก ติดตั้งบนเสาสูงจากพื้นดิน (อย่างน้อย) 3 เมตร ในทุ่งนา ใกล้วัด หรืออาคารสูงในซอกหลืบหรือระเบียง รังเทียมสร้างด้วยไม้อัดหนา 8 – 10 มิลลิเมตร ขนาด 60 x 60 x 70 เซนติเมตร เจาะรูกลมหรือสี่เหลี่ยม เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ไม่ต้องใส่วัสดุใด ๆ ในรังเทียม ติดตั้งบนเสา (ไม้ยูคาลิปตัส ยางพารา ไผ่บง หรือเสาปูน) สูง 3 – 4 เมตรจากพื้นดิน บนคันนา หรือใกล้โรงเรือน 

บ้านนกแสกที่สมาพันธ์นกแสกแนะนำมีหัวใจ 3 อย่างที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ 

Big : ใหญ่เพียงพอ 2 ไม้บรรทัดหรือ 60 เซนติเมตร เพราะลูกนกแสกหลายตัว (4 – 7 ตัว) ที่อายุ 4 สัปดาห์ จะยืนได้และเริ่มเดินไปมาอยู่ในพื้นกล่องรัง

Deep : ความลึกหรือความยาวของกล่องรังนกแสกต้องอย่างน้อย 45 เซนติเมตร ลึกดีที่สุดได้ถึง 70 เซนติเมตร

Dry : แห้ง ไม่ชื้น ของไทยเราอากาศมักแห้งแล้งอยู่แล้ว แต่พื้นกล่องรังนกแสกต้องมีรูระบายให้น้ำออก (เจาะรูประมาณสกรูนอตก็ได้) รองรับช่วงฤดูฝนด้วย

และอาจารย์ไชยยันต์ ยังแนะนำไว้อีกว่า ควรติดตั้งห่างจากถนนที่มีการจราจรพลุกพล่านอย่างน้อย 20 – 30 เมตร เพื่อลดโอกาสนกแสกโดนรถชน เพราะบินลงพื้นดินบนถนน แต่บินหนีรถยนต์ไม่ทัน

ภาพแบบกล่องรังนกแสก The Barn Owl Trust บอกว่าควรมีระเบียงให้ลูกนกออกมาและกลับเข้าไปได้ กันมันออกมาแล้วตกรัง

ติดตามเพิ่มเติม ชมภาพนกเค้าและบรรดาลูก ๆ ในกล่องรังนก ผลงานของหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ที่ Project Owl Survival สร้างบ้านให้นักล่ายามค่ำคืน

  1. หันหน้ารังไปทางทิศเหนือหรือใต้ ป้องกันรังนกเค้าโดนแดดโดยตรง
  2. ติดตั้งกล่องรังนกที่ความสูง 3 เมตรขึ้นไป สุดทางบันได หรือบ้านไหนใช้บริการรุกขกร (หมอต้นไม้ หรือ Arborist) มาตัดแต่งต้นไม้ใหญ่อยู่แล้ว ก็วานเขาติดกล่องรังนกได้เลย จะรัดกล่องรังนกไว้ด้วยเชือก สลิง หรือตะปู แต่ตะปูนั้นมีผลกับสุขภาพของต้นไม้ในระยะยาว (มีที่สนามกอล์ฟวังจันทร์ จ.ระยอง ติดตั้งที่ราว 1.7 เมตร พบนกเค้าเหยี่ยว นกเค้าอีกชนิดตามต่างจังหวัด ขนาดตัวพอ ๆ กับนกเค้าแมวเข้ามาทำรังเลี้ยงลูกเช่นกัน)
  3. ติดกล้องวงจรปิดทั้งบริเวณหน้ารัง (CCTV) และในรังนก เพื่อได้ข้อมูลและวิดีโอว่ามีนกและสัตว์ชนิดใดแวะเวียนมาใช้ประโยชน์กล่องรังนกของเราบ้าง และหากนกเค้าเลือกใช้ทำรังวางไข่ จะได้ข้อมูลวิทยาศาสตร์สนุกให้เด็ก ๆ เฝ้าสังเกตพฤติกรรมและชีววิทยาของนกเค้าในบ้านได้ด้วย และ นสพ.ดร.สนธยา มานะวัฒนา เคยแนะนำไว้ว่า “ถ้าใช้กล้องแบบหมุนได้ก็ดีตรงที่ตอนที่นกยังไม่มาทำรัง เราหมุนมาตรงทางเข้าดูนกที่มาสำรวจกล่องได้ พอนกเริ่มทำรัง เราก็สั่งให้มันหมุนลงมาถ่ายในกล่อง

แต่จากการวิดีโอของกล้องวงจรปิดที่บันทึกไว้ได้เวลานกเข้าบ้าน โดย ปิ่น-ไกวัล ชินาลัย บอกกับผมว่า นกเค้าจะสังเกตทุกซอกมุม พยายามเอาตะปูออกและกัดกล้อง!

ได้เวลาออกไปค้นหานกเค้าแถวบ้านแล้วเชื้อเชิญ ‘เหล่าผู้พิทักษ์ปีกกล้า หัวกลม ตาโต’ มาประดับสวน ประดับบ้าน แถมใช้งานได้จริงกันแล้วครับ

ภาพกล่องรังนกที่ซื้อจากร้านสัตว์เลี้ยงทั่วไปแล้วใส่กล้องวงจรปิดไว้ข้างใน แนะนำโดย นสพ.ดร.สนธยา มานะวัฒนา​ 

นกเค้าโมงที่เข้ามาสำรวจกล่องรังนกที่ ปิ่น-ไกวัล ชินาลัย ติดไว้ และวิดีโอจากกล้องวงจรปิดด้านในกล่อง เผยให้เห็นว่านกเค้าสังเกตทุกซอกมุม พยายามเอาตะปูออกและกัดกล้อง

ข้อมูลอ้างอิง
  • BCST. 2022 (Bird Conservation Society of Thailand) Checklist of Thai Birds July 2022 Bird Conservation Society of Thailand. Available at: www.bcst.or.th/report-archives. Viewed 1 May 2024.
  • Chng, Serene & Eaton, James. (2016). Snapshot of an on-going trade: an inventory of birds for sale in Chatuchak weekend market, Bangkok, Thailand.. Birding Asia. 24-29.
  • IUCN. (2023). The IUCN Red List of Threatened Species. Version 2023-1. www.iucnredlist.org. Downloaded on [15 March 2024].
  • Panter, C., & White, R. (2020). Insights from social media into the illegal trade of wild raptors in Thailand. TRAFFIC Bulletin, 32(1), 5-12. www.traffic.org/site/assets/files/12779/bulletin-32-1-thai-raptors.pdf

Writer & Photographer

อุเทน ภุมรินทร์

อุเทน ภุมรินทร์

ผู้อยากเป็น ‘ครูทอม’ ของเด็ก ๆ เป็นนักสื่อสารธรรมชาติ (Nature Educator) แห่งกลุ่ม Nature Plearn Club พาจัดกิจกรรม ‘วิทยาศาสตร์พลเมือง’ ที่เชื่อว่าใคร ๆ ก็เป็นนักวิทย์ได้ ขอแค่นับเลขได้และถ่ายรูปเป็น ภารกิจทุกวันนี้จึง Convince ผู้คนสำรวจธรรมชาติรอบตัว แล้วถ่ายรูปด้วยสมาร์ทโฟน มาแชร์ใน #iNaturalist