เชื่อว่าหน้าร้อนที่เพิ่งผ่านมานี้น่าจะเป็นหน้าร้อนที่ร้อนมากและร้อนนานสุดในความทรงจำของหลาย ๆ คน จึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจเมื่อ UN ออกมาประกาศว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ สิ้นสุดลงแล้ว และเรากำลังก้าวย่างเข้าสู่ ‘ยุคโลกเดือด’ อย่างเป็นทางการ ยิ่งเมื่อได้รู้ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือดมากที่สุดเป็นลำดับที่ 9 ของโลก ยิ่งทำให้ต้องหันกลับมาถามตัวเองว่า “ฉันจะหยุดโลกเดือดได้อย่างไร” และแน่นอนว่าหนึ่งในคำตอบสุดคลาสสิกคือ ‘การปลูกป่า’ นั่นเอง

แต่ในสมัยนี้ ใช่ว่าจะมาปลูกหรือฟื้นฟูป่าแบบสุ่มสี่สุ่มห้าได้ เพราะมีร้อยแปดปัจจัยที่ต้องรู้ ต้องคิด ต้องวางแผน และต้องจัดการในระยะยาว ปาย-จุฑาธิป ใจนวล จากหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (Forest Restoration Research Unit หรือ FORRU) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงรวมตัวกับนักวิจัยอีก 4 ชีวิต ก่อตั้ง ‘The Next Forest’ เพื่อนำความเชี่ยวชาญมาแปรเป็นธุรกิจฟื้นฟูป่าครบวงจรที่มาพร้อมบริการหลากหลาย เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดที่ต้องการความรู้เชิงลึกและกระแสการฟื้นฟูระบบนิเวศ จนเกิดเป็นโมเดลธุรกิจที่สร้างรายได้ให้เจ้าของกิจการ สร้างประโยชน์ให้ลูกค้า และฟื้นฟูธรรมชาติอย่างยั่งยืน

The Next Forest ธุรกิจฟื้นฟูป่าครบวงจรที่ปลูกและดูแลพื้นที่ป่าไปแล้วหลายพันไร่ใน 1 ปี

จากนักวิจัยสู่นักธุรกิจหญิงผู้ก่อตั้ง The Next Forest

หากจะเล่าถึงที่มาที่ไปของธุรกิจนี้ คงต้องย้อนไปเมื่อสมัยคุณปายเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันดีคืนดีเธอเกิดนึกสงสัยว่า ทำไมหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าถึงเลือกพื้นที่ที่ทำการฟื้นฟูอยู่ในปัจจุบัน เธอจึงเดินตรงไปถามอาจารย์ ผู้รีบเอาแผนที่มากางแล้วอธิบายว่า ในอดีต ชุมชนบนดอยต้องการรายได้ จึงต้องทำลายป่าบางส่วนไปเพื่อจะได้มีพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว การทำลายป่าจึงแบ่งป่าเขียวผืนใหญ่ออกเป็นหลายชิ้น สัตว์ป่าหลงทางกลับบ้านกันไม่ถูก แถมชาวบ้านเองก็ประสบปัญหาจนถึงขั้นไม่มีน้ำใช้ เมื่อกรมอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้ทวงคืนพื้นที่บางส่วน หน่วยวิจัยจึงเข้าไปฟื้นฟูป่าพร้อมกับทำวิจัย โดยค่อย ๆ เพิ่มพื้นที่ฟื้นฟูทีละแปลงเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่เข้ากับป่าผืนอื่น ทำให้สัตว์ป่าเดินทางไปมาระหว่างป่าแต่ละผืนได้

ในขณะที่ทุกคนในหน่วยวิจัยต่างทุ่มเทพลังกายพลังใจเพื่อพลิกฟื้นผืนป่าจากความผิดพลาดของมนุษย์ในอดีต ข่าวการบุกรุกพื้นที่ป่าก็ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง และข่าว ‘ป่าแหว่ง’ ที่ดอยสุเทพก็เป็นดั่งฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คุณปายหมดความอดทนกับการนั่งตั้งคำถามว่า ทำไมคนเราต้องไปบุกรุก ไปเบียดเบียนธรรมชาติ และตัดสินใจทำวิจัยเรื่องการฟื้นฟูป่าและทำงานกับหน่วยวิจัยต่อหลังจากเรียนจบ

The Next Forest ธุรกิจฟื้นฟูป่าครบวงจรที่ปลูกและดูแลพื้นที่ป่าไปแล้วหลายพันไร่ใน 1 ปี

เมื่อสวมหมวกเป็นนักวิจัยมาได้ระยะหนึ่ง คุณปายเริ่มมีแนวคิดอยากใช้ความเชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูป่ามาทำเป็นธุรกิจ หลังมีโอกาสได้พูดคุยกับ สุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการ ChangeFusion และพบว่ามีตลาดสำหรับความเชี่ยวชาญของเธออยู่ 

“พี่สุนิตย์มาปรึกษาว่ามีพื้นที่ของมูลนิธิบูรณะชนบทที่เขาพยายามพัฒนามาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่เป็นสวนป่าสักที พอเขามาเห็นแนวคิดและวิธีการฟื้นฟูที่ปายใช้เลยเห็นถึงความเป็นไปได้ ซึ่งพอคุยแล้วปายก็ได้ภาพของธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น จึงนำทีมไปเข้าโครงการ Banpu Champions For Change ของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสถาบัน ChangFusion” ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มี The Next Forest ในทุกวันนี้

“ก่อนเข้าโครงการนั้น เหมือนเริ่มจากศูนย์ เพราะเราไม่รู้เรื่องธุรกิจเลย ไม่รู้ว่าจะต้องวางโมเดลธุรกิจยังไง คิดราคายังไง โปรโมตยังไง จดทะเบียนบริษัทยังไง ทำบัญชียังไง เราก็ทำแต่โครงการวิจัยที่มีแค่ใบเสร็จใต้โครงการ พอมาทำธุรกิจเอง ต้องมาดูแลเองหมด ซึ่งในช่วงโครงการเขาสอนทุกอย่างและมีคำแนะนำดี ๆ อย่างอื่นให้ด้วย อย่างเช่น ตอนแรกเรามีปัญหา คือมีหลายบริการให้ลูกค้าเลือก ได้รับคำแนะนำมาว่าไม่ควรปล่อยให้ลูกค้าเลือกอย่างเดียว ควรมีแพ็กเกจและคิดให้เสร็จสรรพ แล้วเสนอราคาไปเป็นก้อน” ซึ่งเรื่องราคาก็เป็นอีกประเด็นที่คุณปายได้เรียนรู้และกล้าที่จะคิดราคาพรีเมียม เพราะทีมของเธอนั้นมีความรู้เชิงลึกซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด และมาพร้อมบริการครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบอย่างแท้จริง

แม้จะจบโครงการไปแล้ว แต่คุณปายยังได้ Mentor ตลอดชีพเป็นผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงกิจการเพื่อสังคมอย่าง ChangeFusion ที่จะให้คำปรึกษาในทุกปัญหาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง 

The Next Forest ธุรกิจฟื้นฟูป่าครบวงจรที่ปลูกและดูแลพื้นที่ป่าไปแล้วหลายพันไร่ใน 1 ปี
The Next Forest ธุรกิจฟื้นฟูป่าครบวงจรที่ปลูกและดูแลพื้นที่ป่าไปแล้วหลายพันไร่ใน 1 ปี

“เราขายของไม่เป็น เรามักพูดจาภาษาวิทยาศาสตร์มาก ๆ โชคดีที่มี Mentor เข้ามาช่วยเรื่อย ๆ เราคอยถามว่าพูดจารู้เรื่องรึยัง ถ้าพูดเชิงวิชาการจ๋าไป เราก็ต้องพยายามแปลงคำศัพท์ทางวิชาการให้เป็นคำที่เข้าใจง่ายขึ้น” คุณปายเล่าถึงปัญหาที่นักธุรกิจมือใหม่อย่างพวกเธอพบเจอในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา 

แต่แม้ว่าคุณปายถึงขั้นต้องมาฝึกภาษาไทยใหม่ แต่เธอก็พร้อมที่จะพัฒนาและทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ถนัด เพราะเธอเริ่มสนุกกับบทบาทนักธุรกิจเข้าแล้วจริง ๆ

 “บางอย่าง เช่น เรื่องบัญชี เราไม่ถนัดเท่าไหร่ แต่ก็ต้องทำ ไม่งั้นเดี๋ยวเงินหายไปไหนไม่รู้” คุณปายเล่าพร้อมหัวเราะเสียงใส

บริการฟื้นฟูป่าครบวงจรด้วย ‘วิธีพรรณไม้โครงสร้าง’

แน่นอนว่าพื้นฐานการเป็นนักวิจัยฟื้นฟูป่าของคุณปายและทุกคนในทีมทำให้การฟื้นฟูป่าแบบ The Next Forest ไม่ใช่การฟื้นฟูป่าธรรมดา ‘วิธีพรรณไม้โครงสร้าง’ ซึ่งเธออธิบายว่า 

“เป็นวิธีที่หน่วยวิจัยใช้ฟื้นฟูพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และน่าน แล้วได้ผลดี โดยวิธีนี้เน้นการฟื้นฟูโดยใช้พรรณไม้ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ ไม่ใช่จะเอาต้นอะไรไปปลูกก็ได้ ซึ่งวิธีนี้ทำให้อัตราการรอดของกล้าไม้สูงขึ้น และเจริญเติบโตได้ดีในระยะยาวอีกด้วย จึงเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศจริง ๆ”

The Next Forest ธุรกิจฟื้นฟูป่าครบวงจรที่ปลูกและดูแลพื้นที่ป่าไปแล้วหลายพันไร่ใน 1 ปี

The Next Forest ไม่ได้แค่ฟื้นฟูป่าเพียงอย่างเดียว เพราะอีกจุดขายสำคัญที่ทำให้แตกต่างจากธุรกิจรับปลูกหรือฟื้นฟูป่าอื่น ๆ คือการ ‘ให้บริการครบวงจร’ โดยแบ่งออกเป็น 6 บริการหลักได้แก่

  1. Survey and Planting Design เป็นไฮไลต์และความเชี่ยวชาญเฉพาะของ The Next Forest โดยทีมจะเข้าสำรวจพื้นที่เพื่อดูว่ามีต้นทุนเดิมเป็นอย่างไร มีไม้ชนิดใดอยู่แล้วบ้าง มีความหนาแน่นเท่าไหร่ จากนั้นจะใช้ความรู้เชิงลึกในแบบของนักวิจัยมาประเมินและเสนอแผนการปลูก พร้อมกรอบเวลาของแผนการฟื้นฟู ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีแผนการแตกต่างกันไป เพื่อให้เข้ากับวัตถุประสงค์ของเจ้าของพื้นที่นั้น ๆ
  2. Implement เมื่อลูกค้าสนใจและเห็นด้วยกับแผนงานที่นำเสนอไปแล้ว ทีมงานจะลงพื้นที่ทำตามแผนที่ตกลงกันไว้เบื้องต้น ในปัจจุบันคุณปายและทีมลงพื้นที่ด้วยตัวเอง เพื่อควบคุมการปลูกให้ได้ตามแผนและรักษามาตรฐานของการปลูกในแบบของ The Next Forest
  3. Maintenance and Monitoring หลังปลูกไป 2 สัปดาห์ ทีมงานจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบว่าต้นไม้ที่ปลูกไปนั้นรอดชีวิตกี่เปอร์เซ็นต์ ควรปลูกต้นใดเพิ่ม และดูแลพื้นที่ต่ออย่างน้อยเป็นเวลา 2 ปี หรือจนกว่าจะเห็นได้ว่าต้นไม้ที่ปลูกไปนั้นมีเรือนยอดโตจนแผ่ขยายมาชิดกัน และไม่มีความจำเป็นต้องกำจัดวัชพืชอีกต่อไป
  4. Ecosystem Impact เมื่อปลูกไปได้ระยะหนึ่ง The Next Forest จะใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อประเมินบริการจากระบบนิเวศ ทั้งการกักเก็บของคาร์บอนในต้นไม้ ปริมาณออกซิเจนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การดึงดูดสัตว์เข้ามาในพื้นที่ และปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ อยากได้ข้อมูลอะไรขอให้บอก ทีมนี้มีครบ
  5. Technology เพราะหนึ่งในทีมนักวิจัยมีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี The Next Forest จึงมีบริการโดรนสำรวจพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และทางทีมยังอยู่ระหว่างพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับ NIA เพื่อใช้จำแนกชนิดพันธุ์พืชจากภาพถ่ายมุมสูงอีกด้วย
  6. Education นอกเหนือจากการปลูกแล้ว The Next Forest ยังให้บริการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการฟื้นฟูป่า วิธีการปลูกต้นไม้ที่ถูกต้อง และเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติแก่ทั้งเจ้าของพื้นที่และบุคคลที่สนใจ 

โดยทั้ง 6 บริการนั้น Mix and Match หรือจะเอาครบวงจรก็เลือกได้ แต่ละพื้นที่และแต่ละบริการจะมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการออกแบบ แรงงาน และต้นทุน

The Next Forest ธุรกิจฟื้นฟูป่าครบวงจรที่ปลูกและดูแลพื้นที่ป่าไปแล้วหลายพันไร่ใน 1 ปี

ใครจะมาจ้างปลูกป่า

“กระแสความตื่นตัวทางด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ตลาดต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศและพรรณไม้ แต่ความรู้เชิงลึกพวกนี้มีแค่ในหน่วยงานการศึกษา ซึ่งไม่ได้อยู่ในภาคธุรกิจ พอเราเป็นนักวิจัยที่มีความรู้เชิงลึกออกมาทำธุรกิจ เลยเจอว่ามีความต้องการเยอะ” คุณปายเล่าถึงตลาดปัจจุบันที่ทำให้ The Next Forest ตอบโจทย์และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลายรูปแบบ ทั้งมูลนิธิ บริษัท บุคคล เพราะทีมของเธอมาพร้อมนักวิจัยที่มีความรู้เชิงลึกในด้านการฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืน

คุณปายยกตัวอย่างมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ซึ่งมีที่ดินส่วนหนึ่งอยากพัฒนาให้เป็นป่าในเมือง เพื่อให้เด็กนักเรียนเข้ามาทำกิจกรรมและเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม “เราเข้าไปทำแพลนให้ว่าพื้นที่แปลงนี้ติดกับบ้านพัก จึงเน้นไปที่ความสวยงาม เน้นไม้ดอก แปลงด้านหลังเหมาะกับการเป็นสวนดูนก เราก็คัดเลือกชนิดพันธุ์ที่ในอนาคตจะมีดอกหรือออกผลที่ดึงดูดนกหรือผีเสื้อเข้ามาในพื้นที่ และในอนาคตยังมีแผนจะทำ Trail สำหรับให้เด็ก ๆ เดินป่าได้ด้วย” 

The Next Forest ธุรกิจฟื้นฟูป่าครบวงจรที่ปลูกและดูแลพื้นที่ป่าไปแล้วหลายพันไร่ใน 1 ปี

บริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและสนใจข้อมูลวิธีการฟื้นฟูป่าในรูปแบบต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มลูกค้าหลักของ The Next Forest เพราะการใช้วิธีพรรณไม้โครงสร้างนั้นยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ คุณปายและทีมจึงเสนอไอเดียไปว่า “เราจะปลูกต้นไม้ 20 ชนิด พอผ่านไป 2 สัปดาห์ เราจะดูอัตราการรอดชีวิตและอัตราการเติบโต แล้วจะเก็บข้อมูลเดิมหลังฤดูฝนอีก 2 ปีต่อเนื่อง พอได้ข้อมูลทั้ง 2 ปี ก็จะเห็นว่าใน 20 ชนิดที่ปลูกไป ชนิดไหนที่เหมาะกับพื้นที่นี้ เหมือนการทำงานวิจัย” 

นอกจากพื้นที่ป่า คุณปายยกตัวอย่างพื้นที่ส่วนบุคคลที่เจ้าของต้องการเพิ่มมูลค่าที่ดิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มลูกค้าหลักของเธอ 

“มีพื้นที่ที่ชลบุรีที่เพิ่งไปปลูกมา เจ้าของต้องการเพิ่มมูลค่าของที่ดินที่ตั้งใจว่าจะขายออกในอนาคตโดยการปลูกไม้เศรษฐกิจ ซึ่งไม้ชนิดนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 10 – 15 ปีกว่าจะตัดขายได้ ระหว่างนั้นต้นไม้พวกนี้กักเก็บคาร์บอนได้ด้วย ถ้าเกิดว่าบริหารจัดการพื้นที่สวนป่าไม้เศรษฐกิจให้ยั่งยืนเหมือนฝั่งยุโรปได้ก็ยิ่งดี เช่น วางแผนปลูกแทรกก่อนที่จะถึงเวลาตัดไม้ใหญ่ เพื่อให้มีต้นไม้ในพื้นที่ตลอดเวลา 

The Next Forest ธุรกิจฟื้นฟูป่าครบวงจรที่ปลูกและดูแลพื้นที่ป่าไปแล้วหลายพันไร่ใน 1 ปี

“แต่มันก็เป็นความท้าทายสำหรับทีมเหมือนกัน เพราะเราไม่เคยทำสวนป่าเศรษฐกิจมาก่อน แต่ถ้าพื้นที่ตรงนี้สร้างรายได้ให้กับเจ้าของพื้นที่ เป็นพื้นที่สีเขียวได้ และถ้าเราบริหารจัดการให้เป็นพื้นที่สีเขียวได้ตลอดเวลา โดยที่ไม่เกิดความเสียหายอะไร ก็จะดีกับพื้นที่ส่วนบุคคล” สรุปง่าย ๆ คือ Win-Win-Win ทั้งเจ้าของธุรกิจ ลูกค้า และโลกใบนี้กันเลยทีเดียว

การรับปลูกไม้เศรษฐกิจ ทำให้ The Next Forest ขยายฐานลูกค้ามาถึงในกรุงเทพฯ เพราะถ้าสังเกตดี ๆ เมืองหลวงของเรามีดินเปล่าแทรกอยู่เต็มไปหมด แทนที่จะปล่อยทิ้งรกร้าง เจ้าของพื้นที่สร้างรายได้ ลดหย่อนภาษี ลดโลกเดือด แถมถ้าอยากได้ความสวยงาม คุณปายและทีมก็พร้อมจัดให้ตามต้องการ 

“มีที่ที่คลองสามวาที่ปายออกแบบให้ปลูกไม้เศรษฐกิจ แล้วเอาไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ดอกปลูกรอบ ๆ แปลงให้ด้วย แต่พวกไม้ดอกเราก็คัดเหมือนกันว่าต้นชนิดไหนให้ดอกสีอะไร จะปลูกโซนไหนให้ออกมาสวย ถ้าเป็นฝั่งที่ชิดกับบ้านคนอื่น เราจะเลือกต้นที่กิ่งไม่เปราะ ใบไม่ร่วงเยอะ เพราะไม่อย่างนั้นอาจสร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนบ้านได้” 

จากทุกกรณีจะเห็นได้ชัดว่า The Next Forest พร้อมนำวิทยาศาสตร์มาผสานกับศิลปะและความใส่ใจในรายละเอียด จนเป็นส่วนผสมที่ลงตัวและตอบโจทย์เจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง

The Next Forest ธุรกิจฟื้นฟูป่าครบวงจรที่ปลูกและดูแลพื้นที่ป่าไปแล้วหลายพันไร่ใน 1 ปี

The Next Step ของ The Next Forest

แม้จะก่อตั้งมาได้เพียง 1 ปีกว่า แต่ 5 นักวิจัยของ The Next Forest ปลูกป่าใหม่ไปแล้วกว่า 10 ไร่ และดูแลพื้นที่ป่าเดิมไปแล้วหลายพันไร่ 

“แค่ที่เชียงใหม่ที่ต้องทำแนวกันไฟทุกปีก็หลายพันไร่ ส่วนน่านจะมีพื้นที่ป่าฟื้นฟูเดิมประมาณ 50 กว่าไร่ ป่าชุมชนอีก 2 แห่ง ประมาณ 1,500 ไร่”

แต่พวกเขามีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่จะปลูกป่าใหม่ 100 ไร่ต่อปี ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้นั้น ต้องบริหารจัดการภายในที่ดี 

“ทีมเรามีเพียง 5 คน ถ้าจะรับงานและไปทำเองในทุกพื้นที่เพื่อให้รายได้เพิ่มขึ้น เราก็อาจไม่ไหว เลยมองหาทาง Scale อยู่ ในอีก 5 ปีอยากเห็นทีมใหญ่ขึ้น อยากเห็นทีมปัจจุบันขยับขึ้นมาบริหาร และอยากเห็นฝ่ายภาคสนามเติบโต อยากได้ฝ่ายภาคสนามมาช่วยทำแผนและจัดการการลงพื้นที่” 

ซึ่งการขยับขยายฝ่ายภาคสนามนั้นไม่จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนพนักงานประจำเสมอไป โดยคุณปายมองว่า “เราต้องมีพาร์ตเนอร์เป็นคนในพื้นที่ที่เชี่ยวชาญเรื่องงานฟื้นฟูและมาดูแลพื้นที่ให้เราได้ เป็น Outsource ให้เรา อาจช่วยจัดหากล้าไม้ท้องถิ่น ช่วยดูแลพื้นที่หลังจากปลูก และรายงานว่าสถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างไร ถ้าสภาพดิน ฟ้า ลม ฝน ไม่เป็นดังใจจะจัดการอย่างไร เป็นต้น”

The Next Forest ธุรกิจฟื้นฟูป่าครบวงจรที่ปลูกและดูแลพื้นที่ป่าไปแล้วหลายพันไร่ใน 1 ปี

ในส่วนของการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเดิม เช่น ป่าธรรมชาติชุมชนหรือป่าฟื้นฟูที่มีอายุหลายปีนั้น The Next Forest เริ่มต้นทดลองโมเดลใหม่ คือการนำเงินทุนจากเอกชนมาสนับสนุนการฟื้นฟูป่าตามระยะเวลาที่ตกลงกัน เมื่อครบกำหนดแล้ว ทีมงานจะวัดผล เช่น จำนวนพื้นที่ที่รักษาไว้ได้จากการป้องกันไฟป่า ความหลากหลายของชนิดพรรณไม้ ความหลากหลายของสัตว์ในพื้นที่ ประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับจากพื้นที่ป่า ปริมาณคาร์บอนที่ป่ากักเก็บได้ เจ้าของเงินทุนจึงจะได้มากกว่าแค่ Carbon Credit 

“เราได้ทุนจากโครงการ BKIND ของธนาคารกรุงเทพมาทำโครงการนี้ โดยเราได้ทดลองเป็นโครงการแรกในเชียงใหม่กับน่าน ถ้าครบ 1 ปีแล้วโอเค เราก็อาจจะ Scale ในด้านนี้ได้ด้วย”

ได้ฟังอย่างนี้แล้วอยากเอาใจช่วยให้ The Next Forest เติบโตได้ตามเป้า เพราะธุรกิจที่สร้างสรรค์และสร้างประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อม น่าจะเป็นอีกหนึ่งความหวังสำคัญที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติบนโลกใบนี้ได้อย่างยั่งยืน

The Next Forest ธุรกิจฟื้นฟูป่าครบวงจรที่ปลูกและดูแลพื้นที่ป่าไปแล้วหลายพันไร่ใน 1 ปี

Facebook : The Next Forest

Lessons Learned

  • เมื่อผนวกความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งกับความคิดสร้างสรรค์แล้ว จะเกิดเป็นโมเดลธุรกิจที่ไปรอดได้
  • แม้ไม่มีพื้นฐานความรู้ทางด้านการบริหารธุรกิจมาโดยตรง แต่ก็สร้างธุรกิจเป็นของตัวเองได้ โดยต้องมีตัวช่วยและมีความยืดหยุ่น สิ่งใดที่ไม่เคยทำ ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ ปรับตัว ทดลอง และเปลี่ยนมุมมอง
  • ผลกำไรทางธุรกิจไม่จำเป็นต้องสวนทางกับผลประโยชน์ที่ได้ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเสมอไป

Writer

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ชอบอ่านหนังสือก่อนนอน ออกกำลังกาย และกำลังตามหางานอดิเรกใหม่ ๆ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ