ภาพของฝูงกระทิงหลายสิบตัวยืนบนหญ้าสีเขียวขจีเมื่อมองผ่านมุมของเลนส์เทเลโฟโต้ขนาด 600 มิลลิเมตร ช่างดูน่าประทับใจกับความงดงามและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและผืนป่าบ้านเรา เมื่อภาพนั้นโพสต์ลงในสื่อโซเชียลมีเดียพร้อมคำบรรยาย นำมาสู่การแสดงความคิดเห็นที่มุ่งไปในทิศทางเดียวกันว่า
บ้านเราสวยงามมาก
เมืองไทยของเราอุดมสมบูรณ์ ดูไม่แห้งแล้งเหมือนในแอฟริกา
น้อนดูน่ารักจัง…
เมื่อเราปรับเปลี่ยนเลนส์ให้มาเป็นมุมกว้างขึ้น เราถึงจะเห็นว่าป่าเขียวขจีอุดมสมบูรณ์ที่เห็นในภาพนั้นเป็นแค่หย่อมเขียว ๆ เพียงหย่อมเดียวที่อยู่ท่ามกลางไร่ข้าวโพดร้อนแล้ง และกลุ่มของบ้านพักตากอากาศ-รีสอร์ต ห้อมล้อมพื้นที่สีเขียวนั้นไว้เป็นเหมือนเกาะเล็ก ๆ เต็มไปด้วยฝูงกระทิงนับร้อย เป็นจุดเล็ก ๆ ที่อยู่กันอย่างแน่นขนัดราวกับฝูงวัวในฟาร์มหรือสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์เปิดย่านชานกรุง
แทบทุกวัน ฝูง ‘น้อน’ เหล่านั้นจะยกขบวนกันออกมากินข้าวโพดในไร่รอบ ๆ เกาะเล็ก ๆ นั้น แล้วเช้าตรู่ก็จะเดินกลับเข้าไปหลบนอนอยู่อย่างปลอดภัยในเกาะเล็ก ๆ สีเขียวนั่นเอง
ภาพที่เราเห็นนั้นเปลี่ยนไปทันทีจากการเลือกเลนส์ เลือกมุมภาพ และเลือกเรื่องราวที่จะถ่ายทอดภาพที่เห็นเบื้องหน้าออกมาโดยคนที่อยู่หลังกล้อง
หลายปีที่ผ่านมา ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปตามกาลเวลา ก่อให้เกิดกล้องยุคใหม่ที่ใช้งานง่าย จนใคร ๆ ก็ถ่ายภาพสวย ๆ ได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากมายนัก บวกกับพื้นที่ของสื่อที่พร่าเลือนไปในยุคสมัยที่ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกันในการนำเสนอเรื่องราวที่ตนพบเห็นและประทับใจ ทุกวันนี้เราจึงอยู่ในยุคสมัยที่โลกเต็มไปด้วยคอนเทนต์มากมายจากหลากหลายเรื่องราวของแต่ละคน
หลายสิบปีก่อน ผมเคยเชื่อว่าถ้าคนที่สนใจธรรมชาติหันมาถ่ายภาพ บันทึกภาพธรรมชาติกันมากขึ้น สังคมเราจะมีความเข้าใจที่มากขึ้น แต่หลายปีที่ผ่านมานี้ผมเริ่มเห็นว่าอาจจะคิดผิด
“เชื่อไหมพี่ว่าในช่วงเวลาที่เราควรจะดื่มด่ำกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเบื้องหน้า เวลาที่ฝูงกระเบนราหูว่ายเข้ามาเพื่อให้ปลาตัวเล็ก ๆ ทำความสะอาดร่างกาย หรือในขณะที่ฉลามวาฬอ้าปากกว้างเพื่อกินอาหาร แทนที่ผู้คนจะเฝ้ามองความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและห้วงเวลา ณ ขณะนั้นด้วยสายตา คนส่วนใหญ่ในสมัยนี้กลับหันหลังให้มัน แล้วยกกล้องในมือขึ้นเพื่อเซลฟี่ตนเอง ปล่อยให้ปรากฏการณ์นั้นเป็นแค่ฉากหลังที่อยู่ห่างไกลออกไป เพียงเพื่อที่จะเอาไปโพสต์ว่า ฉันเคยมาอยู่ตรงนี้นะ แต่ไม่ได้สนใจปรากฏการณ์นั้นมากไปกว่าเป็นแค่ฉากหลังเพื่อการเซลฟี่…”
นุ-ภานุพงศ์ นรเศรษฐกมล เพื่อนช่างภาพคนหนึ่งของผมเคยกล่าวกับผมในช่วงเวลาที่เราออกไปดำน้ำด้วยกันเมื่อนานมาแล้ว นุเป็นช่างภาพรุ่นน้องที่อายุน้อยกว่าผมหลายปี เป็นช่างภาพใต้น้ำคนหนึ่งที่ผมนับถือ ทั้งในเรื่องฝีมือ มุมมองของภาพ และประสบการณ์ในการดำน้ำว่าเขาก้าวขึ้นไปเป็นช่างภาพระดับแถวหน้าของโลกได้
ทุกวันนี้เขาเลิกถ่ายภาพและเลิกดำน้ำแล้ว เพราะทนสภาพความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างของท้องทะเลในหลายพื้นที่ที่เคยใช้ชีวิตไม่ได้ ซึ่งช่วงหนึ่งเขาเคยเป็นช่างภาพประจำเรือในท้องทะเลอันห่างไกลของอินโดนีเซีย และเขาไม่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไปมากกว่านี้
ผมรู้จักกับ โทนี่ วู (Tony Wu) เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนในช่วงที่เรามาดำน้ำด้วยกันในทะเลอันดามัน เราเป็นช่างภาพที่ชอบบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของโลกใต้ทะเลเหมือนกัน ต่างกันที่ว่าในยุคสมัยนั้นเขาเป็นช่างภาพที่มีชื่อเสียงแล้ว เคยมีหนังสือรวบรวมผลงานภาพถ่ายออกมาเป็นเล่มแล้ว ในขณะที่ผมเพิ่งเริ่มต้นถ่ายภาพใต้น้ำได้ไม่นานนัก
ในช่วงเวลานั้นเขาเพิ่งเริ่มต้นถ่ายภาพวาฬ โดยเฉพาะวาฬหลังค่อมที่ตองกา ประเทศเล็ก ๆ ที่อยู่ห่างไกลทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก เขาเป็นหนึ่งในชาวต่างชาติเพียงไม่กี่คนในยุคนั้นที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลตองกาให้ลงไปดำน้ำกับวาฬได้ เขาชวนผมไปที่นั่นและบอกกับผมว่าอยากให้มา คุณจะมีโอกาสสักครั้งในการสบตากับวาฬ ในขณะที่อยู่ใต้น้ำ คุณจะไม่มีวันลืมเลือนประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตได้เลย
เกือบ 20 ปีต่อมา เขามุ่งมั่นเฝ้าบันทึกภาพพฤติกรรมอันน่ามหัศจรรย์ใจของวาฬหลากหลายชนิดทั้งที่ตองกาและศรีลังกา กลายเป็นหนึ่งในช่างภาพที่ถ่ายภาพวาฬจากใต้น้ำ และได้รับรางวัลระดับโลกอย่างต่อเนื่องมากมาย
ผมมีโอกาสไปดำน้ำดูวาฬกับลุงโทนี่ครั้งหนึ่งที่ตองกาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน หลาย ๆ อย่างจากประสบการณ์ของเขาทำให้ผมทึ่ง
ในจังหวะที่วาฬหลังค่อมไล่กวดกันเพื่อหาผู้ชนะที่จะได้ครองใจวาฬสาว หรือเรียกกันว่า Heat Run วาฬสาวจะว่ายน้ำอย่างรวดเร็ว ในขณะที่วาฬหนุ่ม ๆ แข่งกันว่ายน้ำกันสุดแรงเกิด เพื่อยื้อแย่งชัยชนะ ผมเห็นโทนี่ว่ายน้ำแซงวาฬตัวผู้หลาย ๆ ตัวไป วาฬสาวตัวที่ว่ายน้ำอยู่ถึงกับหยุดและหันกลับมามองเขาแวบหนึ่ง ก่อนที่การไล่กวดกันจะดำเนินกันต่อไปตามครรลองของธรรมชาติ
ในขณะเฝ้าดูพฤติกรรมของวาฬหลังค่อมอีกตัวหนึ่งที่กำลังเฝ้าดูแลลูกน้อยอายุเพียงไม่กี่สัปดาห์ โทนี่กำชับกับพวกเราทุกคนก่อนลงน้ำว่าให้ลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ อย่าพยายามขยับตัว ลูกวาฬหลังค่อมจะเป็นฝ่ายเลือกว่าจะเข้ามาหาเราเอง หรือจะรอดูท่าทีอยู่ห่าง ๆ แต่ถ้าเราว่ายพุ่งเข้าไปหา ลูกวาฬตัวน้อยนั้นจะว่ายเข้าไปหลบหลังแม่วาฬ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเฝ้าดูวาฬแม่ลูก คือถ้ามีใครสักคนไปว่ายไล่ลูกวาฬหรือทำให้ลูกวาฬตัวใดตัวหนึ่งพลัดหลงไปจากแม่ นั่นอาจหมายถึงชีวิตของลูกวาฬตัวนั้น
ภาพธรรมชาติที่เราบันทึกมานั้นไม่มีภาพใดสำคัญไปกว่าการที่สัตว์เหล่านั้นจะได้ใช้ชีวิตไปตามปกติตามธรรมชาติ โดยถูกรบกวนน้อยที่สุด ในช่วงเวลาที่สำคัญนั้น เขาแทบจะไม่ขยับตัวเลย
หลายปีต่อมา ผมได้ยินข่าวว่าโทนี่เลิกถ่ายภาพวาฬแล้ว ไม่ใช่เพราะอิ่มตัวกับงานที่ทำ แต่เป็นเพราะมีผู้คนมากมายเกินไปที่กระหายอยากได้ภาพวาฬเพียงเพื่อลงเป็นโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นว่างานที่เขารักและทำมาตลอดหลายปีนั้น แทนที่จะทำให้คนเข้าใจวาฬมากขึ้น กลับกลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนอยากได้แต่ภาพสวย ๆ มาอวดกันในโลกโซเชียลโดยไม่คิดคำนึงถึงเรื่องอื่นเลย
หลายพื้นที่ในโลกเต็มไปด้วยคนที่หิวและกระหาย มีเรือนับสิบลำ คนนับร้อยที่ไปรุมล้อมวาฬ เพียงเพื่อสนองความต้องการทางโซเชียลของผู้คน ต่างแข่งกันตะโกนร้องกันสุดเสียงเพื่อให้คนทั่วโลกหันมาสนใจตนเองมากกว่าโฟกัสที่เนื้องานหรือธรรมชาติซึ่งเป็นเพียงฉากหลังอยู่ไกล ๆ
ทุกวันนี้ลุงโทนี่ยังคงดำน้ำอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของญี่ปุ่น ถ่ายภาพสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไปในทะเลญี่ปุ่นซึ่งเป็นบ้านของเขา ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ออกไปถ่ายวาฬเหมือนที่เคย ภาพปลาดาวที่กำลังปล่อยไข่ออกมาของเขาก็เพิ่งได้รับรางวัลใหญ่ที่สุดอย่าง WPY หรือ Wildlife Photographer of the Year ที่จัดขึ้นโดย Natural History Museum ของอังกฤษ เป็นเวทีประกวดภาพธรรมชาติรายการใหญ่ที่สุดของโลกเสมือนเวทีออสการ์เมื่อปลายปีก่อนนี้
โลกของเทคโนโลยีที่ก้าวไปข้างหน้าแบบก้าวกระโดดนั้นทำให้ผู้คนเข้าถึงการถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกัน ความเข้าใจในธรรมชาติกลับกลายเป็นสิ่งที่ห่างไกลออกไป ผู้คนส่วนใหญ่ออกเดินทางไปเพียงเพื่อ ‘ล่าภาพ’ เหมือนกับพรานผิวขาวในโลกยุคร้อยกว่าปีก่อนที่เดินทางไปแอฟริกาเพื่อหา Trophy มาแขวนประดับฝาบ้าน อยากได้ภาพ อยากได้วิดีโอ เพียงเพื่อเอามาทำคอนเทนต์ สร้างโปรไฟล์ให้ตนเอง โดยที่ธรรมชาติเบื้องหน้ากลายเป็นเพียงฉากหลังอันพร่าเลือนและหลุดไปจากระยะโฟกัสของเลนส์กล้องไปในที่สุด
ทุกวันนี้เรามีภาพสวย ๆ มากมายในโลกโซเชียล แต่ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าความเข้าใจในธรรมชาติดูจะไม่เพิ่มขึ้น บางทีกลับถูกเบี่ยงประเด็นไปจากภาพสวย ๆ ที่ทำให้เราเข้าใจไขว้เขว บิดเบือนหรือเบี่ยงประเด็นให้เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ใจของคนที่อยู่หลังกล้อง เพื่อแลกกับนิ้วโป้งสีฟ้า หัวใจสีแดง และยอด Engagement ที่นำมาใช้วัดผลว่ามีคนสนใจในตัวเขามากแค่ไหน ก่อนจะเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นไปเป็นชื่อเสียง เงินทอง และรายได้ในที่สุด
สิ่งที่ผมเห็นในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาหลังจากการระเบิดของสื่อโซเชียลมีเดีย คือช่างภาพหลาย ๆ คนที่เคยทำงานของเขามานานนับสิบปีในหลาย ๆ พื้นที่ กลับกลายเป็นฝ่ายยอมจำนนกับความสับสนวุ่นวายของโลกที่เต็มไปด้วยเสียงตะโกนของผู้คน เป็นฝ่ายที่ยอมถอยออกมา แล้วกลับไปหาพื้นที่สงบสุขของตนเอง ปล่อยให้โลกที่หิวกระหายคอนเทนต์นั้นดำเนินการต่อไป
การใช้ชีวิตเป็นช่างภาพเดินทางไปมาที่ต่าง ๆ รอบโลก เพื่อหยุดช่วงเวลาสำคัญนั้นไว้บนแผ่นฟิล์มหรือไฟล์ดิจิทัลมาเนิ่นนานกว่าค่อนชีวิต บางทีก็เป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะหลายครั้งหลายหนที่เราเพียรพยายามหยุดโมโมนต์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าไว้มากมาย โดยรู้อยู่เต็มอกว่าไม่มีใครหยุดวันเวลาและความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้ที่ดำเนินต่อไปอย่างซื่อสัตย์ในชีวิตจริงได้…
หลายสิ่งหลายอย่างซึ่งเคยเป็นความทรงจำที่ดี กลับกลายเป็นเศษซากแห่งความอุดมสมบูรณ์ แทบไม่มีที่ใดบนโลกที่เรากลับไปแล้วพบว่ามันดีขึ้น อุดมสมบูรณ์ขึ้น เหมือนครั้งแรก ๆ ที่ได้ไปพบเห็น ภาพของความงดงามหลาย ๆ ภาพเป็นเพียงประจักษ์พยานถึงความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้สำหรับผู้มาก่อน ในขณะที่ผู้มาทีหลังนั้นยังคงตื่นเต้นกับประสบการณ์แปลกใหม่
ในภาพยนตร์เรื่อง Perfect Days ผลงานล่าสุดของ Wim Wenders พูดถึงชายวัยชราที่ทำงานขัดห้องน้ำสาธารณะในกรุงโตเกียว เขาตั้งใจทำงานเล็ก ๆ ที่คนมองไม่เห็นด้วยการขัดห้องน้ำให้สะอาดแม้ในมุมที่ไม่มีใครเห็น กระทั่งเพื่อนร่วมงานวัยหนุ่มของเขายังบ่นออกมาว่าลุงจะตั้งใจขัดห้องน้ำไปทำไม เดี๋ยวคนเข้ามาใช้ก็สกปรกอีก ชายชราหันมายิ้มและส่ายหัว แต่ไม่ตอบอะไร ก้มหน้าก้มตาทำงานของเขาต่อไป
ในช่วงเวลาพักเที่ยงของทุก ๆ วัน คนขัดห้องน้ำนั้นจะมานั่งกินอาหารใต้ร่มไม้ใหญ่เพียงลำพัง นั่งมองแสงที่ลอดผ่านร่มเงาของกิ่งไม้ และยกกล้องฟิล์มเก่า ๆ ขึ้นมาเพื่อพยายามบันทึกช่วงเวลาที่แสงนั้นส่งประกายวิบวับผ่านเงาของร่มไม้
ชีวิตเป็นเรื่องซ้ำซาก ในแต่ละช่วงเวลาล้วนมีโมเมนต์งดงาม ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองเห็นหรือสัมผัสได้ไหม หลาย ๆ คนเดินผ่านมันไป ในขณะที่บางคนนั่งมองเงาของแสงที่เปล่งประกายลอดผ่านร่มเงาไม้ลงมาเพียงแวบเดียว ก่อนที่มุมแสงของพระอาทิตย์นั้นจะเปลี่ยนไป
สิ่งที่น่าเศร้าอย่างหนึ่งของช่างภาพ คือในบางครั้งเราพยายามเก็บโมเมนต์ที่งดงามไว้ในบนแผ่นฟิล์ม ภาพถ่ายที่เก็บไว้ในกล่อง แม้กระทั่งในไฟล์ดิจิทัลที่เก็บไว้ใน Hard Disk หรืออะไรก็ตาม แต่มีที่เดียวที่จะเก็บความรู้สึกนั้นไว้ได้ดีที่สุด คือในความทรงจำของเราเอง
สุดท้ายแล้ว เราก็พบว่าวันเวลาเลื่อนไหลผ่านร่างของเราไป โดยไม่มีอะไรย้อนกลับมาได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือแค่ยิ้ม หัวเราะ หรือร้องไห้ไปกับมัน เมื่อหวนกลับมานึกถึงช่วงเวลานั้น ๆ ที่ผ่านเข้ามาและออกไปจากชีวิตอันซ้ำซากของเราเอง