8 มิถุนายน 2023
2 K

เชื่อว่านักอ่านส่วนใหญ่คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘Penguin Books’ สำนักพิมพ์อังกฤษที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปนกเพนกวินและสันหนังสือสีส้มสะดุดตา ใน พ.ศ. 2556 Penguin Books ตัดสินใจควบรวมกิจการกับ ‘Random House’ สำนักพิมพ์เจ้าตลาดฝั่งอเมริกา ก่อนผงาดขึ้นเป็น 1 ใน 5 สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของโลก ‘Penguin Random House’ ที่ตีพิมพ์วรรณกรรมชั้นยอดออกมามากมาย 

และเรื่องที่น่าตื่นเต้นก็คือ ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทาง Penguin Random House SEA บริษัทสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเครือของ Penguin Random House ประกาศเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่หมาด ๆ The Fabulist วรรณกรรมแปลจากนวนิยายเรื่อง จุติ ของ อุทิศ เหมะมูลใช่ นี่คือผลงานของนักเขียนไทยเจ้าของรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2552 และศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2561 ซึ่งกำลังจะได้เดินทางไปประดับบนชั้นวางหนังสือของ Penguin ทั่วโลก

เรื่องราวชวนปลื้มปริ่มยินดีของวงการหนังสือไทยเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดทีมงานหญิงเก่งและแกร่งแห่ง ‘ซอย (soi)’ เจน-จุฑา สุวรรณมงคล บรรณาธิการบริหาร เพลิน-ปาลิน อังศุสิงห์ และ พลอย-จิตติกา กิ่งชัชวาลย์ นักแปล สามสาวผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนเพื่อเชื่อมโยงนักเขียน สู่โอกาสร่วมงานกับ Penguin Random House SEA 

อะไรคือกุญแจความสำเร็จ และกว่า 3 ปีที่นวนิยาย จุติ จะได้จุติลงในร่างของ The Fabulist นั้นต้องแลกอะไรไป และได้อะไรคืนกลับมาบ้าง 

The Cloud ชวนพวกเธอมาเปิดเผยสารพัดเรื่องราวบนเส้นทางการผลักดันที่ใช้พลังมหาศาลเพื่อทดลอง เรียนรู้ และแก้สมการความท้าทายหลายกระบวน รวมถึงคลี่ไอเดียการออกแบบปกอันเฉียบขาด พร้อมพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับซอย สำนักพิมพ์และ Literary Agency เบอร์เล็กหากคับคุณภาพ กับฝันที่อยากเปิดประตูให้วงการวรรณกรรมไทยก้าวไกลกว่าเดิม

จาก ‘จุติ' ถึง ‘The Fabulist’ นวนิยายไทยที่กำลังออกเดินทางไปประดับชั้นหนังสือทั่วโลก

ดวงจะได้จุติ

ตำนานอภินิหาร พงศาวดาร ประวัติศาสตร์ ศาสนา ความเชื่อ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนความทรงจำที่ถูกปรับแต่งและรื้อสร้าง เหล่านี้คือสิ่งที่หยิบมาเล่าล้อและตั้งคำถามผ่านผลงานมหากาพย์ในชุดไตรภาคเมืองแก่งคอยอย่าง จุติ

จุติ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2558 และเข้ารอบสุดท้าย (Shortlist) ของรางวัลซีไรต์ในปีเดียวกัน ถึงแม้ว่านวนิยายเล่มนี้จะไม่ได้ประดับรางวัลใด ทว่ามันกลับได้รับเสียงชื่นชมจากคอวรรณกรรมและสำนักป้ายยาหลายสำนักว่า จัดเป็นอีกผลงานระดับมาสเตอร์พีซของอุทิศที่ต้องเสาะหามาอ่าน ไม่เว้นกระทั่งในแวดวงวิชาการที่มีการนำมาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ซึ่งต้นฉบับแปลภาษาอังกฤษสำหรับประกอบวิทยานิพนธ์นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด

“จริง ๆ เรื่องมันเกิดจาก พี่ม่อน (ชื่อเล่นของอุทิศ) ติดต่อมาทางพี่อีกคนที่เรารู้จักว่าเขาได้รับต้นฉบับภาษาอังกฤษของ จุติ มาจากอาจารย์ท่านหนึ่งแล้วอยากผลักดันต่อ เลยขอให้เราช่วยดูสำนวนให้” เจนย้อนก้าวแรกของการรับหน้าที่ดูแลต้นฉบับ จุติ “แต่พอเรากับเพลินได้ดูก็พบว่ามีรายละเอียดที่ต้องแก้ไขอยู่พอสมควร ประกอบกับทางอาจารย์เจ้าของต้นฉบับไม่มีเวลาปรับแก้ให้ สุดท้ายเลยจับพลัดจับผลูกลายเป็นการแปลใหม่ทั้งหมด”

เมื่อต้นฉบับแปลภาคต้นของนวนิยายจากเพลินถึงมืออุทิศ ทั้งคู่ก็ได้รับภารกิจแปลต่อจนจบ กระนั้นคำถามสำคัญหลังการตอบตกลงก็คือ หากต้นฉบับภาษาอังกฤษเสร็จสรรพ มันจะเดินทางไปไหนต่อ

นั่นจึงเป็นเหตุให้เจนนึกถึง Literary Agency “ที่ซอยหันมาพัฒนาระบบ Literary Agency เกิดจากการทำงานชิ้นนี้เลยก็ว่าได้” เธอว่า เพราะนี่เปรียบเสมือนกุญแจดอกหลักในการไขประตูส่งออกวรรณกรรมไทยสู่สายตาชาวโลก

จาก ‘จุติ' ถึง ‘The Fabulist’ นวนิยายไทยที่กำลังออกเดินทางไปประดับชั้นหนังสือทั่วโลก

นักเขียนในสังกัด

คิดว่าคงมีคนที่ไม่รู้จักซอย แต่ก็อาจจะพอคุ้น ๆ กับหนังสือเหล่านี้อยู่บ้าง 

รวมบทความของฮิโตะ ชไตเยิร์ล: ประเด็นชั่ยๆ ของยุคสมัยในความเกี่ยวดองของ #เทคโนโลยี #ศิลปะ และ #การทหาร, แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน, ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99%, ปกรณัมความปวกเปียก, จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด หรือ เดินไปดวงดาว

รายชื่อหนังสือข้างต้นจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ซอย (soi press) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตหนังสือเกี่ยวกับการวิจารณ์ศิลปะและการเมืองทางวัฒนธรรม เรื่องแต่ง บันทึก และงานทดลองเชิงตัวบทหลากหลายประเภท นอกจากนี้ซอยยังมีในส่วนของสํานักพิมพ์ 2 ภาษาสำหรับแปลผลงานภาษาไทยสู่ภาษาอื่น ๆ ภายใต้ซอยวรรณกรรม (soi literary) ประเดิมเล่มแรกด้วย ปกรณัมความปวกเปียก : Particles of Perpetual Paralysis ผลงานของนักเขียนเลือดอีสาน ภู กระดาษ ก่อนจะแตกหน่อรูปแบบการทำงานส่วน Literary Agency เพิ่มเติมเข้ามาตามจังหวะ พื้นที่ และเวลาอันเหมาะควร

“ซอยพยายามปรับปรุงตัวมันเองมาเรื่อย ๆ โดยเป้าหมายปีนี้คือการผลักดันวรรณกรรมไทยให้ออกไปข้างนอกเป็นหลัก” เจนกล่าวแล้วอธิบายคลายสงสัยให้ฟังว่า Literary Agency นั้น จะว่าไปก็คล้ายกับโมเดลลิ่งเอเจนซี่ เพียงเปลี่ยนจากการดูแลดารา นายแบบ นางแบบ มาเป็นนักเขียน ดูความเป็นไปได้และผลประโยชน์ในการเผยแพร่ผลงานต่าง ๆ ของพวกเขา เพื่อสร้างรายได้ ไม่ว่าจะตีพิมพ์เป็นหนังสือหรือผลิตเป็นภาพยนตร์ ซึ่งทุกวันนี้นักเขียนในสังกัดซอยมีอยู่ประมาณ 20 คน เช่น อุทิศ เหมะมูล, ภู กระดาษ, จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, ชาติ กอบจิตติ, ลาว คำหอม, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และ สะอาด เป็นต้น

จาก ‘จุติ' ถึง ‘The Fabulist’ นวนิยายไทยที่กำลังออกเดินทางไปประดับชั้นหนังสือทั่วโลก
จาก ‘จุติ' ถึง ‘The Fabulist’ นวนิยายไทยที่กำลังออกเดินทางไปประดับชั้นหนังสือทั่วโลก

“เรายืมระบบ Literary Agency ของต่างประเทศมาปรับให้เข้ากับนิเวศสื่อสิ่งพิมพ์ของบ้านเรา เพื่อให้มันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเขียน กระบวนการตีพิมพ์ และให้งานของนักเขียนไทยมีที่ทางข้ามพรมแดนไปสู่ภาษาอื่น เพราะปัจจุบันการพิมพ์ของเราส่วนใหญ่เป็นการซื้อเข้ามากกว่าส่งออก เหตุผลหลัก ๆ เลยเป็นเรื่องของความต้องการ ฉะนั้น การเริ่มต้นของเราจึงค่อนข้างจะล้มลุกคลุกคลาน ต้องแนะนำให้นานาชาติรู้จัก รู้ว่านักเขียนไทยเก่ง มีฝีมือ และมีวรรณกรรมไทยฉบับแปลภาษาอังกฤษด้วย 

“หมายความว่าต้องลงแรงเยอะ ทําทุกอย่างเองตั้งแต่ต้นยันปลาย แถมรายได้น้อย ต่างจากหลายประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว ซึ่งมีโครงสร้างที่เอื้อให้นิเวศสื่อสิ่งพิมพ์ครบวงจร ทำให้ Literary Agency มีที่ยืน สำนักพิมพ์วิ่งเข้าหา มีอำนาจในการต่อรองสูงกว่า อย่างไรก็ตาม ซอยเองก็กำลังพยายามพัฒนาและอัปเดตระบบทุกปีให้ข้างในแข็งแรงและมีความเป็นสากลมากขึ้น”

ย้อนกลับไปเรื่องที่หลายคนคงรอฟังกันแล้วล่ะว่า แล้วนวนิยาย จุติ เดินทางไปเคาะประตูบ้านนกเพนกวินได้อย่างไร เจนเฉลยให้ฟังว่า เกิดจากคำถามและการตัดสินใจง่าย ๆ ของอุทิศที่โยนคำตอบว่า ถ้าเลือกได้ก็อยากพิมพ์กับสำนักพิมพ์ Penguin Random House และซอยที่รับเอาภารกิจนี้มาสานต่อ 

“ถ้างั้นก็ลองดู ไม่ได้มีอะไรเสียหาย” จบประโยคกับนักเขียน เจนก็ติดต่อไปทาง Penguin Random House SEA พร้อมไฟล์ต้นฉบับบทเปิด “เราเลือกส่งไปที่นี่ เพราะคิดว่าอย่างน้อยเขาน่าจะพอเข้าใจบริบทของนวนิยาย ซึ่งผลปรากฏว่าพิจารณาไม่นานเขาก็ตอบรับ ถ้าให้วิเคราะห์จากมุมมองเรา คิดว่าเรื่องราวและสัญลักษณ์ใน จุติ พ้องกับวัฒนธรรมร่วมของชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกอย่าง เขาก็อาจกำลังหาอะไรจากประเทศไทยอยู่แล้วเช่นกัน เล่าแบบนี้เหมือนจะฟังดูง่ายนะ แต่จริง ๆ กระบวนต่อมาค่อนข้างเชื่องช้าและไม่ได้ง่ายขนาดนั้น”

จาก ‘จุติ' ถึง ‘The Fabulist’ นวนิยายไทยที่กำลังออกเดินทางไปประดับชั้นหนังสือทั่วโลก

ถูกที่ก็มีทาง

ไม่ง่ายอย่างแรกเลยก็คือ Penguin Random House ไม่ทำงานร่วมกับ Literary Agency

“เข้าใจใช่ไหม” เจนพูดไปหัวเราะไปพลาง “คือเราเป็นเอเจนต์ให้พี่ม่อน แต่เขาไม่ทํางานกับเรา อาจจะด้วยอะไรก็ตาม เช่นเขาอาจคิดว่าเอเจนต์จะมาแบ่งกำไร แต่คิดแบบนั้นไม่ได้หรอก ในบริบทที่ไม่มีระบบอะไรรองรับเลยอย่างประเทศไทย และลำพังเพียงนักเขียนโครงการแบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้ การขับเคลื่อนมีตัวกลางเสมอ โดยที่ผ่านมาก็มีนักแปลที่ทำหน้าที่นี้บ้าง สำนักพิมพ์บ้าง เราพยายามจะเป็นอีกหนึ่งตัวกลาง ถึงแม้จะไม่มีเปอร์เซ็นต์ที่แบ่งจาก Penguin Random House SEA โดยตรง เราก็ต้องทําอยู่ดี อย่างน้อยยังคงมีเปอร์เซ็นต์ที่ได้รับจากนักเขียนบ้าง แต่ถ้ามองจากสายตาทางธุรกิจ มันไม่มีทางอยู่รอดได้เลย ซึ่งเราพยายามหาจุดนั้นอยู่”

เมื่อปราการด่านแรกไม่ใช่ข้อจำกัด การตกลงคุยรายละเอียดและทำสัญญาจึงเดินหน้า เจนเล่าว่าเพียงกระบวนการนี้ก็กินเวลาถึงครึ่งปี กระนั้นมันก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และเป็นข้อพิสูจน์ว่ายังพอมีที่ทางให้วรรณกรรมไทยออกสู่ตลาดสากล พลันยกประสบการณ์ครั้งเดินทางไปร่วมงาน London Book Fair ประกอบ เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงโอกาสและความเป็นไปได้ของตลาดนี้

“ปีที่ผ่านมาเราได้สปอนเซอร์จาก British Council ไป London Book Fair แล้วก็มีโอกาสได้นั่งฟังเสวนาของบรรณาธิการ Penguin Classics ช่วงหนึ่งมีคนโยนคำถามว่า นิยามคำว่า Classic ของ Penguin Classics หมายถึงอะไร ด้านบรรณาธิการตอบกลับว่า คำถามนี้วางอยู่บนความท้าทายว่า จำต้องเป็น Western Classic เท่านั้นใช่หรือไม่ ซึ่งเขาก็อธิบายมุมมองแล้วพูดขึ้นมาว่า จริง ๆ Penguin Classics ก็ตั้งคำถามนิยามนี้ พร้อมยกตัวอย่างว่า สนใจเหมือนกันว่าวรรณกรรมคลาสสิกของไทยเป็นอย่างไร หลังจบงานเราเลยได้คุยกัน แล้วเขาก็ขอให้ส่งตัวอย่างวรรณกรรมมาดูเพราะเขาสนใจมาก ที่ยกเรื่องนี้มาเล่าแค่อยากบอกว่ายังมีช่องทางให้นักเขียนและวรรณกรรมไทยเติบโตไปได้อีก”

ย้อนกลับมาที่กระบวนการทำคลอด The Fabulist กันต่อ เจนบอกว่าแม้ก้าวแรกจะฟังดูยืดเยื้อยาวนาน แต่คงเทียบไม่ได้กับกระบวนการที่เหนื่อยยากยิ่งกว่า อย่างการแปลที่ต้องอาศัยนักแปลถึงสองแรงแข็งขัน ซึ่งเคี่ยวเข็ญต้นฉบับกันจนมั่นใจใน 3 ปี

การขับเคลื่อน ‘จุติ’ สู่ ‘The Fabulist’ นวนิยายไทยที่ได้ตีพิมพ์กับ Penguin Random House โดยทีมงานหญิงแกร่งแห่งซอย (soi)

เรื่องเล่านักเล่าเรื่อง

การปรับและปรุงสำนวนแปลใหม่ของ จุติ ปักหมุดเริ่มใน พ.ศ. 2563

“ตอนที่ตกปากรับคำว่าจะทำเล่มนี้ เรารู้สึกอยากท้าทายตัวเองดูสักตั้ง แต่พอแปลไปสักพักก็รู้เลยว่าไม่น่าไหวแน่ ๆ” เพลินเล่ากลั้วเสียงหัวเราะ “เพราะมันเป็นนวนิยายที่มีเค้าโครงเรื่องใหญ่ ความยาวกว่า 500 หน้า แถมยังมีรูปแบบการบรรยายถึง 5 น้ำเสียง ถ้าทําเองคนเดียวคงแย่แน่ เลยนึกถึงพลอยเพราะเคยอ่านที่เขาแปลเรื่องย่อหนังของ พี่โรส-พวงสร้อย อักษรสว่าง แล้วรู้สึกว่าคนนี้ใช้ภาษาดีและเป็นธรรมชาติ จึงติดต่อชวนมาช่วยงาน”

“เนื่องจากเพลินแปลเสร็จไปแล้ว 1 บท ตอนแรกที่เข้ามาเราเลยแค่มาช่วยแก้ไขต้นฉบับหรือเก็บงานให้แข็งแรง แต่พอทำไปทำมาเราก็รู้สึกว่ามีความยากตรงที่ถ้าเราไม่เข้าใจบริบทของเรื่องราว ตัวละคร หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ การถ่ายทอดเนื้อหาอาจบกพร่องได้ง่าย ๆ สุดท้ายเลยตัดสินใจแปลด้วยกัน เพราะนอกจากจะได้เข้าใจในตัวบทแล้ว การมีเพื่อนร่วมแปลยังทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกัน ซึ่งช่วยให้งานออกมาดีขึ้นด้วย” พลอยเสริม

เพลินอธิบายกระบวนการทำงานแบบแพ็กคู่ว่า เธอรับหน้าที่เป็นไม้แรกในการแปลจากต้นฉบับภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนส่งต่อให้พลอยเทียบเคียงกับต้นฉบับเดิมอีกหน เพื่อตรวจแกรมมาร์ ดูการใช้คำที่เหมาะสมและสละสลวย

กระนั้นอย่างที่พอจะทราบกันดีแล้วว่า นวนิยายเล่มนี้หยิบยืมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และตำนานพื้นบ้านมาเป็นวัตถุดิบมหาศาล ทำให้เต็มไปด้วยศัพท์แสงเฉพาะทาง รวมถึงสำเนียงภาษาท้องถิ่นซึ่งกลายเป็นอีกโจทย์หนักอึ้งของสองนักแปล

 “สำหรับเราค่อนข้างกังวลว่าภาษาอังกฤษจะแปลออกมาได้ตรงกับสิ่งที่นักเขียนจะสื่อรึเปล่า แปลออกมาแล้วจะสนุกไหม เพราะศัพท์บางตัว แม้เราจะรู้ความหมาย แต่ก็ยังขาดความเข้าใจ จึงต้องอาศัยการค้นคว้าเพิ่มเติมด้วย” พลอยบอก

“แล้วก็ยังมีเรื่องของน้ำเสียงและวิธีการพูดที่แตกต่างกันของตัวละคร รวมถึงภาษาถิ่นที่ทำให้เราต้องคิดมาก” พลอยพูดต่อ “เพราะใน จุติ มีตัวละครที่พูดสำเนียงติดอีสาน บางจังหวะเล่นมุกพูดภาษาอังกฤษผิด หรือบางตอนตัวละครก็เว้าลาวไปเลย ซึ่งตอนแรกที่แปลเราใช้วิธีแปลแบบตั้งใจให้เป็น Broken English เหมือนคนพูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง เสร็จสรรพพอกลับมาดู เราว่ามันผิด ไม่ตรงกับความหมายของเนื้อหา คือคนพูดภาษาลาวไม่ได้หมายความว่าเขาพูดภาษาไทยไม่เป็น เพียงแต่เขาพูดอีกภาษาหนึ่ง ทำให้ต้องกลับมาแก้ไข ปรับเป็นภาษาอังกฤษแบบถูกต้อง แล้วเพิ่มคําสร้อยอย่าง เด้อ ลงไปบ้าง และเขียนคำอธิบายประกอบ หรืออีกทางคือการจบประโยคด้วยการบรรยายว่าเขาพูดในสำเนียงภาษาถิ่นของเขา” 

“ประเด็นลักษณะนี้เป็นสิ่งที่นักแปลถกเถียงกันมาตลอด ทุกคนต้องเจอ” เพลินกล่าว “แต่เราว่าการแปลนวนิยายโดยเฉพาะเล่มนี้ทําให้เราเห็นว่ามันยากแค่ไหนที่จะต้องตัดสินใจ” 

ฟังดูหัวจะปวด แต่ระหว่างระบาย บรรยากาศเกลื่อนด้วยเสียงหัวเราะ สารภาพว่าเป็นกระบวนการทำงานที่ฟังแล้วชวนยิ้มมากกว่าหดหู่ ทั้งรู้สึกนับถือและยอมใจสองสาวไปในคราวเดียว

นอกเหนือจากงานแปลไม่คิดว่าหน้าปกสวย ๆ ของ The Fabulist ก็มาจากไอเดียของทั้งคู่อีกเหมือนกัน

“เราว่าหน้าปกเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมากในการทําหนังสือ เพราะมันคือสิ่งแรกที่ดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน ซึ่งหน้าปกแรกที่เราได้รับจาก Penguin Random House SEA เป็นเวอร์ชันที่นำภาพจำของประเทศไทยที่คนนอกมองเข้ามาใช้ อาทิ วัดโพธิ์ วัดอรุณฯ หรือกินรี โดยทางทีมงานเขาก็ยอมรับว่าไม่รู้จริง ๆ เรื่องบริบททางวัฒนธรรมไทย”

พลอยเสริมต่อว่า “แล้วบนหน้าปกก็มีภาพของผู้ชายคนขาวยืนลอยอยู่ ซึ่งเขาอธิบายว่าฝ่ายการตลาดทำสำรวจมาแล้วว่าจะเป็นปกที่ขายดีอะไรทำนองนี้ ซึ่งเราก็ต้องเขียนกลับไปขอให้เขาปรับแก้ เพราะจากมุมมองเรา มันไม่สมเหตุสมผลที่จะทำปกแบบนี้ เพราะทั้งเล่มไม่มีการพูดถึงคนขาวเลยสักคน และเนื้อหาของหนังสือก็ค่อนข้างสวนทางกับสิ่งที่ปกจะสื่อออกมา”

“เราว่าไอเดียพวกนี้สำคัญมาก แล้วเราก็จะไม่ยอมปล่อยผ่าน” เพลินสำทับอย่างหนักแน่น

การขับเคลื่อน ‘จุติ’ สู่ ‘The Fabulist’ นวนิยายไทยที่ได้ตีพิมพ์กับ Penguin Random House โดยทีมงานหญิงแกร่งแห่งซอย (soi)

ท้ายสุด ปกในเวอร์ชันสมบูรณ์ก็ออกมาสวยเฉียบอย่างที่ทุกคนคงได้เห็นกัน โดยเพลินขยายแนวคิดการออกแบบให้ฟังว่า เป็นการดึงเอาสัญลักษณ์ ‘แม่นางตะเคียนทอง’ มาสื่อสาร ซึ่งในนวนิยายภาคต้นได้บอกเล่าเรื่องราวของต้นตะเคียนทองที่ถูกส่งไปทำเสาหลักเมืองครั้งสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ หากไปไม่ถึงฝันและลอยลำกลับมายังสระบุรี ก่อนมีชาวบ้านนำขึ้นมาปิดทองพร้อมสร้างตำนานขึ้นมาใหม่ให้ผู้คนเคารพบูชา 

“เราแนะนำไปทาง Penguin Random House SEA ว่า ถ้าอยากหาสัญลักษณ์อะไรสักอย่างมาออกแบบปกสิ่งนี้ก็น่าสนใจ เพราะว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างเรื่องราวขึ้นมาใหม่ สร้างตํานาน และเปลี่ยนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่นวนิยายพยายามนำเสนอ”

ส่วนชื่อ The Fabulist แปลว่า นักเล่าเรื่อง มีที่มาจากตัวละครหลักทั้ง 5 ซึ่งเป็นเพียงคนตัวเล็ก ๆ ในสังคมที่ปรากฏขึ้นมาอีกครั้งหลังถูกเขี่ยออกไปจากการเขียนประวัติศาสตร์สร้างชาติ โดยเรื่องราวของนวนิยายอยู่ในรูปแบบและสำเนียงของพวกเขาเอง

 “แน่นอนว่าจริง ๆ มีคําหนึ่งที่ให้ความหมายใกล้เคียงกับ จุติ นั่นคือ Rebirth แต่เรามองว่าถ้าใช้ชื่อนี้กับหนังสือที่เขียนโดยคนไทย อาจทำให้คนอื่นเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่งเราไม่อยากให้เหมารวมไปแบบนั้น” เพลินเผยอีกเหตุผลสนับสนุนของการเลือกใช้ The Fabulist “แล้วเราก็ไม่อยากให้ติดอยู่กับภาพจําว่าคนไทยต้องเป็นคนพุทธ เพราะทุกวันนี้เรายืนอยู่บนสังคมพหุวัฒนธรรม ดังนั้น พอมีโอกาสที่จะสร้างการรับรู้สู่ข้างนอกเราก็ต้องคิดใหม่” 

หลังจากประกาศเปิดตัวหนังสือในทุกแพลตฟอร์ม เจนเล่าว่า The Fabulist กำลังทยอยเดินทางไปอยู่บนชั้นวางหนังสือของสำนักพิมพ์ Penguin Random House ทั่วโลก ที่แน่นอนคือร้านหนังสือในแถบประเทศโซนเอเชีย และล่าสุดก็มีนักอ่านชาวอินโดนีเซียเพิ่งชิมลางพร้อมจิ้ม 5 ดาวเต็มบน Goodreads ให้เรียบร้อย

การขับเคลื่อน ‘จุติ’ สู่ ‘The Fabulist’ นวนิยายไทยที่ได้ตีพิมพ์กับ Penguin Random House โดยทีมงานหญิงแกร่งแห่งซอย (soi)

สิ่งที่ควรจะเป็น

“นักเขียนได้ตีพิมพ์ผลงาน ส่วนซอยได้ทำงาน เราคิดว่าแค่นี้ก็มีคุณค่าสุด ๆ แล้ว” เจนตอบกระชับเมื่อเราถามถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการร่วมงานกับสำนักพิมพ์แถวหน้าของโลก “แต่ส่วนตัวมันทำให้เราได้เข้าใจวิธีการทํางานของสํานักพิมพ์ขนาดใหญ่ เห็นวิธีคิดในการบริหารธุรกิจ การประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ ซึ่งน่าสนใจและเป็นบทเรียนที่สําคัญมาก จะบอกว่าดีใจไหมก็ดีใจนะ แต่ความจริงรู้สึกโล่งใจมากกว่า คือแค่เล่มเดียวเราคงดีใจได้ไม่นาน ถ้าจะให้ดีกว่านี้ เราอยากผลักเล่มอื่น ๆ ให้ตามไปอีกเรื่อย ๆ”

ขณะที่เพลินและพลอยแบ่งปันมุมมองและความรู้สึกของการปลุกปั้นผลงานชิ้นนี้ให้ฟังว่า 

“ทุกคนคงรู้กันอยู่แล้วว่ามีวรรณกรรมไทยจำนวนไม่มากที่จะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในฐานะที่เราได้รับโอกาสพิเศษนี้ และปฏิเสธไม่ได้ว่าการแปลหนังสือก็เป็น Soft Power แบบหนึ่ง เราจึงตั้งใจส่งสารผ่านคำนำของผู้แปล เพื่อให้ผู้อ่านชาวต่างชาติมองเห็นถึงเรื่องเล่าความเป็นไทยในเลนส์ของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างที่นวนิยายเรื่องนี้กำลังพยายามทำหน้าที่ของมันอยู่” เพลินกล่าว

ส่วนพลอยบอกว่า “สำหรับเรา The Fabulist เป็นหนังสือที่เปิดเผยโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยในแบบที่ไม่เคยมี เป็นการกู้คืนเรื่องเล่าของประเทศที่ถูกทำให้สูญหาย ปรับมุมมองและเขียนขึ้นมาใหม่ เป็นเรื่องเล่าของประเทศและของชีวิต ซึ่งไม่ได้สวยสมบูรณ์พร้อมเหมือนอย่างเรื่องเล่าก่อนหน้าที่พยายามบอกว่าบ้านเราดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ หากความจริงกลับมีสิ่งที่ย้อนแย้งมากมาย ส่วนตัวเราว่าหนังสือเล่มนี้เป็นวรรณกรรมที่โอบรับความซับซ้อนและความขัดแย้งของการเป็นคนไทย ซึ่งน่าจะช่วยให้ผู้อ่านชาวต่างชาติมองเห็นภาพของประเทศไทยในมิติใหม่ที่ละเอียดรอบคอบยิ่งกว่าเดิม”

แม้โปรเจกต์ผลักดัน จุติ สู่ The Fabulist จะปิดฉากลง ทว่ากับการทำงานเพื่อยกระดับวงการวรรณกรรมไทยสำหรับซอยยังเป็นเพียงช่วงเริ่มต้น เพราะเจนคาดหวังและปักธงว่าภายใน 3 – 4 ปีข้างหน้าเธออยากพาหนังสือภาษาไทยก้าวไปสู่ภาษาอื่น ๆ อีกหลายเล่ม และอยากให้ซอยเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการหรือภาครัฐนำไปต่อยอดพัฒนาระบบที่เกื้อหนุนวงการหนังสือไทยให้เข้มแข็ง 

“เราอยากให้รัฐบาลหันมามองโมเดลนี้ว่ามันจะพัฒนาหรือยกระดับไปเป็นระบบที่กลับมาดูแลคนทํางานคอนเทนต์ ไม่ใช่แค่วรรณกรรม แต่หมายถึงในเชิงคอนเทนต์หรือเชิงความรู้ทั้งหมด ซึ่งมันไม่ควรจะถูกนําด้วยระบบตลาดเพียงอย่างเดียวเช่นปัจจุบัน เพื่อเสรีภาพของการสร้างสรรค์ที่เปิดกว้างและหลากหลาย” 

เธอบอกว่านี่คือความพยายาม ภาพฝัน และสิ่งที่มันควรจะเป็น 

ซอย (soi)

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล