“เพื่อเห็นโลกในเม็ดทราย
และสรวงสวรรค์ในดอกไม้ป่า
จงวางความเป็นอนันต์ไว้บนฝ่ามือ
และความเป็นนิรันดร์ไว้ในโมงยาม”

วิลเลียม เบลค กวีชาวอังกฤษ (1757-1827)

To see a world in a grain of sand
And a heaven in a wild flower,
Hold infinity in the palm of your hand,
And eternity in an hour.

William Blake (1757-1827)

มีคนกล่าวไว้ว่า “การศึกษาประวัติศาสตร์ก็เปรียบเสมือนเรากำลังจะยิงธนูให้พุ่งไปข้างหน้าได้อย่างแม่นยำและไกล จำจะต้องออกแรงเหนี่ยวลูกธนูไปด้านหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แรงส่งที่จะให้ลูกธนูพุ่งไปข้างหน้าก็จะไกลมากขึ้น”

ยิ่งรู้จักประวัติศาสตร์ได้ลึกซึ้งเท่าไหร่ ก็จะเข้าใจอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

รู้หรือไม่ว่าที่ผ่านมาธรรมชาติมีมูลค่าเท่าไหร่

มีครั้งหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่งใช้เวลาหลายปีในการวิเคราะห์ว่า แต่ละปีมนุษย์ใช้บริการฟรีจากธรรมชาติคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ 

ที่ผ่านมา อากาศ น้ำ ต้นไม้ สัตว์ แร่ธาตุต่าง ๆ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มนุษย์เห็นว่าเป็นของฟรี พระเจ้าประทานมาให้ ไม่ต้องเสียเงินทองไปซื้อหามา

เป็นต้นว่า อากาศที่ใช้หายใจ มนุษย์ทุกคนต่างสูดอากาศกันฟรี ๆ ไม่เสียสตางค์  ชาวประมงเวลาออกเรือไปหาปลาในทะเลก็ลงทุนแค่ค่าเรืออุปกรณ์จับปลาน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ต้องจ่ายค่าปลาให้ธรรมชาติ  เวลาเราซื้อปลาจากชาวประมงมากิน ราคาปลาจึงไม่ได้บวกต้นทุนที่ต้องจ่ายให้ธรรมชาติมาด้วย

ป่าก็คือของฟรี ผู้ที่ได้สัมปทานตัดไม้ในป่า สิ่งที่เขาลงทุนคือเครื่องมือในการตัด ค่าสัมปทานให้กับรัฐ  ค่าแรงคนงาน ส่วนต้นทุนที่กว่าต้นไม้แต่ละชนิดจะเติบใหญ่เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ให้ตัดได้นั้น ไม่เคยถูกนำมาคำนวณเป็นต้นทุน 

เพราะธรรมชาติเป็นของฟรีเสมอในสายตามนุษย์ เราจึงไม่เคยรู้ว่าของฟรีที่ธรรมชาติให้มานั้นคิดเป็นมูลค่าเท่าใด

โรเบิร์ต โคสแตนซา ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐศาสตร์ระบบนิเวศแห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า

“นักเศรษฐศาสตร์ที่มีแนวคิดตามทฤษฎีเดิมมักคิดว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ และชอบบอกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถวัดมูลค่าได้”

ใน พ.ศ. 2540 โคสแตนซากับผู้ร่วมงานจากทั่วโลกอีก 12 คน จึงช่วยกันวิเคราะห์มูลค่าจากสิ่งที่เราได้รับจากธรรมชาติ จนได้ข้อสรุปว่า ธรรมชาติให้บริการฟรีแก่มนุษย์ทั้งสิ้น 16 รูปแบบ นับตั้งแต่มหาสมุทร ชายฝั่ง หนองบึง แม่น้ำ ทุ่งหญ้า พื้นที่การเกษตรไปถึงป่าดงดิบ และเมื่อคิดมูลค่าออกมาแล้ว จะพบว่าแต่ละปีธรรมชาติให้ของฟรีคิดเป็นเงินประมาณ 33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ผลผลิตมวลรวมที่มนุษย์จากทุกประเทศทั่วโลกพยายามสร้างขึ้นมานั้น มีมูลค่าเพียง 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ น้อยกว่าที่ธรรมชาติให้แก่มนุษย์เกือบ 2 เท่า

ของฟรีหรือบริการฟรีที่มนุษย์ได้จากธรรมชาติในแต่ละปี แบ่งออกเป็น (หน่วย : ล้านล้านเหรียญสหรัฐ)

ตัวเลขนี้เป็นการประเมินมูลค่าแบบต่ำที่สุด และยังไม่รวมพื้นที่บางประเภทที่ประเมินได้ยาก เช่นทะลทราย ทุ่งหญ้าทุนดรา ภูเขาน้ำแข็งขั้วโลก ฯลฯ

แม้ว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มนุษย์มีส่วนสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงและต่อเนื่องยาวนาน เพื่อความอยู่รอดและการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจ แต่ทุกวันนี้ผู้คนในสังคมเริ่มตระหนักและรับรู้มากขึ้นแล้วว่า หากมนุษย์จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในโลกนี้ได้ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่คือสิ่งที่ต้องทำเดี๋ยวนี้ เพราะนั่นคือทางรอดสุดท้ายของการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์ รวมถึงมนุษย์ด้วย

ในระดับชุมชนเล็ก ๆ เราจะเห็นได้ว่า ชุมชนหลายร้อยแห่งทั่วประเทศที่ลุกขึ้นมารักษาผืนป่า รักษาทะเลหน้าบ้าน อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลามานานแสนนานจนประสบความสำเร็จนั้น ต้องยอมรับ  ความคิดริเริ่มครั้งแรกของคนเหล่านี้ล้วนมาจากการดิ้นรนปรับตัวเพื่อการอยู่รอดของชีวิต จากการสังเกตและประสบการณ์ของชาวบ้าน จนทราบสาเหตุว่าความอดอยากล้วนมาจากปัญหาความแห้งแล้งของแหล่งน้ำ ป่าถูกทำลาย พวกเขาหาเห็ด หน่อไม้ พืชผักไม่ได้อีกต่อไป จากความอดอยากเพราะพื้นดินไม่ชุ่มชื้น จากน้ำเสียและการจับสัตว์น้ำมากเกินไป จนทำให้ไม่มีอาหารในทะเลอีกต่อไป

ปัญหาเหล่านี้ทำให้พวกเขารู้ว่า หากไม่อนุรักษ์ผืนป่า ท้องทะเล พวกเขาก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ พวกเขาเข้าใจถ่องแท้ว่า “ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ”

ในระดับประเทศ ทั้งภาครัฐบาลและบริษัทเอกชนมีการตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การออกกฎหมายหลายฉบับที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม การออกมาตรการลดการใช้ก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนรถไฟฟ้า มีศัพท์ใหม่ ๆ ในวงการ อย่าง Carbon Credit หรือแนวคิดเศรษฐกิจที่เรียกว่า BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) การตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าในความเป็นจริงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังเดินตามการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่รัฐบาลและบริษัทส่วนใหญ่ให้ความสำคัญก่อน

ในระดับโลก ปัญหาโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงอากาศอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมหาศาล บีบบังคับให้ผู้นำประชาคมทั่วโลกต้องออกมาหารือร่วมกันหลายครั้ง อาทิ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ซึ่งล่าสุดจัดขึ้นมาแล้ว 28 ครั้ง เพื่อออกมาตรการและกฎเกณฑ์หลายอย่างในการแก้ปัญหาโลกร้อน แม้ว่าจะทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หรือสุดท้ายอาจจะสายเกินไป เพราะหลายชาติไม่เชื่อและไม่ยอมปฏิบัติตาม   แต่คนส่วนใหญ่ก็ทราบดีว่า มาตรการเหล่านี้คือหนทางสุดท้ายในการอยู่รอดของมนุษยชาติและผู้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน

ในอดีต การทำลายธรรมชาติ การทำลายสิ่งแวดล้อม คือเหตุผลของการอยู่รอดของมนุษย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การรักษาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ กำลังเป็นเหตุผลเดียวในการอยู่รอดของมนุษยชาติ อยู่ที่ว่ากว่ามนุษย์จะเข้าใจความหมายนี้อย่างถ่องแท้ เมื่อถึงเวลานั้นจะสายเกินไปหรือไม่

ภาพ : Matichon Book 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘The Lost Forest: ประวัติศาสตร์(การทำลาย)สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร’ โดยผู้เขียนคนเดียวกันที่ใช้ประสบการณ์ในการลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อทำข่าวสิ่งแวดล้อมติดต่อกันมาร่วม 30 ปี เรียบเรียงเป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมเล่มแรก ๆ ของประเทศ โดยสำนักพิมพ์มติชน สนใจสั่งซื้อได้ที่ Facebook : Matichon Book – สำนักพิมพ์มติชน

Writer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว