The Cloud x OKMD
1
ผมไม่มีวันลืมความรู้สึกในวันนั้นได้เลย
วันนั้น คือครั้งแรกที่ผมมีโอกาสเดินทางไปลอนดอน และโดยไม่รู้ตัว, ผมเตร็ดเตร่ไปในเมืองจนถึงย่านชาริงครอสส์ (Charing Cross) ย่านดังที่เต็มไปด้วยร้านหนังสือ
ผมเปิดประตูร้านหนังสือร้านหนึ่งเข้าไป จำไม่ได้เสียแล้วว่าคือร้านอะไร แต่ที่จำได้ติดใจ ก็คือร้านนั้นมีห้องหนังสือที่ชั้นใต้ดิน
บันไดไม้เก่าคร่ำเสียงดังออดแอดนั้นพาผมลงไปในหมู่มวลหนังสือนับพันนับหมื่นเล่ม กับซอกมุมตรงนั้นตรงนี้ที่คล้ายพาเราเข้าสู่ดินแดนมหัศจรรย์ของอลิซ ที่ซึ่งทำให้ผมลืมไปเลยว่านาฬิกาคืออะไร เวลาคืออะไร และผมมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร
ไม่มีอะไรสลักสำคัญอีกต่อไป – เมื่อเราอยู่ในร้านหนังสือที่มีแต่ความละลานตาของสรรพสิ่งที่เราไม่เคยรู้และจะไม่มีวันเผยให้เรารู้ หากเราไม่ได้คลี่หน้ากระดาษเหล่านั้นออกมาดู
และเป็นวันนั้นนั่นเอง ที่ร้านหนังสือแห่งนั้นได้เผยแสดงให้ผมรู้ ว่าชีวิตของผมมีร้านหนังสือเป็นส่วนสำคัญมาเนิ่นนานแล้ว เพียงแต่ผมไม่เคยตระหนักเท่านั้นเอง ว่าร้านหนังสือไม่ใช่แค่ร้านที่ทำหน้าที่ ‘ขาย’ หนังสือให้เราเดินเข้ามา หยิบหนังสือ จ่ายเงิน แล้วเดินออกไป
ร้านหนังสือไม่เหมือนธุรกิจค้าขายอื่น ๆ ทั่วไป เพราะมันมีน้ำเนื้อมากกว่านั้น มีจิตวิญญาณของผู้ซื้อและผู้ขาย มีการบิดผันเปลี่ยนแปรในตัวตนของผู้คนที่ชอบเข้าร้านหนังสืออยู่เสมอ และเมื่อเดินอยู่ในท่ามกลางหนังสือแปลกหน้านับพันหมื่นเล่ม เราจะหยั่งรู้ขึ้นมาทันที ว่าโลกมีผู้คนที่อยาก ‘เล่าเรื่อง’ และ ‘เล่าความรู้’ ของพวกเขาให้เราฟังอยู่เสมอ
หลังใช้เวลาเต็มอิ่มอยู่ในร้านหนังสือนาน ๆ ค่อย ๆ เลือก ค่อย ๆ พลิกหน้ากระดาษสำรวจตัวตนของหนังสือ สุดท้ายเราจะพบว่า ‘ตัวตน’ ของเราขณะเดินเข้าไปในร้านหนังสือ มักไม่ใช่ตัวตนเดิมเมื่อเราเดินออกมาจากร้านหนังสืออีกต่อไป
ไม่ใช่เลย
2
ผมมาเริ่มงานกับ OKMD หรือสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ได้ราวหนึ่งปีแล้ว กับตำแหน่งที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษง่าย ๆ ว่า Chief Creative Director
ในตอนแรก ผมไม่รู้แน่ชัดนักหรอกว่าตำแหน่งนี้มีหน้าที่อะไร ผมรู้แต่เพียงว่า โลกนี้มีความรู้ให้เราได้เรียนรู้มากมายเหลือคณานับ และชีวิตของเราก็แสนสั้นจนเกินกว่าจะเรียนรู้เรื่องที่เราสนใจได้หมดสิ้น และด้วยตำแหน่งหน้าที่นี้ สิ่งที่ผมพอจะทำได้ – ก็คือการนำพาความรู้ไปสู่ผู้คน
ไม่ใช่ในฐานะผู้รู้ด้วยตัวของผมเอง เพราะคงหยิ่งผยองเกินไปที่จะเอ่ยอ้างว่าตัวเองรู้อะไรแม้เพียงกระผีก แต่แม้นไม่รู้ในความรู้ ทว่าเราก็อาจพอรู้ได้ – ว่าความรู้อยู่ที่ไหน
แน่นอน ความรู้นั้นอยู่ทุกหนแห่ง ความรู้อยู่ในอากาศ – กับการโบกปีกเชื่องช้าของนกอัลบาทรอสผู้เข้าใจหลักอากาศพลศาสตร์มากกว่าใคร, ความรู้อยู่ในดิน – กับโครงข่ายของเห็ดราที่ถักทอประสานร่างกันขึ้นมาจนแข็งแกร่งเป็นอาณานิคมเห็ด, ความรู้อยู่ในลายผ้า – กับร่องรอยจิตสำนึกร่วมของชนเผ่าแต่โบราณที่ถักทอออกมาเป็นเส้นสายลี้ลับเปี่ยมไปด้วยรหัสนัย, ความรู้อยู่ในข้าวเหนียวนุ่ม ๆ – กับการไหลของแร่ธาตุจากภูเขาลงสู่ท้องนา จนเกิดเป็นแหล่งผลิตข้าวเหนียวที่ดีที่สุดในภูมิภาค, ความรู้อยู่ในปราสาทหิน – กับเรื่องราวทางธรณีวิทยา การยกตัวและยุบตัวของแผ่นดิน กับการเกิดแหล่งหินตัดเพื่อให้ผู้คนนำมาทำเป็นปราสาท ความรู้อยู่ทุกหนแห่ง
ความรู้เกิดขึ้นได้ในการสังเกตอันละเอียดละเมียดละไม เช่นที่กาลิเลโอสังเกตเห็นดวงจันทร์อันลับหายไปของดาวพฤหัส จนสามารถอธิบายการโคจรของเทหวัตถุ เช่นที่เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ สังเกตเห็นอาการป่วยไข้ที่น้อยกว่าของหญิงสาวเลี้ยงวัวจนกลายเป็นที่มาของวัคซีน และเช่นที่ไอน์สไตน์สังเกตเห็นเกสรดอกไม้แล่นลิ่วคว้างไปบนผิวหน้าของผืนน้ำอย่างไร้รูปแบบ จนเกิดคำอธิบายถึงบราวเนียนมูฟเมนต์
แต่การสังเกตเหล่านี้ใช้เวลามากมายนัก และมนุษย์เราแต่ละคนก็ไม่อาจใช้เพียงสมอง ดวงตา และผัสสะของตัวเองเพียงลำพังเพื่อสังเกตและความความเข้าใจทุกสรรพสิ่งได้
เราทำได้เพียงลงลึกไปในพื้นที่ที่เราสนใจมากที่สุด แล้วจดจารจารึกมันเอาไว้ในรูปของความทรงจำ และสำหรับบางคนก็อยู่ในตัวอักษร ในรูปของหนังสือที่สามารถถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นให้คนอื่น ๆ ได้ด้วย
เมื่ออยู่ในห้องหนังสือใต้ดินของร้านหนังสือในย่านชาริงครอสส์แห่งนั้น ผมจึงเพิ่งตระหนัก – หนังสือไม่ได้เป็นเพียงก้อนกระดาษเปื้อนหมึกที่ถูกเย็บไว้เป็นเล่ม หนังสือยังไม่ได้มีไว้เพื่อความบันเทิงหรือการฆ่าเวลาเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออะไร ตั้งแต่ตำราเรียนจนถึงหนังสือโป๊ พวกมันล้วนคือมวลของ ‘สรรพความรู้’ ทั้งปวงที่มนุษย์ชาติสร้างขึ้นจนบวมเบ่งอยู่บนผนังและชั้นหนังสือ รอคอยการ ‘ระเบิด’ ออกมาเป็นจักรวาลใหม่ เหมือนการระเบิดของซูเปอร์โนวาในอวกาศที่จะสาดธาตุต่าง ๆ ออกไปไกลโพ้น เพียงแต่การระเบิดของความรู้ในหนังสือ คือการระเบิดใหญ่ในจักรวาลแห่งสมองของเรา เพื่อสาดธาตุแห่งความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ออกไป แล้วถ่างกว้างเส้นขอบฟ้าทางปัญญาของเราให้ใหญ่ขึ้น เพื่อโอบรับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน – ก็เท่านั้นเอง
หนังสือและการอ่านจึงสำคัญ
และที่สำคัญไม่แพ้กัน – ก็คือร้านหนังสือ
3
ผมคิดว่า – ร้านหนังสือมีหน้าที่สำคัญอยู่อย่างน้อยที่สุดก็ 3 เรื่อง
เรื่องแรก : คือการทำหน้าที่เป็น ‘หน่วยธุรกิจ’ (Business Unit) เพื่อให้เจ้าของหรือผู้เปิดร้านสร้างรายได้และกำไรจากการขายหนังสือ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีต้นทุน การบริหารจัดการ การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การสร้างกิจกรรมดึงคนเข้าร้านหนังสือ การออกแบบตกแต่งร้านเพื่อดึงดูดลูกค้า การเจรจาต่อรองกับคู่ค้าทางธุรกิจต่าง ๆ ตั้งแต่สำนักพิมพ์ สายส่ง ซัพพลายเออร์ด้านอื่น ๆ ไปจนถึงร้านหนังสือด้วยกันเอง ดังนั้น ร้านหนังสือจึงต้องการ ‘แบบจำลองธุรกิจ’ (Business Model) ที่ใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเหมือนหรือต่างจากแบบจำลองธุรกิจที่มีอยู่หรือไม่ รวมไปถึงการจัดการด้านการเงินและการบัญชี รวมถึงการประมาณการ (Projection) ในด้านการเงินที่แม่นยำพอสมควรด้วย
แน่นอน – เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
เรื่องที่สอง : ร้านหนังสือมีหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเป็น ‘สถานที่รวมตัว’ (Gathering Place) ของผู้คนที่มีอะไรบางอย่างคลับคล้ายกัน
สถานที่รวมตัวเช่นนี้ เกิดขึ้นได้ก็เพราะเจ้าของร้านหนังสือทำหน้าที่ ‘คัดกรอง’ (Curate) หนังสือเฉพาะบางรูปแบบมาขายในร้านเท่านั้น บางร้านขายเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับอาหาร บางร้านช่ำชองเรื่องหนังสือกวีนิพนธ์ บางแห่งเป็นหนังสือเชิงความรู้ อีกบางร้านก็เก่งกาจเรื่องหนังสือเก่า หนังสือนิยาย หนังสือเกี่ยวกับการเดินทาง
นานมาแล้ว เมื่อไปซานตามอนิกาในลอสแอนเจลิส ผมได้พบกับร้านหนังสือเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชื่อ Midnight Special ที่เลือกขายเฉพาะหนังสือวิชาการที่แปลกประหลาดแต่ดึงดูดใจอย่างเหลือเชื่อ เช่นหนังสือชื่อ History of Shit หรือ ‘ประวัติศาสตร์ขี้’ (ที่แทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับขี้ในแบบที่คุณคิดเลย) ของนักจิตวิเคราะห์และนักปรัชญาฝรั่งเศสอย่างโดมินิก ลาพอร์เต หรือ The Right to be Lazy (สิทธิที่จะขี้เกียจ) ของพอล ลาฟาร์ก เป็นต้น
เป็นร้านหนังสือทำนองนี้นี่แหละ ที่จะ ‘เลือก’ คนเข้าร้านที่มีลักษณะเฉพาะ และสนใจประเด็นเฉพาะบางอย่าง จนทำให้ร้านหนังสือที่เคยเป็นเพียง ‘ที่แวะ’ (หรือ Third Place) กลายมาเป็นสถานที่รวมตัวของคนที่มีความสนใจเฉพาะร่วมกัน (หรือเรียกว่า Fourth Place) ขึ้นมา
คนอ่านเลือกร้านหนังสือ – และร้านหนังสือก็เลือกคนอ่าน, ดูเหมือนนั่นจะเป็นหน้าที่อย่างที่สองของร้านหนังสือ
คือเพื่อให้เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนแบบเดียวกัน
เรื่องที่สาม : ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ร้านหนังสือแทบทุกร้านได้ทำหน้าที่เป็น ‘แหล่งเรียนรู้’ ให้กับผู้คนมายาวนาน นับตั้งแต่เกิดการคัดลอกหนังสือเพื่อถ่ายทอดความรู้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อนับพันปีก่อน หนังสือคือสิ่งล้ำค่าราคาแพง เพราะสิ่งที่บรรจุอยู่ในนั้นก็คือ ‘ความรู้’ ทำให้เกิดการเก็บรวบรวมความรู้เหล่านี้อย่างทะเยอทะยาน เช่นในห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เมืองอเล็กซานเดรีย จนถึงการซื้อขายหนังสือที่คัดลอกด้วยลายมือเหล่านี้ในราคาแพง แต่เมื่อเกิดการสร้างแท่นพิมพ์ของกูเตนเบิร์ก หนังสือก็กลายเป็นสินค้าสำหรับมวลชน ร้านหนังสือหรือสถานที่ ‘ขายหนังสือ’ จึงแทบจะมีความหมายเดียวกับการเป็นสถานที่ ‘ขายความรู้’ มาตลอด
สำหรับคนที่มีอายุมากหน่อย หลายคนน่าจะจดจำร้านหนังสือเล็ก ๆ ประจำจังหวัดหรือแถบถิ่นที่ตนเองเกิดได้ ร้านหนังสือเล่มนี้มักมีขายตั้งแต่ตำราเรียน นิตยสาร หนังสือเล่ม หนังสือการ์ตูน และมีแม้กระทั่งร้านให้เช่าหนังสือสำหรับคนที่ยังไม่อยากควักเงินซื้อ
เป็นร้านหนังสือเหล่านี้นี่เอง ที่ได้ ‘สร้างตัวตน’ ให้กับคนมากมายมาจนถึงปัจจุบัน
4
ผมเคยไป ‘เมืองหนังสือ’ ซึ่งก็คือเมืองเฮย์ริมฝั่งแม่น้ำวาย (Hay-on-Wye) ในสหราชอาณาจักร เมืองแห่งนั้นคือเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองหลวง’ ของหนังสือมือสอง ในเมืองแทบไม่มีกิจการอื่นใดเลย ยกเว้นแต่ร้านหนังสือมือสอง แม้กระทั่งปราสาทใจกลางเมืองที่เคยเป็นของขุนนางระดับสูง ก็ถูกปรับแปลงจนกลายเป็นร้านหนังสือ มีหนังสืออยู่ในนั้นนับหมื่นเล่ม และทุก ๆ ปี เมื่อมีเทศกาลหนังสือหรือ Book Fair ก็มีผู้คนเดินทางมาที่เมืองนี้นับหมื่นคน
ผมเคยไปย่านจิมโบโช (Jimbocho) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองหนังสือ’ หรือ Book Town ใจกลางมหานครโตเกียว แน่นอน หนังสือของจิมโบโชไม่ใช่หนังสือที่ผมจะอ่านออก เพราะแทบทั้งหมดเป็นหนังสือภาษาญี่ปุ่น ย่านนี้คล้ายเมืองเฮย์ย่อส่วน เพราะเต็มไปด้วยร้านหนังสือเรียงรายอยู่บนถนน มีทั้งร้านที่ขายหนังสือเก่าและใหม่ ที่มีเสน่ห์มากก็คือการขายกระดาษแบบโบราณของญี่ปุ่น รวมไปถึงแผนที่เก่า และมีแม้กระทั่งร้านขายบอร์ดเกมที่ซุกซ่อนอยู่บนชั้นสองของร้านหนังสือ
ผมเคยทึ่งนักหนากับร้านชื่อ The Book Thing ในเมืองบัลติมอร์ของอเมริกาที่เพื่อนพาไปเยือน ร้านนี้ไม่ใช่ร้าน ‘ขาย’ หนังสือ แต่มันเป็นโกดังที่มีหนังสือนับหมื่น ๆ เล่ม จัดเรียงเป็นหมวดหมู่เรียบร้อยเป็นระเบียบ มีทั้งหนังสือบันเทิงไปจนถึงหนังสือวิชาการ ใครเดินเข้ามาใน Book Thing แล้วจะหยิบหนังสือกลับบ้านกี่เล่มก็ได้โดยไม่ต้องควักเงินแม้แต่สตางค์แดงเดียว และเมื่ออ่านจบแล้ว หากอยากเก็บไว้ก็เก็บ แต่หากอยากทิ้ง พวกเขาก็จะนำหนังสือมา ‘ดัมพ์’ หรือทิ้งเอาไว้ที่ Book Thing อีกหน เพื่อให้อาสาสมัครได้จัดขึ้นชั้น รอคอยผู้กระหายในความรู้คนใหม่มาหยิบหนังสือเหล่านั้นจากชั้นไปอ่าน เมืองบัลติมอร์จึงมีกลไกการ ‘หมุนเวียน’ ของหนังสือไม่รู้จบ จนอาจเรียกได้ว่าเป็น Circular Design of Books ก็น่าจะได้
พวกเขาช่างรุ่มรวยวัฒนธรรมการอ่านและวัฒนธรรมร้านหนังสือนัก – ผมนึกริษยาเมืองเหล่านี้ทุกครั้งที่ได้เห็น
หากเราเชื่อเหมือนกันว่า ร้านหนังสือก็คือ ‘รูปธรรม’ ของความรู้ คือความรู้ที่กลายร่างมาปรากฏให้เราเห็นในรูปของหนังสือมากมายรายเรียงอยู่บนผนัง ในรูปของเจ้าของร้านหนังสือที่ใช้ไม้ขนไก่ปัดฝุ่นหนังสือทุกเมื่อเชื่อวัน ในรูปของผู้คนที่มีลักษณะนิสัยและความชอบคล้ายกันที่มาเยือนร้านหนังสือแบบเดียวกัน,
เราก็น่าจะเชื่อเช่นเดียวกันว่า – เราเริ่มสร้าง ‘ความรักในความรู้’ ขึ้นได้จากความรักในร้านหนังสือ
5
สิ่งที่ผลักดันให้ร้านหนังสือคึกคัก นอกจากตัวหนังสือเองแล้ว บ่อยครั้งกิจกรรมในร้านหนังสือก็เป็นเรื่องจำเป็น
ร้าน Book Soup ในลอสแองเจลิส มีกิจกรรมอ่านหนังสือหรือ Book Reading (ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการอ่านบทกวี) ทุกสัปดาห์ นั่นผลักดันให้ร้านแห่งนี้มีชีวิตชีวา
ร้านหนังสือ Barnes and Noble ในนิวยอร์ก โดยเฉพาะสาขา Tribeca มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์ คนดังระดับโลกอย่างจูลี แอนดรูว์ หรืออีกหลายคน ต่างเคยมาเปิดตัวหรือจัดทอล์กเกี่ยวกับหนังสือที่นี่
ร้านหนังสือนายอินทร์ สาขาท่าพระจันทร์ ก็เคยมีกิจกรรม ‘มุมกาแฟ’ ทุกวันศุกร์ ต่อเนื่องกันยาวนานถึงกว่าสิบปี โดยเชิญผู้คนมากมาย ทั้งนักเขียน นักอ่าน และศิลปินหลากสาขามาร่วมพูดคุยกันถึงความรักในหนังสือ – ซึ่งก็คือความรักในความรู้
แต่อย่างที่เราเห็นกัน สภาพเศรษฐกิจ เทคโนโลยีการสื่อสาร และโรคระบาดในปัจจุบัน ทำให้การเข้าร้านหนังสือกลายเป็นเรื่องงดเว้นของคนมากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะสภาวะจำเป็น หากสภาวะนี้ผ่านพ้นไป ก็มีโอกาสไม่น้อยที่การสนับสนุนกิจกรรมในร้านหนังสือจะสร้างความคึกคักให้กับร้านหนังสืออีกครั้ง
หลายคนตั้งคำถามว่า ในเมื่อเรามีร้านออนไลน์แล้ว ทำไมยังต้องมาซื้อหนังสือในร้านหนังสือกันอีก
สำหรับผม คำตอบที่ง่ายที่สุดคือ – ก็เพราะหนังสือไม่เหมือนสินค้าอื่น ๆ นั่นเอง เราอาจพอรู้ว่าเราชอบสบู่กลิ่นไหน เราจึงสามารถสั่งสบู่กลิ่นนั้นออนไลน์ได้ เช่นเดียวกับสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ตั้งแต่น้ำยาซักผ้าไปจนถึงเชิงเทียนและแม้แต่ขนมต่างๆ แน่นอน ถ้าเรารู้อยู่แล้วว่าเราต้องการหนังสือเล่มไหน แบบไหน เราสามารถ ‘เสิร์ชหา’ และซื้อหนังสือนั้น ๆ จากร้านค้าออนไลน์ได้
แต่กับ ‘หนังสือแปลกหน้า’ ที่เราไม่เคยรู้ว่าดำรงอยู่ในโลกนี้เล่า – หากเราไม่รู้จักมัน, ก็แล้วเราจะสั่งออนไลน์ได้อย่างไร
ร้านหนังสือทำหน้าที่ตรงนี้ ตรงที่เป็นเสมือนโซ่ข้อกลางเชื่อมโยงเราเข้ากับสิ่งที่เราไม่รู้จัก การเดินเข้าไปในร้านหนังสืออาจเหมือนการออกเดตกับบุคคลนิรนาม เราจะได้ไล้มือไปบนสันปก มองดูหน้าปกของหนังสือที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน ทดลองอ่านมัน หยิบมันไว้ในมือ ชั่งน้ำหนักมัน เกลียดชังบางข้อความของมัน โทษฐานที่กระตุกให้เราคิดและเจ็บปวด
หรือไม่ก็หลงรักมันหัวปักหัวปำในแบบที่ไม่เคยตกหลุมรักใครแบบนี้มาก่อน
ร้านหนังสือมีหน้าที่สำคัญ คือทำให้เรา ‘รัก’ ในหนังสือ ซึ่งก็คือความรักในความรู้ โดยที่เราอาจไม่ทันตั้งตัว เหมือนการได้พบคู่รักที่เราไม่เคยรู้ว่ามีอยู่จริง
แม้มีโลกออนไลน์แล้ว ร้านหนังสือจึงยังสำคัญอยู่เสมอ มีสถิติบอกว่า แนวโน้มร้านหนังสือโดยรวมในสหรัฐอเมริกากำลังเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่เข้าทศวรรษ 2020 เป็นต้นมา
นั่นก็เพราะร้านหนังสือนั้นรื่นรมย์ และความรื่นรมย์คือจักรกลขับเคลื่อนความใฝ่รู้ให้เรา
ใฝ่รู้ – ในแบบที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเสียด้วย
6
โดยดำริของ ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการ OKMD ร่วมกับสื่อที่หลงรักในร้านหนังสือหัวปักหัวปำอย่าง The Cloud, PUBAT หรือสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ร้านหนังสือพลัดพรากไปจากสังคมอย่างกลุ่ม MEAT จึงได้ก่อเกิดเป็นโครงการร้านหนังสือในฐานะแหล่งเรียนรู้ขึ้นมา
โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อนำความคึกคักกลับสู่ร้านหนังสืออีกครั้ง โดยเฉพาะกับร้านหนังสืออิสระที่อาจมีข้อจำกัดในหลายด้าน เราอยากชวนเหล่าร้านหนังสือมาทลายข้อจำกัดเหล่านี้ร่วมกัน เพื่อทำให้วัฒนธรรมการอ่านกลายเป็นเรื่องที่ไม่ได้แปลกแยกหรือสูงส่งไปกว่าวัฒนธรรมในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ของเรา ด้วยการร่วมกันคิด มองดูปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมกันสร้างวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นมาด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายที่ยั่งยืน ทั้งสำหรับผู้อ่าน และสำหรับเจ้าของร้านหนังสือที่ต้องเป็นทั้งนักธุรกิจและผู้จับมือกับชุมชนรอบข้างเพื่อพากันไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน
ติดตามโครงการนี้ได้ทางเว็บไซต์และเพจของ The Cloud, PUBAT, MEAT และ OKMD ตลอดปี 2565 นี้ #OKMD #Bookstore #Learningspace
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาร้านหนังสือเป็นแหล่งควมรู้สร้างสรรค์ โดยความร่วมมือของ The Cloud และ OKMD