ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหา ผู้เขียนขอเล่าเรื่องตัวเองสักนิดหนึ่งพอเป็นพิธี เนื่องจากสมัยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยใกล้ตีนดอยสุเทพที่รั้วติดกับสวนสัตว์ เราเคยมีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ พร้อมรับหน้าที่ดูแลหนังสือหายากภายในหอสมุดกลาง จึงพอจะพูดได้ว่าเราเป็นคนคีย์ เพชรพระอุมา แทบทุกเล่มเข้าระบบยืม-คืน

หากจะบอกว่า เพชรพระอุมา เป็นหนังสือหายากก็คงไม่ถูกนัก เพราะสำนักพิมพ์ ‘ณ บ้านวรรณกรรม’ ยังคงตีพิมพ์ออกมาอยู่เรื่อย ๆ แบบไม่ขาดตกเล่มไหนไปกลางทาง อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่หลักใหญ่สำคัญที่เราจะมาพูดถึงกัน แต่จะบอกว่าไม่เกี่ยวข้องเลยก็คงไม่ใช่

เพราะร้านที่เราพามาแนะนำในวันนี้คือ ‘The Author Book Cafe’ ซึ่งมีหนังสือจากสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรมกว่า 300 เล่ม บางเล่มที่เลิกตีพิมพ์ไปจนถึงหาซื้อตามร้านหนังสือทั่วไปไม่ได้แล้วก็ยังหาอ่านได้จากที่นี่ที่เดียว 

เล่นเอาเราอดสงสัยไม่ได้เลยว่า อะไรทำให้ร้านหนังสือแห่งนี้อยากเป็นสถานที่สำหรับนักอ่าน และอยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยของศิลปิน ถึงยินดีเอาเหล่าหนังสือหาง่ายและหนังสือหายากออกมาวางเผยปกให้คนหยิบอ่านกันฟรี ๆ โดยเสียเงินแค่ค่ากาแฟ 1 แก้ว แล้วนั่งแช่ได้ทั้งวัน

จะมีก็เพียง 2 อย่างที่เรามั่นใจอย่างแน่ชัดแล้วก็คือ

หนึ่ง ร้านนี้เกิดจากความรักในหนังสือของคนทำ

สอง แจน-สิริกัลยา นามทอน นิยามร้านของเธอว่าเป็น ‘ร้านหนังสือที่มีกาแฟ’

แจน-สิริกัลยา นามทอน เจ้าของร้าน The Author Book Cafe
แจน-สิริกัลยา นามทอน เจ้าของร้าน The Author Book Cafe

แด่นักเขียนทุกท่าน

แจนเริ่มต้นด้วยการให้ข้อมูลคร่าว ๆ

อย่างแรก เธอเป็นลูกสาวของ รักชนก นามทอน บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม เพราะฉะนั้น สำนักพิมพ์จึงเปรียบเสมือนธุรกิจครอบครัว และการมีอยู่ของร้านนี้ก็เปรียบเสมือนสถานที่สำหรับโปรโมตสำนักพิมพ์อีกต่อหนึ่ง

“เราจะไม่ยัดคาแรกเตอร์ของสำนักพิมพ์เข้ามามากจนเกินไป พยายามแยกตัวร้านออกมาหน่อย อย่างน้อยก็มีแค่หนังสือที่ทางสำนักพิมพ์ให้มา บางเล่มเป็นหนังสือตัวอย่าง แต่คนที่เข้ามาก็คงจะดูออกแหละว่าใครเป็นสปอนเซอร์” แจนเล่าด้วยน้ำเสียงติดตลก

ต่อมาจึงเริ่มพูดถึงแนวคิดในการทำร้าน

ทั้งหมดเริ่มจากความคิดตั้งต้นง่าย ๆ นั่นคือหนังสือมันแพง บางคนอาจต้องการหนังสือตัวอย่างเพื่อเป็นตัวช่วยก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ

ขณะเดียวกัน ส่วนที่เป็นพื้นที่สำหรับขายหนังสือ เธอเลือกแยกออกมาเป็นอีกห้องหนึ่ง เพื่อให้ข้างนอกเป็นบรรยากาศสบายตา สบายใจ ไม่รู้สึกอึดอัดกับสินค้าที่ตั้งไว้

แจน-สิริกัลยา นามทอน เจ้าของร้าน The Author Book Cafe

ก่อนจะลงลึกต่อไปถึงการตั้งชื่อว่า The Author เพราะเอาเข้าจริง เธออยากเป็นร้านที่มุ่งเน้นไปยังนักเขียนมากกว่าตัวหนังสือ 

อยากเป็นร้านที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนของนักเขียนคนนั้นผ่านผลงานของเขา เธอเชื่อว่าคนที่สำนักพิมพ์เลือกมาแล้วย่อมมีตัวตนที่จะแสดงออกผ่านงานเขียนอย่างเด่นชัด 

และอยากเป็นร้านที่ให้คุณค่ากับเหล่าศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานอื่น ๆ อีกมากมายไม่ใช่แค่หนังสือ

“เราอยากเป็นพื้นที่ที่นักเขียนรู้สึกปลอดภัย เราไม่ลดราคาหนังสือของเขาเกิน 30% แม้จะขายได้น้อยก็ตาม เพราะบางครั้งการลดราคาหนังสือระดับ 70 – 90% จะทำให้นักเขียนคนนั้นถูกลดค่าไปด้วย ทั้ง ๆ ที่บางคนอาจเอาช่วงชีวิตหนึ่งของตัวเองหรือความรู้ทั้งชีวิตมาเขียนด้วยซ้ำ เราอยากให้นักเขียนรู้สึกว่า เราให้คุณค่ากับงานของเขา” แจนอธิบาย

The Author Book Cafe ย่านเกษตร-นวมินทร์ โดย ณ บ้านวรรณกรรม ร้านที่อยากเป็นเซฟโซนให้นักอ่าน นักเขียน และศิลปินทุกคน
The Author Book Cafe ย่านเกษตร-นวมินทร์ โดย ณ บ้านวรรณกรรม ร้านที่อยากเป็นเซฟโซนให้นักอ่าน นักเขียน และศิลปินทุกคน

อ่านสะดุด หลุดจังหวะ

ว่ากันตามตรงแล้ว ร้านของแจนใช้โมเดลเดียวกับห้องสมุดที่เอาอาหารเข้ามากินได้ เพียงแต่ว่าอาหารเหล่านั้นคือเครื่องดื่มและขนมที่มีขายอยู่ภายในร้าน

“จริง ๆ จะมีเบียร์ด้วยนะ แต่ตอนนี้ยังเป็นแค่ไวน์กินกลางวันอยู่” แจนบอกกับเราเมื่อพูดถึงเครื่องดื่ม

แต่ก่อนจะไปต่อเรื่องเครื่องดื่ม แจนเล่าให้ฟังถึงความบังเอิญที่พาให้ร้านของเธอต้องสะดุดตั้งแต่วันที่เริ่มออกสตาร์ต

“เราบังเอิญเปิดร้านช่วงโควิด-19 กำลังพีกพอดี” แจนเปรย

ลำดับเวลาได้ประมาณว่า เธอเซ็นสัญญาเช่าที่ในช่วงปลายปี 2019 มีกำหนดต้องเปิดร้านในเดือนมีนาคม ปี 2020 แค่เริ่มก่อสร้างก็ล่าช้าแล้ว ถึงอย่างนั้นโชคก็ยังเข้าข้างให้เธอเปิดร้านได้ภายในปลายเดือนมีนาคม หรือก็คือวันที่ 28 มีนาคม ปี 2020 โดยผลตอบรับนับว่าชวนใจชื้นไม่น้อยเมื่อเห็นว่ามีคนเต็มร้านในวันแรก ลูกค้ามารอ และการโปรโมตเป็นผล จนกระทั่งมีข้อความจากเพื่อนส่งเข้ามาว่า เขาประกาศให้ปิดห้างแล้วนะ ทำเอาแจนถึงกับพูดไม่ออก บอกไม่ถูก ทำได้เพียงแค่หัวเราะให้กับโชคที่หมดลงเร็วพอ ๆ กับร้านที่เปิดวันแรกก็ต้องปิดยาวทันที

และก็เหมือนกับหลาย ๆ ร้านในช่วงเวลานั้น คือปัญหาทางรายได้

“สำหรับคนที่ไม่เคยเปิดร้านมาก่อนเลย เราอยากให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบ เพราะเราอยากเปิดแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นเป้าหลักของเราในตอนนั้น แต่กลายเป็นว่าเงินที่เราจะเอามาพัฒนาด้านเมนูเลยสะดุดตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา ตอนนี้เราเลยพร้อมเรื่องเครื่องดื่มมากกว่า”

The Author Book Cafe ย่านเกษตร-นวมินทร์ โดย ณ บ้านวรรณกรรม ร้านที่อยากเป็นเซฟโซนให้นักอ่าน นักเขียน และศิลปินทุกคน
The Author Book Cafe

โดยเครื่องดื่มซิกเนเจอร์ของร้านนั้นสร้างคาแรกเตอร์ขึ้นมาให้เป็นดั่งตัวละครที่เปิดเจอได้ในหนังสือแทบทุกเล่ม

คนแรกคือ ‘The Dad’ อเมริกาโน่มะตูม เมนูกาแฟของเหล่าพ่อ ๆ ที่กินได้ทั้งวัน

คนที่ 2 คือ ‘The Mom’ ลาเต้เย็นผสมน้ำผึ้งป่า เมนูของคุณแม่สายหวาน เย็น ชุ่มคอ

คนที่ 3 คือ ‘The Bangkokian’ น้ำมะพร้าวชาไทยเย็นใส่หญ้าหวาน เมนูสำหรับคนกรุงเทพฯ ที่ไม่กินกาแฟ

“นี่ไง คิดไปก่อนแล้วว่าถ้าไปเปิดที่จังหวัดอื่นจะใช้ชื่อเมนูเป็นคนจังหวัดนั้น” แจนหัวเราะเมื่อพูดถึงเมนูนี้ที่ย้ำถึงความคิดอยากขยายสาขาของเธอ

คนที่ 4 คือ ‘The Best Friend’ ช็อกโกแลตปั่นหวานกรุบ เมนูรางวัลคนขยัน

อันที่จริงเรามีข้อมูลเพิ่มเติมจากแจน และค่อนข้างน่าเสียดายที่เรามาคุยกับเธอเร็วไปสักหน่อย จึงอดลองเมนูใหม่ที่เป็นแผนในอนาคตของร้าน นั่นคือเครื่องดื่มจากหนังสือ ยกตัวอย่างเช่น ‘คู่กรรม’ ที่จะเป็นเครื่องดื่มผสมผสานระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

เราถามแจนว่าทำไมถึงคิดเมนูใหม่นี้ขึ้นมา

“เอาไว้ดึงลูกค้า” แจนตอบทันทีพร้อมเสียงหัวเราะของเราทั้งคู่ก่อนขึ้นหัวข้อถัดไป

The Author Book Cafe ย่านเกษตร-นวมินทร์ โดย ณ บ้านวรรณกรรม ร้านที่อยากเป็นเซฟโซนให้นักอ่าน นักเขียน และศิลปินทุกคน

เพื่อศิลปิน เพื่อหนังสือ

เราชวนแจนคุยต่ออีกสักพักหนึ่งถึงความเห็นเกี่ยวกับวาทกรรมที่ว่า หนังสือกำลังจะตาย

เธอให้ความเห็นที่ค่อนข้างน่าสนใจ ทั้งตรงไปตรงมาและเข้าอกเข้าใจในเวลาเดียวกัน

“หนังสือกำลังจะตายไม่ใช่เพราะนักอ่าน แต่เป็นเพราะสำนักพิมพ์ที่ไม่เห็นคุณค่าของนักเขียนหรือหนังสือที่ตัวเองเป็นคนผลิตออกมา เหมือนช่องทีวีดังได้เพราะดาราคนนั้น สังกัดเพลงดังได้เพราะนักร้องคนโน้น สำนักพิมพ์เองก็ดังได้เพราะนักเขียนคนนี้ เราควรจะช่วยนักเขียนด้วย ไม่ใช่พอเขาไม่ดังแล้วก็ปล่อยให้จมหายไปพร้อมกับกระแส ปล่อยให้หนังสือของเขาหายไปจากตลาด แล้วหาคนใหม่มาแทนที่ เราควรให้เขาได้เขียนอีก แต่เราก็เข้าใจในแง่ของธุรกิจ มันคือการหาเงินอย่างหนึ่ง แต่ว่าสำนักพิมพ์ก็มีส่วนที่ทำให้เป็นแบบนี้จริง ๆ”

และเมื่อพูดถึง ‘คนไทยไม่อ่านหนังสือ’ แจนหวังว่าสักวันหนึ่งร้านของเธอจะเป็นสถานที่ให้เหล่านักอ่านได้มาสร้างชุมชนของคนที่ชอบอะไรเหมือน ๆ กัน และหวังว่าจะขยายใหญ่ขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสถานที่ของนักอ่าน นักอยากอ่าน นักเขียน และนักอยากเขียน เธอเชื่อว่าก่อนจะมีนักเขียน เขาคนนั้นต้องเคยเป็นนักอ่านมาก่อน

หรือพูดง่าย ๆ เธอหวังว่า The Author ทำให้หนังสือกลายเป็นของติดไม้ติดมือคนในเวลาว่างเหมือนเมื่อก่อนอีกครั้ง เพราะสำหรับเธอแล้ว หนังสือเล่มหนึ่งเปลี่ยนมุมมองชีวิตของคนคนหนึ่งได้เลย

แจน-สิริกัลยา นามทอน เจ้าของร้าน The Author Book Cafe
แจน-สิริกัลยา นามทอน

“ครั้งหนึ่งเราเคยเครียดมาก และชอบไปปรึกษาเพื่อน จนมีวันหนึ่งที่เราโทรคุยกับพ่อ แล้วเขาบอกเราว่าไม่ต้องไปถามเพื่อนหรอก ลองไปเปิดหนังสืออ่านดู แล้วตอนนั้นเราก็ค่อนข้างตัน ไม่มีทางออก เลยลองไปหาหนังสือที่เนื้อหาคล้ายกับปัญหาที่เราเจออยู่ พออ่านไป จนเจอเข้ากับประโยคที่ให้คำตอบกับเราได้ คำตอบที่เรานึกไม่ออกและไม่มีใครบอกเราได้ แต่หนังสือนิยามสิ่งนั้นให้เราได้ นั่นแหละ เราถึงรักหนังสือ”

โดยปริยาย แจนบอกกับเราว่าแนวคิดในการทำร้านเมื่อตอนนั้นกับตอนนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามค่าประสบการณ์ที่ได้รับ เธอรู้แล้วว่าในโลกทุนนิยมนี้ เราต่อยอดไม่ได้เลยหากไม่มีเงิน แต่อย่างน้อยเธอก็เชื่อว่าเธอตัดสินใจดีแล้วที่ทำเพื่อศิลปินกับหนังสือ

“เราคิดว่าเราทำได้ดีกว่านี้ แต่ในแง่ของความรู้สึกที่ตัวร้านสื่อออกไปยังผู้คน อันนี้เราค่อนข้างพอใจ”

The Author Book Cafe ย่านเกษตร-นวมินทร์ โดย ณ บ้านวรรณกรรม ร้านที่อยากเป็นเซฟโซนให้นักอ่าน นักเขียน และศิลปินทุกคน

คำนิยม

ก่อนจากกัน เราขอให้แจนแนะนำหนังสือสักเล่มสองเล่ม และเล่มที่เธอแนะนำจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก เพชรพระอุมา

ถ้านี่เป็นเล่มที่ตีพิมพ์ใหม่ เธอคงจะเขียนคำนิยมว่า

“หนังสือเรื่องนี้ไม่ได้เข้าถึงยากเลย บางคนชอบคิดว่าคนที่อ่านเรื่องนี้ได้ต้องเป็นคนฉลาด รู้ลึก เราอยากให้คนคิดว่าใคร ๆ ก็อ่านหนังสือเรื่องนี้ได้ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักอ่านตัวเต็งถึงจะหยิบมาอ่าน แม้มันจะยาวหน่อยก็เถอะ”

The Author Book Cafe ย่านเกษตร-นวมินทร์ โดย ณ บ้านวรรณกรรม ร้านที่อยากเป็นเซฟโซนให้นักอ่าน นักเขียน และศิลปินทุกคน
The Author Book Cafe
  • 511 เดอะวอล์ค เกษตร-นวมินทร์ ถนนประเสริฐมนูกิจ เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
  • เปิดบริการทุกวัน เวลา 10.00 – 19.00 น. 
  • 09 7217 4664
  • The Author

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล