เบื้องหน้าผมคือบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ทาสีเหลืองนวลตา ตั้งตระหง่านอยู่บนลานหญ้า ซึ่งรายล้อมด้วยต้นไม้เขียวชอุ่มรอบอาณาบริเวณราว 6 ไร่ ริมถนนดำรง กลางเมืองภูเก็ต

‘บ้านชาร์เตอร์ดแบงก์’ คือชื่อที่คนแถวนี้เรียกติดปากมาแต่รุ่นปู่ย่า เมื่อครั้งบ้านหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักแก่ผู้จัดการธนาคารชาร์เตอร์ดอันเรืองรองในยุคนั้น

กาลเวลากว่า 100 ปีผ่านผัน ชื่อเสียงบ้านชาร์เตอร์ดแบงก์ทยอยเลือนรางจากความทรงจำและความรับรู้ของคนภูเก็ตยุคหลัง เช่นเดียวกับตัวธนาคารที่ต้องปิดตัวลง บ้านพักผู้จัดการจึงพลอยถูกทิ้งร้างไปตามยถากรรม ปล่อยให้ต้นไม้ขึ้นบดบังความงดงามของตัวบ้านจากสายตาฝูงชนที่สัญจรผ่าน ชนิดที่คนท้องถิ่นบางคนยังไม่เคยสังเกตมาก่อนว่ามีตึกเก่าแห่งนี้อยู่ด้วย

การเดินทางกว่าร้อยปีของ 'บ้านชาร์เตอร์ดแบงก์' บ้านผู้จัดการธนาคารรุ่นบุกเบิกในภูเก็ต สู่การเกิดใหม่ในฐานะพื้นที่จัดงานสารพัดเพื่อประชาชน

แต่แล้วต้น พ.ศ. 2566 ชาวภูเก็ตก็ได้ยลโฉมบ้านชาร์เตอร์ดแบงก์เต็มตาเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี หลังได้รับการบำรุงรักษาโดยภาครัฐให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม พร้อมใช้งานเป็นแลนด์มาร์กและสถานที่จัดกิจกรรมแห่งใหม่ ไม่ไกลจากย่านเมืองเก่าภูเก็ตอันโด่งดัง

ก่อนเอื้อมมือถอดสลัก ผลักบานประตู เข้าไปชมบ้านพักเก่าที่กำลังจะกลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางเปิดใหม่ในเมืองไข่มุกอันดามันแห่งนี้ ผมขอนำทุกท่านย้อนรำลึกความหลังของธนาคารกันเสียก่อน เพราะเชื่อเหลือเกินว่าเรื่องราวในบ้านนี้จะเปี่ยมอรรถรสมากขึ้นเป็นทบทวี หากเราได้รู้ที่มาที่ไปของมัน

ธนาคารอังกฤษโดยความเห็นชอบของรัฐบาลสยาม

หวนกลับไปในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งจักรวรรดิอังกฤษ (British Empire) กำลังผงาดขึ้นสู่จุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ชาติพวกตน ธงยูเนียนแจ็กของพวกเขาถูกปักลงทั่วทุกภูมิภาคของโลก ไม่ว่าในฐานะอาณานิคม ดินแดนในอารักขา หรือแค่สถานีการค้าก็ตาม ระบบการเงินและการธนาคารจากแดนผู้ดีก็เป็นสิ่งสำคัญที่เอื้ออำนวยความสะดวกแก่กิจการของชาวอังกฤษในต่างแดนได้เป็นอย่างมาก

ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่ยืนยาวกว่า 63 ปี อังกฤษได้ตั้งธนาคารในต่างแดนนับสิบแห่ง ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในแดนอาณานิคม ‘ธนาคารชาร์เตอร์ด’ หรือ The Chartered Bank คงเป็นชื่อธนาคารหนึ่งที่ชาวเอเชียรู้จักมาช้านาน ด้วยไม่กี่ปีหลังจากที่ เจมส์ วิลสัน นักเศรษฐศาสตร์ชาวสกอต ได้รับกฎบัตรพระราชทาน (Royal Charter) จากสมเด็จพระราชินีนาถ ให้สถาปนาธนาคารชาร์เตอร์ดขึ้นที่กรุงลอนดอนเมื่อปี 1853 ธนาคารชาร์เตอร์ดซึ่งได้ชื่อตามกฎบัตรพระราชทานนี้ก็ขยายสาขามาเปิดกิจการในเมืองท่าสำคัญของเอเชียหลายแห่ง ประกอบด้วย กัลกัตตา (โกลกาตา) บอมเบย์ (มุมไบ) และเซี่ยงไฮ้ ในปี 1858 ตามมาด้วยฮ่องกงและสิงคโปร์ในปีต่อมา

การเดินทางกว่าร้อยปีของ 'บ้านชาร์เตอร์ดแบงก์' บ้านผู้จัดการธนาคารรุ่นบุกเบิกในภูเก็ต สู่การเกิดใหม่ในฐานะพื้นที่จัดงานสารพัดเพื่อประชาชน
ธนาคารชาร์เตอร์ดได้รับการก่อตั้งขึ้นในชื่อ ธนาคารชาร์เตอร์ดแห่งอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน (The Chartered Bank of India, Australia & China) ในภาพนี้คือธนาคารชาร์เตอร์ดสาขาเซี่ยงไฮ้

ยุคสมัยเดียวกันนั้น เกาะเล็ก ๆ นอกชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างภูเก็ตก็กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเป็นผลจากการขุดพบแร่ดีบุกซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ต้นแบบความศิวิไลซ์ที่ภูเก็ตยึดเป็นเยี่ยงอย่าง คือเกาะหมากหรือปีนัง เมืองอาณานิคมอังกฤษซึ่งถือเป็นบ้านพี่เมืองน้องของกันและกัน ระบบธนาคารอันก้าวหน้าที่อังกฤษนำมาวางรากฐานให้กับเมืองปีนังเป็นสิ่งหนึ่งที่บรรดาพ่อค้าท้องถิ่นชาวภูเก็ตรู้จักและรู้สึกเสียเปรียบคู่ค้าในเมืองขึ้นอังกฤษอยู่ในที

ผู้อำนวยการบริษัทธนาคารชาร์เตอร์ดเมืองปีนังเคยทำเรื่องขออนุญาตตั้งสาขาภูเก็ตขึ้น โดยอ้างเหตุว่า พวก ‘นายเหมือง’ หรือเจ้าของกิจการเหมืองแร่ภูเก็ตสมัยนั้นต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารที่ปีนัง และต้องเสียดอกเบี้ยสูงราวร้อยละ 16 – 18 ขณะที่บริษัทของอังกฤษเข้ามารับซื้อดีบุกที่ภูเก็ตเพื่อส่งไปถลุงต่อในสิงคโปร์ ส่งผลให้นายเหมืองภูเก็ตเสียดุลการค้ามาก ถ้าหากภูเก็ตมีธนาคารเป็นของตัวเอง ไม่ต้องเดินทางไปไกล เพื่อกู้ดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ก็จะช่วยลดภาระการเงินให้กับชาวภูเก็ตได้มาก

พิจารณาดังนี้ คณะกรรมการข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต นำโดย พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ข้าหลวงมณฑลภูเก็ตระหว่าง พ.ศ. 2444 – 2456 จึงเห็นชอบให้ธนาคารชาร์เตอร์ดมาตั้งสาขาในภูเก็ตได้ The Chartered Bank แห่งแรกในภูเก็ตจึงสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2450 บริเวณตลาดทุ่งคาในตัวเมือง ปัจจุบันคือสี่แยกที่ถนนภูเก็ตตัดกับถนนพังงงา

การเดินทางกว่าร้อยปีของ 'บ้านชาร์เตอร์ดแบงก์' บ้านผู้จัดการธนาคารรุ่นบุกเบิกในภูเก็ต สู่การเกิดใหม่ในฐานะพื้นที่จัดงานสารพัดเพื่อประชาชน
ธนาคารชาร์เตอร์ดซึ่งปัจจุบันถูกใช้งานเป็น ‘พิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์’ บอกเล่าความหลังของเมืองภูเก็ต ยังมีร่องรอยคำว่า The Chartered Bank หลงเหลืออยู่
ภาพ : พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ตำแหน่งที่ตั้งธนาคารก็นับว่ามีนัยที่น่าสนใจ เพราะที่นี่ไม่เพียงแต่เป็นย่านใจกลางเมืองเท่านั้น หากพื้นที่สี่แยกนี้ยังมีคลองบางใหญ่ ซึ่งเป็นคลองเส้นสำคัญของเมืองไหลขนานกันมากับถนนภูเก็ต ณภัทราพล นลจิตต์ รองโฆษกจังหวัดภูเก็ตเล่าว่าคลองสายนี้เคยกว้างจนเรือสำเภา 3 ใบแล่นเข้ามาจอดหน้าธนาคารได้ และเป็นเส้นทางลำเลียงสินแร่จากทางเหนือ เช่น อำเภอกะทู้ ออกสู่ทะเลยังปลายคลองที่แหลมสะพานหินได้อีกด้วย

การเดินทางกว่าร้อยปีของ 'บ้านชาร์เตอร์ดแบงก์' บ้านผู้จัดการธนาคารรุ่นบุกเบิกในภูเก็ต สู่การเกิดใหม่ในฐานะพื้นที่จัดงานสารพัดเพื่อประชาชน
อดีตสถานีตำรวจตลาดใหญ่ ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวเทศบาลนครภูเก็ต
ภาพ : พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

เพื่อป้องกันธนาคารที่เป็นแหล่งรักษาเงินฝากของบรรดาผู้มีอันจะกิน รัฐบาลสยามได้สร้าง ‘สถานีตำรวจภูธรตลาดใหญ่’ ขึ้นบนถนนฝั่งตรงข้ามธนาคารชาร์เตอร์ด มีจุดเด่นที่หอนาฬิกาสูง กลายเป็นจุดถ่ายรูปที่นักท่องเที่ยวนิยมเก็บภาพเป็นที่ระลึกเมื่อมาเยือนถิ่นเมืองเก่าภูเก็ต

“ผู้จัดการ ผู้บริหารธนาคารชาร์เตอร์ดสมัยนั้นเป็นชาวตะวันตกเสียส่วนใหญ่ อาจมีคนพื้นถิ่นอยู่ด้วย เป็นลูกหลานคหบดีภูเก็ตที่ถูกส่งไปเรียนในระบบการศึกษาอังกฤษที่ปีนังมา” คุณณภัทราพลระบุ “นอกจากสร้างธนาคารของอังกฤษแล้ว รัฐบาลส่วนกลางของไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ยังอนุญาตให้เขาสร้างบ้านพักผู้จัดการธนาคารซึ่งเป็นชาวตะวันตกด้วย จะเห็นว่าเขาเอาใจฝรั่งมาก”

‘อั้งม้อหลาว’ เพื่อ ‘อั้งม้อ’ ตัวจริง

ศัพท์ท้องถิ่นภูเก็ตคำหนึ่งที่ได้ยินกันหนาหูในวงการสถาปัตยกรรม คือ ‘อั้งม้อหลาว’ (红毛楼) ซึ่งเป็นคำประสมในภาษาจีนฮกเกี้ยน ภาษาที่บรรพบุรุษคนภูเก็ตส่วนใหญ่ใช้สื่อสาร

อั้งม้อ (红毛) แปลว่า ผมแดง หมายถึงฝรั่ง ชาวตะวันตก

หลาว (楼) หมายถึง หอ คฤหาสน์ บ้านหลังใหญ่

เมื่อรวม 2 คำนี้เข้าด้วยกัน จึงมีความหมายว่า คฤหาสน์ของฝรั่ง เป็นคำนิยามคฤหาสน์หรือบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยมากเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนปนยุโรปที่มาเรียกกันในชั้นหลังว่า ชิโน-ยูโรเปียน (Sino-European) หรือ ชิโน-โคโลเนียล (Sino-Colonial)

การเดินทางกว่าร้อยปีของ 'บ้านชาร์เตอร์ดแบงก์' บ้านผู้จัดการธนาคารรุ่นบุกเบิกในภูเก็ต สู่การเกิดใหม่ในฐานะพื้นที่จัดงานสารพัดเพื่อประชาชน

ในจังหวัดภูเก็ตมีอั้งม้อหลาวอยู่หลายหลัง แทบทุกหลังเคยเป็นบ้านขุนนางหรือเจ้าสัวเก่าที่มีเชื้อสายจีน มักสร้างโดยช่างชาวจีน และชอบปนศิลปะจีนลงไปบนตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นประตูไม้บานเฟี้ยม ลายค้างคาวซึ่งเป็นสัตว์มงคล ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ไม่มีในบ้านพักผู้จัดการธนาคารชาร์เตอร์ดที่หลายคนอาจไม่นับเป็นอั้งม้อหลาว ทั้งที่บ้านนี้สร้างเพื่อ ‘อั้งม้อ’ ตัวจริงเสียงจริง

สถาปัตยกรรมบ้านชาร์เตอร์ดแบงก์เป็นแบบบ้านในอาณานิคมเขตร้อนของอังกฤษ หรือ British Colonial Architecture อังกฤษได้นำรูปแบบการสร้างอาคารบ้านเรือนของตนเองไปสร้างในดินแดนที่พวกตนยึดครอง เช่น พม่า อินเดีย แหลมมลายู และปรับประยุกต์ตัวอาคารให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่ร้อนชื้นในโลกตะวันออก อย่างที่รองโฆษกจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า “สร้างให้เหมาะกับฝรั่ง คนอังกฤษอยู่ได้”

จะเห็นว่าบ้านชาร์เตอร์ดแบงก์สร้างเป็นอาคาร 2 ชั้น ปูนประกอบไม้ หลังคาสูงทรงจั่วมุงกระเบื้องว่าว มีมุขยื่นออกมานอกตัวอาคาร 3 จุด คือด้านหน้าและด้านข้างอีก 2 ด้าน ทุกมุขคลุมด้วยหลังคาหน้าจั่ว มุขด้านหน้าจะมีขนาดใหญ่ที่สุด รับน้ำหนักด้วยเสาขนาดใหญ่ 4 ต้น แต่ละช่วงเสามีไม้ระแนงเป็นแผงซุ้มโค้ง สลับลายเป็นรู ๆ รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เป็นช่องลมที่เปิดให้ลมถ่ายเทตลอดเวลา

ชั้นล่างแบ่งพื้นที่เป็นห้องโถง ห้องรับแขก ห้องครัว และห้องน้ำ โดยมีบันไดเชื่อมระหว่างชั้นอยู่ที่ฝั่งด้านหน้า ส่วนชั้นบนก็สะท้อนความเป็นตะวันตกของผู้เคยอาศัยในบ้านนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะนอกจากมีห้องนอนและห้องโถงแล้ว บนชั้น 2 ของบ้านนี้ยังมีห้องน้ำ ซึ่งมักไม่พบตามอั้งม้อหลาวทั่วไปในภูเก็ต

“ถ้าเป็นบ้านคนจีนจะไม่มีห้องน้ำชั้นบน เพราะถือเป็นของไม่สะอาด เป็นอัปมงคล เขาจะต้องขับถ่ายใส่โถ ตื่นเช้าค่อยให้คนรับใช้เอามาทิ้ง อั้งม้อหลาวในภูเก็ตก็มักเป็นแบบนี้ทั้งหมดนะครับ แต่ที่นี่เป็นบ้านฝรั่ง เขาเลยไม่ซีเรียสกับการมีห้องน้ำไว้ชั้นบนที่เป็นชั้นเดียวกับห้องนอน”

อีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้บ้านชาร์เตอร์ดแบงก์ผิดแผกจากอั้งม้อหลาวทั่วไป คือฝ้าเพดานบ้าน

“โถงตรงกลางด้านบนมีเฉลียง มีลูกกรง และมีฝ้าเพดานพร้อม ถือว่าน้อยบ้านครับที่จะมีฝ้า น่าจะเป็นอั้งม้อหลาวแรก ๆ ที่มี เพราะส่วนใหญ่เป็นบ้านแล้วก็หลังคาเลย แต่หลังนี้มีฝ้าเพดานด้วย”

การเกิดใหม่ของบ้านชาร์เตอร์ดแบงก์

นับตั้งแต่ปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ที่ธนาคารชาร์เตอร์ดมาเปิดสาขาที่ภูเก็ต ธนาคารซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ยุคใหม่ให้กับภูเก็ตได้ผ่านวันเวลาที่มั่งคั่งถึงขีดสุด ก่อนจะเริ่มถดถอยลงเมื่อมีธนาคารอื่น ๆ เข้ามาดำเนินกิจการแข่ง และค่อย ๆ เสื่อมลงไปจนต้องยุติกิจการ

รองโฆษกจังหวัดภูเก็ตให้ความเห็นว่า สาเหตุหนึ่งที่ชาร์เตอร์ดแบงก์ในภูเก็ตต้องมาถึงจุดตกต่ำนั้นเป็นผลจากความเสื่อมของธุรกิจเหมืองแร่ เนื่องจากแร่จำนวนมากถูกขุดออกไป ขณะที่ตลาดความต้องการดีบุกก็ถูกทดแทนด้วยสินแร่ชนิดอื่น แต่ไม่ว่าสาเหตุที่แท้จริงจะเป็นเพราะอะไร ชื่อธนาคารชาร์เตอร์ดก็สูญหายไปจากสารบบใน พ.ศ. 2512 (ปี 1969) เมื่อรวมกิจการเข้ากับธนาคารสแตนดาร์ดแห่งแอฟริกาใต้ (The Standard Bank of South Africa) เกิดเป็นธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) สืบมาจนทุกวันนี้

การเดินทางกว่าร้อยปีของ 'บ้านชาร์เตอร์ดแบงก์' บ้านผู้จัดการธนาคารรุ่นบุกเบิกในภูเก็ต สู่การเกิดใหม่ในฐานะพื้นที่จัดงานสารพัดเพื่อประชาชน

บ้านพักประจำตำแหน่งผู้จัดการธนาคารชาร์เตอร์ดประจำจังหวัดภูเก็ตจึงไม่มีการใช้งานมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ได้ตกเป็นที่ราชพัสดุในความดูแลของกรมธนารักษ์ ซึ่งมีกรอบระเบียบการใช้พื้นที่ค่อนข้างเคร่งครัด การจะบูรณะหรือใช้สอยจึงเต็มไปด้วยความละหุกขลุกขลัก แม้ว่ากรมธนารักษ์จะเคยปล่อยประมูลที่ดินผืนนี้ไปแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีการพัฒนาหรือปรับปรุงสิ่งใดเป็นรูปธรรมนานนับสิบปี เพราะค่าปรับปรุงบ้านเก่าอายุนับร้อยปีมีต้นทุนสูงมาก

“บ้านหลังนี้เหมือนมีอาถรรพ์ มันเลือกเจ้าของ สายการบินแห่งหนึ่งเคยประมูลได้ แต่เพราะค่าใช้จ่ายสูง เขาเลยไม่ได้ทำอะไรเป็นสิบปี จนต้องส่งคืนกรมธนารักษ์ใน พ.ศ. 2558 เคยมีร้านอาหารชื่อดังในจังหวัดภูเก็ตอยากมาทำ แต่เขาดูแล้วไม่คุ้ม ที่แปลงนี้เลยปล่อยร้างมาตลอดครับ”

ครั้นเมื่อ คุณนรภัทร ปลอดทอง เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตใน พ.ศ. 2560 แนวคิดที่จะซ่อมบำรุงบ้านหลังนี้จึงกลับมาอีกครั้ง โดยผู้ว่าฯ นรภัทรคาดหวังจะให้เป็นบ้านรองรับแขกบ้านแขกเมือง แต่เพราะตัวบ้านอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ภูมิทัศน์รอบบ้านก็จำต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงมาก ความคิดนี้จึงถูกผัดผ่อนออกไปอีกครั้ง

การเดินทางกว่าร้อยปีของ 'บ้านชาร์เตอร์ดแบงก์' บ้านผู้จัดการธนาคารรุ่นบุกเบิกในภูเก็ต สู่การเกิดใหม่ในฐานะพื้นที่จัดงานสารพัดเพื่อประชาชน

“ด้วยระบบราชการ การยื่นงบทำอะไรสักอย่างก็จะเชื่องช้าสักหน่อย ท่านผู้ว่าฯ อยากให้ที่นี่เป็นบ้านพักแขกบ้านแขกเมือง ก็เลยรื้อรอบ ๆ บ้าน ปลูกทุ่งปอเทืองเป็นจุดเช็กอินไปพักหนึ่ง ตอนหลังมันก็หายไปตามเวลา เพราะปอเทืองเป็นพืชล้มลุก ที่นี่ก็ร้างไปอีก”

จนกระทั่ง คุณณรงค์ วุ่นซิ้ว เข้ารับตำแหน่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2563 การบูรณะบ้านชาร์เตอร์ดถึงได้เกิดขึ้นจริง เมื่อผู้ว่าฯ ท่านนี้มอบหมายให้เทศบาลนครภูเก็ตมาดูแล และยังให้โยธาธิการและผังเมืองภูเก็ตออกแบบปรับปรุง พร้อมทั้งของบประมาณมาดำเนินการ ด้วยเจตนารมณ์ที่จะให้อดีตบ้านพักผู้จัดการธนาคารแห่งนี้มีสภาพเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวเมืองมาใช้งานได้จริง

“งบประมาณที่ใช้ไปคือประมาณ 28 ล้านบาทใน พ.ศ. 2565 และได้จัดซื้อจัดจ้างในวงเงินก่อสร้าง 26.4 ล้านบาท และถือว่าสร้างได้รวดเร็ว” คุณณภัทราพลเปิดเผยตัวเลขเม็ดเงินที่ใช้ในการบูรณะบ้านชาร์เตอร์ดทั้งหลัง รวมทั้งปรับภูมิทัศน์รอบบ้านให้กลับมาสวยสดงดงามอีกครั้ง

ในการบูรณะซ่อมแซมบ้านชาร์เตอร์ดแบงก์ ทุกหน่วยงานราชการที่มีส่วนรับผิดชอบบ้านนี้ได้หารือกันอย่างละเอียด จนได้ข้อตกลงร่วมกันว่าสีที่ใช้ทาอาคารจะต้องเป็นสีหายใจได้ เหมาะสำหรับใช้ทาอาคารเก่า โดยเป็นสีผสมที่ทดแดดทนฝนซึ่งโหมกระหน่ำตลอดทุกฤดูกาลของภาคใต้ได้

บ้านชาร์เตอร์ดแบงก์โฉมใหม่นี้ไม่ใช่แค่บูรณะออกมาให้สวยงามดูดีเหมือนเก่า แต่ยังได้สร้างอาคารชั้นเดียวเพิ่มอีก 3 หลัง มีส่วนเชื่อมต่อกับตึกใหญ่ด้วย

“เรามาสร้างห้องน้ำเพิ่ม สร้างอาคารเพิ่มให้เป็นเรือนรับรอง จัดงานนิทรรศการข้างหลังได้ จัดประชุมสัมมนาได้ด้วย” ผู้เป็นสักขีพยานในการซ่อมแซมบ้านชาร์เตอร์ดเล่าจุดประสงค์ของส่วนต่อขยายที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ในระหว่าง พ.ศ. 2565 – 2566 นี้

การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 โดยท่านผู้ว่าฯ ณรงค์ถือฤกษ์วันสงกรานต์ 14 เมษายน จัดงานรดน้ำดำหัว นิมนต์พระสงฆ์จากวัดมงคลนิมิตรมาเจริญพระพุทธมนต์ เสมือนทำบุญขึ้นบ้านใหม่ให้กับบ้านชาร์เตอร์ดแบงก์รุ่นใหม่ที่กำลังรอการใช้งานอยู่

การเดินทางกว่าร้อยปีของ 'บ้านชาร์เตอร์ดแบงก์' บ้านผู้จัดการธนาคารรุ่นบุกเบิกในภูเก็ต สู่การเกิดใหม่ในฐานะพื้นที่จัดงานสารพัดเพื่อประชาชน

อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จในการบูรณะบ้านพักหลังนี้เป็นผลจากความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนในภูเก็ต… จังหวัดเกาะเล็ก ๆ ที่ผู้คนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

รองโฆษกจังหวัดภูเก็ตยังบอกกับผู้มาเยือนอย่างผมอีกว่า แม้บ้านใหญ่สไตล์โบราณอย่างอั้งม้อหลาวจะมีมากมายในเมืองนี้ แต่หลายที่ยังมีผู้อยู่อาศัย เข้าไปใช้งานไม่ได้ง่าย ๆ คงมีแต่ที่นี่ซึ่งเป็นบ้านในความดูแลของราชการ

การเดินทางกว่าร้อยปีของ 'บ้านชาร์เตอร์ดแบงก์' บ้านผู้จัดการธนาคารรุ่นบุกเบิกในภูเก็ต สู่การเกิดใหม่ในฐานะพื้นที่จัดงานสารพัดเพื่อประชาชน

“ตอนนี้เป็นบ้านโล่ง ๆ ไม่ได้มีเฟอร์นิเจอร์อะไร ใครก็เข้าไปจัดงานได้ เรามีอาคารให้คุณ คุณก็แค่มาจัดตกแต่งเอง มีลานโล่ง มีไฟ มีห้องน้ำพร้อม ห้องข้างหลังก็จัดสัมมนาเล็ก ๆ ได้ มีห้องแพนทรี มีห้องครัวไว้ใช้งานได้ มีลานกว้างอยู่กลางบ้าน เข้าไปถ่าย Pre-wedding ได้”

ต่อไปภายหน้า บ้านหลังนี้จะอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต โดย นายกเรวัต อารีรอบ มีจุดหมายให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เกินควร สามารถจัดสัมมนา งานเลี้ยง ประชุม แถลงข่าวได้ รวมถึงถ้าลูกหลานชาวภูเก็ตคนไหนต้องการจัดงานแต่งงานที่ไม่เอิกเกริกมากนัก บ้านชาร์เตอร์ดแบงก์หลังนี้ก็พร้อมเป็นทางเลือกใหม่ให้กับทุกคนได้ในราคาที่ย่อมเยา

ข้อมูลอ้างอิง
  • ณภัทราพล นลจิตต์. 28 กันยายน 2566. รองโฆษกจังหวัดภูเก็ต. สัมภาษณ์.
  • เรวัต อารีรอบ. 27 กันยายน 2566. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต. สัมภาษณ์.
  • สมบูรณ์ แก่นตะเคียน. 19 กรกฎาคม 2561. ธนาคารชาร์เตอร์ด (The Chartered Bank) สาขาภูเก็ต [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: Phuketcity.info
  • Wikipedia. 10 November 2023. Chartered Bank of India, Australia and China [online]. accessed from: en.wikipedia.org/wiki/Chartered_Bank_of_India,_Australia_and_China. 

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

อธิวัฒน์ สุขคุ้ม

เป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ทำเพจรีวิวชื่อ ‘วาดแสง’ ชอบในการท่องเที่ยว เขา ทะเล ถ่ายภาพ กล้องฟิล์ม แคมปิ้ง รักอิสระ เป็นคนภูเก็ตโดยกำเนิด