ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำว่า Soft Power หรืออำนาจละมุนได้เข้าสู่กระแสการรับรู้และความคิดหลักของโลก และได้รับการจับตามองจากทุกฝ่าย เพราะแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ส่งผลเป็นรูปธรรมได้
สำหรับตัวผมเองแล้วคงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่าได้สัมผัสและตระหนักถึงอานุภาพของ Soft Power ที่ไร้พรมแดนด้วยตัวเองอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสคลั่งไคล้เกาหลีเริ่มแผ่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะความนิยมละครโทรทัศน์เรื่อง แดจังกึม ตามต่อมาด้วย จูมง ก่อนที่กระแส K-POP จะผงาดขึ้นสู่เวทีโลกอย่างชัดเจนด้วยบทเพลงที่แปลกใหม่และแหวกแนวอย่าง Gangnam Style ของ PSY ที่เคยทำสถิติครองแชมป์คลิปที่มียอดวิวสูงที่สุดใน YouTube ด้วยยอด 2,600 กว่าล้านวิว
ช่วงนั้นผมทำงานอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่บาห์เรนและอิหร่าน แม้ว่าโลกจะยังไม่ได้เชื่อมต่ออย่างใกล้ชิดและรวดเร็วเหมือนเช่นทุกวันนี้ แต่กระนั้น กระแสความคลั่งไคล้เกาหลีก็เข้มข้นและเข้าขั้นถึงขนาดที่ไม่ว่าผมและครอบครัวจะไปที่ไหนก็จะได้รับการเรียกขานเป็นจูมงหรือแดจังกึมเสมอ และภาพหนึ่งที่ยังตราตรึงใจผมอยู่ คือในขบวนรถไฟใต้ดินกลางกรุงเตหะรานที่แออัดแน่นขนัดไปด้วยผู้โดยสาร มีพ่อค้าแผงลอยคนหนึ่งเดินฝ่าฝูงชนเร่ขายสินค้าที่ประดับประดาด้วยภาพของดารานำของละครเกาหลีทั้ง 2 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสมุด ปากกา ดินสอ ยางลบ พัด โปสต์การ์ด ฯลฯ และได้รับการตอบรับจากผู้คนรอบข้างอย่างคึกคัก
ล่าสุด ในช่วงที่ผมทำงานอยู่ที่ตุรกีก่อนช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วันหนึ่งก็ได้รับบัตรเชิญจากเพื่อนที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี หรือ Korean Cultural Center ให้ไปร่วมงานเปิดเทศกาลดนตรีเกาหลีในกรุงอังการา ในวันงาน ศูนย์ประชุมในกรุงอังการาที่เป็นสถานที่จัดงานนั้นแน่นขนัดไปด้วยเยาวชนตุรกีกว่า 700 คน ทุกคนแต่งกายและทำผมตามแบบนักร้องและดาราเกาหลีที่พวกเขาชื่นชอบ ซึ่งทำให้ผมประทับใจในระดับหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจและประทับใจยิ่งกว่า คือในช่วงพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการซึ่งเอกอัครราชทูตเกาหลีประจำกรุงอังการาได้รับเชิญให้ขึ้นไปกล่าวเปิดงานบนเวทีนั้น
ทันทีที่ท่านทูตกล่าวเป็นภาษาเกาหลีจบเป็นท่อน ๆ เยาวชนชาวตุรกีที่นั่งอยู่ในศูนย์ประชุมส่วนใหญ่ปรบมือตอบรับทุกจังหวะทุกตอนด้วยความเข้าใจโดยไม่ต้องรอให้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาตุรกี นอกจากนั้น ในช่วงประกวดร้องเพลงและคัฟเวอร์แดนซ์ เยาวชนตุรกีเหล่านี้ก็ร้องเพลงเป็นภาษาเกาหลีและเต้นตามนักร้องคนโปรดได้อย่างน่าชื่นชม ทำให้เห็นว่า Soft Power ของเกาหลีแผ่ขยายและซึมลึกขนาดไหน
ซึ่งหากจะกล่าวว่าในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา เกาหลีถือเป็นประเทศผู้นำกระแสการใช้ Soft Power ผ่านกระแส K-drama และ K-POP อย่างมีนัยสำคัญและมีประสิทธิภาพยิ่งในระดับโลก ก็ต้องบอกว่าผู้เล่นใหม่ที่น่าจับตามองในเวที Soft Power คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากตุรกีหรือ ‘ตุรเคีย’ นั่นเอง
อนึ่ง กลไกหนึ่งที่หลายประเทศใช้ในการขับเคลื่อนและดำเนิน Soft Power ให้เป็นผลคือศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งหลายประเทศมีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมมายาวนานแล้ว อาทิ ฝรั่งเศสที่ก่อตั้ง L’Alliance Française ขึ้นตั้งแต่ปี 1883 สหราชอาณาจักรที่ก่อตั้ง British Council ขึ้นในปี 1934 หรือสเปนที่ก่อตั้ง Instituto Cervantes ขึ้นในปี 1991 ในขณะที่ในยุคหลัง ๆ ก็มีจีนที่ก่อตั้ง Confucius Institute ขึ้นในปี 2004
ในขณะที่เกาหลีก่อตั้งหน่วยงานการบริการสารนิเทศเกาหลีโพ้นทะเล หรือ Korean Overseas Information Service (KOIS) ขึ้นตั้งแต่ปี 1971 ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น Korean Culture and Information Service (KOCIS) หรือศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีในรูปแบบที่คุ้นเคยเช่นในปัจจุบันในปี 2008
ส่วนตุรกีนั้น ตลอดช่วงเวลากว่า 4 ปีที่ผมทำงานอยู่ที่นั่นก็ได้ประจักษ์ว่าตุรกีเป็นประเทศหนึ่งที่หันมาให้ความสนใจกับการส่งเสริม Soft Power และดำเนินการอย่างจริงจัง โดยแต่เดิมตุรกีอาศัยองค์กรภาครัฐต่าง ๆ ขับเคลื่อนภารกิจและมิติต่าง ๆ ของ Soft Power ภายใต้ขอบเขตอำนาจของแต่ละองค์กร ซึ่งเป็นการดำเนินการในลักษณะที่คล้ายคลึงกับไทย อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว องค์กรเสี้ยววงเดือนแดง (Kizilay) ที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบริหารจัดการสาธารณภัยทั่วโลก กรมกิจการศาสนา (Diyanet) ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและจริยธรรมอิสลาม ให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับศาสนาและการบริหารจัดการศาสนสถาน รวมถึงจัดสรรทุนการศึกษาในทุกระดับและทุกสาขา ตั้งแต่มัธยมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัยในปริญญาตรี-โท-เอก ปีละกว่า 2,000 ทุน โดยในแต่ละปีมีนักศึกษาจากกว่า 100 ประเทศสมัครชิงทุนการศึกษา และหน่วยงานความร่วมมือและการประสานงานตุรกี (Turkish Cooperation and Coordination Agency – TİKA) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลตุรกีดำเนินนโยบาย ‘ปราศจากปัญหากับเพื่อนบ้าน (Zero Problem with Neighbours)’ ในช่วงต้นยุค 2000 โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคบอลข่านที่มีความเชื่อมโยงกับตุรกีจากมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตั้งแต่ยุคสมัยที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน ก็ทำให้เริ่มชัดเจนขึ้นว่าการอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันอย่างยาวนานและความรุ่งเรืองของจักรวรรดิออตโตมันในอดีตอาจมีส่วนบ่มเพาะความคลางแคลงใจและกลายเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่ยังทิ่มแทงใจประเทศเพื่อนบ้านในยุคปัจจุบันได้
นั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมของตุรกีชื่อ สถาบันยูนุส เอ็มเร (Yunus Emre Enstitüsü หรือ Yunus Emre Institute) ในปี 2007 เพื่อส่งเสริม Soft Power ของตุรกีแบบองค์รวมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยที่ภูมิภาคบอลข่านเป็นเป้าหมายแรก ๆ และเป้าหมายหลักของการดำเนินนโยบายส่งเสริมอำนาจละมุนเพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพและความเข้าใจอันดีต่อตุรกี โดยศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมตุรกีในต่างประเทศแห่งแรกได้รับการจัดตั้งขึ้นที่กรุงซาราเยโว ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ในปี 2009 และแม้ว่าในปัจจุบันสถาบันยูนุส เอ็มเร จะมีศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแล้วกว่า 50 แห่งทั่วโลก แต่ก็อยู่ในภูมิภาคบอลข่านเกือบ 20 แห่ง
การเลือกชื่อ ยูนุส เอ็มเร (Yunus Emre) มาใช้เป็นชื่อสถาบันที่ผลักดันภารกิจด้าน Soft Power ของตุรกีนับว่ามีนัยสำคัญ เพราะยูนุส เอ็มเร (เกิดประมาณปี 1240 เสียชีวิตประมาณปี 1321) เป็นนักปราชญ์และกวีเชื้อสายเติร์กและผู้นำจิตวิญญาณของศาสนาอิสลามลัทธิซูฟี (Sufi – เน้นการเข้าถึงพระเจ้าผ่านการภาวนาจิต) ถือเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อภาษา ปรัชญา วรรณกรรม และวัฒนธรรมเติร์กมากที่สุดคนหนึ่ง
ทั้งนี้ เพราะในยุคที่วรรณกรรมแทบทั้งหมดใช้ภาษาเปอร์เซียหรือภาษาอาหรับ ยูนุส เอ็มเร เป็นคนแรกที่ใช้ภาษาเติร์กในการประพันธ์ผลงาน โดยอิงแก่นของศาสนาอิสลามและนำเสนอเกี่ยวกับความรักอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ต่อพระเจ้า ชะตากรรมของมนุษย์ และความรู้สึกอันลึกซึ้งและงดงาม ทำให้ผลงานได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในดินแดนอนาโตเลียกลางและอนาโตเลียตะวันตก (ตุรกีในปัจจุบัน) อีกทั้งยังนำเพลงพื้นบ้าน นิทาน สุภาษิต คำพังเพย และตำนานเล่าขานภาษาเติร์กที่ใช้โดยชนเผ่าเชื้อสายเติร์กที่แต่เดิมมักถ่ายทอดในรูปแบบการท่องจำและบอกเล่าปากต่อปากมาเข้าสู่วรรณกรรมกระแสหลัก
ดังนั้น ในมุมมองของกลุ่มชนชาติที่สืบเชื้อสายชาวเติร์กแล้ว ยูนุส เอ็มเร จึงมีคุณูปการและความสำคัญต่อกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่ใช้ภาษาเติร์กไม่น้อยไปกว่าที่ มิเกล เด เซร์บันเตส (Miguel de Cervantes) มีต่อภาษาและการสืบทอดวัฒนธรรมสเปน หรือ ขงจื๊อ (Confucius) มีต่อโลกที่ใช้ภาษา ปรัชญาและการสืบทอดวัฒนธรรมจีน
รัฐบาลตุรกีเชิดชูยูนุส เอ็มเร เป็นตัวแทนของค่านิยมอันดีงามของมนุษย์ชาติทั้งในแง่ของการแสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และส่งเสริมภาษาตุรกีและสันติภาพในสังคมผ่านบทกวีของตนเองเพื่อสื่อสารไปยังเพื่อนร่วมโลกให้ดำรงชีพอยู่ในความผาสุกตามหลักปรัชญาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณค่าของความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นค่านิยมร่วมของมนุษยชาติ โดยไม่แบ่งแยกศาสนา ภาษา เชื้อชาติ
โดยพื้นฐานแล้ว ภารกิจหลักของสถาบันยูนุส เอ็มเร คล้ายคลึงกับศูนย์วัฒนธรรมของประเทศอื่น ๆ อาทิ การส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนและการเสริมสร้างความนิยมตุรกีโดยทำหน้าที่เผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมของตุรกีทั้งวัฒนธรรมโบราณและร่วมสมัย รวมถึงภาษา งานหัตถกรรม วรรณกรรม ละคร ภาพยนตร์ ภาพถ่าย อาหาร การจัดคอนเสิร์ตและนิทรรศการ เวิร์กช็อป การประชุมทางวิชาการ การจัดการสอนศิลปะเพื่อนำเสนอวัฒนธรรมของตุรกี เพื่อผลักดันเป้าหมาย 5 ประการ คือการทูตเชิงวัฒนธรรม (Cultural Diplomacy) การเสริมสร้างศักยภาพองค์กร (Institutional Capacity) การมีปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม (Cultural Interaction) หลักสูตรภาษาตุรกี (Turkish Courses) และการทูตเชิงวิทยาศาสตร์ (Science Diplomacy) โดยดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ครอบคลุมเป้าหมายทั้ง 5 ประการข้างต้น ปีละเกือบ 1,000 โครงการทั่วโลก
สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจในการดำเนินการของสถาบันยูนุส เอ็มเร คือนอกจากจะส่งเสริมวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมผ่านแนวคิด ‘เรื่องราวใหม่ของตุรกี (New Story of Turkey)’ โดยใช้วลีเด็ดว่า ตุรกีมีเรื่องราวจะแบ่งปัน (Turkey has a story to share) อาทิ การสอนภาษา การจัดพิมพ์และเผยแพร่หนังสือที่แปลจากภาษาตุรกี การจัดเทศกาลตุรกี เทศกาลภาพยนตร์ การแสดงทางวัฒนธรรมต่าง ๆ การสอนศิลปะ Ebru ซึ่งเป็นการวาดภาพลายหินอ่อนแบบดั้งเดิมที่สะบัดสีวาดลวดลายลงบนน้ำแล้วพิมพ์ภาพจากน้ำลงบนวัสดุต่าง ๆ การจัดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับอาหารและกาแฟตุรกี หรือการจัดการสอนและการแข่งขันการยิงธนูแบบดั้งเดิม เพื่ออนุรักษ์ศิลปะการยิงธนูแบบดั้งเดิมของชนชาวเติร์ก
ยังมีความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ที่มุ่งเน้นสาขาที่เฉพาะเจาะจงโดยเชื่อมโยงกับปูชนียบุคคลของตุรกีที่มีความสามารถโดดเด่นในสาขานั้น ๆ เช่น ด้านวิศวกรรมก็มีการจัดโครงการโรงเรียนวิศวกรซินันภาคฤดูร้อน (Architect Sinan Summer School) ซึ่งเชื่อมโยงกับ มีมาร์ ซินัน (Mimar Sinan) สถาปนิกและวิศวกรโยธาผู้ยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิออตโตมัน ผู้ออกแบบและก่อสร้างโครงการที่ยิ่งใหญ่ในจักรวรรดิออตโตมันกว่า 300 แห่ง ด้านวรรณกรรมก็มีโรงเรียนด้านวรรณกรรม อาห์เมด ฮามิด ทันพึนาร์ ภาคฤดูร้อน (Ahmet Hamdi Tanpınar Turkish Literature Summer School) ซึ่งเชื่อมโยงกับ อาห์เมด ฮามิด ทันพึนาร์ (Ahmet Hamdi Tanpınar) นักเขียนและกวีชาวเติร์กผู้โด่งดังและสร้างสรรค์ผลงานระดับมาสเตอร์พีซของตุรกีหลายชิ้น หรือด้านโบราณคดีก็มีโรงเรียนด้านโบราณคดีทรอยภาคฤดูร้อน (Troy Archaeology Summer School) ซึ่งเชื่อมโยงกับกรุงทรอย (Troy) โบราณสถานเก่าแก่ที่เป็นที่รู้จักจากตำนานม้าไม้แห่งเมืองทรอย เป็นต้น
นอกจากนั้น สถาบันยูนุส เอ็มเร ยังริเริ่มโครงการที่จะทำให้ตุรกีมีบทบาทในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญด้วย อาทิ การก่อตั้งสถาบันการทูตวัฒนธรรม (Academy of Cultural Diplomacy) เพื่อเป็นศูนย์กลางและกลไกการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการทูตวัฒนธรรมทั้งในประเทศตุรกีเองและในต่างประเทศ เพื่อให้มีการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของศตวรรษที่ 21 อย่างทันท่วงที หรือโครงการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการแห่งตุรกี (Academic & Scientific Cooperation Portal of Turkey – TABIP) เพื่อเป็นกลไกในการดำเนินนโยบายการทูตเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างตุรกีกับนานาประเทศในด้านวิชาการและวิทยาศาสตร์ให้เกิดการถ่ายโอนความรู้อันจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพของบุคลากรผ่านการส่งเสริมการวิจัย การต่อยอดความรู้เพื่อให้เกิดความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความรู้ในเวทีระดับโลกและเผยแพร่พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และการเรียนรู้ของตุรกีออกไปสู่ประชาคมโลก
ในช่วงเวลาที่ปฏิบัติราชการที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ผมได้บริหารงานด้านต่าง ๆ รวมไปถึงงานสารนิเทศและการทูตเชิงวัฒนธรรมด้วย ทำให้ได้เข้าร่วมกิจกรรมและการสัมมนาของสถาบันยูนุส เอ็มเร อย่างต่อเนื่อง และติดตามเรียนรู้จากการดำเนินการ Soft Power ของสถาบันฯ อย่างใกล้ชิด ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ผมรู้สึกชื่นชมและประทับใจกับแพสชันและความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่และสถาบันฯ ในการขับเคลื่อน Soft Power ของตุรกีเสมอ จนเลือกที่จะทำการศึกษาการทำงานของสถาบันฯ สำหรับกรอบรายงานส่วนบุคคล (Individual Study : IS) ในหลักสูตรนักบริหารการทูต (นบท.) รุ่นที่ 11 ซึ่งจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ
เมื่อผมเขียนงานวิจัยเสร็จและเล่าให้เพื่อนที่ทำงานอยู่ที่สถาบันยูนุส เอ็มเร ฟัง เขาก็ดีใจมากและนัดผมให้ไปเยี่ยมสำนักงานใหญ่ของสถาบันฯ ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารเก่าแก่กลางกรุงอังการา นัยว่าจะชวนดื่มชา กาแฟเหมือนที่ผ่าน ๆ มา แต่เมื่อไปถึง เขาก็บอกผมว่า ศ.ดร.เชเรฟ อะเทช (Prof.Dr.Şeref Ateş) ประธานสถาบันฯ รอพบผมอยู่ ทำให้ผมได้เข้าเยี่ยมคารวะ ดร.อะเทช อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก พวกเราหารือและแลกเปลี่ยนมุมมองและเห็นพ้องว่าไทยกับตุรกีมี Soft Power ที่เข้มแข็งและคล้ายคลึงกันในหลายด้าน
จากนั้น เพื่อนก็พาไปชมมุมต่าง ๆ ของสำนักงานใหญ่ รวมไปถึงการรับฟังการบรรยายสรุปโดยทีมงานขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายการทูตเชิงวิทยาศาสตร์ TABIP ซึ่งแม้ห้องทำงานของอาคารเก่าแก่อายุไม่ต่ำกว่า 70 – 80 ปีแห่งนั้นจะเต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากมาย แต่ทุกอย่างก็ดูลงตัวตามรูปแบบ Soft Power ตุรกีที่ผสมผสานอดีต ปัจจุบัน และอนาคตตามแบบฉบับและเอกลักษณ์ของตุรกี
เป็นที่ประจักษ์ว่ากลยุทธ์การดำเนิน Soft Power ของตุรกีที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก ดังนั้น ไทยซึ่งมีต้นทุน Soft Power ที่คล้ายคลึงกับตุรกี ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม กีฬา ภาษา อาหาร ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ก็อาจเรียนรู้จากประสบการณ์ของสถาบันยูนุส เอ็มเร ได้ เผื่อว่าสักวันหนึ่งเราจะมีโครงการโรงเรียนภาคฤดูร้อนด้านวรรณศิลป์สุนทรภู่ หรือโครงการโรงเรียนภาคฤดูร้อนด้านประติมากรรมศิลป์ พีระศรี บ้างก็เป็นได้
ข้อมูลอ้างอิง
- รายงานการศึกษาส่วนบุคคล เรื่องรูปแบบและการดำเนินการขององค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริม Soft Power Diplomacy กรณีศึกษาของ Yunus Emre Institute ของประเทศตุรกี, ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล : image.mfa.go.th/mfa/0/yZ0EO327fd/nbt/nbt11/IS/11025.pdf
- www.yee.org.tr/en
- www.yee.org.tr/en/news/yunus-emre-and-turkish-world
- www.dailysabah.com/diplomacy/2017/07/24
- www.dailysabah.com/turkey