“ผมเกือบจะหลบไปบวชแล้ว อยากหนีไปปลีกวิเวกสักพักหนึ่ง” อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ เมื่อถามถึงเหตุการณ์ในสัปดาห์แรกที่ภาพยนตร์ซึ่งเขาฟูมฟักมานานกว่า 2 ปีเข้าฉาย 

อาจเพราะหน้าหนังที่ขาย ‘ดนตรีไทย’ เป็นหลัก ส่งผลให้ผู้ชมไม่น้อยพากันขยาด ไม่ยอมตีตั๋วเข้าไปชมในโรงภาพยนตร์ แทบทุกโรงมีผู้ชมไม่ถึง 10 คน กระทั่งเกือบจะถูกถอดออกจากโปรแกรมเพื่อหลีกทางให้หนังที่มีเรตติ้งสูงกว่าได้ทำรอบ

ทว่าในนาทีชี้เป็นชี้ตาย ปาฏิหาริย์ก็บังเกิดขึ้น…

เมื่อผู้ชมอันน้อยนิดที่แวะเวียนไปรับชมต่างช่วยกันโหมกระพือถึงความดีงามของหนังนอกกระแสเรื่องนี้ จนเกิดปรากฏการณ์ ‘โหมโรงฟีเวอร์’ มีผู้ชมหลั่งไหลเข้าโรงหนังไม่ขาดสาย หลายคนรับชมซ้ำ 3 – 4 รอบ จนอายุของ โหมโรง ในโรงภาพยนตร์ถูกยืดไปอีกเท่าตัว และรอดการขาดทุนได้อย่างไม่น่าเชื่อ

แต่ที่มากกว่านั้นคือชีวิตของ ศร พระเอกของเรื่อง ยังปลุกกระแสการเล่นดนตรีไทยให้ลุกโชนในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ระนาดไทยกลายเป็นเครื่องดนตรีในฝันที่หลายคนอยากทดลองเล่น ชมรมดนตรีไทยตามโรงเรียนต่าง ๆ ที่เคยโหรงเหรงต่างคึกคักขึ้นมาทันตา เนื่องในโอกาสที่ โหมโรง เข้าฉายครบ 20 ปี ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงชักชวนผู้กำกับมือรางวัล มาย้อนความทรงจำถึงจุดเริ่มต้น เส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ก่อนที่หนังเรื่องนี้จะกลายเป็นตำนานครั้งสำคัญที่แทบไม่เกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ไทยอีกเลย

หากพูดถึงอิทธิสุนทร คนในยุค 80 – 90 ต่างรู้จักเขาดีในฐานะสมาชิกของกลุ่มซูโม่สำอางแห่งรายการ เพชฌฆาตความเครียด แถมยังเป็นผู้กำกับรุ่นบุกเบิกของรายการโทรทัศน์ที่โด่งดังอย่าง วิก 07 และ พลิกล็อค อีกต่างหาก

ในโลกของภาพยนตร์ ชื่อของเขาถูกจดจำว่าเป็นหนึ่งในทีมเขียนบทหนังเรื่อง บุญชู ของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ก่อนจะก้าวมาเป็นผู้กำกับหนังเรื่องแรก ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด ภาพยนตร์ตลกเสียดสีสังคมที่แม้จะมีรายได้ไม่มาก แต่ก็ได้เสียงชื่นชมจากผู้คนในวงการ จนคว้า 4 รางวัลใหญ่ของชมรมวิจารณ์บันเทิง 

แต่หลังจากนั้นเรื่องราวของอิทธิสุนทรกับหนังไทยกลับเงียบลง เพราะเขาหันไปทำละครโทรทัศน์และงานโฆษณาเต็มตัว กระทั่งเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2544 จึงตัดสินใจหวนกลับมาทำภาพยนตร์อีกครั้ง

เวลานั้น ซูโม่อิท มีโจทย์หนึ่งที่อยู่ในใจและอยากนำมาต่อยอด คือรากเหง้าและตัวตนของคนไทย หลังจากประเทศชาติบอบช้ำอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อ พ.ศ. 2540 

“เรามีคำถามคาใจว่า ประเทศเราเดินหลงทางหรือยังไง จากที่เคยป่าวประกาศว่าจะเป็นเสือเศรษฐกิจของเอเชีย แต่ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นประเทศที่เริ่มต้นวิกฤตจนลุกลามไปทั่วโลก เหมือนกับว่า ทำไมเราถึงอยากเป็นคนอื่น แต่ไปไม่เป็น และพอจะไปก็ไปแบบมั่ว ๆ จนประเทศเกือบล่มสลาย แต่ตอนนั้นยังไม่มีไอเดียหรอกว่าจะพูดถึงเรื่องนี้ลงในงานของเราได้อย่างไร”

เริ่มแรกอิทธิสุนทรตั้งใจจะทำหนังรักตลก โดยวางบทพ่อนางเอกเป็นนักดนตรีไทยตกอับ เพราะได้แรงบันดาลใจจากการเห็นวงดนตรีไทยที่บรรเลงอยู่ตามสวนสาธารณะแล้วไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าใดนัก ระหว่างนั้นเองเขาเริ่มค้นคว้าข้อมูลตามร้านหนังสือต่าง ๆ กระทั่งมาพบกับหนังสือ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์ เขียนโดย อานันท์ นาคคง และ อัษฎาวุธ สาคริก ซึ่งพอพลิกดูคร่าว ๆ แล้วน่าสนใจ จึงซื้อกลับไปอ่านต่อ

หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นนักดนตรีไทยระดับบรมครูที่มีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 – 9 ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการเล่นระนาดเอก ถือเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนพลิกโฉมดนตรีไทยให้ร่วมสมัยยิ่งขึ้น ทั้งเทคนิคการตีระนาดใหม่ ๆ ตั้งแต่การจับไม้ระนาดแบบต่าง ๆ เพื่อให้ได้เสียงที่แตกต่างจากเดิม หรือการตีแบบสะบัดและรัวขยี้ ซึ่งผู้ใหญ่ในยุคนั้นต่างค่อนแคะว่าเหมือนหมาสะบัดน้ำร้อน แต่เมื่อนานวัน วิธีการตีระนาดแบบนี้ก็กลายเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน

ที่สำคัญ ท่านยังเป็นผู้นำเครื่องดนตรีจากชวาอย่างอังกะลุงเข้ามาเผยแพร่เป็นคนแรก เป็นผู้ผลักดันนักดนตรีไทยรุ่นใหม่ ๆ เข้าสู่วงการ รวมทั้งเป็นต้นคิดการบันทึกเพลงไทยออกเป็นโน้ต 9 เสียงเพื่อยกมาตรฐานของดนตรีไทยไปสู่ความเป็นสากล

หากแต่ระหว่างทางในชีวิตหลวงประดิษฐไพเราะกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย ทั้งการประชันดนตรีกับนักระนาดรุ่นใหญ่ ซึ่งเขาหวาดกลัวถึงขั้นหนีไปอยู่วงปี่พาทย์ในต่างจังหวัด แต่สุดท้ายก็กลับมาเอาชนะได้

เช่นเดียวกับช่วงบั้นปลายชีวิตนั้นตรงกับยุค ‘เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย’ โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามยกระดับศิลปวัฒนธรรมไทยให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ มีการตรากฎหมายมาควบคุมเรื่องดนตรีไทย อาทิ นักดนตรีต้องมีใบอนุญาต ห้ามวางและนั่งเล่นเครื่องดนตรีบนพื้น เวลาจะแสดงละครใด ๆ ต้องส่งบทให้กรมศิลปากรพิจารณาก่อนอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งหลวงประดิษฐไพเราะรู้สึกอึดอัดกับนโยบายนี้มาก จึงประพันธ์เพลง แสนคำนึง พร้อมกับแต่งเนื้อเพลงระบายความเคียดแค้น เสียแต่ว่ายังไม่ทันจะได้ร้อง บุตรสาวกลับฉีกทำลายทิ้งไปก่อน เพราะเกรงว่าคุณพ่อจะถูกดำเนินคดี

“อ่านชีวประวัติของท่านแล้วมันฟุ้งซ่านแบบคนทำหนัง อ่านแล้วสนุก เราเห็นภาพตื่นเต้น เห็นฉากประทับใจที่สอดแทรกจินตนาการเพิ่มเติมได้ตลอดทั้งเรื่อง อีกอย่างคือมีประเด็นตรงกับสิ่งที่เราตั้งคำถามมาตั้งแต่ต้มยำกุ้ง เพราะชีวิตของหลวงประดิษฐฯ เดินผ่านยุคของการปฏิวัติวัฒนธรรมสมัย จอมพล ป. ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งผมคิดว่าเหตุการณ์นี้เป็นข้อต่อสำคัญของทัศนคติคนไทยที่มีต่อวัฒนธรรมเดิมและวัฒนธรรมใหม่ อีกทั้งส่งผลต่อเนื่องมาถึงคนรุ่นนั้นและคนรุ่นต่อ ๆ มาด้วย

“อีกมุมหนึ่ง เราถามตัวเองว่า ทำไมถึงไม่เคยได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ มันน่าจะอยู่ในระบบการศึกษาด้วยซ้ำ แต่เราเพิ่งมารู้ว่าเคยมีผู้นำพยายามจะสร้างวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งในความเข้าใจของเรา วัฒนธรรมสร้างจากกลุ่มคนหรือใครบางคนไม่ได้ วัฒนธรรมมีชีวิตของตัวเองที่จะเติบโตและเป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคมทั่วไป แต่นี่เป็นลักษณะกึ่งบังคับ และไม่เพียงเรื่องดนตรีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องภาษา การแต่งกาย ชีวิตความเป็นอยู่อีกด้วย จึงถือเป็นเรื่องที่น่าจะนำมาถ่ายทอด”

นอกจากนี้ อิทธิสุนทรยังสังเกตเห็นว่าคนไทยส่วนมากไม่รู้จักนักดนตรีไทยหรือเพลงไทยเดิม อย่างตัวเขาเองก็รู้จักเพียงแค่เพลง ค้างคาวกินกล้วย กับ ลาวดวงเดือน เท่านั้น แต่กลับรู้จักนักดนตรีต่างประเทศหลายคน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องราวของพวกเขาถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ เช่น คนทั่วโลกรู้จัก Mozart คีตกวีเอกมากขึ้นผ่านหนังเรื่อง Amadeus หรือรู้จักตำนานของเพลงบลูส์จากหนัง Crossroads เพราะฉะนั้น คงจะดีหากมีภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องครูดนตรีไทยสักคน

แม้เวลานั้นอิทธิสุนทรจะไม่มั่นใจในการหยิบยกเรื่องราวของบรมครูท่านนี้ขึ้นมาทำเป็นหนังใหญ่ แต่จุดพลิกผันที่ทำให้เขาเริ่มคิดว่าตัวเองมาถูกทาง เกิดขึ้นในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2544 หลังจากได้รับชมการแสดงของวง Bangkok Symphony Orchestra ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งวันนั้นมีเพลงเอกอย่าง คอนแชร์โตมหาราชา ผลงานของ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ซึ่งประพันธ์คอนแชร์โตเพื่อโซโลระนาดโดยเฉพาะ

ภาพที่เขาเห็น คือระนาดเอกรางหนึ่งวางเด่นอยู่หน้าเครื่องดนตรีออร์เคสตราเกือบร้อยชิ้น เสียงกระหึ่มของออร์เคสตราหนุนเสริมเสียงเจิดจ้าของระนาดได้อย่างลงตัว บางช่วงอ่อนโยน บางจังหวะดุดันจนแทบมองไม่เห็นหัวไม้ ตลอดความยาว 19 นาทีของการแสดง ทำให้อิทธิสุนทรรู้สึกตกตะลึงในความมหัศจรรย์ของเครื่องดนตรีชนิดนี้

และผลจากความประทับใจนี้เอง ทำให้เขาแจ้งโปรดิวเซอร์และทีมงานทั้งหมดว่าจะพักโปรเจกต์หนังรักที่ทำค้างไว้ เพื่อเปลี่ยนมาทำหนังพีเรียดชีวิตของครูดนตรีไทยแทน แม้จะมีเสียงทักท้วงจากคนรอบข้างมากมาย แต่เขากลับเชื่อมั่นว่าเรื่องราวที่ดีจะสร้างปาฏิหาริย์ได้อย่างแน่นอน

หากเบื้องหลังความสนุกของเรื่องราวชีวิตหลวงประดิษฐไพเราะคือการที่ท่านต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายในชีวิต เส้นทางของหนังเรื่อง โหมโรง ก็คงไม่ต่างกัน เพราะกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเสร็จสมบูรณ์กลายเป็นหนังความยาว 104 นาที ต้องเผชิญกับปัญหานานัปการจนผู้กำกับเกือบถอดใจไปแล้ว

จริงอยู่ว่าสิ่งที่อิทธิสุนทรสนใจในตัวท่านครูมากที่สุดไม่ใช่เรื่องดนตรีไทย แต่คือประสบการณ์ในยุคเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรม ทว่าเมื่อคิดจะนำเสนอเรื่องของท่านบนแผ่นฟิล์มแล้ว จึงต้องศึกษาและเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีไทยให้มากที่สุด

เริ่มแรกเขาเข้าไปพูดคุยกับทายาทที่มูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ตลอดจนตระเวนไปตามร้านซีดีต่าง ๆ จนพบว่าเพลงไทยเดิมนั้นมีหลากหลายประเภท บางเพลงสนุกสนาน บางเพลงบีบหัวใจ แต่อีกหลายเพลงต่อให้พยายามเท่าใดก็ยังเข้าไม่ถึงอยู่ดี จากนั้นถึงเริ่มพัฒนาเค้าโครงเรื่อง ซึ่งเขาทำอยู่หลายรอบมาก กว่าที่ทุกอย่างจะลงตัว

“ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำหนังชีวประวัติหรือเปล่า แค่มองหาความเป็นไปได้ แล้วก็รู้แค่ว่าชีวิตท่านสนุก มีขึ้น มีลง อย่างตอนหนุ่มเป็นเรื่องราวของการเรียนรู้สู่การเป็นสุดยอดฝีมือ มีความเป็น Coming of Age มีฉากน่าตื่นเต้น อย่างฉากประชันระนาดซึ่งไม่เคยถูกนำเสนอมาก่อน หรือชีวิตในวัยชราที่ตอบโจทย์ในใจเราได้ เลยเริ่มเขียนเรื่องย่อขึ้นมาก่อน แล้วจึงย้อนกลับไปคุยกับมูลนิธิฯ อีกที เงินทุนสร้างหนังก็ยังไม่มี เพราะเรารู้ว่าหนังเรื่องนี้คงจะหน้าตาแปลก ๆ ไปจากหนังที่มีอยู่ในระบบ 

“เรามีเรื่องย่อเยอะมาก เช่น ประวัติของหลวงประดิษฐฯ ล้วน ๆ เลย แล้วมีแบบที่เล่า 3 ยุค คือยุครัชกาลที่ 5 ยุคจอมพล ป. และยุคปัจจุบัน เดินเรื่องซับซ้อนวุ่นวายมาก เราปรับไปปรับมา เพิ่มนั่นเพิ่มนี่เพื่อสีสันของหนัง จนภายหลังเรารู้สึกว่าดัดแปลงชีวิตของท่านเยอะไป จึงคุยกับทางมูลนิธิฯ ว่าไม่ทำหนังชีวประวัติแล้ว จะขอเพียงแค่แรงบันดาลใจจากชีวิตท่านเท่านั้น

“บางอย่างอาจเกินจริงไปบ้าง เพิ่มฉาก เพิ่มตัวละครลงไป เช่น เพื่อนหรือทหาร นำฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเชื่อมโยงเพื่อให้พล็อตสนุกขึ้น หรือชื่อตัวละคร ก็คุยกันว่าจะใช้ชื่อจริงหรือไม่ สุดท้ายจึงตัดสินใจเอามาเฉพาะชื่อศร ไม่มีคำว่าหลวงประดิษฐฯ เพราะฉะนั้น เวลาเขียนก็จะสบายมือขึ้น ไม่ต้องยึดว่าต้องถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งหมดทั้งมวล โครงเรื่องหลักยังมาจากเรื่องราวในชีวิตของท่านอยู่ดี”

โหมโรง ซึ่งเวลานั้นใช้ชื่อโปรเจกต์ว่า ‘The Overture’ เล่าเรื่องราวชีวิตของ ศร เด็กหนุ่มจากอัมพวาที่ได้รับสืบทอดความรู้เรื่องดนตรีไทยจากผู้เป็นบิดา ฝีมือฉกาจฉกรรจ์จนได้เข้ามาเป็นมือระนาดเอกของเจ้านายพระองค์หนึ่งในกรุงเทพฯ ได้ประชันระนาดกับนักดนตรีเลิศอย่าง ขุนอิน กระทั่งล่วงเข้าสู่วัยชราที่ต้องเผชิญกับยุคสมัยที่ดนตรีไทยถูกจัดระเบียบจากผู้นำที่ไม่เข้าใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมเลย

เมื่อกระบวนการเขียนบทเรียบร้อย ก็มาถึงโจทย์ที่ยากที่สุด คือการค้นหานักแสดง โดยเฉพาะตัวละครศรในวัยหนุ่ม ซึ่งอิทธิสุนทรอยากได้นักระนาดรุ่นใหม่มารับบทนี้ เพราะหากนักแสดงตีระนาดผิด ๆ ถูก ๆ จะกลายเป็นการทำลายหนังไปโดยปริยาย

เขาให้ฝ่ายแคสติ้งตระเวนหานักดนตรีวัย 18 – 19 ปีตามโรงเรียนสอนดนตรีไทย เวทีประกวด รวมถึงชมรมดนตรีไทยตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งมีผู้มาทดสอบบทนี้ที่ บริษัท กิมมิค ฟิล์ม จำกัด ของเขานับร้อยชีวิต แต่ถึงฝีมือการเล่นดนตรีจะหายห่วง แต่ทักษะการแสดงและภาพรวมกลับไม่ลงตัวเท่าที่ควร ในที่สุดผู้กำกับมือดีจึงตัดสินใจเปลี่ยนแผนไปหานักแสดงที่เหมาะสมแล้วส่งไปเรียนดนตรีแทน

หลังจากควานหาตัวอยู่ร่วมเดือนก็บังเอิญเจอ โอ-อนุชิต สพันธุ์พงษ์ จากบทเล็ก ๆ ในโฆษณาเครื่องดื่มโค้ก ซึ่งมีจุดเด่นคือหน้าตาแบบไทย ๆ จึงทดลองเรียกมาทดสอบ แต่งชุดไทยโบราณ นั่งหน้าระนาด ซึ่งโอให้ความร่วมมือดีมาก แถมยังพร้อมจะแบ่งเวลาไปฝึกเรียนระนาดอีกต่างหาก

อิทธิสุนทรส่งโอไปให้ อาจารย์ถาวร ศรีผ่อง ผู้รับหน้าที่ฝึกสอนดนตรีไทยให้กับนักแสดงในภาพยนตร์ เพื่อดูว่าพอจะพัฒนาความสามารถภายใน 6 เดือนได้หรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่าโอจับไม้เล่นระนาดเพียงครั้งเดียว อาจารย์ก็ตอบกลับมาว่าเด็กคนนี้มีแววดีจนน่าแปลกใจ และนั่นเองที่ทำให้โอกลายเป็นตัวหลักที่ช่วยผลักดันโปรเจกต์ The Overture ให้เดินหน้าไปได้

“เราไม่ต้องการให้โอเล่นระนาดได้จริง ๆ ทุกเพลง เราแค่กำหนดมาว่าจะต้องเล่นแค่ 6 เพลงนี้ แล้วก็ไม่ต้องเล่นตั้งแต่ต้นจนจบหรอกนะ เล่นเป็นท่อน ๆ อย่างน้อยอาจจะแค่ 8 – 10 โน้ต ซึ่งน่าชื่นใจที่โอมีพื้นฐานที่ดีมาก เขาเคยเป็นแดนเซอร์มาก่อน จึงรู้จักจังหวะและแยกแยะเสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ ได้ดี และยังช่วยให้เรียนรู้การเล่นดนตรีได้เร็วกว่าปกติ”

อีกบทหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือศรในวัยชรา ซึ่งอิทธิสุนทรตั้งใจจะทาบทาม อดุลย์ ดุลยรัตน์ นักแสดงและผู้กำกับชั้นครู เพราะนอกจากบุคลิกที่เปี่ยมไปด้วยความสุขุม มาดนิ่ง มีความเป็นครูสูงแล้ว ยังมีเค้าโครงรูปหน้าใกล้เคียงกับโออีกด้วย เสียแต่ว่าอดุลย์ไม่มีทักษะเรื่องการเล่นดนตรีเลย ต้องมาฝึกเล่นระนาดเป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งนักแสดงอาวุโสยินดีที่เริ่มนับหนึ่งไปด้วยกัน แถมยังบอกว่าทีมงานยกเลิกหรือเปลี่ยนตัวแสดงได้ทันที หากเห็นว่าฝีมือการตีระนาดดูท่าจะไม่รอด

“คุณอามาฝึกทุกเย็นที่บริษัท จำได้ว่าวันแรกเรียนจบแกลุกไม่ไหวเลย เหน็บชาไปทั้งขา เพราะนั่งขัดสมาธิอยู่นานมาก ส่วนเพลงนั้นเราเลือกมาเลย 2 เพลง คือ ลาวดวงเดือน กับ แสนคำนึง โดยงานของเราละเอียดถึงขั้นเลือกท่อน ไม่ต้องเล่นทั้งเพลง อย่าง แสนคำนึง ช่วงอินโทรไม่ต้อง เดี๋ยวเราใช้สแตนด์อิน เน้นแต่ท่อนที่เพราะ ๆ ความเร็วไม่มาก โน้ตสวย ๆ เพื่อให้ได้ภาพ Full Shot ที่เห็นอาอดุลย์ตีเอง ซึ่งคุณอาก็ให้ความร่วมมือดีมาก เพราะรู้ดีว่าหัวใจของตัวละครนี้ผูกติดกับดนตรี ถ้ารับบทนี้แล้วจับไม้ระนาดผิดหรือเล่นไม่ได้สักโน้ตคงไม่จะไหว”

หากแต่ตัวละครที่หาตัวยากที่สุดคงหนีไม่พ้น ขุนอิน คู่ประชันของศรในวัยหนุ่ม เพราะด้วยบทบาทที่เป็นมือระนาดเอกแห่งยุค จำเป็นต้องใช้นักระนาดจริง ๆ มาแสดง ไม่เช่นนั้นผู้ชมจะไม่เชื่อถือ แต่ด้วยอุปสรรคไม่ต่างจากการหาผู้รับบทศร จึงไม่มีใครเข้าตาอิทธิสุนทรเลย

กระทั่งวันหนึ่ง ฝ่ายคัดเลือกนักแสดงแจ้งมาว่ามีบุคคลที่อาจมารับบทนี้ได้ จากนั้นก็เปิดเทปการตีระนาดของ อาจารย์ปอง-ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ขุนอิน ณรงค์โตสง่า) ซึ่งถ่ายเผื่อเก็บเอาไว้ระหว่างที่ทีมงานไปสำนักปี่พาทย์บ้านโตสง่า

“ความจริงเราตั้งใจไปหาลูกศิษย์แก เพราะสำนักอาจารย์ปอง นักดนตรีไทยเยอะมากทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น แต่สุดท้ายเราไม่ได้ลูกศิษย์แก ได้อาจารย์มาแทน ซึ่งในสตอรีบอร์ดที่วาดขุนอินไว้ ไม่ใช่หน้าแกเลย จะเป็นทรงหน้ายาว ๆ ผมตัดเป็นแบบลานบิน กระดูกโปน ๆ แต่พอได้ชมเทปที่อาจารย์ปองตีระนาด เราเห็นกล้ามเนื้อบนหน้าแกสั่นไปด้วย ดูน่าเกรงขาม แล้วเราก็จินตนาการไปถึงฉาก Close-up ระหว่างการประชัน เลยบอกทีมงานว่าไม่ต้องแคสต์แล้ว เชิญอาจารย์ปองมาคุยเลยดีกว่า

“ตอนแรกไม่รู้ว่าแกจะยอมเล่นหรือเปล่า เพราะบทขุนอินที่วางไว้มีภาพพจน์ไปทางร้าย แต่หลังอธิบายตัวละครไปได้สักพัก อาจารย์ปองเป็นฝ่ายบอกเราเองว่าบทขุนอินนี่แหละคือตัวแก”

ส่วนตัวละครอื่น ๆ มักติดต่อไปโดยไม่ต้องคัดเลือกเพราะมีนักแสดงที่อยู่ในใจแล้ว อาทิ บทผู้พันในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น อิทธิสุนทรได้โทรศัพท์ไปชวน อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ด้วยประโยคสั้น ๆ ว่า “ขอซื้อการแสดงดี ๆ ของคุณหน่อยได้ไหม”

“ตอนเขียนบทก็นึกถึงอ๊อฟเลย เพราะเรามองว่าบทนายทหารจะต้องข่มผู้อื่นได้ด้วยการแสดงน้อย ๆ คือมีความเอาจริงเอาจัง ดุอยู่ในที ซึ่งอ๊อฟทำได้แน่นอน แต่เราก็เกรงใจเขา เพราะบทน้อยมาก ออกแค่ 2 ฉากเท่านั้น ซึ่งผมกับอ๊อฟสนิทกันนะ ตอนทำละครเรื่อง พระจันทร์ลายกระต่าย อ๊อฟมาเล่นเป็นคนปัญญาอ่อนให้ ซึ่งครั้งนี้พอโทรศัพท์ไปหา อ๊อฟก็รับเล่นทันที”

ไม่เพียงแค่นั้น อิทธิสุนทรยังเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ทั้งสตอรีบอร์ด ตัวอย่างเพลง และฉากที่จะใช้ในเรื่อง ไปจนถึงการจ้างดีไซเนอร์มืออาชีพมาออกแบบโปสเตอร์ โดยใช้ทุนส่วนตัวทั้งหมด เพราะต้องการให้ผู้ร่วมลงทุนเห็นภาพและทิศทางของงานอย่างชัดเจนที่สุด

จากนั้นอิทธิสุนทรจึงแบกผลงานทั้งหมดที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจตลอด 6 เดือนไปนำเสนอกับค่ายหนังแห่งหนึ่ง หากแต่คำตอบที่ได้กลับมา คือคำปฏิเสธ

“พอเราเอาโปรเจกต์ไปขาย หน้าหนังและโปสเตอร์มันช่างนิ่งเสียเหลือเกิน เป็นผู้ชายหันหลังเอามือไขว้หลังถือไม้ระนาด ขณะที่เขามองว่าหนังที่จะเร้าอารมณ์คนให้อยากเข้าไปดูในโรงได้ ต้องดูแรง ๆ หน่อย ต้องมีด้านมืด มีหยดเลือด อาจเพราะหนังไทยที่ประสบความสำเร็จที่สุดในขณะนั้นคือ บางระจัน ซึ่งพอคุยกันก็เข้าใจทางค่ายนะ แต่ความรู้สึกเราเฟลมาก ไม่กล้ากลับไปบอกทีมงาน ไม่กล้าไปหาเจ้าอื่นด้วย เพราะรู้สึกว่าที่นี่น่าจะคุยได้ที่สุดแล้ว”

แต่ระหว่างเคว้งคว้าง ไม่รู้ว่าจะก้าวเดินไปไหนต่อดี ก็มีผู้ชี้ทางสว่างให้

เพราะเวลานั้น พร้อมมิตร โปรดักชั่น ของ ท่านมุ้ย-ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล มีโครงการสนับสนุนผู้กำกับคนอื่น ๆ ที่มีโปรเจกต์น่าสนใจให้ได้รับโอกาสบ้าง หลังจาก สุริโยไท กวาดรายได้ทั่วประเทศถึง 550 ล้านบาท โดยเรื่องแรกที่พร้อมมิตรช่วยดูแลการผลิตคือ คืนบาป พรหมพิราม ของ มานพ อุดมเดช

พอดีเมื่อ 10 กว่าปีก่อน อิทธิสุนทรเคยเป็นนักแสดงในเรื่อง คนเลี้ยงช้าง จึงคุ้นเคยกับท่านมุ้ยมาบ้าง เขาตัดสินใจหอบโปรเจกต์ทั้งหมดที่ถูกปฏิเสธไปนำเสนอต่อ หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา ชายาของท่านมุ้ย ซึ่งหลังจากหม่อมได้ฟังเพียงเรื่องย่อเท่านั้น ก็ตอบตกลงที่จะเป็นผู้อำนวยการสร้างทันทีจากนั้นทางพร้อมมิตรได้ไปชักชวนบริษัทอื่น ๆ เข้ามาร่วมโปรเจกต์เพิ่มเติม ทั้งภาพยนตร์หรรษา ของ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร และ อ้อม-ดวงกมล ลิ่มเจริญ ซึ่งมีประสบการณ์ในการพาหนังไทยไปสู่ต่างประเทศ รวมถึงสหมงคลฟิล์ม ของ เสี่ยเจียง-สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ซึ่งเข้ามาสนับสนุนในเรื่องงบประมาณเพิ่มเติมกระทั่งภาพยนตร์เสร็จสมบูรณ์

โหมโรง เปิดกล้องอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2545 ห่างจากวันที่อิทธิสุนทรตัดสินใจนำเรื่องราวของหลวงประดิษฐไพเราะมาสร้างเป็นภาพยนตร์นานร่วมปี

ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้สาระสำคัญที่คิดไว้ตั้งแต่ก่อนสร้างภาพยนตร์สื่อสารออกไปถึงผู้ชม โดยเฉพาะการตั้งคำถามกับรากเหง้าหรือสิ่งที่อยู่ภายในตัวเราเองให้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ไม่อยากให้ โหมโรง กลายเป็นตัวแทนของหนังชาตินิยมที่ต่อต้านการเข้ามาของวัฒนธรรมอื่น

และคงเป็นโชคดีที่เรื่องราวนี้สอดคล้องกับตัวตนของหลวงประดิษฐไพเราะพอดิบพอดี เพราะแม้ท่านจะเป็นปรมาจารย์ใหญ่ของวงการดนตรีไทย แต่ไม่ใช่คนหัวโบราณ พร้อมเปิดรับมุมมองและวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพราะสำหรับท่านแล้ว ดนตรีไม่มีพรมแดน ไม่มีชั้นวรรณะ และมีพัฒนาการอยู่เสมอ 

แม้แต่บุตรชายของท่าน อาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2541 ก็ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเพลงซิมโฟนีไทย ซึ่งร่ำเรียนการประพันธ์และการกำกับวงของดนตรีสากลตะวันตกโดยตรง มาจาก Imperial Academy of Music, Geidai University ประเทศญี่ปุ่น แถมยังมีบทบาทในการนำเพลงไทยเดิมเข้ามาประสมกับเพลงสากลได้อย่างลงตัวอีกด้วย

โดยเมื่อ พ.ศ. 2494 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 มีพระราชเสาวนีย์แก่สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ซึ่งกำลังจัดงาน ณ เวทีลีลาศลุมพินี ว่าควรจะนำเพลง ลาวดวงเดือน มาประสมกับเพลงฝรั่ง เพื่อให้ผู้ชมออกมาร่ายรำได้ ซึ่งปรากฏว่าเพลง My Blue Heaven ของ Gene Austin มีทำนองใกล้เคียงกัน จึงรับสั่งหารือกับหลวงประดิษฐไพเราะเพื่อสอบถามความเป็นไปได้ ท่านครูเลยมอบหมายให้อาจารย์ประสิทธิ์นำทั้ง 2 บทเพลงมาเรียบเรียงใหม่ จนกลายเป็นเพลงเดียวกัน

อิทธิสุนทรซึ่งประทับใจในเรื่องราวนี้มาก จึงเขียนฉากที่จะนำ 2 เพลงนี้มาใส่ไว้ และขอให้วงกอไผ่หาวิธีเรียบเรียงให้สอดรับกัน เนื่องจากเวอร์ชันเดิมที่อาจารย์ประสิทธิ์ทำนั้นไม่ได้บันทึกเก็บไว้ จนเกิดเป็นฉากสำคัญที่ท่านครูซึ่งเป็นมือระนาดเอก เล่นดนตรีร่วมกับบุตรชายซึ่งเป็นนักเปียโนอย่างเพลิดเพลิน

“ระหว่างเตรียมงาน ผมได้ดูเทปสนทนาดนตรีไทยจากมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะฯ ซึ่งมีการพูดถึงเรื่องที่นำเพลง My Blue Heaven มาเล่นผสมกับเพลง ลาวดวงเดือน ผมเลยลองหาเพลง My Blue Heaven แบบ Original มาฟัง ปรากฏว่าเป็น Standard Pop ที่ไพเราะมาก แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือสิ่งนี้ยังช่วยตอกย้ำคอนเซปต์ของตัวละครที่เปิดกว้าง เราไม่อยากให้คนดูหนังรู้สึกว่าคุณต้องเล่นแต่ดนตรีไทยนะ อย่าไปเล่นกีตาร์ เพราะเราไม่ได้ต่อต้านตะวันตก เราเพียงแต่อยากบอกว่าอย่าทิ้งรากของตัวเอง และเพลงนี้ก็เป็นการแสดงจุดยืนว่าเราเชิดชูทุกวัฒนธรรม ทุกวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันได้”

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือความสมดุลในตัวหนังที่ไม่ชี้นำว่าสิ่งใดถูกหรือผิด ต่อให้มีบางฉากที่พูดถึงแก่นความคิดหนัก ๆ เช่น บทสนทนาระหว่างท่านครูกับผู้พัน ซึ่งต่อมาคำพูดนี้ได้กลายเป็นกระแสในสังคม คือ …ไม้ใหญ่จะยืนทะนง ต้านแรงลมช้างสารอยู่ได้ ก็ด้วยรากที่หยั่งลึกแข็งแรงและมั่นคง… แต่ในมุมมองของผู้กำกับแล้ว เหตุการณ์นี้เปรียบเสมือนการแลกเปลี่ยนทัศนคติและจุดยืนทางความคิดระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายมากกว่าการสั่งสอน

นอกจากแนวคิดที่ต้องสื่อสารให้เห็นภาพแล้ว องค์ประกอบต่าง ๆ ก็ยังเปี่ยมไปด้วยความพิถีพิถันสุด ๆ ทั้งโลเคชันสวนมะพร้าว ซึ่งอิทธิสุนทรต้องแวะเวียนไปดูสถานที่ที่อัมพวาเป็นสิบแห่ง ล่องเรือไปตามคลองแยกเล็ก ๆ ต้องใช้ตารางน้ำขึ้นลง เพื่อจะได้เลือกวันถ่ายทำที่เหมาะสม บ้านเรือนไทยก็ต้องสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งระหว่างถ่ายทำเจอทั้งช่วงฝนตก ทั้งปัญหาการเลื่อนคิวถ่าย ทำให้ต้องเช่าสถานที่นานถึงครึ่งปี จากเดิมที่ตั้งใจเพียง 2 เดือน หรือแม้แต่ฉากผีเสื้อบิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงตัวตนของศร ยังต้องใช้เวลาถ่ายทำถึง 2 วันเต็ม

หากแต่ฉากที่อิทธิสุนทรกังวลมากที่สุด คือฉากเล่นดนตรี เพราะต้องยอมรับว่า สำหรับคนทั่วไปดนตรีไทยถือเป็นยาขม บางคนดูแล้วรู้สึกเบื่อ เนื่องจากวงปี่พาทย์ของไทยมักจะนั่งเล่นแบบนิ่ง ๆ ไม่ขยับเขยื้อนมาก ต่างกับดนตรีตะวันตก แถมในสมัยนั้นยังไม่มีตัวอย่างอ้างอิงที่จะเป็นต้นแบบในการนำเสนอด้วย วิธีการเล่าให้สนุกจึงต้องใช้จินตนาการและเทคนิคการถ่ายทำต่าง ๆ เข้ามาช่วยอย่างมาก

“พอถ่ายฉากดนตรีฉากแรกเสร็จจะรีบตัดต่อก่อนเลย แล้วมาเทสต์ความรู้สึกของคนในกองว่าเป็นอย่างไร เพราะตอนที่ถ่ายทำเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เนื่องจากเราถ่ายทีละ 1 – 2 ประโยคเพลง ซึ่งพอทยอยตัดมาเรื่อย ๆ ก็เริ่มมั่นใจว่าไม่น่าเบื่อแน่นอน ตั้งแต่เขียนบทก็วางหลักไว้แล้วว่าในฉากดนตรี เรื่องต้องเดินด้วยเสมอ ไม่ใช่ฉากที่ให้คนมาดูหยุดฟังดนตรีกันเฉย ๆ”

ครั้งหนึ่ง โอ อนุชิต เคยเขียนเล่าความประทับใจเกี่ยวกับ โหมโรง ว่า เวลาเล่นดนตรีจะเครียดมาก ไม่กล้ามองหน้าทีมงาน ไม่กล้ามองหน้าผู้กำกับ เพราะเกรงว่าจะทำให้กองเสียเวลา แต่หลังจากที่อิทธิสุนทรนำฉากประชันครั้งแรกที่ตัดต่อมาให้ชม เขาแทบไม่เชื่อว่าคือตัวเอง เพราะตีระนาดเก่งมาก ดูเท่สุด ๆ และทำให้เข้าใจว่า ‘ในโลกการแสดง เราจะเป็นอะไรก็ได้’

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีบางฉากที่อิทธิสุนทรพยายามใส่ลงมา แต่สุดท้ายเมื่อเห็นว่าไม่ลงตัวก็ต้องยอมตัดใจ เช่น ฉากที่ท่านครูเล่นระนาดในหลุมหลบภัย

“ในภาพยนตร์มีฉากที่ เทิด เด็กในบ้านท่านครูวิ่งฝ่าระเบิดไปเอาระนาดผืนสำคัญที่ส่งซ่อมแล้วลงไปอยู่ในหลุมหลบภัยกับตัวศร ซึ่งเราตั้งใจว่าจะให้ท่านครูใช้ผืนระนาดนั้นตีปลอบขวัญคนที่หลบระเบิด เรารู้สึกว่ามันสวยงาม แต่สุดท้ายต้องตัดทิ้งไป อาจเพราะยังกำกับได้ไม่ดี ทางภาพยังติด ๆ ขัด ๆ ตอนแรกคิดว่าฉากที่สร้างกว้างไป อารมณ์จึงไม่บีบคั้นพอ เลยถ่ายซ่อม สร้างหลุมหลบภัยใหม่ให้แคบลงมา แต่พอถ่ายใหม่แล้วก็ยังไม่ได้อารมณ์ที่ต้องการ ตัดเข้าตัดออกอยู่หลายหน จนสุดท้ายจึงยกทิ้งไป เหลือแค่ฉากที่เทิดยกระนาดลงมาเท่านั้น”

โหมโรง ใช้เวลาถ่ายทำอยู่นาน 7 – 8 เดือน ใช้ทุนสร้างราว 25 ล้านบาท โดยในครั้งแรกมีแผนจะฉายในวันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2546 แต่ด้วยโปรแกรมของโรงภาพยนตร์ที่ยังไม่ลงตัว จึงเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ อิทธิสุนทรจึงใช้โอกาสนี้ตัดต่อจนถึงวินาทีสุดท้าย เพื่อให้ได้ผลงานที่สมบูรณ์ที่สุด โดยก่อนฉายหลายคนยกให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนังน่าดูที่สุดเรื่องหนึ่งของ พ.ศ. 2547

หากแต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับผิดคาดจนแทบไม่เชื่อสายตา

เดิมทีปัจจัยสำคัญที่จะชี้ชะตาว่าภาพยนตร์เรื่องไหนจะ ‘รอด’ หรือ ‘ร่วง’ คือสิ่งที่เรียกว่า 3 วันอันตราย เพราะสมัยก่อนภาพยนตร์จะเข้าโรงฉายในวันศุกร์ หากเรื่องใดทำรายได้ในวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์แรกไม่ดีเท่าที่ควรก็จะถูกลดรอบ เพื่อเปิดพื้นที่ให้หนังที่มีกระแสได้ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้ชมมากยิ่งขึ้น

โหมโรง ซึ่งเข้าฉายในวันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้ไม่ต่างกัน

แต่สิ่งที่น่าใจหายยิ่งกว่าคือปริมาณผู้ชม เกือบทุกรอบมียอดคนตีตั๋วเพียงแค่หลักหน่วย ส่งผลให้วันจันทร์ถัดมา โรงภาพยนตร์เกือบทุกเครือพากันลดรอบของ โหมโรง ไปมากกว่าครึ่ง แถมเวลาฉายก็ยังโยกไปยังช่วงเช้าสุดและดึกสุด ซึ่งปกติแล้วถือเป็นรอบที่มีผู้ชมน้อยที่สุดอีกต่างหาก

อิทธิสุนทรจำความรู้สึกในตอนนั้นได้ดีว่าอยากปลีกวิเวกไปไหนก็ได้ไกล ๆ เพราะไม่กล้าสู้หน้าทีมงาน แต่ก็ทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะต้องเดินสายโปรโมตภาพยนตร์อีกหลายแห่ง

“อับอายและรู้สึกผิดกับทีมงานมาก เพราะตอนทำงานเราบิวต์เขาไว้เยอะ เวลาไปสัมภาษณ์ก็ต้องคอยตอบว่าทำไมหนังถึงไม่มีคนดู ซึ่งเหตุผลหลักคงมาจากหน้าหนังมันชัดว่าเกี่ยวกับดนตรีไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่มีภาพจำว่าฟังยาก น่าเบื่อ ชวนง่วง ซึ่งก็ตรงกับที่รุ่นพี่ในวงการหลายคนเตือนเราไว้ตั้งแต่แรกว่าเอาจริงเหรอ หนังแบบนี้จะขายได้เหรอ แต่ตอนนั้นด้วยความมั่นใจในเนื้อหาและบทที่อยู่ในมือ เลยรู้สึกว่าต้องได้สิ หนังมันทำได้ทุกประเภทในโลกนั่นแหละ และสุดท้ายก็พบว่าจริงอย่างที่เขาว่ากัน”

แต่ท่ามกลางความรู้สึกหมดใจ สิ่งที่นึกไม่ถึงก็ได้ก่อตัวในโลกออนไลน์

เพราะมีกระทู้เกี่ยวกับ โหมโรง นับพันกระทู้ปรากฏในห้องเฉลิมไทยของเว็บไซต์ Pantip บางโพสต์ยกให้ โหมโรง เป็นหนังไทยที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศ บางคนยอมเป็น ‘หน้าม้า’ ชักชวนไปดูหนัง โดยไม่ต้องเสียค่าจ้าง กระทั่งถึงขั้นมีรอบพิเศษสำหรับสมาชิก Pantip โดยเฉพาะ

ไม่เพียงแค่นั้น ท่านมุ้ยซึ่งเป็นสมาชิกของ Pantip มายาวนาน ยังยอมเผยนามปากกา Cinephile ของตัวเองเพื่อเชียร์หนัง โหมโรง เต็มที่ พร้อมกับเล่าเบื้องลึกความผูกพันระหว่างตนเองกับหลวงประดิษฐไพเราะว่าเคยฟังท่านครูตีระนาดตั้งแต่ยังเด็ก เพราะหลังจาก สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จทิวงคต วงปี่พาทย์ของหลวงประดิษฐไพเราะจึงเข้ามาอยู่ในการอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งเป็นพระอัยกาของท่านมุ้ย 

ปรากฏการณ์นี้ยังแพร่กระจายไปสู่โลกนอกอินเทอร์เน็ต สื่อมวลชนทุกแขนงทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ต่างรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับ โหมโรง คอลัมน์ที่ดูไม่เกี่ยวข้องเลย เช่นคอลัมน์การเมืองในไทยรัฐ ต่างก็เขียนสนับสนุน หรือแม้แต่ 2 พิธีกรดังแห่งยุค อย่าง สรยุทธ สุทัศนะจินดา จากรายการ ถึงลูกถึงคน และ กนก รัตน์วงศ์สกุล จากรายการ คมชัดลึก ยังต้องหยิบยกประเด็นนี้มานำเสนอ เชิญทีมผู้สร้าง นักวิชาการ ผู้เกี่ยวข้องมาร่วมสนทนา ส่งผลให้ผู้ชมพากันออกจากบ้าน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของหนังไทย

เช่นเดียวกับตัวผู้กำกับอย่างอิทธิสุนทรก็พยายามยื้อชีวิตหนังของตัวเองเต็มที่ ด้วยการรวบรวมกระทู้จากเว็บไซต์ Pantip เป็นเล่มใหญ่ ส่งไปให้ทางสหมงคลฟิล์ม เสมือนเป็นการยืนยันว่า โหมโรง ยังพอมีกระแสอยู่ อยากให้ช่วยรักษาโปรแกรมฉายไว้อีกสักพักหนึ่ง

ผลจากการระดมสรรพกำลังของทุกภาคส่วน ส่งผลให้ภาพยนตร์ที่เกือบชะตาขาด พลิกฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยรายได้ในสัปดาห์ที่ 3 นั้นมากกว่า 14 วันแรกรวมกันเสียอีก

นอกจากนี้ โรงภาพยนตร์บางโรงที่ถอด โหมโรง ออกจากโปรแกรมไปแล้ว ก็ยังต้องนำกลับเข้ามาฉายใหม่ โรงเรียนหลายแห่งต่างพานักเรียนมาซื้อตั๋ว มีรอบพิเศษสำหรับทูตจากประเทศต่าง ๆ และสมาชิกวุฒิสภา จนสุดท้าย โหมโรง ทำรายได้สุทธิอยู่ที่ 52.72 ล้านบาท

ที่สำคัญ โหมโรง ยังได้ออกไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ ทั่วโลก กวาดรางวัลนับไม่ถ้วนจากทุกสถาบันในประเทศ ทั้งรางวัลสุพรรณหงส์ รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี และรางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง รวมทั้งได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์เพื่อส่งประกวดรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ

“ไม่เคยมีภาพในหัวว่าหนังจะได้ไปฉายเมืองนอกเลย จำได้ว่าเราไปที่ Toronto ซึ่งเป็นเทศกาลหนังเล็ก ๆ หลังฉายเสร็จคนดูก็ยืน Standing Ovation ให้หนัง ซึ่งเราก็ตกใจเหมือนกันว่าเขาเข้าใจและตอบรับสารในหนังด้วย เพราะความตั้งใจของเราคือการพูดกับผู้ชมในสังคมไทยมากกว่า”

หากสิ่งที่เหนือยิ่งกว่าคือ โหมโรง ไม่ได้ก่อกระแสแค่วงการภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังช่วยจุดประกายให้วงการดนตรีไทยกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ทั้งสำนักปี่พาทย์ที่มีคนรุ่นใหม่สมัครเข้ามาเรียนอย่างคึกคัก ชมรมดนตรีไทยตามโรงเรียนต่าง ๆ ที่เคยเป็นตัวเลือกสุดท้ายก็กลายเป็นชมรมยอดนิยม จนครูอาจารย์ส่งจดหมายมาขอบคุณ แม้แต่ผู้ผลิตเครื่องดนตรีไทยก็มียอดสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องจนผลิตไม่ทัน ที่สำคัญคืองานประชุมนานาชาติของภาครัฐหรืองานมอเตอร์โชว์ ก็ยังมีวงปี่พาทย์ไปร่วมบรรเลง นับเป็นภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อน

แต่ที่น่าภาคภูมิใจที่สุด คือมีเยาวชนจำนวนหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก โหมโรง เลือกเรียนต่อด้านศิลปกรรมไทย ด้วยหวังจะนำความรู้ที่ได้มาช่วยขับเคลื่อนวัฒนธรรมไทย รวมทั้งมีผู้นำบทประพันธ์ไปต่อยอดเป็นละครโทรทัศน์และละครเวทีอีกด้วย

“ผมคงไปคาดหวังว่าคนจะจดจำว่าเราเป็นอย่างไรไม่ได้ แต่ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่จังหวะทุกอย่างลงตัวจนเกิด โหมโรง ขึ้นมาได้ ผมได้ร่วมงานกับผู้คนที่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นดรีมทีม ทั้งทีมนักแสดงในทุก ๆ บท และทีมงานในทุกตำแหน่ง ความสำเร็จนี้จึงค่อนข้างเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวผมเองที่เป็นผู้กำกับ เราเพียงสื่อสารเมสเซจออกไปแล้วไปตรงกับความรู้สึกคนจำนวนมาก และอาจมีบางคนได้หยุดทบทวนบางอย่างจากหนัง ซึ่งสำหรับผม นี่คือความสุขที่สุดที่เราได้รับ ส่วนของคนอื่นจะจดจำ โหมโรง อย่างไร ก็คงขึ้นกับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน”

และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของภาพยนตร์ในตำนานที่เป็นยิ่งกว่าปรากฏการณ์ แต่ยังเป็นความทรงจำที่ยังฝังแน่นในใจของใครหลายคนตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ขอบคุณภาพประกอบจาก คุณอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์

ขอบคุณอาจารย์อัษฎาวุธ สาคริก เลขาธิการมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) สำหรับการติดต่อประสานงาน

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง
  • สัมภาษณ์ คุณอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2567
  • หนังสือ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์ โดย อานันท์ นาคคง และ อัษฎาวุธ สาคริก
  • หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547
  • หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ เสาร์สวัสดี ปีที่ 5 ฉบับที่ 246 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547
  • นิตยสาร HAMBURGER ปีที่ 2 ฉบับที่ 35 เดือนมกราคม พ.ศ. 2547
  • นิตยสาร Entertain ฉบับที่ 758 วันที่ 30 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547
  • นิตยสาร Bioscope ฉบับที่ 27 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547
  • นิตยสาร สกุลไทย ปีที่ 50 ฉบับที่ 2573 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547
  • นิตยสาร ขวัญเรือน ปีที่ 36 ฉบับที่ 774 ปักษ์หลัง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547
  • นิตยสาร GM ฉบับที่ 284 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2547
  • นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 614 วันที่ 8 – 14 มีนาคม พ.ศ. 2547 
  • รายการ ครอบจักรวาล โดย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547
  • รายการ เจาะใจ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547
  • วิทยานิพนธ์ การศึกษาวัฒนธรรมไทยผ่านภาพยนตร์เรื่องโหมโรง โดย ธนากร ภัทรปิยะกุล สาขาวิชานิเทศศาสตร์ธุรกิจ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พ.ศ. 2551

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ